วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 09, 2551

ถนนสายนี้ยังทอดยาว


หลังผลการเลือกตั้งในอเมริกาปรากฏชัด ความหวังเริ่มคุกรุ่น อัดแน่นในทุกอณูอากาศ จนผมชักไม่แน่ใจว่าจะมีวันที่ บารัค โอบามา สามารถเติมเต็มความคาดหวังอันสูงลิ่วนั้นได้หรือไม่ อารมณ์ข้างต้นทำให้ผมนึกถึงบรรยากาศหลังการเลือกตั้งของไทยครั้งหนึ่ง เมื่ออดีตนายกฯ เจ้าของฉายาอัศวินควายดำ ถูกเลือกเข้าสภาฯ ในสมัยแรกด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น พอๆ กับความคาดหวังถึงอนาคตอันสดใส

หวังเพียงว่าโอบามาจะทำได้ดีกว่านายกฯ ท่านนั้น

กระแสข่าวการเลือกตั้งส่งผลให้ข่าวการผ่านข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 8 ซึ่งระบุให้การแต่งงานเป็น “สิทธิอันชอบธรรมตามกฎหมาย” ของชายกับหญิงเท่านั้น กลายเป็นเพียงหมายเหตุเล็กๆ ในหน้าหนังสือพิมพ์ (ผลโหวตระบุว่ามีคนเห็นชอบให้ผ่านข้อเสนอ หรือ พูดง่ายๆ คือ เห็นชอบไม่ให้คนเพศเดียวกันมีสิทธิแต่งงานกันตามกฎหมาย 52% เอาชนะเสียงที่ไม่เห็นชอบ 48% ไปอย่างหวุดหวิด) อย่างไรก็ตาม ข่าวดังกล่าวทำให้ผมนึกสงสัยว่า ชัยชนะของโอบามาเป็นเพราะคนอเมริกันเบี่ยงเบนเข้าหาแนวคิดเสรีนิยมอย่างแท้จริง หรือพวกเขาเพียงต้องการจะลงโทษรัฐบาล จอร์จ บุช ต่อวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ที่กำลังดำเนินอยู่กันแน่

ด้วยเหตุนี้ วันที่อเมริกาได้ประธานาธิบดีผิวสีเป็นคนแรกจึงกลายเป็นวันเดียวกับที่อเมริกาได้ตอกย้ำให้เห็นว่า อคติทางเพศยังคงดำรงอยู่และอาจถึงขั้นหยั่งรากลึก (4% ดูเผินๆ อาจไม่มาก แต่หากพิจารณาว่าแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่อุดมไปด้วยประชากรเกย์และเลสเบี้ยน คุณจะพบว่า 4% หาใช่ตัวเลขจุ๋มจิ๋มอีกต่อไป ลองคิดดูสิว่าช่องว่างจะกว้างขึ้นขนาดไหน หากมันเป็นผลการโหวตของรัฐอนุรักษ์นิยมอย่างเท็กซัส)

บล็อกเกอร์ภาพยนตร์หลายคนในอเมริกานึกสงสัยว่า หากหนังเรื่อง Milk ของ กัส แวน แซนท์ เข้าฉายเร็วกว่านี้สักหนึ่งเดือน บางทีผลลัพธ์อาจจะออกมาตรงกันข้าม เพราะ Milk เล่าถึงเรื่องราวชีวิตของนักการเมืองเกย์ ฮาร์วีย์ มิลค์ (รับบทโดย ฌอน เพนน์ ในมาดเปี่ยมเสน่ห์ น่าเห็นอกเห็นใจ และ “แตกต่าง” จาก ฌอน เพนน์ ที่พวกเราคุ้นเคย จนบางคนยกย่องให้มันเป็นบทบาทการแสดงที่ดีที่สุดของเขา) โดยผลงานสำคัญของมิลค์ก่อนจะถูก แดน ไวท์ นักการเมืองฝ่ายตรงข้ามยิงสังหารด้วยกระสุนสี่นัด คือ การคว่ำข้อเสนอเพื่อแก้ไขกฎหมายของรัฐแคลิฟอร์เนีย หรือ Proposition 6 เมื่อปี 1978 ซึ่งจะกีดกันรักร่วมเพศไม่ให้ทำงานเป็นครูในสถาบันการศึกษา

หน้าประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ฮาร์วีย์ มิลค์ ถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของขบวนการเรียกร้องสิทธิรักร่วมเพศ แต่สามสิบปีผ่านไป ความพ่ายแพ้ในการโหวต Proposition 8 ได้ปลุกเหล่านักเคลื่อนไหวชาวเกย์และเลสเบี้ยนให้ตื่นมาพบความจริงอันโหดร้ายว่า พัฒนาการเพื่อเรียกร้องการยอมรับในเพศสภาพที่แตกต่างนั้นยังไม่ได้ก้าวไกลไปจากยุคสมัยของ ฮาร์วีย์ มิลค์ มากนัก หรืออย่างน้อยก็มากเท่าที่ควรจะเป็น

จะเกิดอะไรขึ้นกับเหล่าคู่แต่งงานรักร่วมเพศจำนวนมากในแคลิฟอร์เนีย ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกตีตรารองรับโดยศาลฎีกา? แน่นอน พวกเขายังคงมองโลกในแง่ดี พร้อมทั้งมอบความหวังต่อการเปลี่ยนแปลงไว้กับ บารัค โอบามา ผู้เคยแสดงท่าทีต่อต้านการแบนการแต่งงานระหว่างบุคคลเพศเดียวกัน

แต่เขาพร้อมจะตบหน้ากลุ่มคนจำนวน 52% ที่โหวตสนับสนุน Proposition 8 หรือไม่

ถนนเบื้องหน้าช่างดูยาวไกลและปกคลุมไปด้วยหมอกหนา

เรื่องน่าเศร้า คือ ขณะประเทศอเมริกากำลังต่อสู้เพื่อสิทธิในการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน เมืองไทยกลับยังคงวุ่นวายกับกระแสต่อต้านภาพเด็กผู้ชายสองคนจูบกันในหนังอยู่เลย แค่นี้คงเป็นข้อพิสูจน์ได้ชัดเจนแล้วว่าถนนเบื้องหน้าของเรานั้นยาวไกลกว่าของเขาหลายเท่าตัว

2 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

มันเป็นเรื่องตลกมากที่เหตุการณ์เลือกประธานาธิบดี กับ prop 8 ดันเกิดขึ้นใกล้กันมากๆ แล้วผลก็ออกมาต่างกัน

เท่าที่ทราบมา ผู้สนับสนุนโอบาม่าผิวดำหลายคน ก็ต่างต้องการผลักดัน prop 8 ให้ผ่านด้วย ผมนึกว่า คนที่เป็น minority เหมือนกัน น่าจะเข้าอกเข้าใจกันซะอีก

แต่ progress ก็ยังเป็น progress แม้ไปช้า แต่ก็ก็มาไกลแล้วเหมือนกัน

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

^
^
ที่ตลกอีกอย่างคือ คนขาวบางส่วนเ้ลือกโอบาม่าด้วยเหตุผลว่า
"โอบาม่ามันจบฮาร์เวิร์ด มันก็คิดเหมือนคนขาวนั่นแหละ!!"