วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

Oscar 2015: Best Actress


มาริงยง โกติยาร์ด (Two Days, One Night)

สาวโรงงานวัยสามสิบกว่าในเมืองอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของประเทศเบลเยียมพบว่าเธอกลายเป็น ส่วนเกินหลังกลับจากลาป่วยไปนาน เธอมีเวลาสองวันกับอีกหนึ่งคืนในการโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จากทั้งหมด 16 คนยอมโหวตสละเงินโบนัสเพื่อให้เธอมีงานทำต่อไป นั่นเป็นสถานการณ์เบื้องต้นในผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของสองพี่น้อง ฌอง-ปิแอร์ และ ลุค ดาร์เดนน์ ซึ่งปกตินิยมใช้นักแสดงขาประจำชาวเบลเยี่ยม แต่ครั้งนี้กลับเลือกดาราดังอย่าง มาริยง โกติยาร์ด มารับบทนำ และผลลัพธ์ก็นำไปสู่ความทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเจ้าของรางวัลออสการ์จาก La Vie En Rose ถูกบีบให้ต้องบากหน้าไปอ้อนวอน หรือตามคำพูดของตัวละครที่โกติยาร์ดรับเล่น คือ “ขอทาน” เหล่านักแสดงซึ่งคนดูหนังส่วนใหญ่ไม่รู้จักคนแล้วคนเล่า โดยไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะประสบพบเจอกับการตอบรับแบบใด ความหนักหนาสาหัสของภารกิจดังกล่าวสะท้อนชัดในใบหน้าและแววตาเธอแทบทุกฉาก

ฉันเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยล่ะ” โกติยาร์ดกล่าวถึงสองพี่น้องดาร์เดนน์ “ฉันดูหนังของพวกเขาทุกเรื่องและหลงรักทุกเรื่อง พวกเขาเป็นสองนักทำหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ถึงแม้จะเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย แต่โกติยาร์ดหวั่นใจว่าชาตินี้สองพี่น้องดาร์เดนน์คงไม่มีวันเลือกเธอไปร่วมแสดง “พวกเขามักจะเลือกนักแสดงชาวเบลเยียม หรือนักแสดงที่มีประสบการณ์ในโลกภาพยนตร์แตกต่างจากฉันโดยสิ้นเชิง” กระนั้นหลังจากได้ดูโกติยาร์ดรับบทหญิงพิการใน Rust and Bone ซึ่งสองพี่น้องดาร์เดนน์ร่วมอำนวยการสร้าง พวกเขาก็มองเห็นอีกด้านของนักแสดงสาว แรกทีเดียวพวกเขามีความตั้งใจจะให้โกติยาร์ดรับบทคุณหมอในหนังเรื่องใหม่ แต่เมื่อโครงการดังกล่าวถูกพับเก็บไป จู่ๆ ตัวละครอย่างซานดร้า ซึ่งพวกเขาเคยคิดเรื่องราวเอาไว้เมื่อสิบปีก่อน ก็แวบเข้ามาในหัว จากนั้นก็ตามมาด้วยขั้นตอนการเขียนบท (ส่วนใหญ่โดยลุคเช่นเคย) เสร็จแล้วพวกเขาก็นำบทไปเสนอกับโกติยาร์ด ซึ่งเธอรีบตอบตกลงโดยไม่ลังเล

สำหรับนักแสดงคนอื่นๆ การต้องร่วมงานกับมาริยงถือเป็นเรื่องชวนประหม่าไม่น้อย” ฌอง-ปิแอร์ กล่าว “แต่เธอทุ่มเทให้กับบทโดยปราศจากอีโก้ เธอปลดเปลื้องตัวละครอย่างหมดเปลือกจนเหลือเพียงแก่นอารมณ์แท้จริงความสำเร็จของการทดลองเลือกดาราดังมาเล่นหนัง ซึ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ ความสมจริงขั้นสูงสุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการความเต็มใจของโกติยาร์ดที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับขั้นตอนการฝึกซ้อมบทอันยาวนานห้าสัปดาห์ ซึ่งใกล้เคียงกับการเตรียมตัวเล่นละครเวทีมากกว่าเล่นหนัง แต่นั่นถือเป็นความจำเป็นเนื่องจากสองพี่น้องดาร์เดนน์มักถ่ายหนังแบบลองเทคโดยไม่ตัดต่อ บ่อยครั้งกล้องเหมือนจะเร่งความเร็วเพื่อติดตามตัวละครให้ทัน นอกจากนี้พวกเขาจะถ่ายทำประมาณ 50 ถึง 100 เทคต่อช็อตเพื่อให้มั่นใจว่าคนตัดต่อมีฟุตเตจเพียงพอ “มาริยงบอกว่า ‘อยากให้ฉันทำอะไรก็บอกได้เลยนักแสดงหลายคนชอบพูดแบบนั้น แต่มีแค่ไม่กี่คนหรอกที่สามารถรักษาคำสัญญา มาริยงคือหนึ่งในนั้น เธอทุ่มเทให้กับขบวนการทำหนังของเราอย่างหมดใจ

โกติยาร์ดยอมรับว่าเธอรู้สึกหมดแรงอยู่เหมือนกัน เมื่อสองพี่น้องดาร์เดนน์เรียกร้องให้เธอทำกิจวัตรเรียบง่ายซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบ เช่น ลุกจากเตียง แล้วจู่ๆ ก็ร้องไห้ระหว่างหยิบรองเท้าข้างขวามาสวม บทหนังไม่ได้อธิบายชัดเจนถึงสาเหตุแห่งอาการซึมเศร้าของซานดร้า ฉะนั้นนาทีที่ความหดหู่พุ่งพรวดเข้าใส่ตัวละครอย่างฉับพลันและปราศจากคำอธิบายจึงถือเป็นฉากสำคัญที่จะทำให้คนดูเข้าใจอีกด้านของตัวละคร ฉันไม่เคยตั้งแง่กับข้อเรียกร้องของพวกเขา ฉันชอบผลงานของพวกเขามาก และฉันรู้ดีว่าการจะเข้าถึงความจริงได้นั้นต้องอาศัยการทุ่มเทอย่างหนัก” โกติยาร์ดกล่าว “พวกเขาเรียกร้องจากนักแสดงค่อนข้างมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้พยายามโน้มน้าวใดๆ ผู้กำกับบางคนถ่าย 50 เทค ทั้งที่รู้ว่าพวกเขามีเทคที่ต้องการแล้ว แต่กับสองพี่น้องดาร์เดนน์ ฉันรู้ว่าถ้าต้องถ่ายเพิ่มอีกเทค พวกเขาย่อมมีเหตุผลเสมอ

ต้องเรียกว่า 2014 เป็นปีทองของโกติยาร์ดอย่างแท้จริง เพราะนอกจากงานแสดงอันลุ่มลึก แต่ทรงพลังในหนังเรื่องนี้แล้ว เธอยังยอดเยี่ยมไม่แพ้กันใน The Immigrant ของ เจมส์ เกรย์ ซึ่งถูกสตูดิโอดองเค็มไว้นานนับปี ก่อนจะนำออกฉายแบบขอไปทีเมื่อช่วงกลางปี ในหนังเรื่องนั้นเธอรับบทเป็นสาวชาวโปแลนด์ที่เดินทางมายังอเมริกาพร้อมความฝันอันยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายกลับถูกล่อหลอกให้ไปค้าประเวณี สำหรับนักแสดงบางคน การรับบทตัวละครที่กำลังสิ้นหวัง จนตรอก หรือซึมเศร้าติดๆ กันอาจสั่งสมเป็นความเครียด หรือปัญญาทางจิต แต่ไม่ใช่โกติยาร์ด ตรงกันข้าม ประสบการณ์ดังกล่าวกลับช่วยฟื้นฟูจิตใจเธอย่างน่าประหลาด “ซานดร้าเป็นตัวละครที่ฉันรู้สึกอินอย่างมาก เธอทำให้ฉันเข้าใจคนที่กำลังประสบภาวะซึมเศร้าได้มากขึ้น” อย่างไรก็ตาม โกติยาร์ดหาได้สนใจแต่หนังดรามาหนักๆ เต็มไปด้วยความมืดหม่นเท่านั้น เพราะผลงานชิ้นถัดไปของเธอ (นอกเหนือจาก Macbeth) คือ การพากย์เสียงให้กับหนังการ์ตูนที่ดัดแปลงจากหนังสือสำหรับเด็กสุดคลาสสิกอย่าง The Little Prince มันน่าจะเป็นหนึ่งในผลงานไม่กี่ชิ้นที่เธอสามารถพาลูกชายตัวน้อยไปนั่งดูด้วยกันได้อย่างสนิทใจ


เฟลิซิตี้ โจนส์ (The Theory of Everything)

