วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

หนังแห่งความประทับใจ


Boyhood: รู้มาว่า ลูกสาว ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เคยอยากให้พ่อฆ่าตัวละครที่เธอเล่น เพราะไม่อยากมาถ่ายหนังเรื่องนี้ทุกปีแล้ว แต่ลิงค์เลเตอร์ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่ปรารถนาให้หนังมีจุดผกผันรุนแรง มีดรามา หรือการเปลี่ยนเส้นเรื่องกะทันหัน ทั้งนี้เนื่องจากหนังเป็นการเฉลิมฉลองความธรรมดาสามัญ สิ่งเรียบง่ายในชีวิตประจำวันประจำวัน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึง สัมผัสได้ และมีอารมณ์ร่วม ความพิเศษ มหัศจรรย์ ไม่ต้องไปขวนขวายหาเอาจากไหน แต่เก็บเกี่ยวได้จากสิ่งรอบๆ ตัวเรา   

Gone Girl: ผัวเมียละเหี่ยใจ ดูจบแล้วก็รู้สึกว่าบางทีการอยู่เป็นโสดตัวคนเดียวมันก็ดีเหมือนกันแฮะ ไม่ประหลาดใจที่ส่วนของการสืบสวนสอบสวนดูสนุก น่าติดตามมากตามมาตรฐาน เดวิด ฟินเชอร์ แต่แปลกใจอยู่บ้างตรงอารมณ์ขันร้ายๆ และการถากถางสื่อมวลชนอย่างเจ็บแสบ ซึ่งส่วนนี้น่าจะยกเป็นเครดิตของ จิลเลียน ฟลินน์ คนเขียนบทซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของเธอเอง ไม่มากก็น้อย

Her: บางทีสิ่งเดียวที่เราต้องการคือความรู้สึกเชื่อมโยงกับใครสักคน

Under the Skin: หนังมีงานด้านภาพอันน่าพิศวงและชวนค้นหาพอๆ กับการวิเคราะห์ถึงแก่นแห่งความเป็นมนุษย์

Whiplash: เป็นขั้วตรงข้ามของหนังเรื่อง Boyhood เพราะตัวละครในหนังเรื่องนี้ต่างตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาความเป็นหนึ่ง ความพิเศษเหนือใคร โดยไม่สนใจว่ามันจะทำร้ายคนอื่น หรือทำร้ายตัวเองมากแค่ไหน เพราะสำหรับพวกเขาความธรรมดาสามัญเป็นเรื่องน่าเศร้า และชวนให้หดหู่ สิ้นหวัง เราอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตัวละคร แต่ก็สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าสุดท้ายแล้วสองคนนี้คงไม่มีวันตายดีอย่างแน่นอน

นักแสดงชาย

เจค จิลเลนฮาล (Enemy): เนียนมาก ลึกมาก รู้สึกแบบเดียวกับ วีโก มอร์เทนเซน ใน A History of Violence เลย คือ ดูรอบแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไรมาก แต่พอดูรอบสองแล้วเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากความประณีตในทักษะ

ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Wolf of Wall Street): เล่นได้เหมือนเมายาบ้า ซึ่งเข้ากันได้ดีกับตัวละครและประเด็นของหนังมาก ฉากคลานขึ้นรถในสภาพพิกลพิการนี่ฮากลิ้งจนไม่น่าเชื่อว่าจะได้เห็นอะไรแบบนี้ในหนังที่กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่

คริส แพร็ท (Guardians of the Galaxy): จู่ๆ ก็ราศีพระเอกจับอย่างไม่น่าเชื่อ

แชนนิง ตาตัม (22 Jump Street): คงไม่มีใครเล่นเป็นคนหล่อแต่โง่ได้น่ารักเท่าเขาอีกแล้ว

จิรายุ ละอองมณี (ตุ๊กแกรักแป้งมาก): ฉากคุยโทรศัพท์นี่ตัดเป็นคลิปในงานประกาศรางวัลได้สบายๆ แต่ชอบตรงที่น้องเก้าแม่นในเรื่องการตีความตัวละครแม้กระทั่งในฉากที่ไม่ต้องสำแดงพลัง หรือปล่อยแสงใดๆ เช่น ฉากเล่นน้ำวันสงกรานต์ เป็นต้น ความทื่อมะลื่อของตัวละครมันกลายเป็นเสน่ห์อย่างน่าประหลาด

นักแสดงหญิง

เอ็มมา ธอมป์สัน (Saving Mr. Banks): รู้สึกว่ามีนักแสดงแค่ไม่กี่คนหรอกที่สามารถจะยกระดับหนังให้ดีขึ้นได้ และ เอ็มมา ธอมป์สัน ก็คือหนึ่งในนั้น

โรส เบิร์น (Bad Neighbours): ตอนดู Bridemaids ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงพลังบางอย่าง แต่พอมาเรื่องนี้ก็สรุปได้ทันทีว่าอีนี่มันติงต๊องขนานแท้ อย่าขายสวยอีกเลย หันมาเอาดีกับบทบ้าๆ บอๆ แบบนี้แหละเหมาะแล้ว

คีรา ไนท์ลีย์ (Begin Again): งานขายเสน่ห์แบบจัดเต็ม เธอเป็นผู้หญิงที่สวมกางเกงแล้วเท่ เก๋ ดูดีมีสไตล์ไม่แพ้ แอนนี่ ฮอล เลยทีเดียว

เอซซี เดวิส (The Babadook): ถ้าจะมีใครสักคนสามารถข่มขู่ผีให้เชื่อฟังได้ก็คงเป็นหล่อนนี่แหละ และถ้าใครอยากรู้ว่าตัวละครที่ยืนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างความมีสติกับความเสียสติเป็นยังไง ก็ให้หาหนังเรื่องนี้มาดู อ้อ ข้อคิดอีกอย่างที่ได้ คือ การไม่มีลูกเป็นลาภอันประเสริฐ

เจนสุดา ปานโต (ภวังค์รัก): งดงาม ล้ำลึก และทรงพลังอย่างมีระดับ ภายใต้มาดดาราที่น่าหมั่นไส้อยู่ในที ประเภทว่างๆ ก็ไปถ่ายแบบ ออกรายการโทรทัศน์ เธอกลับถ่ายทอดความเหนื่อยล้า ท้อแท้ของตัวละครได้อย่างน่าเศร้า อาจไม่อลังการแบบโอเปรา แต่ติดดิน และสัมผัสได้ในความเป็นมนุษย์

ความคิดเห็น

ขอบันทึกแบบสั้นๆ ไว้ตรงนี้ว่าหนังไทยที่ผมชื่นชอบในรอบปีที่ผ่านมา คือ ตุ๊กแกรักแป้งมาก, ภวังค์รัก, สายน้ำติดเชื้อ, Mother, The Master, รักหมดแก้ว และ วังพิกุล 

ไม่มีความคิดเห็น: