วันจันทร์, มกราคม 04, 2553

The Road: เส้นทางแห่งศรัทธา


“ที่อีกด้านของหุบเขาปรากฏถนนทอดยาวผ่านซากปรักหักพังจากเปลวไฟ ตอไม้ไร้กิ่งก้านและดำเป็นตะโกยืนขนานสองฟากฝั่ง เถ้าธุลีพัดปกคลุมถนนและเสาไฟดำคล้ำ สายระโยงระยางของมันหย่อนคล้อยและปลิวลู่ตามกระแสลม ซากบ้านที่ถูกไฟเผาตั้งตระหง่านบนลานโล่ง เหนือขึ้นไปเป็นทุ่งหญ้าสีเทาโพลนและตลิ่งโคลนสีแดงขนาบข้างถนนซึ่งถูกปล่อยร้าง เหนือขึ้นไปอีกเป็นป้ายโฆษณาโรงแรมขนาดใหญ่ ทุกสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยได้รับการดูแลรักษาตอนนี้กลับซีดจางและทรุดโทรม” (จาก The Road โดย คอร์แม็ก แม็คคาธีย์)

ทั้งนิยายและหนังเรื่อง The Road ไม่ได้ระบุแน่ชัดว่าหายนะใดส่งผลกระทบให้โลกต้องพบจุดดับดังที่เห็น บางทีอาจเป็นสงครามนิวเคลียร์ การเคลื่อนของเปลือกโลก หรือแรงระเบิดจากดวงอาทิตย์ ทั้งหมดล้วนเป็นไปได้ แต่คงไม่สามารถชี้ชัดเพราะประเด็นสำคัญหาได้อยู่ตรงอะไรทำให้เกิดวันสิ้นโลก ลำดับเหตุการณ์ของจุดจบ ตลอดจนหนทางดิ้นรนเอาตัวรอดของมนุษย์ (ซึ่งแทบจะไม่ปรากฏให้เห็นในหนังเรื่องนี้ แต่หาชมได้ในหนังอย่าง 2012) หากเป็นคำถามที่ว่า คุณค่าแห่งมนุษย์จะดำรงอยู่รอดต่อไปหรือไม่ท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้ายรอบด้าน

หนึ่งปีหลังบทสรุปชวนหดหู่ของ No Country for Old Men ซึ่งความดีถูกตีพ่ายจนต้องถอยร่นไม่เป็นขบวน ขณะความชั่วทวีกำลังรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเมื่อผสมรวมเข้ากับบรรยากาศมืดหม่นของสภาวะ “กราดกระสุนใส่ความมืด” เพื่อตอบโต้เหตุสะเทือนขวัญในวันที่ 9 กันยายน 2001 จินตนาการอันชัดแจ้งของ คอร์แม็ก แม็คคาธีย์ เกี่ยวกับวันสิ้นโลกจึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย แม้ไซไฟจะไม่ใช่แนวทางถนัดของนักเขียนนามอุโฆษผู้นี้ก็ตาม กระนั้นอย่าปล่อยให้ฉากหลังสุดหวือหวาล่อลวงคุณให้หลงวาดฝันถึงสงครามระหว่างคนกับเครื่องจักร ยานอวกาศ และการอพยพสู่ดาวดวงใหม่ ตรงข้าม ในจินตนาการของแม็คคาธีย์ โลกพบกัลปาวสานอย่างเรียบๆ เมื่อ “นาฬิกาหยุดเดินตอน 1.17 น. พร้อมแสงสว่างจ้าและแรงสั่นสะเทือนหลายครั้ง” จากนั้นสิ่งมีชีวิตทั้งหลายก็ค่อยๆ ตายจากไปอย่างนิ่งเงียบ ทว่าแน่นอน

The Road เปิดเรื่องหลังหายนะอุบัติมาหลายปี ขณะโลกสิ้นไร้ต้นไม้และสัตว์ทุกชนิด ส่งผลให้อาหารขาดแคลน ผู้คนล้มหายดุจใบไม้ร่วง ทั้งจากภาวะอดอยาก และการฆ่าตัวตายเพื่อหลบเลี่ยงไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มคนที่ออกตระเวนปล้นข้าวของและจับมนุษย์มาปรุงอาหารประทังชีวิต ท้องฟ้าปราศจากแสงตะวัน อากาศหนาวเหน็บ คละคลุ้งด้วยผงขี้เถ้า ซึ่งปลิวกระจายปกคลุมทุกอย่างเป็นสีเทาหม่น และตลอดทั้งวันสรรพเสียงที่ได้ยินอยู่เสมอ คือ เสียงฟ้าคำราม เสียงต้นไม้ล้มหรือโดนฟ้าผ่า และเสียงไม้ประทุจากแรงเพลิงที่โหมไหม้

เมื่อตระหนักว่าพวกเขาคงไม่อาจเอาชีวิตรอดผ่านอีกหนึ่งฤดูหนาวไปได้ ชายหนุ่ม (วีโก้ มอร์เทนเซน) จึงตัดสินใจพาลูกชาย (โคดี สมิท-แม็คฟี) ออกเดินทางลงใต้เพื่อมุ่งหน้าสู่มหาสมุทร ซึ่งอากาศคงอุ่นกว่า และโอกาสจะได้เห็นทะเลเป็นครั้งแรกสำหรับเด็กชาย เนื่องจากเขาลืมตาขึ้นดูโลกหลังทุกอย่างดำเนินมาถึงจุดสิ้นสุดแล้ว อย่างไรก็ตาม ชายหนุ่มไม่ได้คาดหวังว่าจะค้นพบสิ่งมหัศจรรย์ เรือกู้ชีพ หรือแหล่งหลบภัยใดๆ ณ ชายทะเลเหล่านั้น ความจริง สิ่งสุดท้ายที่เขาคาดหวังจะเห็น คือ เพื่อนร่วมโลกคนอื่น เพราะใครก็ตามที่อยู่รอดมาได้ถึงวันนี้คงมีแต่โจร หรือเลวร้ายยิ่งกว่าพวกมนุษย์กินคน

แก่นการต่อสู้ระหว่างความดีกับความชั่วยังคงฉายประกายเด่นชัด ผ่านเรื่องราวการเอาชีวิตรอดของสองพ่อลูกจากพวกมมนุษย์กินคน โดยไคล์แม็กซ์บีบอารมณ์คงเป็นตอนที่ทั้งสองเผลอบุกรุกเข้าไปยังฐานบัญชาการ รวมถึงห้องใต้ดินซึ่งเป็นแหล่งเก็บ “อาหาร” ของพวกมัน แต่จุดแตกต่างของ The Road จากนิยายเด่นเรื่องอื่นๆ ของแม็คคาธีย์อย่าง Blood Meridian (ซึ่ง ท็อดด์ ฟิลด์ กำลังดัดแปลงเป็นภาพยนตร์) และ No Country for Old Men อยู่ตรงที่คราวนี้เขาให้น้ำหนักกับ “คนดี” แบบเต็มร้อย แล้วปล่อยให้ “คนเลว” ซึ่งมักจะเป็นสีสันหลักของนิยาย กลายเป็นเพียงภัยคุกคามที่ลอยวนอยู่ไม่ห่าง ทั้งในแง่รูปธรรมและนามธรรม กล่าวคือ นอกจากสองพ่อลูกต้องหลบหนีให้พ้นเงื้อมมือของพวกมนุษย์กินคนแล้ว พวกเขายังต้องต่อสู้ภายในจิตใจไม่ให้ตนเองกลายเป็นหนึ่งในนั้นด้วย

“เราจะไม่กินใครใช่ไหม” เด็กชายถาม
“ใช่แล้ว แน่นอนที่สุด”
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
“ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม”
“เพราะเราเป็นคนดี”
“ใช่”
“และเรายังมีไฟในหัวใจ”
“และเรายังมีไฟในหัวใจ ใช่แล้ว”

แม้ว่าเรื่องราวส่วนใหญ่จะมุ่งฉายแสงไปยังกลุ่มคนดีเป็นหลัก แต่ใช่ว่า The Road จะขาดแคลนบทปะทะงัดข้อในเชิงศีลธรรมและมนุษยธรรมเสียทีเดียว โดดเด่นสุดจาก “จุดยืน” ที่ขัดแย้งระหว่างเด็กชายกับพ่อของเขา ซึ่งนำไปสู่คำถามที่น่าสนใจว่าโดยเนื้อแท้แล้ว มนุษย์เห็นแก่ตัว หรือรู้จักเสียสละเพื่อผู้อื่น โดยคำว่าเสียสละในที่นี้ไม่ได้กินความเพียงการ “ทำดี” กับคนอื่นเท่านั้น หากแต่เป็นการทำดี ที่อาจส่งผลกระทบให้ตนสูญเสียบางอย่าง โดยไม่คาดหวังสิ่งใดตอบแทน เช่น มีความแตกต่างอยู่ไม่น้อยระหว่างการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารที่คุณมาทานเป็นประจำ (แล้วหวังอยู่ลึกๆ ว่าพนักงานเสิร์ฟจะปฏิบัติดีกับคุณเป็นการตอบแทน) กับการให้ทิปพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารข้างทางที่คุณจะไม่มาทานซ้ำอีก

เด็กชายยืนกรานให้พ่อช่วยเหลือชายชรา (โรเบิร์ต ดูวัล) ที่ตาใกล้บอด และโจร (ไมเคิล เค. วิลเลียมส์) ซึ่งพยายามปล้นทรัพย์สินของพวกเขา แต่ชายหนุ่มกลับเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวถือเป็นการสิ้นเปลืองเสบียงที่ใกล้ร่อยหรอ และอาจเข้าขั้นโง่เขลาดุจเดียวกับนิทานเรื่องชาวนากับงูเห่า เด็กชายถือกำเนิดในยุคอันมืดมน เมื่อมนุษยธรรมแร้นแค้นพอๆ กับอาหาร จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เขาจะคาดหวังประพิมพ์ประพายแห่งแสงสว่างจากทุกหัวมุมถนน ด้วยรู้สึกว่าปัจจุบันคือก้นบึ้งแห่งหุบเหว จากนี้ต่อไปจึงเหลือแค่เส้นทางสู่เบื้องบนและความงามที่ไม่คาดฝัน เช่น เมื่อเขาได้ค้นพบหลุมหลบภัยพร้อมอาหารกระป๋องเรียงรายเต็มชั้นวางของ หรือลิ้มรสน้ำอัดลมกระป๋องแรก

ในทางกลับกัน ชายหนุ่มที่เคยผ่านวันคืนแสนสวยมาก่อนย่อมไม่อาจมองเห็นแสงสว่างใดๆ ท่ามกลางสภาพอันแห้งแล้ง มืดหม่น ซึ่งกระตุ้นทุกความเลวร้ายแห่งมนุษย์ให้เต้นระริกและออกมาโลดแล่นอย่างอิสระ น้ำอัดลมอายุหลายปีรังแต่จะทำให้เขาคิดถึงไวน์รสเลิศ อาหารกระป๋องรังแต่จะทำให้เขาถวิลหาสเต๊กจานหรู ตอไม้ดำเป็นตะโกรังแต่จะทำให้เขาหวนไห้ถึงทิวป่าเขียวชอุ่ม ท้องฟ้าสีเทาครึ้มรังแต่จะทำให้เขาโหยหาแสงตะวันอ่อนๆ ในยามเช้า ยามที่โลกกำลังดับสูญ ความทรงจำกลับเป็นสิ่งที่ทิ่มแทงคุณให้เจ็บปวดมากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความทรงจำเกี่ยวกับภรรยา (ชาร์ลีซ เธรอน) ผู้ยอมแพ้ต่อชะตากรรมไปก่อนหน้า และเคลือบแคลงต่อการตัดสินใจที่จะดิ้นรนสู้ชีวิตอย่างไม่ย่อท้อ

บางที “ไฟในหัวใจ” อาจไม่ได้หมายถึงความดีและคุณค่าแห่งมนุษย์ (ซึ่งยังคงลุกโชนในตัวพ่อลูก แต่กลับดับมอดในตัวคนเลวทั้งหลาย) เพียงเท่านั้น แต่ยังก้าวข้ามไปสู่ความหวัง โดยสำหรับชายหนุ่มมันอาจเป็นแค่ความหวังว่าจะมีชีวิตรอด หรืออย่างน้อยก็ช่วยเหลือให้ลูกชายของเขามีชีวิตรอดต่อไปได้ แต่สำหรับเด็กชายมันกลับมีความหมายมากกว่านั้น ดังจะเห็นได้จากฉากที่ชายหนุ่มสั่งให้โจรเปลื้องเสื้อผ้าทั้งหมดออก แล้วปล่อยเขาไว้ให้หนาวตายกลางถนนเพื่อป้องกันไม่ให้เขาวกกลับมาปล้นข้างของอีก แต่การกระทำดังกล่าวกลับถูกเด็กชายประท้วง

“ลูกไม่ใช่คนที่ต้องคิดกังวลเกี่ยวกับทุกสิ่งนี่”
“คิดสิ ผมคิด”

มองในแง่รูปธรรม ชายหนุ่มรับหน้าที่ครูสอนเด็กชายเกี่ยวกับหนทางเอาชีวิตรอดในยุคสมัยอันยากเข็ญ เคี่ยวให้เขากล้าหาญ แข็งแกร่งพอจะยืนหยัดต่อสู้ เมื่อถึงเวลาที่เขาไม่อาจอยู่ปกป้องเด็กชายได้อีกแล้ว แต่มองในแง่จิตวิญญาณ เด็กชายได้กลายมาเป็นครูสอนชายหนุ่ม (รวมถึงคนดู) ให้ไม่ยอมแพ้ต่อมนุษย์ และศรัทธาในความดีงาม ซึ่งสุดท้ายชายหนุ่มก็ดูจะตระหนักข้อเท็จจริงดังกล่าว จึงยอมทำตามประสงค์ของเด็กชาย ก่อนหนัง (และนิยาย) จะตอกย้ำประเด็นข้างต้นอย่างชัดเจนอีกครั้งในฉากจบที่งดงาม และอาจใกล้เคียงกับคำว่า “สุขสันต์” ที่สุดแล้วสำหรับสถานการณ์อันแสนมืดมิดเช่นนี้ เมื่อปรากฏว่าความหวังของเด็กชายนั้นหาใช่เพียงภาพฝันลมๆ แล้งๆ

แทบไม่น่าเชื่อว่า นักเขียนที่นิยมตีแผ่ความโหดร้ายสารพันของมนุษย์อย่างถึงเลือดถึงเนื้อแบบแม็คคาธีย์จะเลือกสรุปเรื่องราวที่มีฉากหลังชวนหดหู่ที่สุดเรื่องหนึ่งของเขาด้วยนัยยะแห่งความหวัง ความอบอุ่น และการเริ่มต้นเพื่อกอบกู้อารยธรรม (ครอบครัวเร่ร่อนที่ตามรอยเด็กชายมาตลอดมีสมาชิกคนหนึ่งเป็นเด็กหญิงรุ่นราวคราวเดียวกับเขาด้วย) บางทีอาจเป็นเพราะเขายังมี “ไฟในหัวใจ” ยังเชื่อมั่นในธรรมชาติแห่งมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันก็ไม่ได้มืดบอดต่อความชั่วร้ายที่รายรอบ เขาเพียงต้องการจะบอกว่ามนุษย์เราจำเป็นต้องหล่อเลี้ยงศรัทธาและความหวัง... แล้วไม่ช้าไม่นานความดีงามก็จะค้นพบเราเองในที่สุด

1 ความคิดเห็น:

black forest กล่าวว่า...

ขออนุญาต พี่ Riverdale นำลิ้งค์ของบทความนี้ไปแปะเก็บเอาไว้ที่บล็อกของตัวเองด้วยนะฮะ

http://blackforests.blogspot.com/2010/01/road-2009-john-hillcoat.html