วันศุกร์, มีนาคม 16, 2550

Memento: สู่เขาวงกตในก้นบึ้งอันมืดมิดแห่งจิตใจ


ในแวดวงจิตวิเคราะห์ตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับความทรงจำกำลังได้รับการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในอเมริกา เมื่อมีการออกกฎหมายอนุญาตให้จำเลยมีสิทธิฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากการถูกกระทำชำเราทางเพศในช่วงวัยเด็กได้ แม้เวลานับแต่เกิดเหตุการณ์จะผ่านไปหลายปีแล้วก็ตาม เนื่องจากตามหลักจิตวิทยาภายใต้การนำของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ นั้นเชื่อว่ามนุษย์สามารถเก็ดกดประสบการณ์เลวร้ายดังกล่าวไว้ในจิตใต้สำนึก โดยพวกเขาอาจดำรงชีวิตภายใต้อิทธิพลแห่งความเจ็บปวดนั้น แต่กลับจำไม่ได้ว่ามันเคยเกิดขึ้นมาก่อน พลังดำมืดภายใต้จิตสำนึกนี้อาจนำไปสู่ความทุกข์ใจ ปัญหาชีวิตคู่ บุคลิกภาพ และความแปรปรวนทางอารมณ์มากมายซึ่งตัวผู้ป่วยไม่อาจหาคำตอบมาอธิบายเองได้ แม้จะขอความช่วยเหลือจากพี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหาย หรืออ่านหนังสือช่วยปรับปรุงชีวิตจำนวนหลายเล่มแล้วก็ตาม

เชื่อกันว่าการบำบัดทางจิต จะช่วยนำจิตใต้สำนึกเหล่านั้นให้ลอยฟ่องขึ้นสู่ผิวน้ำอีกครั้ง (recovery of memory) ให้ผู้ป่วยได้เผชิญหน้ากับความจริงผ่านขั้นตอนหลายชั้น ซึ่งแน่นอนว่าผลลัพธ์ย่อมนำไปสู่การฟ้องร้องมากมาย ระหว่างลูกกับพ่อ ครูกับลูกศิษย์ หรือลุงกับหลาน เนื่องจากความทรงจำที่ถูกเก็บกดไว้ (repressed memory) มักเกิดขึ้นในกรณีที่ผู้กระทำมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ถูกกระทำ ดังนั้นเมื่อผู้ป่วยจำต้องเผชิญหน้ากับผู้ชำเราบ่อยครั้งในชีวิต พวกเขาจึงมักเลือกที่จะ ‘ลืม’ เพื่อหลีกเลี่ยงความเจ็บปวดทางจิตใจ

บ่อยครั้งความพยายามจะเปิดเผยด้านที่ถูกปกปิดไว้ของความทรงจำ ทำให้จิตแพทย์ต้องใช้กรรมวิธีเชิงรุกมากมาย อาทิ ยากระตุ้น การชี้นำจินตนาการ วิเคราะห์ฝัน ตีความข้อเขียน หรือกระทั่งสะกดจิต ซึ่งส่งผลให้หลายคนเริ่มวิพากษ์วิจารณ์ถึงความแม่นยำ เที่ยงตรงของความทรงจำเหล่านั้น ในเมื่อความจริงที่เท็จ (false truth) อาจถูกหว่านเมล็ดลงในสภาพจิตอันไม่มั่นคงของผู้ป่วยได้ทุกขณะ งานวิจัยหลายชิ้นเองก็บ่งชี้ตรงกันว่าความทรงจำนั้นอาจคลาดเคลื่อน/บิดเบือนจากความจริงได้หลายระดับ และบางกรณีผู้ทดสอบสามารถชี้นำให้ผู้เข้ารับการทดลองเชื่อสนิทใจได้ว่าเคยมีเหตุการณ์หนึ่งเกิดขึ้นในอดีตทั้งที่มันเป็นเพียงเหตุสมมุติเท่านั้น

Memento ผลงานกำกับแนวฟิล์มนัวร์ของ คริสโตเฟอร์ โนแลน ไม่ได้เกี่ยวพันถึงความเจ็บปวดในวัยเด็ก แต่ก็นำเอาหลักจิตวิทยาข้างต้นมาสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่ออธิบายการตัดสินใจประหลาด จนถึงขั้นน่าตื่นตระหนกของเลียวนาร์ด (กาย เพียซ) หลังจากเท็ดดี้ (โจ แพนโทเลียโน่) เฉลย ‘ความจริง’ เกี่ยวกับการตายของแคทเธอลีน (จอร์จา ฟ็อกซ์) ให้เขา (และผู้ชม) ฟัง เขาเขียนคำบรรยายด้านหลังภาพเท็ดดี้ว่า “อย่าเชื่อคำโกหกของมัน” แล้วก็เผารูปถ่ายที่พิสูจน์ว่าตนเองแก้แค้นให้ภรรยาได้สำเร็จแล้วทิ้ง ก่อนจะเริ่มปฏิบัติการตามล่าครั้งใหม่ ฉากปิดเรื่องดังกล่าวบ่งชี้ให้เห็นว่านอกจากเราจะไม่อาจไว้ใจความทรงจำได้แล้ว หลักฐานต่างๆซึ่งดูเหมือนจะเป็นเรื่องจริงที่เรา/เลียวนาร์ดเชื่อว่าสามารถยึดเหนี่ยวไว้ได้ (เหมือนข้อมูลเบื้องต้นของตำรวจ) ดังเช่น รอยสัก รูปภาพ และเอกสารทั้งหลายแหล่ สุดท้ายก็หลักลอยพอๆกันเนื่องจากมันถือกำเนิดขึ้นจากอัตวิสัยอันบิดเบี้ยวของเลียวนาร์ด

อันที่จริงแล้วการกระทำของเลียวนาร์ดนั้นเดินไปในทิศทางตรงกันข้ามกับการบำบัดทางจิตที่บรรยายไว้ข้างต้น กล่าวคือ แทนที่ผู้ป่วย (เลียวนาร์ด) จะได้หันมาเผชิญหน้ากับความจริง ปลดปล่อยตัวเองเป็นอิสระจากความทุกข์ทรมานไม่เป็นสุขในปัจจุบัน มันกลับผลักดันให้เขาเก็บกดความลับเอาไว้ให้ลึกลงไปในจิตใต้สำนึกยิ่งขึ้นอีกจนเริ่มไม่แน่ใจว่าอะไรจริง อะไรเท็จอีกต่อไป ผ่านขบวนการสร้างความทรงจำลวง (false memory) เกี่ยวกับแซมมี แจนคิส (สตีเฟ่น โทโบโลวสกี้) และภรรยาที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน (แฮร์เรียต แซนซอม แฮร์ริส) ขึ้นแทนที่เพื่อหลีกเลี่ยงที่จะรับมือกับความเจ็บปวดจากอดีตทั้งหลาย หากเรื่องราวของแซมมี่แท้จริงแล้วสะท้อนชีวิตหลังเหตุข่มขืนของเลียวนาร์ด เขาก็ไม่ต่างกับชายผู้เผชิญหน้ากับเหตุการณ์ใหม่ๆในทุกๆ 15 นาทีจากโรคสูญเสียความทรงจำระยะสั้น ชีวิตเขาไม่สามารถแม้กระทั่งจะหาความสุขจากการชมภาพยนตร์ได้เพราะกว่าจะถึงตอนจบเขาก็ลืมตอนกลางเรื่องเสียแล้ว ความสนุกสนานเดียวของเขา คือ การนั่งชมโฆษณา… จนกระทั่งเกิดโศกนาฏกรรมขึ้น

