วันอาทิตย์, ตุลาคม 26, 2551

เมืองไฟลุก


มีอยู่สองเหตุผลหลักๆ ที่ทำให้ผมนึกชื่นชมและออกจะชื่นชอบหนังเรื่อง “คนไฟลุก” อยู่ไม่น้อย หนึ่ง คือ ความกล้าหาญในการแหวกผ่านกระแสหนังผี หนังตลกอันซ้ำซาก จำเจ จนเริ่มถึงขั้นน่ารำคาญ แล้วหันมานำเสนอสูตรสำเร็จของภาพยนตร์แนวสืบสวนสอบสวนอย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งสำหรับวงการหนังไทยถือว่าหายากยิ่งกว่างมเข็มในกองฟาง โดยล่าสุดที่น่าจะเข้าข่ายคงเป็นเรื่อง “ถอดรหัสวิญญาณ” แต่นั่นก็ยังไม่วายผสมแง่มุมเกี่ยวกับจิตวิญญาณไว้เพื่อเอาใจตลาด (อันที่จริง แก่นโครงสร้างของ “ถอดรหัสวิญญาณ” นั้นแทบจะเป็นการลอกสูตร The X-Files มาใช้ เมื่อสองตัวละครเอกต้องมาปะทะกันทางความคิด โดยคนหนึ่งเชื่อเรื่องมนตร์ดำ สิ่งลี้ลับเหนือธรรมชาติ ส่วนอีกคนเน้นหนักในการค้นหาหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้)

ตัดสินจากตัวอย่าง “คนไฟลุก” คล้ายจะเป็นผลงานขายปรากฏการณ์ลี้ลับเหนือธรรมชาติเฉกเช่นหนังผีเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย ทว่าตัวหนังจริงๆ กลับไม่มีผีสางนางไม้เข้ามาเกี่ยวข้องแต่อย่างใด ตรงกันข้าม คำอธิบายเรื่องปรากฏการณ์คนลุกเป็นไฟได้ถูกวางหมากให้แนบอิงหลักวิทยาศาสตร์อย่างไม่น่าเชื่อ สำหรับสังคมที่มักจะให้ความสำคัญต่อมนตร์ดำ โหราศาสตร์ ความเชื่อในสิ่งลี้ลับและไม่อาจพิสูจน์ได้เหนือความจริงตามหลักวิทยาศาสตร์แบบประเทศไทย (กระนั้น ผู้กำกับ ปีเตอร์ มนัส ก็ดูจะอดใจหลอกตุ้งแช่คนดูไม่ได้ ดังจะเห็นได้จากการแทรกฉากบังคับของหนังผีเข้ามาหนึ่งวูบเพื่อขู่ขวัญคนดูให้สะดุ้ง)

เหตุผลข้อที่สอง คือ การวิพากษ์ความเปลี่ยนแปลงอันเกิดจากระบบทุนนิยมเสรี ซึ่งเข้ามาทำลายโครงสร้างดั้งเดิมทางสังคม ตลอดจนวิถีชีวิตของผู้คน โดยตัวละครเอกอย่าง โมนา เปรียบเสมือนผลผลิตของสังคมยุคใหม่ เธอแยกตัวจากแม่ ซึ่งรับอาชีพขายข้าวสารกลางตลาดสด มาอยู่คนเดียวในคอนโดฯ สวยกลางกรุง เธอทำงานเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้น มีความทะเยอทะยานทางการเงินเกินตัวจนเกิดภาวะ “ชักหน้าไม่ถึงหลัง” คนดูไม่ได้เห็นโมนาสร้างสัมพันธ์ลึกซึ้งกับใคร เธอไร้คนรักหรือเพื่อนสนิท ห่างเหินจากครอบครัว และขณะเดียวกันก็เข้ากับหัวหน้าไม่ค่อยได้ แรงปรารถนาส่วนใหญ่ของเธอดูเหมือนจะผูกติดอยู่กับวัตถุ รูปธรรม เสียมากกว่า

นอกจากนี้ หนังยังสะท้อนถึงความต่างระหว่างสังคมยุคเก่ากับสังคมยุคใหม่อีกด้วย ผ่านรายละเอียดในส่วนของพลอย ซึ่งทำงานเป็นพยาบาลประจำองค์กรข้ามชาติ ส่วนแม่ของเธอกลับพยายามจะรักษาอาการปวดท้องโดยหันไปพึ่งความช่วยเหลือจากคนทรง (ถ้าเป็นหนังผี โมนากับพลอยคงได้คำตอบจากการพึ่งพาไสยศาสตร์ แต่ “คนไฟลุก” กลับหันเหความสนใจไปอีกทาง)

เมื่อเทียบกับมาตรฐานหนังไทยในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าบทภาพยนตร์ของ “คนไฟลุก” ลำดับพัฒนาการทางเรื่องราว การสืบสวน ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างตัวละครได้ค่อนข้างราบรื่น ชวนติดตาม แม้ในสายตาของนักดูหนังที่คุ้นเคยกับผลงานแนวทางนี้จำนวนมากของฮอลลีวู้ดอาจจะสังเกตเห็นช่องโหว่ ความไม่น่าเชื่อถือ ตลอดจนความ “ง่าย” ของการสะสางปมปัญหาอยู่บ้าง แต่พวกมันก็หาใช่ประเด็นคอขาดบาดตายจนทำลายหนังทั้งเรื่อง

การเสียชีวิตอย่างลึกลับของแม่เปิดโอกาสให้โมนาได้ก้าวออกมาสัมผัสสิ่งมีชีวิตรอบข้าง สร้างปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์คนอื่น ไม่ว่าจะเป็นพลอย เหยื่ออธรรมผู้ประสบชะตากรรมเดียวกัน ดอน นายตำรวจที่มุ่งมั่นจะสะสางคดีให้สำเร็จลุล่วง หรือแม้กระทั่ง ขวัญ นักข่าวสาวผู้ติดตามปรากฏการณ์คนลุกเป็นไฟอย่างใกล้ชิด

คนดูอาจสะใจกับการแก้แค้นของโมนาและผองเพื่อนในตอนท้าย แต่มันเป็น “ชัยชนะ” อันแท้จริงงั้นหรือ? ความตายของคนหนึ่งคนหาใช่จะหยุดยั้งการทำงานของระบบได้ และหนังก็แสดงให้เห็นแล้วว่ากลไกทุนนิยม ตลอดจนอำนาจแห่งเงินนั้นยังคงรุ่งเรือง โชติช่วง จากการที่ระบบยุติธรรม กรมตำรวจ รวมไปถึงสื่อมวลชนล้วนถูกแทรกแซง หรือล้มเหลวในหน้าที่กันแบบถ้วนหน้า นายทุนสารเลวหนึ่งคนนั้นเป็นแค่ฟันเฟืองเดียวของระบบขนาดใหญ่ และเมื่อเขาตายไป คนอื่นอีกมากมายก็พร้อมจะกระโดดมาสวมรอยแทนอย่างไม่สิ้นสุด ตราบเท่าที่มนุษย์ยังคงทะยานอยากโดยมิสนใจสามัญสำนึกใดๆ

สุดท้าย “ชัยชนะ” ของโมนาจึงไม่ต่างจากน้ำตาลเคลือบยาขม มันอาจหอมหวานภายนอก แต่ซุกซ่อนความจริงอันขมขื่นไว้ภายใน ดุจเดียวกับบรรยากาศเหมือนฝันจนกระโดดจากโทนหนังโดยรวมของฉากที่โมนาในชุดกระโปรงสีสันสดใสถูกสัมภาษณ์โดยนักข่าวโทรทัศน์ท่ามกลางทุ่งหญ้าสีเขียวชอุ่มว่า เธอมีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของจำเลยหน้าศาลยุติธรรมหรือไม่

ทุนนิยมยังคงเดินหน้าต่อไป บริษัทยาก็จะยังคงมองหาผลกำไร และค้นหาหนทางใหม่ๆ ในการคิดค้นสูตรความสำเร็จต่อไป สิ่งสำคัญ คือ มนุษย์แต่ละคนจะเลือกดำรงตนอยู่ ณ จุดใดท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอันไม่อาจหลีกเลี่ยงนี้ โมนาจะเลือกทำอย่างไรกับคอนโดฯ หรู ซึ่งเธอแทบไม่มีปัญญาผ่อนแม้ในขณะที่ยังมีงานการทำเป็นหลักแหล่ง และหลังเผชิญวิบากกรรมต่างๆ นานามาอย่างสะบักสะบอม บ้านไม้ในตลาดจะดีพอสำหรับเธอไหม

ใครจะช่วยเหลือจิตวิญญาณของเราไม่ให้ถูกกัดกร่อน... นอกจากตัวเราเอง

ไม่มีความคิดเห็น: