วันจันทร์, ตุลาคม 13, 2551

เมื่อน้ำข้นกว่าเลือด


เคยมีการสำรวจความเห็นเกี่ยวกับภาพยนตร์สุดโปรดของเหล่ารักร่วมเพศในประเทศออสเตรเลีย ผลปรากฏว่าหนังชายจริงหญิงแท้ ที่ปราศจากภาพผู้ชายแก้ผ้า หรือจูบปากกันอย่าง Muriel’s Wedding กลับติดอันดับค่อนข้างสูง สาเหตุหลักน่าจะมาจากความสนุกสนานของหนัง รวมถึงการใช้เพลงประกอบติดหูของวง ABBA ซึ่งเปรียบเสมือน “ตัวแม่” สำหรับชาวเกย์ แบบเกือบครบถ้วนจนซาวด์แทร็กหนังแทบจะไม่ต่างกับอัลบั้มรวมเพลงฮิตของวง ABBA เลยทีเดียว (ก่อนการมาถึงของ Mamma Mia!)

อย่างไรก็ตาม หลายคนได้ตั้งข้อสังเกตว่า เนื้อหาเชิงนัยยะของหนังสามารถ “กรีดแทง” เกย์และเลสเบี้ยนได้ชนิดบาดลึกทะลุถึงหัวใจ เริ่มจากข้อเท็จจริงที่ว่า มิวเรียล (โทนี่ คอลเล็ตต์) เป็นเหมือนตัวประหลาดในสายตาของคนรอบข้าง เธอไม่สวย แถมยังอ้วน แต่ก็อยากจะ “เข้าพวก” กับกลุ่มบาร์บี้ จนสุดท้ายก็โดนเฉดหัวออกมา

การเติบโตมาในเมืองบ้านนอกริมชายทะเลทำให้มิวเรียลถูกล้างสมองว่า ความฝันอันสูงสุดของหญิงสาว คือ การได้สวมชุดแต่งงาน เข้าพิธีวิวาห์ มีครอบครัว มีลูก มีสามี มันเปรียบดังข้อบังคับที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม หากปรารถนาจะเข้ากลุ่ม แต่โดยความเป็นจริงแล้ว การแต่งงานมีครอบครัวหาใช่จะนำมาซึ่งความสุขสมหวังเสมอไป สังเกตง่ายๆ ได้จากแม่ของมิวเรียล ซึ่งตกเป็นเหมือนข้าทาสในเรือนเบี้ยให้ลูกๆ สันหลังยาวชี้นิ้วสั่ง เช่นเดียวกับสามีจอมเจ้าชู้ ที่วันๆเอาแต่เหยียดหยามลูกเมียเป็นงานอดิเรก

ชีวิตของมิวเรียลเปลี่ยนแปลงจากหน้ามือเป็นหลังมือ เมื่อเธอตัดสินใจหนีไปอยู่ “เมืองใหญ่” (ซิดนีย์) กับรอนด้า เพื่อนหญิงผู้เข้าใจมิวเรียลและยอมรับเธออย่างที่เธอเป็น แต่ถึงแม้ชีวิตจะเปี่ยมอิสรภาพและความสุข ลึกๆ แล้วมิวเรียลยังคงอยากสวมชุดวิวาห์เข้าพิธีสมรสกับผู้ชายสักคน

ถ้าเป็นหนังสูตรสำเร็จสไตล์ฮอลลีวู้ด เรื่องราวคงลงเอยด้วยการให้มิวเรียลพบหนุ่มหล่อในฝัน แล้วได้แต่งงานอยู่กินกันอย่างมีความสุขไปตลอด ตรงกันข้าม Muriel’s Wedding กลับเลือกสรุปเรื่องราวด้วยการให้มิวเรียลบอกลาหนุ่มหล่อนักว่ายน้ำ ที่ยอมแต่งงานกับเธอเพียงเพื่อจะได้โอนสัญชาติเป็นออสเตรเลีย แล้วชวนรอนด้า ซึ่งขณะนั้นป่วยเป็น “โรคร้ายแรง” จนต้องนั่งรถเข็นและย้ายกลับมาอยู่กับพ่อแม่ที่บ้าน ให้ไปใช้ชีวิตอิสระในซิดนีย์ดังเดิม

มุมมองเกี่ยวกับการสอนมนุษย์ให้เรียนรู้ที่จะเคารพตัวเอง แทนการยอมดำเนินตามรอยทาง ซึ่งใครบางคนขีดเส้นไว้แล้วป่าวประกาศว่ามันเป็นหนทางเดียวที่ถูกต้อง “โดนใจ” รักร่วมเพศแบบเต็มๆ เช่นเดียวกับประเด็นของการแสวงหา “ครอบครัวที่เราเลือกเอง” ในเมืองใหญ่

สามปีต่อมา ผู้กำกับ พี.เจ. โฮแกน ดูเหมือนจะตอกย้ำคำอ่านระหว่างบรรทัดเหล่านั้นให้ชัดเจนขึ้นด้วย My Best Friend’s Wedding หนังตลกโรแมนติกจากฮอลลีวู้ด ที่กล้าบ้าบิ่นพอจะจบเรื่องราวลงด้วยการให้นางเอกลงเอยกับเพื่อนเกย์หนุ่ม ส่วนพระเอกก็ได้แต่งงานกับหญิงสาวที่คู่ควรกับเขา!!

1 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความ