วันอังคาร, มีนาคม 13, 2550

A Tale of Two Sisters: ผีร้ายในใจคน


เป็นคุณจะรู้สึกอย่างไร ถ้าวันหนึ่งพ่อของคุณพาผู้หญิงคนใหม่เข้ามาในบ้าน ทั้งๆที่แม่ของคุณยังไม่ได้ล้มหายตายจากไปไหน เธอคนนั้นมีอาชีพเป็นนางพยาบาล ซึ่งควรจะทำงานปรนนิบัติดูแลแม่ของคุณ ไม่ใช่ลอบเข้ามาตีท้ายครัวเยี่ยงนี้ และที่น่าเจ็บแค้นยิ่งไปกว่านั้น ทั้งสองยังมีหน้ามาเปิดเผยความรู้สึกต่อกันอย่างไม่ปิดบังอีกด้วย ราวกับมันเป็นเรื่องธรรมดาสามัญเหลือแสน

สำหรับเด็กสาวผู้กำลังจะย่างเข้าสู่วัยรุ่นอย่าง ซูมี (อิมซูจุง) เธอมีสิทธิทุกประการที่จะตั้งตนเป็นปฏิปักษ์กับ อึนจู (ยวมจุงอา) ว่าที่แม่เลี้ยงในอนาคต ซึ่งไม่ได้พยายามจะทำให้สถานการณ์ผ่อนคลายความตึงเครียดลงแต่อย่างใด ด้วยการใช้ไม้แข็งกำราบเด็กหญิงสองคนที่ไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขของเธอ แต่ใครบ้างจะคาดคิดว่า คำพูดเชือดเฉือนน้ำใจเพียงไม่กี่คำที่ซูมีกล่าวกับอึนจู ในตอนเช้าของวันที่เกิดเสียงดังโครมครามขึ้นในห้องของน้องสาวคนเล็ก ซูยอน (มุนกุนยอง) จะนำไปสู่ผลลัพธ์ชวนสะพรึงอย่างคาดไม่ถึง… คำพูดที่ซูมีคงไม่มีวันทำใจให้ลืมได้… คำพูดที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของเธอไปตลอดกาล

A Tale of Two Sisters ได้แรงบันดาลใจมาจากตำนานสยองขวัญเลื่องชื่อของประเทศเกาหลีเกี่ยวกับเด็กหญิงสองคนที่ถูกแม่เลี้ยงใจร้ายวางอุบายฆาตกรรมจนถึงแก่ความตาย แต่ความคั่งแค้นในจิตใจทำให้ดวงวิญญาณของพวกเธอไม่อาจเดินทางไปสู่สุขคติได้ หากยังคงวนเวียนอยู่บนโลกเพื่อทวงถามความยุติธรรม

ผู้กำกับ/เขียนบท คิมจีวุน ได้ดัดแปลงตำนานซินเดอเรลล่าฉบับนองเลือดข้างต้นให้ร่วมสมัยและลุ่มลึกขึ้นด้วยการตัดทอนปมฆาตกรรมออก ลดทอนแง่มุมเมโลดราม่าลง (ตัวละครถูกแบ่งแยกเป็นสองกลุ่ม นั่นคือ คนดีกับคนเลว ผู้กระทำกับผู้ถูกกระทำ เพื่อใช้สั่งสอนศีลธรรมขั้นพื้นฐาน) แล้วเพิ่มความซับซ้อนให้แก่ตัวละครหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อึนจู ซึ่งห่างไกลจากสถานะปีศาจไร้หัวใจเหมือนแม่เลี้ยงในตำนาน จริงอยู่ที่เธออาจไม่ใช่ แมรี่ ป๊อปปิ้น ผู้รักเด็กทุกคนโดยปราศจากเงื่อนไขเช่นกัน แต่อย่างน้อยหัวใจของเธอก็ไม่ได้สิ้นไร้กลิ่นอายแห่งมนุษยธรรมเสียทีเดียว ดังจะเห็นได้ว่าเธอกำลังตั้งใจจะเดินกลับไปช่วยซูยอนอยู่แล้ว แต่ต้องมาประจันหน้ากับกำแพงหินผาที่เต็มไปด้วยหนามแหลมอย่างซูมีเข้าเสียก่อน ดังนั้น ด้วยอารมณ์คั่งแค้นเพียงชั่ววูบของมนุษย์ผู้อ่อนแอ เธอจึงตัดสินใจแก้เผ็ดเด็กสาวด้วยการ ‘นิ่งเฉย’ เสีย

