วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

Short Comment: Boyhood


ถึงแม้จะใช้เวลาในการถ่ายทำนานถึง 12 ปีโดยทีมนักแสดงหลักกลุ่มเดิม ทำให้คนดูเห็นพัฒนาการทางด้านรูปร่างหน้าตาของพวกเขาอย่างเด่นชัด ต่อเนื่อง แต่น่าแปลกตรงที่ Boyhood กลับไม่ได้เน้นย้ำความยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยานดังกล่าว ไม่แม้กระทั่งจะระบุเวลาเป็นตัวหนังสือ แต่ปล่อยให้คนดูรับรู้เอาจากเบาะแสต่างๆ ทั้งบทสนทนา อุปกรณ์ประกอบฉาก และกิจกรรมในยามว่างของเหล่าตัวละคร ตรงกันข้าม มันเป็นหนังที่ค่อนข้าง ถ่อมเนื้อถ่อมตัว” ไม่พยายามโชว์เหนือใดๆ ผ่านมุมกล้องหวือหวา โปรดักชั่นยิ่งใหญ่อลังการ ตัวละครสุดแสนประหลาดล้ำ หรือพล็อตเรื่องอันสลับซับซ้อน แต่เล่าเรื่องราวที่เรียบง่ายของเด็กชายคนหนึ่ง (เอลลาร์ โคลเทรน) และการเติบโตของเขาจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่

ความงดงามของ Boyhood อยู่ตรงที่หนังสามารถจับรายละเอียด อารมณ์ และปฏิกิริยาแบบที่คนธรรมดาทั่วไปมักจะทำในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ โดยไม่เลยเถิดด้วยการแต่งเติมอารมณ์ดรามาเกินกว่าเหตุเหมือนหนังอีกหลายเรื่อง ส่งผลให้ตัวละครของเขาเปี่ยมมิติสมจริง มีชีวิตชีวา และคนดูสามารถ “เข้าถึง” เรื่องราวได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าเราจะไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกันเป๊ะก็ตาม หลายฉาก ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ สร้างอารมณ์ร่วมอย่างได้ผล ไม่ใช่ในแง่รูปธรรม แต่เป็นแก่นนามธรรมของเหตุการณ์ ซึ่งทุกคนล้วนเคยผ่านมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย เช่น ตอนที่เมสันนึกโกรธพ่อ (อีธานฮอว์ค) ที่ขายรถคันเก่าไป ทั้งที่เคยบอกว่าจะยกมันให้กับเขา แต่ตัวพ่อเองกลับจำไม่ได้ว่าเคยให้สัญญาไว้… ฉากนี้ให้อารมณ์เจ็บปวดอยู่ลึกๆ ไม่ใช่เพราะเรานึกโกรธแค้นพ่อเมสันที่ผิดสัญญา (เราตระหนักดีว่าเขาจำเป็นต้องขายรถ “โสดคันนั้นเพื่อมาซื้อรถ ครอบครัวคันใหม่)  แต่เพราะมันสะท้อนให้เห็นสัจธรรมว่าบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกับเรา จนเราสามารถจดจำได้ไม่มีวันลืมแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี อาจเป็นแค่สิ่งสามัญ ไร้ความสลักสำคัญใดๆ สำหรับอีกฝ่าย (#ความรักก็เช่นกัน) นี่ไม่ใช่ความผิดใคร หากแต่เป็นธรรมชาติแห่งมนุษย์ ซึ่งจัดเรียงความสำคัญต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป ส่งผลให้พวกเขามีความทรงจำต่อเหตุการณ์เดียวกันแตกต่างกันไปด้วย

ลิงค์เลเตอร์ตอกย้ำประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในฉากที่แม่เมสัน (แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์) เจออดีตช่างปะปาที่ได้ดิบได้ดีกลายเป็นผู้จัดการร้านอาหาร เช่นเดียวกัน สำหรับแม่เมสัน คำพูดในวันนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าจดใจใดๆ แต่สำหรับช่างปะปา มันเปลี่ยนชีวิตเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ น่าสนใจว่าทั้งสองฉากมีแก่นเดียวกัน แต่สุดท้ายกลับให้อารมณ์ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ฉากแรกเจือความเศร้า หดหู่ ส่วนฉากหลังกลับเต็มไปด้วยอารมณ์ประหลาดใจในความมหัศจรรย์ของชีวิต

การนั่งดู Boyhood ย่อมกระตุ้นอารมณ์ถวิลหาอดีตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จากประสบการณ์ร่วมของการ ก้าวข้ามช่วงชีวิตซึ่งทุกคนต่างเคยประสบพบเจอ และในเวลาเดียวกันมันก็สะท้อนให้เห็นการไหลผ่านของกาลเวลา ที่ไม่อาจเรียกคืนดุจเดียวกับกระแสน้ำ หรือก้อนเมฆบนท้องฟ้า หลากหลายเหตุการณ์และผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราล้วนมีส่วนหล่อหลอม สร้าง ตัวตนของเราในปัจจุบัน ดุจเดียวกับตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ประกอบกันเป็นภาพรวม หรืออัลบั้มรวมเพลง The Beatles ของพ่อเมสันซึ่งช่วยนิยามความเป็น The Beatles ได้อย่างชัดเจนเมื่อฟังครบทั้งหมด บางเหตุการณ์อาจยังสุกสว่างในความทรงจำ ขณะที่บางเหตุการณ์กลับพร่าเลือนจนไม่เหลือเค้าราง บางคนอาจผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไป ขณะที่บางคนยังยืนอยู่เคียงข้างไม่ห่างหาย ด้วยเหตุนี้เองในฉากสุดท้ายของหนังลิงค์เลเตอร์จึงบอกกล่าวเป็นนัยว่า เราทุกคนควรพยายามเก็บเกี่ยวทุกนาทีแห่งปัจจุบันเอาไว้อย่างเต็มที่ เพราะมันจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีก 

ไม่มีความคิดเห็น: