วันพุธ, มีนาคม 14, 2555

The Artist: วิมานลอย


ตอนเปิดตัวที่เมืองคานส์ The Artist แทบจะถือเป็นหนังเรื่องเดียวที่ “ใครๆ” ก็ชื่นชอบ ผลงานอย่าง The Tree of Life และ Melancholia อาจได้เสียงสรรเสริญจากหลายคนว่าเป็นมาสเตอร์พีซบ้าง ว่าเป็นผลงานที่จะยืนหยัดข้ามกาลเวลาบ้าง (และสุดท้ายก็คว้ารางวัลใหญ่ไปครองในกรณีของเรื่องแรก) แต่ก็ยังมีอีกหลายคนชิงชังพวกมัน ตรงกันข้ามกับ The Artist ซึ่งแทบจะหาใคร “เกลียด” ไม่ได้เลย จนอาจพูดได้ว่าตัวหนังเองก็ไม่ต่างจาก อั๊กกี้ สุนัขพันธุ์ แจ๊ค รัสเซล ในเรื่องเท่าไหร่ มันฉลาด มันน่ารัก... ใครกันจะเกลียดอั๊กกี้ได้ลงคอ

อีกอย่างที่ควรนำมาพิจารณา คือ คานส์เป็นเสมือนแหล่งรวมหนังอาร์ตตัวพ่อตัวแม่ จำพวกดูแล้วงง ดูแล้วเครียด ดูแล้วจับต้นชนปลายไม่ถูก หรืออืดเอื่อย ไม่โน้มน้าวอารมณ์จนอาจผล็อยหลับไปได้ง่ายๆ การปรากฏตัวขึ้นของ The Artist หนังที่เล่าเรื่องตรงไปตรงมา เร้าอารมณ์อย่างไม่เกินเลย แต่ก็มี “ความคม” หรือ “ลูกเล่น” อยู่ในตัวที่ช่วยให้มันแตกต่างจากหนังตลาดชั้นดีทั่วไปผ่านการถ่ายทำหนังทั้งเรื่องเลียนแบบภาพยนตร์เงียบในฮอลลีวู้ดช่วงปลายทศวรรษ 1920 ซึ่งเป็นฉากหลังของเรื่องราว (ถ่ายทำด้วยสัดส่วน Academy ratio หรือ 1.33:1 และด้วยความเร็วภาพ 22 เฟรมต่อวินาที ) ส่งผลให้มันกลายเป็นความบันเทิงอย่างมีระดับ ความรื่นรมย์แบบไม่ต้องรู้สึกผิด หรืออับอาย ท่ามกลางความหนัก ความมืดหม่น และการกัดกร่อนจิตวิญญาณ

ปัญหาเริ่มต้นขึ้นเมื่อ The Artist เดินหน้ากวาดรางวัลมากมาย ทั้งจากสมาคมนักวิจารณ์ สมาพันธ์อาชีพต่างๆ จนไปลงเอยที่รางวัลออสการ์ มันเหมือนกับกล่องแพนโดราได้ถูกเปิดออก แล้วจู่ๆ หนังที่ทุกคนหลงรัก กลับกลายเป็นหนังที่โดนหลายคนโจมตีและตราหน้าว่าไม่คู่ควร

บางทีนี่อาจเป็นราคาที่หนังต้องจ่าย เพราะโดยเนื้อแท้แล้ว The Artist หาใช่ผลงานศิลปะระดับแนวหน้าที่จะท้าทายสติปัญญา/จิตวิญญาณ หรือผลงานที่เปี่ยมทักษะทางภาพยนตร์อันซับซ้อน การวิเคราะห์ตัวละคร หรือสะท้อนแง่มุมเฉียบคมทางสังคม จิตวิทยา ฯลฯ เปรียบง่ายๆ ได้ว่า มันเหมาะสำหรับจะเป็นของหวานตบท้ายมื้ออาหาร มากกว่าเมนคอร์สแบบกินเอาอิ่ม มันเหมาะจะเป็นหนังเล็กๆ ที่คนดู “ค้นพบ” เสน่ห์และความหรรษาด้วยความเซอร์ไพรซ์ แต่ไม่ใช่หนังที่คนดูจะเดินเข้าไปพร้อมความคาดหวังอันยิ่งใหญ่

จุดดึงดูดสำคัญของ The Artist อยู่ตรงส่วนผสมอันลงตัวระหว่างความแปลกใหม่ในแง่สไตล์ การนำเสนอ (ซึ่งดึงของเก่ามาสร้างเป็นความแปลกใหม่อีกทอดหนึ่งในสไตล์แฟชั่นเรโทร) กับความคุ้นเคยทางด้านเนื้อหา เรื่องราว โดยหลายคนที่ได้ชมหนังย่อมอดไม่ได้ที่จะนึกเปรียบเทียบกับผลงานรุ่นก่อนหน้าอย่าง A Star Is Born (เรื่องของดาราดังที่ผลักดันสาวหน้าใหม่ให้กลายเป็นขวัญใจประชาชน ขณะที่ตัวเขาเองกลับค่อยๆ จมดิ่งสู่ความตกต่ำเนื่องจากอาการติดเหล้า แต่สิ่งหนึ่งที่ไม่เคยจางหาย คือ ความรักระหว่างคนทั้งสอง) ซึ่งถูกรีเมคมาแล้ว 3 ครั้ง และมีข่าวว่ากำลังจะถูกนำมารีเมคล่าสุดอีกรอบโดย คลินท์ อีสต์วู้ด มี บียองเซ โนวส์ นำแสดง

ขณะเดียวกัน ฉากหลังเกี่ยวกับการเปลี่ยนถ่ายจากยุคหนังเงียบสู่ยุคหนังเสียง และความยากลำบากของนักแสดงบางคนในการปรับตัวกับเทคโนโลยีใหม่อาจทำให้หลายคนนึกถึงหนังอย่าง Singing in the Rain แม้ว่าจุดตกต่ำของ จอร์จ วาเลนทิน (ฌอง ดูฌาร์แดง) น่าจะส่งผลมาจากอัตตา นิสัยหยิ่งทะนง ตลอดจนความดื้อรั้นไม่ยอมปรับเปลี่ยนตัวเองไปกับเทคโนโลยียุคใหม่ ซึ่งส่งกลิ่นอาย ชาร์ลี แชปลิน อยู่หน่อยๆ (แต่สุดท้ายแล้วแชปลินก็ต้องยินยอมสร้างหนังเสียงเต็มตัวเป็นครั้งแรกในปี 1940 กับ The Great Dictator) มากกว่าจะเป็นเหตุผลทางเทคนิคเหมือนตัวละครเอกที่เสียงแหลมจนแสบไตแบบใน Singing in the Rain (ฉากสุดท้ายของ The Artist ทำให้หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าวาเลนทินอาจไม่แน่ใจกับหนังเสียงเพราะสำเนียงฝรั่งเศสของเขา แม้ว่าในโลกแห่งความเป็นจริงอุปสรรคดังกล่าวดูจะไม่ส่งผลกับ เกรตา การ์โบ (สวีเดน) และ มาร์ลีน ดีทริช (เยอรมัน) มากนัก ขณะเดียวกัน ตัวดูฌาร์แดงเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่า เขากับผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ไม่ได้ตั้งใจให้จอร์จพูด “ด้วยความยินดี” ติดสำเนียงฝรั่งเศสในฉากสุดท้ายเพื่อเป็นคำอธิบายท่าทีของตัวละครต่อหนังเสียงแต่อย่างใด)

