วันจันทร์, กรกฎาคม 09, 2550

Georgia: ความเจ็บปวดของพรแสวง


ทางเลือกอันยากลำบากที่จะตัดสินใจสูงสุดในชีวิตคนเรา คือ การเลือกทำระหว่างสิ่งที่เรารักกับทำสิ่งที่เราถนัด ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทางแรกย่อมให้คุณค่าด้านจิตใจ ทำให้เรามีความสุข ซึ่งข้อหลังนั้นไม่อาจมอบให้ได้ แต่บางทีการเลือกทำในสิ่งที่เราทำได้ดีที่สุดก็อาจช่วยให้เราได้คุณค่าทางด้านสังคมหรือการยอมรับมาชดเชย ดังเช่นบางคนอาจจะเก่งเรื่องค้าขาย เขาเลือกทำงานเป็นเซลแมน ซึ่งก็ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานด้วยดี มีเงิน มีหน้าตา มีฐานะมั่นคง แต่บางทีอาชีพเซลแมนอาจไม่ใช่สิ่งที่เขาคนนั้น “รัก” จะทำก็ได้

ใครก็ตามที่มีสิ่งที่รักจะทำกับถนัดจะทำเป็นอย่างเดียวกันก็ถือเป็นพรประเสริฐจากสวรรค์... แต่หากไม่ใช่ เมื่อนั้นเราก็จำเป็นต้องเลือกเพียงอย่างหนึ่ง และสูญเสียอีกอย่างหนึ่งไป

สำหรับ เซดี้ ฟลัด (เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์) ผู้ชมไม่อาจล่วงรู้เลยว่าเธอจะถนัดที่จะทำสิ่งใด หรือสามารถทำงานชนิดใดได้ดีที่สุด บางทีตัวเธอเองก็อาจไม่รู้เช่นกัน เพราะตลอดชีวิตเซดี้พยายามที่จะเป็นนักร้องเสมอมา ไม่เคยย่อท้อ เห็นได้ชัดว่ามันเป็นอาชีพซึ่งเธอ “รักจะทำ” แต่ไม่ใช่อาชีพที่เธอ “เกิดมาเพื่อจะเป็น” น้ำเสียแหบพร่าไร้พลังทำให้เธอไม่ก้าวไกลไปกว่านักร้องตามคลับบาร์ หรือนักร้องแบ็คอัพไร้ความสำคัญ ตรงกันข้ามกับพี่สาวของเธอ จอร์เจีย (แมร์ วินนิ่งแฮม) ผู้ได้พรสวรรค์ชั้นยอดด้านการร้องเพลงมาจากพระเจ้า ไม่ต้องสงสัยว่าการเป็นนักร้องคือสิ่งที่เธอทำได้ดีที่สุด แต่น่าตลกตรงที่มันจะเป็นอาชีพซึ่งเธอหลงรักหรือไม่นั้น... ยังเป็นประเด็นน่ากังขา

สวรรค์มักเล่นตลกกับชะตากรรมของมนุษย์ และหลายครั้งก็ทำให้เราเจ็บปวด

เพียงฉากแรกเมื่อเครดิตต้นเรื่องยังไม่ทันจบ ผู้กำกับ อูลู กรอสบาร์ด ก็แสดงให้เราเห็นถึงวิถีชีวิตของเซดี้ได้อย่างชัดเจน มันวนเวียนอยู่เช่นนี้จนแม้กระทั่งเมื่อหนังจบก็ยังไม่มีทีท่าแห่งการเปลี่ยนแปลง เธอทำงานเป็นแม่บ้านตามโรงแรมกระจอกในเมืองใหญ่ ซานฟรานซิสโก ก่อนจะจับพลัดจับผลูได้เป็นนักร้องแบ็คอัพให้ดาวดังอย่าง ทรัคเกอร์ (จิมมี่ วิทเธอร์สพูน) เจ้าของเพลงฮิตที่ทุกคนรู้จัก I’m Gonna Make You Mine และไม่ช้าเซดี้ก็กลายเป็นสมบัติส่วนตัวของเขานอกเหนือจากฐานะลูกจ้าง แต่แล้วความสัมพันธ์ดังกล่าวก็ไม่ยั่งยืนนาน สาเหตุเพราะความ “ไม่ปรกติ” ของทรัคเกอร์ (มีปืนทุกชนิดซ่อนไว้ทุกมุมในบ้าน) มุกตลกที่เขาแกล้งยืนกระสุนเปล่าใส่เซดี้กลางดึกกลายเป็นเรื่องขำไม่ออก และเธอก็ทนเขาไม่ได้อีกต่อไป จึงตัดสินใจหนีตาม เชสแมน (เจสัน คาร์เตอร์) ชายหนุ่มผู้ไม่มีมาดเอเยนต์นักร้องแบบที่เขาอ้างตัวว่าเป็นเลย ไปยังบ้านเกิดของเซดี้ นั่นคือ ซีแอตเติล เพื่อไปดูคอนเสิร์ตใหญ่ของพี่สาวชื่อดัง... จอร์เจีย ฟลัด

มีช็อตย้อนอดีตสั้นๆ สะท้อนให้เห็นแบ็คกราวด์ของพี่น้องสองสาวตอนพวกเธอยังเป็นเด็ก ร้องเพลงและเต้นรำด้วยกันอย่างสนุกสนาน ช็อตดังกล่าวสื่อความหมายชัดเจนว่าเซดี้กับจอร์เจียเคยสนิทสนมกันราวฝาแฝด พวกเธอต่างทำในสิ่งที่คล้ายคลึงกัน หรือมองอีกที เซดี้อาจกำลังเลียนแบบพี่สาวเพราะเธอไม่มีผู้หญิงคนใดให้เป็นแบบอย่าง พวกเธอเหลือเพียงพ่อ ผู้มอบความสนใจด้านดนตรีแก่ลูกๆ อย่างเท่าเทียมกัน แต่น่าเศร้าตรงมีแค่คนเดียวเท่านั้นที่ได้พรสวรรค์พิเศษจากพระเจ้า และนั่นก็ทำให้เธอสามารถเอาชนะใจพ่อได้อย่างไม่ยากเย็น ต่อมามันก็กลายเป็นคำอธิบายว่าเหตุใดเซดี้กับพ่อถึงไม่ค่อยลงรอยกันสักเท่าไหร่

ตลอดทั้งเรื่องชีวิตของเซดี้ลอยคว้างไปมา โดยหลังจากได้พบกับพี่สาวแล้ว เธอก็ทิ้งเชสแมนแล้วหันไปหาบ็อบบี้ (จอห์น โด) ชายหนุ่มผู้มีวงดนตรีเป็นของตัวเอง เซดี้เคยเป็นหนึ่งในสมาชิก (และอดีตคู่รักของบ็อบบี้) ก่อนเธอจะทิ้งเขาไปแสวงโชคที่ซานฟรานซิสโก เซดี้ขอร้องให้บ็อบบี้รับเธอเข้าวงอีกครั้ง ชายหนุ่มตอบตกลงอย่างไม่เต็มใจนัก เพราะหวาดหวั่นว่าอาการขี้เหล้าเมายาของเซดี้จะทำทุกอย่างวุ่นวายอีก (ซึ่งต่อมามันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ) และเขาก็ไม่ใช่เด็กหนุ่มวัยรุ่นที่จะผจญเสี่ยงภัย หรือปล่อยชีวิตไปตามอารมณ์เหมือนเมื่อก่อนอีกแล้ว เขาต้องการจะสร้างเนื้อสร้างตัวโดยใช้ดนตรีเป็นเครื่องมือ “ทำมาหากิน” ไม่ใช่เพราะรักหรือเพื่อระบายความอัดอั้นเหมือนเมื่อครั้งวัยรุ่นอีกแล้ว ดังนั้น ใครก็ตามที่ทำวงเขวออกนอกเส้นทางก็จะถูกเขากำจัดออกไปอย่างไร้เยื่อใย เริ่มจากมือกลองขี้ยา เฮอร์แมน (จอห์น ซี ไรลีย์) ก่อนเซดี้จะกลายเป็นเหยื่อรายต่อไป

แม้จะไม่มีคำอธิบาย แต่เห็นได้ค่อนข้างชัดว่าบ็อบบี้เคยยืนอยู่จุดเดียวกับเซดี้ ก่อนจะก้าวข้ามมันไปยืนอยู่ฟากฝั่งเดียวกับจอร์เจีย

เทียบไปแล้วเซดี้ก็ไม่ต่างกับพวกฮิปปี้ในยุคบุปผาชนสักเท่าไหร่ ไม่ว่าจะด้วยสไตล์การแต่งตัว การร้องเพลงในลีลาร็อค บางครั้งก็กรีดเสียงดัง บางครั้งก็กระซิบจนแทบไม่ได้ยิน อาการติดเหล้า ยาเสพติด และวิถีชีวิตแบบร่อนเร่ไปตามที่ต่างๆ ไม่ตั้งหลักแหล่ง ความสัมพันธ์ช่วงหนึ่งกับเด็กหนุ่ม แอ็กเซล (แม็กซ์ เพอร์ลิช) คือ ตอนที่แสดงให้เห็นความน่าสงสารของตัวละครอย่างเซดี้ได้ชัดเจนที่สุด ก่อนหน้าทั้งสองจะแต่งงานกัน แอ็กเซลเคยถูกแฟนสาวทอดทิ้งมาก่อนจนรู้สึกท้อแท้สิ้นหวัง แต่เขาก็ยังเชื่อมั่นในรักนิรันดร์ และต้องการจะตั้งต้นใช้ชีวิตใหม่ตราบนานเท่านานกับใครสักคน ก่อนสุดท้ายเขาจะตกลงใจเลือกเซดี้ ผู้อาศัยอยู่ในโลกอันเปล่าเปลี่ยวเช่นกัน แม้ความต้องการของทั้งสองจะแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว เซดี้เองคงต้องการใครสักคนที่รักเธอเช่นกันจึงตอบตกลงแต่งงานกับเขา เหมือนเธอจะใช้แอ็กเซลเป็นหลักยึดให้ชีวิต แบบเดียวกับที่เธอรู้สึกต่อจอร์เจีย น่าเสียดายที่แอ็กเซลไม่ใช่หลักยึดที่มั่นคงสักเท่าไหร่ เขาไม่อาจทนพฤติกรรม “ทำร้ายตัวเอง” ของเซดี้ ซึ่งนับวันจะรุนแรงขึ้นทุกที ได้ จนสุดท้ายก็ต้องทำสิ่งเดียวกับที่เขาเคยประณามแฟนเก่า ปล่อยให้เซดี้เจ็บลึกกับความผิดหวังยิ่งขึ้นอีก

ดูเหมือนจุดมุ่งหมายของเซดี้ คือ การพยายามจะเอาชนะพี่สาวหรือเลียนแบบพี่สาวเช่นเดียวกับเด็กไม่รู้จักโต ความจริงที่ว่าเธอเป็นนักร้องไม่ได้บีบบังคับให้เซดี้ต้องหันไปพึ่งยาและเหล้า เธอทำลายชีวิตตนเองกับคนรอบข้างด้วยความดื้อดึง ดันทุรัง จนสุดท้ายไม่อาจหาความสุขใส่ชีวิตได้ เซดี้ผิดพลาดตรงเธอหาทางออกแก่ความอ่อนแอในใจด้วยการทำร้ายตนเอง ปล่อยปละชีวิตให้ว่างเปล่า ไร้คุณค่า

ชีวิตของจอร์เจียยืนอยู่คนละฝั่งกับเซดี้ เธอมีหน้าที่การงานมั่นคง มีชื่อเสียง เงินทอง ไม่ต่างกับยับปี้ที่สร้างฐานะขึ้นมาในยุค 1970 แม้แต่สถานะชีวิตคู่ของเธอก็สะท้อนความรู้สึกนั้นชัดเจน เมื่อจอร์เจียกับสามี เจค (เท็ด เลวิน) เริ่มระหองระแห่ง ความสัมพันธ์ของพวกเขากำลังเปราะบาง ง่อนแง่น การตั้งหน้าตั้งตาสร้างฐานะทางสังคมทำให้ครอบครัวเหินห่าง คนดูแทบไม่เห็นพวกเขาแสดงความเอื้ออาทรต่อกันเลย ส่วนใหญ่พวกเขามักจะเย็นชา หรือไม่ก็ตั้งหน้าโต้เถียง ทำร้ายจิตใจกัน โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับเซดี้ ซึ่งเจคมักเข้าข้างและเห็นอกเห็นใจเธอเสมอ ต่างกับจอร์เจียผู้เกรี้ยวกราดใส่น้องสาวบ่อยครั้ง พร้อมทั้งตอกย้ำเสมอว่าเซดี้เป็นนักร้องไม่ได้

ในช่วงแรกๆ คนดูจะรู้สึกรำคาญเซดี้ ด้วยความที่เธอเป็นตัวปัญหา ก่อเรื่องยุ่ง และทำพังได้ทุกสถานการณ์ ส่วนจอร์เจียก็เปรียบเหมือนพี่สาวแสนดี ที่คอยช่วยเหลือน้องสาวตลอดเวลา แต่เมื่อหนังดำเนินไปเรื่อยๆ คนดูกลับยิ่งรู้สึกเห็นใจเซดี้มากขึ้น เธอคือตัวละครที่เอาชีวิตทั้งชีวิตผูกติดไว้กับความฝัน ความหวัง จนไม่เหลือทางออกอื่นๆ ให้แก่ตนเองเลย เธอไม่เคยคิดจะทำงานอื่นนอกจากเป็นนักร้อง หรือไม่งั้นก็ทำเพียงเพื่อรอจังหวะให้ได้กลับไปร้องเพลงอีกครั้งเท่านั้น แม้จะรู้ตัวดีว่าตนไม่อาจเป็นนักร้องชั้นยอดได้ บางทีความเจ็บปวดที่ไม่สามารถเทียบเท่าพี่สาว แม้จะใช้ความพยายามมากกว่าหลายเท่า คือ ส่วนที่ผลักดันชีวิตเธอให้จมดิ่งลงสู่เบื้องล่าง ขณะเดียวกันวิธีช่วยเหลือแบบของจอร์เจียก็เสมือนจะยิ่งทำร้ายน้องสาวเธอมากไปขึ้นไปอีก ทุกครั้งที่เจอหน้าน้องสาว เธอจะถามเซดี้ว่าต้องการเงินหรือเปล่า หรือไม่ก็พูดประโยคทำนองว่า “ฉันดีใจที่มีเงินจะให้เธอได้” “จะเอาอะไรไปก็ได้ ทุกอย่างเป็นของเธอ”... การตั้งตนปกป้องน้องสาวตลอดเวลาเช่นนี้ทำให้เซดี้ไม่รู้จักมองโลกตามความเป็นจริง

Georgia ทำให้ผมนึกถึงหนังเรื่อง Amadeus (ฉากเซดี้นั่งฟังพี่สาวร้องเพลงด้วยความซาบซึ้งให้อารมณ์คล้ายคลึงกับกับตอนที่ซาเลียรี่แอบไปดูโอเปร่าทุกรอบของโมสาร์ท ศัตรูตัวฉกาจของเขา ด้วยความชื่นชม) เนื่องจากมันแสดงให้เห็นเรื่องราวของดนตรีกับการแข่งขันของคนสองคน คนหนึ่งมีพรสวรรค์ อีกคนมีพรแสวง โมสาร์ทแตกต่างจากจอร์เจียตรงที่เธอประสบความสำเร็จด้านชื่อเสียง สังคม เงินทอง และการยอมรับอย่างกว้างขวางขณะยังมีชีวิตอยู่ ส่วนเซดี้ก็แตกต่างจากซาเลียรี่ตรงที่เธอไม่เคยลิ้มรสความสำเร็จใดๆ เลย ไม่ว่าจะด้านความสามารถหรือการยอมรับ ชีวิตเธอคุ้นเคยแต่กับคำว่า “ล้มเหลว” และไม่ว่าจะเพียรพยายามเพียงใด เธอก็ไม่มีวันเป็นนักร้องที่ดีได้เฉกเช่นพี่สาว ด้วยเหตุนี้ ตัวละครอย่างเซดี้จึงดูน่าสงสาร น่าสมเพช และน่าเห็นใจอย่างยิ่ง ฉากสุดท้ายของหนังเป็นการตัดสลับระหว่างเซดี้กับจอร์เจียกำลังร้องเพลงเดียวกัน แต่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คนหนึ่งร้องด้วยลีลานุ่มลึกในคอนเสิร์ตใหญ่ อีกคนร้องอย่างดุดันในบาร์เล็กๆ ที่เต็มไปด้วยพวกขึ้เมา ก่อนเซดี้จะพูดตบท้ายว่า “ไม่มีใครร้องเพลงนี้ได้ดีเท่าพี่สาวของฉัน”

เนื้อเพลงก็ดูเหมือนจะล้อเลียนชีวิตของตัวละครอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะท่อนที่ว่า “Hard times hard times come again no more no more hard times no more hard times…” สำหรับเซดี้แล้ว ช่วงเวลาอันยากลำบากนั้นเป็นสิ่งที่เธอเผชิญมาตลอดชีวิตและต้องผจญมันต่อไป ในเมื่อเธอยังคงปรารถนาจะเลือกทำในสิ่งที่ “รัก” แม้มันจะไม่ใช่สิ่งที่เธอ “ถนัด” หรือทำได้ดีที่สุด

จุดเด่นของหนังเรื่องนี้อยู่ตรงฝีมือการแสดงของ เจนนิเฟอร์ เจสัน ลีห์ และ แมร์ วินนิ่งแฮม ซึ่งถ่ายทอดพลังรับส่งกันได้อย่างกลมกลืนด้วยลีลาอันแตกต่างกันอย่างสุดขั้ว คนแรกเด่นตรงอาการในลักษณะเมาค้างตลอดเวลา (คล้ายๆ กับ นิโคลัส เคจ ใน Leaving Las Vegas) และอากัปกริยาของคนที่ขาดความมั่นใจในตัวเอง เช่น การโยกตัว สั่นขา จิกกระโปรง อารมณ์ส่วนใหญ่จะถูกส่งผ่านสีหน้า แววตา ท่าทาง และน้ำเสียงอย่างชัดเจนรุนแรง เช่น ในฉากที่เธอเมาแล้วขึ้นไปร้องเพลงบนเวทีคอนเสิร์ตของจอร์เจีย หรือตอนที่เธอกำลังป่วยจากฤทธิ์ของยาเสพติดแล้วต้องขึ้นเครื่องบินในสภาพสุดโทรม ต่างกับฝ่ายหลังที่คนดูจะรู้สึกเหมือนถูกคุกคามกลายๆ เพราะไม่อาจอ่านความรู้สึกนึกคิดของเธอได้ จอร์เจียมักจะคงสีหน้าเรียบเฉยตลอดเวลา จนบางครั้งดูเย็นชา จืดชืด เด่นมากตอนเธอขึ้นเวทีร้องเพลงกับเซดี้สองครั้ง (ในคอนเสิร์ตใหญ่กับในบาร์หลังงานแต่ง) โดยทุกครั้งที่น้องสาวกรีดเสียงร้องแหบพร่าออกมา เธอก็จะร้องกลบด้วยน้ำเสียงอันนุ่มลึก สีหน้าไม่บ่งบอกแววดูถูกเหยียดหยามชัดเจน แต่ก็ไม่ปรากฏรอยยิ้มเช่นกัน และทุกครั้งหลังจบ “การแสดง” เธอก็จะระเบิดอารมณ์ใส่น้องสาว หรือหันมาโวยวายจิกกัดคนรอบข้างแทนเสมอ

เซดี้คือตัวละครที่ส่งผ่านความจริงอันเจ็บปวดว่า อาชีพบางอย่างไม่ว่าเราจะพยายามหรือทุ่มเทให้มันเพียงใดก็ไม่สามารถทำได้ดีเทียบเท่าบุคคลที่สวรรค์ประทานพรด้านนั้นๆ มาให้แบบเดียวกับโมสาร์ท แวนโก๊ะ หรือเชคสเปียร์ การเปิดทางเลือกอื่นแก่ชีวิต ไม่จมปลักกับความทะเยอทะยานที่ไม่มีวันเป็นจริง คือ วิธีแก้ไขความความท้อแท้ที่เราไม่สามารถทำในสิ่งที่เรารักให้ดีได้ แต่เซดี้กลับไม่เพียงก้มหน้าจะเป็นในสิ่งที่เธอเป็นไม่ได้เท่านั้น เธอยังไม่เคยสำรวจตัวตนว่าแท้จริงแล้วมีศักยภาพอื่นใดภายในอีก สุดท้ายชีวิตชีวิตของเธอจึงต้องเผชิญหน้ากับความผิดหวังและล้มเหลวอยู่ร่ำไป

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สงสารเซดี้

คนที่อยากทำในสิ่งที่รัก แต่ทำไม่ได้ดี

คนที่ทำได้ดี ดันไม่ใช่ทำเพราะความรัก

อ่านแล้วเศร้า...หดหู่...ท้อแท้!

บททดสอบของพระเจ้ามักโหดร้ายเช่นนี้เสมอ...

ขอบคุณคนเขียนสำหรับบทความดีๆ ด้วยจ้า...