วันศุกร์, กันยายน 21, 2550

เพื่อน...กูรักมึงว่ะ: ช่างมัน ฉันไม่แคร์


เมื่อครั้งที่หนังเรื่อง Brokeback Mountain ออกฉายประมาณสองปีก่อน หลายคนนับมันเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของวงการภาพยนตร์รักร่วมเพศด้วยเหตุผลหลักๆ สองข้อ นั่นคือ หนึ่ง มันเป็นหนังกระแสหลักที่เล่าถึงความสัมพันธ์อันดูดดื่มระหว่างผู้ชายสองคนแบบตรงไปตรงมา ไม่กระมิดกระเมี้ยน (นั่นหมายถึงฉากเซ็กซ์และการจูบปากแบบใช้ลิ้น) สอง ตัวละครรักร่วมเพศห่างไกลจากภาพลักษณ์แบบเหมารวมที่คนดูคุ้นเคย หรือ เกย์ชาวเมืองบุคลิกตุ้งติ้งที่ชอบเที่ยวสังสรรค์ตามไนท์คลับและฟิตเนส (1)

สำหรับวงการภาพยนตร์ไทย กล่าวได้ว่า เพื่อน...กูรักมึงว่ะ กำลังทำในสิ่งเดียวกับที่ Brokeback Mountain ทำกับฮอลลีวู้ด เพราะนี่เป็นหนังกระแสหลักเรื่องแรกๆ ที่พูดถึงเรื่องราวความรักระหว่างชายสองคน ซึ่งมีบุคลิกแตกต่างจากตัวละครรักร่วมเพศแบบที่คนไทยคุ้นเคยและยอมรับ (สังเกตจากความสำเร็จทางรายได้ของหนังกะเทยสุดฮิตอย่าง สตรีเหล็ก และ หอแต๋วแตก) อันที่จริงหนังทั้งสองเรื่องยังมีความคล้ายคลึงกันในรายละเอียดอีกหลายส่วน เช่น เมฆ (รัตนบัลลังก์ โตสวัสดิ์) มีปมเกลียดกลัวรักร่วมเพศอันเป็นผลจากหัวหน้าครอบครัวเฮงซวยเหมือน เอนนิส เดลมาร์ (ฮีธ เลดเจอร์) และปมดังกล่าวก็เป็นเหตุให้เมฆ ซึ่งรับบท passive ในเกมแห่งการเกี้ยวพาราสี แต่รับบท active บนเตียงเช่นเดียวกับเอนนิส ผละหนีจาก อิฐ (ชัยวัฒน์ ทองแสง) หลังจากทั้งสองมีอะไรกัน ความรู้สึกขยะแขยงของเมฆถูกถ่ายทอดเป็นรูปธรรมผ่านฉากที่เขากระหน่ำอาบน้ำ ราวกับกำลังพยายามจะชำระล้างความ “สกปรก” บางอย่างที่ฝังรากลึกอยู่ภายใน

นอกจากนี้ หนังทั้งสองเรื่องยังวาดภาพตัวละครคู่รักให้มีบุคลิกตรงข้ามกันอีกด้วย โดยคนหนึ่งอ่อนหวาน อ่อนไหว ไม่เกรงกลัวที่จะเปิดเผยความรู้สึก ส่วนอีกคนกลับแข็งกระด้าง รักสันโดษ และไม่กล้าเผชิญความรู้สึกที่แท้จริงของตน แง่มุมซึ่งซ้อนทับเพิ่มเข้ามาอีกชั้นใน เพื่อน...กูรักมึงว่ะ คือ ความแตกต่างทางชนชั้น ที่ถูกเปรียบเทียบให้เห็นเด่นชัดอยู่หลายครั้งหลายครา เช่น อิฐขับรถยนต์ เมฆขับมอเตอร์ไซค์ อิฐพักอยู่ในบ้านสไตล์โมเดิร์นพร้อมทีวีจอยักษ์ เมฆอาศัยอยู่ในห้องทรุดโทรมที่ปราศจากเครื่องอำนวยความสะดวก ส่วนแม่ (อุทุมพร ศิลาพันธ์) กับ น้องชายเขา (วีรดิษฐ์ ศรีมาลัย) ก็นอนแออัดอยู่ในตึกแถวทึมทึบ เมฆมีอาชีพเป็นมือปืน ไว้ผมยาว หนวดเครารุงรัง อิฐมีอาชีพเป็นตำรวจ ตัดผมสั้นเกรียน และใบหน้าเกลี้ยงเกลา เมฆนิยมใช้ภาษาพ่อขุนราม ส่วนอิฐพูดจาไพเราะแบบมีหางเสียงตลอดในสไตล์หนุ่มยับปี้

อย่างไรก็ตาม จุดต่างสำคัญอยู่ตรงที่ผู้กำกับอย่างอั้งลี่ถ่ายทอดเรื่องราวด้วยลีลาละเอียดอ่อน ลุ่มลึก และยั้งมือในทุกจังหวะแห่งเมโลดราม่า แต่ พจน์ อานนท์ เลือกจะปล่อยของแบบเต็มกำลัง บีบคั้นอารมณ์ในทุกโอกาส และตอกย้ำทุกประเด็นด้วยการขีดเส้นใต้ หรือเน้นตัวหนาชนิดไม่บันยะบันยัง ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลก หากคุณเคยชมผลงานก่อนหน้านี้ของเขามาบ้างแล้ว ผมขอยกตัวอย่างเปรียบเทียบในฉากอิฐตามมาเจอเมฆที่บ้านตึกแถวกลางซอยเปลี่ยว ซึ่งคล้ายคลึงกับฉากสำคัญใน Brokeback Mountain เมื่อเอนนิสพบแจ๊คเป็นครั้งแรกหลังแยกทางกันไปนานสี่ปี อั้งลี่เห็นว่าการจูบปากแลกลิ้นอย่างรุนแรง ดูดดื่มนั้นมากพอจะทำให้คนดูตระหนักถึงอารมณ์โหยหาของตัวละคร ส่วน พจน์ อานนท์ กลับเห็นว่าทั้งสองควรต้องปล้ำกันไปมาบนพื้น ถอดเสื้อ และถลกกางเกงยีนลงจนครึ่งแก้มก้นของนักแสดงโผล่ออกมาเล่นสายฝน จากนั้นอั้งลี่ก็ช็อกคนดูด้วยการให้ อัลม่า (มิเชลล์ วิลเลี่ยมส์) ภรรยาของเอนนิส เดินมาเห็นเหตุการณ์เข้า ส่วน พจน์ อานนท์ กลับกระตุ้นคนดูเป็นสามเท่า ด้วยการให้ “สาม” ตัวละครสำคัญบังเอิญเห็นเหตุการณ์นั้นในเวลาเดียวกัน เพื่อให้คนดูคิดไปต่างๆ นานาว่าแต่ละตัวละครจะแสดงปฏิกิริยาอย่างไร แต่สุดท้ายเขากลับไม่ได้ต่อยอดใดๆ ทางอารมณ์ในกรณีของแม่และหมอก ส่วนปฏิกิริยาของทราย (ณัชชา รุจินานนท์) นั้นก็เรียกได้ว่ารุนแรงโฉ่งฉ่างกว่าอัลม่าประมาณสามเท่าเป็นอย่างน้อย

ท่าทีกระเหี้ยนกระหือรือต่อแนวทางเมโลดราม่าของ เพื่อน...กูรักมึงว่ะ นับเป็นความขัดแย้งที่น่าสนใจกับเนื้อหาอีกส่วนของหนัง ซึ่งอัดแน่นไปด้วยความเป็นชาย ทั้งเลือด กระสุน กำปั้น เหงื่อไคล และปืนผาหน้าไม้ โดยฉากไคล์แม็กซ์ที่เมฆบุกเข้าไปตะลุยรังโจรแบบฉายเดี่ยวเพื่อหวังจะปลดตัวเองเป็นอิสระจากโลกแห่งอาชญากรรม ทำให้ผมอดไม่ได้ที่จะนึกถึงฉากไคล์แม็กซ์ใน Taxi Driver ของ มาร์ติน สกอร์เซซี่ ผู้กำกับสไตล์ macho ที่ชอบเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับสัญญาลูกผู้ชายและความผูกพันระหว่างเพศชาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักเลงมาเฟีย ผ่านหนัง “แมนๆ” อย่าง Goodfellas, Raging Bull และ Casino น่าตลกตรงที่หนังประเภทนี้ (ตัวอย่างล่าสุด คือ หนังไทยเรื่อง ไชยา ซึ่งกรุ่นกลิ่นอายสกอร์เซซี่ค่อนข้างสูง) เช่นเดียวกับหนังคาวบอย มักอบอวลไปด้วยอารมณ์โฮโมอีโรติก เนื่องจากตัวละครผู้หญิงส่วนใหญ่จะถูกผลักไสให้กลายเป็นเพียงเครื่องประดับ

ทั้งอั้งลี่และ พจน์ อานนท์ โยนตัวละครรักร่วมเพศเข้าไปในโลกแห่งความเป็นชาย แต่ขณะที่คนแรกพยายามเก็บซ่อนเนื้อแท้แห่งเมโลดราม่า (ความเป็นหญิง) เอาไว้ภายใต้สไตล์การทำหนังที่เน้นความเรียบง่าย สมจริง และเจือลักษณะแห่งภาวะวิสัย คนหลังกลับละเลงความเป็นเมโลดราม่าแบบไม่ปิดบัง ผ่านสไตล์การทำหนังที่เน้นภาพชัดตื้น ภาพสโลว์โมชั่น ดนตรีประกอบเร้าอารมณ์ และงานแสดงประเภท “ยิ่งมากยิ่งดี” กล่าวอีกนัยหนึ่ง เรื่องราวใน เพื่อน...กูรักมึงว่ะ อาจละม้ายคล้ายหนังของอั้งลี่ แต่สไตล์อันโดดเด่นของมันกลับเชื่อมโยงถึงหนังของ หว่องกาไว ซึ่งมักจะเน้นอารมณ์เหนือเหตุผล เสียมากกว่า (2) และด้วยเหตุนี้กระมัง เราถึงได้เห็นตัวละครอาบน้ำกันบนดาดฟ้าตึกกลางกรุงในตอนกลางวันแสกๆ ซึ่งอาจดูโรแมนติกและวาบหวามเกินห้ามใจ หากคุณยินดีจะโยนความเป็นไปได้ลงถังขยะ แต่ก็นั่นแหละ มันไม่ใช่เรื่องแปลกอีกเช่นกัน ถ้าคุณคุ้นเคยกับผลงานเรื่องก่อนหน้าของผู้กำกับ ซึ่ง “ความสมจริง” เป็นสิ่งที่เขาคำนึงถึงลำดับท้ายๆ

การผสมผสานระหว่างความเป็นชายและความเป็นหญิงของ เพื่อน...กูรักมึงว่ะ ทำให้ผมนึกถึงประโยคเด็ดที่ แองเจิล (วิลสัน เฮอร์เมน เฮียร์เดียร์) กะเทยแต่งหญิงในหนังเพลงเรื่อง Rent เคยพูดเอาไว้ว่า “I'm more of a man than you'll ever be, and more of a woman than you'll ever get” ประโยคดังกล่าวสะท้อนอัตลักษณ์อันโดดเด่นของรักร่วมเพศที่แตกต่างจากรักต่างเพศ นั่นคือ ความเป็นหญิงและชายในคนๆ เดียวกัน ทั้งผู้กระทำและถูกกระทำ ผู้ล่วงล้ำและผู้ถูกล่วงล้ำ ผู้รับและผู้ให้ ซึ่งถือเป็นการทำลายกฎเหล็กแห่งสังคมรักต่างเพศ (เพศชาย = active เพศหญิง = passive) ลงอย่างราบคาบ ฉะนั้นเมื่อถึงจุดนี้ มันจึงเป็นความสมเหตุสมผลตามแก่นธรรมชาติของหนัง ถ้าคนดูจะเห็นมือปืนหน้าโหดที่ฆ่าคน (เลว) ได้อย่างเลือดเย็นมีตุ๊กตาสุดแสนคิกขุเก็บไว้ในห้อง รวมไปถึงภาพตำรวจมาดแมนร่างใหญ่นอนกอดตุ๊กตาตัวนั้นด้วยอารมณ์ถวิลหามือปืน

ไม่เพียงเท่านั้น หนังเรื่องนี้ของ พจน์ อานนท์ ยังก้าวไปไกลกว่า Brokeback Mountain ด้วยการตัดขาดความพยายามที่จะทำตัวกลมกลืนกับกระแสหลัก ตรงกันข้าม มันประกาศความเป็นเกย์ซึ่งๆ หน้า แบบไม่ประนีประนอม (สำหรับหนังที่เปิดฉายในวงกว้าง) จนทำให้ผลงานของอั้งลี่แทบจะกลายเป็นยาเชื่อมน้ำหวานไปโดยปริยาย

เพื่อน...กูรักมึงว่ะ เป็นหนังที่ให้ความสำคัญกับเรือนร่างของเพศชายอย่างชนิดที่พบเห็นไม่บ่อยนักในวงการภาพยนตร์ไทย จริงอยู่ หนังไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังแอ็กชั่นประเภทหมัดๆ มวยๆ อาจมีช็อตโคลสอัพกล้ามแขนและแผงอกชุ่มเหงื่อบ้างเป็นครั้งคราว แต่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นไปเพื่อให้ผู้ชมตื่นตากับทักษะของนักแสดงในฉากต่อสู้เสียมากกว่า แต่ เพื่อน...กูรักมึงว่ะ กลับเชิญชวนอย่างโจ่งแจ้งให้คนดูร่วมกันชื่นชมความงามแห่งเพศชายในรูปแบบเดียวกับหนังปกติเชิดชูเรือนร่างของเพศหญิง เช่น ฉากอิฐเช็ดตัวให้เมฆ ซึ่งกล้องดูจะอ้อยอิ่งและเกาะติดในทุกรายละเอียด หลายครั้งนักแสดงถูกวางท่าต่อหน้ากล้องเพื่อเรียกร้องให้คนดูจ้องมอง (to-be-looked-at-ness) แบบเดียวกับดาราหญิงในหนังยุคสตูดิโอรุ่งเรือง เช่น ช็อตอิฐยืนเท่อยู่ริมถนนในมุมเงยเล็กน้อย หรือช็อตที่หมอกกางแขนรับลมบนดาดฟ้า และภาพบางภาพก็อาจถึงขนาดก่อให้เกิดความรู้สึกคุกคาม เช่น ช็อตอิฐนอนหนุนแขนบนเตียง กล้องตั้งในระยะประชิดและระดับสายตา ส่งผลให้รักแร้ของอิฐกินพื้นที่หน้าจออย่างชัดเจนจนคนดูแทบจะนับขนรักแร้ของเขาได้ครบทุกเส้น ถ้าเป็นหนังเรื่องอื่นๆ กล้องคงจะตั้งห่างออกมา หรือวางไว้ในมุมสูง ซึ่งสามารถให้ข้อมูลได้เท่าเทียมกัน แต่แน่นอนย่อมส่งผลกระทบต่อคนดูแตกต่างออกไป

มองผ่านสายตาของนักปฏิวัติหัวรุนแรง สไตล์ดังกล่าว (ซึ่งอาจทำให้ผู้กำกับถูกเปรียบเป็น แอนดี้ วอร์ฮอล... หรือถ้าจะให้ใกล้เคียงขึ้นมาหน่อยในแง่คุณภาพก็ เดวิด เดอค็อกโต (3) แห่งเมืองไทย!?!) ถือเป็นการ “เอาคืน” ที่หอมหวาน หลังจากสังคมชายเป็นใหญ่ได้ยัดเยียดหนังอย่าง สวยลากไส้ ใส่จิตใต้สำนึกของผู้คนมาช้านานหลายชั่วอายุคน และสำหรับ พจน์ อานนท์ การทำหนังเรื่องนี้ออกมาอาจกล่าวได้ว่าเป็นสิทธิพึงมีพึงได้ หลังจากก่อนหน้านี้เขาเคยทำหนังอย่าง ไฉไล ซึ่งฉกฉวยประโยชน์จากเรือนร่างของเพศหญิงในแบบเดียวกัน มาแล้ว

เมื่อเทียบกับผลงานในอดีตอย่าง ว้ายบึ้ม เชียร์กระหึ่มโลก จะเห็นได้ว่าทัศนคติของ พจน์ อานนท์ เปลี่ยนไปพอสมควร โดยเนื้อหา เขาไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องสู้รบปรบมือกับอคติจากสังคม แล้วเรียกร้องความเห็นใจให้แก่เหล่ารักร่วมเพศอีกต่อไป (แคมเปญ “สร้างความเข้าใจอันดีร่วมกัน” ถูกย้ายไปยังผู้ป่วยโรคเอดส์แทน) โดยสไตล์ เขาเลือกจะนำเสนอความเป็นเกย์อย่างโจ่งแจ้ง โดยไม่หวั่นเกรงว่ามันอาจปิดกั้นตลาดในวงกว้าง แน่นอน พจน์ อานนท์ สามารถทำให้ เพื่อน...กูรักมึงว่ะ เป็นหนังที่ “เกย์” น้อยลงได้ (aka Brokeback Mountain) แต่เขากลับเลือกที่จะป่าวประกาศการมาถึงและการดำรงอยู่ของรักร่วมเพศในสังคมแบบเดียวกับสโลแกนยอดฮิตของฝรั่งที่ว่า “We’re queer, we’re here. Get used to it.”

หมายเหตุ

1)หนังสตูดิโออย่าง Making Love ซึ่งออกฉายในอเมริกาเมื่อปี 1982 อาจเล่าถึงเรื่องราวความรักของชายสองคนอย่างตรงไปตรงมาเช่นกัน แต่ตัวละครในหนังหาได้เบี่ยงเบนออกจากภาพลักษณ์แบบเหมารวมชนิด 360 องศาเทียบเท่า Brokeback Mountian ขณะเดียวกันตัวหนังก็เงียบหายไปจากความสนใจอย่างรวดเร็ว ส่วนหนึ่งคงเพราะคุณภาพหนังโดยรวม ตลอดจนทีมงานและตัวดารานำเองก็ค่อนข้างโนเนม

2)อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน "อัตวิสัย ความเป็นหญิง และภาพชัดตื้น"

3)เดวิด เดอค็อกโต เป็นผู้กำกับหนังแผ่น/หนังทีวีชาวอเมริกันที่โด่งดังในกลุ่มเฉพาะ โดยหนังสยองขวัญทุ่นต่ำเจืออารมณ์โฮโมอีโรติกของเขามักอุดมไปด้วยภาพผู้ชายหนุ่มหล่อใส่กางเกงว่ายน้ำ หรือกางเกงใน เดินไปเดินมาโดยไม่มีสาเหตุแทนบรรดาผู้หญิงนมโตเหมือนหนังสยองขวัญทั่วๆ ไป ตัวอย่างหนังเด่นของเขาก็เช่น Leeches!, The Brotherhood และ Voodoo Academy

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อยากจะพูดกับพจน์ว่า"เพื่อน..กูเกลียดหนังมึงว่ะ" แต่เป็นผู้หญิงพูด"แมนๆ"แบบนั้นไม่ได้ค่ะ หนังเรื่องนี้โดนเพื่อน(กู..เกลียดพวกมึงจริงๆว่ะ) ลากไปดูพร้อมกับเลี้ยงข้าวขับรถกลับมาส่งบ้าน ดูไปกรี๊ด..ไปหนังคล้ายๆ"สิงหาสับ"คือเอาฉากหลายๆฉากจากหนังเกย์ดังๆหลายๆ..ๆ..เรื่องมาเย็บต่อกัน ความพยายามในการผูกเนื้อเรื่องเพื่อให้รับกับภาพ..? เป็นไปอย่างเลอะเทอะ พระเอกเดินใส่กางเกงในตัวเดียวกลับบ้านจากในฉากเป็นสถานีรถไฟฟ้าซอยอารีย์(ทั้งที่บ้านในฉากอยู่สถานีสุรศักดิ์)กลับไปบ้านที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเดินไกลไปไหมค่ะ? ดิฉันว่าหนัง..มันตุ๊ดมากกว่าเกย์ค่ะ ถูกที่อารมณ์อาจอยู่เหนือเหตุและผลแต่..อาบน้ำไกล้สถานีรถไฟฟ้าหรือพยายามจะร่วมเพศกันหน้าบ้านกลางถนนดิฉันรับไม่ได้ค่ะ อย่าเอาไปเปรียเทียบกับ"อังลี่"หรือ"หว่องกาไว"เลยค่ะ พวกเขารู้เข้าจะฆ่าตัวตายเสียทรัพยากรบุคคลที่มีค่าเปล่าๆ..ปลี้ๆ

ben กล่าวว่า...

ปกติจะไม่ดูหน้าไทย..แต่เช่าเรื่องนี้มาดูเพราะอยากรู้ว่าจะทำออกมาได้ดีและสื่อถึงอารมณ์ได้ขนานไหน..แต่พอดูและอึ้งมากค่ะเนื้องหาไม่ได้มีอะไรพิเศษมากนักแต่การดำเนินเรื่องสื่อถึงอารมณ์ได้ดีมากค่ะ..ดูแล้วชอบ..ได้ความรู้สึกมากกว่าที่คิด นักแสดงทุกท่านถ่ายทอดอารมณ์ได้ดีมาก..เป็นหนังไทยอีกเรื่องทีคิดว่าดีมากและไม่เสียดายสตางค์ที่จะซื้อแผ่นจริงเก็บไว้ .. ลองไม่เช่ามาดูกันนะค่ะ