นอกจากนี้ ความตกต่ำของจอร์จ ซูเปอร์สตาร์หนังเงียบที่ถูกลืมเลือน ยังมีแง่มุมคล้ายคลึงกับ นอร์มา เดสมอนด์ ใน Sunset Boulevard อีกด้วย แต่จุดจบของทั้งสองดูเหมือนจะแตกต่างกันราวฟ้ากับเหว เรื่องหนึ่งจงใจสะท้อนด้านมืดของวงการมายา ที่ทุกคนล้วนแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น เห็นแก่ตัว ขณะที่อีกเรื่องสะท้อนด้านบวกของวงการมายาในลักษณะขุมทองแห่งอเมริกันดรีม ที่ใครๆ ก็สามารถโด่งดังได้ และทุกคนย่อมมีโอกาสแก้ตัว

อาจกล่าวได้ว่า เนื้อเรื่องไม่ใช่เสน่ห์หลัก หากแต่ความคุ้นเคยดังกล่าวก็ช่วยให้คนดูสามารถติดตาม ลุ้นเอาใจช่วยตัวละครได้อย่างราบรื่น เพราะสีสันอันแท้จริงของ The Artist ได้แก่ รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ตลอดจนแก๊กตลกกึ่งคารวะกึ่งล้อเลียนหนังเงียบ (โดยเฉพาะอารมณ์ระทึกขวัญและการหักมุมในช่วงไคล์แม็กซ์ ซึ่งไม่สามารถเกิดขึ้นได้แน่ๆ หากหนังเรื่องนี้ถ่ายทำแบบเป็นหนังเสียงปกติ) ที่ช่วยเสริมให้หนังเป็นมากกว่าแค่ความบันเทิงราคาถูก แน่นอน นี่ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับฮาซานาวิเชียส ผู้โด่งดังขึ้นมาจากการทำหนังอย่าง Oss 117: Cairo, Nest of Spies และ Oss 117: Lost in Rio ที่ล้อเลียนหนังสายลับเก่าๆ ในแง่สไตล์ได้สนุกสนานไม่น้อย

ท่าทีแข็งกร้าวของจอร์จต่อการถ่ายทำหนังเสียงถูกเกริ่นนำไว้ตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง เมื่อจอร์จในหนัง (รับบทเป็นสายลับที่กำลังถูกทรมานให้คายข้อมูลบางอย่าง) ระเบิดคำพูดแรกผ่าน intertitle ว่า “I won’t talk! I won’t say a word!!!” (ซึ่งก็มีนัยยะล้อเลียนตัวเองไปพร้อมๆ กัน ราวกับการกล่าวเตือนคนดูให้รู้ว่าอย่าคาดหวังว่าจะได้ยินเสียงบทสนทนาใดๆ ในหนังเรื่องนี้) ก่อนจะถูกย้ำอีกครั้งในช่วงกลางเรื่อง เมื่อภรรยาของจอร์จ (เพเนโลปี แอน มิลเลอร์) ต้องการพูดคุยเกี่ยวกับชีวิตสมรสนี่นับวันจะยิ่งเหินห่าง แต่เขากลับเลือกจะนิ่งเงียบ จนเธอต้องตัดพ้อว่า “Why do you refuse to talk? ” ประโยคดังกล่าวยังเป็นเหมือนคำถามต่อการตัดสินใจถ่ายหนังเงียบต่อไปของจอร์จอีกด้วย แม้ว่าขณะนั้นหนังเสียงจะเริ่มได้รับความนิยมในวงกว้างแล้ว

ความประณีตของ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ไม่ได้อยู่แค่การเก็บรายละเอียดของหนังเงียบได้เป๊ะเท่านั้น แต่ยังพบเห็นได้จากการเลือกจัดองค์ประกอบภาพอันน่าสนใจ และสื่อความหมาย เช่น ฉากที่จอร์จเดินสวนกับ เปปปี (เบเรนีซ เบโจ) ในสตูดิโอ โดยคนหนึ่งกำลังลงบันได ส่วนอีกคนกลับกำลังขึ้นบันได ซึ่งสอดคล้องไปกับแนวโน้มอาชีพการแสดงของทั้งสองอย่างเหมาะเจาะ หรือการเลือกใช้ชื่อหนังสื่อความหมายแบบตรงไปตรงมา เช่น ในฉากเปปปีลองเสื้อคลุมของจอร์จในห้องแต่งตัว คนดูจะเห็นโปสเตอร์หนังเรื่อง The Thief of His Heart ในแบ็คกราวด์ และหลังจากฉากงานประมูล คนดูก็จะเห็นจอร์จเดินเข้าไปดูหนังเรื่อง Guardian Angel ที่นำแสดงโดยเปปปี (เทคนิคนี้ชวนให้นึกถึง The Player ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน ภาพยนตร์เกี่ยวกับวงการบันเทิงอีกเรื่องที่ใช้ประโยชน์จากโปสเตอร์หนังเรื่องต่างๆ ในแบ็คกราวด์ได้อย่างคุ้มค่า) เช่นกัน ภาวะตกต่ำอย่างต่อเนื่องของจอร์จในครึ่งหลังก็สามารถสรุปได้ง่ายๆ ผ่านฉากจบของหนังเจ๊งเรื่อง Tears of Love เมื่อตัวละครเอกจมดิ่งลงในทรายดูดพร้อมกับตัวอักษรขึ้นบนจอว่า The End

ถึงแม้ว่า The Artist จะสนุกกับการเล่นแก๊กหนังเงียบ หรือคาราวะภาพยนตร์คลาสสิกของฮอลลีวู้ดทั้งหลาย แต่เช่นเดียวกับ Midnight in Paris หนังดูเหมือนจะไม่สร้างอารมณ์โหยหาอดีตที่ผันผ่านไปตลอดกาลมากนัก (แตกต่างจาก Hugo ที่อบอวลด้วยบรรยากาศถวิลหา และรูปแบบ 3 มิติก็กลายเป็นเหมือนบทสดุดีกำเนิดภาพยนตร์ ในยุคที่คนยังตื่นเต้นกับการเห็นรถไฟวิ่งเข้าชานชาลาบนจอจนต้องเอี้ยวตัวหลบ) ตัวหนัง The Artist และผู้กำกับ มิเชล ฮาซานาวิเชียส ก็ไม่ต่างจาก กิล (โอเวน วิลสัน) พวกเขาสนุกกับการได้ย้อนอดีต แม้จะในระหว่างช่วงเวลาสั้นๆ ได้ค้นพบฮีโร่ที่เคยชื่นชอบ ได้ขอคำแนะนำบางอย่างเกี่ยวกับผลงาน (หรือหยิบยืมมาใช้ในกรณีของฮาซาวิเชียส) แต่เมื่อถึงที่สุดแล้ว เขาก็ต้องเลือกกลับมาใช้ชีวิตอยู่ในโลกแห่งปัจจุบันอยู่ดี

ความแตกต่างอยู่ตรงที่ แฮปปี้ เอ็นดิ้ง ของ วู้ดดี้ อัลเลน ให้ความรู้สึกหวานปนเศร้า จากความเชื่อของเขาที่ว่าชีวิตนั้นเป็นเรื่องน่าผิดหวัง ความสุขนั้นมักจะผ่านเข้ามาชั่ววูบ เช่น ในระหว่างชมภาพยนตร์ (The Purple Rose of Cairo) หรือการได้ไปท่องโลกแห่งอดีตกับเฮมมิ่งเวย์และฟิทช์เจอรัลด์ (Midnight in Paris) ฉะนั้น ต่อให้เราสามารถใช้ชีวิตอยู่ในยุคที่เราถวิลหาได้จริง สุดท้ายเราก็คงไม่พบกับความสุขอยู่ดี ดังจะเห็นได้จากตัวละครอย่าง เอเดรียนา (มาริยง โกติญาร์) ที่อาศัยอยู่ในยุคสมัยที่กิลเห็นว่ายอดเยี่ยมที่สุด แต่กลับโหยหาอดีตสมัย Belle Epoque ซึ่งสำหรับเธอถือเป็นยุคทองอันน่าหลงใหลที่สุด ทั้งนี้เพราะธรรมชาติของมนุษย์มีแนวโน้มที่จะมองอดีตด้วยแววตาแห่งอุดมคติ และมองปัจจุบันด้วยแววตาของสัจนิยม ในตอนจบ กิลแยกทางกับสาวสมัยใหม่ (ราเชล แม็คอดัมส์) ที่แน่นอนว่าถูกวาดภาพให้กลายเป็นตัวร้าย เนื่องจากเธออาศัยอยู่กับปัจจุบันและอาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวละครที่มีความสุขกับชีวิตมากสุด แล้วมีแนวโน้มว่าจะลงเอยกับสาวฝรั่งเศสจากร้านขายของเก่า ซึ่งเขาพบโดยมีดนตรีของ โคล พอร์เตอร์ เป็นกามเทพสื่อรัก… กลิ่นอายแห่งอดีตยังคงอบอวลและไม่จางหายไปไหน