ตั้งแต่วันแรกของการถ่ายทำหนังเรื่อง The Theory of Everything เฟลิซิตี้ โจนส์ ก็ต้องเจอกับเซอร์ไพรซ์ครั้งใหญ่ โดยระหว่างที่นักแสดงสาวชาวอังกฤษ ซึ่งตัวจริงค่อนข้างขี้อายและเก็บเนื้อเก็บตัว กำลังเข้าฉากกับ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบทเป็น สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลก จู่ๆ สตีเฟน ฮอว์คิง ตัวจริงก็โผล่มาเยี่ยมกองถ่าย เขาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ราวหนึ่งชั่วโมง เอ็ดดี้กับฉันต่างก็ใจจดใจจ่อ อยากรู้ว่าเขาคิดยังไงโจนส์ ผู้รับบทเป็น เจน ไวลด์ ภรรยาของฮอว์คิงที่จิตใจเข้มแข็ง แต่ต้องเผชิญความยากลำบากแสนสาหัสเมื่อเขาป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล่าว จากนั้นผู้ช่วยก็เดินเอาโน้ตจากฮอว์คิงมาพร้อมกับพูดว่า วานเฟลิซิตี้เดินไปจูบเขาหน่อยจะได้ไหมนักแสดงสาววัย 30 ปีโผเข้ากอดนักวิทยาศาสตร์บนรถเข็นด้วยความยินดี ฉันบอกเขาว่าคุณยอดเยี่ยมที่สุดเธอเล่า ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นคนขี้เล่น และไม่เอาจริงเอาจังกับชีวิตจนเกินไป ฉันหลงรักเขาเลยล่ะ การได้เจอตัวเป็นๆ ของคนที่คุณศึกษาเรื่องราวมาอย่างละเอียดจนเหมือนสนิทสนมกันมานานเป็นเรื่องชวนให้เกร็งอยู่ไม่น้อย ฉันไม่อยากพูดอะไรโง่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าคนที่เปลี่ยนโลกในหลายๆ ทางอย่างสตีเฟ

เจน ไวลด์ ตัวจริงกับสามีก็แวะมาเยี่ยมกองถ่ายในวันเดียวกันนั้นด้วย นี่ถือเป็นประสบการณ์ที่สร้างความตึงเครียดให้โจนส์นิดหน่อย ระหว่างที่ฉันกับเอ็ดดี้กำลังแสดงกันอยู่ หางตาข้างหนึ่งของฉันก็เหลือบเห็นเจนกับสามีของเธอ ส่วนหางตาอีกข้างฉันก็เห็นสตีเฟน ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกประหม่ามากที่สุดในชีวิต พวกเขาเองก็คงรู้สึกแปลกๆ ที่ต้องมายืนมองดูเรารับบทบาทเป็นพวกเขา มันช่างเหนือจริงสุดๆ” The Theory of Everything ดัดแปลงจากบันทึกชีวิตของ เจน ไวลด์ ขณะแต่งงานอยู่กินกับฮอว์คิง โดยหนังติดตามชีวิตของทั้งสองตั้งแต่พบรักกันครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ไปจนถึงการตรวจพบโรคครั้งแรกตอนฮอว์คิงอายุได้ 21 ปี แวะเฉลิมฉลองความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ของเขา และลงเอยด้วยการแยกทางกันหลังจากเจนพบรักกับชายคนใหม่

โจนส์ได้พูดคุยกับ เจน ไวลด์ หลายครั้งก่อนเปิดกล้องและระหว่างการถ่ายทำ ฉันรู้สึกหวั่นเกรงเธออยู่นิดๆเธอเล่า เพราะฉันคิดว่าเธอเก่งกาจเหนือมนุษย์ เธอเลี้ยงลูก 3 คนตามลำพัง แถมยังคอยดูแลสตีเฟนตลอดช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันนาน 25 ปี ฉันตระหนักว่าเธอมีคุณสมบัติพิเศษไม่เหมือนใคร และอยากจะถ่ายทอดเธอออกมาในฐานะมนุษย์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา แต่ขณะเดียวกันก็ดิ้นรนเพื่อพยายามรักษาตัวตนเอาไว้เพราะเธอก็เก่งกาจทางด้านวิชาการเช่นกัน เธอเสียสละอย่างสูงเพื่อสตีเฟนและเจ็บปวดไม่น้อยเมื่อทั้งสองต้องแยกทางกัน

นับแต่เลิกรากับศิลปิน เอ็ดดี้ ฟอร์นีเลส หลังจากคบหากันมานาน 10 ปี เฟลิซิตี้ โจนส์ ยอมรับว่าเธอทำตัวไม่ถูกเวลาไปออกเดท เมื่อไม่นานมานี้ฉันออกเดทอยู่สองสามครั้งและรู้สึกอึดอัดอย่างบอกไม่ถูกเธอหัวเราะ ฉันไม่อยากลงลึกถึงรายละเอียดหรอกนะ แต่เวลาคนเราประหม่า เรามักจะพูดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะคุยอะไรกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนที่คนรู้สึกดีด้วย ทำไมก็ไม่รู้ มันน่ารำคาญมากเลย แต่ถ้าเป็นคนที่คุณไม่ได้ชอบละก็ คุณจะรู้สึกผ่อนคลายและพูดอะไรฉลาดๆ ออกมาได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกับฮอว์คิงกับไวลด์ โจนส์กับฟอร์นีเลสพบรักกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ก่อนจะย้ายมาอยู่ด้วยกันในลอนดอน ฉันเคยรักและสูญเสียรักไป มันเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานและสำคัญต่อฉันมาก โชคร้ายที่เราไปกันไม่รอด แต่ฉันก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากความสัมพันธ์นั้น

