
ปริศนาคาใจเพียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่อง The Pursuit of Happyness ถูกเฉลยตั้งแต่ช่วงต้นๆ เรื่อง เมื่อ คริส การ์ดเนอร์ (วิล สมิธ) ไปรับลูกชาย คริสโตเฟอร์ (เจเดน สมิธ) จากสถานรับเลี้ยงเด็กสุดโทรมและคับแคบของผู้หญิงจีนคนหนึ่ง ซึ่งดูจะมีบุคลิกตรงกันข้ามกับ แมรี่ ป็อปปินส์ ราวฟ้ากับเหว หลังจากนั้นหนังก็ไม่สามารถสร้างความฉงนใดๆ ให้กับคนดูได้อีกเลย เพราะเราทุกคนล้วนสามารถคาดเดาได้ง่ายๆ ว่าสุดท้ายแล้วคริสย่อมต้องผ่านพ้น “ขุมนรก” แห่งความยากจนไปได้ แล้วประสบความสำเร็จในอาชีพใหม่ (ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการโหมประชาสัมพันธ์อย่างหนักว่าหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลจริง ซึ่งเขียนหนังสือชีวประวัติออกมาในชื่อเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งคงเพราะหนังดำเนินตามสูตร “ยาจกไต่เต้าจนกลายเป็นเศรษฐี” หรือ Rags to riches แบบไม่พลิกแพลง) คำถามจึงเหลือแค่ว่า “เมื่อไร” เท่านั้น
จริงอยู่ตัว Y ในชื่อหนังเป็นความจงใจของทีมผู้สร้าง แต่ทัศนคติเชิดชูวัตถุนิยมที่อบอวลอยู่ในแทบทุกอณูของเรื่องราว (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) กลับทำให้คนดูพาลนึกไปได้ว่า การที่พวกเขา (ในที่นี้อาจหมายรวมไปถึง คริส การ์ดเนอร์ ตัวจริงด้วยก็ได้ เพราะเขาเป็นคนคิดชื่อหนัง/หนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา) สะกดคำว่า “ความสุข” ไม่ถูกต้องอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันต่างหาก
บางทีนั่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับผู้คนในประเทศอเมริกา (ต้นตำรับความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งมักถูกนำไปเกี่ยวโยงกับทุนนิยม ความสะดวกสบายทางวัตถุ ชื่อเสียง และความมั่นคงทางการเงิน) ที่จะสับสนหลงทาง แล้วเผลอผสมคำว่า “ไล่ตาม” เข้ากับคำว่า “ความสุข” ในรูปแบบวลีสุดฮิตของพวกเขา นั่นคือ “ไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน” หรือ “ใช้ชีวิตอยู่ในความฝันแบบอเมริกัน” (pursuing/living the American Dream)
แน่นอน ตามหลักของศาสนาพุทธ ความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสล้วนเป็นแค่มายา ความสุขแท้จริงหมายถึงความว่างเปล่า (นิพพาน) ต่างหาก ขณะเดียวกัน นักปราชญ์ชาวจีนในลัทธิเต๋านาม จวงจื้อ ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ความสุข คือ การปราศจากความมุ่งมั่นที่จะพบกับความสุข”
กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ยังยอมรับผ่านงานวิจัยว่า การที่ชาวตะวันตกมีเงินทองและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้กลับทำให้พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นเลย (งานวิจัยในสามประเทศ คือ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ล้วนได้ผลตรงกันหมด) เทียบง่ายๆ คือ ปัจจุบันมนุษย์มีความสะดวกสบายและมาตรฐานในการดำรงชีวิตดีกว่าในอดีต แต่เมื่อเทียบระดับความสุขแล้ว คนในปัจจุบันกลับไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนเมื่อห้าสิบปีก่อนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราพบว่าความสุขของแต่ละคนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย โดยงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งซ้าย ขณะที่ความรู้สึกไม่ดีจะเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งขวา และมนุษย์แต่ละคนก็มีระดับความตื่นตัวของสมองในฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน คนที่สมองฝั่งซ้ายทำงานมากกว่าคนทั่วไปจะเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี และมีความสุขรวมถึงความจำที่ดีกว่าคนที่สมองซีกซ้ายทำงานน้อยกว่าปรกติ
จะเห็นได้ว่าทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักปรัชญาตะวันออกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าความสุขเป็นเรื่อง “ภายใน” หาใช่สิ่งของนอกกายที่เราจะไขว่คว้ามาครอบครองได้เหมือนทรัพย์สินเงินทอง กล่าวคือ มหาเศรษฐีรวยล้นฟ้าก็อาจจะหาความสุขในชีวิตไม่ได้เหมือนชาวนาจนๆ บางคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็ได้
ใน The Pursuit of Happyness คนดูจะได้เห็น คริส การ์ดเนอร์ จมปลักอยู่กับความทุกข์แทบตลอดทั้งเรื่อง เขาถูกลินดา (แธนดี้ นิวตัน) เมียสาวซึ่งต้องแบกรับงานสองกะเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว (แต่หนังกลับวาดภาพเธอไม่ต่างจาก ครูเอลล่า เดอ วิล) ดูถูกเหยียดหยาม เขาเศร้าใจที่ไม่สามารถพาลูกไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กชั้นดีได้ เขาผิดหวังที่เครื่องมือทางการแพทย์ที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเงินเก็บของครอบครัวไปซื้อมาไม่ได้ “ขายคล่อง” ดังหวัง เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นว่ามันเป็นของฟุ่มเฟือย
ในสายตาของคริส (หรืออาจจะหมายรวมถึงทัศนคติของตัวหนังทั้งเรื่องด้วยก็ได้) ความจนเทียบเท่ากับความทุกข์ ดังนั้น หากเขาต้องการความสุข หนทางเดียว คือ การแสวงหาเงินทองมาครอบครองให้มากที่สุด นั่นเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการไล่ตาม “ความสุข” ของคริส ซึ่งตัวหนังได้นำมาย้อมแมวขายในทำนองว่า “คุณควรต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง”
คริสมุ่งมั่นอยากเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้นเหมือนที่ แม็กกี้ ฟิทซ์เจอรัลด์ ฝันอยากเป็นนักมวยใน Million Dollar Baby หรือ นีล เพอร์รี่ ฝันอยากเป็นนักแสดงใน Dead Poets Society งั้นหรือ
ตรงกันข้าม คริสได้แรงบันดาลใจในการพลิกผันอาชีพ/ชีวิตจากการเดินผ่านย่านการเงินแห่งหนึ่ง แล้วเห็นผู้คนแถวนั้นยิ้มแย้มอย่างมีความสุข เขาจึงร้องถามชายคนหนึ่งที่ขับรถหรูมาจอดว่าทำยังไงถึงจะได้มีรถสวยแบบนั้นมาขับบ้าง ชายคนดังกล่าวผายมือไปยังตลาดหุ้นแทนคำตอบ เปล่าเลย ความฝันของ คริส การ์ดเนอร์ หาใช่การเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้น เขากำลังไล่ตาม “ความร่ำรวย” อยู่ต่างหาก อะไรก็ได้ที่สามารถทำให้เขามีเงินมากพอจะซื้อรถหรูๆ สักคันมาขับ หรือนั่งชมฟุตบอลใน “บ็อกซ์” ส่วนตัว
อันที่จริง ความทะยานอยากนั่นเองที่ทำให้เขาต้องอับจนตั้งแต่แรก เป็นเพราะความอยากรวยไม่ใช่หรือที่ทำให้คริสตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดทุ่มซื้อเครื่องมือทางการแพทย์มากักตุนไว้ เมื่อแผนดังกล่าวไม่เป็นไปดังหวัง แทนที่จะหางานมั่นคงทำเพื่อแบ่งเบาภาระลินดา เขากลับตกลงรับตำแหน่งพนักงานฝึกหัดในบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ให้ค่าตอบแทนใดๆ แถมยังไม่รับประกันด้วยว่าเขาจะได้งานทำหลังจบคอร์ส แน่นอน ตัวหนัง “เข้าข้าง” คริสอย่างเต็มที่ แน่นอน คนดูส่วนใหญ่ย่อมอดไม่ได้ที่จะลุ้นเอาใจช่วยคริส เนื่องจากทักษะการเล่าเรื่องอันแยบยล รวมไปถึงการแสดงอันโน้มนำของซูเปอร์สตาร์ขวัญใจมวลชนอย่าง วิล สมิธ และแน่นอน สุดท้ายการยอมเสี่ยงครั้งที่สองของคริสก็ลงเอยด้วยความสำเร็จ แต่นั่นหาได้ปลดปล่อยคนทำหนังจากการสร้างค่านิยมบิดๆ เบี้ยวๆ ไม่
จากงานวิจัยในประเทศอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์พบว่า ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของเรา “เปรียบเทียบ” กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเกิดจากรายได้เฉลี่ยของบุคคลรอบข้าง กล่าวคือ เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มสูงกว่ากลุ่มที่เราเปรียบเทียบด้วย ในทางกลับกัน ถ้าผู้อื่นที่เราเปรียบเทียบด้วยมีรายได้สูงกว่า ความสุขของเราก็จะลดน้อยลง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คริสไม่อาจค้นพบความสุขได้เป็นเพราะเขาเลือกจะเปรียบเทียบตัวเองกับเหล่านักธุรกิจชั้นนำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชายคนที่ขับรถหรู หรือเศรษฐีรายหนึ่งที่เขาพยายามล่อหลอกให้ยอมมาเป็นลูกค้า ในฉากสำคัญเราจะเห็นท่าที “อับอาย” ของคริสที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินเท้ามายังบ้านเศรษฐี ซึ่งกำลังจะขับรถคันโตพาลูกไปดูฟุตบอล ขณะที่คริสโตเฟอร์กลับไม่รู้สึกว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องปกปิด เขาแค่รู้สึกดีใจเพราะ (อาจ) จะได้ไปดูฟุตบอลกับพ่อของเขาเท่านั้น และการนั่งดูในบ็อกซ์ส่วนตัวสุดหรู หรือบนเก้าอี้ราคาถูกแถวหลังสุดก็คงไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับหนูน้อยมากเท่ากับคริส
ผลงานกำกับของ เกเบรียล มัคซิโน ชิ้นนี้สร้าง “แรงบันดาลใจ” ในระดับเดียวกับการอ่านหนังสือฮาว-ทูแนวธุรกิจสักเล่ม ซึ่งมักจะมีประเด็นหลักแบบเดียวกันว่าใครๆ ก็สามารถรวยได้ หากรู้จักหนทาง/ทำงานหนัก/ทำตามความฝัน หรือการอ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของกิจการใหญ่สักคน ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากสภาพเสื่อผืนหมอนใบ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ที่จะช่วยสร้างพลังดราม่าและความชอบธรรมให้คริส เพราะใครจะกล้ากล่าวโทษการตัดสินใจเสี่ยงดวงอย่างโง่เขลาของเขา ในเมื่อทุกอย่างที่เขาทำไป ล้วนเป็นการทำไป “เพื่อลูก” (เป็นไปได้ไหมว่าลินดาอาจไม่ทิ้งเขาไป หากคริสตัดสินใจหางานทำเป็นหลักแหล่ง และถ้าเธอยังอยู่ เขาก็คงไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือคอยตอบคำถามของลูกที่ว่า “แม่ทิ้งเราไปเพราะผมใช่ไหม”)
ฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยตอกย้ำประเด็นดังกล่าว เมื่อเราได้เห็นคริสเดินยิ้มเพียงลำพังท่ามกลางฝูงชนเหมือนหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาตั้งข้อสังเกตในช่วงต้นเรื่อง เขาค้นพบ “ความสุข” แบบที่เขาต้องการในที่สุด จากนั้น ตัวหนังสือบนจอก็ระบุข้อมูลว่า ไม่นานคริสสามารถทำเงินได้หลายสิบล้านจากการขายหุ้นและปัจจุบันมีบริษัทเป็นของตัวเอง ส่วนลูกชายของเขาจะเป็นยังไงนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเราคนดูควรจะอนุมานได้เองแล้วว่าเขาคงมี “ความสุข” ล้นเหลือจากเงินที่พ่อของเขาหามาได้
The Pursuit of Happyness เข้าฉายได้ถูกจังหวะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อกระแสบริโภคนิยมกำลังพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะผู้คนถูกล้างสมองให้แห่แหนมาจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อหา “ความสุข” กันถ้วนหน้า ใครมีเงินมาก ก็จะได้ “ความสุข” กลับไปมากหน่อย ถึงตรงนี้มันอาจเหมาะสมกว่า หากทีมงานจะตั้งชื่อหนังเรื่องนี้เสียใหม่ว่า The Pursuit of American Dream (หรืออาจจะเปลี่ยน American Dream เป็น Money หรือ Success ก็ได้) แต่คราวนี้พวกเขาควรสะกดคำให้ถูกด้วย เพราะความหมายของชื่อดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับเรื่องราวโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ
อ้างอิง: คอลัมน์ “มองมุมใหม่” ของ ดร. พสุ เดชะรินทร์ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
จริงอยู่ตัว Y ในชื่อหนังเป็นความจงใจของทีมผู้สร้าง แต่ทัศนคติเชิดชูวัตถุนิยมที่อบอวลอยู่ในแทบทุกอณูของเรื่องราว (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) กลับทำให้คนดูพาลนึกไปได้ว่า การที่พวกเขา (ในที่นี้อาจหมายรวมไปถึง คริส การ์ดเนอร์ ตัวจริงด้วยก็ได้ เพราะเขาเป็นคนคิดชื่อหนัง/หนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา) สะกดคำว่า “ความสุข” ไม่ถูกต้องอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันต่างหาก
บางทีนั่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับผู้คนในประเทศอเมริกา (ต้นตำรับความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งมักถูกนำไปเกี่ยวโยงกับทุนนิยม ความสะดวกสบายทางวัตถุ ชื่อเสียง และความมั่นคงทางการเงิน) ที่จะสับสนหลงทาง แล้วเผลอผสมคำว่า “ไล่ตาม” เข้ากับคำว่า “ความสุข” ในรูปแบบวลีสุดฮิตของพวกเขา นั่นคือ “ไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน” หรือ “ใช้ชีวิตอยู่ในความฝันแบบอเมริกัน” (pursuing/living the American Dream)
แน่นอน ตามหลักของศาสนาพุทธ ความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสล้วนเป็นแค่มายา ความสุขแท้จริงหมายถึงความว่างเปล่า (นิพพาน) ต่างหาก ขณะเดียวกัน นักปราชญ์ชาวจีนในลัทธิเต๋านาม จวงจื้อ ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ความสุข คือ การปราศจากความมุ่งมั่นที่จะพบกับความสุข”
กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ยังยอมรับผ่านงานวิจัยว่า การที่ชาวตะวันตกมีเงินทองและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้กลับทำให้พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นเลย (งานวิจัยในสามประเทศ คือ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ล้วนได้ผลตรงกันหมด) เทียบง่ายๆ คือ ปัจจุบันมนุษย์มีความสะดวกสบายและมาตรฐานในการดำรงชีวิตดีกว่าในอดีต แต่เมื่อเทียบระดับความสุขแล้ว คนในปัจจุบันกลับไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนเมื่อห้าสิบปีก่อนแต่อย่างใด
ขณะเดียวกันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราพบว่าความสุขของแต่ละคนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย โดยงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งซ้าย ขณะที่ความรู้สึกไม่ดีจะเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งขวา และมนุษย์แต่ละคนก็มีระดับความตื่นตัวของสมองในฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน คนที่สมองฝั่งซ้ายทำงานมากกว่าคนทั่วไปจะเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี และมีความสุขรวมถึงความจำที่ดีกว่าคนที่สมองซีกซ้ายทำงานน้อยกว่าปรกติ
จะเห็นได้ว่าทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักปรัชญาตะวันออกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าความสุขเป็นเรื่อง “ภายใน” หาใช่สิ่งของนอกกายที่เราจะไขว่คว้ามาครอบครองได้เหมือนทรัพย์สินเงินทอง กล่าวคือ มหาเศรษฐีรวยล้นฟ้าก็อาจจะหาความสุขในชีวิตไม่ได้เหมือนชาวนาจนๆ บางคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็ได้
