วันพุธ, กุมภาพันธ์ 07, 2550

Secretary: เลขาฯ บูชานาย



“เธอมาอยู่ที่นี่เพื่อรับใช้เจ้านายของเธอ… เธอต้องละทิ้งทุกสิ่งทุกอย่างที่กำลังทำอยู่เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับหน้าที่เพียงหนึ่งเดียวของเธอเท่านั้น นั่นคือ การพลีกายให้แก่เจ้านาย มือของเธอหาใช่สมบัติของเธออีกต่อไปไม่ เช่นเดียวกับหน้าอกของเธอ และ ที่สำคัญสูงสุด ทุกช่องทวารในร่างของเธอ ซึ่งพวกเราสามารถสำรวจหรือล่วงล้ำได้ตามใจปรารถนา…” (จากนิยายเรื่อง The Story of O ประพันธ์โดย พอลีน เคอาเช่)

ครั้งหนึ่งเมื่อนานมาแล้ว พฤติกรรม ซาโดมาโซคิสม์ (sadomasochism) หรือที่เรียกสั้นๆว่า S&M เคยถูกมองว่าเป็นกิจกรรมของพวกกามวิปริตและคนบาปผู้สมควรแก่การลงทัณฑ์ขั้นรุนแรง แนวคิดดังกล่าวส่งผลให้ มาร์ควิส เดอ ซาด (1740-1814) บิดาผู้ให้กำเนิดคำว่า ‘ซาดิสท์’ ต้องถูกจองจำอยู่ในโรงพยาบาลบ้าเป็นเวลานานเกือบครึ่งชีวิต โทษฐานถ่ายทอดจินตนาการดังกล่าวลงบนแผ่นกระดาษแล้วตีพิมพ์เป็นหนังสือเผยแพร่สู่สาธารณชน ซึ่งส่วนใหญ่ล้วนประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม

เกือบสองร้อยปีผ่านไป ท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงมากมายหลายหลากทั้งทางด้านสังคม การเมือง และองค์ความรู้เกือบทุกแขนง จินตนาการ S&M ในปัจจุบัน กลับกลายเป็นเรื่องปรกติธรรมดาและใกล้ตัวไม่ต่างจากยาสามัญประจำบ้าน โซ่ ปลอกคอ กุญแจมือ แส้ และหน้ากากหนัง ถือเป็นสินค้าขายดีลำดับต้นๆตามร้าน sex shop ทั่วไป ส่วนภาพยนตร์ XXX (ไม่ใช่เรื่องที่นำแสดงโดย วิน ดีเซล) เกินกว่าครึ่งก็มักจะสอดแทรก ‘ฉากบังคับ’ ซึ่งแสดงให้เห็นถึงวิธีการใช้สินค้าเหล่านั้นเอาไว้ ในรูปลักษณ์อันเย้ายวนใจ มากกว่าจะบ่งชี้นัยยะแห่งกามวิตถารที่น่ารังเกียจ เดียดฉันท์

อีกหนึ่งในหลักฐานยืนยันกระแสความเปลี่ยนแปลงแห่งภาพลักษณ์ S&M ที่ชัดเจน โดดเด่น ก็คือ ผลงานกำกับชิ้นล่าสุดของ สตีเวน เชนเบิร์ก เรื่อง Secretary ซึ่งสะท้อนพฤติกรรมดังกล่าวภายใต้โครงสร้างของภาพยนตร์ตลก-โรแมนติกอันเป็นแนวทางที่พุ่งเป้าไปยังกลุ่มคนดูวงกว้าง แม้ตัวหนังเองจะถูกจัดจำหน่ายและโปรโมตภายใต้ภาพลักษณ์ ‘อินดี้’ แบบเต็มพิกัดก็ตาม โทนอารมณ์โดยรวมอาจมืดหม่น พิลึกพิลั่น เกินหน้าหนังตลก-โรแมนติกดาดๆอย่าง Two Weeks Notice หรือ Maid in Manhattan แต่ก็เบาสบายกว่าหนังเกี่ยวกับมาโซคิสท์ในช่วงสองสามปีหลังอย่าง The Piano Teacher หรือ Romance อยู่หลายเท่าตัว และที่สำคัญ บทหนังดูเหมือนจะจงใจนำเสนอ S&M ในลักษณะของช่องว่างทางจิตวิญญาณซึ่งกำลังเฝ้ารอ ‘คนที่ใช่’ มาช่วยเติมเต็ม มากกว่าภาวะซับซ้อนทางจิตใจที่อัดแน่นไปด้วยความขัดแย้งรุนแรง

หากมองโดยผิวเผิน Secretary ดูเหมือนจะแจกแจงภาพของเกมการทรมานตามรูปแบบดั้งเดิมด้วยการให้ผู้ชายดำรงฐานะ ‘เจ้านาย’ (master) และผู้หญิงดำรงฐานะ ‘ข้าทาส’ (slave) คนหนึ่งสั่งการ ล่วงล้ำ และควบคุม อีกคนสมยอม ถูกล่วงละเมิด และสูญเสียอิสรภาพ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไปถึงจุดหนึ่ง หนังกลับเริ่มสะท้อนให้เห็นแง่มุมหักเหว่า มาโซคิสท์นั้นใช่จะไร้ซึ่งพลังอำนาจอย่างสิ้นเชิง ส่วนซาดิสท์ก็ใช่จะดำรงสถานะของผู้ ‘คุกคาม’ เสมอไป

ลี ฮอลโลเวย์ (แม็กกี้ จิลเลนฮาล) เป็นหญิงสาวที่กระหายการถูกควบคุมภายใต้อำนาจแห่งเพศพ่อและคำสั่ง เสียงบรรยายของเธอบอกเล่าถึงความรู้สึกลังเลที่จะต้องโบกมือลาโรงพยาบาลบ้าอันเต็มไปด้วยกฎระเบียบเข้มงวด (อาหารเช้าตอนแปดโมง เข้าชั้นเรียนตอนบ่ายสอง บำบัดจิตตอนสี่โมงเย็น เข้านอนตอนสี่ทุ่ม) เนื่องจาก “ชีวิตในนั้นช่างเรียบง่าย” หรือพูดอีกนัยหนึ่งคือ สอดคล้องกับบุคลิกที่อ่อนปวกเปียก (submissive) ของเธอ แรงโหยหาดังกล่าวส่วนหนึ่งมีสาเหตุมาจากการที่พ่อของเธอ ผู้ชายเพียงคนเดียวในบ้าน เป็นหัวหน้าครอบครัวซึ่งอ่อนแอ ไร้สมรรถภาพ เขาเพิ่งจะถูกไล่ออกจากงานและหันกลับมาดื่มเหล้าเมามายอีกครั้ง ทางด้านแม่ของเธอนั้น นับแต่ลีออกจากโรงพยาบาลมา ก็แสดงความเป็นห่วงเป็นใยและคอยสอดส่อง ระแวดระวังเกินกว่าเหตุ จนเริ่มทำให้ลูกสาวอึดอัด

ลีมักจะพกพากล่องบรรจุอุปกรณ์สำหรับใช้ทำร้ายตนเอง พร้อมสรรพด้วยเครื่องปฐมพยาบาล ติดตัวไว้ตลอดเวลา เพื่อว่าเมื่อใดก็ตามที่รู้สึกเจ็บปวดภายใน เธอจะได้สามารถจารึกบาดแผลลงบนเนื้อหนังให้เห็นเป็นรูปธรรม ลีทำเช่นนี้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยมและไม่เคยมีใครจับได้ จนกระทั่งวันหนึ่งเธอเผลอ ‘เฉือน’ เนื้อตัวเองลึกเกินไป

มาร์โซคิสท์ชื่นชอบความเจ็บปวดเพราะมันช่วยตอกย้ำถึงการยังดำรงอยู่ของตัวตน (selfhood) ในทางจิตวิทยา มนุษย์ทุกคนไม่เพียงปรารถนาที่จะแยกตนเป็นอิสระจากผู้อื่นเท่านั้น หากแต่ยังโหยหาการยอมรับในฐานะปัจเจกชนอีกด้วย ดังนั้นมนุษย์จึงไม่อาจปฏิเสธข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขา/เธอจำเป็นต้อง ‘พึ่งพา’ บุคคลอื่นเพื่อให้ได้มาซึ่งการยอมรับ พัฒนาการที่สมบูรณ์จะทำให้ตัวตนทางจิตของมนุษย์ผู้นั้นแข็งแกร่งพอจะแยกตนเองออกจากผู้อื่นและยอมรับผู้อื่นในความเสมอภาคไปพร้อมๆกัน S/M ถือเป็นผลพวงอันเนื่องมาจากความล้มเหลวของขบวนการข้างต้น กล่าวคือ ขณะที่มาร์โซคิสท์ล้มเหลวในการแยกตนให้เป็นอิสระและโหยหาการยอมรับจากบุคคลผู้ทรงอำนาจ ซาดิสท์กลับล้มเหลวที่จะคำนึงถึงบุคคลอื่นในฐานะปัจเจกชนผู้เท่าเทียมกัน จนนำไปสู่พฤติกรรมครอบงำ (domination) ฝ่ายหนึ่งพึ่งพาบุคคลอื่นอย่างสิ้นเชิง ส่วนอีกฝ่ายหนึ่งปฏิเสธการพึ่งพาและพยายามแยกตนเป็นอิสระด้วยการมองบุคคลอื่นเป็นเพียงวัตถุสิ่งของ (เธอเป็นของฉัน ฉันควบคุมทุกสิ่งทุกอย่างในร่างกายเธอ)

อี. เอ็ดเวิร์ด เกรย์ (เจมส์ สเปเดอร์) เป็นทนายความซึ่งกระหายอำนาจและการควบคุม บงการ ชีวิตของเขาเป็นระเบียบและถูกล้อมกรอบปิดกั้นไม่ต่างจากสวนขนาดจิ๋วในตู้กระจกที่เขาบำรุงรักษาอย่างพิถีพิถัน หนังให้รายละเอียดทางภูมิหลังเกี่ยวกับตัวเขาค่อนข้างน้อย (เนื่องจากเรื่องราวถูกเล่าผ่านมุมมองของมาโซคิสท์) แต่ทันทีที่อดีตภรรยาบุกเข้ามาวีนแตกในออฟฟิศ ใช้เท้าบดขยี้เสื้อคลุมของเขา และเรียกร้องให้เขาเซ็นทะเบียนหย่าโดยเร็ว คนดูก็ไม่แปลกใจว่า หนึ่ง เหตุใดชีวิตแต่งงานของพวกเขาถึงไปไม่รอด และสอง ทำไมเอ็ดเวิร์ดจึงว่าจ้างหญิงสาวหัวอ่อนที่ไม่กล้ามีปากมีเสียง ไม่เก่งกาจ อีกทั้งยังตกอยู่ในสภาพขาดๆเกินๆอย่างลีมาเป็นเลขานุการ

บทหนังค่อยๆเผยให้เห็นว่าลีกับเอ็ดเวิร์ดนั้นเกิดมาคู่กันเหมือนกิ่งทองใบหยก แรกเริ่มทีเดียวทั้งสองดำเนินความสัมพันธ์ (เกือบจะ) เหมือนเจ้านายกับลูกจ้างทั่วๆไป ยกเว้นเพียงรายละเอียดเล็กๆน้อย เช่น ดูเหมือนเธอจะยินดีปฏิบัติตามคำสั่งทุกอย่าง กระทั่งการปีนลงไปคุ้ยถังขยะเพื่อค้นหาเอกสารให้เขา จากนั้นไม่นานเขาก็เริ่มลงโทษเธอที่พิมพ์จดหมายผิดด้วยการ ‘ตีก้น’ และแผ่อิทธิพลล่วงล้ำไปยังชีวิตส่วนตัวด้านอื่นๆ เขาสั่งให้เธอเปลี่ยนสไตล์การแต่งตัวเสียใหม่ กำหนดรายการอาหาร เลิกนิสัยน่ารำคาญบางอย่าง หยุดทำร้ายตัวเอง และประกาศอิสรภาพจากภาวะพึ่งพิงมารดาผู้ขับรถมาจอดรอรับเธอกลับบ้านทุกวัน ลีเล่าถึงความรู้สึกผ่านเสียงบรรยาย ขณะเดินตัดสวนสาธารณะกลับบ้านในวันที่สัมพันธภาพระหว่างบุคคลทั้งสองก้าวล้ำไปมากกว่าการเป็นเจ้านายกับเลขาฯว่า “เนื่องจากเขาเป็นคนอนุญาต ฉันจึงรู้สึกเหมือนตัวเองกำลังตกอยู่ในอ้อมกอดของเขา เหมือนมีเขามาเดินอยู่เคียงข้าง”

ลีเปรียบดังก้อนดินที่เอ็ดเวิร์ดกำลังปั้นประดิษฐ์ให้เป็นรูปเป็นร่างและอ้างสิทธิในความเป็นเจ้าของ

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างระหว่าง ลี ฮอลโลเวย์/คนไข้โรคจิต กับ ลี ฮอลโลเวย์/เลขานุการ ไม่ได้จำกัดอยู่แค่รูปลักษณ์ภายนอกเท่านั้น หากยังรวมไปถึงความคิดภายในอีกด้วย สำนึกแห่งตัวตนที่ชัดเจนขึ้นทำให้เธอเริ่มเล่นบทบาท ‘รุกไล่’ เอ็ดเวิร์ด เมื่อเขาพยายามจะถอนตัวจากเกม S/M เธอจงใจพิมพ์คำผิด หยิบไส้เดือนใส่ในซองจดหมายให้เขา และทำท่าโก้งโค้งหน้าโต๊ะทำงานอย่างเย้ายวน เพื่อสื่อนัยยะว่าเธอปรารถนาที่จะ ‘ถูกลงโทษ’ แต่การตอบสนองย่อมหมายถึงการยอมรับว่าเขาพึ่งพิงเธอมากพอๆกับเธอพึ่งพิงเขา ด้วยเหตุนี้ เอ็ดเวิร์ดจึงกระทำในสิ่งที่ซาดิสท์ทั่วไปจะเลือกกระทำในสถานการณ์แบบเดียวกัน นั่นคือ ขัดขืน

หลังจากตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำมาตลอด ลีก็ตัดสินใจลุกขึ้นปฏิวัติชีวิต แทนที่จะปล่อยมันให้ล่องลอยไปตามการชักนำของคนอื่นเช่นเคย เธอวิ่งหนีจากพิธีวิวาห์กับผู้ชายนิสัยดีที่หลงรักเธอไปสารภาพรักกับผู้ชายนิสัยไม่ปรกติที่เธอรักและช่วยให้เธอได้ค้นพบตัวเอง พร้อมกันนั้นก็พิสูจน์ให้เขาเห็นว่า เธอเป็นบริวารผู้ภักดีขนาดไหนด้วยการปฏิบัติตามคำสั่งของเจ้านายอย่างเคร่งครัด และเมื่อหนังดำเนินมาถึงฉากตอนที่เอ็ดเวิร์ดอุ้มลีไปชำระล้างร่างกายที่บ้าน ก่อนทั้งสองจะร่วมรักอย่างนุ่นนวลบนเตียงท่ามกลางแสงเทียนสุกสว่างและเสียงเพลงโรแมนติก คนดูก็เข้าใจได้ในทันทีว่า เธอหาใช่ ‘ข้าทาส’ ของเขาอีกต่อไปไม่ หากแต่เป็นมนุษย์ผู้เท่าเทียมที่น่ายกย่อง เทิดทูน ลีประสบความสำเร็จในการเจาะทะลุกำแพงซึ่งเอ็ดเวิร์ดสร้างขึ้นล้อมรอบตัวเอง คำถามของเธอเกี่ยวกับภูมิหลังของเขาได้รับคำตอบในที่สุด

Secretary ปิดฉากลงในสไตล์เดียวกับหนังรักทั่วไป ลีกับเอ็ดเวิร์ดแต่งงานและใช้ชีวิตร่วมกันอย่างมีความสุข เธอไม่ได้โหยหาการยอมรับจากผู้ทรงอำนาจอีกต่อไป ส่วนเขาก็กล้าจะเปิดรับผู้อื่นเข้าสู่โลกส่วนตัวโดยไม่ใช้กำลังครอบงำ… และ S/M ก็กลายเป็นแค่พริกไทสำหรับเหยาะเพิ่มรสชาติให้แก่ชีวิตทางเพศของพวกเขา เหมือนแฟนตาซีที่ประกาศขายในร้าน sex shop และหนังโป๊แบบ xxx

2 ความคิดเห็น:

the aesthetics of loneliness กล่าวว่า...

อ่านบล้อกสองเรื่องติดกัน ทำให้ผมนึกขึ้นมาได้ ว่าปัญหาในชีวิตและความขัดแย้งในความสัมพันธ์ของผู้คนในปัจจุบัน มันเกิดขึ้นจากการที่เราแต่ละคน พยายามแสวงหาการยอมรับ หรือการตระหนักถึงคุณค่าของตัวเรา จากคนอื่น

เรื่อง secretary ก็เกี่ยวกับผู้หญิงที่อยากได้รับการตระหนักถึงตนเอง จากการเป็นมาร์โซคิสต์ เรื่อง dreamgirls ก็เกี่ยวกับผู้หญิงที่ถูกลดคุณค่า แล้วนำไปสู่การมีชีวิตที่ตกต่ำลงไปเรื่อยๆ

Riverdale กล่าวว่า...

นั่นสิครับ เพราะมนุษย์เราเป็นสัตว์สังคมกระมัง เราจึงพยายามจะแสวงหาการยอมรับจากคนอื่นอย่างไม่สิ้นสุด ในเรื่อง Dreamgirls ยังพูดถึงประเด็นการแสวงหาการยอมรับของคนผิวดำในหมู่คนผิวขาวด้วย