วันจันทร์, มกราคม 25, 2553

Avatar: กระทั่งคนตัวฟ้าก็เรียกหาอัศวินม้าขาว


มีหนังเพียงไม่กี่เรื่องที่สามารถทำให้ผมดื่มด่ำไปกับภาพบนจอจนไม่อยากสนใจเรื่องราวใดๆ อีกต่อไป เท่าที่พอจะนึกออกในตอนนี้ก็เช่น Syndrome and a Century ของ อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล และ Flowers of Shanghai ของ โหวเสี่ยวเฉียน แต่ล่าสุดคงต้องนับรวม Avatar ของ เจมส์ คาเมรอน เข้าไปอีกเรื่อง ด้วยเหตุผลที่อาจแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง กล่าวคือ สองเรื่องแรกนั้นสร้างความตื่นตะลึงให้แก่ผมทั้งในแง่ความงาม (การจัดแสง การเลือกมุมกล้อง) และการจัดองค์ประกอบภาพที่ชวนให้ค้นหาความหมาย เชื่อมโยง หรือจัดเรียงความรู้สึก แต่หนังของคาเมรอนกลับดูน่าตื่นตาในแง่มุมที่เป็นรูปธรรมกว่า และอาจไม่เกี่ยวข้องกับทักษะ หรือเทคนิคภาพยนตร์มากนัก โดยถ้าจะเทียบไปแล้วมันคงเป็นความงามที่น่าตื่นเต้นในลักษณะเดียวกับการจ้องรูปสามมิติ (ถ้าใครยังจำได้) หรือรูปเรืองแสง นั่นคือ วิจิตรบรรเจิดจนบางครั้งไม่อยากเชื่อสายตาตัวเอง แต่ขณะเดียวกันกลับไม่ได้ชวนค้นหา หรือสื่อความหมายมากนัก จนผมอดเห็นด้วยกับนักวิจารณ์เมืองนอกคนหนึ่งไม่ได้ที่บอกว่า Avatar ก็เป็นแค่ “สกรีนเซฟเวอร์ที่ราคาแพงที่สุดในโลก!”

กระนั้นผมไม่เคยคิดจะดูหมิ่น หรือหยามเหยียดทักษะทางภาพยนตร์ของคาเมรอนแต่อย่างใด ตรงกันข้าม ผมคิดว่าเขาเป็นนักเล่าเรื่องชั้นยอดและเชี่ยวชาญการกำกับฉากแอ็กชั่นชนิดหาตัวจับยาก (ระดับเดียวกับ สตีเวน สปีลเบิร์ก) อาจกล่าวได้ว่านับแต่คาเมรอนเกษียณตัวเองไปนาน 12 ปีหลังความสำเร็จระดับมโหฬารของ Titanic วงการหนังบล็อกบัสเตอร์ก็เหมือนจะดำดิ่งลงหุบเหวจากเทรนด์ “ยิ่งตัดเยอะ ยิ่งสับสนดี” ซึ่งไม่ได้กินความเฉพาะหนังแอ็กชั่นอย่าง The Dark Knight และ Transformers เท่านั้น (ผมนึกโทษ พอล กรีนกราส สำหรับเทรนด์ดังกล่าว) แต่ยังลุกลามไปถึงบรรดาหนังเพลงทั้งหลายอีกด้วย (ใช่แล้ว ร็อบ มาร์แชล คุณนั่นแหละ!) การวางสตอรี่บอร์ดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ลำดับเหตุการณ์แบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อผลกระทบทางอารมณ์ขั้นสูงสุด และร้อยเรียงช็อตอย่างระมัดระวังเพื่อให้คนดูสามารถติดตามความเป็นไปได้อย่างราบรื่นแทบจะกลายเป็นศาสตร์และศิลป์ขั้นสูงที่หายากพอๆ กับสัตว์สงวนใกล้สูญพันธุ์ในยุคสมัยของเด็กสมาธิสั้น ที่ไม่อาจทนดูภาพเดิมๆ ได้เกินเสี้ยววินาทีโดยไม่รู้สึกเบื่อหน่าย

