วันอาทิตย์, มีนาคม 01, 2558

หนังแห่งความประทับใจ


Boyhood: รู้มาว่า ลูกสาว ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ เคยอยากให้พ่อฆ่าตัวละครที่เธอเล่น เพราะไม่อยากมาถ่ายหนังเรื่องนี้ทุกปีแล้ว แต่ลิงค์เลเตอร์ปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่ปรารถนาให้หนังมีจุดผกผันรุนแรง มีดรามา หรือการเปลี่ยนเส้นเรื่องกะทันหัน ทั้งนี้เนื่องจากหนังเป็นการเฉลิมฉลองความธรรมดาสามัญ สิ่งเรียบง่ายในชีวิตประจำวันประจำวัน ซึ่งทุกคนสามารถเข้าถึง สัมผัสได้ และมีอารมณ์ร่วม ความพิเศษ มหัศจรรย์ ไม่ต้องไปขวนขวายหาเอาจากไหน แต่เก็บเกี่ยวได้จากสิ่งรอบๆ ตัวเรา   

Gone Girl: ผัวเมียละเหี่ยใจ ดูจบแล้วก็รู้สึกว่าบางทีการอยู่เป็นโสดตัวคนเดียวมันก็ดีเหมือนกันแฮะ ไม่ประหลาดใจที่ส่วนของการสืบสวนสอบสวนดูสนุก น่าติดตามมากตามมาตรฐาน เดวิด ฟินเชอร์ แต่แปลกใจอยู่บ้างตรงอารมณ์ขันร้ายๆ และการถากถางสื่อมวลชนอย่างเจ็บแสบ ซึ่งส่วนนี้น่าจะยกเป็นเครดิตของ จิลเลียน ฟลินน์ คนเขียนบทซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายของเธอเอง ไม่มากก็น้อย

Her: บางทีสิ่งเดียวที่เราต้องการคือความรู้สึกเชื่อมโยงกับใครสักคน

Under the Skin: หนังมีงานด้านภาพอันน่าพิศวงและชวนค้นหาพอๆ กับการวิเคราะห์ถึงแก่นแห่งความเป็นมนุษย์

Whiplash: เป็นขั้วตรงข้ามของหนังเรื่อง Boyhood เพราะตัวละครในหนังเรื่องนี้ต่างตั้งหน้าตั้งตาแสวงหาความเป็นหนึ่ง ความพิเศษเหนือใคร โดยไม่สนใจว่ามันจะทำร้ายคนอื่น หรือทำร้ายตัวเองมากแค่ไหน เพราะสำหรับพวกเขาความธรรมดาสามัญเป็นเรื่องน่าเศร้า และชวนให้หดหู่ สิ้นหวัง เราอาจไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของตัวละคร แต่ก็สามารถเข้าใจและเข้าถึงได้ ขณะเดียวกันก็เชื่ออยู่ลึกๆ ว่าสุดท้ายแล้วสองคนนี้คงไม่มีวันตายดีอย่างแน่นอน

นักแสดงชาย

เจค จิลเลนฮาล (Enemy): เนียนมาก ลึกมาก รู้สึกแบบเดียวกับ วีโก มอร์เทนเซน ใน A History of Violence เลย คือ ดูรอบแรกก็ไม่ได้ติดใจอะไรมาก แต่พอดูรอบสองแล้วเห็นรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จากความประณีตในทักษะ

ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Wolf of Wall Street): เล่นได้เหมือนเมายาบ้า ซึ่งเข้ากันได้ดีกับตัวละครและประเด็นของหนังมาก ฉากคลานขึ้นรถในสภาพพิกลพิการนี่ฮากลิ้งจนไม่น่าเชื่อว่าจะได้เห็นอะไรแบบนี้ในหนังที่กำกับโดย มาร์ติน สกอร์เซซี่

คริส แพร็ท (Guardians of the Galaxy): จู่ๆ ก็ราศีพระเอกจับอย่างไม่น่าเชื่อ

แชนนิง ตาตัม (22 Jump Street): คงไม่มีใครเล่นเป็นคนหล่อแต่โง่ได้น่ารักเท่าเขาอีกแล้ว

จิรายุ ละอองมณี (ตุ๊กแกรักแป้งมาก): ฉากคุยโทรศัพท์นี่ตัดเป็นคลิปในงานประกาศรางวัลได้สบายๆ แต่ชอบตรงที่น้องเก้าแม่นในเรื่องการตีความตัวละครแม้กระทั่งในฉากที่ไม่ต้องสำแดงพลัง หรือปล่อยแสงใดๆ เช่น ฉากเล่นน้ำวันสงกรานต์ เป็นต้น ความทื่อมะลื่อของตัวละครมันกลายเป็นเสน่ห์อย่างน่าประหลาด

นักแสดงหญิง

เอ็มมา ธอมป์สัน (Saving Mr. Banks): รู้สึกว่ามีนักแสดงแค่ไม่กี่คนหรอกที่สามารถจะยกระดับหนังให้ดีขึ้นได้ และ เอ็มมา ธอมป์สัน ก็คือหนึ่งในนั้น

โรส เบิร์น (Bad Neighbours): ตอนดู Bridemaids ก็เริ่มสัมผัสได้ถึงพลังบางอย่าง แต่พอมาเรื่องนี้ก็สรุปได้ทันทีว่าอีนี่มันติงต๊องขนานแท้ อย่าขายสวยอีกเลย หันมาเอาดีกับบทบ้าๆ บอๆ แบบนี้แหละเหมาะแล้ว

คีรา ไนท์ลีย์ (Begin Again): งานขายเสน่ห์แบบจัดเต็ม เธอเป็นผู้หญิงที่สวมกางเกงแล้วเท่ เก๋ ดูดีมีสไตล์ไม่แพ้ แอนนี่ ฮอล เลยทีเดียว

เอซซี เดวิส (The Babadook): ถ้าจะมีใครสักคนสามารถข่มขู่ผีให้เชื่อฟังได้ก็คงเป็นหล่อนนี่แหละ และถ้าใครอยากรู้ว่าตัวละครที่ยืนอยู่บนเส้นบางๆ ระหว่างความมีสติกับความเสียสติเป็นยังไง ก็ให้หาหนังเรื่องนี้มาดู อ้อ ข้อคิดอีกอย่างที่ได้ คือ การไม่มีลูกเป็นลาภอันประเสริฐ

เจนสุดา ปานโต (ภวังค์รัก): งดงาม ล้ำลึก และทรงพลังอย่างมีระดับ ภายใต้มาดดาราที่น่าหมั่นไส้อยู่ในที ประเภทว่างๆ ก็ไปถ่ายแบบ ออกรายการโทรทัศน์ เธอกลับถ่ายทอดความเหนื่อยล้า ท้อแท้ของตัวละครได้อย่างน่าเศร้า อาจไม่อลังการแบบโอเปรา แต่ติดดิน และสัมผัสได้ในความเป็นมนุษย์

ความคิดเห็น

ขอบันทึกแบบสั้นๆ ไว้ตรงนี้ว่าหนังไทยที่ผมชื่นชอบในรอบปีที่ผ่านมา คือ ตุ๊กแกรักแป้งมาก, ภวังค์รัก, สายน้ำติดเชื้อ, Mother, The Master, รักหมดแก้ว และ วังพิกุล 

Birdman: แง่งามในความเขลา


หนึ่งในตำนานกรีกอันเลื่องชื่อ คือ เรื่องราวของอิคารัสที่พยายามจะหลบหนีออกจากเกาะครีตด้วยปีกซึ่งพ่อของเขาสร้างขึ้นจากขนนกและขี้ผึ้ง แต่อารมณ์ยินดีปรีดาผสานกับความหยิ่งผยองส่งผลให้อิคารัสลืมตัว เขาละเลยคำเตือนของพ่อด้วยการบินสูงขึ้นเรื่อยๆ จนอพอลโล สุริยเทพผู้เฝ้ามองเหตุการณ์อยู่ เกิดพิโรธด้วยเห็นว่ามนุษย์กำลังท้าทายเทพเจ้า จึงเร่งแสงอาทิตย์ให้ร้อนขึ้น สุดท้ายเมื่อขี้ผึ้งบนปีกเริ่มละลาย อิคารัสจึงร่วงหล่นลงมาจมน้ำตายในที่สุด ตำนานดังกล่าวถูกนำมาใช้อ้างอิงถึงทั้งในเชิงสัญลักษณ์และเป็นรูปธรรมตรงไปตรงมาในผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู เรื่อง Birdman ซึ่งเปิดตัวด้วยภาพอุกกาบาตกำลังพุ่งตกจากฟากฟ้า หรืออีกนัยหนึ่ง คือ สภาพของอิคารัสหลังบินเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป จากนั้นหนังก็ตัดฉับไปยังภาพ ริกแกน ธอมสัน (ไมเคิล คีตันกำลังนั่งลอยตัวอยู่กลางอากาศในห้องแต่งตัวของโรงละคร ซึ่งเขาวางแผนจะใช้เป็นฉากหลังของการ “คัมแบ็ค” สู่วงการบันเทิง

ริกแกนเคยโด่งดังจากการรับบท “มนุษย์นก” ในหนังแอ็กชั่นบล็อกบัสเตอร์เมื่อหลายปีก่อน ก่อนจะตัดสินใจโบกมือลาแฟรนไชส์เมื่อตระหนักว่าชื่อเสียง รวมถึงเงินทองไม่อาจเติมเต็มจิตวิญญาณแห่งนักแสดงได้ กระนั้นอีโก้ของมนุษย์นก หรือภาพลักษณ์แทนยุคทองอันรุ่งโรจน์ ยังคงตามหลอกหลอนเขาผ่านเสียงสะท้อนในหัว (และบางครั้งก็ปรากฏกายให้เห็นแบบเต็มยศ) คอยย้ำเตือนถึงความยิ่งใหญ่ในอดีต พร้อมเหยียบย่ำ ดูแคลนความพยายามในปัจจุบันด้วยการพลิกบทบาทมากำกับ/นำแสดงละครเวที ที่สร้างจากงานเขียนสุดซีเรียสของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเป็นแรงบันดาลใจให้เขาอยากยึดอาชีพนักแสดง ริกแกนอ้างว่าเขาสร้างละครเรื่องนี้เพื่อหล่อเลี้ยงความเป็นศิลปินในตัว แต่กลับถูกลูกสาว (เอ็มมา สโตน) ตอกกลับว่าเขาเพียงแค่กำลังดิ้นรนอย่างสิ้นหวังเพื่อไม่ให้ถูกลืม เพื่อให้รู้สึกว่าตัวเองยังมี “ความหมาย” อยู่ต่างหาก เพราะสำหรับใครก็ตามที่เคยเป็น “somebody” ย่อมไม่มีอะไรเจ็บปวด และยากจะทำใจยอมรับมากไปกว่าการค่อยๆ กลายสภาพเป็น “nobody”

ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่อง ริกแกนได้คุยเปิดอกกับอดีตภรรยา (เอมี ไรอัน) ถึงประสบการณ์เฉียดตายบนเครื่องบิน โดยความกังวลหลักๆ ของเขาไม่ใช่จุดจบชวนสยดสยองของการพุ่งดิ่งพสุธา หากแต่เป็นบรรดาข่าวพาดหัวในวันรุ่งขึ้น ซึ่งจะพุ่งความสนใจไปยัง จอร์จ คลูนีย์ ที่โดยสารมาบนเครื่องบินลำเดียวกัน (แก๊กนี้น่าจะหยิบยืมมาจากเรื่องเล่าติดตลกของ เทรซี อัลแมน ในงานมอบรางวัล AFI Life Achievement Award แด่ เมอรีล สตรีพ เมื่อปี 2004) หรือพูดอีกอย่าง คือ เขาไม่ปรารถนาจะลงเอยด้วยการเป็นเชิงอรรถเล็กๆ แบบเดียวกับ ฟาร์ราห์ ฟอว์เซ็ท เนื่องจากเธอดันมาเสียชีวิตในวันเดียวกับ ไมเคิล แจ๊คสัน เขาต้องการจะเป็นที่รัก เป็นขวัญใจ เป็นที่ชื่นชอบ ยอมรับของทุกคน ดุจข้อความจาก Late Fragment บทกวีดังของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ซึ่งถูกหยิบมาใส่ไว้ในหนัง (รวมทั้งถูกจารึกลงบนศิลาหน้าหลุมฝังศพของคาร์เวอร์) มันเป็นอาการป่วยที่ยิ่งลุกลาม แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วในยุคแห่งโซเชียลมีเดีย และการต่อสู้ ไล่ล่าเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้นอย่างมืดบอดบ่อยครั้งก็ทำให้ริกแกนผลักไสคนรอบข้างออกห่าง ไม่ว่าจะเป็นลูกสาว อดีตภรรยา หรือหญิงคนรักที่ต้องโกหกว่าตั้งท้องเพื่อเรียกร้องความสนใจจากเขา แค่ฉันไม่ชอบหนังตลกไร้สาระที่คุณเล่นประกบ โกลดี้ ฮอว์น ไม่ได้หมายความว่าฉันหมดรักคุณแล้ว อดีตภรรยาเขากล่าว คุณสับสนความรักกับความชื่นชม

นอกจากจะเป็นหนังล้อเลียนอุตสาหกรรมภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดในขนบเดียวกับ The Player ของ โรเบิร์ต อัลท์แมน แล้ว (การครอบครองตลาดของหนังซูเปอร์ฮีโรและความขัดแย้งระหว่างพาณิชย์กับศิลปะ) Birdman ยังพูดเกี่ยวกับการดิ้นรนของศิลปินในอันที่จะผลิตผลงานจากความคิดสร้างสรรค์ในสไตล์เดียวกับ 8 ½ ของ เฟเดอริโก้ เฟลลีนี อีกด้วย รวมถึงสะท้อนให้เห็นเส้นบางๆ ที่เหล่าศิลปินต้องเดินไต่ระหว่างความจริงกับจินตนาการ อัตวิสัยกับภววิสัย และเหตุผลกับความวิปลาส ละครเรื่อง What We Talk About When We Talk About Love คือ ความพยายามของริกแกนที่จะกลับมา สำคัญอีกครั้ง โดยคราวนี้เขาเลือกจะสร้างตัวตนขึ้นใหม่ ก้าวออกจากโลก (“แห่งการ์ตูนและการวัดคุณค่าผ่านตัวเลขรายได้บนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศ”) ที่เขาคุ้นเคย แล้วบินให้สูงขึ้น (สู่โลกแห่ง ศิลปะที่แท้จริง”) แม้ว่ามันจะหมายถึงการเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไปก็ตาม

การเลือนเส้นแบ่งระหว่างความจริงกับจินตนาการยังกินความถึงการเลือก ไมเคิล คีตัน มารับบทริกแกน เพราะในชีวิตจริงคีตันก็เคยโด่งดังจากหนังเรื่อง Batman และ Batman Returns ช่วงต้นทศวรรษ 1990 ก่อนจะค่อยๆ เฟดตัวออกจากวงการ เขาถือเป็นซูเปอร์ฮีโรรุ่นบุกเบิก ก่อนการมาถึงของ คริสเตียน เบล และ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ นอกจากนี้ สำหรับผู้กำกับที่เชี่ยวชาญการทำหนังดรามาหดหู่ เคร่งเครียด ซึ่งตัวละครมักจะต้องเผชิญหน้ากับความตาย การสูญเสีย และวิกฤติศีลธรรมอย่าง Babel และ 21 Grams หนังอย่าง Birdman ซึ่งเปี่ยมไปด้วยอารมณ์ขันเสียดสี เยาะหยัน จึงถือเป็นการสับรางแบบกะทันหันไม่ต่างจากการที่ริกแกนหันมากำกับละครเวทีจากบทประพันธ์ของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์

ในเวลาเดียวกัน สุนทรียะด้านภาพของหนังเองก็สอดคล้อง กลมกลืนไปกับธีมดังกล่าวด้วยการผสานความสมจริงและเหนือจริงเข้าด้วยกันผ่านการถ่ายทำแบบ long take (หนังซ่อนตะเข็บอย่างแนบเนียนจนทำให้ดูเหมือนว่าไม่มีการตัดภาพเลยตลอดเวลาเกือบ 2 ชั่วโมงพูดอีกนัยหนึ่ง การไม่ตัดภาพหมายถึงการยอมรับในเวลาจริง และอินญาร์ริตูเองก็เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาเลือก long take เพราะในโลกแห่งความเป็นจริงเราทุกคนล้วนต้องดำเนินชีวิตโดยปราศจากการตัดต่อ (เพื่อย่นย่อเวลาและพื้นที่) แต่น่าสนใจตรงที่เรื่องราวใน Birdman หาได้คลี่คลายภายในเวลา 2 ชั่วโมง ตรงกันข้าม เหตุการณ์ทั้งหมดตามท้องเรื่องกินระยะเวลาหลายวัน ดังนั้น long take จึงสามารถสร้างอารมณ์เหนือจริงราวกับกำลังล่องลอยอยู่ในความฝันไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น ในฉากหนึ่งกล้องตามติดตัวละครอย่างต่อเนื่องจากด้านหลังเวที ก่อนเธอจะเดินหายไปจากกรอบภาพ แต่กล้องยังคงเคลื่อนที่อย่างต่อเนื่องไปข้างหน้า จากนั้นตัวละครอีกคนก็ก้าวเข้ามาแทนที่ และเมื่อกล้องเริ่มตามติดเขาไปจนกระทั่งถึงด้านหน้าเวทีโดยไม่มีการตัดภาพ คนดูก็พลันตระหนักว่าเหตุการณ์ในหนังได้ผันผ่านไปเป็นอีกวันหนึ่งแล้วราวกับตัวละครได้เดินทะลุผ่านอุโมงค์แห่งกาลเวลา

มองในแง่การเล่าเรื่อง Birdman ดูจะแบ่งแยกขอบข่ายระหว่างความจริงกับจินตนาการเอาไว้ค่อนข้างชัดเจน (ยกเว้นเพียงฉากจบที่กรุ่นกลิ่นอายสัจนิยมมหัศจรรย์ หรือ magical realism) โดยนำเสนอ อัตวิสัยก่อนด้วยการให้คนดูเห็นริกแกนใช้พลังจิตพังข้าวของในห้องเมื่อเขาอยู่คนเดียวตามลำพัง จากนั้นค่อยโต้กลับด้วย ภววิสัยในเวลาต่อมาเมื่อตัวละครอีกคนเปิดประตูมาเห็นเขาพังข้าวของด้วยมือทั้งสองข้าง หาใช่พลังวิเศษใดๆ เช่นเดียวกับฉากริกแกนบินจากดาดฟ้ามายังประตูหน้าของโรงละคร ซึ่งความมหัศจรรย์ถูกตบท้ายด้วยการให้คนขับแท็กซี่วิ่งตามมาทวงค่าโดยสาร

เช่นเดียวกัน ตลอดทั้งเรื่องคนดูจะเห็นริกแกนหมกมุ่นอยู่กับความคิดของตัวเอง กับการคัมแบ็ค กับละครที่จะทำให้เขากลายเป็นที่ยอมรับอีกครั้ง ก่อนสุดท้ายกลับถูกโลกแห่งความจริงอันโหดร้ายตบหน้าครั้งแล้วครั้งเล่าจากหายนะไม่สิ้นสุดระหว่างรอบพรีวิวทั้งสามครั้ง จากนักวิจารณ์ละครหัวสูงของ นิวยอร์ก ไทมส์ (ลินเซย์ ดันแคน) ที่ยืนกรานจะบดขยี้ละครของเขา และจาก ไมค์ ไชเนอร์ (เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน) นักแสดงฝีมือฉกาจซึ่งไม่ให้ราคา คนดังอย่างริกแกน อีกทั้งยังคิดว่าข้อความของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ ที่ริกแกนใช้เป็นแรงบันดาลใจนั้นคงถูกเขียนขึ้นตอนนักประพันธ์ขี้เหล้ากำลังเมาไม่ได้สติ หาได้มีความหมายยิ่งใหญ่แต่อย่างใด ริกแกนเฝ้าแสวงหาการยอมรับ ตลอดจนเสียงชื่นชมของคนรอบข้าง เขาสำคัญตนว่าเป็นศูนย์กลางแห่งจักรวาล ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วเขาก็ไม่ต่างจากกระดาษชำระหนึ่งแผ่นในม้วนกระดาษที่ยืดยาว ความหวาดกลัวของริกแกนว่าละครเรื่องนี้จะทำให้เขาสูญสิ้นทุกอย่างและเผชิญความอับอายขายหน้าถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปธรรมในฉากที่เขาล็อกตัวเองอยู่นอกโรงละคร และต้องเดินอ้อมไทม์สแควร์ที่ผู้คนเดินกันขวักไขว่ในสภาพกึ่งเปลือยกายเพื่อไปให้ทันร่วมแสดงฉากสุดท้าย

ฉันไม่มีตัวตน ฉันไม่ได้อยู่ตรงนี้ด้วยซ้ำคำพูดสุดท้ายของตัวละครเอกใน What We Talk About When We Talk About Love ก่อนจะระเบิดสมองตัวเองช่วยสรุปการตระหนักรู้ของริกแกนถึงความหมายแท้จริงของข้อความบนกระจกในห้องแต่งตัวเขาที่เขียนว่าa thing is a thing, not what is said of that thing” (แปลคร่าวๆ คือ “สิ่งของย่อมมีความหมายในตัวเอง หาใช่ถูกนิยามโดยผู้ใด”) เขาดำดิ่งไปกับตัวละครโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบใดๆ หรือความเห็นของใครอีกต่อไป แต่สุดท้ายการกระทำอันดูโง่เขลากลับนำมาซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาปรารถนาอย่างคาดไม่ถึง ทั้งคำวิจารณ์เลิศหรูใน นิวยอร์ก ไทมส์ ชื่อเสียง ความสำเร็จ รวมถึงโอกาสสานสัมพันธ์ครั้งใหม่กับลูกสาวและอดีตภรรยา เมื่อริกแกนเรียนรู้ที่จะปล่อยวางความคาดหวัง เขาก็สามารถหลุดพ้นจากเงื้อมเงาแห่งความสำเร็จในอดีต และโบยบินได้อย่างอิสระ

Short Comment: Boyhood


ถึงแม้จะใช้เวลาในการถ่ายทำนานถึง 12 ปีโดยทีมนักแสดงหลักกลุ่มเดิม ทำให้คนดูเห็นพัฒนาการทางด้านรูปร่างหน้าตาของพวกเขาอย่างเด่นชัด ต่อเนื่อง แต่น่าแปลกตรงที่ Boyhood กลับไม่ได้เน้นย้ำความยิ่งใหญ่ ทะเยอทะยานดังกล่าว ไม่แม้กระทั่งจะระบุเวลาเป็นตัวหนังสือ แต่ปล่อยให้คนดูรับรู้เอาจากเบาะแสต่างๆ ทั้งบทสนทนา อุปกรณ์ประกอบฉาก และกิจกรรมในยามว่างของเหล่าตัวละคร ตรงกันข้าม มันเป็นหนังที่ค่อนข้าง ถ่อมเนื้อถ่อมตัว” ไม่พยายามโชว์เหนือใดๆ ผ่านมุมกล้องหวือหวา โปรดักชั่นยิ่งใหญ่อลังการ ตัวละครสุดแสนประหลาดล้ำ หรือพล็อตเรื่องอันสลับซับซ้อน แต่เล่าเรื่องราวที่เรียบง่ายของเด็กชายคนหนึ่ง (เอลลาร์ โคลเทรน) และการเติบโตของเขาจากวัยเด็กไปสู่วัยผู้ใหญ่

ความงดงามของ Boyhood อยู่ตรงที่หนังสามารถจับรายละเอียด อารมณ์ และปฏิกิริยาแบบที่คนธรรมดาทั่วไปมักจะทำในแต่ละสถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ โดยไม่เลยเถิดด้วยการแต่งเติมอารมณ์ดรามาเกินกว่าเหตุเหมือนหนังอีกหลายเรื่อง ส่งผลให้ตัวละครของเขาเปี่ยมมิติสมจริง มีชีวิตชีวา และคนดูสามารถ “เข้าถึง” เรื่องราวได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าเราจะไม่ได้มีประสบการณ์แบบเดียวกันเป๊ะก็ตาม หลายฉาก ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ สร้างอารมณ์ร่วมอย่างได้ผล ไม่ใช่ในแง่รูปธรรม แต่เป็นแก่นนามธรรมของเหตุการณ์ ซึ่งทุกคนล้วนเคยผ่านมาบ้างแล้วไม่มากก็น้อย เช่น ตอนที่เมสันนึกโกรธพ่อ (อีธานฮอว์ค) ที่ขายรถคันเก่าไป ทั้งที่เคยบอกว่าจะยกมันให้กับเขา แต่ตัวพ่อเองกลับจำไม่ได้ว่าเคยให้สัญญาไว้… ฉากนี้ให้อารมณ์เจ็บปวดอยู่ลึกๆ ไม่ใช่เพราะเรานึกโกรธแค้นพ่อเมสันที่ผิดสัญญา (เราตระหนักดีว่าเขาจำเป็นต้องขายรถ “โสดคันนั้นเพื่อมาซื้อรถ ครอบครัวคันใหม่)  แต่เพราะมันสะท้อนให้เห็นสัจธรรมว่าบางสิ่งบางอย่างที่สำคัญกับเรา จนเราสามารถจดจำได้ไม่มีวันลืมแม้เวลาจะผ่านไปหลายปี อาจเป็นแค่สิ่งสามัญ ไร้ความสลักสำคัญใดๆ สำหรับอีกฝ่าย (#ความรักก็เช่นกัน) นี่ไม่ใช่ความผิดใคร หากแต่เป็นธรรมชาติแห่งมนุษย์ ซึ่งจัดเรียงความสำคัญต่อสิ่งต่างๆ แตกต่างกันไป ส่งผลให้พวกเขามีความทรงจำต่อเหตุการณ์เดียวกันแตกต่างกันไปด้วย

ลิงค์เลเตอร์ตอกย้ำประเด็นดังกล่าวอีกครั้งในฉากที่แม่เมสัน (แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์) เจออดีตช่างปะปาที่ได้ดิบได้ดีกลายเป็นผู้จัดการร้านอาหาร เช่นเดียวกัน สำหรับแม่เมสัน คำพูดในวันนั้นอาจไม่ใช่เรื่องน่าจดใจใดๆ แต่สำหรับช่างปะปา มันเปลี่ยนชีวิตเขาจากหน้ามือเป็นหลังมือ น่าสนใจว่าทั้งสองฉากมีแก่นเดียวกัน แต่สุดท้ายกลับให้อารมณ์ตรงข้ามกันอย่างสิ้นเชิง ฉากแรกเจือความเศร้า หดหู่ ส่วนฉากหลังกลับเต็มไปด้วยอารมณ์ประหลาดใจในความมหัศจรรย์ของชีวิต

การนั่งดู Boyhood ย่อมกระตุ้นอารมณ์ถวิลหาอดีตอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง จากประสบการณ์ร่วมของการ ก้าวข้ามช่วงชีวิตซึ่งทุกคนต่างเคยประสบพบเจอ และในเวลาเดียวกันมันก็สะท้อนให้เห็นการไหลผ่านของกาลเวลา ที่ไม่อาจเรียกคืนดุจเดียวกับกระแสน้ำ หรือก้อนเมฆบนท้องฟ้า หลากหลายเหตุการณ์และผู้คนที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราล้วนมีส่วนหล่อหลอม สร้าง ตัวตนของเราในปัจจุบัน ดุจเดียวกับตัวต่อจิ๊กซอว์ที่ประกอบกันเป็นภาพรวม หรืออัลบั้มรวมเพลง The Beatles ของพ่อเมสันซึ่งช่วยนิยามความเป็น The Beatles ได้อย่างชัดเจนเมื่อฟังครบทั้งหมด บางเหตุการณ์อาจยังสุกสว่างในความทรงจำ ขณะที่บางเหตุการณ์กลับพร่าเลือนจนไม่เหลือเค้าราง บางคนอาจผ่านเข้ามาแล้วก็ผ่านเลยไป ขณะที่บางคนยังยืนอยู่เคียงข้างไม่ห่างหาย ด้วยเหตุนี้เองในฉากสุดท้ายของหนังลิงค์เลเตอร์จึงบอกกล่าวเป็นนัยว่า เราทุกคนควรพยายามเก็บเกี่ยวทุกนาทีแห่งปัจจุบันเอาไว้อย่างเต็มที่ เพราะมันจะไม่มีวันหวนคืนกลับมาอีก 

Oscar 2015: Best Supporting Actress


แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ (Boyhood)

ในความนึกคิดของคนส่วนใหญ่ แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์ ดูจะเป็นที่รู้จักในฐานะเซ็กซ์ซิมโบลจากโลกแฟนตาซีของ โทนี สก็อต/ เควนติน ตารันติโน และ เดวิด ลินช์ เวลาพวกผู้ชายพูดถึงเธอ ภาพแรกที่แวบเข้ามาในหัวอย่างเลี่ยงไม่ได้ คือ ภาพเธอสวมบราลายเสือดาว ทาลิปติกสีแดงสดจากหนังเรื่อง True Romance หรือชุดกระโปรงรัดรูปเปิดเผยทรวดทรงอันเย้ายวนจากหนังเรื่อง Lost Highway สำหรับพวกเขา เธอกลายเป็นเพียงภาพจำแห่งอดีตเช่นเดียวกับ มาริลีน มอนโร และ เวโรนิก้า เลค จนกระทั่งการปรากฏตัวขึ้นของ Boyhood หนังที่พิสูจน์ให้เห็นว่านอกจากรูปร่างหน้าตาอันงดงาม โดดเด่นแล้ว อาร์เคตต์ยังเป็นนักแสดงที่เปี่ยมพรสวรรค์และความสามารถอีกด้วย อาจกล่าวได้ว่ามันเป็นความสำเร็จส่วนตัว หลังจากเธอพยายามดิ้นรนอยู่หลายปีด้วยการรับบทที่แตกต่างหลากหลายเพื่อสลัดภาพสาวเซ็กซี่ รวมไปถึงเงื้อมเงาของเหล่าพี่น้องนักแสดงอีกสี่คน

แม้จะถูกคัดเลือกให้ต้องรับบทเซ็กซี่อยู่หลายครั้ง แต่อาร์เคตต์ไม่เคยภูมิใจกับความสวยของตัวเอง ตอนเด็กๆ พ่อแม่อยากให้เธอดัดฟัน แต่เธอปฏิเสธโดยให้เหตุผลว่าเธออยากมีข้อตำหนิ เพราะมันจะช่วยในเรื่องการแสดง อย่างไรก็ตามแม้เวลาจะผ่านไปนานหลายปี แต่ความสวยของเธอยังคงอยู่ ใบหน้าอาจปรากฏร่องรอยแห่งประสบการณ์ แต่ปราศจากการแต่งแต้มโดยแพทย์ศัลยกรรมพลาสติก วิญญาณความเป็นแม่ของอาร์เคตต์เริ่มฉายแววตั้งแต่เล็กๆ ตอนโรเบิร์ต น้องชายเธอถือกำเนิด (20 ปีต่อมาเขาผ่าตัดแปลงเพศเป็นผู้หญิงและใช้ชื่อว่าอเล็กซิส) อาร์เคตต์เที่ยวบอกใครต่อใครว่าเขาเป็น ลูกฉันเอง สัญชาตญาณความเป็นแม่ติดตัวเธอมาตั้งแต่กำเนิด แต่ในเวลาเดียวกันเธอก็แข็งแกร่งพอจะยืนบนลำแข้งตัวเองและมีวิญญาณขบถไม่แพ้ใคร เธอเป็นหนึ่งในไม่กี่คนที่เข้าใจว่าความเป็นแม่ถือเป็นความเข้มแข้ง ไม่ใช่ความอ่อนแอ (เธอตั้งท้องลูกคนแรกตั้งแต่อายุ 20 ปีกับแฟนหนุ่มนักดนตรี พอล รอสซี) แต่ในเวลาเดียวกัน บทคุณแม่ที่อาร์เคตต์เล่นใน Flirting with Disaster, Beyond Rangoon และล่าสุด Boyhood ผลงานการแสดงที่หมดจด ยอดเยี่ยมที่สุดของเธอ ล้วนมีส่วนแตกต่างจากตัวตนจริงของเธอแทบทั้งสิ้น เช่น ตอนที่ลูกชายเธอต้องย้ายออกจากบ้านไปเรียนมหาวิทยาลัย เธอปั้นหน้านิ่งระหว่างขับรถไปส่งเขา ก่อนจะกลับมานอนร้องไห้สองสัปดาห์เต็ม ส่วน โอลิเวียร์ ใน Boyhood โหยหาอิสรภาพมากกว่า ส่วนหนึ่งคงเกิดจากเธอค้นพบชีวิตใหม่ในช่วง 12 ปี อาร์เคตต์อาจมีบุคลิกเข้มแข็งไม่แพ้กัน แต่เธอคงไม่มีปัญหา หากลูกๆ อยากจะอยู่ต่อไปอีกสักพักใหญ่

อาร์เคตต์เปรียบเสมือนหัวใจหลักของ Boyhood ถึงขนาดที่หากปรับเปลี่ยนบทและตัดต่อใหม่สักเล็กน้อย หนังสามารถเปลี่ยนชื่อเป็น Motherhood ได้อย่างไม่ขัดเขิน นอกจากนี้ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ คือหนึ่งในผู้กำกับไม่กี่คนที่ให้ความเคารพเพศหญิงและไม่เห็นความจำเป็นในการสร้างภาพแม่พระให้กับตัวละครของเขา ตรงกันข้าม เขากลับมอบลมหายใจ เลือดเนื้อ จิตวิญญาณ ตลอดจนข้อบกพร่องแห่งมนุษย์ให้เธอจนไม่น่าแปลกใจว่าเหตุใดนักแสดงหญิงงานชุกอย่างอาร์เคตต์ถึงยินดีที่จะเคลียร์ตารางงานให้ว่างอยู่เสมอเพื่อจะร่วมเดินทางไปกับเขาโดยไม่ทอดทิ้งกลางคันตลอดช่วงเวลานาน 12 ปี เช่นเดียวกับเมสัน ซีเนียร์ สามีของเธอ โอลิเวียร์ก็เป็นอีกตัวละครหนึ่งที่ผ่านการเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามเวลาที่ผันผ่านไม่ต่างจากเด็กชายเจ้าของเรื่องราว หนังสะท้อนให้เห็นหลากหลายแง่มุมเกี่ยวกับเธอนอกจากความเป็นแม่ การดิ้นรนผลักดันตัวเองไปสู่ชีวิตที่ดีกว่า การตัดสินใจผิดพลาดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ความยากลำบากในการหาเงินมาจุนเจือครอบครัว และความโกรธขึ้งต่ออดีตสามี ซึ่งต่อมาพัฒนาค่อยๆ พัฒนาไปสู่การให้อภัยและการยอมรับ ความยอดเยี่ยมของอาร์เคตต์อยู่ตรงที่เมื่อหนังดำเนินไปเรื่อยๆ คนดูก็เริ่มเชื่ออย่างสนิทใจว่าเธอคือตัวละครตัวนั้น และฉากเด่นของเธอในตอนท้ายก็ทำให้คนดูพลอยหัวใจสลายไปด้วย เมื่อโอลิเวียร์ต้องส่งลูกชายคนเล็กให้โบยบินออกจากรัง

การทำงานด้วยกันนาน 12 ปีทำให้ทีมนักแสดงและผู้กำกับสนิทสนมกลมเกลียวดุจครอบครัวเดียวกัน พวกเขาต่างผ่านประสบการณ์การมีลูก แต่งงาน และหย่าร้างไปพร้อมๆ กันตลอดช่วงเวลานั้น โดยขณะที่ชีวิตจริงของพวกเขากำลังไหลผ่านอย่างต่อเนื่อง ชีวิตของเหล่าตัวละครก็กำลังรอคอยบทบันทึกหน้าถัดไปว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับพวกเขา อาร์เคตต์ยอมรับว่าตัวละครเหล่านี้เปรียบเสมือนส่วนหนึ่งของชีวิตเธอ ชิ้นส่วนเล็กๆ บางอย่างเกี่ยวกับพวกเขายังคงติดตัวฉันไปเธอกล่าว ถึงแม้ว่าฉันสามารถจะตัดพวกมันทิ้งก็ได้ถ้าต้องการ


ลอรา เดิร์น (Wild)

มันถือเป็นเรื่องน่าเศร้า เมื่อ HBO ยกเลิกซีรีย์ชุด Enlightened ซึ่งเปิดโอกาสให้ ลอรา เดิร์น ใช้พรสวรรค์ทางการแสดงอย่างคุ้มค่าจนกระทั่งคว้ารางวัลลูกโลกทองคำมาครอง แต่ข่าวดีสำหรับนักดูหนัง คือ จุดจบของ Enlightened ส่งผลให้เดิร์นมีเวลาแสดงหนังมากขึ้น และหนึ่งปีหลังซีรีย์ถูกปิดตัว เดิร์นก็ปรากฏตัวให้นักดูหนังได้เห็นหน้าค่าตาบ่อยครั้ง ไม่ว่าจะเป็นบทแม่ของ ไชลีน วู้ดลีย์ ใน The Fault in Our Stars บทผู้หญิงที่ถูกขับไล่ออกจากบ้านของตัวเองใน 99 Homes ไปจนถึงบทที่ทำให้เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งที่ 2 หลังจาก Rambling Rose เมื่อ 23 ปีก่อน นั่นคือ แม่ของ เชอริล สเตรย์ (รีส วิทเธอร์สพูน) ในหนังเรื่อง Wild เธอเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งและกลายเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ผลักดันให้สเตรย์ออกเดินป่าเป็นระยะทาง 1,100 ไมล์

น้ำเสียงที่ให้ความรู้สึกอบอุ่น ปลอบประโลมใจราวกับได้นั่งจิบชารสชาติหอมหวาน และรอยยิ้มที่เปล่งประกายของ ลอรา เดิร์น ทำให้เธอกลายเป็นภาพลักษณ์ของความสุข คุณสมบัติดังกล่าวส่งผลกระทบกับผู้ชมอย่างหนัก เมื่อเราได้เห็นเธอร้องไห้ ในหนังเรื่อง Wild ซึ่งดัดแปลงมาจากเรื่องจริง เชอริลนิยามแม่ตัวเอง บ็อบบี้ ว่าเป็น รักแท้เพียงหนึ่งเดียวของเธอ ในฉากแฟลชแบ็ค คนดูจะเห็นบ็อบบี้ถูกสามีทำร้าย ทนทรมานกับการทำคีโม แต่สุดท้ายก็สามารถก้าวข้ามมันไปได้โดยไม่สูญเสียความสง่างามอันเป็นธรรมชาติของเธอ ลูกสาวแท้ๆ ของ เชอริล สเตรย์ ถูกเลือกให้มารับบทเป็นเชอริลในตอนเด็ก ระหว่างการถ่ายทำเดิร์นกับหนูน้อยบ็อบบี้ (เชอริลตั้งชื่อลูกตามชื่อแม่) เข้าขากันได้ดี สเตรย์เล่าว่าเนื่องจากแม่เธอจากโลกนี้ไปก่อนที่ลูกเธอจะลืมตาขึ้นมาดูโลก เดิร์นจึงกลายเป็นคุณยายเพียงคนเดียวของหนูน้อยบ็อบบี้ พูดถึงเรื่องนี้ทีไรฉันจะพลอยร้องไห้ทุกทีเดิร์นเล่า เชอริลเคยพูดกับฉันว่า รู้มั้ยตอนแม่ตาย ความคิดแวบแรกในหัวฉันคือท่านไม่มีโอกาสจะได้เห็นลูกๆ ของฉัน ตอนนี้ฉันรู้สึกเหมือนกับว่าลูกสาวฉันได้รู้จักคุณยายของเธอผ่านทางคุณ... พอเธอพูดจบฉันก็น้ำตาไหลออกมาเลย ฉันรู้สึกซาบซึ้งใจอย่างมาก

Wild ถ่ายทำในเมืองที่สเตรย์อาศัยอยู่ ด้วยเหตุนี้เจ้าของหนังสือที่ถูกนำมาดัดแปลงเป็นหนังจึงสามารถแวะมาเยี่ยมกองถ่ายได้แทบทุกวัน ลูกๆ ของเดิร์นได้เล่นสนุกกับลูกๆ ของสเตรย์ ส่วนคุณแม่ทั้งสองก็จะนั่งบนพื้นห้องครัวของสเตรย์ เปิดดูรูปเก่าๆ เพื่อขุดคุ้ยความทรงจำเกี่ยวกับบ็อบบี้ ตอนนั้นเองที่เดิร์นตระหนักว่า Wild เป็นหนังที่เล่าถึงเรื่องราวความรักระหว่างเธอกับแม่มากพอๆ กับการค้นหาตัวเองของเชอริล และความพยายามจะสร้างสมดุลให้กับชีวิตด้วยการออกไปเดินป่าพร้อมกับทบทวนถึงอดีตที่ผ่านมา ฉันคิดว่ายังมีเรื่องราวความรักอื่นๆ อีกมากมายนอกเหนือจากความรักระหว่างชายหญิงแบบเทพนิยายนักแสดงสาวใหญ่ผู้โด่งดังจากการร่วมงานกับ เดวิด ลินช์ ในหนังอย่าง Blue Velvet, Wild at Heart และ Inland Empire กล่าว เรื่องราวความรักระหว่างคนเพศเดียวกัน เรื่องราวความรักระหว่างพ่อแม่กับลูก ฉันคิดว่ายังมีอะไรให้เราสำรวจค้นหาอีกมากเกี่ยวกับนิยามของความรัก ฉันตื่นเต้นที่ได้เล่นบทนี้เพราะบ่อยครั้งรักแรก หรือบางทีอาจเป็นรักเดียวของเรา ก็คือ ความรักของแม่กับลูก หรือยายกับหลาน

เดิร์นเองก็เป็นแม่คนเช่นกัน เธอมีลูกทั้งหมดสองคน ได้แก่ ลูกชาย เอลเลอรีย์ และ ลูกสาว จายา ด้วยเหตุนี้เธอจึงสามารถเข้าถึงจิตวิญญาณของตัวละครในหนังบีบน้ำตาแห่งปีสองเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม ใน The Fault in Our Star ฉากที่หนักหน่วงทางอารมณ์ทั้งกับตัวละครและคนดู คือ ภาพแฟลชแบ็คตอนที่แฟรนนีร้องไห้คร่ำครวญข้างเตียงลูกสาวซึ่งกำลังใกล้ตายว่าเธอจะไม่ได้เป็นแม่คนอีกแล้ว ส่วนใน Wild เดิร์นบดขยี้หัวใจคนดูจนแตกสลายจากฉากที่เธอทราบข่าวว่าตัวเองเป็นโรคมะเร็ง อย่างไรก็ตามคุณแม่ในหนังทั้งสองเรื่องหาได้หดหู่ หม่นเศร้าต่อชะตากรรมแต่อย่างใด พวกเธอลุกขึ้นดำเนินชีวิตต่อไปท่ามกลางความมืดมัวแห่งอนาคตข้างหน้า เช่น เมื่อแฟรนนีบอกลูกสาวว่าเธอจะกลับไปเรียนต่อชั้นมหาวิทยาลัยเพื่อจะได้สามารถหางานทำได้หากวันใดลูกสาวของเธอเกิดเสียชีวิตไปจริงๆ และเมื่อบ็อบบี้ร้องรำทำเพลงอย่างมีความสุขระหว่างปรุงอาหาร จนลูกสาวรู้สึกหงุดหงิดว่าทำไมแม่ถึงยังร่าเริงอยู่ได้ทั้งที่ชีวิตเต็มไปด้วยความบัดซบ บ็อบบี้อธิบายว่าการมองโลกในแง่ดีเป็นสิ่งที่เธอเลือกจะทำ และนั่นถือเป็นการตัดสินใจที่จำเป็นอย่างยิ่งเพื่อให้ตัวเองสามารถมีชีวิตอยู่รอดต่อไปได้ การได้เห็นผู้หญิงคนนี้ร้องเพลงอย่างมีความสุขหลังจากทุกสิ่งทุกอย่างที่เธอต้องเผชิญถือแรงบันดาลใจชั้นยอดเดิร์นกล่าว


คีรา ไนท์ลีย์ (The Imitation Game)

หลังจากค้นคว้าหาข้อมูลอยู่พักใหญ่ รวมถึงดูหนังสารคดีหลายเรื่องเกี่ยวกับ โจนส์ คลาร์ค สุดท้าย คีรา ไนท์ลีย์ ก็ได้ข้อสรุปว่าบทหนัง The Imitation Game เบี่ยงเบนจากความเป็นจริงในหลายๆ จุด โดยเฉพาะรายละเอียดเกี่ยวกับการดำรงอยู่ของคลาร์คในทีมถอดรหัสลับนาซีช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และเหตุผลที่เธอตัดสินใจแต่งงานกับ อลัน ทัวริง (เบเนดิกต์ คัมเบอร์แบทช์) นักคณิตศาสตร์ที่ปัจจุบันได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งวิทยาการคอมพิวเตอร์ อย่างไรก็ตาม ไนท์ลีย์ไม่มีปัญหาใดๆ กับการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้นเพื่อการเล่าเรื่องที่ลื่นไหล ตลอดจนเน้นย้ำประเด็นที่ต้องการนำเสนอ มันไม่ใช่สารคดี แต่เป็นหนังดรามา ฉะนั้นเราจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับส่วนดรามามากกว่าการรักษาข้อเท็จจริงให้แม่นยำร้อยเปอร์เซ็นต์เธอกล่าว ก่อนจะเสริมว่า The Imitation Game เป็นหนังเกี่ยวกับการถอดรหัสลับของนาซี ไม่ใช่ประวัติความสัมพันธ์ระหว่างคลาร์คกับอลัน ถ้าคุณจะทำหนังเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับช่วงเวลานั้น หรือเหตุผลที่เขาขอเธอแต่งงาน ฉันคิดว่าเราคงต้องเดินเรื่องอยู่บนข้อเท็จจริงมากกว่านี้ แต่โชคร้ายที่หนังของเรามีเวลาแค่ 2 ชั่วโมงครึ่ง และขอบเขตของเรื่องที่เล่าก็ใหญ่โตกว่าเรื่องความสัมพันธ์ ฉะนั้นเราจำเป็นต้องเลือกหยิบมาเฉพาะส่วนสำคัญ ส่วนที่เป็นแก่นหลักๆ นั่นคือ ในตอนนั้นอลันไม่มีความสัมพันธ์กับผู้ชายคนใด มิตรภาพระหว่างเขากับโจนถือเป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด และเขาก็ขอเธอแต่งงานจริงๆ

มีการสร้างรายละเอียดหลายอย่างเกี่ยวกับคลาร์คขึ้นใหม่เพื่อความสนุก ดึงดูดอารมณ์ผู้ชม และขับเน้นเรื่องราวความขัดแย้งให้โดดเด่นขึ้น ในหนังคลาร์คได้รับเลือกมาร่วมทีมจากการไขปริศนาอักษรไขว้ แต่ในความเป็นจริงเธอมาทำงานอยู่ที่ เบทช์ลีย์ พาร์ค ได้เพราะศาสตราจารย์ในมหาวิทยาลัยอ็อกซ์ฟอร์ดช่วยผลักดัน (แต่รัฐบาลอังกฤษเคยพยายามคัดคนมาร่วมทีมถอดรหัสด้วยการใช้ปริศนาอักษรไขว้เป็นแบบทดสอบจริง) ส่วนพล็อตเกี่ยวกับพ่อแม่คลาร์คคัดค้านการตอบรับงานนี้ของลูกสาวก็เป็นการแต่งเติมเพื่อเพิ่มสีสันเช่นกัน และช่วยขับเน้นแง่มุมเกี่ยวกับสตรีนิยมให้ชัดเจน มันช่วยสะท้อนให้เห็นว่าผู้หญิงยุคนั้นมีทางเลือกไม่มาก และการตัดสินใจของโจนส์ก็ถือเป็นความกล้าในการแหกกฎของสังคม ฉันเป็นผู้หญิงในโลกของผู้ชาย ฉันไม่สามารถทำตัวหยิ่งผยองได้คือ คำตอบของเธอหลังถูกอลันถามว่าทำไมต้องไปตีสนิทและทำดีกับสมาชิกร่วมทีมคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่ชอบขี้หน้าอลันแทบทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้เองคลาร์คในหนังกับคลาร์คตัวจริงจึงค่อนข้างแตกต่างกัน คนหลังมีบุคลิกเคร่งขรึม สุภาพอ่อนโยน ส่วนคนแรกกลับเข้าสังคมเก่ง มีอารมณ์ขัน และไม่เกรงกลัวที่จะเสนอความเห็น

ทันที่ฉันตระหนักว่าบทเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงหลายอย่างเพื่อเหตุผลของการเล่าเรื่องและสร้างอารมณ์ร่วม ฉันจึงลดทอนการค้นคว้าหาข้อมูล แล้ววิเคราะห์ตัวละครเอาจากเบาะแสในบทหนังเป็นหลักนักแสดงสาวที่สร้างชื่อเสียงเป็นครั้งแรกจากหนังเรื่อง Bend It Like Beckham กล่าว คลาร์คในหนังเป็นตัวละครที่เหมาะกับไนท์ลีย์พอดิบพอดี เธอมีเสน่ห์ แต่ขณะเดียวกันก็หัวดื้อและมีวิญญาณขบถผสมผสานอยู่ คุณสมบัติเหล่านี้ปรากฏให้เห็นในบท อลิซาเบธ เบนเน็ตต์ ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจากหนังเรื่อง Pride & Prejudice กระนั้นความเปลี่ยนแปลงเพื่อเน้นย้ำประเด็นเฟมินิสต์หาใช่สิ่งที่คนเขียนบทยุคปัจจุบันคิดค้นขึ้นจากอากาศธาตุ แล้วยัดเยียดลงไปในเรื่องราวแต่อย่างใด พวกเขาจับโจนไปอยู่แผนกภาษาศาสตร์ถึงแม้ว่าเธอจะพูดภาษาอื่นไม่ได้เลยก็ตาม แต่มันเป็นหนทางที่จะช่วยให้เธอได้ค่าจ้างมากขึ้น ฉันคิดว่ามันน่าสนใจตรงที่ทุกวันนี้เราก็ยังประสบพบเห็นปัญญาแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง นั่นคือ การเรียกร้องให้ผู้หญิงได้ค่าจ้างและก้าวหน้าในอาชีพการงานเทียบเท่าเพศชาย หนังดำเนินเหตุการณ์ในทศวรรษ 1940 แต่ตอนนี้เราอยู่ในปี 2014 เห็นได้ชัดว่าสิทธิสตรีพัฒนาไปมากแล้ว แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุด

หนึ่งในความสนุกของ The Imitation Game คือ การแสดงที่เข้าขากันอย่างมากระหว่างไนท์ลีย์กับคัมเบอร์แบทช์ มันไม่น่าประหลาดใจเพราะในชีวิตจริงทั้งสองก็สนิทสนมกันไม่ต่างจากทัวริงกับคลาร์ค หลังจากเคยร่วมงานกันมาก่อนใน Atonement “ระหว่างถ่ายทำเราอาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกันเหมือนครอบครัว มีฉัน, เบน, แพ็ทริค (เคนเนดี้) และโจ (ไรท์)ไนท์ลีย์เล่า ถึงแม้ฉันกับเบนจะเข้าฉากด้วยกันแค่หนึ่งหรือสองครั้งเท่านั้น แต่การต้องอยู่ด้วยกันเป็นเวลาหลายเดือนทำให้เราสนิทสนมกันนับแต่บัดนั้น นอกจาก The Imitation Game แล้ว ไนท์ลีย์ยังมีผลงานแสดงอีกหลายเรื่องในปีนี้ ตั้งแต่หนังเพลงอย่าง Begin Again ไปจนถึงหนังตลกอย่าง Laggies และหนังแอ็กชั่นอย่าง Jack Ryan: Shadow Recruit จากนั้นเธอจะเปิดตัวเป็นครั้งแรกที่บรอดเวย์กับละครเวทีเรื่อง The Children Hour ในเดือนตุลาคม โดยหลังจากข่าวถูกประกาศออกไป ยอดจองตั๋วล่วงหน้าก็พุ่งสูงเป็น 1 ล้านปอนด์ภายในเวลา 4 วัน ฉันรักละครเวทีเธอกล่าว ซึ่งไม่น่าแปลกใจ เมื่อพิจารณาว่าเธอเป็นลูกสาวของนักเขียนบทละคร ชาร์แมน แม็คโดนัลด์ และนักแสดง วิล ไนท์ลีย์ ก่อนความหลงใหลในละครเวทีตั้งแต่วัยเด็กจะนำพาเธอไปสู่โลกแห่งภายนตร์ในที่สุด 


เอ็มมา สโตน (Birdman)

ถึง Birdman จะไม่ได้ถ่ายทำแบบช็อตเดียวจบ (เหมือนหนังอย่าง Russian Ark) แต่อาศัยการตัดภาพที่แนบเนียนจนแทบไม่เห็นรอยต่อ แต่ผู้กำกับชาวเม็กซิกัน อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู ก็จำเป็นต้องถ่ายแบบลองเทคหลายช็อต โดยแต่ละช็อตจะมีความยาวประมาณ 4 นาทีขึ้นไป นั่นถือเป็นเรื่องแปลกตาอย่างยิ่งสำหรับนักดูหนังยุคปัจจุบันที่คุ้นเคยกับการตัดภาพทุกๆ เสี้ยววินาที และแน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักแสดง มันยากมากๆเอ็มมา สโตน กล่าวถึงสไตล์การถ่ายหนังของอินญาร์ริตู ฉันรู้สึกท้องไส้ปั่นป่วนระหว่างนั่งรอเข้าฉาก พลางได้ยินเสียงพูดแว่วมาว่าเทคนี้ต้องออกมายอดเยี่ยมอย่างแน่นอน จากนั้นพอถึงคิว ฉันก็ทำทุกอย่างพังหมดด้วยการเดินเข้าช็อตเร็วเกินไป

หลังปิดกล้อง Birdman สโตนต้องฝึกทักษะบล็อกกิ้งให้แม่นยำขึ้นอีก แถมพ่วงด้วยการร้องเพลงและเต้นรำ เพราะเธอถูกคัดเลือกให้รับบทเป็น แซลลี โบวล์ส แทนที่ มิเชล วิลเลียมส์ ในละครเพลงเรื่อง Cabaret ภายใต้การกำกับของ ร็อบ มาร์แชล และ แซม เมนเดส นักแสดงสาววัย 26 ปีใฝ่ฝันอยากรับบทนี้มาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ ตอนแม่พาเธอไปดู Cabaret เวอร์ชั่นนำแสดงโดย นาตาชา ริชาร์ดสัน ที่บรอดเวย์ มันถือเป็นประสบการณ์เปลี่ยนชีวิตครั้งสำคัญ เธอเล่าว่า ฉันสัมผัสได้ถึงหัวจิตหัวใจของนาตาชา ฉันไม่แน่ใจว่าตัวเองจำเรื่องราวในละครได้มากน้อยแค่ไหน นอกจากความรู้สึกที่ว่าแซลลีไม่ใช่เหยื่อในสายตาของฉัน ฉันไม่ได้สมเพชเธอ แต่กลับนึกชื่นชมความกล้าหาญของเธอนับแต่ได้ดูละครเรื่อง Cabaret สโตนก็ใฝ่ฝันอยากจะเป็นนักแสดงมาตลอด เธอเลือกเรียนโฮมสคูลเพื่อจะได้มีเวลาอุทิศให้กับการเล่นละครในโรงละครท้องถิ่น จากนั้นขณะอายุเพียง 16 ปี เธอตัดสินใจขอย้ายจากบ้านเกิดในสก็อตเดลไปอยู่ลอสแองเจลิสเพื่อทำตามความฝัน (เธอโน้มน้าวพ่อแม่ด้วยการใช้โปรแกรมพาวเวอร์พอยต์)

แม่กลายเป็นเพื่อนที่สนิทที่สุดของสโตนและเป็นคนพาเธอไปตระเวนทดสอบหน้ากล้องจนได้งานแสดงในละครโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง (แรกทีเดียวเธอใช้ชื่อว่า ไรลีย์ สโตน ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น เอ็มมา สโตนในเวลาต่อมา) จากนั้นก็เริ่มขยับขยายไปยังวงการภาพยนตร์ด้วยการเล่นบทสมทบในหนังดังอย่าง Superbad และ Zombieland ส่วนหนังที่ทำให้เธอแจ้งเกิดอย่างแท้จริงในฐานะนักแสดงหญิงที่เก่งกาจและเปี่ยมพลังดารา คือ Easy A จากนั้นชื่อเสียงของเธอก็ไต่ระดับสู่สถานะซูเปอร์สตาร์นับแต่นำแสดงร่วมกับแฟนหนุ่ม แอนดรูว์ การ์ฟิลด์ ในหนังฮิตชุด The Amazing Spider-Man เธอได้ร่วมงานกับผู้กำกับระดับแนวหน้าอย่างอินญาร์ริตู และทำท่าจะกลายเป็นนางเอกเจ้าประจำคนใหม่ของ วู้ดดี้ อัลเลน ต่อจาก สการ์เล็ต โจแฮนสัน ด้วยการเล่นหนังเขาสองเรื่องติดกัน นั่นคือ Magic in the Moonlight กับ Irrational Man ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในปีนี้ เช่นเดียวกับหนังใหม่ของผู้กำกับ คาเมรอน โครว ที่ยังไม่มีชื่อ โดยเธอจะนำแสดงร่วมกับ แบรดลีย์ คูเปอร์ และ ราเชล แม็คอดัมส์

ปีนี้เป็นปีที่สุดยอดจริงๆสโตนกล่าวถึงผลงานสองเรื่องที่เธอกวาดคำชมมาครองอย่างท่วมท้นนั่นคือ Birdman และ Cabaret “ฉันจำได้ว่าเมื่อปีหรือสองปีก่อน ฉันยังนั่งร้องไห้บนโซฟาอยู่เลย ซึ่งไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร ฉันเป็นพวกบ่อน้ำตาตื้น ชอบร้องไห้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ทำงานไม่ได้ดังใจ หรือเสียบทที่อยากเล่นให้กับนักแสดงคนอื่น ชีวิตฉันมักจะขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้แหละ

ใน Birdman สโตนรับบทเป็นลูกสาวของ ไมเคิล คีตัน ที่เพิ่งออกจากสถานบำบัดคนติดยาเสพติดและรู้สึกเหมือนตัวเองมองเห็นโลกได้ชัดเจนมากขึ้น เธอไม่เกรงกลัวที่จะพูดความความคิดในหัวต่อหน้าพ่อ ดูเหมือนสถานบำบัดไม่ได้ทำให้ทัศนคติมองโลกแบบเย้ยหยันของเธอลดน้อยลงแต่อย่างใด เธอไม่ลังเลที่จะโยนความผิด แล้วจิกกัดพ่อด้วยถ้อยคำที่เจ็บแสบ สโตนถ่ายทอดความขมขื่นในใจแซมออกมาได้อย่างยอดเยี่ยม ลุ่มลึก คำพูดถากถางของเธอยืนอยู่บนเส้นแบ่งบางๆ ระหว่างตลกขบขันกับแทงใจดำ เธอมองว่าโครงการสร้างละครของพ่อหาใช่งานศิลปะ หรือการแสดงออกทางด้านความคิดสร้างสรรค์ของศิลปิน แต่เป็นแค่ความพยายามปลุกปลอบอีโก้ เพื่อจะได้รู้สึกว่าตัวเองไม่ใช่อดีตดาราดังที่กำลังตกอับและไม่มีใครจดจำ มีข้อเท็จจริงซ่อนอยู่ในคำพูดของเธอ แต่ขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ามันเป็นการระบายความอัดอั้นส่วนตัว ความไม่พอใจที่สั่งสมมานานเนิ่นนาน ซึ่งตัวละครที่เต็มไปด้วยบาดแผลเช่นกันเท่านั้นที่มองออก ฉากบนหลังคาโรงละครระหว่างเธอกับ เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน แทบจะเรียกได้ว่าเป็นไฮไลท์ของหนังเลยทีเดียว ทั้งจากพลังเคมีอันเปี่ยมล้น และการได้เห็น เอ็มมา สโตน เติบใหญ่ในฐานะนักแสดง จนกล้าจะเดินเข้าสู่ดินแดนที่เธอไม่คุ้นเคย ทุกคนตระหนักดีว่าเธอเชี่ยวชาญจังหวะการปล่อยอารมณ์ขันมากแค่ไหน แต่ใครจะคิดว่าเธอสามารถดูอ่อนโยนและเปราะบางได้มากขนาดนั้น


เมอรีล สตรีพ (Into the Woods)

แม้จะเคยเล่น Mamma Mia มาก่อนในปี 2008 และเคยโชว์ทักษะการร้องเพลงในหนังอีกหลายเรื่องอย่าง A Prairie Home Companion และ Postcards from the Edge แต่ เมอรีล สตรีพ ยอมรับว่าทันทีที่จะได้มาร่วมแสดงใน Into the Woods หนังเพลงที่ดัดแปลงจากละครบรอดเวย์สุดฮิตของ สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ การฝึกฝนเสียงร้องให้พร้อมใช้งานถือเป็นสิ่งจำเป็น บทละครเรื่องนี้ถือเป็นชิ้นส่วนสำคัญในประวัติศาสตร์วงการละครของอเมริกา การได้ร่วมแสดงในเวอร์ชั่นหนัง ได้ร้องบทเพลงเหล่านี้ถือเป็นเกียรติสูงสุด แต่ขณะเดียวกันก็เป็นเรื่องน่าหวาดหวั่นเพราะซอนด์ไฮม์ตั้งมาตรฐานไว้สูง นักแสดงเจ้าของสามรางวัลออสการ์กล่าว

ในหนังสตรีพอาจรับบทเป็นแม่มดชั่วร้าย แต่ใครๆ ต่างก็ทราบกันดีว่าตัวจริงของเธอนั้นเป็นที่เคารพนับถือและเป็นที่รักของคนในวงการอย่างมาก (การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากถึง 19 ครั้งถือเป็นข้อพิสูจน์ชั้นดี นอกเหนือไปจากทักษะการแสดงอันเป็นเลิศของเธอ) ผู้กำกับ ร็อบ มาร์แชล บอกว่าทันทีที่เขาได้สตรีพมานำแสดง การดึงดูดดาราคนอื่นๆ ให้มาร่วมงานด้วยก็ไม่ใช่เรื่องยาก ไม่ว่าจะเป็นคนคุ้นเคยอย่าง เอมิลี บลันท์ ซึ่งเคยร่วมงานกับสตรีพใน The Devil Wears Prada แต่ไม่เคยเล่นหนังเพลงมาก่อน หรือหน้าใหม่อย่าง บิลลี แม็กนุสเซน ซึ่งมีโอกาสฉายแสงบนจอภาพยนตร์เนื่องจากสตรีพเคยดูเขาแสดงในละครชนะรางวัลโทนีเรื่อง Vanya and Sonia and Masha and Spike เมื่อปี 2013 และพยายามล็อบบี้ให้เขาได้บทเจ้าชายของราพันเซล ซึ่งถือเป็นบทเด่นบทแรกของเขาในวงการภาพยนตร์ หลังสร้างชื่อเสียงในวงการละครมานานหลายปี

เจมส์ คอร์เดน ซึ่งรับบทคนทำขนมปังที่อยากมีลูกกับภรรยา (บลันท์) เล่าถึงประสบการณ์ในวันที่สองของการซ้อมนานหนึ่งเดือนเต็มว่าสตรีพเอาจริงเอาจังยิ่งกว่าใครๆ เธอสวมชุดกระโปรงและมีไม้เท้าพร้อมสรรพ แต่จังหวะที่เธอกระโดดขึ้นไปบนโต๊ะ รองเท้าของเธอดันไปเกี่ยวโดนปลายกระโปรง ทำให้เธอเสียหลักและกำลังจะหงายหลังลงบนพื้นหินโดยเอาหัวลงก่อน ตอนนั้นเวลาเหมือนหยุดนิ่งอยู่กับที่ ในใจผมคิดแค่ว่า เรากำลังจะเป็นพยานในฉากการตายของ เมอรีล สตรีพ เหรอเนี่ยจากคำบอกเล่าของคอร์เดน ผู้กำกับ ร็อบ มาแชล ก็ตกใจจนยืนตัวแข็งทื่อเช่นกัน มีเพียงบลันท์ ซึ่งตอนนั้นกำลังตั้งครรภ์ ที่พุ่งตัวไปรับสตรีพได้ทันเวลา ผมจำเหตุการณ์ได้ไม่ลืม และทุกๆ วันถัดมาผมจะคิดว่า เธอคงทุ่มสุดตัวแบบวันนั้นไม่ได้ตลอดการซ้อมหรอก แต่เธอก็ทำได้จริงๆ

การทุ่มเทเพื่องานแสดงที่ได้อารมณ์สมจริงไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับสตรีพ ซึ่งโด่งดังจากหนังหลากหลายที่เธอต้องหัดพูดสำเนียงต่างชาติให้ดูน่าเชื่อถือและทำได้อย่างน่าทึ่งทุกครั้ง ตั้งแต่ Sophie’s Choice ไปจนถึง Out of Africa  และ A Cry in the Dark นอกจากนี้เธอยังท้าทายตัวเองอย่างต่อเนื่องด้วยการเปลี่ยนไปเล่นหนังตลกอย่าง Death Becomes Her หรือหนังแอ็กชั่นอย่าง The River Wild ซึ่งเธอลงทุนฟิตร่างกาย รวมทั้งฝึกทักษะพายเรือล่องแก่งอย่างหนักจนแทบไม่ต้องใช้ตัวแสดงแทนระหว่างถ่ายทำ ในหนังเรื่อง Into the Woods สตรีพรับบทเป็นแม่มดที่ให้สัญญากับคนทำขนมปังว่าจะถอนคำสาปให้เขากับภรรยาสามารถมีลูกได้ หากคนทำขนมปังนำของสี่อย่างมาให้เธอ นั่นคือ วัวสีขาวดุจน้ำนม ผ้าคลุมสีแดงดุจเลือด ผมสีเหลืองอร่ามดุจข้าวโพด และรองเท้าทองคำ ละครเพลงเรื่องนี้เป็นการนำเอานิทานของสองพี่น้องกริมอย่าง หนูน้อยหมวกแดง แจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ ราพันเซล และซินเดอเรลลามายำรวมกัน โดยส่วนใหญ่หาได้สะอาดสดใสเหมือนในเวอร์ชั่นการ์ตูนดิสนีย์ แต่กลับเต็มไปด้วยความโหดร้าย รุนแรง (เช่น แม่เลี้ยงใจร้ายในซินเดอเรลลาลงทุนเฉือนเท้าของลูกสาวเพื่อให้เธอสามารถสวมรองเท้าได้พอดี) สตรีพกล่าวว่าหนังละครเพลงของซอนด์ไฮม์ย้อนกลับไปยังช่วงเวลาที่ เด็กๆ ล่วงรู้ทุกสิ่งเพราะไม่มีการแบ่งแยก ไม่มีการปกป้องเด็กจากข้อเท็จจริง พวกเขาต้องเผชิญชีวิต ความตาย การป่วยไข้เฉกเช่นคนอื่นๆ เพราะโลกมีทั้งด้านที่มืดหม่นและสดใสสนุกสนาน

เมื่อย่างเข้าวัย 65 ปี นักแสดงหลายคนอาจเริ่มคิดที่จะเกษียณตัวเองจากวงการบันเทิง หรือถูกบีบให้ต้องเกษียณเนื่องจากไม่มีบทดีๆ ให้เล่น แต่ไม่ใช่สตรีพ เธอเพิ่งปิดกล้องหนังไปสองเรื่องและกำลังจะเปิดกล้องหนังอีกเรื่อง โดยหนึ่งในนั้นเธอต้องพึ่งพาทักษะการร้องเพลงอีกครั้ง นั่นคือ Ricki and the Flash เกี่ยวกับพนักงานร้านของชำที่ตัดสินใจไล่ตามความฝันของการเป็นดาวเพลงร็อค โดยนอกจากร้องเพลงเองแล้ว คราวนี้สตรีพยังต้องฝึกเล่นกีตาร์อีกด้วย มีอะไรที่ผู้หญิงคนนี้ทำไม่ได้บ้างมั้ย ในหนังเรื่อง Into the Woods ฉากเดียวของสตรีพต้องอาศัยเทคนิคพิเศษด้านภาพเข้าช่วย คือ ตอนที่แม่มดแปลงร่าง นั่นเป็นสิ่งเดียวที่ เมอรีล สตรีพ ทำไม่ได้เอมิลี บลันท์ กล่าว

Oscar 2015: Best Supporting Actor


โรเบิร์ต ดูวัล (The Judge)

ในสายตาของนักดูหนังทั่วไป ดาราใหญ่ของ The Judge คือ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ซูเปอร์สตาร์จากหนังชุดสุดฮิตอย่าง Iron Man แต่ในสายตาของ โรเบิร์ต ดาวนีย์ จูเนียร์ ดาราใหญ่ที่แท้จริงของหนัง คือ โรเบิร์ต ดูวัล นักแสดงอาวุโสจอมขโมยซีนจากหนังคลาสสิกอย่าง The Godfather และ Apocalypse Now ด้วยเหตุนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเมื่อดูวัลเล่าว่าเขาจำซูเปอร์สตาร์หนุ่มใหญ่ไม่ได้ตอนเขาแวะมาทักทายถึงโต๊ะอาหาร “พอเขาเดินกลับไป ภรรยาผมก็พูดขึ้นว่า คุณไม่รู้เหรอว่าคนนั้นใคร นั่น โรเบิร์ต ดาวนีย์!’ ผมรู้สึกผิดมาก หลังจากนั้นผมก็ส่งข้อความไปหาเขาเพื่อบอกว่าผมชอบหนังที่เขาเล่นส่วนดาวนีย์ จูเนียร์เองก็มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Tender Mercies เช่นกัน ทั้งสองเคยร่วมงานกันมาแล้วครั้งหนึ่งในหนังของ โรเบิร์ต อัลท์แมน เรื่อง Gingerbread Man “เขารับบทเป็นตัวละครที่สติไม่ค่อยสมประกอบ อาศัยอยู่ในป่าในเขา ตอนนั้นผมได้นั่งข้างเขาในห้องแต่งหน้า กำลังเตรียมพร้อมจะเข้าฉาก เขาดูน่ากลัวมาก แต่นั่นเป็นเพราะเขายังสวมบทบาทตัวละครนั้นอยู่

ในหนังเรื่อง The Judge โรเบิร์ต ดูวัล รับบทเป็นผู้พิพากษาที่ถูกกล่าวหาว่าฆ่าคนตายโดยเจตนา และต้องจำใจยอมให้ลูกชาย (ดาวนีย์ จูเนียร์) ซึ่งเป็นทนายความชั้นแนวหน้าในเมืองใหญ่ เป็นคนว่าความให้ ถึงแม้ทั้งสองจะไม่ค่อยถูกโฉลกกันเท่าไหร่จากปมปัญหาในอดีต นอกจากจะเป็นหนังในแนวขึ้นโรงขึ้นศาลแล้ว The Judge ยังสำรวจถึงความสัมพันธ์ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างสองพ่อลูก ที่ความยุ่งยากของสถานการณ์เมื่อหลายปีก่อน ตลอดจนอุปนิสัยอันแตกต่างผลักดันให้พวกเขาเริ่มหมางเมินกัน จากนั้นโศกนาฏกรรมและความยุ่งยากก็ดึงพวกเขาให้กลับมาสานความสัมพันธ์อีกครั้ง เรื่องราวดังกล่าวเป็นส่วนที่ดูวัลสามารถเข้าถึงได้จากประสบการณ์ส่วนตัวในอดีต “พ่อผมเป็นทหาร เราจึงไม่ค่อยสนิทกันเท่าไหร่ดูวัลกล่าว แต่ผมจำได้ว่ามีอยู่ครั้งหนึ่งเราเคยสนุกกับการไปล่ากระรอกกับนกกระทาด้วยกัน จากนั้นแม่ผมก็เอาพวกมันไปทำอาหารให้เราทาน มันเป็นยามบ่ายที่อบอุ่นดี

หนังถูกวางตัวให้เป็นหนังหวังกล่องเพื่อพิสูจน์พลังการแสดงของ ดาวนีย์ จูเนียร์ ว่าเขาสามารถเล่นหนังดรามาหนักๆ ได้ยอดเยี่ยมไม่แพ้บท โทนี สตาร์ค แต่แทบทุกคนที่ได้ดูหนังดูเหมือนจะประทับใจงานแสดงของดูวัลกันทั่วหน้า (ซึ่งก็เหมือนชะตากรรมเล่นตลก เพราะเขาเคยตอบปฏิเสธบทนี้ไปแล้วครั้งหนึ่งเนื่องจากเห็นว่าตัวละครเลวร้ายเกินทน ก่อนจะเปลี่ยนใจหันมาตอบตกลงหลังโดนภรรยากับเอเยนต์เกลี้ยกล่อม) จนสุดท้ายนำไปสู่การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ อย่างไรก็ตาม ดูวัลไม่ได้จริงจังกับรางวัล หรือคำวิจารณ์ว่าใครควรหรือไม่ควรจะถูกเสนอชื่อเข้าชิงสักเท่าไหร่เพราะเขาเห็นว่ามันเป็นเรื่องของลางเนื้อชอบลางยา “ต่อให้คุณทำดีแค่ไหนก็ไม่สามารถถูกใจคนทุกคนได้ อย่างน้อยต้องมีสักคนที่ไม่ชอบผลงานคุณ ตอนเราเปิดฉายหนังเรื่อง The Godfather ผมจำได้ไม่ลืมเลยว่าในงานปาร์ตี้เปิดตัวหนัง ผู้กำกับชื่อดังคนหนึ่งเดินสูบซิก้ามาบอกกับผมว่า ‘คุณ, มาร์ลอน (แบรนโด), จิมมี่ (คาน), และอัล (ปาชิโน) ยอดเยี่ยมมาก แต่ตัวหนังผมว่าไม่เท่าไหร่ทั้งที่ตลอดชั่วชีวิตนี้เขาไม่เคยสร้างหนังได้ดีขนาดนั้นเลย

หนึ่งในฉากที่โดดเด่นสุดของ The Judge และงานแสดงของ โรเบิร์ต ดูวัล เป็นตอนที่โรคร้ายบีบบังคับให้ตัวละครของเขาจำต้องยอมลดลดทิฐิและศักดิ์ศรีลง พร้อมกับยอมรับความช่วยเหลือจากลูกชาย มันเป็นฉากที่ไม่ได้ถูกเน้นย้ำเพื่อเค้นอารมณ์ หรือน้ำตาคนดูมากนัก แต่ความหดหู่และหมดสภาพของตัวละครทำให้มันเป็นฉากที่ทำใจรับชมได้อย่างยากลำบากเช่นกัน ผมต้องทำใจอยู่นาน (หัวเราะ) พร้อมกับถามตัวเองว่า เราอยากจะเล่นเป็นคนแก่ที่กลั้นการขับถ่ายไม่อยู่จนอุจจาระรดตัวเองจริงๆ หรือดูวัลกล่าว นักแสดงบางคนอาจยั้งคิดด้วยเหตุผลในแง่ภาพลักษณ์ แต่ผมเป็นพวกประเภทที่ว่าถ้าบทเรียกร้องให้ต้องทำ ต่อให้มันเป็นฉากที่ชวนสังเวชแค่ไหนก็ต้องทำ และทำให้ดีที่สุดด้วย โชคดีที่เราสามารถถ่ายเสร็จภายในเทคหรือสองเทค

นอกจากจะเป็นนักแสดงมากความสามารถแล้ว โรเบิร์ต ดูวัล ยังเป็นผู้กำกับมีฝีมืออีกด้วย ถึงแม้ผลงานส่วนใหญ่ของเขาจะเป็นหนังอินดี้เล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีคนรู้จักเท่าไหร่ แต่บางเรื่องก็สามารถว่ายทวนน้ำมาสู่สายตาของคนหมู่มากได้ เช่น The Apostle หนังที่เขากำกับตัวเองจนได้เข้าชิงออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเมื่อ 16 ปีก่อน และล่าสุดเขาก็เพิ่งปิดกล้องหนังใหม่เรื่อง Wild Horses เกี่ยวกับครอบครัวคาวบอยเท็กซัสที่นำแสดงโดย จอช ฮาร์ทเน็ท กับ เจมส์ ฟรังโก้


อีธาน ฮอว์ค (Boyhood)

บทบาทการแสดงของ อีธาน ฮอว์ค ก้าวข้ามหลากหลายแนวทางภาพยนตร์ เริ่มจากหนังที่สร้างจากบทละครสุดคลาสสิกของเชคสเปียร์ ไปจนถึงหนังแอ็กชั่น หนังไซไฟ หนังตลกเกี่ยวกับคนที่กำลังค้นหาชีวิต และหนังดรามาอาร์ตเฮาส์ที่คนไม่ค่อยรู้จัก เมื่อถูกพิธีกรรายการทอล์คโชว์ โอฟิรา ไอเซนเบิร์ก ถามว่าแฟนหนังมักพูดอะไรเวลาเจอเขาตามท้องถนน ฮอว์คก็เริ่มอธิบาย บางทีก็ขึ้นอยู่กับรูปลักษณ์ของพวกเขาด้วย ผู้หญิงบางคนแค่มองตาผมก็รู้ว่าน่าจะมีโปสเตอร์หนังเรื่อง Reality Bites ติดอยู่บนผนังหอพักตอนเรียนอยู่มหาวิทยาลัย ส่วนผู้ชายที่ชอบ Training Day ก็จะตะโกนทักว่า โย่! เจค!’ (ชื่อตัวละครของเขาในหนัง) จากนั้นก็จะมีกลุ่มเด็กเนิร์ดที่ชื่นชอบ Gattaca (เสียงผู้ชมในรายการปรบมือดังลั่น) นี่ไง! คนกลุ่มนี้แหละ

อีกหนึ่งบทบาทการแสดงที่คนดูน่าจะจดจำ อีธาน ฮอว์ค ไปได้อีกนานแสนนาน คือ บท เมสัน ซีเนียร์ คุณพ่อที่พยายามยึดเหนี่ยววัยเด็กเอาไว้ให้นานที่สุดในหนังเรื่อง Boyhood ซึ่งเป็นการร่วมงานกันครั้งที่ 8 ระหว่างเขากับผู้กำกับ ริชาร์ด ลิงค์เลเตอร์ ริคกับผมรู้สึกว่าโครงการสร้างหนังเรื่องนี้เปิดโอกาสให้เราได้สำรวจความเป็นพ่อฮอว์คเล่า พ่อของเราสองคนต่างก็ทำงานในธุรกิจขายประกันของรัฐเท็กซัส และค้นพบความสุขจากการแต่งงานครั้งที่สองแรกเริ่มเดิมทีหนังเรื่องนี้ใช้ชื่อชั่วคราวว่า The Twelve Year Project เล่าถึงเรื่องราวการเติบใหญ่ของเด็กชายคนหนึ่ง (เอลลา โคลเทรน) จากวัยประถมไปสู่วัยมหาวิทยาลัย โดยภายในช่วงเวลานั้น พ่อของเขา (ฮอว์ค) ก็เติบโตไปพร้อมกันด้วย เริ่มต้นจากชายหนุ่มที่ยังไม่พร้อมจะมีครอบครัวจนต้องลงเอยด้วยการหย่าร้างกับแม่ของเมสัน (แพ็ทริเซีย อาร์เคตต์) ก่อนจะเริ่มละทิ้งความฝันของการเป็นนักดนตรี แล้วหันไปยึดอาชีพที่มั่นคง เป็นหลักแหล่ง แต่งงานใหม่กับหญิงสาวอายุอ่อนกว่า แล้วตัดสินใจขายรถ GTO คันเก่งเพื่อเอาเงินไปซื้อมินิแวน

หนังเรื่องนี้กลายเป็นเหมือน 12 ปีแห่งการทบทวนสิ่งต่างๆ ที่ผมกับริคเรียนรู้เกี่ยวกับการเป็นพ่อคน รวมถึงวัยเด็กที่ผ่านมานักแสดงวัย 43 ปีกล่าว พ่อแม่ผมหย่าร้างกัน และมันเป็นเหตุการณ์ที่ฝังใจผมมาตลอด การรื้อฟื้นความทรงจำเหล่านั้นกลับมาแล้วมองมันใหม่ในแง่ของคนเป็นพ่อเป็นแม่ถือเป็นเรื่องยากลำบากทางจิตใจไม่น้อยปัจจุบันฮอว์คมีลูกทั้งหมด 4 คน สองคนจากการแต่งงานครั้งก่อนกับ อูมา เธอร์แมน (ทั้งสองพบรักกันในกองถ่ายหนังเรื่อง Gattaca) ซึ่งจบลงแบบไม่ค่อยดีนักในปี 2005 จนกลายเป็นข่าวใหญ่ตามหน้าหนังสือพิมพ์แท็บลอยด์ ต่อมาเขาแต่งงานใหม่ในปี 2008 กับไรอัน ที่เคยทำงานเป็นพี่เลี้ยงเด็กให้ฮอว์คกับอูมาอยู่พักหนึ่งก่อนจะเรียนจบมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ทั้งสองมีลูกสาวด้วยกันสองคน ในแง่หนึ่ง การถ่ายหนังเรื่อง Boyhood เปรียบเสมือนการเข้าคอร์สบำบัดจิตสำหรับฮอว์ค พ่อแม่เขาตกหลุมรักกันตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม แม่เขาอายุแค่ 18 ปีตอนคลอดอีธาน ต่อมาอีก 5 ปีทั้งสองก็แยกทางกัน ความดีงามอย่างหนึ่งของการหย่าร้าง คือ มันเปิดโอกาสให้คุณได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นฮอว์คกล่าวด้วยน้ำเสียงจริงจัง ชีวิตไม่ได้สมบูรณ์แบบ และเด็กๆ ที่พ่อแม่แยกทางกันตระหนักความจริงข้อนั้นก่อนใครๆ ผมรู้จักพ่อกับแม่อย่างลึกซึ้งมากกว่าเพื่อนๆ บางคนที่พ่อกับแม่ยังอยู่ด้วยกันเสียอีก

ความเป็นธรรมชาติเหมือนจริงใน Boyhood ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกเหนือไปจากการถ่ายทำเป็นเวลานานถึง 12 ปี ซึ่งบีบให้ทุกอย่างต้องคงระดับไว้อย่างสม่ำเสมอเพื่อความลื่นไหลทางอารมณ์และเรื่องราว (ลิงค์เลเตอร์เลือกจะถ่ายหนังด้วยฟิล์มแทนที่จะใช้กล้องดิจิตอล ซึ่งย่อมแสดงให้เห็นรอยต่อทางเทคโนโลยีชัดเจนกว่า) “การจับแพ็ทริเซียกับผมมาเข้าฉากร่วมกับเด็กๆ ที่ไม่เคยเล่นหนังมาก่อน คนดูจะเห็นรอยต่อถ้าคุณ แสดงมากเกินไปฮอว์คกล่าว ก่อนจะพูดเสริมถึงการได้ร่วมงานกับลิงค์เลเตอร์ตลอดช่วงเวลาหลายปีเริ่มต้นจาก Before Sunrise และเชื่อได้ว่าคงไม่จบลงที่ Boyhood เช่นเดียวกับคู่หูนักแสดง-ผู้กำกับอีกมากมายอย่างเช่น มาร์ติน สกอร์เซซี กับ ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ และ เวส แอนเดอร์สัน กับ บิล เมอร์เรย์ ผมรู้สึกโชคดีที่ได้ทำงานกับริค ความสนุกของการถ่ายหนังด้วยกัน คือ มันเหมือนไม่ใช่การแสดง เส้นแบ่งระหว่างตัวละครกับนักแสดงถูกลบเลือนให้จางหายไป ผมถ่ายทอดเศษเสี้ยวของเรื่องราวส่วนตัวลงไปใน Boyhood เช่นเดียวกับไตรภาค Before ชิ้นหนึ่งพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับความรักโรแมนติก อีกชิ้นพูดถึงประเด็นเกี่ยวกับครอบครัว แต่ริคไม่ได้ขอให้คุณทำงานให้เขาหรอก เขาแค่ขอให้เรามีส่วนร่วมผลลัพธ์ที่ได้ คือ บทภาพยนตร์ซึ่งเต็มไปด้วยความสมจริงและการแสดงที่เป็นธรรมชาติ จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไม Boyhood จึงสามารถเข้าถึงกลุ่มคนได้ทุกเพศ วัย ชนชั้น และเชื้อชาติ


เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน (Birdman)

ไม่ใช่เรื่องแปลกหากจะกล่าวว่าตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เอ็ดเวิร์ด นอร์ตัน สมควรได้บทดีๆ ที่คู่ควรกับพรสวรรค์และท้าทายศักยภาพของเขามากกว่านี้ หลังจากพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับของทุกคนในช่วงปลายทศวรรษ 1990 ว่าเขาคือหนึ่งในนักแสดงมากความสามารถมากที่สุดคนหนึ่งผ่านหนังอย่าง Primal Fear และ American History X ซึ่งล้วนทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ รวมไปถึงผลงานน่าจดจำอื่นๆ อย่าง Fight Club และ The 25th Hour แต่แล้วไม่รู้ว่าจะโทษตัวนอร์ตันเอง หรือฮอลลีวู้ด หรือโชคชะตากลั่นแกล้ง ชื่อเสียงของเขากลับค่อยๆ เฟดลงอย่างต่อเนื่องผ่านผลงานอันไม่น่าจดจำ หรืออย่างน้อยก็ไม่คู่ควรกับพรสวรรค์ของเขาอย่างบทวายร้ายใน The Italian Job ซึ่งเขายอมเล่นเพียงเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกฟ้องร้อง บทมนุษย์ที่กลายร่างเป็นยักษ์ตัวเขียวใน The Incredible Hulk บทตำรวจใน Pride and Glory หรือบทนักมายากลใน The Illusionist บางบทที่กล่าวมาอาจเปิดโอกาสให้เขาฉายแสง และวาดลวดลายอย่างเป็นชิ้นเป็นอันอยู่บ้าง แต่รวมๆ แล้วพวกมันไม่อาจเทียบเคียงกับผลงานในช่วงยุคทองของเขาได้เลย

ในทางตรงกันข้าม เขากลับเริ่มสั่งสมชื่อเสีย(ง)ในฐานะนักแสดงเรื่องมาก ทำงานด้วยยาก และอีโก้จัด จนสุดท้ายก็ค่อยๆ เลือนหายไปจากความทรงจำของคนดูหนัง (ผลงานชิ้นหลังๆ ของเขาอย่าง Down in the Valley, Leaves of Glass และThe Painted Veil ทำเงินรวมกันในอเมริกาไม่เกิน 3 ล้านเหรียญด้วยซ้ำ) แต่ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปหลังจากเขากลายเป็นดาราขาประจำคนใหม่ของ เวส แอนเดอร์สัน จากหนังอย่าง Moonlight Kingdom และ The Grand Budapest Hotel อีกทั้งยังได้รับเลือกโดย อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินญาร์ริตู ให้มารับบท ไมค์ ไชเนอร์ นักแสดงละครเวทีที่เอาจริงเอาจังกับศาสตร์การแสดงยิ่งกว่าใครทั้งหมดในหนังกวาดรางวัลเรื่อง Birdman ทุกครั้งที่ปรากฏกายเข้ามาในเฟรม คนดูไม่อาจคาดเดาได้ว่าเขาจะระเบิดอารมณ์ใด หรือกระทำการใดๆ อันบ้าระห่ำ บุคลิกหลักของเขา คือ ความไม่แน่ไม่นอน เขาเปรียบเสมือนวงล้อรูเล็ตในบ่อนกาสิโน

ผมไม่เคยสนุกกับการถ่ายหนังมากเท่า Birdman มาก่อนนอร์ตันกล่าว มันเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่น่าพอใจสูงสุดในเชิงความคิดสร้างสรรค์ ผมคิดว่าหนังเรื่องนี้กล้าหาญและหาได้ยากยิ่งในยุคปัจจุบัน” ใน Birdman ไมเคิล คีตัน รับบทเป็น ริกแกน ธอมสัน อดีตดาราชื่อดังจากการแสดงเป็นซูเปอร์ฮีโร่ชื่อเบิร์ดแมน เขาพยายามจะเรียกคืนความนับถือของคนในวงการกลับมาด้วยการกำกับและนำแสดงในละครบรอดเวย์เรื่อง What We Talk About When We Talk About Love ดัดแปลงจากหนังสือรวมเรื่องสั้นของ เรย์มอนด์ คาร์เวอร์ แต่ไม่นานก่อนเริ่มเปิดการแสดงไชเนอร์ถูกเรียกตัวกะทันหันให้มาสวมบทแทนนักแสดงคนเดิมที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างการซ้อม เขาเป็นนักแสดงแนวเมธอดที่ดูแคลนหนังซูเปอร์ฮีโร่และปราศจากความนับถือในตัวธอมสันอย่างสิ้นเชิง เขาพยายามจะสอนธอมสันให้รู้จักกับการแสดงที่ แท้จริง เพราะเวทีละครเป็นสถานที่ที่จะกะเทาะเปลือกความจริงได้ชัดเจนที่สุด ในความเห็นของไชเนอร์ ธอมสันอาจเป็นดาราก็จริง แต่เขาไม่ใช่นักแสดง

Birdman เป็นหนังที่พูดถึงอีโก้ อายุที่เพิ่มขึ้น และการปะทะกันของแนวทางการแสดงอันแตกต่าง ขณะเดียวกันการที่หนังถ่ายทำให้ดูเหมือนว่าเรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นภายในช็อตเดียวโดยปราศจากการตัดต่อ ส่งผลให้นักแสดงต้องเป๊ะในเรื่องตำแหน่งบล็อกกิ้ง จังหวะการเคลื่อนไหว รวมไปถึงบทพูดโต้ตอบอันยืดยาว และพวกเขาต้องเคร่งครัดตามแผนที่วางไว้ระหว่างการซ้อม เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว ทุกอย่างจะต้องกลับไปเริ่มนับหนึ่งใหม่ตั้งแต่แรก แต่กระนั้นนอร์ตันบอกว่าหนังก็ใช่จะปราศจากการด้นสดเสียทีเดียว

เมื่อเราจับจังหวะได้ มันก็ไม่ต่างกับการเต้นรำ ท่วงท่าการเคลื่อนไหวอาจซับซ้อน ต้องมีจังหวะจะโคนสอดคล้องกับคนจำนวนมาก แต่พอเริ่มจับทางถูก การแต่งเสริมเติมสีเล็กๆ น้อยๆ ก็สามารถเกิดขึ้นได้เสมอ นั่นถือเป็นความสนุกของการได้ทำงานร่วมกับนักแสดงอย่าง ไมเคิล คีตัน และ แซ็ค แกลิฟินาคิส ซึ่งพลิกแพลงท่วงท่าไปต่างๆ นานาได้ตามจังหวะที่ถูกกำหนดไว้แล้วชนิดที่คุณไม่อาจคาดเดาได้” นักแสดงวัย 45 ปีกล่าว “หนึ่งในฉากที่สนุกที่สุดสำหรับผม คือ ตอนที่ผมกับ ไมเคิล คีตัน ต้องชกกัน มันท้าทายมากเพราะผมต้องห้ามตัวเองไม่ให้หลุดหัวเราะออกมา ขณะเดียวกันมันเป็นช็อตที่กดดันสุดๆ ฉากหนึ่ง เพราะมันเกิดขึ้นหลังจากกล้องติดตามตัวละครมาอย่างยาวนานโดยไม่มีการตัดภาพ คุณจำเป็นจะต้องปล่อยหมัดให้ถูกจังหวะและได้มุมกล้องที่เหมาะสม ถ้าพลาดแม้เพียงเล็กน้อย นั่นหมายความว่าเราต้องโยนทิ้ง 12 นาทีก่อนหน้าทั้งหมด ซึ่งในนั้นอาจมีนักแสดงอีกหลายคนวาดลวดลายเอาไว้อย่างยอดเยี่ยม ความคิดดังกล่าวกระตุ้นความวิตกกังวลได้ไม่น้อยแต่แน่นอนว่าผลลัพธ์อันสนุกสนานที่ปรากฏบนจอถือเป็นกำไรของนักดูหนังล้วนๆ


มาร์ค รัฟฟาโล (Foxcatcher)

ตอนที่หนังทีวีเรื่อง The Normal Heart เข้าฉายท่ามกลางเสียงตอบรับอย่างอบอุ่นจากนักวิจารณ์ รวมถึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลเอ็มมีมากมายหลายสาขา มาร์ค รัฟฟาโล ได้ฝากผลงานแสดงอันน่าประทับใจเอาไว้ในบท เน็ด วีคส์ ชายที่ต้องเฝ้าพยาบาลสามีที่กำลังจะตายด้วยโรคเอดส์และต่อสู้กับความไร้ประสิทธิภาพของภาครัฐหลังโรคร้ายได้คร่าชีวิตชาวเกย์ไปหลายพันคนในช่วงต้นทศวรรษ 1980 ภายใต้ภาพลักษณ์ภายนอกอันเต็มไปด้วยความโกรธขึ้ง รัฟฟาโลถ่ายทอดให้เห็นจุดเปราะบาง ตลอดจนหัวใจอันเปี่ยมเมตตาที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวละครได้อย่างโดดเด่น เสน่ห์ภายใต้ข้อบกพร่องดูจะเป็นของหวานสำหรับรัฟฟาโล นับแต่เขาโด่งดังในชั่วข้ามคืนจากการรับบทชายหนุ่มไม่เอาถ่าน แต่จิตใจงามในหนังเรื่อง You Can Count on Me เมื่อ 14 ปีก่อน ผลงานการแสดงใน The Kids Are All Right ซึ่งทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก และ Begin Again ก็สามารถจัดเข้าหมวดเดียวกันได้

ไม่มีใครคิดว่ารัฟฟาโลจะพุ่งทะยานได้สูงไปกว่า The Normal Heart อีกแล้วในปีนี้ จนกระทั่งได้เห็นเขารับบทเป็นนักมวยปล้ำเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิก เดวิด ชูลท์ซ ในหนังเรื่อง Foxcatcher มันถือเป็นการแสดงศักยภาพของศิลปินที่กำลังยืนอยู่บนจุดสูงสุดในอาชีพ ไม่ว่าจะมองในแง่ทักษะ หรือการค้นลึกถึงจิตวิญญาณตัวละคร สาเหตุหนึ่งที่อดีตนักมวยปล้ำอย่างรัฟฟาโลตอบตกลงรับเล่นหนังเรื่องนี้เพราะมันสะท้อนให้เห็นธรรมชาติอันแท้จริงของกีฬามวยปล้ำแบบที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนบนจอภาพยนตร์ กระนั้นการต้องรับบทเป็นหนุ่มนักกีฬาวัย 33 ปีถือว่าไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับนักแสดงวัย 46 ปี มวยปล้ำเป็นกีฬาสุดโหด มันดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ แล้วยากมากรัฟฟาโลกล่าว นอกจากนี้ ตามท้องเรื่องเดวิดอายุ 33 ปี เขากำลังอยู่ในช่วงพีคทางด้านร่างกาย ส่วนสภาพร่างกายของผมกลับกำลังย่างเข้าสู่วัยถดถอย ความเชื่อผิดๆ ของผมว่าตัวเองยังคงสมบูรณ์ แข็งแรงไม่ต่างจากคนหนุ่มทั่วไปถูกทำลาย และหยามเกียรติอย่างหมดท่าตั้งแต่ช่วงสองสามสัปดาห์แรกของการฝึกซ้อม

Foxcatcher ดัดแปลงจากเรื่องจริงที่ยิ่งกว่านิยาย เกี่ยวกับความสัมพันธ์สุดประหลาดล้ำระหว่างสองพี่น้องนักมวยปล้ำ มาร์ค (แชนนิง ตาตั้ม) และ เดวิด ชูลท์ซ กับเศรษฐีพันล้าน จอห์น ดูปองต์ ซึ่งล่อหลอกพวกเขาให้เข้ามาอยู่ในรัศมีด้วยการสร้าง ทีม ฟ็อกซ์แคทเชอร์สถานฝึกซ้อมและพัฒนานักกีฬาเพื่อเตรียมความพร้อมสู่โอลิมปิกเกมส์ ขึ้นที่อาณาจักรอันหรูหราและโดดเดี่ยวของเขาในรัฐเพนซิลเวเนีย แรกทีเดียวดูปองต์ติดต่อมาร์คให้มาเป็นโค้ชคุมทีม แต่ต่อมาเมื่อมาร์คเริ่มหลงใหลฟุ้งเฟ้อไปกับชีวิตไฮโซและยาเสพติด เขาจึงเปลี่ยนมาใช้งานเดวิด ไม่นานสิ่งที่เคยดูเหมือนการทดลองสุดพิลึกก็เริ่มบิดเบี้ยวกลายเป็นความหมกมุ่น และลุกลามสู่ความรุนแรงอันคาดไม่ถึง

จมูกปลอมและหน้าตาที่เปลี่ยนไปของ สตีฟ คาร์เรล อาจถูกกล่าวขวัญถึงอย่างแพร่หลาย แต่ความจริงแล้ว มาร์ค รัฟฟาโล เองก็ต้องแปลงโฉมจนคนดูแทบจำไม่ได้เช่นกัน เส้นผมหยักศกดกหนาซึ่งเป็นเครื่องหมายการค้าของเขาถูกแทนที่ด้วยหน้าผากเถิกกว้างใกล้เคียงกับเดวิดตัวจริง ขณะเดียวกันท่วงท่าการเดินเหินของเขาก็เปลี่ยนไปด้วย คนชอบเรียกเขาว่า ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์รัฟฟาโลกล่าวถึงนักมวยปล้ำที่เขาสวมบทบาท และท่าเดินอันเป็นเอกลักษณ์ด้วยการแนบศอกสองข้างติดกับลำตัว แล้วแกว่งมือไปมา มันเป็นท่าเดินที่แปลกประหลาด ดูไม่เป็นธรรมชาติ ไม่สง่างาม และไม่น่าเกรงขาม แต่มันช่วยให้ผมเข้าถึงตัวละครได้มากขึ้น ท่าเดินดังกล่าวพิสูจน์ให้เห็นว่าเดวิดมีความพิเศษแตกต่างจากคนธรรมดาทั่วไปรัฟฟาโลยอมรับว่ายิ่งอายุมากขึ้นเขาก็ยิ่งให้ความสนใจกับลักษณะทางกายภาพของตัวละคร เพราะหลายครั้งมันคือกุญแจที่จะไขสู่แก่นแห่งตัวละคร ถ้าคุณจับ เน็ด วีคส์ มายืนคู่กับ เดวิด ชูลท์ซ คุณจะพบมนุษย์สองคนที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงและเพื่อให้เข้าถึงความสมจริงของการรับบทเป็นนักมวยปล้ำ รัฟฟาโลต้องเข้าค่ายฝึกซ้อมร่างกายร่วมกับตาตั้มเป็นเวลานานถึงเจ็ดเดือน ความยากของกีฬามวยปล้ำและความแม่นยำของเบนเน็ต (มิลเลอร์) ในการขุดถึงรากลึกของตัวละครผลักดันให้ผมกับแชนนิงยิ่งพยายามมากขึ้น เราสองคนสนิทสนมกันไม่ต่างจากพี่กับน้อง

การเตรียมร่างกายดังกล่าวให้ผลลัพธ์อันน่าทึ่งในท้ายที่สุด เมื่อพวกเขาต้องเข้าฉากในช่วงท้ายของการถ่ายทำ แต่ในหนังเป็นฉากเปิดเรื่อง นั่นคือ ฉากที่เดวิดกับมาร์คฝึกซ้อมกันอย่างเงียบๆ ในโรงยิมโดยแทบจะปราศจากบทสนทนา มันกลายเป็นฉากน่าจดจำสูงสุดเพราะมันแสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องพูดออกมา แต่สามารถรู้สึกได้จากภาษาท่าทางของตัวละครทั้งสอง ขณะพวกเขาพุ่งเข้าใส่กัน ม้วนตัวกอดรัด หมุนวนไปมา ความขัดแย้ง โกรธขึ้ง การพึ่งพิง และการช่วยเหลือประคับประคองในความสัมพันธ์ของสองพี่น้องค่อยๆ ก็ถูกเปิดเผยออกมาต่อหน้าต่อตาคนดู ในเวอร์ชั่นดั้งเดิม บทจะมีฉากอธิบายความสัมพันธ์ของสองพี่น้องมากถึง 30 หน้า แต่มหัศจรรย์ของงานแสดง ซึ่งต้องอาศัยทักษะทางร่างกายมากพอๆ กับ อินเนอร์ได้ทำให้ 30 หน้าดังกล่าวกลายเป็นสิ่งไม่จำเป็น


เจ.เค. ซิมมอนส์ (Whiplash)

ความโกรธแค้น หรืออัดอั้นตันใจใดๆ ที่เคยมีอยู่ภายในตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันได้ถูก เจ.เค. ซิมมอนส์ กลั่นกรอง รวบรวม และปล่อยให้มันระเบิดออกมาแบบไม่ยั้งผ่านบทวาทยกรจอมซาดิสต์ ที่ชื่นชอบการตะคอก ข่มขู่ และดุด่าเหล่านักดนตรีแจ๊สมือใหม่จนขวัญกระเจิงและบ้างก็ถึงขั้นต่อมน้ำตาแตกในหนังเรื่อง Whiplash ผลงานสร้างแรงบันดาลใจในสไตล์ ครูครับ เราจะสู้เพื่อฝันแต่เป็นเวอร์ชั่นฝันร้าย

หลังจากรับเล่นแต่บทสมทบเล็กๆ ซึ่งคนส่วนใหญ่อาจหลงๆ ลืมๆ กันไป เช่น บก.หนังสือพิมพ์จอมโหวกเหวกโวยวายในหนังชุด Spider-Man ของ แซม ไรมี ในที่สุด บท เทอร์เรนซ์ เฟลทเชอร์ ในหนังเรื่องนี้ก็ทำให้ซิมมอนส์กลายเป็นที่จดจำและหวาดผวาในหมู่นักดูหนังแล้ว ที่สำคัญ มันยังช่วยผลักดันให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกอีกด้วย แต่ถึงแม้จะสวมบทคุณครูจากนรกได้อย่างสมจริงจนชวนให้ขนหัวลุก ในชีวิตจริง ซิมมอนส์กลับมีความใกล้เคียงบทคุณพ่อใจดี เปี่ยมเมตตาแบบที่คนดูเคยคุ้นเคยจากหนังเรื่อง Juno ของ เจสัน ไรท์แมน มากกว่า (ไรท์แมนถือเป็นผู้กำกับคู่บุญของเขาก็ว่าได้ ทั้งสองร่วมงานกันในหนังขนาดยาวทุกเรื่องที่ไรท์แมนกำกับ โดยในYoung Adult เขาโผล่มาช่วยพากย์เสียงเป็นบรรณาธิการของ ชาลิซ เธรอน)

โจนาธาน คิมเบิล ซิมมอนส์ (เขาเปลี่ยนชื่อเป็น เจ.เค. เมื่อผันตัวมาทำงานในวงการหนัง “ก่อนหน้าคุณโรวลิงจะเริ่มเขียนนิยายชุด Harry Potter” เขากล่าว) เติบโตในเมืองดีทรอยท์ พ่อของเขาทำงานเป็นครูสอนดนตรีในมหาวิทยาลัย จึงมีเวลาให้ครอบครัวมากกว่าพ่อคนอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในโรงงานรถยนต์ เมื่อย่างเข้าสู่วัยรุ่นซิมมอนส์ก็ย้ายไปเรียนชั้นมัธยมปลายที่รัฐโอไฮโอ และเข้าร่วมทีมฟุตบอลก่อนอาการบาดเจ็บที่เข่าจะบีบให้เขาต้องเลิกเล่น ผมผันตัวเองจากนักกีฬาไปเป็นฮิปปี้” นักแสดงวัย 59 ปีเล่าถึงอดีตวัยหนุ่ม “แล้วหมดเวลาไปกับการนั่งฟังเพลงของ จิมมี เฮนดริกซ์ กับ เจนิส จอปลิน ในป่าสนกับเหล่าฮิปปี้คนอื่นๆ

อาชีพการแสดงของซิมมอนส์ขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต่างจากชีวิตวัยหนุ่ม เขาเริ่มต้นด้วยการเล่นละครเพลงบรอดเวย์ ก่อนจะย้ายไปลงหลักปักฐานด้วยการเล่นละครทีวี สร้างชื่อเสียงจากการเล่นเป็นนักจิตวิทยาขี้ระแวงในซีรีย์ชุด Law & Order ตามมาด้วยบทนักข่มขืนชวนสะพรึงในซีรีย์เกี่ยวกับคนคุกของ HBO เรื่อง Oz ในทางตรงกันข้าม บทที่เขาได้รับในภาพยนตร์ส่วนใหญ่กลับเป็นบทผู้ชายสบายๆ ไม่จริงจัง อาจกล่าวได้ว่าบทครูเฟลทเชอร์ถือเป็นบทแรกในรอบหลายปีที่เปิดโอกาสให้ซิมมอนส์ได้สำรวจอีกด้านในตัวเขาที่ถูกหลงลืมไป นั่นคือ นักกีฬาฟุตบอล โดยคราวนี้เขาต้องสวมวิญญาณเป็นโค้ชสุดโหดที่คอยตะโกนด่าลูกทีมอยู่ข้างสนามเวลาพวกเขาเล่นไม่ได้ตามมาตรฐานที่เขาตั้งไว้

Whiplash มีโครงเรื่องไม่ต่างจากหนังกีฬาคลาสสิกส่วนใหญ่ การปะทะกันของเด็กหนุ่มที่เปี่ยมพรสวรรค์ (ในหนังรับบทโดย ไมล์ส เทลเลอร์กับมือโปรสุดเคี่ยว โดยคนแรกจะค่อยๆ พัฒนาตัวเองและไต่สถานะอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีราคาที่เขาต้องจ่ายไปกับความทุ่มเทนั้น หนังเปิดตัวได้อย่างสวยหรูในหมู่นักวิจารณ์ และตัวละครที่ได้รับความสนใจอย่างสูง คือ เทอร์เรนซ์ เฟลทเชอร์ ที่ซิมมอนส์สวมวิญญาณได้อย่างสมจริง เขาควบคุมวงดนตรีแจ๊สในลักษณะเดียวกับครูฝึกทหารในหนังอย่าง Full Metal Jacket นักดนตรีคนใดเล่นไม่ได้ดังใจ เขาไม่ลังเลที่จะเขวี้ยงเก้าอี้ใส่ หรือตะโกนด่าด้วยคำหยาบคาย ดูถูกสารพัด เขายืนกรานให้นักดนตรีเล่นเพลงท่อนเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่า บางครั้งเป็นเวลาติดต่อกันหลายชั่วโมง โดยไม่แคร์ว่าพวกเขาจะเหนื่อยล้า หรือท้อแท้แค่ไหน เขาแคร์เฉพาะพรสวรรค์ของพวกเขาเท่านั้น และจะทำทุกอย่างเพื่อให้พวกเขาตระหนักในพรสวรรค์ดังกล่าว

ตรรกะในการคิดของเฟลทเชอร์ คือ คนเราสมัยนี้อ่อนปวกเปียก เราให้กำลังใจง่ายเกินไปและมองการลงโทษเป็นเรื่องเลวร้าย คำสองคำที่ส่งผลเสียสูงสุด คือ คำว่า “ดีแล้วถึงแม้ตัวซิมมอนส์เองจะไม่เห็นด้วยกับปรัชญาดังกล่าวเสียทีเดียว แต่บางครั้งเขาก็พอจะเข้าใจประเด็นที่เฟลทเชอร์ต้องการสื่อ พร้อมกับยกตัวอย่างพ่อแม่นั่งดูลูกเล่นกระดานลื่นด้วยความกระตือรือร้น หรือภาคภมิใจ ทั้งที่ความสำเร็จดังกล่าวเกิดขึ้นจากน้ำพักน้ำแรงของ แรงดึงดูด” ล้วนๆ ไม่ใช่พรสวรรค์วิเศษของเด็กแต่อย่างใด “เด็กรุ่นนี้ได้รับคำชมอย่างสิ้นเปลืองจากพ่อแม่สำหรับความสำเร็จเพียงเล็กน้อย” เขากล่าว “ผมคิดว่ามันไม่เป็นประโยชน์กับเด็กแต่อย่างใด

Oscar 2015: Best Actress


มาริงยง โกติยาร์ด (Two Days, One Night)

สาวโรงงานวัยสามสิบกว่าในเมืองอุตสาหกรรมแห่งหนึ่งของประเทศเบลเยียมพบว่าเธอกลายเป็น ส่วนเกินหลังกลับจากลาป่วยไปนาน เธอมีเวลาสองวันกับอีกหนึ่งคืนในการโน้มน้าวให้เพื่อนร่วมงานส่วนใหญ่จากทั้งหมด 16 คนยอมโหวตสละเงินโบนัสเพื่อให้เธอมีงานทำต่อไป นั่นเป็นสถานการณ์เบื้องต้นในผลงานกำกับเรื่องล่าสุดของสองพี่น้อง ฌอง-ปิแอร์ และ ลุค ดาร์เดนน์ ซึ่งปกตินิยมใช้นักแสดงขาประจำชาวเบลเยี่ยม แต่ครั้งนี้กลับเลือกดาราดังอย่าง มาริยง โกติยาร์ด มารับบทนำ และผลลัพธ์ก็นำไปสู่ความทรงพลังอย่างไม่น่าเชื่อ เมื่อเจ้าของรางวัลออสการ์จาก La Vie En Rose ถูกบีบให้ต้องบากหน้าไปอ้อนวอน หรือตามคำพูดของตัวละครที่โกติยาร์ดรับเล่น คือ “ขอทาน” เหล่านักแสดงซึ่งคนดูหนังส่วนใหญ่ไม่รู้จักคนแล้วคนเล่า โดยไม่อาจแน่ใจได้ว่าจะประสบพบเจอกับการตอบรับแบบใด ความหนักหนาสาหัสของภารกิจดังกล่าวสะท้อนชัดในใบหน้าและแววตาเธอแทบทุกฉาก

ฉันเป็นแฟนพันธุ์แท้เลยล่ะ” โกติยาร์ดกล่าวถึงสองพี่น้องดาร์เดนน์ “ฉันดูหนังของพวกเขาทุกเรื่องและหลงรักทุกเรื่อง พวกเขาเป็นสองนักทำหนังที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ถึงแม้จะเป็นซูเปอร์สตาร์ที่ใครๆ ก็อยากร่วมงานด้วย แต่โกติยาร์ดหวั่นใจว่าชาตินี้สองพี่น้องดาร์เดนน์คงไม่มีวันเลือกเธอไปร่วมแสดง “พวกเขามักจะเลือกนักแสดงชาวเบลเยียม หรือนักแสดงที่มีประสบการณ์ในโลกภาพยนตร์แตกต่างจากฉันโดยสิ้นเชิง” กระนั้นหลังจากได้ดูโกติยาร์ดรับบทหญิงพิการใน Rust and Bone ซึ่งสองพี่น้องดาร์เดนน์ร่วมอำนวยการสร้าง พวกเขาก็มองเห็นอีกด้านของนักแสดงสาว แรกทีเดียวพวกเขามีความตั้งใจจะให้โกติยาร์ดรับบทคุณหมอในหนังเรื่องใหม่ แต่เมื่อโครงการดังกล่าวถูกพับเก็บไป จู่ๆ ตัวละครอย่างซานดร้า ซึ่งพวกเขาเคยคิดเรื่องราวเอาไว้เมื่อสิบปีก่อน ก็แวบเข้ามาในหัว จากนั้นก็ตามมาด้วยขั้นตอนการเขียนบท (ส่วนใหญ่โดยลุคเช่นเคย) เสร็จแล้วพวกเขาก็นำบทไปเสนอกับโกติยาร์ด ซึ่งเธอรีบตอบตกลงโดยไม่ลังเล

สำหรับนักแสดงคนอื่นๆ การต้องร่วมงานกับมาริยงถือเป็นเรื่องชวนประหม่าไม่น้อย” ฌอง-ปิแอร์ กล่าว “แต่เธอทุ่มเทให้กับบทโดยปราศจากอีโก้ เธอปลดเปลื้องตัวละครอย่างหมดเปลือกจนเหลือเพียงแก่นอารมณ์แท้จริงความสำเร็จของการทดลองเลือกดาราดังมาเล่นหนัง ซึ่งเน้นความเป็นธรรมชาติ ความสมจริงขั้นสูงสุด ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการความเต็มใจของโกติยาร์ดที่จะเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับขั้นตอนการฝึกซ้อมบทอันยาวนานห้าสัปดาห์ ซึ่งใกล้เคียงกับการเตรียมตัวเล่นละครเวทีมากกว่าเล่นหนัง แต่นั่นถือเป็นความจำเป็นเนื่องจากสองพี่น้องดาร์เดนน์มักถ่ายหนังแบบลองเทคโดยไม่ตัดต่อ บ่อยครั้งกล้องเหมือนจะเร่งความเร็วเพื่อติดตามตัวละครให้ทัน นอกจากนี้พวกเขาจะถ่ายทำประมาณ 50 ถึง 100 เทคต่อช็อตเพื่อให้มั่นใจว่าคนตัดต่อมีฟุตเตจเพียงพอ “มาริยงบอกว่า ‘อยากให้ฉันทำอะไรก็บอกได้เลยนักแสดงหลายคนชอบพูดแบบนั้น แต่มีแค่ไม่กี่คนหรอกที่สามารถรักษาคำสัญญา มาริยงคือหนึ่งในนั้น เธอทุ่มเทให้กับขบวนการทำหนังของเราอย่างหมดใจ

โกติยาร์ดยอมรับว่าเธอรู้สึกหมดแรงอยู่เหมือนกัน เมื่อสองพี่น้องดาร์เดนน์เรียกร้องให้เธอทำกิจวัตรเรียบง่ายซ้ำไปซ้ำมาหลายๆ รอบ เช่น ลุกจากเตียง แล้วจู่ๆ ก็ร้องไห้ระหว่างหยิบรองเท้าข้างขวามาสวม บทหนังไม่ได้อธิบายชัดเจนถึงสาเหตุแห่งอาการซึมเศร้าของซานดร้า ฉะนั้นนาทีที่ความหดหู่พุ่งพรวดเข้าใส่ตัวละครอย่างฉับพลันและปราศจากคำอธิบายจึงถือเป็นฉากสำคัญที่จะทำให้คนดูเข้าใจอีกด้านของตัวละคร ฉันไม่เคยตั้งแง่กับข้อเรียกร้องของพวกเขา ฉันชอบผลงานของพวกเขามาก และฉันรู้ดีว่าการจะเข้าถึงความจริงได้นั้นต้องอาศัยการทุ่มเทอย่างหนัก” โกติยาร์ดกล่าว “พวกเขาเรียกร้องจากนักแสดงค่อนข้างมาก แต่ในเวลาเดียวกันก็ไม่ได้พยายามโน้มน้าวใดๆ ผู้กำกับบางคนถ่าย 50 เทค ทั้งที่รู้ว่าพวกเขามีเทคที่ต้องการแล้ว แต่กับสองพี่น้องดาร์เดนน์ ฉันรู้ว่าถ้าต้องถ่ายเพิ่มอีกเทค พวกเขาย่อมมีเหตุผลเสมอ

ต้องเรียกว่า 2014 เป็นปีทองของโกติยาร์ดอย่างแท้จริง เพราะนอกจากงานแสดงอันลุ่มลึก แต่ทรงพลังในหนังเรื่องนี้แล้ว เธอยังยอดเยี่ยมไม่แพ้กันใน The Immigrant ของ เจมส์ เกรย์ ซึ่งถูกสตูดิโอดองเค็มไว้นานนับปี ก่อนจะนำออกฉายแบบขอไปทีเมื่อช่วงกลางปี ในหนังเรื่องนั้นเธอรับบทเป็นสาวชาวโปแลนด์ที่เดินทางมายังอเมริกาพร้อมความฝันอันยิ่งใหญ่ แต่สุดท้ายกลับถูกล่อหลอกให้ไปค้าประเวณี สำหรับนักแสดงบางคน การรับบทตัวละครที่กำลังสิ้นหวัง จนตรอก หรือซึมเศร้าติดๆ กันอาจสั่งสมเป็นความเครียด หรือปัญญาทางจิต แต่ไม่ใช่โกติยาร์ด ตรงกันข้าม ประสบการณ์ดังกล่าวกลับช่วยฟื้นฟูจิตใจเธอย่างน่าประหลาด “ซานดร้าเป็นตัวละครที่ฉันรู้สึกอินอย่างมาก เธอทำให้ฉันเข้าใจคนที่กำลังประสบภาวะซึมเศร้าได้มากขึ้น” อย่างไรก็ตาม โกติยาร์ดหาได้สนใจแต่หนังดรามาหนักๆ เต็มไปด้วยความมืดหม่นเท่านั้น เพราะผลงานชิ้นถัดไปของเธอ (นอกเหนือจาก Macbeth) คือ การพากย์เสียงให้กับหนังการ์ตูนที่ดัดแปลงจากหนังสือสำหรับเด็กสุดคลาสสิกอย่าง The Little Prince มันน่าจะเป็นหนึ่งในผลงานไม่กี่ชิ้นที่เธอสามารถพาลูกชายตัวน้อยไปนั่งดูด้วยกันได้อย่างสนิทใจ


เฟลิซิตี้ โจนส์ (The Theory of Everything)

ตั้งแต่วันแรกของการถ่ายทำหนังเรื่อง The Theory of Everything เฟลิซิตี้ โจนส์ ก็ต้องเจอกับเซอร์ไพรซ์ครั้งใหญ่ โดยระหว่างที่นักแสดงสาวชาวอังกฤษ ซึ่งตัวจริงค่อนข้างขี้อายและเก็บเนื้อเก็บตัว กำลังเข้าฉากกับ เอ็ดดี้ เรดเมย์น ผู้รับบทเป็น สตีเฟน ฮอว์คิง นักฟิสิกส์ชื่อก้องโลก จู่ๆ สตีเฟน ฮอว์คิง ตัวจริงก็โผล่มาเยี่ยมกองถ่าย เขาเฝ้าสังเกตการณ์อยู่ราวหนึ่งชั่วโมง เอ็ดดี้กับฉันต่างก็ใจจดใจจ่อ อยากรู้ว่าเขาคิดยังไงโจนส์ ผู้รับบทเป็น เจน ไวลด์ ภรรยาของฮอว์คิงที่จิตใจเข้มแข็ง แต่ต้องเผชิญความยากลำบากแสนสาหัสเมื่อเขาป่วยเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง กล่าว จากนั้นผู้ช่วยก็เดินเอาโน้ตจากฮอว์คิงมาพร้อมกับพูดว่า วานเฟลิซิตี้เดินไปจูบเขาหน่อยจะได้ไหมนักแสดงสาววัย 30 ปีโผเข้ากอดนักวิทยาศาสตร์บนรถเข็นด้วยความยินดี ฉันบอกเขาว่าคุณยอดเยี่ยมที่สุดเธอเล่า ทั้งหมดนี้พิสูจน์ให้เห็นว่าเขาเป็นคนขี้เล่น และไม่เอาจริงเอาจังกับชีวิตจนเกินไป ฉันหลงรักเขาเลยล่ะ การได้เจอตัวเป็นๆ ของคนที่คุณศึกษาเรื่องราวมาอย่างละเอียดจนเหมือนสนิทสนมกันมานานเป็นเรื่องชวนให้เกร็งอยู่ไม่น้อย ฉันไม่อยากพูดอะไรโง่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อหน้าคนที่เปลี่ยนโลกในหลายๆ ทางอย่างสตีเฟ

เจน ไวลด์ ตัวจริงกับสามีก็แวะมาเยี่ยมกองถ่ายในวันเดียวกันนั้นด้วย นี่ถือเป็นประสบการณ์ที่สร้างความตึงเครียดให้โจนส์นิดหน่อย ระหว่างที่ฉันกับเอ็ดดี้กำลังแสดงกันอยู่ หางตาข้างหนึ่งของฉันก็เหลือบเห็นเจนกับสามีของเธอ ส่วนหางตาอีกข้างฉันก็เห็นสตีเฟน ถือเป็นหนึ่งในช่วงเวลาที่ฉันรู้สึกประหม่ามากที่สุดในชีวิต พวกเขาเองก็คงรู้สึกแปลกๆ ที่ต้องมายืนมองดูเรารับบทบาทเป็นพวกเขา มันช่างเหนือจริงสุดๆ” The Theory of Everything ดัดแปลงจากบันทึกชีวิตของ เจน ไวลด์ ขณะแต่งงานอยู่กินกับฮอว์คิง โดยหนังติดตามชีวิตของทั้งสองตั้งแต่พบรักกันครั้งแรกที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ไปจนถึงการตรวจพบโรคครั้งแรกตอนฮอว์คิงอายุได้ 21 ปี แวะเฉลิมฉลองความสำเร็จทางด้านวิทยาศาสตร์ของเขา และลงเอยด้วยการแยกทางกันหลังจากเจนพบรักกับชายคนใหม่

โจนส์ได้พูดคุยกับ เจน ไวลด์ หลายครั้งก่อนเปิดกล้องและระหว่างการถ่ายทำ ฉันรู้สึกหวั่นเกรงเธออยู่นิดๆเธอเล่า เพราะฉันคิดว่าเธอเก่งกาจเหนือมนุษย์ เธอเลี้ยงลูก 3 คนตามลำพัง แถมยังคอยดูแลสตีเฟนตลอดช่วงเวลาที่อยู่ด้วยกันนาน 25 ปี ฉันตระหนักว่าเธอมีคุณสมบัติพิเศษไม่เหมือนใคร และอยากจะถ่ายทอดเธอออกมาในฐานะมนุษย์ผู้เต็มเปี่ยมไปด้วยความรัก ความเมตตา แต่ขณะเดียวกันก็ดิ้นรนเพื่อพยายามรักษาตัวตนเอาไว้เพราะเธอก็เก่งกาจทางด้านวิชาการเช่นกัน เธอเสียสละอย่างสูงเพื่อสตีเฟนและเจ็บปวดไม่น้อยเมื่อทั้งสองต้องแยกทางกัน

นับแต่เลิกรากับศิลปิน เอ็ดดี้ ฟอร์นีเลส หลังจากคบหากันมานาน 10 ปี เฟลิซิตี้ โจนส์ ยอมรับว่าเธอทำตัวไม่ถูกเวลาไปออกเดท เมื่อไม่นานมานี้ฉันออกเดทอยู่สองสามครั้งและรู้สึกอึดอัดอย่างบอกไม่ถูกเธอหัวเราะ ฉันไม่อยากลงลึกถึงรายละเอียดหรอกนะ แต่เวลาคนเราประหม่า เรามักจะพูดอะไรไม่ออก ไม่รู้จะคุยอะไรกันดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเป็นคนที่คนรู้สึกดีด้วย ทำไมก็ไม่รู้ มันน่ารำคาญมากเลย แต่ถ้าเป็นคนที่คุณไม่ได้ชอบละก็ คุณจะรู้สึกผ่อนคลายและพูดอะไรฉลาดๆ ออกมาได้ตลอดเวลาเช่นเดียวกับฮอว์คิงกับไวลด์ โจนส์กับฟอร์นีเลสพบรักกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัยอ็อกฟอร์ด ก่อนจะย้ายมาอยู่ด้วยกันในลอนดอน ฉันเคยรักและสูญเสียรักไป มันเป็นความสัมพันธ์ที่ยาวนานและสำคัญต่อฉันมาก โชคร้ายที่เราไปกันไม่รอด แต่ฉันก็ได้เรียนรู้อะไรมากมายจากความสัมพันธ์นั้น

ถึงแม้จะเริ่มต้นอาชีพนักแสดงตั้งแต่อายุ 12 ในหนังทีวีเรื่อง Treasure Seekers ประกบ คีรา ไนท์ลีย์ แต่โจนส์กลับตัดสินใจเลือกเรียนวิชาเอกภาษาอังกฤษที่อ็อกฟอร์ดแทนการเข้าเรียนด้านสาขาการแสดง โดยในหว่างนั้นเธอก็ยังมีผลงานทางโทรทัศน์อย่างต่อเนื่อง ในปี 2011 เธอตอบปฏิเสธบทสโนว์ไวท์ในหนังเรื่อง Mirror, Mirror เพื่อไปเล่นละครเวที และปีเดียวกันนั้นเองก็ได้แจ้งเกิดในวงการภาพยนตร์อย่างเป็นทางการจากหนังอินดี้ทุนต่ำเรื่อง Like Crazy รับบทเป็นสาวอังกฤษที่ได้ลิ้มรสความรักครั้งแรกในลอสแองเจลิส บทดังกล่าวส่งผลให้เธอคว้ารางวัลจากเทศกาลหนังซันแดนซ์มาครอง ไม่ต้องสงสัยว่าผลงานแสดงอันน่าประทับใจของเธอใน The Theory of Everything ทำให้โจนส์ได้รับข้อเสนออีกมากมายจากฮอลลีวู้ด โดยล่าสุดเธอเพิ่งปิดกล้องหนังเขย่าขวัญเรื่อง True Story และกำลังจะถ่ายทำหนังเรื่อง A Monster Calls ร่วมกับ เลียม นีสัน และ ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์


จูลีแอนน์ มัวร์ (Still Alice)

ในช่วงต้นเรื่องของหนังดรามาบีบอารมณ์เรื่อง Still Alice ศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ซึ่งรับบทโดย จูลีแอนน์ มัวร์ อยู่ในสภาพร่างกายที่สมบูรณ์แข็งแรง เธอกำลังวิ่งออกกำลังกายไปรอบๆ มหาวิทยาลัย จนกระทั่งจู่ๆ ก็พลันตระหนักว่าตัวเองกำลังหลงทาง ใบหน้าขาวซีดของเธอสื่อสารการเคลื่อนไหวเพียงเล็กน้อย แต่สัมผัสได้ถึงความรู้สึกตื่นตระหนกซึ่งสูบฉีดตรงไปยังสมองอย่างชัดเจน นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของหายนะที่กำลังจะตามมาสำหรับศาสตราจารย์วัย 50 ปีที่ฉลาดหลักแหลมอย่างอลิซ เมื่อเธอตระหนักว่าตัวเองกำลังป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ และคนดูก็กำลังจะได้ติดตามการเสื่อมถอยอันน่าตื่นตระหนกของเธอในระยะประชิด

Still Alice เป็นหนังอินดี้ทุนต่ำที่ โซนี พิคเจอร์ส คลาสสิก ซื้อมาจัดจำหน่ายในเดือนกันยายน เนื่องจากสตูดิโอมองเห็นโอกาสเข้าชิงออสการ์ของ จูลีแอนน์ มัวร์ “ฉันตื่นเต้นกับหนังเรื่องนี้และการรับบทนี้มาก ฉันไม่เคยเห็นหนังเรื่องไหนนำเสนอโรคอัลไซเมอร์ผ่านมุมมองของคนป่วยมาก่อน” นักแสดงหญิงเจ้าบทบาทผู้เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มาแล้ว 4 ครั้งจาก Boogie Nights, The End of the Affair, The Hours และ Far from Heaven กล่าว “โดยทั่วไปแล้วคุณจะเห็นเรื่องราวทำนองนี้ถูกนำเสนอผ่านมุมมองของคนที่ต้องดูแลผู้ป่วย หรือสมาชิกร่วมครอบครัวเดียวกัน ฉะนั้นการเปลี่ยนมาสะท้อนความรู้สึกนึกคิดผ่านมุมมองของคนป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์จึงถือเป็นเรื่องน่าสนใจ” คนดูจะได้เห็นการเดินทางของเธอจากภายใน ได้รับรู้ รวมทั้งตระหนักถึงความหวาดกลัว สับสน และหม่นเศร้ายิ่งกว่าสามี (อเล็ก บอลด์วิน) หรือลูกสาวของเธอ (คริสเตน สจ๊วตด้วยซ้ำ

มัวร์ขึ้นชื่อเรื่องการค้นข้อมูลและเตรียมความพร้อมอย่างเข้มข้นสำหรับทุกบทบาท ความละเอียดและการทุ่มเทดังกล่าวนำไปสู่บทบาทการแสดงอันน่าเชื่อถือ และบางครั้งก็เหมือนจริงจนชวนให้ขนลุก เช่น เมื่อเธอสวมบทบาทเป็น ซาราห์ เพลิน ในหนังทีวีเรื่อง Game Change ซึ่งทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมมาครองทั้งจากเวทีเอ็มมี่และลูกโลกทองคำ สำหรับหนังเรื่อง Still Alice เธอบอกกับสองผู้กำกับ ริชาร์ด เกลเซอร์ และ วอช เวสต์มอร์แลนด์ ว่าเธอจะไม่นำเสนออาการใดๆ ที่เธอไม่เคยเห็นจากการเฝ้าสำรวจคนไข้ที่ป่วยเป็นโรคอัลไซเมอร์ โดยคนหนึ่งได้แบ่งปันประสบการณ์ชีวิตให้เธอฟัง เธอมีอาชีพการงานใหญ่โต และภาคภูมิใจในสติปัญญาของตัวเอง แต่หลังจากป่วยด้วยโรคนี้ เธอต้องเผชิญความยากลำบากมากมาย รวมทั้งถูกนิยามตัวตนใหม่โดยคนรอบข้าง “ความคิดของการเปิดโอกาสให้คนดูได้รู้จักตัวละครอย่างแท้จริง โดยไม่ตัดสินพวกเขาจากโรคร้ายที่พวกเขาต้องทำให้ฉันรู้สึกซาบซึ้งอย่างมากมัวร์กล่าว

ทันทีที่สองผู้กำกับได้อ่านนิยายเรื่อง Still Alice แน่นอนว่าพวกเขาคิดถึงเพื่อนสนิทอย่าง จูลีแอนน์ มัวร์ เป็นคนแรก เรารู้ว่าเธอจะต้องสามารถถ่ายทอดช่วงเปลี่ยนผ่านอันยากลำบาก ตลอดจนสะท้อนอารมณ์อันหนักหน่วงรุนแรงของตัวละครในช่วงท้ายเรื่องได้อย่างยอดเยี่ยม” เวสต์มอร์แลนด์กล่าว “เรารู้ว่าบทนี้ต้องเป็นเธอเท่านั้น” เช่นเดียวกัน คริสเตน สจ๊วต ซึ่งสนิทสนมกับมัวร์มาตั้งแต่สมัยเข้าวงการใหม่ๆ (เธอนำแสดงในหนังเรื่อง Catch That Kid ซึ่งกำกับโดยสามีของมัวร์) เชื่อว่าไม่มีใครเหมาะกับบทอลิซมากไปกว่ามัวร์ บทอลิซจำเป็นต้องได้นักแสดงที่ยินดีจะด่ำดิ่งลงไปยังก้นบึ้งของอารมณ์ แล้วเผชิญหน้ามันอย่างไม่เกรงกลัวนักแสดงหญิงผู้โด่งดังจากหนังชุด Twilight กล่าว

ปัญหาหลักของมัวร์ในการรับบท อลิซ ฮาวแลนด์ ไม่ใช่เพียงการสื่อสารความรู้สึกซับซ้อนของตัวละคร ตลอดจนการถ่ายทอดอาการแต่ละขั้นของผู้ป่วยอัลไซเมอร์ให้ออกมาน่าเชื่อถือเท่านั้น แต่เธอยังต้องจัดตารางถ่ายหนังอันวุ่นวายให้ลงตัวอีกด้วย อย่าแปลกใจถ้าบนเวทีรางวัล มัวร์จะกล่าวขอบคุณโปรดิวเซอร์ จอน คีลิค ที่ยอมเปลี่ยนตารางการถ่ายทำ The Hunger Games: Mockingjay - Part 1 เพื่อให้เธอสามารถไปเข้ากล้อง Still Alice ได้ “ฉันคงไม่ได้เล่น Still Alice ถ้าไม่ใช่เพราะเขา ตามสัญญาฉันต้องให้เวลาพวกเขาตลอดปี แต่จอนกลับยินดีให้ฉันเดินทางไปกลับระหว่างสองกองถ่ายโดยไม่เกี่ยงงอนนอกจากหนังสองเรื่องนี้แล้ว จูลีแอนน์ มัวร์ ยังฝากการแสดงอันน่าจดจำไว้ใน Maps to the Stars ของ เดวิด โครเนนเบิร์ก อีกด้วย หนังตลกร้ายที่สะท้อนความเน่าเฟะในวงการบันเทิงเรื่องนี้ทำให้เธอคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงจากคานส์มาครองท่ามกลางความเซอร์ไพรซ์ของหลายๆ คน หลังอกหักเรื่องรางวัลมาเกือบตลอดอาชีพนักแสดง ดูเหมือนโชคชะตาจะเริ่มเข้าข้าง จูลีแอนน์ มัวร์ บ้างแล้ว


โรซามุนด์ ไพค์ (Gone Girl)

สมัยวัยรุ่น โรซามุนด์ ไพค์ เคยถูกคัดเลือกให้เล่นเป็นจูเลียตในละครเวที Romeo and Juliet ตามมาด้วยผลงานทางโทรทัศน์อีกสองสามชิ้น แต่แล้วจู่ๆ อาชีพของเธอก็พลันหยุดชะงักในปี 2002 เมื่องานแสดงเริ่มเหือดหายจนทำลายกำลังใจ เธอตั้งใจว่าจะรับงานเสมียนในร้านหนังสือแห่งหนึ่งอยู่พอดี ตอนทราบข่าวดีว่าตนเองจะได้เป็นสาวบอนด์ประกบกับ เพียซ บรอสแนน ใน Die Another Day (น่าตลกตรงที่เธอไม่เคยดูหนัง เจมส์ บอนด์ มาก่อนใบหน้าที่สวยสง่า ผมสีบลอนด์ และบุคลิกเย็นชาอยู่ในทีทำให้เธอเหมาะจะรับบทสาวบอนด์และนางเอกในหนังของ อัลเฟร็ด ฮิทช์ค็อก “เขาต้องคลั่งไคล้เธอแน่” แซลลี ฮอว์กิงส์ ซึ่งร่วมแสดงกับเธอในหนังเรื่อง Made in Dagenham กล่าวถึงผู้กำกับในตำนาน

หลังจากบทสาวบอนด์ ไพค์ก็ตกอยู่ในสถานะ “เกือบดัง” มาตลอดเวลาหลายปี เธอได้ร่วมแสดงกับ คีราห์ ไนท์ลีย์ ใน Pride and Prejudice แครี มัลลิแกน ใน An Education ทอม ครูซ ใน Jack Reacher และได้เล่นหนังบล็อกบัสเตอร์ฟอร์มใหญ่อย่าง Wrath of the Titans แต่สำหรับนักดูหนังชาวอเมริกัน ชื่อเสียงของเธอก็ยังไม่ค่อยเป็นที่จดจำอยู่ดี ซึ่งนั่นถือเป็นข้อดีอยู่บ้าง เดวิด ฟินเชอร์ ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเลือกไพค์มารับบทนำใน Gone Girl ด้วยเหตุผลดังกล่าว ความไม่ดังของเธอช่วยสร้างบรรยากาศลึกลับ ยากจะคาดเดาให้กับตัวละครเอกมากยิ่งขึ้น ฟินเชอร์ได้ดู Jack Reacher บนเครื่องบิน และจำได้ว่าเธอเป็นสาวบอนด์ “สิ่งที่ผมสะดุดใจมากที่สุด คือ ผมไม่รู้ว่าเธออายุเท่าไหร่กันแน่ เธออาจจะอายุ 22 หรือ 23 ปีก็ได้ ผมจำได้ว่ารู้สึกแปลกใจ ราวกับว่ามันเป็นหน้าที่ของนักแสดงหญิงในการทำตัวเป็นอมตะ แล้วหยุดอายุไว้ที่ 22 หรือ 23 ตลอดไป ผมรู้สึกสนใจในตัวเธอเลยโทรติดต่อและส่งหนังสือให้เธออ่าน

หลังจากนั้นฟินเชอร์ก็นัดเธอมาทานอาหารเย็น ทั้งสองพูดคุยกันนานสี่ชั่วโมงจนกระทั่งฟินเชอร์ทราบว่าไพค์เป็นลูกคนเดียวเหมือนกับ เอมี ดันน์ นอกจากนี้การเติบโตมาโดยมีพ่อแม่เป็นนักร้องโอเปรายิ่งทำให้เธอเข้าถึงตัวละครใน Gone Girl ได้มากขึ้น “มันทำให้คุณกลายเป็นเด็กประหลาด มีแนวคิดเกี่ยวกับโลกที่บิดเบี้ยวจากความจริง คุณจะคิดว่าชีวิตเต็มไปด้วยอารมณ์รุนแรง การนอกใจ ฆาตกรรม และผู้คนปฏิบัติตัวกันแบบสุดโต่งไพค์กล่าว

ผมคิดว่าเธอชื่นชอบการต้องเป็นทั้ง เครซี เอมี และ อเมซิง เอมี เธอเก็ทบทอย่างรวดเร็ว แล้วเขียนอีเมลมาบอกว่าเธอมองเห็นอะไรบ้างในตัวละครนี้” ฟินเชอร์แนะนำให้ไพค์ลองศึกษาชีวิตของ แคโรไลน์ เบสเซทท์ เคนเนดี้ เพื่อจะได้รู้ว่าเขามีภาพในหัวเกี่ยวกับตัวละครตัวนี้อย่างไร ทั้งความลึกลับ เย็นชา และเข้าไม่ถึง หลังเสร็จจากการพูดคุยกับฟินเชอร์ ไพค์บังเอิญเจอนิตยสารฉบับพิเศษเล่มหนึ่งที่สนามบิน เล่าถึงเรื่องราวความรักระหว่าง จอห์น เอฟ. เคนเนดี้ กับ แคโรไลน์ เบสเซทท์ เคนเนดี้ เธอถือว่านั่นเป็นลางดี เมื่อกลับถึงบ้านเธอก็เริ่มสั่งนิตยสารเก่าๆ มาดูภาพของแคโรไลน์ ค้นหาคลิปของเธอในอินเทอร์เน็ต “ฉันไม่สามารถอ่านสีหน้าเธอออก ฉันจึงจำคุณสมบัติดังกล่าวแล้วนำมาปรับใช้กับตัวละคร เวลาคุณเจอเอมี ใบหน้าเธออาจยิ้มแย้ม แต่ดวงตาเธอจะคอยสำรวจสอดส่องคุณ ประเมินคุณค่า ดูว่าคุณเหมาะจะเล่นเกมนี้หรือไม่ และเมื่อคุณสามารถทำแต้มได้ เธอจะรู้สึกประหลาดใจและยินดี พร้อมกับคิดว่าบางทีคุณอาจคุ้มค่ากับเวลาที่เสียไป มันเป็นวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเหนื่อยล้า

ตอนนี้สายตาทุกคู่หันมาจับจ้อง โรซามุนด์ ไพค์ อย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนตลอดเวลาสิบกว่าปี เธอยอมรับว่ารู้สึกประหลาดใจอยู่เหมือนกันที่จู่ๆ ฮอลลีวู้ดก็เริ่มสนใจว่าลูกคนที่สองของเธอจะลืมตาขึ้นมาดูโลกเมื่อไหร่ หรือหนังเรื่องต่อไปของเธอคืออะไร หนังเรื่อง Gone Girl ถือเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นที่สุดในอาชีพการแสดงของฉันเลย” นักแสดงสาวชาวอังกฤษกล่าว ถือเป็นรางวัลตอบแทนอันคุ้มค่าหลังความทุ่มเทอันยากลำบาก เนื่องจากทุกคนต่างก็รู้กันดีว่าการต้องร่วมงานกับผู้กำกับร้อยเทคอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ นั้นไม่ใช่เรื่องสบายๆ ไพค์เล่าว่าเธอถูกขอให้เล่นฉากเซ็กซ์กับ นีล แพ็ทริค แฮร์ริส ซึ่งลงเอยแบบเลือดสาดทั้งหมด 36 เทคด้วยกัน “เราใช้เวลา วัน หมดเลือดไป 350 แกลลอน และผ้าปูที่นอน 36 ผืน


รีส วิทเธอร์สพูน (Wild)

บางทีประโยคที่สามารถนิยามหนังเรื่อง Wild ซึ่งดัดแปลงมาจากหนังสือบันทึกชีวิตติดอันดับขายดีประจำปี 2012ของ เชอรีล สเตรย์ ได้ชัดเจนที่สุดอาจเป็นท่อนหนึ่งในเพลง California ของ โจนี มิทเชลล์ ที่ว่า “คุณยอมรับฉันอย่างที่ฉันเป็นได้ไหมก่อนจะออกเดินป่าเป็นระยะทาง 1,100 ไมล์รอบอุทยานแห่งชาติในรัฐแคลิฟอร์เนีย สภาพที่สเตรย์ เป็นคือ เธอยังคงโศกเศร้ากับการจากไปของแม่เมื่อสี่ปีก่อนด้วยโรคมะเร็ง เธอหย่าขาดจากสามีและตระเวนมีเซ็กซ์กับชายทุกคนที่ไม่ใช่เขา ส่วนร่างกายของเธอก็เพิ่งจะปลอดยาเสพติดมาได้หนึ่งวัน หลังจากเริ่มต้นด้วยการทดลอง “เล็กน้อย” ก่อนจะบานปลายกลายเป็นติดเฮโรอีนในท้ายที่สุด

รีส วิทเธอร์สพูน ซึ่งควบตำแหน่งโปรดิวเซอร์ด้วย ออกแรงผลักดันให้หนังได้สร้างเพราะเธอชื่นชอบความจริงใจแบบไม่เสแสร้งของหนังสือ “เชอรีลกล้าหาญมากที่เล่าความจริงอย่างตรงไปตรงมา แม้กระทั่งในส่วนที่หลายคนอาจทนรับไม่ค่อยไหว” นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Walk the Line กล่าว เธอให้สัญญากับเชอรีลว่าจะซื่อสัตย์กับความจริงนั้นโดยไม่พยายามลดทอนแง่มุมอันสุ่มเสี่ยง แล้วดัดแปลงให้ตัวละครดูน่าเห็นใจ หรือชื่นชอบได้ง่ายขึ้น คนดูจะ เข้าถึง” ตัวละครไม่ใช่จากนิสัยน่ารัก น่าคบหา แต่จากแง่มุมรอบด้านแห่งความเป็นมนุษย์ของเธอ อาจพูดได้ว่า Wild เป็นเหมือนชัยชนะส่วนตัวของวิทเธอร์สพูน เนื่องจากฮอลลีวู้ดมักไม่ค่อยเขียนบทดีๆ ให้กับผู้หญิง โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้หญิงในวัยใกล้ขึ้นหลักสี่ ด้วยเหตุนี้ เธอจึงตัดสินใจที่จะพัฒนาโครงการขึ้นเองด้วยการหาเรื่องที่น่าสนใจเกี่ยวกับตัวละครเพศหญิงที่มีความซับซ้อนทางอารมณ์

เพื่อเป็นเกียรติแด่ เชอรีล สเตรย์ และหนังสือของเธอ วิทเธอร์สพูนจำต้องถ่ายทอดให้เห็นความดิบของตัวละคร ตลอดจนจิตใจอันแตกสลายจากความโศกเศร้า เธอต้องพยายามไม่ลดทอนความแข็งกระด้าง หรือความผิดพลาดของตัวละครเพื่อให้คนดูหลงรักได้ง่ายขึ้น จนมันลงเอยกลายเป็นหนังสำหรับทุกคนในครอบครัว เธอต้องสลัดภาพ “ขวัญใจคนอเมริกัน” ซึ่งผูกติดกับเธอมาตั้งแต่ความสำเร็จของ Legally Blonde และ Sweet Home Alabama ให้หลุด เพราะตัวเอกในหนังเรื่องนี้ห่างไกลจากภาพลักษณ์ดังกล่าวยิ่งกว่าบทไหนๆ ที่เธอเคยรับเล่นมา แน่นอนว่าวิทเธอร์สพูนทำสำเร็จอย่างงดงาม ที่สำคัญ เชอริล สเตรย์ เวอร์ชั่นหนังบางครั้งก็ดู “แรง” และหัวแข็งยิ่งกว่าเวอร์ชั่นหนังสือเสียด้วยซ้ำ ในฉากย้อนอดีตก่อนการออกเดินป่า สเตรย์ใช้วาจาเชือดเฉือนจิตแพทย์ของเธออย่างหนัก ขณะที่ในหนังสือจะเป็นเพียงบทบรรยายความรู้สึก ส่วนฉากที่เธอพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ก็ลงเอยด้วยการทะเลาะเบาแว้งกับเพื่อน ขณะที่ในหนังสือสเตรย์รับรู้ข่าวดังกล่าวพร้อมอารมณ์สิ้นหวังและน้ำตา

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สเตรย์ในหนังบางครั้งดูขมขื่นและโมโหร้ายกว่าสเตรย์ในหนังสือเป็นเพราะหนังจำเป็นต้องบิวด์อารมณ์ดรามา ประเด็นว่าสเตรย์จะเป็นตัวละครที่คนดูสามารถชื่นชอบได้หรือไม่กลายเป็นเรื่องรอง เพราะสิ่งสำคัญกว่า คือ เธอเป็นตัวละครที่ “จริง” แค่ไหน ทั้งในแง่อารมณ์อันซับซ้อน การตระหนักในความผิดพลาดแห่งอดีต และความไม่แน่นอนของอนาคต หนังเรื่องนี้ไม่มีทาง “เวิร์ค” หากไม่ชักชวนคนดูให้ดำดิ่งสู่ก้นบึ้งอันดำมืด เพราะแก่นหลักของหนัง คือ การชุบชีวิตจิตวิญญาณผ่านการเดินป่า

แม้จะพยายามแยกตัวออกห่างจากภาพลักษณ์เดิมๆ แต่ต้องยอมรับว่าบทบาท “ขวัญใจคนอเมริกันของวิทเธอร์สพูนมีส่วนช่วยเหลือ Wild เวอร์ชั่นหนังให้ประสบความสำเร็จอย่างที่เห็น เพราะในเวอร์ชั่นหนังสือ สเตรย์วัย 40 กว่าเป็นคนเล่าเรื่อง มองย้อนกลับไปยังอดีตของตนในวัย 26 ปี ประสบการณ์และปัญญาที่เพิ่มขึ้นตามวัยช่วยให้เธอเป็นคนเล่าเรื่องที่คนดูไม่รู้สึกรำคาญ หรือชิงชัง ซึ่งผลลัพธ์อาจตรงกันข้ามหากหนังสือถูกเขียนเล่าโดยสเตรย์ในวัย 26 ปี แต่เวอร์ชั่นหนังไม่ได้สิทธิพิเศษดังกล่าว เนื่องจากคนเล่าเรื่องและตัวละครถูกขยำรวมกันเป็นหนึ่งเดียว ฉะนั้นเมื่อหนังปราศจากเสียงเล่าของสเตรย์ในวัย 40 การได้วิทเธอร์สพูน นักแสดงที่คนส่วนใหญ่สามารถชื่นชอบได้ไม่ยาก มารับบทบาทจึงช่วยลดระดับแรงสะเทือนของตัวละครได้พอควร

ในรอบสองสามปีที่ผ่านมาอาจมีหนังหลายเรื่องปลดภาระไว้บนบ่าของนักแสดงนำหญิง ไม่ว่าจะเป็น Zero Dark Thirty, The Hunger Games: Mockingjay – Part 1 หรือ Gravity แต่หนังเหล่านี้ยังมีจุดขายอื่นให้พึ่งพิงได้ ไม่ว่าจะเป็นฉากแอ็กชั่น หรือเทคนิคพิเศษตระการตา แต่สำหรับ Wild นอกเหนือไปจากภาพวิวทิศทัศน์อันงดงามในบางช็อตแล้ว รีส วิทเธอร์สพูน ต้องแบกรับหนังทั้งเรื่องไว้แต่เพียงผู้เดียว เธอเป็นทั้งจุดขายและเสาหลักทางอารมณ์ของหนัง นั่นยิ่งทำให้งานแสดงอันทรงพลังของเธอยิ่งน่าประทับใจมากขึ้นอีก