ใน The Pursuit of Happyness คนดูจะได้เห็น คริส การ์ดเนอร์ จมปลักอยู่กับความทุกข์แทบตลอดทั้งเรื่อง เขาถูกลินดา (แธนดี้ นิวตัน) เมียสาวซึ่งต้องแบกรับงานสองกะเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว (แต่หนังกลับวาดภาพเธอไม่ต่างจาก ครูเอลล่า เดอ วิล) ดูถูกเหยียดหยาม เขาเศร้าใจที่ไม่สามารถพาลูกไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กชั้นดีได้ เขาผิดหวังที่เครื่องมือทางการแพทย์ที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเงินเก็บของครอบครัวไปซื้อมาไม่ได้ “ขายคล่อง” ดังหวัง เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นว่ามันเป็นของฟุ่มเฟือย
ในสายตาของคริส (หรืออาจจะหมายรวมถึงทัศนคติของตัวหนังทั้งเรื่องด้วยก็ได้) ความจนเทียบเท่ากับความทุกข์ ดังนั้น หากเขาต้องการความสุข หนทางเดียว คือ การแสวงหาเงินทองมาครอบครองให้มากที่สุด นั่นเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการไล่ตาม “ความสุข” ของคริส ซึ่งตัวหนังได้นำมาย้อมแมวขายในทำนองว่า “คุณควรต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง”
คริสมุ่งมั่นอยากเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้นเหมือนที่ แม็กกี้ ฟิทซ์เจอรัลด์ ฝันอยากเป็นนักมวยใน Million Dollar Baby หรือ นีล เพอร์รี่ ฝันอยากเป็นนักแสดงใน Dead Poets Society งั้นหรือ
ตรงกันข้าม คริสได้แรงบันดาลใจในการพลิกผันอาชีพ/ชีวิตจากการเดินผ่านย่านการเงินแห่งหนึ่ง แล้วเห็นผู้คนแถวนั้นยิ้มแย้มอย่างมีความสุข เขาจึงร้องถามชายคนหนึ่งที่ขับรถหรูมาจอดว่าทำยังไงถึงจะได้มีรถสวยแบบนั้นมาขับบ้าง ชายคนดังกล่าวผายมือไปยังตลาดหุ้นแทนคำตอบ เปล่าเลย ความฝันของ คริส การ์ดเนอร์ หาใช่การเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้น เขากำลังไล่ตาม “ความร่ำรวย” อยู่ต่างหาก อะไรก็ได้ที่สามารถทำให้เขามีเงินมากพอจะซื้อรถหรูๆ สักคันมาขับ หรือนั่งชมฟุตบอลใน “บ็อกซ์” ส่วนตัว
อันที่จริง ความทะยานอยากนั่นเองที่ทำให้เขาต้องอับจนตั้งแต่แรก เป็นเพราะความอยากรวยไม่ใช่หรือที่ทำให้คริสตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดทุ่มซื้อเครื่องมือทางการแพทย์มากักตุนไว้ เมื่อแผนดังกล่าวไม่เป็นไปดังหวัง แทนที่จะหางานมั่นคงทำเพื่อแบ่งเบาภาระลินดา เขากลับตกลงรับตำแหน่งพนักงานฝึกหัดในบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ให้ค่าตอบแทนใดๆ แถมยังไม่รับประกันด้วยว่าเขาจะได้งานทำหลังจบคอร์ส แน่นอน ตัวหนัง “เข้าข้าง” คริสอย่างเต็มที่ แน่นอน คนดูส่วนใหญ่ย่อมอดไม่ได้ที่จะลุ้นเอาใจช่วยคริส เนื่องจากทักษะการเล่าเรื่องอันแยบยล รวมไปถึงการแสดงอันโน้มนำของซูเปอร์สตาร์ขวัญใจมวลชนอย่าง วิล สมิธ และแน่นอน สุดท้ายการยอมเสี่ยงครั้งที่สองของคริสก็ลงเอยด้วยความสำเร็จ แต่นั่นหาได้ปลดปล่อยคนทำหนังจากการสร้างค่านิยมบิดๆ เบี้ยวๆ ไม่
จากงานวิจัยในประเทศอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์พบว่า ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของเรา “เปรียบเทียบ” กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเกิดจากรายได้เฉลี่ยของบุคคลรอบข้าง กล่าวคือ เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มสูงกว่ากลุ่มที่เราเปรียบเทียบด้วย ในทางกลับกัน ถ้าผู้อื่นที่เราเปรียบเทียบด้วยมีรายได้สูงกว่า ความสุขของเราก็จะลดน้อยลง
ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คริสไม่อาจค้นพบความสุขได้เป็นเพราะเขาเลือกจะเปรียบเทียบตัวเองกับเหล่านักธุรกิจชั้นนำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชายคนที่ขับรถหรู หรือเศรษฐีรายหนึ่งที่เขาพยายามล่อหลอกให้ยอมมาเป็นลูกค้า ในฉากสำคัญเราจะเห็นท่าที “อับอาย” ของคริสที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินเท้ามายังบ้านเศรษฐี ซึ่งกำลังจะขับรถคันโตพาลูกไปดูฟุตบอล ขณะที่คริสโตเฟอร์กลับไม่รู้สึกว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องปกปิด เขาแค่รู้สึกดีใจเพราะ (อาจ) จะได้ไปดูฟุตบอลกับพ่อของเขาเท่านั้น และการนั่งดูในบ็อกซ์ส่วนตัวสุดหรู หรือบนเก้าอี้ราคาถูกแถวหลังสุดก็คงไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับหนูน้อยมากเท่ากับคริส
ผลงานกำกับของ เกเบรียล มัคซิโน ชิ้นนี้สร้าง “แรงบันดาลใจ” ในระดับเดียวกับการอ่านหนังสือฮาว-ทูแนวธุรกิจสักเล่ม ซึ่งมักจะมีประเด็นหลักแบบเดียวกันว่าใครๆ ก็สามารถรวยได้ หากรู้จักหนทาง/ทำงานหนัก/ทำตามความฝัน หรือการอ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของกิจการใหญ่สักคน ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากสภาพเสื่อผืนหมอนใบ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ที่จะช่วยสร้างพลังดราม่าและความชอบธรรมให้คริส เพราะใครจะกล้ากล่าวโทษการตัดสินใจเสี่ยงดวงอย่างโง่เขลาของเขา ในเมื่อทุกอย่างที่เขาทำไป ล้วนเป็นการทำไป “เพื่อลูก” (เป็นไปได้ไหมว่าลินดาอาจไม่ทิ้งเขาไป หากคริสตัดสินใจหางานทำเป็นหลักแหล่ง และถ้าเธอยังอยู่ เขาก็คงไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือคอยตอบคำถามของลูกที่ว่า “แม่ทิ้งเราไปเพราะผมใช่ไหม”)
ฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยตอกย้ำประเด็นดังกล่าว เมื่อเราได้เห็นคริสเดินยิ้มเพียงลำพังท่ามกลางฝูงชนเหมือนหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาตั้งข้อสังเกตในช่วงต้นเรื่อง เขาค้นพบ “ความสุข” แบบที่เขาต้องการในที่สุด จากนั้น ตัวหนังสือบนจอก็ระบุข้อมูลว่า ไม่นานคริสสามารถทำเงินได้หลายสิบล้านจากการขายหุ้นและปัจจุบันมีบริษัทเป็นของตัวเอง ส่วนลูกชายของเขาจะเป็นยังไงนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเราคนดูควรจะอนุมานได้เองแล้วว่าเขาคงมี “ความสุข” ล้นเหลือจากเงินที่พ่อของเขาหามาได้
The Pursuit of Happyness เข้าฉายได้ถูกจังหวะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อกระแสบริโภคนิยมกำลังพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะผู้คนถูกล้างสมองให้แห่แหนมาจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อหา “ความสุข” กันถ้วนหน้า ใครมีเงินมาก ก็จะได้ “ความสุข” กลับไปมากหน่อย ถึงตรงนี้มันอาจเหมาะสมกว่า หากทีมงานจะตั้งชื่อหนังเรื่องนี้เสียใหม่ว่า The Pursuit of American Dream (หรืออาจจะเปลี่ยน American Dream เป็น Money หรือ Success ก็ได้) แต่คราวนี้พวกเขาควรสะกดคำให้ถูกด้วย เพราะความหมายของชื่อดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับเรื่องราวโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ
อ้างอิง: คอลัมน์ “มองมุมใหม่” ของ ดร. พสุ เดชะรินทร์ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