ทางด้านซูมีเองนั้นก็เป็นตัวละครที่มีความขัดแย้งอยู่ภายในไม่น้อย รายละเอียดอันน่าหวั่นวิตกบางอย่างทำให้สถานะของเธอหาใช่ผ้าขาวบริสุทธิ์ เช่น การที่เธอนึกภาพตัวเอง ‘รับบท’ เป็นอึนจูได้สื่อนัยยะถึงปมอีเล็กทร่า (1) และความต้องการจะเป็นผู้หญิง ‘คนเดียว’ ในชีวิตของพ่อ ขณะเดียวกัน แม้ว่าซูมีจะไม่ได้แสดงท่าทีชิงชังมารดาของตนให้เห็นเด่นชัด แต่หนังก็บอกใบ้อยู่ในทีว่า ซูยอนคือลูกสาวคนที่ใกล้ชิดผูกพันกับแม่มากกว่า ทั้งสองแชร์ความลับเล็กๆน้อยๆซึ่งซูมีไม่เคยรับรู้มาก่อน (คาถาเรียกแม่) หลังเกิดเหตุ ‘สงครามเย็น’ บนโต๊ะอาหาร แม่เลือกจะเดินไปปลอบซูยอน ทั้งต่อมายังตกลงใจลงมือกระทำการบุ่มบ่ามในห้องนอนของลูกสาวคนเล็กอีกด้วย ตรงกันข้าม คนดูกลับไม่มีโอกาสได้เห็นซูมีแสดงปฏิสัมพันธ์กับแม่ของตนเองเลยตลอดทั้งเรื่อง บางทีนั่นอาจเป็นเพราะแม่กับซูยอนล้วนมีบุคลิกเปราะบางคล้ายคลึงกัน ดังนั้นจึงไม่มีใครสามารถเข้าใจพวกเธอได้ดีไปกว่าอีกฝ่าย

ซูมีเป็นตัวละครที่แข็งกร้าว ดื้อรั้น และออกจะมีนิสัยใกล้เคียงกับอึนจูมากกว่าแม่หรือน้องสาว ด้วยเหตุนี้เธอจึงกล้าลุกขึ้นยืนหยัดต่อกรกับแม่เลี้ยงอย่างไม่กลัวเกรง กระนั้นก็ตาม การที่เธอเล่นละครหลอกตัวเองโดยรับบทเป็นทั้ง ‘ผู้พิทักษ์’ และ ‘คนทรมาน’ ซูยอนในเวลาเดียวกันก็บ่งชี้ถึงความรู้สึกขัดแย้งภายในจิตใต้สำนึกอยู่กลายๆ เหมือนเธอกำลังยืนอยู่กึ่งกลางสมรภูมิรบโดยไม่รู้ว่าควรจะเข้าพวกกับฝ่ายไหนดี กล่าวคือ ใจหนึ่งเธอรักและสงสารน้องสาวอย่างแท้จริง แต่อีกใจหนึ่งก็หงุดหงิดที่เห็นน้องสาวปล่อยตัวเองตกสู่ภาวะจำยอมโดยไม่คิดจะลุกขึ้นสู้ จนเมื่อความอึดอัดคับข้องใจเริ่มทับถมมากเข้า สุดท้ายมันจึงไหลทะลักออกมา ในฉากที่ซูมีคาดคั้นความจริงจากซูยอนว่าใครเป็นคนทำร้ายเธอ

ด้านมืดที่เจือจางในกรณีของอึนจูกับผ้าขาวที่เปื้อนสีในกรณีของซูมี ทำให้หนังของคิมจีวุนค่อนข้างลุ่มลึกในแง่ของการสร้างตัวละครและบทวิเคราะห์สภาพทางจิต ต่างจากกลวิธีกระตุกขวัญของเขา ซึ่งนอกจากจะไม่มีอะไรแปลกใหม่แล้ว (นับแต่ The Ring กับขบวนหนังเลียนแบบอีกหลายสิบเรื่อง ภาพผู้หญิงผมยาวปรกหน้าคืบคลานไปมาก็แทบจะเรียกได้ว่าเป็นฉากบังคับในหนังสยองของเอเชียเลยทีเดียว) หลายครั้งยังนิยมช็อคผู้ชมให้สะดุ้งตกใจอย่างตรงไปตรงมาด้วยภาพและเสียง (ดังสนั่น) เป็นระยะๆอีกด้วย โดยส่วนใหญ่แม้จะได้ผลบ้างตามสมควร แต่มันก็เป็นเพียงแค่อารมณ์ผิวเผิน เปลือกนอกเท่านั้น

โดยภาพรวมแล้ว หนังกลับประสบความสำเร็จมากกว่าในแนวทางดราม่าเกี่ยวกับภาพสะท้อนของวิกฤติครอบครัวและผลกระทบที่คนตายมีต่อคนเป็น ดังจะเห็นได้จากฉากย้อนอดีตในช่วงท้าย ซึ่งแม้โดยพื้นฐานทางโครงเรื่องแล้วจะมีขึ้นเพื่ออธิบายอาถรรพ์ ‘ตู้ซ่อนผี’ เป็นหลัก แต่พลังอันเด่นชัด เข้มข้น และท้ายที่สุด สามารถสร้างความอิ่มเอมทางอารมณ์ได้บาดลึกกว่า อยู่ตรงที่มันยังช่วยแจกแจงถึงสาเหตุแห่งอาการบุคลิกภาพแปลกแยกในตัวซูมีอีกด้วย และพร้อมกันนั้นก็ทำให้เธอก้าวเข้าใกล้สถานะ tragic hero (2) มากยิ่งขึ้น

ความสะเทือนใจหลักในฉากดังกล่าว หาได้เกิดจากภาพจุดจบอันน่ารันทดของซูยอนไม่ แต่เป็นการที่คนดูล้วนตระหนักดีถึงชะตากรรมที่เฝ้ารอซูมีอยู่เบื้องหน้าต่างหาก นับแต่เธอก้าวเท้าออกจากบ้านอย่างหุนหันในเช้าวันนั้นหลังเปิดฉากปะทะคารมกับอึนจู ซึ่งเปรียบได้กับการตัดสินใจผิดพลาดครั้งยิ่งใหญ่ที่กำลังจะทำให้เธอและคนใกล้ตัวต้องพบจุดจบอันน่าเศร้า

คำพูดจี้ใจดำเพียงไม่กี่คำกลายเป็นตราบาปหนักอึ้งซึ่งเธอต้องแบกรับไปตลอดชีวิต (ฉากการเล่นละครตีถุงตุ๊กตาในช่วงท้ายบ่งบอกความหมายว่า ซูมีไม่เพียงจะโทษอึนจูต่อการตายของน้องสาวเท่านั้น หากแต่ยังโทษว่าส่วนหนึ่งมันเป็นความผิดของเธอเองอีกด้วย… ที่มาช่วยไม่ทัน… ที่โหมกระตุ้นไฟแค้นในใจแม่เลี้ยง) บุคลิกภายนอกของซูมีอาจแข็งกร้าว ไม่กลัวเกรง รวมทั้งดูจะเป็นผู้นำมากกว่าผู้ตาม แต่บทเฉลยในตอนท้ายได้เปิดโปงข้อเท็จจริงที่แท้ว่า สุดท้ายเธอยังคงตกเป็นฝ่ายถูกกระทำอยู่ดี เธอคือเหยื่อของชะตากรรม จิตที่ยึดมั่น และความทรงจำที่ตามหลอกหลอนเหมือนผีร้าย… ผีซึ่งปรากฏตัวให้เห็นเป็นรูปธรรมเพียงไม่กี่ครั้ง (แต่ส่วนใหญ่ตัวละครกลับ ‘ตระหนัก’ ถึงการดำรงอยู่ของมัน แม้จะมองไม่เห็นก็ตาม) ไม่แสดงตัวตนเด่นชัดว่าเป็นใครกันแน่ และไม่ได้สำแดงอำนาจในการชำระแค้นใดๆ หากแต่ทำหน้าที่เป็นดังตัวแทนของความรู้สึกผิดบาป หรืออดีตซึ่งตามมาหลอกหลอนคนเป็นเสียมากกว่า