ถึงแม้จะเริ่มต้นอาชีพนักแสดงตั้งแต่อายุ 12 ในหนังทีวีเรื่อง Treasure Seekers ประกบ คีรา ไนท์ลีย์ แต่โจนส์กลับตัดสินใจเลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษที่อ็อกฟอร์ดแทนการเข้าเรียนด้านสาขาการแสดง โดยในหว่างนั้นเธอก็ยังมีผลงานทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง ในปี 2011 เธอตอบปฏิเสธบทสโนว์ไวท์ในหนังเรื่อง Mirror, Mirror เพื่อไปเล่นละครเวที และปีเดียวกันนั้นเองก็ได้แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์อย่างเป็นทางการจากหนังอินดี้ทุนต่ำเรื่อง Like Crazy รับบทเป็นสาวอังกฤษที่ได้ลิ้มรสความรักครั้งแรกในลอสแองเจลิส บทดังกล่าวส่งผลให้เธอคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังซันแดนซ์มาครอง ไม่ต้องสงสัยว่าผลงานแสดงอันน่าประทับใจของเธอใน The Theory of Everything ทำให้โจนส์ได้รับข้อเสนออีกมากมายจากฮอลลีวู้ด โดยล่าสุดเธอเพิ่งปิดกล้องหนังเขย่าขวัญเรื่อง True Story และกำลังจะถ่ายทำหนังเรื่อง A Monster Calls ร่วมกับ เลียม นีสัน และ ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์


จูลีแอนน์ มัวร์ (Still Alice)

ในช่วงต้นเรื่องของหนังดรามาบีบอารมณ์เรื่อง Still Alice ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งรับบทโดย จูลีแอนน์ มัวร์ อยู่ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เธอกำลังวิ่งออกกำลังกายไปรอบๆ มหาวิทยาลัย จนกระทั่งจู่ๆ ก็พลันตระหนักว่าตัวเองกำลังหลงทาง ใบหน้าขาวซีดของเธอสื่อสารการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย แต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกตื่นตระหนกซึ่งสูบฉีดตรงไปยังสมองอย่างชัดเจน นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะที่กำลังจะตามมาสำหรับศาสตราจารย์วัย 50 ปีที่ฉลาดหลักแหลมอย่างอลิซ เมื่อเธอตระหนักว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และคนดูก็กำลังจะได้ติดตามการเสื่อมถอยอันน่าตื่นตระหนกของเธอในระยะประชิด

Still Alice เป็นหนังอินดี้ทุนต่ำที่ โซนี พิคเจอร์ส คลาสสิก ซื้อมาจัดจำหน่ายในเดือนกันยายน เนื่องจากสตูดิโอมองเห็นโอกาสเข้าชิงออสการ์ของ จูลีแอนน์ มัวร์ “ฉันตื่นเต้นกับหนังเรื่องนี้และการรับบทนี้มาก ฉันไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนนำเสนอโรคอัลไซเมอร์ผ่านมุมมองของคนป่วยมาก่อน” นักแสดงหญิงเจ้าบทบาทผู้เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 4 ครั้งจาก Boogie Nights, The End of the Affair, The Hours และ Far from Heaven กล่าว “โดยทั่วไปแล้วคุณจะเห็นเรื่องราวทำนองนี้ถูกนำเสนอผ่านมุมมองของคนที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรือสมาชิกร่วมครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นการเปลี่ยนมาสะท้อนความรู้สึกนึกคิดผ่านมุมมองของคนป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จึงถือเป็นเรื่องน่าสนใจ” คนดูจะได้เห็นการเดินทางของเธอจากภายใน ได้รับรู้ รวมทั้งตระหนักถึงความหวาดกลัว สับสน และหม่นเศร้ายิ่งกว่าสามี (อเล็ก บอลด์วิน) หรือลูกสาวของเธอ (คริสเตน สจ๊วตด้วยซ้ำ

มัวร์ขึ้นชื่อเรื่องการค้นข้อมูลและเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นสำหรับทุกบทบาท ความละเอียดและการทุ่มเทดังกล่าวนำไปสู่บทบาทการแสดงอันน่าเชื่อถือ และบางครั้งก็เหมือนจริงจนชวนให้ขนลุก เช่น เมื่อเธอสวมบทบาทเป็น ซาราห์ เพลิน ในหนังทีวีเรื่อง Game Change ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองทั้งจากเวทีเอ็มมี่และลูกโลกทองคำ สำหรับหนังเรื่อง Still Alice เธอบอกกับสองผู้กำกับ ริชาร์ด เกลเซอร์ และ วอช เวสต์มอร์แลนด์ ว่าเธอจะไม่นำเสนออาการใดๆ ที่เธอไม่เคยเห็นจากการเฝ้าสำรวจคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยคนหนึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตให้เธอฟัง เธอมีอาชีพการงานใหญ่โต และภาคภูมิใจในสติปัญญาของตัวเอง แต่หลังจากป่วยด้วยโรคนี้ เธอต้องเผชิญความยากลำบากมากมาย รวมทั้งถูกนิยามตัวตนใหม่โดยคนรอบข้าง “ความคิดของการเปิดโอกาสให้คนดูได้รู้จักตัวละครอย่างแท้จริง โดยไม่ตัดสินพวกเขาจากโรคร้ายที่พวกเขาต้องทำให้ฉันรู้สึกซาบซึ้งอย่างมากมัวร์กล่าว

ทันทีที่สองผู้กำกับได้อ่านนิยายเรื่อง Still Alice แน่นอนว่าพวกเขาคิดถึงเพื่อนสนิทอย่าง จูลีแอนน์ มัวร์ เป็นคนแรก เรารู้ว่าเธอจะต้องสามารถถ่ายทอดช่วงเปลี่ยนผ่านอันยากลำบาก ตลอดจนสะท้อนอารมณ์อันหนักหน่วงรุนแรงของตัวละครในช่วงท้ายเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม” เวสต์มอร์แลนด์กล่าว “เรารู้ว่าบทนี้ต้องเป็นเธอเท่านั้น” เช่นเดียวกัน คริสเตน สจ๊วต ซึ่งสนิทสนมกับมัวร์มาตั้งแต่สมัยเข้าวงการใหม่ๆ (เธอนำแสดงในหนังเรื่อง Catch That Kid ซึ่งกำกับโดยสามีของมัวร์) เชื่อว่าไม่มีใครเหมาะกับบทอลิซมากไปกว่ามัวร์ บทอลิซจำเป็นต้องได้นักแสดงที่ยินดีจะด่ำดิ่งลงไปยังก้นบึ้งของอารมณ์ แล้วเผชิญหน้ามันอย่างไม่เกรงกลัวนักแสดงหญิงผู้โด่งดังจากหนังชุด Twilight กล่าว

ปัญหาหลักของมัวร์ในการรับบท อลิซ ฮาวแลนด์ ไม่ใช่เพียงการสื่อสารความรู้สึกซับซ้อนของตัวละคร ตลอดจนการถ่ายทอดอาการแต่ละขั้นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้ออกมาน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่เธอยังต้องจัดตารางถ่ายหนังอันวุ่นวายให้ลงตัวอีกด้วย อย่าแปลกใจถ้าบนเวทีรางวัล มัวร์จะกล่าวขอบคุณโปรดิวเซอร์ จอน คีลิค ที่ยอมเปลี่ยนตารางการถ่ายทำ The Hunger Games: Mockingjay - Part 1 เพื่อให้เธอสามารถไปเข้ากล้อง Still Alice ได้ “ฉันคงไม่ได้เล่น Still Alice ถ้าไม่ใช่เพราะเขา ตามสัญญาฉันต้องให้เวลาพวกเขาตลอดปี แต่จอนกลับยินดีให้ฉันเดินทางไปกลับระหว่างสองกองถ่ายโดยไม่เกี่ยงงอนนอกจากหนังสองเรื่องนี้แล้ว จูลีแอนน์ มัวร์ ยังฝากการแสดงอันน่าจดจำไว้ใน Maps to the Stars ของ เดวิด โครเนนเบิร์ก อีกด้วย หนังตลกร้ายที่สะท้อนความเน่าเฟะในวงการบันเทิงเรื่องนี้ทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงจากคานส์มาครองท่ามกลางความเซอร์ไพรซ์ของหลายๆ คน หลังอกหักเรื่องรางวัลมาเกือบตลอดอาชีพนักแสดง ดูเหมือนโชคชะตาจะเริ่มเข้าข้าง จูลีแอนน์ มัวร์ บ้างแล้ว


โรซามุนด์ ไพค์ (Gone Girl)

สมัยวัยรุ่น โรซามุนด์ ไพค์ เคยถูกคัดเลือกให้เล่นเป็นจูเลียตในละครเวที Romeo and Juliet ตามมาด้วยผลงานทางโทรทัศน์อีกสองสามชิ้น แต่แล้วจู่ๆ อาชีพของเธอก็พลันหยุดชะงักในปี 2002 เมื่องานแสดงเริ่มเหือดหายจนทำลายกำลังใจ เธอตั้งใจว่าจะรับงานเสมียนในร้านหนังสือแห่งหนึ่งอยู่พอดี ตอนทราบข่าวดีว่าตนเองจะได้เป็นสาวบอนด์ประกบกับ เพียซ บรอสแนน ใน Die Another Day (น่าตลกตรงที่เธอไม่เคยดูหนัง เจมส์ บอนด์ มาก่อนใบหน้าที่สวยสง่า ผมสีบลอนด์ และบุคลิกเย็นชาอยู่ในทีทำให้เธอเหมาะจะรับบทสาวบอนด์และนางเอกในหนังของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก “เขาต้องคลั่งไคล้เธอแน่” แซลลี ฮอว์กิงส์ ซึ่งร่วมแสดงกับเธอในหนังเรื่อง Made in Dagenham กล่าวถึงผู้กำกับในตำนาน

หลังจากบทสาวบอนด์ ไพค์ก็ตกอยู่ในสถานะ “เกือบดัง” มาตลอดเวลาหลายปี เธอได้ร่วมแสดงกับ คีราห์ ไนท์ลีย์ ใน Pride and Prejudice แครี มัลลิแกน ใน An Education ทอม ครูซ ใน Jack Reacher และได้เล่นหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มใหญ่อย่าง Wrath of the Titans แต่สำหรับนักดูหนังชาวอเมริกัน ชื่อเสียงของเธอก็ยังไม่ค่อยเป็นที่จดจำอยู่ดี ซึ่งนั่นถือเป็นข้อดีอยู่บ้าง เดวิด ฟินเชอร์ ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเลือกไพค์มารับบทนำใน Gone Girl ด้วยเหตุผลดังกล่าว ความไม่ดังของเธอช่วยสร้างบรรยากาศลึกลับ ยากจะคาดเดาให้กับตัวละครเอกมากยิ่งขึ้น ฟินเชอร์ได้ดู Jack Reacher บนเครื่องบิน และจำได้ว่าเธอเป็นสาวบอนด์ “สิ่งที่ผมสะดุดใจมากที่สุด คือ ผมไม่รู้ว่าเธออายุเท่าไหร่กันแน่ เธออาจจะอายุ 22 หรือ 23 ปีก็ได้ ผมจำได้ว่ารู้สึกแปลกใจ ราวกับว่ามันเป็นหน้าที่ของนักแสดงหญิงในการทำตัวเป็นอมตะ แล้วหยุดอายุไว้ที่ 22 หรือ 23 ตลอดไป ผมรู้สึกสนใจในตัวเธอเลยโทรติดต่อและส่งหนังสือให้เธออ่าน

หลังจากนั้นฟินเชอร์ก็นัดเธอมาทานอาหารเย็น ทั้งสองพูดคุยกันนานสี่ชั่วโมงจนกระทั่งฟินเชอร์ทราบว่าไพค์เป็นลูกคนเดียวเหมือนกับ เอมี ดันน์ นอกจากนี้การเติบโตมาโดยมีพ่อแม่เป็นนักร้องโอเปรายิ่งทำให้เธอเข้าถึงตัวละครใน Gone Girl ได้มากขึ้น “มันทำให้คุณกลายเป็นเด็กประหลาด มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกที่บิดเบี้ยวจากความจริง คุณจะคิดว่าชีวิตเต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง การนอกใจ ฆาตกรรม และผู้คนปฏิบัติตัวกันแบบสุดโต่งไพค์กล่าว

ผมคิดว่าเธอชื่นชอบการต้องเป็นทั้ง เครซี เอมี และ อเมซิง เอมี เธอเก็ทบทอย่างรวดเร็ว แล้วเขียนอีเมลมาบอกว่าเธอมองเห็นอะไรบ้างในตัวละครนี้” ฟินเชอร์แนะนำให้ไพค์ลองศึกษาชีวิตของ แคโรไลน์ เบสเซทท์ เคนเนดี้ เพื่อจะได้รู้ว่าเขามีภาพในหัวเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้อย่างไร ทั้งความลึกลับ เย็นชา และเข้าไม่ถึง หลังเสร็จจากการพูดคุยกับฟินเชอร์ ไพค์บังเอิญเจอนิตยสารฉบับพิเศษเล่มหนึ่งที่สนามบิน เล่าถึงเรื่องราวความรักระหว่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ กับ แคโรไลน์ เบสเซทท์ เคนเนดี้ เธอถือว่านั่นเป็นลางดี เมื่อกลับถึงบ้านเธอก็เริ่มสั่งนิตยสารเก่าๆ มาดูภาพของแคโรไลน์ ค้นหาคลิปของเธอในอินเทอร์เน็ต “ฉันไม่สามารถอ่านสีหน้าเธอออก ฉันจึงจำคุณสมบัติดังกล่าวแล้วนำมาปรับใช้กับตัวละคร เวลาคุณเจอเอมี ใบหน้าเธออาจยิ้มแย้ม แต่ดวงตาเธอจะคอยสำรวจสอดส่องคุณ ประเมินคุณค่า ดูว่าคุณเหมาะจะเล่นเกมนี้หรือไม่ และเมื่อคุณสามารถทำแต้มได้ เธอจะรู้สึกประหลาดใจและยินดี พร้อมกับคิดว่าบางทีคุณอาจคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป มันเป็นวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า

ตอนนี้สายตาทุกคู่หันมาจับจ้อง โรซามุนด์ ไพค์ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดเวลาสิบกว่าปี เธอยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันที่จู่ๆ ฮอลลีวู้ดก็เริ่มสนใจว่าลูกคนที่สองของเธอจะลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อไหร่ หรือหนังเรื่องต่อไปของเธอคืออะไร หนังเรื่อง Gone Girl ถือเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในอาชีพการแสดงของฉันเลย” นักแสดงสาวชาวอังกฤษกล่าว ถือเป็นรางวัลตอบแทนอันคุ้มค่าหลังความทุ่มเทอันยากลำบาก เนื่องจากทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าการต้องร่วมงานกับผู้กำกับร้อยเทคอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ นั้นไม่ใช่เรื่องสบายๆ ไพค์เล่าว่าเธอถูกขอให้เล่นฉากเซ็กซ์กับ นีล แพ็ทริค แฮร์ริส ซึ่งลงเอยแบบเลือดสาดทั้งหมด 36 เทคด้วยกัน “เราใช้เวลา วัน หมดเลือดไป 350 แกลลอน และผ้าปูที่นอน 36 ผืน


รีส วิทเธอร์สพูน (Wild)

บางทีประโยคที่สามารถนิยามหนังเรื่อง Wild ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือบันทึกชีวิตติดอันดับขายดีประจำปี 2012ของ เชอรีล สเตรย์ ได้ชัดเจนที่สุดอาจเป็นท่อนหนึ่งในเพลง California ของ โจนี มิทเชลล์ ที่ว่า “คุณยอมรับฉันอย่างที่ฉันเป็นได้ไหมก่อนจะออกเดินป่าเป็นระยะทาง 1,100 ไมล์รอบอุทยานแห่งชาติในรัฐแคลิฟอร์เนีย สภาพที่สเตรย์ เป็นคือ เธอยังคงโศกเศร้ากับการจากไปของแม่เมื่อสี่ปีก่อนด้วยโรคมะเร็ง เธอหย่าขาดจากสามีและตระเวนมีเซ็กซ์กับชายทุกคนที่ไม่ใช่เขา ส่วนร่างกายของเธอก็เพิ่งจะปลอดยาเสพติดมาได้หนึ่งวัน หลังจากเริ่มต้นด้วยการทดลอง “เล็กน้อย” ก่อนจะบานปลายกลายเป็นติดเฮโรอีนในท้ายที่สุด

รีส วิทเธอร์สพูน ซึ่งควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ด้วย ออกแรงผลักดันให้หนังได้สร้างเพราะเธอชื่นชอบความจริงใจแบบไม่เสแสร้งของหนังสือ “เชอรีลกล้าหาญมากที่เล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมา แม้กระทั่งในส่วนที่หลายคนอาจทนรับไม่ค่อยไหว” นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Walk the Line กล่าว เธอให้สัญญากับเชอรีลว่าจะซื่อสัตย์กับความจริงนั้นโดยไม่พยายามลดทอนแง่มุมอันสุ่มเสี่ยง แล้วดัดแปลงให้ตัวละครดูน่าเห็นใจ หรือชื่นชอบได้ง่ายขึ้น คนดูจะ เข้าถึง” ตัวละครไม่ใช่จากนิสัยน่ารัก น่าคบหา แต่จากแง่มุมรอบด้านแห่งความเป็นมนุษย์ของเธอ อาจพูดได้ว่า Wild เป็นเหมือนชัยชนะส่วนตัวของวิทเธอร์สพูน เนื่องจากฮอลลีวู้ดมักไม่ค่อยเขียนบทดีๆ ให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในวัยใกล้ขึ้นหลักสี่ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาโครงการขึ้นเองด้วยการหาเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวละครเพศหญิงที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์

เพื่อเป็นเกียรติแด่ เชอรีล สเตรย์ และหนังสือของเธอ วิทเธอร์สพูนจำต้องถ่ายทอดให้เห็นความดิบของตัวละคร ตลอดจนจิตใจอันแตกสลายจากความโศกเศร้า เธอต้องพยายามไม่ลดทอนความแข็งกระด้าง หรือความผิดพลาดของตัวละครเพื่อให้คนดูหลงรักได้ง่ายขึ้น จนมันลงเอยกลายเป็นหนังสำหรับทุกคนในครอบครัว เธอต้องสลัดภาพ “ขวัญใจคนอเมริกัน” ซึ่งผูกติดกับเธอมาตั้งแต่ความสำเร็จของ Legally Blonde และ Sweet Home Alabama ให้หลุด เพราะตัวเอกในหนังเรื่องนี้ห่างไกลจากภาพลักษณ์ดังกล่าวยิ่งกว่าบทไหนๆ ที่เธอเคยรับเล่นมา แน่นอนว่าวิทเธอร์สพูนทำสำเร็จอย่างงดงาม ที่สำคัญ เชอริล สเตรย์ เวอร์ชั่นหนังบางครั้งก็ดู “แรง” และหัวแข็งยิ่งกว่าเวอร์ชั่นหนังสือเสียด้วยซ้ำ ในฉากย้อนอดีตก่อนการออกเดินป่า สเตรย์ใช้วาจาเชือดเฉือนจิตแพทย์ของเธออย่างหนัก ขณะที่ในหนังสือจะเป็นเพียงบทบรรยายความรู้สึก ส่วนฉากที่เธอพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ลงเอยด้วยการทะเลาะเบาแว้งกับเพื่อน ขณะที่ในหนังสือสเตรย์รับรู้ข่าวดังกล่าวพร้อมอารมณ์สิ้นหวังและน้ำตา

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สเตรย์ในหนังบางครั้งดูขมขื่นและโมโหร้ายกว่าสเตรย์ในหนังสือเป็นเพราะหนังจำเป็นต้องบิวด์อารมณ์ดรามา ประเด็นว่าสเตรย์จะเป็นตัวละครที่คนดูสามารถชื่นชอบได้หรือไม่กลายเป็นเรื่องรอง เพราะสิ่งสำคัญกว่า คือ เธอเป็นตัวละครที่ “จริง” แค่ไหน ทั้งในแง่อารมณ์อันซับซ้อน การตระหนักในความผิดพลาดแห่งอดีต และความไม่แน่นอนของอนาคต หนังเรื่องนี้ไม่มีทาง “เวิร์ค” หากไม่ชักชวนคนดูให้ดำดิ่งสู่ก้นบึ้งอันดำมืด เพราะแก่นหลักของหนัง คือ การชุบชีวิตจิตวิญญาณผ่านการเดินป่า

แม้จะพยายามแยกตัวออกห่างจากภาพลักษณ์เดิมๆ แต่ต้องยอมรับว่าบทบาท “ขวัญใจคนอเมริกันของวิทเธอร์สพูนมีส่วนช่วยเหลือ Wild เวอร์ชั่นหนังให้ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น เพราะในเวอร์ชั่นหนังสือ สเตรย์วัย 40 กว่าเป็นคนเล่าเรื่อง มองย้อนกลับไปยังอดีตของตนในวัย 26 ปี ประสบการณ์และปัญญาที่เพิ่มขึ้นตามวัยช่วยให้เธอเป็นคนเล่าเรื่องที่คนดูไม่รู้สึกรำคาญ หรือชิงชัง ซึ่งผลลัพธ์อาจตรงกันข้ามหากหนังสือถูกเขียนเล่าโดยสเตรย์ในวัย 26 ปี แต่เวอร์ชั่นหนังไม่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว เนื่องจากคนเล่าเรื่องและตัวละครถูกขยำรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นเมื่อหนังปราศจากเสียงเล่าของสเตรย์ในวัย 40 การได้วิทเธอร์สพูน นักแสดงที่คนส่วนใหญ่สามารถชื่นชอบได้ไม่ยาก มารับบทบาทจึงช่วยลดระดับแรงสะเทือนของตัวละครได้พอควร

ในรอบสองสามปีที่ผ่านมาอาจมีหนังหลายเรื่องปลดภาระไว้บนบ่าของนักแสดงนำหญิง ไม่ว่าจะเป็น Zero Dark Thirty, The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 หรือ Gravity แต่หนังเหล่านี้ยังมีจุดขายอื่นให้พึ่งพิงได้ ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็กชั่น หรือเทคนิคพิเศษตระการตา แต่สำหรับ Wild นอกเหนือไปจากภาพวิวทิศทัศน์อันงดงามในบางช็อตแล้ว รีส วิทเธอร์สพูน ต้องแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้แต่เพียงผู้เดียว เธอเป็นทั้งจุดขายและเสาหลักทางอารมณ์ของหนัง นั่นยิ่งทำให้งานแสดงอันทรงพลังของเธอยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นอีก

ไม่มีความคิดเห็น: