วันพุธ, กันยายน 12, 2550

The Bourne Ultimatum: เมื่อสไตล์ทำลายประสาท?

เรื่องจริงจากอเมริกา: “เราไปดู The Bourne Ultimatum ที่โรง IMAX ในซานฟรานซิสโก และตอนหนังใกล้จะจบ เมื่อเว็บบ์ (แม็ท เดมอน) ถูกบังคับให้ต้องแสดงความทุ่มเทต่อโครงการลับ ผู้หญิงคนหนึ่งที่นั่งข้างผมก็อาเจียนเลอะขาผมและพื้นเบื้องหน้า! ผมไม่เคยเจอเหตุการณ์แบบนี้มาก่อนในชีวิต! จริงอยู่ว่าฉากแอ็กชั่นบ้าระห่ำ การเคลื่อนกล้องแบบหวือหวา และดนตรีประกอบเร้าอารมณ์อาจทำให้หลายคนรู้สึกเวียนหัวได้ไม่ยาก แต่ถึงขนาดอ้วกออกมาเลยเนี่ยนะ!!??”

กรณีข้างต้นอาจเป็นปฏิกิริยาสุดโต่งของภาวะเมาการเคลื่อนไหว (motion sickness) อันเกิดจากหนังที่ตัดต่อภาพอย่างรวดเร็วและเน้นใช้กล้องแบบมือถือถ่าย แต่หากสังเกตจากปริมาณจดหมายร้องเรียนหลายฉบับที่ส่งมาหานักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง โรเจอร์ อีเบิร์ต ทางเว็บไซต์ คุณจะพบว่าผู้หญิงเจ้ากรรมคนนั้นหาใช่เหยื่อเพียงรายเดียวที่รู้สึกคลื่นเหียนกับสไตล์หนังของ The Bourne Ultimatum และบางทีอาจหมายรวมถึงภาพยนตร์ดังอีกหลายเรื่องอย่าง The Blair Witch Project, Dancer in the Dark, Moulin Rouge หรือกระทั่ง Husbands and Wives

แน่นอน หนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ไม่อาจมองข้าม คือ จอขนาดยักษ์ของ IMAX ซึ่งช่วยเพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะเมาการเคลื่อนไหวโดยอัตโนมัติ หลายคนอาจไม่รู้สึกรู้สาระหว่างการนั่งชม The Bourne Supremacy หรือ Moulin Rouge ทางจอทีวี แต่กลับเวียนหัว คลื่นไส้ เมื่อต้องนั่งชมพวกมันบนจอขนาดใหญ่ในระยะประชิด

ภาวะเมาการเคลื่อนไหวเกิดจากอะไรกันแน่ หลายคนชี้ความผิดไปยังการตัดต่อประเภทสายฟ้าแลบในสไตล์ MTV แต่ข้อสันนิษฐานดังกล่าวดูจะถูกต้องเพียงส่วนเดียว จริงอยู่ The Bourne Ultimatum ตัดภาพฉับไวมาก กล่าวคือ มีการตัดต่อทั้งหมด 3200 ครั้งตลอดความยาว 105 นาที คิดเป็นอัตราเฉลี่ยต่อช็อต (average shot length) ประมาณเกือบ 2 วินาที ทว่าเหตุใดภาพยนตร์หลายเรื่อง ซึ่งตัดต่อถี่ยิบกว่า อาทิ Sky Captain and the World of Tomorrow (1.6 วินาทีต่อช็อต) และ Batman Begins (1.9 วินาทีต่อช็อต) ถึงไม่สร้างความรู้สึกปวดเศียรเวียนเกล้าได้มากเท่ากับหนังของ พอล กรีนกราส ? (The Bourne Identity ของ ดั๊ก ไลแมน มีอัตราเฉลี่ย 3 วินาทีต่อช็อต)

จังหวะอันรวดเร็วหาใช่เหตุผลสำคัญเทียบเท่าลักษณะของการตัดต่อ ใน The Bourne Ultimatum รวมไปถึง The Bourne Supremacy สไตล์การตัดต่อจะค่อนข้างกระด้างและจงใจขัดขวางความต่อเนื่องของเหตุการณ์ ตลอดจนทุกๆ การเคลื่อนไหวของกล้อง การแพน ซูม และกิริยาอาการของนักแสดงแทบไม่สามารถดำเนินต่อเนื่องจนสมบูรณ์ก่อนจะถูกตัดสู่ภาพในช็อตถัดไป ซึ่งนั่นย่อมส่งผลให้เกิดความรู้สึกกระตุกและไม่สมดุล

อย่างไรก็ตาม ตัวการหลักที่ทำให้ผู้ชมหลายคนเกิดภาวะเมาการเคลื่อนไหวระหว่างนั่งชม The Bourne Ultimatum คือ เทคนิคถ่ายทำโดยใช้มือถือกล้อง (handheld camera) ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ชวนช็อกแม้แต่น้อย เทคนิคดังกล่าวเคยถูกทดลองใช้มาตั้งแต่สมัยหนังเงียบ ก่อนจะเริ่มได้รับความนิยมในช่วงทศวรรษ 1960 ผ่านหนังอย่าง The Miracle Worker, Seven Days in May, Dr. Strangelove or: How I Learned to Stop Worrying and Love the Bomb และผลงานจำนวนมากของ จอห์น คาสซาเวทส์ ทุกวันนี้ หนังหลายเรื่องพึ่งพิงเทคนิคดังกล่าวอย่างสมบูรณ์แบบ พวกนักทำหนังชาวเดนมาร์กเรียกมันว่า “อิสรภาพทางภาพยนตร์” แนวโน้มการหันมาใช้เทคนิค handheld กันอย่างกว้างขวางได้ถูกนำมาล้อเลียนเสียดสีในหนังตลกเรื่อง Clash of Egos (2006) เมื่อช่างเทคนิคคนหนึ่งมีโอกาสได้กำกับภาพยนตร์เป็นครั้งแรก และยืนกรานที่จะใช้ขาตั้งกล้องในการถ่ายทำทุกๆ ช็อต จนผู้กำกับภาพถึงกับบ่นว่าเขาไม่เคยทำแบบนี้มานับแต่เรียนจบจากโรงเรียนภาพยนตร์แล้ว

อาจกล่าวได้ว่าคุณลักษณะชวนปวดหัวของผลงานภาพใน The Bourne Ultimatum เป็นผลจากวิธีเฉพาะในการใช้เทคนิค handheld ของผู้กำกับ พอล กรีนกราส ผู้ชมหลายคนเขียนมาบ่นกับ โรเจอร์ อีเบิร์ต ว่าการเคลื่อนกล้องในหนังทำให้พวกเขาวิงเวียน เพราะมันดูเหมือนช็อตต่างๆ จะดูกระตุก สั่น ส่ายมากกว่าหนังเรื่องอื่นๆ หนึ่งในหลายเหตุผลเป็นเพราะกรีนกราสไม่นิยมวางตัวละคร หรือเหตุการณ์สำคัญตรงกลางจอ ในฉากแอ็กชั่น เขาจะตั้งกล้องไว้ใกล้เกินไป ทำให้มันไม่สามารถจับภาพเหตุการณ์ทั้งหมดได้ เลยพยายาม “หยิบคว้า” เพียงบางจุดเท่าที่พอจะทำได้ ส่งผลให้คนดูไม่อาจปะติดปะต่อสิ่งที่เกิดขึ้นบนจอได้