สิ่งหนึ่งซึ่งหนังพยายามจะสื่อสารถึงผู้ชม ก็คือ ไม่มีใครสามารถทำร้ายมนุษย์ให้เจ็บปวดได้มากไปกว่าตัวเราเอง และภูตผีปีศาจตนใดก็ไม่น่าหวาดกลัวเท่าความทรงจำอันเจ็บปวดที่เราอยากจะลืม เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร เราก็ไม่อาจขับไล่มันให้สูญสลายไปได้

ซูมีตระหนักถึงสัจธรรมข้างต้นดียิ่งกว่าใครๆ หลังจากถูกวิญญาณแห่งอดีต ตลอดจนความรู้สึกผิดบาป ตามรังควานแบบไม่เลิกราทั้งในรูปของอาการแปลกแยกทางบุคลิกภาพ ซึ่งพัฒนาขึ้นมาเพื่อปฏิเสธความเป็นจริง วิญญาณและฝันร้าย หรือแม้กระทั่งอึนจูเองก็ไม่วายถูก ‘ผีในตู้’ โผล่ออกมาหลอกหลอนเช่นกัน

คนเดียวที่ดูเหมือนจะไม่รู้สึกรู้สมใดๆกับเรื่องราวทั้งหมดก็คือ มูฮุน (คิมคับซู) พ่อของซูมีและสามีของอึนจู แรกเริ่มเดิมที คนดูอาจรู้สึกสงสารเขาที่ต้องรับมือกับความ ‘สับสน’ ของซูมี แต่หากมองให้ลึกถึงบ่อเกิดแห่งปัญหาแล้ว เขาผู้นี้มิใช่หรือที่เป็นต้นเหตุแห่งความวุ่นวายทั้งหมด? ถ้าเขาหนักแน่น มั่นคง อึนจูก็คงไม่มีโอกาสเลื่อนฐานะจากพยาบาลมาเป็นแม่เลี้ยงได้ ถ้าเขาคำนึงถึงความรู้สึกของลูกทั้งสองคนกับเมียเหนืออื่นใด สัมพันธ์ชู้สาวกับอึนจูก็ควรจะถูกปกปิดเอาไว้ให้มิดชิด ไม่ใช่เปิดกระจ่างให้ทุกคนรับทราบโดยทั่วกันเช่นนี้ และที่สำคัญ หลังจากโศกนาฏกรรมอันเนื่องมาจากความมักง่ายของเขา มูฮุนกลับเป็นคนเดียวที่ทำใจได้โดยปราศจาก ‘ผลตกค้าง’ อย่างสิ้นเชิง เขายังคงดำเนินชีวิตเหมือนเช่นปรกติ โดยไม่เคยสังเกตเห็น ‘ผี’ และมืดบอดต่อความไม่ชอบมาพากลทั้งหลายทั้งปวง

หลายทศวรรษผ่านไป สุดท้ายผู้หญิงก็ยังคงตกเป็น ‘เหยื่อ’ ตลอดกาลในหนังสยองขวัญ ถึงแม้ภัยร้ายในครั้งนี้จะเกิดขึ้นจากภายในมากกว่าปัจจัยภายนอกก็ตาม ส่วนไอ้ตัวร้าย (ผู้ชาย) ดูเหมือนจะนอนหลับสบาย…เช่นเคย

หมายเหตุ

(1) ปมอีเล็กทร่า (Electra complex) มีเบื้องหลังมาจากตำนานกรีกโบราณเกี่ยวกับ อีเล็กทร่า ลูกสาวของ อากาเมมนอน กับ ไซเตมเนสทร่า ผู้ต้องการให้พี่ชายแก้แค้นแทนบิดาที่เสียชีวิตไปด้วยการสังหารแม่ของพวกเขา ตามหลักความคิดของ ซิกมันด์ ฟรอยด์ เด็กผู้หญิงทุกคนในระยะเริ่มแรกล้วนมีใจผูกติดกับบิดาเป็นพิเศษ ถึงขนาดปรารถนาจะร่วมหลับนอนกับเขาในจิตใต้สำนึก ขณะเดียวกันก็ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ต่อมารดา ทั้งนี้เนื่องมาจากพวกเธออิจฉาองคชาตของเพศชาย (penis-envy) อยากจะได้มันมาครอบครอง และเชื่อว่าสาเหตุของการที่พวกเธอเกิดมาโดยปราศจากองคชาตนั้นเป็นความผิดของมารดา ทฤษฎีดังกล่าวถูกต่อต้านอย่างหนักจากกลุ่มเฟมินิสต์ในข้อหาเหยียดเพศ

(2) Tragic hero หมายถึง ตัวละครผู้ไม่สมบูรณ์แบบ มีดีมีเลวผสมปนเปกันไป แต่เนื่องจากการตัดสินใจอันผิดพลาด หรือความเย่อหยิ่ง มั่นใจในตัวเองเกินพิกัด จึงทำให้เธอ/เขานำความหายนะมาสู่ตัวเอง ตลอดจนบุคคลรอบข้าง โดยสุดท้ายแล้วจุดจบของพวกเขานั้น หากไม่ตาย ก็มักจะกลายเป็นบ้า ศัพท์คำนี้มักถูกเอ่ยอ้างถึง เมื่อมีการวิเคราะห์เกี่ยวกับบทละครเชิงโศกนาฏกรรมของเชคสเปียร์อย่าง Hamlet หรือ King Lear ซึ่งล้วนแต่มีรากฐานมาจากปัญหา ‘ภายในบ้าน’ แทบทั้งสิ้น

5 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เคยอ่านในหนังสือแล้ว

แต่มาตามอ่านในบล็อกอีก

เคยบอกอ่ะยางว่าเป็นบทความที่ชอบมั่กๆ

เล่าเรื่องได้ละเอียด แถมเฉลยปมเรื่องเสร็จสรรพ

แต่อ่านแล้วไม่รู้เลยว่าถูกเฉลยตอนจบเรียบร้อย

ส่วนบทวิเคราะห์ก็ดี เท่มาก ได้ข้อคิดอีกด้วย

ไม่มีใครสามารถทำร้ายมนุษย์ให้เจ็บปวดได้มากไปกว่าตัวเราเอง และภูติผีปีศาจตนใดก็ไม่น่าหวาดกลัวเท่าความทรงจำอันเจ็บปวดที่เราอยากจะลืม เพราะไม่ว่าจะทำอย่างไร เราก็ไม่อาจขับไล่มันให้สูญสลายไปได้

(เออ...คำว่า "ภูต" ไม่มี สระ อิ เด้อ)

มีบล็อกยังงี้ก็ดีเอง จะได้ไม่ต้องเสียเวลาไปพลิกหนังสืออ่าน

ขอบคุณจ้า

Riverdale กล่าวว่า...

แหะๆ ขอบคุณครับ ได้แก้ไขให้ถูกต้องแล้ว

"เล่าเรื่องได้ละเอียด แถมเฉลยปมเรื่องเสร็จสรรพ" อันนี้ถือเป็นคำชมใช่ไหมครับ 555

ตอนนี้บล็อกโพสต์รูปไม่ได้ซะที หงุดหงิดมาก

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ชมจิงๆนะ แต่สงสัยจะเขียนห้วนไปหน่อย ซอรี่...

แบบว่าที่เราเคยคุยกันงัย ว่าน่าเบื่อบทความประเภทที่ชอบจั่วหัว "เรื่องนี้มีการเฉลยปม" อะไรนั่นงัย...

เลยอยากจะให้ทุกคนมาอ่านบทความนี้ (ที่จริงก็ทุกอันของ RD แหละเนาะ) ว่าให้ดูเป็นตัวอย่างซะ

มรึงจะเล่าเรื่องทั้งหมดก็เล่าไปเหอะ ไม่มีใครว่า ขอแค่เล่าให้มันเนียนๆหน่อย...แค่นั้นแหละ

แบบที่บทวิจารณ์ ผีล้นในใจใคร เอ๊ย ผีร้ายในใจคน นี่งาย...อิอิ

A not B กล่าวว่า...

เขียนได้น่าสนใจมาก ขอเข้ามาอ่านอีกเรื่อยๆ ต่อไป

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สวัสดีคะ
เพิ่งมีโอกาสได้ดูหนังเรื่องนี้ค่ะ แต่ส่วนตัวชอบตัวนักแสดงทั้งพี่สาวและน้องสาวค่ะ ตอนดูยังคับข้องใจเลย ต้องมาหาข้อมูลที่มาของเรื่องเพิ่มค่ะ ขอบคุณสำหรับคำอธิบายนะค่ะ
ซาร่า