วันจันทร์, กันยายน 29, 2551

ชีวิตย่อมมีทางเลือก


“ใครยัดเยียดคำโป้ปดใส่หัวเธอ ฉันรู้จักเธอดี เธอเป็นปกติทุกอย่าง! เราจะไม่พูดถึงเรื่องนี้กันอีก ไม่ ฉันจะไม่พูดถึงมันอีก สิ่งเลวร้ายที่สุดที่ฉันจะทำได้ คือ พูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้”

“ผมต้องการคำแนะนำ มันไม่ใช่เรื่องไร้สาระ แต่เป็นชีวิตของผม”

“ไร้สาระ”

“ผมเป็นแบบนี้มาตั้งแต่จำความได้โดยไม่รู้ว่าทำไม มันคืออะไร ผมเป็นโรคใช่ไหม ถ้าใช่ ผมอยากให้คุณช่วยรักษา ผมไม่อาจทนความเหงาได้อีกต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงหกเดือนที่ผ่านมา ไม่ว่าคุณจะบอกให้ทำอะไร ผมจะทำมัน คุณต้องช่วยผม”

ข้างต้นเป็นส่วนหนึ่งของบทสนทนาระหว่างมอริซกับคุณหมอในนิยายเรื่อง Maurice ของ อี. เอ็ม. ฟอร์สเตอร์ ซึ่งพูดถึงชีวิตอันยากลำบากของชายรักร่วมเพศในยุคเอ็ดเวิร์ดเดียน (1901-1910) มองภายนอก มอริซก็เหมือนชายหนุ่มปกติธรรมดา แต่ภายในเขากลับทนทุกข์ทรมานจากความรู้สึกแบบ “ออสการ์ ไวลด์” สัมพันธ์รักโรแมนติก (ไร้เซ็กซ์) ระหว่างเขากับไคลฟ เพื่อนร่วมชนชั้นกลางระดับสูง จบลงอย่างกะทันหัน เมื่อไคลฟตัดสินใจดำเนินชีวิตตามที่สังคมคาดหวังด้วยการแต่งงานกับหญิงสาวที่เหมาะสม แต่มอริซไม่อาจทำใจเก็บกดแรงปรารถนาในเบื้องลึกได้ เช่นเดียวกับรักร่วมเพศส่วนใหญ่ เขาต้องดิ้นรนต่อสู้กับความรู้สึกเกลียดชังตัวเอง พยายามจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง แต่สุดท้ายก็ล้มเหลว

มอริซเริ่มเรียนรู้ที่จะยอมรับสภาพ เมื่อเขาได้พบกับคนสวนชื่อ อเล็ก ความสัมพันธ์ของทั้งสองอิ่มเอมจากการเติมเต็มทั้งทางร่างกายและจิตวิญญาณ แต่ประเทศอังกฤษในยุคสมัยนั้นยังไม่ยอมรับรักร่วมเพศ ไม่ว่าจะเป็นทางพฤตินัยหรือนิตินัย (รักร่วมเพศถือเป็นความผิดทางอาญา) ซ้ำร้าย ทั้งสองยังเติบโตมาจากสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงอีกด้วย เปรียบไปแล้วความรักของพวกเขามีกรอบกำแพงล้อมรอบถึงสองชั้น

ฟอร์สเตอร์เขียน Maurice เสร็จเมื่อปี 1931 ก่อนสงครามโลกครั้งแรกจะเริ่มต้น แต่ความคับแคบของสังคมในยุคนั้นทำให้เขามั่นใจว่ามันไม่มีทางจะถูกตีพิมพ์จนกว่าเขาจะตายจากไปพร้อมๆ กับประเทศอังกฤษ เขาเสนอให้เพื่อนและคนสนิทจำนวนหนึ่งอ่าน ก่อนจะทำการแก้ไขทั้งหมดสามครั้ง โดยล่าสุดเกิดขึ้นระหว่างปี 1959 กับ 1960 จากนั้นอีก 12 ปีต่อมา Maurice ก็ถูกตีพิมพ์หลังฟอร์สเตอร์เสียชีวิตได้ไม่นาน

“ใน Maurice ผมพยายามสร้างตัวละครที่แตกต่างจากผมอย่างสิ้นเชิง หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง ตัวละครที่ผมอยากจะเป็น เขารูปหล่อ สุขภาพแข็งแรง มีเสน่ห์ทางเพศ เป็นนักธุรกิจที่เก่งกาจ และค่อนข้างยกตนเหนือผู้อื่น จากนั้นผมก็เติมส่วนผสมบางอย่างลงไปให้เขาสับสน ปลุกเขาให้ลืมตาตื่น ทรมานเขา และสุดท้ายก็ช่วยชีวิตเขา” ฟอร์สเตอร์กล่าว

ข้อเท็จจริงว่าฟอร์สเตอร์เป็นรักร่วมเพศไม่ค่อยแพร่หลายจนกระทั่ง Maurice ถูกตีพิมพ์ อาจกล่าวได้ว่าตัวละครอย่างไคลฟ ผู้ยอมจำนนต่อกรอบจำกัดของสังคม เปรียบดังชีวิตจริงของฟอร์สเตอร์ ส่วนตัวละครอย่างมอริซ คือ อุดมคติที่เขาปรารถนา ด้วยเหตุนี้กระมัง ฟอร์สเตอร์จึงตัดสินใจจบนิยายแบบสุขสันต์ท่ามกลางความไม่น่าจะเป็นไปได้ มอริซสามารถลงเอยกับอเล็กและอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ส่วนไคลฟ (ในตอนท้ายเรื่อง มอริซได้เดินทางมาหารักแรกของเขาเพื่อบอกลา) กลับไม่อาจทำความเข้าใจในสิ่งที่มอริซพยายามจะอธิบายได้

มากกว่าครึ่งศตวรรษผันผ่าน รักร่วมเพศหาใช่เชื้อโรค หาใช่ความวิปริตทางจิต หาใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป แต่ดูเหมือนมนุษย์หลายคนก็ยังคงศิโรราบต่อกรอบจำกัดแห่งอคติด้วยความยินดี ราวกับไม่ได้เรียนรู้อะไรจากอดีตที่ผ่านมาเลย... หรือบางทีพวกเขาอาจมืดบอดเกินกว่าจะมองเห็นกรอบจำกัดนั้น แล้วเข้าใจว่าขอบกะลาคือเส้นขอบฟ้า

3 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

Maurice มีแปลไทยแล้วเหรอครับ?
ผมอ่านเล่มที่เป็น penguin edition
ตอนนี้กะลังนั่งอ่าน passage to india อยู่ครับ

หนังที่ merchant ivory ทำก็ดีแฮะ
แต่โดน critic สับว่าไปบิดเบือน motivation ของ Clive ทำให้ตกหล่นประเด็นที่ forster นำเสนอคือความคิดเรื่อง platonic love ในอังกฤษยุควิคตอเรีย

Riverdale กล่าวว่า...

หนังสือไม่ได้แปลเป็นไทยครับ อยากอ่านเหมือนกัน เวอร์ชั่นแปลไทยนะครับ เพราะไม่มีความพยายามจะอ่านเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ

ตัวหนังผมดูเมื่อนนานมากแล้ว จำรายละเอียดอะไรไม่ค่อยได้ รู้แต่ว่า ฮิวจ์ แกรนท์ หล่อมาก 555+

ถ้าจำไม่ผิด ผมรู้สึกว่าหนังก็ยังรักษาประเด็นความสัมพันธ์แบบ platonic love เอาไว้นะครับ แต่อาจจะไม่เด่นชัดเท่าในนิยายหรือเปล่า อันนี้ไม่ทราบเหมือนกัน แต่หนังดูเหมือนจะได้คำวิจารณ์ไม่ดีมากเท่าไหร่

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