อีกหลายๆ ครั้งกรีนกราสเลือกจะแพนจากจุดโฟกัสหลัก หรือแทรกมันไว้ตรงขอบเฟรม โดยมาตรฐานของการถ่ายช็อตข้ามไหล่ คนดูจะสามารถเห็นบ่าของตัวละครในโฟร์กราวด์และใบหน้าของตัวละครอีกคนได้อย่างชัดเจน แต่กรีนกราสกลับปล่อยให้ส่วนโฟร์กราวด์กินพื้นที่โดดเด่นบนเฟรมในรูปของกลุ่มก้อนพร่าเลือนบางอย่าง แล้วแทรกใบหน้าตัวละครอีกคนเพียงบางส่วน บางครั้งอาจจะแค่ดวงตาข้างเดียวของเขา ไว้บริเวณมุมช็อต ลักษณะของงานด้านภาพแบบนี้จะพบเห็นได้ตั้งแต่ใน The Bourne Supremacy แล้ว


ความต่อเนื่องระหว่างช็อตถูกพลิกแพลงให้ซับซ้อนหรือยากต่อการทำความเข้าใจ ผ่านสไตล์ภาพในลักษณะ “ไฮเปอร์” เช่น โดยปกติแล้ว เทคนิค rack focus (อ่านรายละเอียดได้จาก "cinemascope: อัตวิสัย ความเป็นหญิง และภาพชัดตื้น") จะช่วยชี้นำสายตาคนดูอย่างราบรื่นจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง แต่ใน The Bourne Ultimatum เมื่อเจสันสาวเท้าตามทางเดินอยู่ตรงหน้าคนดู กล้องพยายาม (และล้มเหลว) ที่จะเปลี่ยนโฟกัสไปยังนักล่าที่เคลื่อนไหวอย่างรวดเร็วอยู่ข้างหลังในระยะไกล แต่สุดท้ายชายคนนั้นก็เป็นเพียงรูปร่างอันพร่าเลือน เช่นเดียวกับผู้กำกับส่วนใหญ่ กรีนกราสมักเติมเต็มฉากด้วยภาพโคลสอัพ ทว่าเขากลับเลือกจะปล่อยให้ตัวละครล่องลอยไปรอบๆ เฟรม หรือหลุดโฟกัส หรือหายจากกรอบภาพไปชั่วขณะ แทนการชัดเจนอยู่ตรงกลางเฟรม

หนังยุคใหม่ส่วนใหญ่นิยมซอยฉากย่อยเป็นช็อตสั้นๆ เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม โดยแต่ละช็อตจะบอกข้อมูลเล็กๆ น้อยๆ และเมื่อคนดูเข้าใจแล้ว มันก็จะกระโดดข้ามไปยังช็อตต่อไป เทคนิคแบบไฮเปอร์ของกรีนกราสจะทำให้คนดูเข้าใจ “ข้อมูล” ของช็อตนั้นยากขึ้นเล็กน้อย กล่าวคือ แทนที่กล้องจะเหลือบไปมองแบบชัดๆ มันกลับโชว์ให้เราเห็นรายละเอียดเพียงชั่วพริบตา

กลวิธีดังกล่าวถูกนำมาใช้อย่างหนักหน่วงใน The Bourne Ultimatum แต่เราสามารถพบเห็นตัวอย่างได้ใน The Bourne Supremacy เช่นกัน อาทิ ฉากที่สายลับคนหนึ่งดึงเอกสารออกมาจากเป้ และในชั่วแวบนั้น คนดูก็เห็นว่ามันเป็นเอกสารของรัฐบาล จากนั้นในช็อตต่อมา ศีรษะของสายลับก็ผลุบโผล่เข้าออกเฟรมราวกับกล้องไม่รู้ว่าเขาจะเคลื่อนไหวไปทางไหนต่อ


ไม่กี่ฉากต่อมา คนดูจะเห็นกล้องส่ายไปมาบนหน้าจอคอมพิวเตอร์ ก่อนจู่ๆ จะปรับโฟกัสให้ชัดเจนเพื่อแสดงข้อมูลสำคัญบางอย่าง แบบเดียวกับการกวาดสายตาของเราในโลกแห่งความจริง


กรีนกราสอ้างว่าได้รับอิทธิพลจากหนังสารคดีในยุค 60 ซึ่งช่วยสร้างกระแสนิยมให้กับการใช้กล้องแบบ handheld พร้อมทั้งยกตัวอย่าง The Battle of Algiers (1966) เป็นแรงบรรดาใจหลัก นอกจากนี้เขายังให้สัมภาษณ์ว่าสไตล์ดังกล่าวเน้นความเป็นอัตวิสัย “คนดูจะถูกจำกัดให้เห็นเหตุการณ์ผ่านมุมมองตัวละคร กล้องไม่ได้ทำหน้าที่เสมือนพระเจ้า ล่วงรู้ทุกการเคลื่อนไหวและจัดวางในตำแหน่งที่ถูกที่ถูกเวลาเสมอ” แต่ความจริงแล้ว คนดูไม่ได้ประสบเหตุการณ์ผ่านมุมมองของ เจสัน บอร์น หรือตัวละครหนึ่งใด หนังทั้งเรื่องพึ่งพิงการตัดสลับเหตุการณ์เพื่อสร้างอารมณ์ลุ้นระทึก ทำให้คนดูล่วงรู้ (เหนือตัวละคร) ว่าบรรดาซีไอเอทั้งหลายกำลังพยายามวางกับดักบอร์น ที่สำคัญถ้าบอร์นมองเห็นเหล่าศัตรูในลักษณะ “ชั่วแวบ” แบบที่คนดูเห็น เขาคงไม่มีทางทำอันตรายพวกนั้นได้มากขนาดนี้อย่างแน่นอน

The Bourne Ultimatum อาจถูกจัดให้อยู่กลุ่มเดียวกับหนังแอ็กชั่นเน้นสไตล์ ซึ่งพยายามจะนำเสนอความดิบเถื่อน เรียบง่าย แต่ที่จริงกลับเต็มไปด้วยเทคนิควูบวาบ โฉบเฉี่ยว ไม่ว่าจะเป็นการซูมกล้อง (พร้อมดนตรีเร้าอารมณ์) ช็อตหวือหวา การจัดองค์ประกอบภาพแบบหลุดเฟรม การแพนกล้องที่ไม่จบสมบูรณ์ แฟลชแบ็คแช่ภาพ และเทคนิคอื่นๆ ที่เรียกร้องความสนใจจากคนดูอย่างไม่ปิดบัง คุณสามารถพบเห็นรูปแบบอันคล้ายคลึงกันได้จากหนังของ โอลิเวอร์ สโตน อย่าง Natural Born Killers และ U-Turn เช่นเดียวกับผลงานชิ้นหลังๆ ของ ไมเคิล มานน์ แต่ผู้กำกับที่นิยมใช้สไตล์ดังกล่าวแบบสุดโต่งคงหนีไม่พ้น โทนี่ สก็อตต์ เจ้าของหนังแอ็กชั่นอย่าง Spy Game, Man on Fire, Domino และ Déjà vu การวางเฟรมของเขามักไม่ค่อยอยู่นิ่ง ราวกับพยายามจะหาจุดอันสมดุล เหมาะสมอยู่ตลอดเวลา เช่น ภาพตัวอย่างจากหนังเรื่อง Domino เมื่อกล้องเริ่มถ่ายแบบเลยไปทางขวาเล็กน้อย มันจึงขยับไปทางซ้ายเพื่อให้คนดูเห็นตัวละครชัดขึ้น จากนั้นก็ซูมออกอย่างลังเล ก่อนจะเริ่มอยู่นิ่งในที่สุด ขณะตัวละครพูดคุยกับพนักงานประจำเคาน์เตอร์


บางครั้งในหนึ่งช็อตอาจไม่ได้แค่ปรับเปลี่ยนโฟกัสเท่านั้น แต่ยังสามารถกระโดดไปมาในแง่ของปริมาณแสงและสีสันอีกด้วย จนบางครั้งอาจทำให้คนดูแยกไม่ออกว่าพวกเขากำลังดูช็อตเดี่ยวๆ อยู่หรือหลายช็อตกันแน่ ดังจะเห็นได้จากช็อตตัวอย่างจากหนังเรื่อง Man on Fire


สก็อตต์เรียนจบมาทางด้านศิลปกรรม สไตล์หนังของเขาจึงค่อนข้างฉูดฉาดโดยใช้ประโยชน์สูงสุดจากเลนส์ซูม การปรุงแต่งภาพ และการจัดแสงแบบเน้นคอนทราสต์ สไตล์หนังของกรีนกราสดูจะลดทอนระดับความหวือหวาลง ส่วนใน The Bourne Ultimatum เขาเลือกใช้โทนสีเย็นและทึมเทาเป็นหลัก กระนั้น ทั้งสองสไตล์ล้วนเน้นการปรุงแต่งค่อนข้างสูง แถมยังนิยมซอยหนังเป็นช็อตย่อยๆ เช่นเดียวกับมิวสิกวีดีโอ MTV เหมือนกันอีกด้วย โดยเหตุผลหลักของกรีนกราส คือ “มันให้ความรู้สึกของพลังงาน”

ตากล้องชาวฮ่องกงคนหนึ่งเคยให้สัมภาษณ์ว่า “กล้องแบบ handheld ช่วยกลบเกลื่อนข้อผิดพลาดสามอย่างด้วยกัน นั่นคือ การแสดงที่แย่ การออกแบบฉากที่แย่ และการกำกับที่แย่” หลักการดังกล่าวฟังดูน่าสนใจ ชวนให้ค้นหาว่าสไตล์หนังของกรีนกราสอาจถูกใช้เพื่อสร้างภาพลวงตาบางอย่างใช่หรือไม่ และเนื่องจากการตัดภาพชนิดสายฟ้าแลบไม่เปิดโอกาสให้คนดูมองเห็นการต่อสู้ได้อย่างชัดเจน ฉะนั้นใครๆ ก็สามารถกลายเป็นซูเปอร์ฮีโร่ได้ ถ้าการถ่ายทำสร้างความรู้สึกวุ่นวายและเลอะเลือนมากพอ

ผู้กำกับที่เน้นการหยิบฉวยช็อตย่อยๆ มายำรวมกันไม่จำเป็นต้องกังวลเรื่องการค่อยๆ สร้างอารมณ์ทางการแสดงแบบขั้นเป็นตอน เพราะเขานิยมนำเสนอตัวละครผ่านภาพโคลสอัพ ซึ่งต้องแสดงออกผ่านสีหน้าและแววตาเป็นหลัก ช็อตที่มีความยาวขึ้นจะเปิดโอกาสให้ดาราพัฒนาปฏิกิริยาต่อรายละเอียดรอบข้าง บังคับคนดูให้ติดตามความรู้สึกของพวกเขา หนังคลาสสิกยุคสตูดิโอรุ่งเรือง ซึ่งนิยมถอยกล้องออกมาและยืดช็อตให้นานขึ้นกว่ามาตรฐานการทำหนังในปัจจุบัน จะเปิดโอกาสให้คนดูสามารถติดตามพัฒนาการทางอารมณ์ของตัวละครผ่านการเคลื่อนไหวและพฤติกรรมเล็กๆ น้อยๆ ของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม หาใช่กรีนกราสเพียงคนเดียวเท่านั้นที่นิยมสไตล์การทำหนังแบบ “ไฮเปอร์” กระทั่งผู้กำกับรุ่นเก๋าอย่าง มาร์ติน สกอร์เซซี่ เองก็ยังไม่อาจทนต้านกระแสความนิยมได้ โดยในผลงานชนะรางวัลออสการ์ของเขาเรื่อง The Departed นั้น บ่อยครั้งบทสนทนามักถูกซอยย่อย จนคนดูแทบไม่เห็นนักแสดงเคลื่อนไหวไปมารอบๆ ฉาก ส่วนใหญ่พวกเขาจะแค่นั่งหรือยืนพูดบทตามลำพังในช็อต singles หรือช็อตข้ามไหล่ รายละเอียดภายในองค์ประกอบภาพถูกแทนที่ด้วยการตัดต่อที่รวดเร็ว การเคลื่อนกล้อง และการใช้ภาพโคลสอัพแบบเต็มจอ