ความเศร้าเสียใจ สับสน ความรู้สึกผิด และความเจ็บแค้นจากการตายของภรรยา ผลักดันให้เลียวนาร์ดเริ่มบำบัดรอยบอบช้ำด้วยการปลูกฝังความทรงจำลวงเข้าในจิตใต้สำนึก ผลักดันไปสู่ ‘ภารกิจที่ไม่มีวันจบสิ้น’ ในการออกตามล่า จอห์น จี… ทันใดนั้นชีวิตเขาก็เริ่มมีจุดหมาย มีโฟกัส เป็นแรงจูงใจให้สามารถดำเนินผ่านกิจวัตรอันยากลำบากเนื่องจากการสูญเสียความทรงจำระยะสั้นต่อไปได้ พลังความแค้นช่วยต่อลมหายใจให้เขาไปวันๆ

หนังแสดงให้เห็นขั้นตอนการบำบัดซึ่งเลียวนาร์ดรับบทเป็นจิตแพทย์รักษา หรือ ‘สะกดจิต’ ตัวเองให้สร้างความจริงลวงขึ้นมาตลอดทั้งเรื่อง เขาพล่ามให้คนแปลกหน้าทางโทรศัพท์ฟังเกี่ยวกับเรื่องของแซมมี่ หรือหากมองอีกทีเขาอาจกำลังพูดกับตัวเองอยู่ก็ได้ เนื่องจากคนดูมองไม่เห็นหรือได้ยินเสียงของอีกฝ่าย ไม่แม้กระทั่งจะได้รับการชี้แจงแน่ชัดว่าคนแปลกหน้านั้นมีตัวตนอยู่จริง แม้เท็ดดี้จะเฉลยว่าคงเป็นพวกในกรมตำรวจโทรมาแหย่เลียวนาร์ดเล่น แต่คนดูก็ไม่อาจรู้แน่ได้ เท็ดดี้ยังบอกอีกว่าเลียวนาร์ดชอบเล่าเรื่องนี้ให้ทุกคนฟัง เขาตอกย้ำเหตุผลแห่งการตามล่าด้วยรอยสักกลับหลังบนหน้าอก (จอห์น จี ข่มขืนและฆ่าเมียแก) ที่จะสามารถมองเห็นได้จากการยืนจ้องตัวเองในกระจกเท่านั้น เขาพูดกับตัวเองอยู่ในหัวตลอดเวลา และสักข้อความเตือนใจให้จดจำแซมมี่ไว้ที่หลังมือ ข้อความเหล่านี้สำคัญสูงสุดต่อการดำรงชีวิตอยู่ต่อไป เพราะเมื่อใดก็ตามที่เลียวนาร์ดไม่ ‘เชื่อ’ หรือเริ่มสงสัยในเรื่องของแซมมี่กับภรรยา และจอห์น จี แล้ว เมื่อนั้นเองที่เขาต้องหันมาเผชิญหน้ากับความจริงอันรวดร้าว

Memento ไม่เพียงแต่จะตีแผ่สภาพทางจิตของเลียวนาร์ดในแง่จิตวิเคราะห์ออกมาอย่างลึกซึ้งเท่านั้น แต่ยังดึงเอาผู้ชมเข้าไปร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโลกของเขาอย่างชาญฉลาดอีกด้วย ผ่านขบวนการเล่าเรื่องแบบถอยหลังโดยแต่ละฉากจะกินเวลาประมาณ 7-15 นาที คั่นกลางด้วยฉากแฟลชแบ็คขาวดำซึ่งดำเนินเรื่องแบบเดินหน้า ขั้นตอนดังกล่าวทำให้เราชมภาพยนตร์ในลักษณะเดียวกับที่เขาดำเนินชีวิต ทำให้คนดูสัมผัสถึงอารมณ์หงุดหงิด ขึ้งเครียดของเลียวนาร์ดได้จากอาการจับต้นชนปลายเรื่องราวไม่ถูก และไม่แน่ใจว่าควร/ไม่ควรเชื่อใจใครดี ตัวละครแต่ละตัวที่อ้างตนว่าเป็น ‘เพื่อน’ ของเลียวนาร์ด โดยเนื้อแท้แล้วกลับไม่เป็นจริงอย่างที่พวกเขานำเสนอ ทุกอย่างล้วนมีด้านดำมืดที่ซุกซ่อนเอาไว้ มันค่อยๆถูกเปิดเผยออกมาทีละชั้นเมื่อหนังดำเนินไปเรื่อยๆ แม้กระทั่งตัวเลียวนาร์ดเองซึ่งคนดูลุ้นเอาใจช่วยมาตลอดทั้งที่จริงๆแล้วเราไม่รู้จักตัวตนแท้จริงของเขาเลยจนกระทั่งฉากสุดท้าย ภาวะวิตกจริต (paranoid) ดังกล่าวสะท้อนภาพลักษณ์สำคัญของแนวทางภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (film noir) ได้เป็นอย่างดี ซึ่งส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเน้นการสะท้อนด้านมืดแห่งสังคม หรือจิตใจของมนุษย์

นอกจากจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับการสร้างความทรงจำขึ้นมาใหม่ และมีกลวิธีการเล่าเรื่องแบบกระตุ้นให้ผู้ชมจัดระเบียบเรื่องราว หาเหตุผลปะติดปะต่อเอาเองใหม่หลังจากหนังจบแล้ว Memento ยังเปรียบเสมือนการรื้อโครงสร้างใหม่ (reconstruction) ให้กับภาพยนตร์ตระกูลฟิล์มนัวร์อีกด้วย โดยได้ผสมผสานเอาสามแนวทางทั้งหมดเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน เริ่มจากโครงเรื่องทำนองสืบสวนสอบสวน (The ‘hard boiled’ private eye type) (1) ผ่านเลียวนาร์ดผู้พยายามเล่นบทนักสืบจำแลงแก้ไขปริศนาให้กับคดีพิศวง สู่โครงเรื่องทำนองหญิงอันตรายผู้ทำลายล้างทุกสิ่ง (The femme fatale as destroyer) (2) ผ่านตัวละครรองอย่าง นาตาลี (แคร์รี่-แอนน์ มอสส์) ที่หลอกล่อเลียวนาร์ดด้วยพลังเพศหญิงให้เขากำจัดศัตรูเพื่อเธอ (แถมเธอยังมีอาชีพเป็นสาวบาร์ หนึ่งในอาชีพฮิตของผู้หญิงฟิล์มนัวร์ไม่แพ้ เมียน้อย นักเต้นระบำ โสเภณี และนักร้องในไนท์คลับอีกด้วย) จนถึงโครงเรื่องทำนองโลกแห่งอาการวิตกจริต (The paranoid noir story) (3) ซึ่งดูเหมือนจะส่งอิทธิพลสูงสุด

เช่นเดียวกับฟิล์มนัวร์ดั้งเดิมทั่วไป Memento สะท้อนให้เห็นสังคมอันฟอนเฟะผ่านการทรยศหักหลัง การค้ายาเสพย์ติด และตำรวจคอรัปชั่น ตัวละครส่วนใหญ่ล้วนคาบเกี่ยวอยู่ระหว่างดำกับขาวเต็มเปี่ยมไปด้วยกิเลสตัญหา ความโลภ พวกเขาคาบเกี่ยวระหว่างผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ โดยเลียวนาร์ดเองก็อยู่ในสภาพเดียวกันนั้น แรกทีเดียวเมื่อมองอย่างผิวเผินแล้วเขาอาจดูเหมือนผู้ล่าที่ต้องการแก้แค้น แต่ขณะเดียวกันหนังก็สะท้อนให้เห็นอย่างไม่หยุดหย่อนว่าเขามักถูกคนรอบข้างฉกฉวยประโยชน์จากโรคสูญเสียความทรงจำระยะสั้น หลอกใช้เขาอยู่ตลอดเวลา นับตั้งแต่เท็ดดี้ จนถึงนาตาลี หรือแม้กระทั่งคนดูแลโรงแรมอย่างเบิร์ท (มาร์ค บูน จูเนียร์) ต่อมาเมื่อหนังเฉลยบทหักมุมในตอนท้ายซึ่งทำให้ภาพลักษณ์ของเลียวนาร์ดก้าวเข้าใกล้กับการเป็นฆาตกรโรคจิต (psychopath) มากขึ้น แต่หนังก็ยังไม่วายวางบทของเขาให้อยู่ในลักษณะของ ‘เหยื่อ’ แห่งความมืดมิดในจิตใจ จากอารมณ์เจ็บปวดแห่งความรู้สึกผิดบาป (ตามแนวทางที่สามของฟิล์มนัวร์) มากกว่าจะเป็นฆาตกรเหี้ยมไร้เมตตา เพราะอย่างน้อยสิ่งที่ผลักดันให้เขากลายเป็นคนแบบที่เขาเป็นในปัจจุบันก็เกิดจากความเลวร้ายของผู้อื่น (โจรสองคนบุกเข้าข่มขืนภรรยา และทำร้ายเขาจนสมองพิการ) จากความมืดมิดในสังคม

ชีวิตของเลียวนาร์ดเปรียบดังเขาวงกตแห่งสถานที่แปลกตา และผู้คนแปลกหน้าอันไม่มีวันสิ้นสุด เขารู้เพียงว่ากำลังทำอะไรอยู่ในปัจจุบัน (หากมันไม่กินเวลานานนัก) และเป้าหมายในอนาคต แต่กลับไม่รู้จักแม้กระทั่งตัวเอง หรือตัวตนที่เขาได้ ‘กลายเป็น’ น่าเศร้ายิ่งไปกว่านั้นเมื่อมาถึงตอนจบ (ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราว) ขณะที่ผู้ชมพอจะมีไอเดียคร่าวๆเกี่ยวกับภาพรวมทั้งหมด เลียวนาร์ดกลับเดินทางไปสู่จุดเดิมอีกครั้ง (ซึ่งเชื่อว่าเป็นมานานนับปีแล้วตามคำเล่าของเท็ดดี้) ราวกับกำลังหลงทางอยู่ในค่ายกลซึ่งเขาสร้างขึ้นมาเอง ที่สำคัญเลียวนาร์ดยังไม่แสดงท่าทีจะฉุดรั้งตัวเองขึ้นจากขุมมืดมิดนั้นในเมื่อมันนำเสนอเกราะที่แข็งแกร่งป้องกันเขาออกจากความจริงอันทรมานใจ การพิพากษาให้เท็ดดี้ (ผู้ดูเหมือนจะเป็นบุคคลเดียวที่รู้จักเขาและสามารถดึงเขากลับสู่โลกแห่งความจริงได้) กลายเป็นจอห์น จีรายต่อไป พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเลือกที่จะจมดิ่งลงสู่ความลวงแทนที่จะค้นหาทางออกจากกับดักนี้

ภาพยนตร์นัวร์ในยุคหลัง (neonoir) ดูเหมือนจะรักษาดีกรีความหดหู่ มืดมิดดังกล่าวเอาไว้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยตัวอย่างก่อนหน้าที่เห็นได้ชัด คือ Lost Highway ของผู้กำกับ เดวิด ลินช์ เล่าเรื่องราวเกี่ยวกับชายผู้ถูกตัดสินประหารชีวิตจากคดีฆ่าภรรยาของเขาเอง ขณะนอนรอเวลาตายอยู่นั้นความเจ็บปวดทางจิตใจจากโศกนาฏกรรมชวนช็อคดังกล่าวทำให้เขา ‘แปลงสภาพ’ ตัวเองกลายเป็น ชาย ‘อีกคน’ ที่ดีกว่า หนุ่มกว่า ป็อปปูล่าในหมู่เพื่อน/ครอบครัวมากกว่า มีอาชีพน่าสนใจกว่า มีชีวิตน่าตื่นเต้นกว่า หนังจบลงเมื่อความจริงเริ่มไล่ล่ามาทัน บีบบังคับให้เขาเตรียมที่จะแปลงสภาพเป็นอีกคนหนึ่ง พร้อมๆกับเรื่องราวที่ย้อนกลับมาบรรจบยังจุดเริ่มต้นช่วงเปิดเรื่อง สื่อให้เห็นว่าโลกของเขานั้นไม่ต่างกับการขับรถบนทางหลวงยามดึกที่วนเวียนไปมา ไม่อาจหาทางออกได้ (ซึ่งเป็นภาพเปิดเรื่องช่วงเครดิต)

ชะตากรรมของเลียวนาร์ดเองก็ไม่แตกต่างจากนั้นสักเท่าไหร่ เมื่อบทสรุปวนกลับมาเชื่อมต่อเป็นเหตุเป็นผลกับเรื่องราวที่เกิดขึ้นในช่วงต้นๆ (การเวียนมาบรรจบกันถูกถ่ายทอดเป็นรูปธรรมได้อย่างงดงามเมื่อช่วงแฟลชแบ็คขาวดำที่เล่าเรื่องเดินหน้าเดินทางมาประสานกับช่วงภาพสีที่เล่าเรื่องถอยหลัง ในฉากซึ่งเลียวนาร์ดกำลังยืนสะบัดรูปภาพโพลารอยด์ของ จิมมี่ แกรนท์ (แลร์รี่ โฮลเด้น) นอนตายอยู่บนพื้น) ไม่มีบทสรุปแน่นอนว่าเลียวนาร์ดจะทำเช่นใดหลังจากสังหารเท็ดดี้สำเร็จแล้ว (ซึ่งเป็นฉากเปิดเรื่อง) แต่มีความเป็นไปได้สูงว่าเขาคงจะเริ่มออกหา ‘โปรเจ็ค’ ชิ้นใหม่ แล้วทุกอย่างก็จะวนเวียนไปมาเช่นนี้ไม่รู้จบ

Memento พยายามจะบอกว่าอันตรายในโลกมืดนั้นเป็นภัยที่สามารถรับมือได้ ต่างกับความมืดมิดในจิตใจที่ไม่ว่าจะมองไปทางใดก็ไร้ซึ่งทางออก และลึกลับซับซ้อนเกินหยั่งถึง

หมายเหตุ

(1) ตัวเอกมักมีอาชีพเป็นนักสืบพยายามคลี่คลายคดีลึกลับจนเข้าไปพัวพันกับโลกมืดแห่งอาชญากรรม ความรุนแรง คอรัปชั่น ฯลฯ (noir world) ซึ่งซ่อนตัวอยู่ภายใต้โลกอันน่านับถือแห่งชนชั้นกลาง เขาต้องเผชิญหน้ากับอันตรายมากมาย ตลอดจนผู้คนรอบข้างก็ดูไม่น่าไว้วางใจ แต่สุดท้ายความซื่อสัตย์ เฉลียวฉลาด และมุ่งมั่นก็ช่วยให้เขาสามารถคลี่คลายคดี เปิดโปงหน้ากากคนชั่ว และเอาชีวิตรอดมาได้ แม้จะมี ‘บาดแผล’ กลับมาเป็นบทเรียนของฝากบ้างก็ตาม เรย์มอนด์ แชนด์เลอร์ เป็นนักเขียนนิยายที่โดดเด่นในแนวทางนี้ หนังตัวอย่างก็เช่น The Maltese Falcon, The Big Sleep และ Chinatown

(2) ตัวเอกถูกล่อหลอกให้ติดกับทางเพศของสาวสวย เซ็กซี่ แล้วร่วมกันลงมือฆาตกรรมสามีของเธอ โลกมืดถูกสะท้อนผ่านจิตวิทยาภายใน (ความรู้สึกผิด ความกลัวที่จะถูกค้นพบ การลุ่มหลงในกิเลสตัณหา ความโลภ) มากกว่าจะเป็นรูปธรรมชัดเจน หญิงอันตราย (femme fatale) คือผู้ดึงตัวเอกลงสู่โลกมืด ทำให้เขากลายเป็นเหยื่อแห่งความปรารถนาภายใน โดยสุดท้ายโอกาสรอดชีวิตของเขาค่อนข้างริบหรี่ หรือหากรอดมาได้ก็มักร่อแร่ทางด้านจิตใจ เจมส์ เอ็ม. เคน เป็นนักเขียนสำคัญในแนวทางนี้ หนังตัวอย่างก็เช่น Double Indemnity, The Postman Always Rings Twice และ Body Heat

(3) ตัวเอกมีปมปัญหาทางจิตวิทยา เช่น เป็นโรคความจำเสื่อม หรือไม่มั่นคงทางประสาทซึ่งจะนำเขาไปสู่การฆาตกรรม หนังมักฉายให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโลกมืดกับอาการไม่สมประกอบทางจิต ก่อนที่โลกมืดนั้นจะค่อยๆก้าวเข้าไปอยู่ ‘ข้างใจ’ จิตใจของตัวเอกซึ่งบางครั้งอาจกลายเป็นฆาตกรเสียเอง พวกเขา คือ เหยื่อขนานแท้แห่งโลกมืดในจิตใจซึ่งเป็นเสมือนฝันร้ายที่ปราศจากทางออก คอร์เนลล์ วูลริช คือ นักเขียนสำคัญ หนังตัวอย่างก็เช่น Street of Chance, Possessed และ Night and the City

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ได้แผ่นเรื่องนี้แถมมากับนิตยสาร POP จนตอนนี้ POP เจ๊งไปแล้ว ยังไม่ได้ดูเลย T__T ทำไมเราถึงเป็นคนแบบนี้น้า

Riverdale กล่าวว่า...

เปิดดูสิครับ รับรองว่าไม่ผิดหวัง หนังสนุกมาก และมีความน่าสนใจในหลายระดับด้วยกัน โดยเฉพาะถ้าเป็นแฟนหนัง film noir ความจริงการเล่าเรื่องย้อนหลังในหนังเรื่องนี้เป็นแค่การพลิกตลบนิดเดียว ไม่ได้เป็นการทำลายขนบการเล่าเรื่อง เพราะถ้านำหนังมาเรียงใหม่จะพบว่ามันยังคงเล่าเรื่องในสไตล์ classical narrative เหมือนเดิม

celinejulie กล่าวว่า...

ชอบที่คุณ OLIVER พูดถึงหนังฟิล์มนัวร์ 3 แนวมากเลยค่ะ ที่แยกเป็นแนว RAYMOND CHANDLER, JAMES M. CAIN และ CORNELL WOOLRICH

ตอนเด็กๆดิฉันจำได้ว่าดูหนังฟิล์มนัวร์แล้วไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ รู้สึกว่า IDENTIFY กับหนังได้ยากมาก แต่ยิ่งโตขึ้นมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งรู้สึก IDENTIFY ตัวเองกับหนังฟิล์มนัวร์มากเท่านั้น

เมื่อเร็วๆนี้เห็นมีหนังสือเกี่ยวกับหนังยุโรปแนว FILM NOIR วางขายในไทย ก็เลยทำให้สนใจว่ามีหนังยุโรปเรื่องไหนบ้างที่มีลักษณะแบบ FILM NOIR พอลองค้นดูทางเน็ตก็เลยเจอเว็บไซท์นี้เข้า

http://www.greencine.com/list?action=viewList&listID=6547

จากที่ดูในรายชื่อนี้ ก็เลยทำให้เห็นว่า ผู้กำกับที่ทำหนังเข้าใกล้ FILM NOIR ในยุโรปที่เด่นๆ ก็น่าจะมี

1.HENRI-GEORGES CLOUZOT

2.CLAUDE CHABROL

3.JEAN-PIERRE MELVILLE

4.JACQUES BECKER

ตอนนี้กำลังนึกอยู่ว่ามีหนัง FILM NOIR เรื่องไหนบ้างที่มีผู้ชายทำหน้าที่แบบ HOMME FATALE แต่ยังนึกไม่ออก