ใน Avatar คาเมรอนไม่กลัวที่จะทิ้งระยะเวลาของช็อตให้นานขึ้นสักนิด เพื่อคนดูจะได้อิ่มเอมกับฉากซีจีสุดอลังการ เหล่าต้นไม้แปลกตา และสัตว์ประหลาดนานาพันธุ์ ซึ่งเขาเสียเวลาและเงินทองจำนวนมากในการเนรมิตขึ้น ผมนึกขอบคุณการกลับมาของช็อตที่มีความยาวเกิน 3 วินาทีในหนังยุคใหม่ หลังจากเคยหงุดหงิดกับฉากไคล์แม็กซ์ใน Moulin Rouge! เพราะผู้กำกับ แบซ เลอห์มาน ยืนกรานที่จะซอยภาพยิบย่อยจนคนดูไม่มีโอกาสดื่มด่ำกับฉากเต้นรำอันตระการตาบนเวทีได้อย่างเต็มเปี่ยม (บางทีเขาน่าจะเรียนรู้จากหนังเพลงบอลลีวู้ดให้มากกว่านี้)

บางคนยกย่อง Avatar เป็นหลักไมล์สำคัญของวงการภาพยนตร์ บ้างถึงขั้นนำไปเปรียบกับ The Jazz Singer ภาพยนตร์เสียงเรื่องแรก เลยก็มี หากตัดสินกันในแง่เทคนิค คำอ้างข้างต้นอาจไม่เกินจริงไปไกลนัก เมื่อพิจารณาว่า Avatar ได้ทำลายเส้นแบ่งระหว่าง live action และ animation ลงอย่างราบคาบผ่านเหล่าตัวละครเนวี ที่เคลื่อนไหวและแสดงออกทางอารมณ์ได้อย่างลื่นไหล สมจริง รวมไปถึงการพัฒนารูปแบบสามมิติให้กลมกลืนกับตัวหนังโดยเน้นความลึกของภาพมากกว่าจะทำลายเส้นกั้นขอบจอด้วยการโยนสารพันสิ่งของเข้าใส่คนดู ทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย หากคุณเคยชมหนังอย่าง The Abyss และ Terminator 2: Judgment Day ซึ่งดำรงสถานะผู้นำเทรนด์มาก่อน

อย่างไรก็ตาม อาจกล่าวได้ว่า เจมส์ คาเมรอน ถือเป็นทั้งนักปฏิวัติและอนุรักษ์นิยมไปพร้อมๆ กัน โดยจุดเด่นของเขาอยู่ตรงการผสมผสานสิ่งใหม่เข้ากับสิ่งเก่าเพื่อสร้างความรู้สึกตื่นตาตื่นใจ (ส่วนใหญ่เป็นการใช้ประโยชน์จากเทคนิคพิเศษ) ภายใต้โครงสร้างที่คนดูคุ้นเคยมาช้านานและรู้สึก “อุ่นใจ” (ลักษณะการเล่าเรื่องแบบคลาสสิก) คงด้วยเหตุนี้กระมัง หนังของเขาจึงมักได้รับความนิยมอย่างสูงไปทั่วโลก

Titanic สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้แก่วงการภาพยนตร์เนื่องจากมันคลุกเคล้าความน่าตื่นตาของเทคนิคพิเศษใหม่ล่าสุดเข้ากับเรื่องรักน้ำเน่าแบบที่ทุกคนคุ้นเคยได้อย่างลงตัว ผู้ชมไม่จำเป็นต้องลงทุนลงแรงมากนักในการติดตามเรื่องราว หรือทำงานหนักเพื่อเอาใจช่วยตัวละคร เพราะขาวกับดำได้ถูกแบ่งแยกไว้อย่างชัดเจนตั้งแต่ต้นแล้ว เช่นเดียวกับตัวละครใน Avatar แต่คราวนี้ดูเหมือนคาเมรอนจะใช้เวลาวางรายละเอียดของฉากหลังมากเป็นพิเศษ จนส่งผลให้ตัวละครทั้งหลายของเขาขาดเลือดเนื้อและน้ำหนัก เช่น โอกาสที่จะได้ใช้ชีวิตใหม่ของ เจค ซัลลี (แซม วอร์ธิงตัน) ไม่ได้ถูกสำรวจอย่างจริงจัง ส่วนความสัมพันธ์ระหว่างเขาในร่างอวตารกับ เนย์ทิรี (โซอี้ ซัลดานา) ก็ค่อนข้างเบาบางจนไม่สามารถโน้มนำอารมณ์ได้

ท่ามกลางเทคนิคพิเศษสุดหรู ทุนสร้างมหาศาล และการจัดจำหน่ายหนังไปฉายพร้อมกันทั่วโลกจนสามารถกวาดเงินมาครองนับพันล้านเหรียญภายในเวลาอันรวดเร็ว Avatar ได้สอดแทรกนัยยะเกี่ยวกับความตะกรุมตะกรามแห่งโลกทุนนิยมและภาวะดาบสองคมของเทคโนโลยี ที่อาจนำมาใช้เพื่อประโยชน์ทางการศึกษามากพอๆ กับการทำสงครามล่าอาณานิคม ความย้อนแย้งกันเองระหว่างตัวหนัง (ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์อันถือกำเนิดขึ้นจากความรุ่งเรืองของโลกทุนนิยม ตลอดจนแผ่อิทธิพลครอบงำทางวัฒนธรรมไปยังประเทศต่างๆ) และเนื้อหาในหนังส่งผลให้การนั่งชม Avatar ไม่ต่างจากการนั่งอ่านบทความเชิดชูคุณค่าของจิตใจเหนือรูปกายภายนอกในนิตยสาร Vogue แน่นอน เจตนารมณ์ที่ดีไม่ใช่เรื่องเสียหาย หรือน่าหัวเราะเยาะ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการต้องมานั่งฟังหนังฮอลลีวู้ดราคา 300 ล้านเหรียญสั่งสอนเกี่ยวกับความละโมบและชั่วร้ายของระบบทุนนิยมมันออกจะดูตะขิดตะขวงใจอยู่ไม่น้อย

สารชั้นแรกของ Avatar ค่อนข้างโปรสิ่งแวดล้อมและชนพื้นเมืองอย่างเด่นชัด (ความรู้สึกผิดของคนผิวขาว? เหมือนจะบอกว่า “ขอโทษนะที่เราเคยแย่งดินแดนของคุณ เข่นฆ่าคุณ ขับไล่คุณออกจากบ้านเกิดเมืองนอน แต่ไม่ต้องห่วง เดี๋ยวเราจะสร้างหนังมาชดเชยความผิดในอดีต”) จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่หนังจะถูกต่อต้านจากฝ่ายขวา โดยบางคนตีความถึงขั้นว่า ความสำเร็จทางรายได้ของ Avatar เป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่าคนอเมริกันเปิดใจยอมรับหนังที่สะท้อนแนวคิดต่อต้านสงครามในอิรัก นอกจากนี้มันยังสอดแทรกทัศนะแอนตี้อเมริกันเอาไว้ด้วย สังเกตได้จากการวาดภาพตัวละครฝ่ายทหารอเมริกัน ซึ่งเต็มไปด้วยความชั่วร้าย ไร้มนุษยธรรม และขาดสำนึกด้านสิ่งแวดล้อม

ความสำเร็จของ Avatar สะท้อนข้อเท็จจริงว่าอเมริกันชนเรียนรู้จากความผิดพลาดในอดีตจริงหรือ คำอ้างดังกล่าวชวนให้น่ากังขาเป็นอย่างยิ่ง ไม่เฉพาะจากเหตุผลที่ว่าคนส่วนใหญ่ที่เข้าไปดูหนังของ เจมส์ คาเมรอน คงไม่คาดหวังอะไรมากไปกว่าความบันเทิงชวนตื่นตาจนมองข้ามเนื้อหาสาระที่สอดแทรกเอาไว้ แต่ยังรวมไปถึงคำถามว่า Avatar โปรชนพื้นเมืองจริงหรือ ซึ่งนั่นจะนำเราไปยังสารชั้นที่สอง

เช่นเดียวกับหนังอย่าง The Last Samurai และ Dances with Wolves หรือกระทั่งสารคดีเรื่อง The Good Woman of Bangkok ซึ่งเล่าถึงความช่วยเหลือของฝรั่งผิวขาว (ผู้กำกับหนัง) ต่อโสเภณีไทยนางหนึ่งให้รอดพ้นจากความยากจน Avatar มุ่งสะท้อนให้เห็น “วีรกรรม” ของคนผิวขาวที่เข้ามากอบกู้ชนพื้นเมืองที่น่าสงสารและถูกรุกราน โดยเน้นย้ำให้เห็นความเหนือกว่าของฝ่ายแรก ทั้งในแง่เครื่องไม้เครื่องมือและกำลังทุน (กรณีของ The Good Woman of Bangkok) ไปพร้อมๆ กับความบริสุทธิ์ ใกล้ชิดกับธรรมชาติ (หรือพูดง่ายๆ คือ ล้าหลัง) ของฝ่ายหลัง

นอกจากนี้ ยังไม่ใช่เรื่องแปลกที่ตัวละครหลักทั้งสามล้วนเป็นเพศชาย ส่วนประเทศโลกที่สามก็ถูกแทนที่ด้วยเพศหญิง ผ่านพล็อตรองในส่วนของความรักระหว่างตัวละครเอกกับผู้หญิงพื้นเมือง กล่าวคือ นอกจาก Avatar จะสะท้อนแนวคิดหลักของลัทธิอาณานิคมแล้ว (ฝ่ายปกครอง หรือฝรั่งผิวขาว มีสถานะเหนือกว่าฝ่ายที่ถูกปกครอง หรือชนพื้นเมือง) มันยังตอกย้ำทัศนคติแบบชายเป็นใหญ่อีกด้วย ซึ่งทั้งสองแนวคิดมักถือกำเนิดควบคู่กันไปเสมอ จริงอยู่ หนังอาจวาดภาพให้เห็นผู้หญิงนักรบอย่างเนย์ทิรี ผู้หญิงนักอนุรักษ์อย่าง เกรซ (ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์) และผู้หญิงแกร่งอย่าง ทรูดี้ (มิเชลล์ โรดริเกซ) แต่จุดใหญ่ใจความหลักของ Avatar ยังคงวนเวียนอยู่กับการแปรสภาพจากนายทหารพิการไปสู่นักรบผู้นำชนเผ่าของเจคอยู่ดี เขาคือชายผิวขาวผู้ยิ่งใหญ่ที่เข้ามาปลดปล่อยความทุกข์ยากให้แก่ชนพื้นเมืองที่ไร้ทางสู้ทั้งหลาย (ตรงกันข้ามกับเรื่องราวของโพคาฮอนตัสใน The New World ซึ่งหลายคนหยิบยกมาเปรียบเทียบในแง่ความคล้ายคลึงทางพล็อตเรื่อง เนื่องจากหนังเรื่องนั้นของ เทอร์เรนซ์ มาลิก มุ่งโฟกัสไปยังการเดินทางจากโลกหนึ่งไปสู่อีกโลกหนึ่งของผู้หญิงพื้นเมือง ส่วนตัวละครเพศชายทั้งสองคนล้วนถูกผลักให้เป็นเพียงตัวประกอบ)

ที่สำคัญ Avatar ยังก้าวไปไกลกว่าหนัง “อัศวินม้าขาว” เรื่องอื่นๆ ข้างต้นตรงที่เจคสามารถสลัดความเป็นคนนอกของตนออกได้อย่างหมดจดในฉากจบเรื่อง เขาไม่ใช่คนผิวขาวในหมู่คนตัวฟ้า (หรือคนตัวเหลือง ตัวน้ำตาลในกรณีของ The Last Samurai และ Dances with Wolves) ไม่ใช่อวตารในโลกแห่งความเป็นจริงอีกต่อไป แต่เป็นชนเผ่านาวีโดยสมบูรณ์แบบในแง่รูปลักษณ์ภายนอก นั่นถือว่าไม่เลวเลยทีเดียวสำหรับพลทหารพิการ ที่เป็นแค่บุรุษไร้ค่าในโลกของมนุษย์ผิวขาว แต่กลับกลายมาเป็นผู้นำที่ยิ่งใหญ่ในโลกของมนุษย์ผิวสีฟ้า... จริงอยู่ว่า Avatar อาจเปิดศักราชใหม่ให้แก่โลกภาพยนตร์ในแง่เทคโนโลยี แต่หากมองในแง่เนื้อหาและทัศนคติแล้ว มันกลับเป็นเพียงฝันเปียกที่ตกค้างมาจากยุคล่าอาณานิคม

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

อยากให้ดาวหลายๆดวงแก่บทวิจารณ์นี้ครับ เพราะผมรู้สึกถึงความเป็นกลางไม่โทษไม่ชมฝ่ายไหนเป็นพิเศษครับ ู^^