เทียบกับหนังแอ็กชั่นยุคนี้ The Departed ไม่ได้ตัดภาพเยอะเป็นพิเศษ (2.7 วินาทีต่อช็อต) แต่เมื่อเทียบกับผลงานในอดีตของเขา เช่น Mean Street (7.7 วินาทีต่อช็อต) Taxi Driver (7.3 วินาทีต่อช็อต) Goodfellas (6.7 วินาทีต่อช็อต) และ King of Comedy (7.7 วินาทีต่อช็อต) คุณจะพบความแตกต่างที่เด่นชัด เช่นเดียวกับผู้กำกับร่วมสมัยอีกไม่น้อย สกอร์เซซี่ยอมจำนนต่อสไตล์การทำหนังแบบ MTV จริงอยู่ว่า Infernal Affairs ต้นฉบับของ The Departed ก็เต็มไปด้วยการตัดภาพ (3.2 วินาทีต่อช็อต) การเคลื่อนกล้องหวือหวา และสไตล์ทำหนังแบบบ้าพลัง แต่อย่างน้อยในหนังฮ่องกง กล้องก็ยังเปิดโอกาสให้นักแสดงมีพื้นที่หายใจมากกว่า

ตรงกันข้าม ใน The Departed ตัวละครมักถูกถ่ายในระยะใกล้ จนจอภาพไม่เหลือพื้นที่ว่างสำหรับแจกแจงให้เห็นสภาพแวดล้อม หรือเลย์เอาท์ของสถานที่ นอกจากนี้ การตัดต่อแบบซอยยิบยังทำลายความต่อเนื่องของการแสดงอีกด้วย เหตุใดผู้กำกับถึงไม่เลือกภาพแบบ two-shot แล้วปล่อยให้นักแสดงใช้ทักษะแบกรับฉากดังกล่าวบนบ่า ไม่ใช่ผ่านบทพูด แต่ผ่านกิริยาท่าทาง ภาษาร่างกาย และปฏิสัมพันธ์กับอุปกรณ์ประกอบฉากทั้งหลาย


พื้นที่ในกรอบภาพถือเป็นสิ่งสำคัญ การตัดต่อแบบซอยยิบย่อมทำให้คนดูไม่สามารถพัฒนาภาพรวมของฉากนั้นๆ ได้ รูปร่างที่แตกย่อยและกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ ในเฟรมไม่อาจช่วยให้คนดูนึกภาพสถานที่เกิดเหตุได้ ใน United 93 เทคนิคไฮเปอร์ของกรีนกราสอาจใช้ได้ผลเพราะคนดูส่วนใหญ่คุ้นเคยแผนผังของเครื่องบินโดยสารเป็นอย่างดีอยู่แล้ว แต่ใน The Bourne Ultimatum จะมีใครบ้างที่สามารถแจกแจงแผนผังหรือทิศทางของสถานีรถไฟ ถนนหนทาง หรือตึกอาคารทั้งหลายได้จากภาพที่ปรากฏให้เห็นบนจอ แน่นอน บางคนอาจแก้ต่างว่านั่นล่ะประเด็น ผู้สร้างต้องการให้คนดูงุนงงกับความวุ่นวายชุลมุนทั้งหลายที่หลั่งไหล่เข้ามาเหมือนตัวละครเอก แต่กระนั้น เจสันจำเป็นต้องรู้รายละเอียดของสถานที่ต่างๆ เป็นอย่างดี เพราะไม่งั้นเขาคงไม่สามารถหลบหนีศัตรูได้อย่างง่ายดาย

หนังฮ่องกงคลาสสิกนิยมใช้เทคนิคภาพยนตร์อันประณีตในการสร้างอารมณ์ร่วมต่อฉากแอ็กชั่นอันตระการตา คนดูสามารถติดตามเหตุการณ์ได้อย่างลื่นไหล เห็นร่างกายของตัวละครเคลื่อนไหวผ่านการจัดองค์ประกอบภาพที่โน้มนำและการตัดต่อเชื่อมโยงอย่างสอดคล้อง แต่สไตล์การทำหนังของกรีนกราสกลับปล่อยให้กล้องและเสียงทำงานเป็นส่วนใหญ่ โดยแทนที่จะกระตุ้นคนดูผ่านจังหวะเคลื่อนไหวอันกระฉับกระเฉง หนังกลับใช้ความเคลื่อนไหวแบบกระโดด กระตุก และภาพพร่าเลือนเป็นกลไกขับเคลื่อน แทนการทำให้เราตื่นเต้นกับสิ่งที่ “เห็น” หนังกลับพยายามกระตุ้นเราผ่าน “วิธี” ถ่ายทำ ซึ่งให้ภาพเป็นเศษเสี้ยว ดูอุตลุด และสับสน ดังนั้นเพื่อกระตุ้นอารมณ์ร่วม กรีนกราสจึงต้องพึ่งพาเสียงประกอบและดนตรีเป็นหลัก เช่น คนดูพลันตระหนักว่าบอร์นกำลังแกว่งมีดในช็อตหนึ่งเพียงเพราะเราได้ยินเสียงวืดในอากาศ

สไตล์การทำหนังแบบนี้กลบเกลื่อนอะไรอีก นับแต่ทศวรรษ 1980 เป็นต้นมา หนังแอ็กชั่นหลายเรื่องนิยมตัดต่อฉับไว จนบ่อยครั้งคนดูไม่สามารถมองเห็นได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในฉากกันแน่ ตัวอย่างปรากฏชัดในหลายฉากของ The Bourne Ultimatum แต่ในมุมกลับเทคนิคดังกล่าวช่วยกลบเกลื่อนงานสตั๊นท์ให้ดูเหลือเชื่อน้อยลง กล่าวคือ แทนการโชว์ให้เห็นรถพุ่งชนกันแล้วพลิกคว่ำหลายตลบอย่างชัดเจน กรีนกราสเลือกจะทำให้เราแทบไม่เห็นการชนเสียด้วยซ้ำ ราวกับว่าการมองเห็นเหตุการณ์ดังกล่าวผ่านช็อตย่อยๆ ที่ดูไม่ปะติดปะต่อจะทำให้มันดูโม้น้อยลง หรือเหมือนจริงมากขึ้น ถ้านี่เป็นหนังฮ่องกง ฉากบอร์นหยิบวัตถุใกล้มือมาใช้เป็นอาวุธอย่างคล่องแคล่วแบบไม่ต้องหยุดคิดคงถูกนำเสนอในช็อตเดียวผ่านการเคลื่อนไหวอันสง่างามและเชี่ยวชาญ แต่ผู้ชมหลายคนอาจคิดว่ามันดู “จงใจ” และเหมือนการ์ตูนมากไป ฉะนั้น เมื่อบอร์นหยิบผ้ามาพันมือขณะพังกระจกในฉากหนึ่ง การตัดต่อแบบฉับไวช่วยกลบเกลื่อนงานสตั๊นท์ไม่ให้ปรากฏเห็นเด่นชัด

สุดท้าย สไตล์ภาพแบบนี้ยังทำหน้าที่กลบเกลื่อนปัญหาช่องโหว่ของพล็อตเรื่องอีกด้วย จอห์น แม็คเคลน ใน Die Hard 4.0 รอดชีวิตจากวิบากกรรมสารพัดได้อย่างเหลือเชื่อไม่แพ้ เจสัน บอร์น แต่เนื่องจากจังหวะหนังแบบฉึบฉับและภาพแอ็กชั่นที่คนดูแทบจะมองตามไม่ทัน ส่งผลให้ความน่าเชื่อถือของคนหลังพุ่งสูงกว่าของคนแรก การที่หนังโฉบเหตุการณ์ผ่านหน้าคนดูตลอดเวลา บังคับให้เราต้องคอยเกาะติดเหตุการณ์ แล้วมองข้ามช่องโหว่และความไม่เป็นเหตุเป็นผลทั้งหลายไปโดยปริยาย

พล็อตของหนังเรื่องนี้ ซึ่งนักวิจารณ์หลายคนชื่นชม ค่อนข้างเรียบง่าย นั่นคือ ตามหาตัว A และพอเขาถูกฆ่าตาย ก็ให้ค้นหาเบาะแสที่จะพาไปพบ B ฯลฯ จนกระทั่งสุดท้ายจึงสาวใยสู่จอมบงการ ส่วนขั้นตอนการค้นพบเบะแสนั้นกลับกลายเป็นปริศนาให้ต้องคาดเดากันไปต่างๆ นานา เช่น ทำไมองค์กรทรงอำนาจอย่างซีไอเอถึงได้จัดออฟฟิศของผู้บริหารระดับสูงไว้ในห้องที่สามารถมองเห็นได้อย่างง่ายดายจากตึกใกล้กัน บอร์นบุกเข้าออฟฟิศของ โนอาห์ โวเซน (เดวิด สแตรทแธร์น) ได้อย่างไรโดยไม่มีใครสังเกตเห็น การเปิดเผยตัวตนแท้จริงของบอร์นและการฝึกของเขาก่อนเข้าโครงการเป็นเรื่องน่าประหลาดใจจริงหรือ ขณะเดียวกันบทสรุปสุดท้ายเมื่อคนร้ายถูกลงโทษก็ดูน่าตลกขบขัน ไม่ใช่เพราะข้อเท็จจริงที่ว่าสภาคองเกรสกับสื่อมวลชนไม่เคยแก้ผิดให้เป็นถูกได้ แต่เพราะเราไม่อาจรู้ได้เลยว่า พาเมล่า แลนดี้ (โจน อัลเลน) ส่งแฟ็กซ์ข้อมูลไปให้ใคร

“คุณไม่สามารถสร้างเรื่องพวกนี้ขึ้นจากอากาศธาตุได้หรอก” วายร้ายคนหนึ่งในหนังกล่าว แต่เห็นได้ชัดว่า The Bourne Ultimatum สามารถทำแบบนั้นได้

(แปลและเรียบเรียงจาก Unsteadicam Chronicles เขียนโดย เดวิด บอร์ดเวลล์ ใน www.davidbordwell.net/blog)

3 ความคิดเห็น:

celinejulie กล่าวว่า...

แวะมาแจ้งข่าวว่า SCREENVILLE BLOG วิจารณ์ภาพยนตร์เรื่อง AFTERNOON TIMES ของทศพล บุญสินสุขด้วยค่ะ เข้าไปอ่านได้ที่

http://screenville.blogspot.com/2007/09/afternoon-times-2005boonsinsukh.html

black forest กล่าวว่า...

หนังที่เคยได้ยินว่ามีคนดูอ้วกระหว่างดูหนัง คงจะเป็น "แอบดูเป็นแอบดูตาย" กับ "จับคนมาทำเชื้อโรค" นี่ล่ะมั้ง สมัยนั้นผมก็ได้ดูด้วย ยังเด็กอยู่เลย จำได้ว่ามีคนเดินออกหลายคนเหมือนกัน เสียดายที่ไม่ได้ดู THE BOURNE ULTIMATUM อยากรู้ว่ามันจะปวดหัวเท่า IRREVERSIBLE หรือเปล่า

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมก็ "เมากล้อง" ไม่น้อยตอนนั่งดูอยู่ในลิโด้
มันสนุกนะ แต่ทรมานหัวเหลือเกิน