ตรงกันข้าม ผู้หญิงที่ช่วยเหลือ จอร์จ วาเลนทิน ให้กลับมาใช้ชีวิตปัจจุบัน อย่าง เปปปี หาได้ผูกตัวเองติดอยู่กับอดีตแต่อย่างใด สิ่งของเก่าๆ ที่เธอประมูลซื้อมาจากบ้านจอร์จ มิใช่เพราะเธอชื่นชอบในคุณค่าของพวกมัน แต่เพราะเธอตระหนักว่ามันมีค่าต่อจอร์จมากแค่ไหนต่างหาก เธอไม่เพียงปรับตัวเข้ากับยุคหนังเสียงได้อย่างกลมกลืน ปราศจากอารมณ์โหยไห้ต่อความหอมหวาน รุ่งโรจน์แห่งอดีตเท่านั้น (ฉากที่เห็นได้ชัด คือ ตอนที่เธอให้สัมภาษณ์นักข่าวว่า “ผู้คนเบื่อหน่ายกับการเล่นหูเล่นตาเพื่อให้คนดูเข้าใจของนักแสดงยุคหนังเงียบกันแล้ว”) แต่ยังเป็นตัวแทนของอนาคตอีกด้วย เมื่อเธอฉุดจอร์จให้ก้าวข้ามภาพลักษณ์ของ ดักลาส แฟร์แบงค์ ไปสู่ภาพลักษณ์ของ เฟร็ด แอสแตร์ ในตอนจบ พร้อมปิดฉากด้วยการเปิดโอกาสให้คนดูได้ยินเสียงพูดของจอร์จเป็นครั้งแรก

มันเป็น แฮ็ปปี้ เอ็นดิ้ง ประเภทที่ให้ความหวัง สร้างความรู้สึกดีๆ ได้อย่างปราศจากข้อกังขา ชีวิตดำเนินต่อไป พร้อมอนาคตอันรุ่งโรจน์ (แน่นอน คนดูยุคนี้ย่อมทราบดีว่าหนังเพลงกลายเป็นตระกูลหนังที่ประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องอยู่เกือบครึ่งศตวรรษ) ขณะเดียวกัน มันก็เป็นตอนจบที่ช่วยปลอบประโลมอุตสาหกรรมภาพยนตร์โดยรวมด้วยว่าสุดท้ายแล้ว พวกเขาก็จะฟันฝ่าข้ามอุปสรรค ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากพัฒนาการทางเทคโนโลยีไปได้ (โฮมเธียเตอร์/อินเตอร์เน็ท/ดิจิตอล) และลงเอยด้วยความแข็งแกร่งยิ่งกว่าเดิม... เช่นนี้แล้ว ไม่สมควรหรือที่ฮอลลีวู้ดจะเฉลิมฉลองให้มันด้วยรางวัลออสการ์ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เห็นด้วยครับ

ถ้าเมอรีล สตรีพเป็นนายกหญิงของอังกฤษได้ยอดเยี่ยมแล้วใน ดิ ไอรอน เลดี้
ดูฌาแดง ก็คือ ทั้งหมดใน อาร์ตติส เลยครับ ^^