วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 24, 2554

Oscar 2011: Best Director


ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (Black Swan)

การแสดงเป็นศาสตร์ที่ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ หลงใหลมาเนิ่นนาน “ตอนจบจาก American Film Institute ผมจดรายชื่อหนังที่ผมอยากสร้างจำนวนหนึ่งลงบนกระดาษ The Wrestler คืออันดับแรก ส่วนหนังเกี่ยวกับแวดวงบัลเลต์อยู่อันดับสอง” ผู้กำกับที่ชุบชีวิตทางการแสดงให้แก่ มิคกี้ รู้ก กล่าว “ผมชอบความเข้มข้นของบัลเลต์ การแสดงที่หลุดโลก บทที่เหนือจริง และบีบเค้นอารมณ์สุดโต่ง บัลเลต์ส่วนใหญ่ เช่น Swan Lake มักดัดแปลงมาจากนิทาน ฉะนั้น พวกมันจึงให้ความรู้สึกหลอนๆ สไตล์โกธิกและระทมทุกข์สไตล์โศกนาฏกรรมกรีก”

เนื่องจากบัลเลต์เป็นสื่อการเล่าเรื่องที่มีข้อจำกัดมากมาย เรื่องราวจึงต้องเรียบง่าย แบ่งแยกขาวดำชัดเจนแบบเดียวกับนิทาน และแน่นอนการแปลงกายไปเป็นบางอย่างที่ไม่ค่อยเหมือนมนุษย์ หรือคนละสายพันธุ์กับมนุษย์โดยสมบูรณ์แบบถือเป็นเรื่องชวนสะพรึงพอๆ กับน่าตื่นเต้น มองในมุมนี้ อาการเสียสติของ นีน่า (นาตาลี พอร์ตแมน) ซึ่งทะยานอยากจะเป็นดาวเด่นในวงการบัลเลต์คนใหม่ จึงเป็นเหมือนความเสี่ยงทางอาชีพที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง นักเต้นบัลเลต์จำเป็นต้องฝึกซ้อมเป็นเวลาหลายปี ปรับเปลี่ยนร่างกายตนเอง เพื่อจะได้ขึ้นไปวาดลวดลายบนเวทีให้คนดูเชื่อว่าพวกเขาเป็นใครบางคน หรืออะไรบางอย่างที่พวกเขาไม่ใช่ ความเกินจริงถือเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาพร้อมกับบัลเลต์ ฉะนั้น การเต้นของนีน่าจึงค่อยๆ พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น เมื่อเธอเริ่มเสียสติมากขึ้น ถอยห่างและแปลกแยกจากตัวเองไปเรื่อยๆ

Black Swan มีจุดเริ่มต้นจากบทหนังเรื่อง The Understudy ของ อังเดรส ไฮนส์ ซึ่งมีฉากหลังเป็นวงการละครนอกบรอดเวย์ โดยมีส่วนผสมระหว่างนิยายเรื่อง The Double ของ ฟีโอดอร์ ดอสโตเยฟสกี้ และหนังเรื่อง All About Eve แถมเจือกลิ่นอายของหนังเรื่อง Repulsion เอาไว้นิดๆ แต่หลังจากบทถูกแก้ไขอีกหลายสิบรอบ ผ่านมือนักเขียนหลายคน เริ่มจาก จอห์น แม็คลอห์ลิน ตามด้วย มาร์ค เฮย์แมน ในที่สุด อาร์โรนอฟสกี้ก็รู้สึกพอใจว่าเขามีหนัง ซึ่งคนดูกลุ่มใหญ่น่าจะสนใจ แม้ว่าฉากหลังจะห่างไกลจากคำว่า “ตลาด” ค่อนข้างมาก

“ผมคิดว่ามีหนังเกี่ยวกับบัลเลต์ที่น่าสนใจอยู่แค่ไม่กี่เรื่อง หนึ่งในนั้น คือ The Red Shoes ของ ไมเคิล พาเวลล์” อาร์โรนอฟสกี้กล่าว “บัลเลต์เป็นเหมือนอีกโลกหนึ่งที่เปี่ยมเอกลักษณ์เฉพาะตัว ทั้งเซ็กซี่ ทั้งปิดกั้น ผมคิดว่าหนึ่งในเหตุผลที่คนไปดูหนัง คือ เพื่อจะได้เดินทางไปยังสถานที่ที่พวกเขาไม่เคยพบเห็นมาก่อน”

บัลเลต์ถือเป็นฉากหลังที่เหมาะเจาะอย่างยิ่งสำหรับหนังสยองขวัญเกี่ยวกับเลือด หยาดเหงื่อแรงกาย และความคลุ้มคลั่งเพื่อสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ “มันเป็นกองถ่ายที่ตึงเครียดมาก” พอร์ตแมนกล่าว “ไม่ใช่กองถ่ายที่สนุกสนาน หรือครื้นเครงอย่างแน่นอน มันน่ากลัว ดุดัน และเข้มงวด ซึ่งมองในแง่หนึ่งดูเหมือนจะสะท้อนสภาพจิตใจของตัวละครได้อย่างดีเยี่ยม” ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พอร์ตแมนจะเข้าใจความรู้สึกของนีน่า เพราะการแสดงก็ไม่ต่างจากการเต้นบัลเลต์เท่าไหร่นัก เวลาคุณปล่อยตัวปล่อยใจแบบเต็มร้อย นั่นหมายถึงคุณกำลังก้าวข้ามจากโลกแห่งความจริงสู่โลกแห่งความฝัน หรือนิทาน ซึ่งคุณไม่เคยเห็นมาก่อน มันน่าตื่นเต้นที่ได้ปลดปล่อย และน่าหวาดกลัวว่าจะหลงทางอยู่ในโลกนั้นตลอดกาล


เดวิด โอ. รัสเซลล์ (The Fighter)

ครั้งสุดท้ายที่ เดวิด โอ. รัสเซลล์ สร้างชื่อเสียงในวงกว้าง คือ เมื่อคลิปเบื้องหลังกองถ่ายหนังเรื่อง I Heart Huckabees หลุดออกมาทางอินเตอร์เน็ต เป็นภาพเขาพังฉาก แล้วพ่นคำหยาบสารพัดใส่ ลิลี่ ทอมลิน และก่อนหน้านี้เขาก็เคยโด่งดังจากการรัดคอ จอร์จ คลูนีย์ ระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Three Kings ซึ่งฝ่ายหลังให้สัมภาษณ์ว่ามันเป็น “ประสบการณ์เลวร้ายที่สุดในชีวิตผมอย่างไม่ต้องสงสัย”

ในระยะหลังภาพลักษณ์จอมเผด็จการของรัสเซลล์ดูจะผ่อนคลายลง เขาเป็นผู้ใหญ่ ถ่อมตน และกระทั่งอ่อนน้อมมากขึ้นระหว่างการเดินสายโปรโมตหนังเรื่อง The Fighter ผลงานกำกับเรื่องแรกที่เขาไม่ได้เขียนบทเอง “มันเป็นเหมือนพรจากพระเจ้า” รัสเซลล์กล่าว “ผมโชคดีมากที่มีโอกาสได้ร่วมงานกับกลุ่มนักแสดงที่เปี่ยมพรสวรรค์ และได้ถ่ายทอดเรื่องราวของตัวละครที่ทรงพลัง เต็มเปี่ยมไปด้วยชีวิตชีวา”

The Fighter เล่าถึงเรื่องจริงของ มิคกี้ วอร์ด นักชกที่พยายามจะกอบกู้ชื่อเสียง แต่พบว่ามันไม่ง่ายเมื่อเขามีเทรนเนอร์อย่าง ดิ๊กกี้ (คริสเตียน เบล) พี่ชายขี้ยา และผู้จัดการส่วนตัวอย่าง อลิซ (เมลิสสา ลีโอ) คุณแม่จอมบงการ มิคกี้เริ่มค้นพบความเข้มแข็ง จนกล้ายืดหยัดเพื่อตัวเองเมื่อเขาพบรักกับบาร์เทนเดอร์สาวแกร่ง ชาร์ลีน (เอมี อดัมส์)

รัสเซลล์ตอบตกลงกำกับหนัง หลังจาก ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ ถอนตัวไปสร้างหนังเรื่อง The Wrestler มันถือเป็นการตัดสินใจที่ทำให้หลายคนเซอร์ไพรซ์ เมื่อพิจารณาจากบุคลิกเฉพาะตัวแบบถึงลูกถึงคนของเขาในหนังเรื่องก่อนๆ The Fighter เป็นผลงานศึกษาตัวละครชนชั้นล่างที่ค่อนข้างเคร่งขรึม แต่ก็ไม่ได้ปราศจากสัมผัสอันเบาบางและความร่าเริง “เดวิดเพิ่มเติมบางอย่างเข้ามา และผมคิดว่าหลายคนอาจรู้สึกขัดขืนในตอนแรก” วอห์ลเบิร์ก ซึ่งควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง กล่าว “เขาใส่อารมณ์ขันเอาไว้ในสถานการณ์ที่หลายคนไม่คาดคิด”

แม้จะลดบุคลิกแข็งกร้าวลงบ้างแล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่ยังไม่ขาดหายไปจากกองถ่ายของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ คือ เสียงตวาด ต่างกันแค่คราวนี้ เขาเจอคู่ปรับที่สูสีอย่าง ดิ๊กกี้ เอ็คลันด์ ซึ่งไม่เคยยอมแพ้ใครเวลาถูกท้าทาย “มีอยู่สองสามครั้งที่เราต้องตรงไปลากดิ๊กกี้ออกมา ก่อนเขาจะเหวี่ยงหมัดชกเดวิด” เบลเล่าถึงเหตุการณ์ซ้อมอ่านบทครั้งหนึ่งที่บ้านของวอห์ลเบิร์ก “ดิ๊กกี้ไม่เข้าใจว่าบางครั้งการเล่าถึงชีวิตคนทั้งชีวิตในหนังเพียงสองชั่วโมงก็ต้องมีการดัดแปลงบ้าง”

การร่วมงานกันหลายครั้งอาจทำให้วอห์ลเบิร์กคุ้นเคยกับเทคนิคแปลกๆ ของรัสเซลล์ แต่สำหรับอดัมส์ เธอยังต้องใช้เวลาปรับตัวเล็กน้อย เช่น เมื่อเขาสั่งให้เธอจูบปากวอห์ลเบิร์ก (นอกบท) ขณะเข้าฉากร่วมกันในวันแรก พลางตะโกนกำชับว่า “ยิ่งกว่านั้น! ยิ่งกว่านั้น!” แต่สุดท้ายแล้วนักแสดงสาวก็ยอมรับขั้นตอนพลิกแพลงเหล่านั้น “เดวิดมีความคิดในหัวชัดเจนว่าเขาต้องการให้ชาร์ลีมีบุคลิกแบบไหน” อดัมส์กล่าว “มันเป็นงานที่ท้าทายมาก”... บางทีการที่นักแสดงถึงสามคนในหนังถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์พร้อมกันก็ช่วยพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ารัสเซลล์ไม่เพียงเข้าใจตัวละครเท่านั้น แต่ยังเข้าถึงนักแสดงจนพวกเขาค้นพบศักยภาพที่ซ่อนอยู่ภายใน


ทอม ฮูเปอร์ (The King’s Speech)

ฉายา “รถถังโธมัส” ที่ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ตั้งให้กับ ทอม ฮูเปอร์ ไม่ได้หมายถึงความน่ารักน่าชังแบบเดียวกับของเล่นประเภทรถไฟจำลอง แต่หมายถึงบุคลิกแข็งแกร่งและมุ่งมั่นแบบไม่ยอมถอยของเขามากกว่า เช่น เมื่อเธอบอกเขาว่าเธอไม่สามารถมารับบทเป็น เดอะ ควีน มัม ในหนังเรื่อง The King’s Speech ได้ เพราะติดสัญญาต้องกลับมารับบทแม่มดจอมมารในหนัง Harry Potter ภาคสุดท้าย ซึ่งตารางการถ่ายทำซ้อนทับกันพอดี ฮูเปอร์กลับไม่สนใจ แล้วพยายามหาทางให้เธอมาร่วมงานจนได้ “โดยทางปฏิบัติแล้วมันผิดกฎหมาย” บอนแฮม คาร์เตอร์กล่าว “ฉันไม่เคยตอบตกลงรับเล่นหนังด้วยซ้ำ แต่กว่าจะรู้ตัวอีกที ฉันก็ต้องสวมชุดย้อนยุคเพื่อเข้าฉากทุกวันเสาร์ซะแล้ว”

ความดื้อรั้นช่วยผลักดันฮูเปอร์ให้กลายเป็นหนึ่งในนักทำหนังรุ่นใหม่ที่น่าจับตามอง หลังสร้างชื่อเสียงจากผลงานทางทีวีอย่าง Elizabeth I นำแสดงโดย เฮเลน เมียร์เรน และ Longford นำแสดงโดย จิม บรอดเบนท์ ตามมาด้วยหนังเล็กๆ เรื่อง The Damned United เกี่ยวกับโค้ชฟุตบอลอารมณ์ร้อนชาวอังกฤษ ผลงานทางโทรทัศน์ของฮูเปอร์ได้เสียงตอบรับอย่างยอดเยี่ยมจากนักวิจารณ์ โดยเฉพาะมินิซีรีย์ราคา 100 ล้านเหรียญของ HBO เรื่อง John Adams ซึ่งสร้างประวัติศาสตร์ด้วยการคว้ารางวัลเอ็มมี่มาครองสูงสุดถึง 13 รางวัล และมียอดขายดีวีดีมากกว่าหนึ่งล้านแผ่น

แต่ชื่อเสียงเขาจะยิ่งขจรขจายมากขึ้นแน่นอนพร้อมกับการมาถึงของ The King’s Speech หนังเล็กๆ เกี่ยวกับพระเจ้าจอร์จที่ 6 (โคลิน เฟิร์ธ) ซึ่งเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากนักบำบัดการพูดชาวออสเตรเลีย (เจฟฟรีย์ รัช) เพื่อรักษาอาการติดอ่าง มิตรภาพอันเหลือเชื่อระหว่างทั้งสองทำให้คนแรกเข้มแข็งพอจะรับบทบาทผู้นำประเทศ ซึ่งเขาไม่เคยอยากได้ ขณะอังกฤษประกาศทำสงครามกับนาซี

ผู้อำนวยการสร้างมองเห็นโอกาสทำเงินของ The King’s Speech แต่ฮูเปอร์กลับมองไปยังภาพรวมเกี่ยวกับทัศนคติเดิมๆ ว่ามีเพียงหนังป็อปคอร์นฟอร์มยักษ์เท่านั้นที่สามารถโกยเงินเป็นกอบเป็นกำ ส่วนพวกหนังฟอร์มจิ๋วที่ปราศจากเทคนิคพิเศษ หรือฉากระเบิดภูเขาเผากระท่อมก็สมควรจะถูกฉายแค่ตามเทศกาลหนัง หรือในวงจำกัด เป็นไปได้ไหม ถ้าหนังชีวิตสักเรื่องจะยืนอยู่ตรงกลาง ทั้งคมคาย หนักแน่น แต่ขณะเดียวกันก็แฝงความสนุกสนาน อิ่มเอิบ ที่เข้าถึงคนกลุ่มใหญ่ “หนังดรามาส่วนใหญ่กลายเป็นยาขมทางการตลาดเพราะพวกมันหดหู่และมืดหม่น เคล็ดลับสำคัญอยู่ตรงอารมณ์ขัน” ฮูเปอร์เปิดเผย พร้อมแสดงตัวอย่างให้เห็นชัดเจนในหลายฉากของ The King’s Speech เช่น เมื่อนักบำบัดบอกให้คนไข้ผ่อนคลายลิ้นของตัวเองด้วยการรัวสบถคำหยาบแบบไม่ยั้ง

แม้จะไม่ใช่พวกชอบตะโกน และมีบุคลิกเรียบร้อยเหมือนหนอนหนังสือ แต่ฮูเปอร์ค่อนข้างเขี้ยวลากดินเวลาอยู่ในกองถ่าย “เขาไม่เสียเวลากับการให้กำลังใจไร้สาระ อันที่จริง ผมค่อนข้างชอบผู้กำกับที่เสียเวลาให้กำลังใจนักแสดง” เฟิร์ธกล่าว “แต่ทอมจะเมินหน้าหนี ถ้าเขาเบื่อ ขณะคุณกำลังพยายามเล่นสุดฝีมือ คุณจะเหลือบเห็นทางหางตาว่าเขาเริ่มมองไปรอบๆ ห้อง เขาไม่สามารถจ้องมองคุณได้ ถ้าเขาเห็นว่ามันไม่ดีพอ”

กลยุทธ์สำคัญเพื่อคั้นการแสดงระดับสุดยอดของฮูเปอร์ คือ ตั้งกล้องห่างจากนักแสดงแค่คืบ “ผมจะถอยห่างออกมาสัก 10 ฟุตก็ได้ แล้วใช้เลนส์ซูมเพื่อให้ได้ภาพโคลสอัพระดับเดียวกัน” ฮูเปอร์บอก “แต่โดยจิตวิทยาแล้ว การตั้งกล้องไว้ใกล้ๆ ช่วยกระตุ้นอารมณ์ได้มากกว่า”... ไม่ต้องสงสัยเลยว่าทำไมเฟิร์ธถึงถ่ายทอดความอึดอัดคับแค้น อาการเกร็ง และพูดไม่ออกของพระเจ้าจอร์จที่ 6 ได้สมจริงขนาดนั้น


เดวิด ฟินเชอร์ (The Social Network)

ในผลงานเรื่องก่อนหน้าอย่าง Seven และ Fight Club ผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ กลายเป็นที่ยอมรับจากความสามารถในการสร้างบรรยากาศมืดหม่นเหมือนกำลังตกอยู่ในฝันร้าย ความแตกต่างของ The Social Network อยู่ตรงที่ “สไตล์” ถูกลดน้ำหนักลงเพื่อเปิดทางให้กับ “เนื้อหา” กระนั้น คนดูก็ยังสามารถสัมผัสได้ถึงความขัดแย้งระหว่างโลกภายนอกกับโลกในรั้วมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด (เน้นความสง่างามและการจัดแสงแบบโลวคีย์) ได้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นเหมือนสัญลักษณ์สะท้อนความแตกต่างทางชนชั้น และยั่วล้อความพยายามของเด็กหนุ่มชาวยิวคนหนึ่งที่จะไต่เต้าสู่สถานะ “ผู้ชนะ” หลังจากตกอยู่ในหมวด “ไอ้ขี้แพ้” มาตลอดชีวิต

มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก (เจสซี ไอเซนเบิร์ก) ใน The Social Network ไม่ได้มีภาพลักษณ์ของวายร้ายหิวเงินเหมือนที่หลายคนคาดคิด ทั้งนี้เพราะฟินเชอร์ และคนเขียนบท แอรอน ซอร์กินส์ (ดัดแปลงจากหนังสือ The Accidental Billionaires) มีมุมมองที่แตกต่างเกี่ยวกับบุรุษผู้ก่อตั้ง Facebook โดยคนแรกมองซัคเกอร์เบิร์กในฐานะผู้สร้าง (“สิ่งที่มาร์คทำก็ไม่ต่างจากการกำกับหนัง งานของคุณ คือ บำรุงรักษามันให้เติบใหญ่... และถ้าในระหว่างทางคุณต้องทำร้ายความรู้สึกของบางคนเพื่อปกป้องสิ่งนั้นให้รอดชีวิต คุณก็จำเป็นต้องทำ” ฟินเชอร์ให้สัมภาษณ์) ส่วนคนหลัง แม้จะเห็นด้วย แต่ก็เสริมว่าเขาเป็นผู้ทำลายในเวลาเดียวกัน นอกจากนี้ ซอร์กินส์ยังวิพากษ์แก่นของเว็บไซต์อย่าง Facebook ว่าแทนที่จะเชื่อมโยงคนเข้าหากันเหมือนดังคำโฆษณา ความจริงแล้วกลับผลักไสคนให้ห่างไกลกันต่างหาก

ปมขัดแย้งระหว่างสองเวอร์ชั่นของซัคเกอร์เบิร์ก (ด้านหนึ่งน่าเห็นใจ หรือกระทั่งน่าชื่นชม ส่วนอีกด้านหนึ่งกลับน่าสมเพช ชิงชัง หรือเหยียดหยัน) ถูกนำเสนอออกมาอย่างชัดเจนตั้งแต่ฉากเปิดเรื่อง ซึ่งจะกลายเป็นหนึ่งในฉากคลาสสิกแห่งโลกภาพยนตร์อย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อมาร์คโดนแฟนสาวบอกเลิก ความเจ็บแค้นขมขื่นทำให้เขาวิ่งกลับไปหอพัก แล้วระบายความโกรธด้วยการสร้างเว็บไซต์ขึ้น ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นจุดเริ่มต้นของ Facebook ความน่าขบขันของฉากเปิดเรื่องดังกล่าวอยู่ตรงข้อเท็จจริงที่ว่าระบบการสื่อสารของคนรุ่นใหม่ถูกปรับเปลี่ยน หรือ “ปฏิวัติ” โดยความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์คนหนึ่ง ซึ่งล้มเหลวอย่างสิ้นเชิงในการสื่อสารแบบตัวต่อตัว จากนั้น หนังก็ตัดสลับเหตุการณ์ระหว่างมาร์คนั่งพิมพ์อัลกอริธึมกับงานปาร์ตี้ของเหล่านักศึกษาฮาร์วาร์ดในชมรมชนชั้นสูง

สองด้านที่ตรงข้ามกันของซัคเกอร์เบิร์กช่วยเพิ่มความเฉียบคมให้กับ The Social Network ซึ่งแก่นเรื่องค่อนข้างเก่าแก่และคลาสสิก (แม้ฉากหลังจะร่วมสมัย) เกี่ยวกับความทะเยอทะยานที่ไม่สิ้นสุด ความสำเร็จแบบคาดไม่ถึง และราคาที่ต้องจ่ายให้กับความสำเร็จ ถ่ายทอดผ่านฉากการสอบปากคำในอีกหลายปีต่อมา เมื่อมาร์คต้องเผชิญหน้ากับข้อกล่าวหาว่าหักหลังอดีตเพื่อนสนิทเพียงคนเดียวของเขา เอดัวร์โด เซเวอริน (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์)

แม้เอดัวร์โดจะเป็นตัวละครที่น่าเห็นใจสูงสุด แต่หนังระมัดระวังอย่างมากที่จะไม่เลือกข้าง “ผมอยากให้คนดูนึกถามตัวเองว่า... ส่วนของผู้ทำลายเป็นจริงแค่ไหน หรือเป็นแค่การสร้างภาพโดยคนที่เชื่อว่าถูกเขาทำลาย” ซอร์กินกล่าว ดูเหมือนว่าสุดท้ายแล้ว สิ่งเดียวที่คนดูสามารถตอบได้อย่างมั่นใจ คือ The Social Network เป็นหนังที่ท้าทายความคิดและเสียดแทงอารมณ์ไปพร้อมๆ กัน ซึ่งนั่นหาไม่ได้ง่ายๆ จากสตูดิโอฮอลลีวู้ดในปัจจุบัน


อีธาน โคน และ โจเอล โคน (True Grit)

สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน พูดย้ำเสมอว่าพวกเขาตั้งใจสร้าง True Grit ไม่ใช่เพื่อรำลึกถึงหนังเวอร์ชั่นเก่าที่นำแสดงโดย จอห์น เวย์น แต่เพื่อถ่ายทอดนิยายที่พวกเขารักของ ชาร์ลส์ พอร์ติส ให้ออกมาเป็นภาพเคลื่อนไหวบนจอ โดยเล่าเรื่องผ่านมุมมองของ แม็ตตี้ รอส หญิงสาวโสดที่เมื่อหลายปีก่อนได้ออกเดินทางตามล่าหาตัวฆาตกรที่สังหารพ่อของเธอ

“เธอเป็นยายตัวแสบ” อีธานกล่าวถึงแม็ตตี้ “แต่มีบางอย่างน่าชื่นชมเกี่ยวกับเด็กสาวคนนี้ซึ่งดึงดูดความสนใจของพวกเรา” จากนั้นโจเอลก็รีบเสริมว่า “เราคิดว่าอย่าเปลี่ยนแปลงอะไรมากจะดีกว่าในเมื่อตัวละครและเรื่องราวมันชวนติดตามและน่าหลงใหลอยู่แล้ว” ในหนังเรื่อง True Grit สองพี่น้องโคนตอกย้ำอยู่เสมอว่า แม็ตตี้ (ไฮลี สไตน์เฟลด์) ยังเป็นแค่เด็กคนหนึ่ง แต่ขณะเดียวกันพวกเขาไม่ได้ทำให้เธอดูน่ารัก ไร้เดียงสาแบบเด็กหญิงในหนังฮอลลีวู้ดทั่วไปเช่นกัน เธอใช้การข่มขู่ ติดสินบน และการเจรจาต่อรองเพื่อขอความช่วยเหลือจาก รูสเตอร์ ค็อกเบิร์น (เจฟฟ์ บริดเจส) รวมถึงเจ้าหน้าที่กฎหมายจากเท็กซัส (แม็ท เดมอน) และแม้ว่าในตอนแรกพวกเขาจะไม่คิดเอาจริงเอาจังอะไรกับเธอนัก แต่ไม่นานแม็ตตี้ก็พิสูจน์ตัวเองว่าเธอเด็ดเดี่ยว แข็งแกร่ง และห้าวหาญไม่แพ้ผู้ชายคนใด

แฟนหนังของสองพี่น้องโคน ซึ่งคุ้นเคยและชื่นชอบเหล่าตัวละครสุดพิลึก ความรุนแรงแบบถึงเลือดถึงเนื้อ รวมไปถึงอารมณ์ขันล้อเลียนสุดเจ็บแสบแบบที่เห็นในหนังอย่าง Fargo, The Big Lebowski หรือ No Country for Old Men อาจต้องใช้เวลาปรับตัวสักพักกว่าจะพลันตระหนักว่า True Grit เป็นงานคารวะหนังคาวบอยยุคเก่าขั้นสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นในแง่บรรยากาศโดยรวม (ใช้บริการของตากล้องคู่บุญ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งดูจะศึกษาผลงานคาวบอยของ จอห์น ฟอร์ด มาอย่างดี) หรือแก่นแห่งเรื่องราว

“มันเป็นหนังที่นำเสนออย่างตรงไปตรงมาและเป็นทางการ” โจเอลกล่าว “เราไม่ได้พยายามเพิ่มสไตล์ หรือความหวือหวาใดๆ ลงไป เวลาเราคิดว่าควรจะถ่ายแต่ละฉากอย่างไร เราจะนึกถึงวิธีแบบที่หนังคลาสสิกนิยมทำกัน”

นอกจากนี้ ตัวละครยังพูดจากันด้วยภาษาไพเราะ ยอกย้อนเช่นเดียวกับนิยาย (แน่นอน หลายประโยคเป็นการลอกมาจากต้นฉบับแบบทั้งดุ้น) ใน True Grit ความยุติธรรมเกิดขึ้นอย่างฉับพลัน แต่ก็เหมาะสมและคู่ควร ที่สำคัญ ไม่มีใครต้องตายโดยปราศจากความผิด... มันเป็นหนังที่อัดแน่นด้วยอารมณ์และคุณค่าทางศีลธรรม

อย่างไรก็ตาม กลิ่นไอ “ความเป็นโคน” ยังพอมีให้สัมผัสได้บ้าง ดังจะเห็นได้จากฉากรูสเตอร์กับแม็ตตี้เผอิญเจอคนภูเขาที่เร่ร่อนตามป่ามาช้านาน (บางทีอาจจะนานเกินไป) และชื่นชอบพรมหนังหมีเป็นชีวิตจิตใจ โดยใช้มันสวมกันหนาวไปพร้อมๆ กับเป็นชุดแฟนซีในเวลาเดียวกัน ความขึ้นชื่อเรื่องนิยมความรุนแรงของรูสเตอรทำให้การเผชิญหน้าครั้งนี้เต็มไปด้วยความตึงเครียด แต่สุดท้ายแล้วก็ไม่มีใครถูกจับใส่เครื่องสับไม้แบบใน Fargo ไม่น่าแปลกที่ True Grit กลายเป็นหนังเพียงไม่กี่เรื่องของสองพี่น้องโคนที่ได้เรท PG-13 และสุดท้ายความสากลของประเด็นหนัง ตลอดจนความสนุกสนานแบบหนังกระแสหลักก็ผันให้มันกลายเป็นหนังทำเงินสูงสุดของพวกเขาไปโดยปริยาย

Oscar 2011: Best Actor


ฮาเวียร์ บาเด็ม (Biutiful)

จริงอยู่ ฮาเวียร์ บาเด็ม อาจคุ้นเคยกับวงการบันเทิงมาตั้งแต่อายุ 9 ขวบ เมื่อต้องช่วยแม่ ซึ่งเป็นนักแสดง (เช่นเดียวกับคุณตาและคุณยาย) ซ้อมอ่านบทเป็นประจำ ส่วนลุงของเขาก็เป็นผู้กำกับชาวสเปนที่โด่งดัง แต่หนูน้อยบาเด็มไม่เคยหลงใหลในศาสตร์แห่งการแสดง และทุ่มเทสมาธิในช่วงวัยรุ่นไปกับการฝึกฝนรักบี้ ก่อนต่อมาจะเลือกเข้าเรียนศิลปะเพราะหวังจะยึดอาชีพเป็นจิตกร แต่ขณะเดียวกันก็ตกลงรับงานแสดงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อหารายได้พิเศษ

ราวชะตากรรมเล่นตลก ปัจจุบันขณะอายุได้ 41 ปี ฮาเวียร์ บาเด็ม กลับกลายเป็นนักแสดงสเปนที่ประสบความสำเร็จสูงสุดในประวัติศาสตร์ เหล่าเพื่อนร่วมงานต่างพากันเคารพนับถือ มีโอกาสรับบทท้าทายในหนังของผู้กำกับชื่อกระฉ่อนระดับโลกอย่าง วู้ดดี้ อัลเลน, เปโดร อัลโมโดวาร์, มิลอส ฟอร์แมน และล่าสุดเพิ่งตกลงเซ็นสัญญาเล่นหนังเรื่องใหม่ของ เทอร์เรนซ์ มาลิก นอกจากนี้ เขายังเคยคว้ารางวัลออสการ์มาครองในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากผลงานมาสเตอร์พีซของสองพี่น้องโคนเรื่อง No Country for Old Men

“ผมคิดว่านักแสดงที่ดีที่สุดไม่เพียงอาศัยพรสวรรค์เท่านั้น แต่ยังต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ ด้วย และฮาร์วีย์คือหนึ่งในนั้น” จูเลียน ชนาเบล ซึ่งเคยกำกับบาเด็มจนเขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกจาก Before Night Fallls กล่าว “เขาจมดิ่งไปกับบทด้วยสมาธิระดับสุดยอด เขาเดินทางผ่านหลากหลายความรู้สึก จากอารมณ์ขันสู่ความสิ้นหวัง ได้อย่างน่าเชื่อถือจนดูเหมือนเขาไม่ได้แสดง”

แต่สำหรับบาเด็ม ยังไม่มีบทใดทดสอบเขาทั้งทางร่างกายและจิตใจ หรือเรียกร้องความมุ่งมั่นตั้งใจของเขามากเท่ากับบทชายที่กำลังจะตายด้วยโรคมะเร็งในหนังเรื่อง Biutiful บทซึ่งทำให้เขาคว้ารางวัลนักแสดงนำชายจากคานส์มาครอง และบทที่ผู้กำกับ อเลฮานโดร กอนซาเลซ อินอาร์ริตู เขียนขึ้นเพื่อเขาโดยเฉพาะ “ฮาเวียร์เป็นนักแสดงที่เปี่ยมเสน่ห์ดึงดูดมาก ในแง่หนึ่งเขาอัดแน่นไปด้วยพลังดิบและความเข้มแข็งแบบวัวกระทิง รวมเลยไปถึงใบหน้าตามแบบฉบับของผู้ชายโรมัน แต่ขณะเดียวกันเขาก็เปี่ยมอารมณ์อ่อนไหวดุจกวี โอบอุ้มอารมณ์อันลึกซึ้งและซับซ้อนเอาไว้ภายใน คุณสมบัติทั้งสองด้านทำให้เขาเหมาะจะรับบทนำในหนังเรื่องนี้” อินอาร์ริตูกล่าว

ความเหนื่อยล้าในระหว่างการถ่ายทำ Biutiful ไม่ได้เป็นผลจากบุคลิก “นิยมความสมบูรณ์แบบ” ของอินอาร์ริตู (ซึ่งมักจะเรียกร้องให้นักแสดงเล่นแต่ละฉากมากกว่า 50 เทค) หรือเพราะเขาได้รับบาดเจ็บกล้ามเนื้อบริเวณแผ่นหลังขณะเข้าฉากที่ต้องอุ้มตัวละครคนหนึ่ง และต้องทนเจ็บหลังไปตลอดช่วงสองเดือนสุดท้ายของการถ่ายทำ แต่เกิดจากการที่หนังถ่ายทำแบบเรียงตามลำดับเหตุการณ์ ส่งผลให้บาเด็มต้องรักษาระดับความกดดันทางอารมณ์ของตัวละครเอาไว้ตลอด ซึ่ง ณ จุดหนึ่งสามารถทำใจยอมรับจุดจบที่กำลังจะมาถึงได้แล้ว แต่จำเป็นต้องกล้ำกลืนเก็บกดเอาไว้ภายในเพื่อเห็นแก่ลูกๆ มันเป็นการแสดงที่จริงใจ และทรงพลังจนคุณไม่อาจละสายตาจากจอได้ แต่ขณะเดียวกันก็สร้างความรู้สึกเจ็บปวด รวดร้าว และสิ้นหวังไปพร้อมๆ กันจนอยากจะเบือนหน้าหนี


เจฟฟ์ บริดเจส (True Grit)

การนั่งมอง เจฟฟ์ บริดเจส รับบท รูสเตอร์ ค็อกเบิร์น ในหนังเรื่อง True Grit ไม่เพียงจะทำให้คนดูนึกถึง “เดอะ ดุค”จอห์น เวย์น ซึ่งเคยเล่นบทเดียวกันนี้จนได้รางวัลออสการ์มาแล้วเมื่อปี 1969 แต่ลักษณะอารมณ์ขัน ตลอดจนบุคลิกไม่แยแสต่อสิ่งใดในโลกของค็อกเบิร์นยังอาจพาลทำให้คนดูหวนนึกถึง “เดอะ ดู๊ด” ตัวละครเอกในหนังคัลท์สุดฮิตเรื่อง The Big Lebowski ซึ่งรับบทโดยบริดเจส และถือเป็นการร่วมงานกันครั้งเดียวก่อนหน้านี้ระหว่างนักแสดงชายกับสองผู้กำกับรางวัลออสการ์ โจเอล และ อีธาน โคน (อันที่จริง บุคลิกขี้เมาของรูสเตอร์ก็อาจทำให้หลายคนนึกถึง แบด เบลค ใน Crazy Heart เพียงแต่คราวนี้มันถูกนำมาใช้เรียกเสียงหัวเราะมากกว่าพลังดรามา)

“ผมไม่รู้ว่าเราเปลี่ยนไปมากแค่ไหน แต่ทั้งหมดมันเป็นอดีตที่ห่างไกลเหลือเกิน” บริดเจสกล่าวถึงการกลับมาร่วมงานกับสองพี่น้องโคนอีกครั้งหลังจากเวลาผ่านไป 12 ปี

สิ่งแรกที่สองพี่น้องโคนบอกกับดารานำของพวกเขา คือ อย่าไปคิดถึงหนังของ จอห์น เวย์น แต่ให้มองหาแรงบันดาลใจจากนิยายต้นฉบับของ ชาร์ลส์ พอร์ติส “พล็อตคร่าวๆ เป็นเรื่องของเด็กหญิงคนหนึ่งที่ต้องการออกตามล่าคนร้ายที่ฆ่าพ่อของเธอ” บริดเจสกล่าว “เธอถามชาวเมืองว่าใครเป็นนักล่าค่าหัวที่เก่งสุด คำตอบ คือ คนเก่งนั้นมีหลายคน แต่รูสเตอร์เป็นคนเดียวที่ไร้เมตตาและโหดสุด ไม่มีใครอยากไปมีเรื่องกับเขา” เท่านี้คุณอาจพอเดาได้ว่าค็อกเบิร์นเวอร์ชั่นบริดเจสจะ “มืดหม่น” กว่าเวอร์ชั่นเวย์นมากแค่ไหน

ทุกอย่างที่สร้างความรู้สึก “ดีๆ” ในหนังเวอร์ชั่นแรกถูกกำจัดทิ้งไปแทบทั้งหมด True Grit ของพี่น้องโคนสะท้อนให้เห็นโลกตะวันตกที่แท้จริง เต็มไปด้วยฝุ่นคลุ้งตลบ ความรุนแรง และคาวเลือด แต่ในเวลาเดียวกันหนังก็ให้น้ำหนักมากขึ้นกับสัมพันธภาพอันซับซ้อนระหว่างค็อกเบิร์นกับเด็กหญิง แล้วค่อยๆ พัฒนามันไปสู่ความผูกพันที่แนบแน่นทางจิตวิญญาณ

“ผมคิดว่าเราทั้งสองต่างเป็นตัวละครที่มีมิติหลากหลาย” บริดเจสกล่าวถึงรูสเตอร์ และ แม็ตตี้ รอส (ไฮลี สไตน์เฟลด์) “เด็กหญิงอาจดูไร้เดียงสา แต่เธอฉลาดและค่อนข้างรอบรู้ในหลายเรื่อง ส่วนความไร้เดียงสาและอ่อนต่อโลกของรูสเตอร์กลับค่อยๆ ถูกปอกเปลือกผ่านเกราะภายนอกที่หยาบกระด้างและผ่านโลกมามาก”

ความยอดเยี่ยมของบริดเจสในหนังเรื่องนี้อยู่ตรงที่เขาไม่ได้พยายามทำให้ค็อกเบิร์นน่าคบหา หรืออบอุ่น อ่อนโยน แต่ท่ามกลางบุคลิกน่ารังเกียจ ความหยาบคาย และอาการเมาหัวราน้ำ คนดูกลับอดจะเอาใจช่วยเขาไม่ได้ และค้นพบอารมณ์ขันในพฤติกรรมห่ามๆ และบ้าดีเดือด เขาเป็นฆาตกรเลือดเย็นที่สามารถยิงคนจากข้างหลังได้โดยไม่ลังเล แต่กระนั้น ประกายความดีงามบางอย่างในตัวเขาก็ทำให้เราลุ้นให้เขาประสบความสำเร็จ


เจสซี ไอเซนเบิร์ก (The Social Network)

ตอนที่ เจสซี ไอเซนเบิร์ก ได้อ่านบทหนังเรื่อง The Social Network ของ แอรอน ซอร์กิน เป็นครั้งแรก เขาไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับ Facebook เขาไม่ได้สมัครเป็นสมาชิก และไม่รู้จักว่า มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก เป็นใคร ฉะนั้น หลังจากได้รับเลือกให้มารับบทนำในหนัง ไอเซนเบิร์กจึงพยายามขอพบเจ้าของ Facebook ตัวจริง แต่ไม่สำเร็จ เมื่อเหลือเวลาเตรียมตัวอีกแค่เดือนเดียว เขาจึงเดินหน้าตามแผนสำรองด้วยการค้นหารูปภาพและคลิปให้สัมภาษณ์ของซัคเกอร์เบิร์กมาศึกษาระบบความคิดของเศรษฐีพันล้านที่อายุน้อยที่สุดผู้นี้

พอรู้ว่าซัคเกอร์เบิร์กเชี่ยวชาญกีฬาฟันดาบ ทั้งยังติดนิสัยนั่งและยืน “หลังตรง” ตลอดเวลา ไอเซนเบิร์กจึงตัดสินใจเข้าคลาสเรียนฟันดาบเพื่อปรับปรุงร่างกายช่วงบนให้พร้อมสำหรับบท แม้ตัวหนังจะห่างไกลจากความเป็น “หนังชีวประวัติ” มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก และทั้งซอร์กิน รวมถึงผู้กำกับ เดวิด ฟินเชอร์ เองต่างยืนกรานเช่นเดียวกันว่า ไม่ต้องการ หรือไม่สนใจว่าเขาจะเลียนแบบท่าทางของซัคเกอร์เบิร์กตัวจริงได้เหมือนแค่ไหน อย่างไรก็ตาม ทั้งหมดพิสูจน์ถึงความทุ่มเทและอุทิศตนให้กับงานของไอเซนเบิร์ก

“คนที่น่าสนใจที่สุดที่ผมเคยร่วมงานด้วย คือ คนที่ใส่ใจในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ถึงขนาดยินดีทำบางอย่างที่อาจไม่ส่งผลโดยตรงกับงาน แต่มีส่วนช่วยในขั้นตอนการพัฒนา” นักแสดงหนุ่มวัย 27 ปี ที่นักวิจารณ์เริ่มจับตามองจากหนังอินดี้เรื่อง The Squid and the Whale จนต่อมากลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างจากหนังฮิตเรื่อง Zombieland กล่าวชื่นชมผู้กำกับที่ขึ้นชื่อเรื่องความทุ่มเทและพิถีพิถันอย่างฟินเชอร์ (ในฉากเปิดเรื่องขณะมาร์คกำลังวิ่งกลับไปยังหอพักหลังถูกแฟนสาวบอกเลิก ฟินเชอร์ตัดสินใจหนึ่งเดือนก่อนเปิดกล้องว่าจะถ่ายทำโดยให้ตัวละครวิ่งจากซ้ายไปขวาของเฟรมภาพ แทนการวิ่งจากขวาไปซ้ายตามมาตรฐานปกติ ส่งผลให้คนออกแบบเครื่องแต่งกายต้องสลับตัวอักษรยี่ห้อ Gap บนแจ๊กเก็ตของมาร์คเพื่อให้สามารถกลับเฟรมภาพได้ในขั้นตอนหลังการถ่ายทำ)

แต่คำพูดดังกล่าวดูเหมือนจะสามารถใช้อธิบายลักษณะการทำงานของไอเซนเบิร์กได้เช่นกัน

“เจสซีชอบถามว่า ‘ผมเล่นโอเคไหม ผมเล่นโอเคไหม’ ซึ่งผมจะตอบกลับไปว่า ‘ไปถามคนอื่นเถอะ เพราะถ้าฉันเห็นว่านายเล่นไม่โอเค ฉันไม่หุบปากเงียบแน่’ ” ฟินเชอร์เล่าพร้อมเสียงหัวเราะ “เขาเป็นนักแสดงชั้นยอดเพราะเขาเอาจริงเอาจังมาก ผมได้แต่หวังว่าเขาจะสนุกกับงานไปพร้อมๆ กันด้วย... เราเคยพูดคุยกันหลายครั้งว่าต้องการให้มาร์คเป็นตัวละครที่ดูลึกลับ ยากต่อการอ่านความรู้สึก และเจสซีก็ทำได้สำเร็จตามเป้าหมาย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายเลย”

นี่อาจเป็นเหตุผลว่าทำไมฉากจบของหนังจึงทรงพลังอย่างยิ่ง ทั้งนี้เพราะคนดูไม่อาจแน่ใจได้ว่ามาร์ครู้สึกอย่างไร เขาเศร้า? โหยหา? เปลี่ยวเหงา? หรือแค่สงสัยใคร่รู้? การแสดงอันลุ่มลึกและแยบยลของไอเซนเบิร์กทำให้คนดูไม่รู้ว่าควรจะรังเกียจ หรือสงสาร มาร์ค ซัคเกอร์เบิร์ก ดี แต่ที่แน่ๆ เขาได้ทำให้มาร์คกลายเป็นมนุษย์ที่มีเลือดเนื้อ มีข้อบกพร่อง... และหนึ่งในตัวละครที่น่าจดจำของโลกภาพยนตร์


โคลิน เฟิร์ธ (The King’s Speech)

นับตั้งแต่ภาพของมิสเตอร์ดาร์ซีย์แห่งมินิซีรีย์สุดฮิต Pride and Prejudice ก้าวขึ้นจากสระในชุดเสื้อเชิ้ตเปียกแนบเนื้อ ส่งอิทธิพลให้หญิงสาวนับล้านทั่วโลกพากันถอนหายใจด้วยความโหยหา โคลิน เฟิร์ธ ก็ดูเหมือนจะถูกบีบบังคับให้ต้องเปียกปอนในผลงานแทบทุกเรื่องต่อมา ไม่ว่าจะเป็น Bridget Jones: The Edge of Reason, Love Actually, Mamma Mia! หรือกระทั่ง A Single Man หนังที่ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเมื่อปีก่อน

แต่ไม่ใช่ใน The King’s Speech หนังที่กำลังจะทำให้เขา “คว้า” รางวัลออสการ์มาครองเป็นครั้งแรก ทั้งนี้เพราะมันปราศจากอารมณ์โรแมนติกระหว่างชายหญิง (หรือชายชาย) แต่กลับอบอวลไปด้วยมิตรภาพระหว่างเพื่อนสองคนที่แตกต่างกันทางฐานะอย่างสุดโต่ง นั่นคือ สมเด็จพระเจ้าจอร์จที่ 6 (หรือที่ทุกคนในครอบครัวเรียกว่าเบอร์ตี้) และ ไลโอเนล โล้ก (เจฟฟรีย์ รัช) นักบำบัดการพูดที่คอยช่วยเหลืออาการติดอ่างให้เบอร์ตี้ ขณะอังกฤษกำลังจะเข้าสู่สงครามกับนาซี และการกระจายเสียงวิทยุทำให้ราชวงศ์ต้องทำตัวเป็นนักแสดงมากขึ้นเรื่อยๆ

ความท้าทายหลักของเฟิร์ธไม่ได้อยู่แค่การเลียนแบบพฤติกรรมติดอ่างของเบอร์ตี้ แต่เขาต้องเลียนแบบโดยไม่ทำให้คนดูรู้สึกขบขันอีกด้วย อย่าลืมว่าการพูดติดอ่างถูกนำมาล้อเลียนเพื่อเรียกเสียงหัวเราะจนกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว ผ่านตัวละครในหนังอย่าง A Fish Called Wanda และตัวการ์ตูนชื่อดังของวอร์เนอร์อย่าง พอร์กี้ พิก กระนั้น เฟิร์ธยังจำได้ว่า One Flew over the Cuckoo’s Nest เคยนำเสนอตัวละครที่พูดติดอ่างด้วยแง่มุมเห็นอกเห็นใจ

กุญแจสำคัญน่ะหรือ อย่าพยายามพูดติดอ่าง แต่ให้พยายามที่จะไม่พูดติดอ่าง “คนดูไม่อยากเห็นคุณพยายามเป็นอะไรทั้งนั้น” นักแสดงหนุ่มใหญ่ชาวอังกฤษกล่าว “สิ่งที่ควรปรากฏชัดบนจอ คือ ความพยายามของตัวละครที่จะเอาชนะข้อด้อยของตนเอง คนดูต้องรู้สึกได้ถึงความเจ็บปวดของตัวละคร แต่ไม่มากเกินไปจนอยากจะลุกหนีออกจากโรงหนัง คุณต้องทำให้คนดูทราบว่ามันใช้เวลาเป็นชั่วโมงสำหรับชายคนนี้กว่าจะพูดคำสักคำออกมาได้ แต่หนังของคุณมีความยาวแค่ 90 นาที ฉะนั้น คุณต้องบอกเล่าข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพและรวบรัด”

การแสดงอันละเอียดอ่อนของเฟิร์ธค่อยๆ ปอกเปลือกให้เห็นความโดดเดี่ยวเปลี่ยวเหงาของเบอร์ตี้ ซึ่งหวาดหวั่นการขึ้นครองราชย์เนื่องจากเขาไม่อยากถูกจารึกในตำราประวัติศาสตร์ว่าเป็นพระเจ้าจอร์จติดอ่าง จากสายตาของคนนอกใบหน้าบูดบึ้งและตึงเครียดของเขาอาจสะท้อนบุคลิกเย็นชา หรือเย่อหยิ่ง แต่ความจริงแล้ว มันเป็นเพียงเกราะที่คอยปกป้องความไม่มั่นใจภายใน ขณะเดียวกัน ในฉากที่อบอุ่นที่สุดฉากหนึ่ง เฟิร์ธได้แสดงให้เห็นด้านที่อ่อนโยนของเบอร์ตี้ เมื่อเขาคุกเข่าแล้วแกล้งทำตัวเป็นนกเพนกวินเพื่อเรียกรอยยิ้มของลูกๆ มันทำให้คนดูพลันตระหนักว่าเขาไม่ใช่แค่พระราชาที่มุ่งมั่นเท่านั้น แต่ยังเป็นพ่อที่น่ารักอีกด้วย


เจมส์ ฟรังโก (127 Hours)

หากคุณติดตามอาชีพในวงการบันเทิงของ เจมส์ ฟรังโก้ อย่างใกล้ชิด คุณจะพบว่ามันขึ้นๆ ลงๆ ไม่ต่างจากรถไฟเหาะ ยากต่อการคาดเดา และบางครั้งอาจถึงขั้นเบี่ยงเบนออกนอกเส้นทาง เช่น การตัดสินใจหันไปเรียนต่อปริญญาเอก หรือจัดแสดงภาพถ่าย หรือเขียนหนังสือรวมเรื่องสั้น คนดูคุ้นเคยเขาจากการรับเล่นบทหลากหลายแนว ตั้งแต่หนังตลกเกี่ยวกับสองเพื่อนซี้ที่ชอบพี้กัญชาอย่าง Pineapple Express หนังแอ็กชั่นบล็อกบัสเตอร์อย่าง Spider-Man หนังชีวประวัตินักการเมืองรักร่วมเพศอย่าง Milk ไปจนถึงละครน้ำเน่าภาคกลางวันอย่าง General Hospital

แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า 127 Hours คือ ผลงานการแสดงที่หนักหนาสาหัส ซับซ้อน และแน่นอนว่าน่าประทับใจที่สุดของฟรังโก้ หนังดัดแปลงจากเรื่องจริงของ แอรอน ราลสตัน ชายหนุ่มที่ออกเดินทางไปท่องเที่ยวปีนเขาในมลรัฐยูตาห์ แล้วเกิดพลัดตกลงไปติดในซอกหินจนไม่อาจขยับเขยื้อนไปไหนได้เป็นเวลาเกือบสัปดาห์ (ดูชื่อหนัง) เขาต้องดื่มน้ำปัสสาวะเพื่อไม่ให้ร่างกายขาดน้ำ ก่อนสุดท้ายจะตัดสินใจตัดแขนท่อนล่างของตัวเองด้วยมีดพกเพื่อรักษาชีวิตรอด ฉากดังกล่าวถูกจำลองออกมาอย่างซื่อสัตย์และสมจริงจนผู้ชมหลายคนถึงแก่เป็นลมคาโรงหนัง

“แอรอนเล่าว่ามันเหมือนการหั่นสเต๊ก” ฟรังโก้พูดถึงฉากไคลแม็กซ์ของหนัง “สำหรับเขา กล้ามเนื้อไม่ใช่เรื่องยากที่จะตัด แม้ว่ามีดพกจะไม่ค่อยคมก็ตาม แต่ปัญหาอยู่ตรงเส้นประสาทและการหักกระดูกออกเป็นสองท่อน อย่างไรก็ตาม ข้อมูลที่ชวนตะลึงสุด คือ แอรอนบอกว่าขณะลงมือตัดแขนตัวเองนั้น เขารู้สึกเปี่ยมสุขและกระปรี้กระเปร่า เพราะหลังจากรู้สึกหดหู่และหงุดหงิดอยู่นานห้าหรือหกวัน คิดไม่ตกว่าจะเอาตัวรอดจากสถานการณ์ครั้งนี้อย่างไร ในที่สุดเขาก็ค้นพบทางออก แอรอนเล่าว่าเขาหั่นแขนตัวเองพร้อมทั้งรอยยิ้ม ข้อมูลดังกล่าวบอกผมทุกอย่างที่ควรจะรู้เกี่ยวกับตัวละคร”

บุคลิกที่ร่าเริง อัธยาศัยดี ตลอดจนรอยยิ้มกริ่มตรงมุมปากของฟรังโก้มักล่อลวงให้หลายคนเข้าใจผิดว่าเขาเป็นเหมือนตัวละครใน Pineapple Express และอาจไม่เหมาะกับหนังดรามาหนักๆ ที่เรียกร้องการบีบคั้นและเปลือยอารมณ์แบบหมดเปลือก แต่โชคดีที่ผู้กำกับ แดนนี บอยล์ มองทะลุไปถึงศักยภาพซึ่งซุกซ่อนอยู่ภายใน

“ท่าทางภายนอกของเขาอาจดูเหมือนคนเมายาตลอดเวลา แต่นั่นเป็นแค่หน้ากาก เพื่อป้องกันไม่ให้ฮอลลีวู้ดกลืนกินเขา” บอยล์กล่าว “ใน 127 Hours เจมส์ต้องแบกหนังทั้งเรื่องไว้บนบ่า มันเป็นบทที่เรียกร้องความทุ่มเททั้งทางร่างกายและจิตใจ ฉากหลังจำกัดอยู่แค่สถานที่เดียว แต่อัดแน่นด้วยความพลิกผันทางอารมณ์ซึ่งตัวเอกต้องดึงคนดูให้ร่วมเดินทางไปพร้อมๆ กัน เจมส์ประสบความสำเร็จอย่างสมบูรณ์แบบ! ปกติแล้วผมค่อนข้างจุกจิกกับนักแสดง แต่สำหรับเจมส์ ผมมอบความไว้วางใจให้เขาเต็มที่ และเขาก็ตอบแทนศรัทธาของผมได้มากกว่าที่คาดคิดไว้เสียอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในฉากลองเทค” การแสดงของฟรังโก้อัดแน่นไปด้วยอารมณ์หลากหลาย และพลังไฟแห่งความมุ่งมั่นที่จะมีชีวิตรอดจนหนังไม่จำเป็นต้องใช้สไตล์ภาพ หรือการตัดต่อที่หวือหวาในการดึงความสนใจของคนดูตลอดเวลาสองชั่วโมง

Oscar 2011: Best Actress


แอนเน็ต เบนนิง (The Kids Are All Right)

ถึงแม้ตลอดชีวิตนักแสดง แอนเน็ต เบนนิง จะรับบทมาแล้วหลากหลายประเภท ตั้งแต่บทแม่ม่ายเจ้าเล่ห์ (Valmont) สาวนักตุ๋นสุดเซ็กซี่ (The Grifters) นักต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อม (The American President) หญิงคนรักของมาเฟีย (Bugsy) แม่บ้านแอบคบชู้ (American Beauty) ไปจนถึงดาวเด่นในวงการละครเวทีที่ใกล้ดับแสง (Being Julia) แต่บทคุณแม่เลสเบียนจอมเจ้ากี้เจ้าการในหนังดรามาเปื้อนอารมณ์ขันเรื่อง The Kids Are All Right อาจเป็นบทที่ผลักดันให้เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครองเป็นครั้งแรกหลังจากพลาดหวังมาแล้วสามครั้ง

เนื่องจากต้องแบกรับภาระหาเลี้ยงครอบครัว นิคจึงมีบุคลิกแข็งกร้าว หยิ่งทะนง และบางครั้งก็อาจจะตัดสินคนอยู่บ้าง โดยเฉพาะกับ “ภรรยา” ที่ค่อนข้างอ่อนปวกเปียกและเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่ออย่างจูลส์ (จูลีแอนน์ มัวร์) แง่มุมดังกล่าวหาได้ทำให้เบนนิงหวาดกลัว ในทางตรงกันข้ามเธอกลับเห็นว่ามันเสน่ห์หลักของตัวละคร

“ฉันรู้สึกว่าตัวเองเข้าใจปัญหาของนิค และเห็นว่าเธอเป็นคนที่น่าสนใจ ฉันประหลาดใจทุกครั้งเวลาได้ยินใครแสดงความเห็นว่า ‘แต่เธอมีนิสัยชอบบงการชีวิตคนอื่น’ สำหรับฉัน ตัวละครที่เพียบพร้อมสมบูรณ์แบบมันน่าเบื่อจะตาย การคลุกคลีกับบทละครคลาสสิกระหว่างช่วงเข้าวงการใหม่ๆ ทำให้ฉันได้รับบทเป็นตัวละครในอุดมคติหลายครั้ง ฉะนั้น การมีโอกาสได้เล่นเป็นตัวละครที่มีจุดอ่อน ข้อบกพร่องมากพอๆ กับข้อดีจึงถือเป็นประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม” เบนนิงกล่าว

หากคุณรู้จัก หรือเคยพูดคุยกับตัวจริงของนักแสดงสาววัย 52 ปีผู้นี้ คุณจะพบว่าเธอแตกต่างจากนิคใน The Kids Are All Right ราวฟ้ากับเหว ด้วยความช่วยเหลือของสไตลิสต์และช่างแต่งหน้า เบนนิงสลัดทิ้งภาพลักษณ์ของดาราออกจนหมด ไม่หลงเหลือคราบของหญิงสาวที่ต้อนอดีตเสือผู้หญิงมือหนึ่งอย่าง วอร์เรน เบ็ตตี้ ได้อยู่หมัด (พวกเขามีลูกด้วยกันสี่คน) เรียกได้ว่าไม่เสียแรงที่ผู้กำกับ ลิซา โชโลเดนโก อุตส่าห์นั่งจินตนาการถึงเบนนิงขณะเขียนฉากที่น่าจดจำสูงสุดฉากหนึ่งในหนัง เมื่อนิคปล่อยอารมณ์ไปกับการร้องเพลง All I Want ของ โจนี มิทเชล กลางโต๊ะอาหารเย็น

“แอนเน็ตเป็นคนเดียวที่ฉันต้องการให้มารับบทนี้” โชโลเดนโกเล่า “เธอเป็นนักแสดงเพียงไม่กี่คนที่สามารถถ่ายทอดส่วนผสมระหว่างอารมณ์ขันกับโศกนาฏกรรมได้อย่างลื่นไหล ทำให้คนดูหัวเราะร่าในฉากหนึ่ง ก่อนจะแปรเปลี่ยนเสียงหัวเราะเป็นคราบน้ำตาในฉากต่อมา”

คำกล่าวอ้างข้างต้นถูกพิสูจน์ให้เห็นชัดเจนผ่านฉากชวนหัว เมื่อนิคกับจูลส์คิดว่าลูกชายของพวกเธอ (จอช ฮัทเชอร์สัน) เป็นเกย์ ตามมาด้วยฉากที่ชวนให้หัวใจสลาย เมื่อนิคจับได้ว่าภรรยาแอบมีสัมพันธ์เกินเลยกับพอล (มาร์ค รัฟฟาโล) ซึ่งเป็นพ่อ (จากการบริจาคสเปิร์ม) ของลูกๆ พวกเธอ... และแน่นอน เบนนิงพลิกผันไปกับความสุขและทุกข์ของตัวละครได้อย่างแนบเนียนจนคนดูไม่ทันสังเกตว่ามันเป็นการแสดง


นิโคล คิดแมน (Rabbit Hole)

Rabbit Hole เป็นโครงการในฝันที่ นิโคล คิดแมน เฝ้าปลุกปั้นมาตั้งแต่แบเบาะ เริ่มต้นจากการซื้อลิขสิทธิ์บทละครชนะรางวัลพูลิทเซอร์ของ เดวิด ลินด์ซีย์-อาแบร์ ตามมาด้วยการโทรศัพท์หา จอห์น คาเมรอน มิทเชลล์ (Hedwig and the Angry Inch) เพื่อติดต่อขอให้เขามากำกับหนัง ชวน แอรอน เอ็คฮาร์ท มาร่วมนำแสดง และเข้าไปมีบทบาทในแทบทุกขั้นตอนการผลิตโดยควบตำแหน่งผู้อำนวยการสร้าง เธอรู้ดีว่าการขอลิขสิทธิ์เพลงของ อัล กรีน มาใช้ในหนังเป็นค่าใช้จ่ายก้อนโต และเนื่องจากทุนสร้างอันจำกัดจำเขี่ย (10 ล้านเหรียญ) เธอจึงพยายามมอบความสุขสบายเล็กๆ น้อยๆ ให้ทีมงาน เช่น ควักกระเป๋าตัวเองจ่ายค่ากาแฟชั้นดีและอาหารเลิศรสไว้บริการในกองถ่าย

“เราแยกย้ายกันพักตามห้องต่างๆ ในบ้าน ซึ่งเป็นฉากหลังของหนัง แล้วใช้ที่นอนเป่าลมเป็นเตียงเสริม มันทำให้เราไม่ต้องอาศัยบริการรถเทรลเลอร์ ฉันนอนในห้องเด็กห้องหนึ่ง ส่วนแอรอนก็นอนในห้องเด็กอีกห้อง วิธีนี้ช่วยประหยัดเงินได้มากโข” คิดแมนเล่า

อย่างไรก็ตาม การรับบท เบ็กก้า หญิงสาวที่ต้องสูญเสียลูกชายวัย 4 ขวบจากอุบัติเหตุรถชนหาใช่ประสบการณ์ “ชิลๆ” ตรงกันข้าม มันเป็นงานมหาโหดสำหรับคุณแม่คนใหม่ (ช่วงสองสามปีที่ผ่านมา คิดแมนลดงานแสดงลงเพื่อจะได้มีเวลาอยู่กับลูกสาววัย 2 ขวบให้มากขึ้น) ซึ่งเล่าให้ฟังว่า “ระหว่างถ่ายทำฉันฝันร้ายบ่อยครั้ง ฉันรู้ดีว่าการแสดงบทนี้ส่งผลกระทบใหญ่หลวงต่อจิตใต้สำนึกของฉัน บางครั้งฉันถึงขนาดสะดุ้งตื่นมากลางดึก และร้องไห้ แต่ในชีวิตจริงมีคนมากมายที่ก้าวผ่านวิกฤติการณ์แบบเดียวกันนี้ไปได้ ฉันแค่ต้องการถ่ายทอดมันออกมาให้สมจริงและน่าเชื่อถือ”

และปราศจากการเสแสร้ง หรือบีบคั้นเกินจำเป็น นักแสดงบางคนอาจพยายามกลั่นน้ำตาในทุกฉากอารมณ์ เพื่อหวังผลกระทบทางดรามาขั้นสูงสุด แต่ไม่ใช่คิดแมน “เธอค้นพบหนทางที่จะแสดงออกถึงความเป็นขบถของตัวละคร แต่ในเวลาเดียวกันก็สามารถโน้มน้าวให้คนดูรู้สึกเห็นใจได้อย่างสุดซึ้ง” มิทเชลล์กล่าว “เบ็กก้าต้องการรับมือกับความโศกเศร้าเพียงลำพัง ด้วยวิธีของเธอเอง และนิโคลก็ถ่ายทอดทุกแง่มุมของตัวละครออกมาอย่างลุ่มลึก ไม่หนักจนมือเกินไป เธอเต็มไปด้วยความสง่างามดุจราชินี”

ความกล้าหาญของคิดแมนที่จะดำดิ่งสู่ห้วงลึกทางอารมณ์ของตัวละคร จนกระทั่งนำตัวเองไปสู่สถานการณ์อันตรายทั้งทางร่างกายและจิตใจ ยังคงฝังแน่นอยู่ในความประทับใจของผู้กำกับ สตีเฟน ดัลดรี ซึ่งร่วมงานกับนักแสดงสาวชาวออสเตรเลียในหนังเรื่อง The Hours ที่ส่งผลให้เธอคว้ารางวัลออสการ์มาครอง “ตอนเราถ่ายทำฉาก เวอร์จิเนีย วูล์ฟ เดินลงแม่น้ำที่เชี่ยวกรากเพื่อฆ่าตัวตาย นิโคลไม่ยอมให้เราใช้สแตนด์อิน เธอเป็นนักแสดงที่ใครก็อยากได้มาร่วมงาน นอกเหนือจากนั้น เธอยังน่ารัก ทรงเสน่ห์ เปี่ยมอารมณ์ขัน และถ่อมตนอย่างมาก” ดัลดรีกล่าว

หากพิจารณาจากบทบาทที่ค่อนข้าง “มืดหม่น” ใน The Hours และ Rabbit Hole คุณจะพบว่าเสน่ห์และความน่ารักหาใช่เหตุผลสำคัญที่ทำให้คิดแมนถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ แต่เป็น “ความจริง” ของตัวละครที่เธอสะท้อนผ่านพรสวรรค์และทักษะอันช่ำชองต่างหาก


เจนนิเฟอร์ ลอวเรนซ์ (Winter’s Bone)

แทบทุกปีวงการหนังอินดี้จะผลิตนักแสดงหญิงอย่างน้อยหนึ่งคน ที่ใครๆ พากันจับตามองเนื่องจากการแสดงระดับสุดยอด ผสมผสานเสน่ห์เฉพาะตัวเข้ากับทักษะ ความแข็งแกร่ง รวมทั้งความอ่อนหวานได้อย่างลงตัว แล้วโน้มนำคนดูให้ลุ้นเอาใจช่วยตัวละครได้ตลอดการเดินทางอันหนักหนาสาหัส มันเป็นการแสดงที่โดดเด่นจนส่งผลให้เธอกลายเป็น “ดารา” ในชั่วข้ามคืน ตามมาด้วยการถูกเสนอเชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก โดยตัวอย่างในอดีตได้แก่ เอลเลน เพจ ( Juno) และ แครี มัลลิแกน (An Education) ส่วนปีนี้ตำแหน่งดังกล่าวคงตกเป็นของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ อย่างไม่ต้องสงสัย

ในหนังทริลเลอร์-ดรามาเรื่อง Winter’s Bone ลอว์เรนซ์ รับบทเป็น รี ดอลลี เด็กสาววัย 17 ปีที่ถูกสถานการณ์บังคับให้ต้องออกตามหาพ่อ หลังจากเขาใช้บ้านเป็นทรัพย์สินเพื่อประกันตัวจากข้อหาผลิตยาบ้า แต่ต่อมากลับหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย เจ้าหน้าที่บ้านเมืองจึงเดินทางมาแจ้งรีให้ทราบว่า หากพ่อของเธอยังไม่ปรากฏตัว (ไม่ว่าจะแบบยังมีลมหายใจ หรือในสภาพซากศพ) เธอกับแม่ที่สติไม่ดี และน้องๆ อีกสองคนจะไร้ที่ซุกหัวนอน นั่นเองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสู่โลกแห่งมาเฟีย สลัมบ้านนอก การคอร์รัปชัน และความหนาวเหน็บแห่งย่านหุบเขาโอซาร์ค

“ฉันนึกชื่นชมเธอ” นักแสดงสาวที่เริ่มสร้างชื่อเสียงจากบทหม่นๆ ในหนังเรื่อง The Burning Plain กล่าวถึงบุคลิกของตัวเอกใน Winter’s Bone “เธอแข็งแกร่งในแบบที่ฉันไม่มีวันเป็นได้ เธอไม่ยอมรับฟังคำปฏิเสธใดๆ ฉันรู้สึกหลงใหลชีวิตและทัศนคติของเธอ ความมุ่งมั่นแบบนั้นคงไม่ต่างจากการวิ่งเข้าอุโมงค์แล้วเห็นเพียงจุดหมายเบื้องหน้า ตลอดจนสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย แต่มืดบอดต่อสิ่งอื่น หรืออันตรายรอบข้าง แม่ฉันอ่านนิยายเรื่องนี้ (เขียนโดย เดเนียล วูดเรลล์) เมื่อห้าปีก่อน และบอกว่าฉันเหมาะจะรับบท รี ดอลลี มาก ถ้ามีใครดัดแปลงมันเป็นหนัง”

ไม่ใช่เรื่องแปลกที่แม่เธอจะคิดเช่นนั้น เพราะลอว์เรนซ์เป็นเด็กสาวที่มุ่งมั่นในจุดหมาย และไม่หวาดกลัวการตัดสินใจเช่นกัน เธอเริ่มต้นสร้างอาชีพในวงการบันเทิงตั้งแต่อายุยังน้อย (14 ปี) หลังเดินทางมาเที่ยวแมนฮัตตันในช่วงปิดเทอม ด้วยแรงสนับสนุนจากทุกคนในครอบครัว เธอใช้เวลาสองสามเดือนตลอดฤดูร้อนเดินสายทดสอบบท และก่อนฤดูร้อนจะสิ้นสุดลง เธอก็มีโอกาสเดินทางไปยังลอสแองเจลิสเพื่อรับบทเล็กๆ ในละครทีวี

การใช้ชีวิตวัยเด็กเติบโตมาในฟาร์มช่วยให้เธอคุ้นเคยกับวัฒนธรรมชนบท โดยก่อนจะเริ่มเปิดกล้อง ลอว์เรนซ์ได้ย้ายจากนิวยอร์กกลับไปอยู่เคนทักกีเพื่อ “ซึมซับ” วิถีพื้นบ้าน เธอช่วยล้างคอกม้า เรียนรู้วิธีผ่าฟืน และฝึกยิงปืน นอกจากนี้ เธอยังมีอีกหนึ่งบุคลิกที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อกับรับบท รี ดอลลี นั่นคือ เธอไม่หวาดกลัวอะไรง่ายๆ ไม่ว่าจะเป็นเลือด แผลสด หรือการถลกหนังกระรอก แล้วต้มเป็นสตู “ไม่มีอะไรทำให้ฉันช็อกได้” เธอกล่าว โดยยกเครดิตให้กับความชื่นชอบเหล่าซีรีย์ดรามาที่มีฉากหลังเป็นโรงพยาบาล และประสบการณ์การเป็นผู้ช่วยพยาบาลในค่ายฤดูร้อนของพ่อแม่เธอ... แต่การจะได้เดินพรมแดงในคืนวันออสการ์คงสร้างความรู้สึกตื่นเต้นให้เธอได้ไม่น้อย


นาตาลี พอร์ตแมน (Black Swan)

ศักยภาพทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของ นาตาลี พอร์ตแมน ถูกทดสอบจนถึงขีดสุดในหนังเรื่อง Black Swan ขณะเดียวกับที่ นีนา เซเยอร์ส ตัวละครซึ่งเธอรับเล่น ค่อยๆ พาตัวเองไปสู่ด้านมืดเพื่อพิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าเธอสามารถเต้นเป็นทั้งหงส์ขาวแสนบริสุทธิ์และหงส์ดำสุดเซ็กซี่ได้อย่างสมบูรณ์แบบในบัลเลต์ Swan Lake เวอร์ชั่นล่าสุด คนดูที่คุ้นเคยกับภาพลักษณ์ของพอร์ตแมนจากบทราชินีอามีดาลาในหนังชุด Star Wars หรือบทสาวน้อยทรงเสน่ห์ในหนังเรื่อง Garden State หรือกระทั่งบทนักเต้นระบำเปลื้องผ้าที่เปราะบางในหนังเรื่อง Closer ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก จะต้องตกใจกับหลากหลายวิบากกรรมที่เธอไม่อาจหลีกเลี่ยงในผลงานสยองขวัญสำหรับคอหนังอาร์ตเรื่องนี้

นอกจากการแบกรับหนังทั้งเรื่องและปรากฏตัวในแทบทุกเฟรมภาพแล้ว พอร์ตแมนยังต้องอาเจียน เห็นภาพหลอน เข้าฉากเซ็กซ์ร้อนแรงกับ มิลา คูนิส นักแสดงสาวที่รับบทนักเต้น “คู่แข่ง” โดนลวนลาม/เย้ายวนทางเพศโดยผู้กำกับละครเวทีหนุ่มใหญ่ (วินเซนต์ แคสเซล) และเต้นบัลเลต์โดยไม่ใช้ตัวแสดงแทนเกือบทั้งหมด

พอร์ตแมนไม่ได้จงใจจะช็อกคนดู หรือพิสูจน์ให้เห็นว่าเด็กหญิงจาก Leon ได้เติบใหญ่เป็นหญิงสาวเต็มตัวแล้ว เธอแค่ไม่ต้องการหยุดอยู่กับที่ในฐานะนักแสดง และพยายามผลักดันตัวเองไปข้างหน้าด้วยบทที่ท้าทายความสามารถ นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงเฝ้ารออย่างอดทนมานานเกือบ 10 ปี หลังได้พูดคุยกับ ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ เป็นครั้งแรกตอนที่บทหนังยังไม่เป็นรูปเป็นร่าง และโครงการปราศจากเงินทุนสนับสนุน

แม้ว่าความฝันของเธอจะกลายเป็นจริงตอนอายุ 29 ปี ซึ่งถือว่าล่าช้าไปนิดสำหรับการรับบทเป็นนักเต้นบัลเลต์ในช่วงรุ่งโรจน์ แต่พอร์ตแมนกลับดีใจที่โครงการใช้เวลานานฟักตัวนานกว่าที่คิด “ในแง่สภาพร่างกาย ทุกอย่างคงง่ายขึ้นหากฉันอายุน้อยกว่านี้ แต่ในแง่ของอารมณ์ เวลาช่วยให้แนวคิดและความรู้สึกของฉันเกี่ยวกับหนังและตัวละครตกผลึก” เธอกล่าว

เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับบท พอร์ตแมนต้องลดน้ำหนักลง 20 ปอนด์ เข้าคลาสเรียนเต้นบัลเลต์เป็นเวลาหนึ่งปีเต็ม แต่ถึงจะฝึกซ้อมมาอย่างดี เธอก็ยังไม่วายได้รับบาดเจ็บระหว่างเข้าฉาก (กล้ามเนื้อซี่โครงเขียวช้ำ และล้มหัวกระแทกพื้นจนต้องเข้ารับการสแกนสมอง) แต่ประสบการณ์หวานชื่นที่น่าจะช่วยลดทอนความเจ็บปวดลงได้บ้าง คือ การพบรักกับนักออกแบบท่าเต้นชาวฝรั่งเศส เบนจามิน มิลล์พายด์ ซึ่งรับบทเป็นคู่เต้นของนีนา

อาโรนอฟสกี้กล่าวชื่นชมนักแสดงนำหญิงของเขาที่รับบทแรงๆ และยากมหาโหดได้อย่างยอดเยี่ยม แต่ขณะเดียวกันก็เติบใหญ่พอจะไม่ปล่อยให้สภาพจิตอันขาดวิ่นของนีนาก้าวเข้ามามีบทบาทกับชีวิตจริง “เธอทำงานหนักทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจ แต่ก็มีความเป็นมืออาชีพอย่างเหลือเชื่อ ผมเคยเห็นคุณสมบัติแบบเดียวกันนี้ในตัว เอลเลน เบิร์นสตีน โดยทันทีหลังจากผมสั่งคัทฉากอารมณ์รุนแรงที่สาหัสสากรรจ์ฉากหนึ่งใน Requiem for a Dream เอลเลนจะพูดแค่ว่า โอเค แล้วก็เดินกลับไปนั่งพัก ผมไม่เคยเห็นนักแสดงรุ่นเยาว์คนไหนมีศักยภาพในระดับเดียวกัน ฉะนั้น แม้ว่ามันจะเป็นบทที่หนัก แต่นาตาลีกลับควบคุมตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ”... คงต้องมาพิสูจน์กันดูว่าในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ พอร์ตแมนจะควบคุมตัวเองได้ดีแค่ไหน หากชื่อของเธอถูกประกาศให้เป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์


มิเชลล์ วิลเลียมส์ (Blue Valentine)

ตลอดช่วงสองสามเดือนก่อนหน้านี้เวลามีใครพูดถึงหนังอินดี้เล็กๆ เรื่อง Blue Valentine สิ่งแรกที่พวกเขาจะนึกถึง คือ ข่าวดังเกี่ยวกับฉากรักร้อนแรงในหนัง ซึ่งคงจะช็อกคณะกรรมการ MPAA จนตัดสินใจมอบเรต NC-17 ให้เป็นรางวัล (ต่อมาในขั้นตอนการยื่นอุทธรณ์ คณะกรรมการได้เปลี่ยนคำตัดสิน แล้วมอบเรต R ให้กับหนังแทน) แต่ทุกอย่างพลันเปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืนพร้อมกับการมาถึงของรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลออสการ์ เมื่อปรากฏว่าผลงานแสดงอันยอดเยี่ยมของ มิเชลล์ วิลเลียมส์ หาได้ถูกมองข้ามดังที่หลายคนคาดหมายแต่อย่างใด

หากมองข้ามฉากเซ็กซ์อันร้อนแรงซึ่งมีอยู่เพียงไม่กี่ฉากไป คุณจะพบว่า Blue Valentine พูดถึงประเด็นสากลที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ ทุกคนที่ครั้งหนึ่งในชีวิตเคยตกหลุมรัก ก่อนจะตามมาด้วยความจืดจางลงของอารมณ์ดังกล่าว “คนสองคนถูกดึงดูดเข้าหากันด้วยความรัก แต่สุดท้ายชีวิตคู่มันเป็นเรื่องของสิ่งเล็กๆ น้อยๆ” วิลเลียมส์กล่าว “รายละเอียดต่างๆ เริ่มทับถม ทั้งภาระหน้าที่ ความคาดหวัง ความฝัน มันเป็นหนังรักที่ไม่ได้สวยงามนัก และแน่นอนว่าปราศจากทางออก แต่ชีวิตเราก็เป็นแบบนี้ไม่ใช่หรือ มันยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่คลี่คลาย”

ซินดี้ ตัวละครที่วิลเลียมส์แสดงในหนัง ตกหลุมรักชายหนุ่มที่อ่อนหวาน ปรารถนาดี (ไรอัน กอสลิง) แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจก้าวข้ามข้อด้อยของตนไปได้ สุดท้ายชีวิตแต่งงานของทั้งสองจึงมุ่งหน้าสู่หุบเหว เมื่อฝ่ายหญิงเริ่มมองหาความก้าวหน้า มั่นคง ส่วนฝ่ายชายกลับจมปลักอยู่กับความเคยชิน... และขวดเหล้า

วิลเลียมส์ได้อ่านบทหนังเรื่องนี้ครั้งแรกเมื่อ 7 ปีก่อน หลังจากเพิ่งโบกมือลาซีรีย์วัยรุ่นสุดฮิต Dawson’s Creek และก็ตกหลุมรักมันในทันที “บทหนังโดนใจเธอมาก เราคุยกันถึงเรื่องความรักและการเลิกราอยู่นานสองนาน” ดีเร็ค เชียนแฟรนซ์ ผู้กำกับ Blue Valentine กล่าว และในความคิดเขา ไม่มีใครเหมาะจะรับบทเป็นตัวละครที่ยากต่อการคาดเดาอย่างซินดี้มากไปกว่าวิลเลียมส์อีกแล้ว “มิเชลล์เหมือนมีโลกอีกใบอยู่ภายในตัว เวลาผมเห็นเธอบนจอ มันรู้สึกเหมือนมีพายุกำลังก่อตัวอยู่ภายในร่างเธอ แต่ภายนอกของเธอกลับแน่นิ่ง ดูลึกลับและชวนให้ค้นหา”

แม้จะรับบทเป็นผู้หญิงเปราะบางมาหลายครั้ง ตั้งแต่บทภรรยาที่ค้นพบว่าสามีแอบคบชู้กับผู้ชายอีกคนใน Brokeback Mountain ซึ่งทำให้เธอได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรก ไปจนถึงบทหญิงสาวผู้เปลี่ยวเหงาใน Wendy and Lucy และบทคุณแม่ที่เป็นโรคซึมเศร้าใน Shutter Island แต่ตัวจริงของวิลเลียมส์กลับแตกต่างจากบทบาทบนจอภาพยนตร์ค่อนข้างมาก “คนชอบคิดว่าเธอเป็นพวกอ่อนไหว แต่ลึกๆ แล้ว เธอเข้มแข็งและเฮฮามาก” เจค จิลเลนฮาล ซึ่งเคยร่วมงานกันใน Brokeback Mountain กล่าว “มิเชลล์ไม่เคยหลงใหลแสงสีแห่งวงการบันเทิง เธอชอบชีวิตของเธอมากกว่างาน ซึ่งส่งผลให้เธอสร้างสรรค์ผลงานได้น่าพอใจกว่านักแสดงส่วนใหญ่”... ไม่เชื่อก็ลองตีตั๋วเข้าไปเข้าชม Blue Valentine เพราะในหนังเรื่องนี้นอกจากเธอจะเต้นแท๊ปและท่องชื่อประธานาธิบดีทุกคนจนครบแล้ว วิลเลียมส์ยังทำให้คนดูหัวใจสลายได้อีกด้วย

วันพฤหัสบดี, กุมภาพันธ์ 17, 2554

Oscar 2011: Best Supporting Actor


คริสเตียน เบล (The Fighter)

คุณอาจตกใจเล็กน้อย ทันทีที่ได้เห็น คริสเตียน เบล เป็นครั้งแรกในหนังเรื่อง The Fighter เขารับบทเป็นอดีตนักมวยที่ชีวิตล่มสลายและกลายเป็นชายหนุ่มติดยา ดิ๊กกี้ เอคลันด์ ซึ่งวันๆ ยังคงเฝ้าฝันถึงคืนวันอันหอมหวาน เมื่อเขาก้าวขึ้นชกชิงแชมป์โลกกับ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด ในปี 1978 หลังที่โก่งงอ ดวงตาที่ลึกโบ๋ และร่างกายที่ผอมโซปราศจากไขมัน ขณะนั่งอยู่บนโซฟาซอมซ่อ ทำให้เขาดูเหมือนซากสัตว์ที่ถูกโบยตีจนสิ้นเรี่ยวแรง หรือเหนื่อยล้าเกินกว่าจะขยับเขยื้อน แต่แล้วเมื่อเขาเริ่มพูดถึงอดีตอันรุ่งโรจน์ ทุกอณูในร่างกายก็พลันกระปรี้กระเปร่าขึ้นอีกครั้ง

ความทุ่มเทของเบลในการแปลงร่างเป็นตัวละครที่เขารับเล่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ ก่อนหน้านี้เขาเคยลดน้ำหนักมากถึง 63 ปอนด์ด้วยการกินแค่แอปเปิ้ลวันละลูกกับกาแฟหนึ่งแก้ว เพื่อแสดงเป็นตัวละครที่ป่วยเป็นโรคนอนไม่หลับในหนังเรื่อง The Machinist แต่การแสดงอันน่าตื่นตะลึงของเบลใน The Fighter หาได้อยู่แค่การเลียนแบบท่าทาง วิธีพูด หรือรูปลักษณ์ภายนอกของดิ๊กกี้เท่านั้น (ถ้าคุณได้เห็นดิ๊กกี้ตัวจริงตอนช่วงเครดิตท้ายเรื่อง คุณจะพบว่าเบลจับบุคลิกในทุกรายละเอียดได้แม่นยำแค่ไหน) หากยังรวมไปถึงความกล้าหาญที่จะถ่ายทอดตัวละครออกมาในลักษณะร่าเริง เปี่ยมอารมณ์ขัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เมื่อพิจารณาจากความมืดหม่นที่ล้อมรอบชีวิตเขา

กระทั่ง มิคกี้ น้องชายแท้ๆ ของดิ๊กกี้ (ในหนังรับบทโดย มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) ยังยอมรับในความสามารถของเบล “พวกเขามีภูมิหลังแตกต่างกัน แต่ถ้าคุณเห็นดิ๊กกี้กับคริสเตียนจากด้านหลังระหว่างถ่ายทำ คุณจะดูไม่ออกว่าใครเป็นใคร เขาเก่งขนาดนั้นเลย” อดีตนักมวยแชมป์โลกกล่าว

อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างอยู่ตรงที่ดิ๊กกี้เป็นพวกชอบเข้าสังคม และมักจะนำทุกปัญหามาลงกับตัวเอง (เขาเสพยาและถูกจับในข้อหาปล้นชิงทรัพย์) ขณะที่เบลหวงแหนความเป็นส่วนตัวอย่างยิ่ง และดูเหมือนจะชอบระบายอารมณ์เอากับคนรอบข้าง เห็นได้จากความสัมพันธ์อันลุ่มๆ ดอนๆ (และค่อนข้างอื้อฉาวตามหน้าหนังสือพิมพ์) ของเขากับครอบครัว หรือเหตุการณ์คลิปเสียงหลุดทางอินเตอร์เน็ต เมื่อเบลตะโกนด่าตากล้องกลางกองถ่าย Terminator Salvation แต่ดูเหมือนการถ่ายทำหนังเรื่อง The Fighter จะช่วยเปลี่ยนตัวตนอันเต็มไปด้วยความโกรธขึ้งของเบล มิตรภาพและการได้รู้จักกับคนอย่าง ดิ๊กกี้ ทำให้เบลเริ่มเปิดเผยมากขึ้น “เวลาคุณไปไหนมาไหนกับดิ๊กกี้ เรื่องบ้าๆ กลับกลายเป็นสิ่งปกติ เขาเป็นคนร่าเริงและชอบหัวเราะกลบเกลื่อนเวลาทำอะไรที่เกินกว่าเหตุ” นักแสดงจาก The Dark Knight และ Batman Begins กล่าว

The Fighter อาจเล่าถึงเรื่องราวชีวิตของ มิคกี้ วอร์ด ก็จริง แต่ตัวละครที่คนดูจะจดจำไม่ลืมกลับกลายเป็นดิ๊กกี้ ชายหนุ่มที่ต้องต่อสู้กับอดีตและเอาชนะห้วงเวลาแห่งปัจจุบัน เขาอาจเป็นตัวละครที่เต็มไปด้วยข้อบกพร่อง แต่ในเวลาเดียวกันก็เปี่ยมสีสัน ความขัดแย้งเฉกเช่นมนุษย์ปุถุชนทั่วไป และเบลก็ถ่ายทอดทุกแง่มุมเหล่านั้นออกมาชนิดไร้ที่ติ จนคนดูไม่อาจละสายตาจากเขาได้ทุกครั้งที่เขาปรากฏตัวบนจอ


จอห์น ฮอว์คส์ (Winter’s Bone)

อย่าประหลาดใจถ้าคุณเห็นหน้า จอห์น ฮอว์คส์ ในหนังเรื่อง Winter’s Bone แล้วจำไม่ได้ว่าเขาเคยรับบทเป็นเซลแมนขายรองเท้าในหนังเรื่อง Me and You and Everyone We Know หรือเจ้าของร้านขายเครื่องมือในซีรีย์ของ HBO เรื่อง Deadwood ทั้งนี้เพราะฮอว์คส์เป็นนักแสดงประเภทที่สามารถเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปตามบทได้ราวกับกิ้งก่าเปลี่ยนสี และถ้าคุณถามเขาตรงๆ ฮอว์คส์จะยอมรับว่าเขาเองก็รู้สึกยินดีที่คนดูจำเขาไม่ได้ เพราะเขาเชื่อว่านักแสดงไม่ควรปล่อยให้ชีวิตส่วนตัวโดดเด่นเกินหน้าตัวละครในหนัง

“ผมรู้สึกว่าจุดแข็งของผมในฐานะนักแสดงอยู่ตรงที่ไม่ค่อยมีใครรู้จักผมเท่าไหร่” ฮอว์คส์ ซึ่งครั้งหนึ่งเคยเล่นประกบ จอร์จ คลูนีย์ ในหนังสตูดิโอฟอร์มใหญ่อย่าง The Perfect Storm กล่าว “ผมไม่ได้พยายามจะทำตัวลึกลับ หรือเย่อหยิ่งอะไร แต่มันเป็นเรื่องง่ายกว่าที่จะสวมวิญญาณตัวละครให้ดูน่าเชื่อถือ เมื่อคนดูไม่รู้ว่าตัวตนจริงๆ ของคุณเป็นอย่างไร”

แน่นอน ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไป หลังจากบท เทียร์ดร็อบ คุณอาชวนสะพรึงของ รี ดอลลี (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ในหนังอินดี้สุดฮ็อตเรื่อง Winter’s Bone ส่งผลให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรก เทียร์ดร็อบมีบทบาทสำคัญต่อปฏิบัติการผลิตยาบ้าที่พ่อของรีพัวพันก่อนจะหายสาบสูญไป เขาเป็นคนแรกที่เด็กสาวเดินทางมาขอความช่วยเหลือ เมื่อเธอต้องการตามหาพ่อ และเขาก็เป็นคนแรกที่เตือนให้เธอ (ทั้งการข่มขู่ด้วยคำพูดและลงมือใช้กำลัง) ถอยห่างจากเรื่องนี้ก่อนจะตกที่นั่งลำบาก หรือกลายเป็นศพ ความยอดเยี่ยมทางการแสดงของฮอว์คส์ไม่ได้อยู่เพียงแค่ “มาด” อันชั่วร้ายและแข็งกระด้างจนทำให้คนดูเชื่อว่า โลกอันมืดหม่นแบบที่เห็นอยู่ในหนังนั้นมีอยู่จริง แต่อยู่ตรงความแนบเนียน กลมกลืนของเขา เมื่อตัวละครเริ่มเผยให้เห็นด้านที่อ่อนโยนจนคนดูอดเอาใจช่วยไม่ได้

ชุมชนที่แร้นแค้น ตัดขาดจากโลกภายนอกแบบใน Winter’s Bone อาจดูห่างไกลจากความคุ้นเคยของเหล่านักดูหนังชนชั้นกลางชาวเมืองราวกับอีกโลกหนึ่ง แต่สำหรับฮอว์คส์ ซึ่งเติบโตมาในย่านชนบทของรัฐมินนิโซตา เขาคิดว่ามันสะท้อนภาพลักษณ์ความเป็นอเมริกันได้ดีกว่านิวยอร์ก หรือลองแองเจลิส ด้วยซ้ำ “พวกเขาใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ แต่มีความผูกพันทางครอบครัวที่เหนียวแน่น” ฮอว์คส์กล่าวถึงชาวโอซาร์คที่เขาพบ

เพื่อเตรียมตัวรับบท ฮอว์คส์ต้องศึกษาหาข้อมูลรอบด้านเกี่ยวกับชีวิตความเป็นอยู่ในแถบนั้น อุตสาหกรรมยาบ้า และรากเหง้าแห่งอาชญากรรมที่สืบทอดผ่านทางสายเลือด นอกจากนี้ เขายังพยายามหลีกเลี่ยงความสะดวกสบายบางอย่างระหว่างการถ่ายทำอีกด้วย เช่น หนังสือดีๆ สักเล่ม หรือเสื้อผ้ากันหนาว เพื่อให้อินไปกับคาแร็กเตอร์ “ผมอยากให้คนดูตระหนักชัดว่าเทียร์ดร็อบไม่พึงพอใจกับสภาพรอบข้าง” ฮอว์คส์กล่าว ก่อนจะเสริมว่าเขาจงใจรักษาระยะห่างจากลอว์เรนซ์ด้วยเหตุผลเดียวกัน “เราไม่ได้สนิทสนมกันมากนัก ผมคิดว่าความรู้สึกไม่คุ้นเคยช่วยให้เรารับบทเป็นตัวละครได้สะดวกขึ้น”

ถึงแม้ฮอว์คส์จะค่อนข้างเก็บตัว แต่นั่นไม่ได้ทำให้เหล่าเพื่อนร่วมงานหยุดสรรเสริญพรสวรรค์ รวมถึงความเป็นมิตรของเขาแต่อย่างใด “เขายอดเยี่ยมมากในหนังเรื่องนี้ ทั้งน่าหวาดหวั่นและคุกคาม” ลอว์เรนซ์กล่าว “แต่พอคุณเจอตัวจริง เขากลับน่ารัก อ่อนหวาน และฉลาดเป็นกรด” การได้ทำความรู้จักกับตัวจริงของฮอว์คส์ยิ่งทำให้คุณพลันตระหนักว่าเทียร์ดร็อบเป็นตัวละครที่แตกต่างจากเขาโดยสิ้นเชิง และบุคลิกแข็งกร้าว หยาบกระด้าง ตลอดจนความอบอุ่นที่ซุกซ่อนอยู่ภายใน ซึ่งปรากฏให้เห็นชัดเจนบนจอ ทั้งหมดล้วนเป็นแค่การแสดงเท่านั้น... บางทีนี่ต่างหากที่น่าสะพรึงกลัว


เจเรมี เรนเนอร์ (The Town)

การถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The Hurt Locker เมื่อปีก่อนเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นว่า เจเรมี เรนเนอร์ เล่นหนังเป็น แต่ประสบการณ์อันโชกโชนในวงการบันเทิงมากกว่า 10 ปีทำให้เรนเนอร์ตระหนักดีว่า ถึงแม้คุณจะคิดว่าตัวเองมีพรสวรรค์ทางการแสดงมากแค่ไหนก็ตาม คุณจำเป็นต้องทุ่มเทแรงกายและแรงใจอย่างเต็มร้อยเสมอกับหนังทุกเรื่องที่คุณตอบตกลง ใน The Town หนังแอ็กชั่นดรามาตามขนบเดียวกับ Heat ของ ไมเคิล มาน สิ่งหนึ่งที่เรนเนอร์ต้องทุ่มเทแรงกายเป็นพิเศษ คือ การฝึกฝนสำเนียงบอสตันให้คล่องแคล่วและแม่นยำ ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับชายหนุ่มที่เติบโตมาในรัฐแคลิฟอร์เนีย

“ในหนังเรื่อง The Town สำเนียงการพูดมีบทบาทสำคัญยิ่งกับฉากหลังและตัวละคร มันทำให้ผมหวาดกลัวในตอนแรก” เรนเนอร์กล่าว “เพราะไม่ว่าบทจะดีแค่ไหน ผู้กำกับจะเก่งแค่ไหน หรือนักแสดงจะยอดเยี่ยมแค่ไหน แต่ถ้าสำเนียงการพูดของตัวละครผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริง คนดูจะไม่เชื่อหนังทันที”

โชคดีสำหรับเรนเนอร์ที่ทีมงาน The Town ไม่เพียงเดินทางไปถ่ายทำตามโลเกชั่นจริงของย่านชุมชนชาร์ลส์ทาวน์ในเขตเมืองบอสตันเท่านั้น แต่หนังยังเป็นผลงานกำกับเรื่องที่สองของ เบน อัฟเฟล็ก (Gone Baby Gone) นักแสดงหนุ่มที่คุ้นเคยกับเมืองบอสตัน และเลือกใช้คนในท้องถิ่นมาร่วมงาน รวมถึงรับบทตัวประกอบในหนังเป็นจำนวนมาก ด้วยเหตุนี้เอง เรนเนอร์จึงมีแหล่งข้อมูลดีๆ สำหรับฝึกฝนสำเนียงอยู่รอบกาย พร้อมกันนั้น อัฟเฟล็กยังส่งเทปสัมภาษณ์อดีตนักโทษมาให้เขาฟังเพื่อศึกษาบุคลิก ตลอดจนลักษณะการพูดอีกด้วย

The Town เล่าถึงวังวนแห่งอาชญากรรม ซึ่งเป็นเหมือนมรดกตกทอดจากพ่อสู่ลูกในชาร์ลส์ทาวน์ ย่านชุมชนที่มีสถิติการปล้นธนาคารและรถขนเงินมากกว่าเมืองไหนๆ ในอเมริกา (ประมาณ 300 ครั้งต่อปี) เรนเนอร์รับบทเป็น เจม สมาชิกบ้าดีเดือดในทีมปล้นธนาคารภายใต้การนำของ ดั๊ก (อัฟเฟล็ก) ผู้เป็นเหมือนมันสมองของกลุ่ม ทั้งสองสนิทสนมกันราวพี่น้องร่วมสายเลือด แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มสั่นคลอนเมื่อดั๊กต้องการถอนตัวออกจากวงการ ขณะที่เจมไม่ต้องการและมองไม่เห็นว่าตัวเองจะสามารถทำอย่างอื่นได้นอกจากปล้นธนาคาร

ถึงแม้หนังแอ็กชั่น-ดราม่า และตัวละครที่เสพติดความรุนแรงจนกลายเป็นเหมือนระเบิดเวลาจะสร้างชื่อเสียงให้เรนเนอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้าง แต่นักแสดงหนุ่มที่กำลังจะโด่งดังยิ่งขึ้นไปอีกจากการร่วมงานในหนังฟอร์มยักษ์ถึงสองเรื่องอย่าง Mission: Impossible IV และ The Avengers ยอมรับว่าเขายินดีเปิดรับบทในแนวทางที่แตกต่างจากผลงานสุดตึงเครียดแบบใน The Town และ The Hurt Locker “ผมเริ่มต้นอาชีพนักแสดงด้วยการเล่นหนังตลก (ประกบ ทอมมี่ ชอง ในหนังเรื่อง Senior Trip เมื่อปี 1995) ถ้ามีบทดีๆ และมีเพื่อนที่ผมรู้จักและอยากร่วมงานด้วย ผมก็จะรับไว้พิจารณา แต่ก่อนจะถึงเวลานั้น ผมขอตั้งสมาธิกับโครงการตรงหน้า เพราะแค่ได้มีงานทำผมก็ดีใจแล้ว”... อย่าห่วงไปเลย เจเรมี ด้วยฝีไม้ลายมือขนาดนี้ รับรองว่างานต้องไหลมาเทมาแบบไม่ขาดสายแน่นอน


มาร์ค รัฟฟาโล (The Kids Are All Right)

ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกที่ใครต่อใครใน The Kids Are All Right จะพากันหลงใหล พอล หนุ่มโสดเจ้าของร้านอาหารและแปลงผักสวนครัวแบบปลอดสารพิษ เริ่มตั้งแต่ โจนี (มีอา วาซิโควสกา) เด็กสาวที่ถือกำเนิดจากน้ำเชื้อของเขา ไปจนถึงจูลส์ (จูลีแอนน์ มัวร์) คุณแม่เลสเบี้ยนของเธอ และทันยา (ยายา ดาคอสตา) หญิงสาวสวยผิวดำ ซึ่งรับหน้าที่เป็นทั้งเพื่อนและคู่นอนคลายเหงา ทั้งนี้เพราะพอลเปี่ยมเสน่ห์แบบเด็กหนุ่มไม่รู้จักโต ส่วนน้ำเสียงทุ้มลึก รอยยิ้มแหยๆ และแววตาอ่อนโยนของเขาก็บ่งบอกความจริงใจ มากพอๆ กับความเปราะบางที่ซุกซ่อนอยู่ภายใต้ภาพลักษณ์เพลย์บอยฮิปปี้

อาจกล่าวได้ว่าพอลเปรียบเสมือนภาคผู้ใหญ่ที่ดูมั่นใจขึ้นและเป็นผู้เป็นคนมากขึ้นของ เทอร์รี่ ตัวละครซึ่ง มาร์ค รัฟฟาโล เคยสวมบทบาทได้อย่างยอดเยี่ยมใน You Can Count On Me เมื่อ 10 ปีก่อน

อันที่จริง บุคลิกของรัฟฟาโลเองก็ไม่ต่างจากพอลเท่าไหร่ ราวกับว่าบทนี้ถูกเขียนขึ้นมาเพื่อเขาโดยเฉพาะ ตั้งแต่ความชื่นชอบมอเตอร์ไซค์ (“มันเป็นพาหนะคู่ใจของผมตอนหนุ่มๆ แต่ความโรแมนติกของการขี่มอเตอร์ไซค์เริ่มจืดจางลงทันทีที่คุณเจออากาศหนาว พายุฝน หรือถูกรถชน ซึ่งผมเคยผ่านมาหมดแล้ว”) ประสบการณ์การทำงานในร้านอาหาร (เป็นเด็กเสิร์ฟขณะพยายามไต่เต้าเข้าวงการ) จนถึงการเลือกปลูกผักทำสวนแทนการไปสังสรรค์ตามผับบาร์แบบเหล่าคนดังในฮอลลีวู้ด (เขาเริ่มเปลี่ยนวิถีชีวิตหลังจากผ่านวิกฤติเนื้องอกในสมองและการตายของน้องชาย)

ที่สำคัญ การตัดสินใจลงหลักปักฐานกับนักแสดงสาว ซันไรซ์ โคอิกนี ในปี 2000 ทำให้รัฟฟาโลเข้าใจความรู้สึกของพอลว่าทำไมเขาถึงอยากเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว “คนอื่น” จนนำไปสู่ความร้าวฉานบ้านแตก “พอลใช้ชีวิตเพื่อความสุขของตัวเองมาตลอด แต่พอเด็กทั้งสองก้าวเข้ามา ทุกอย่างก็เปลี่ยนไป” คุณพ่อลูกสามวัย 42 ปีกล่าว

แม้ว่าบทจะเหมาะกับเขามาก แต่รัฟฟาโลเกือบไม่ได้เล่นหนังเรื่องนี้เพราะตารางงานอันยุ่งเหยิง จากการร่วมนำแสดงใน Shutter Island เล่นบทรับเชิญเล็กๆ ใน Date Night และกำกับหนังเรื่องแรกชื่อ Sympathy for Delicious เขาตอบปฏิเสธไปหลายครั้ง แต่ทีมงานก็ตามตื๊อจนสำเร็จก่อนหนังจะเปิดกล้องเพียงไม่นาน ความพยายามดังกล่าวให้ผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยมทั้งสองฝ่าย (แม้จะกวาดคำชมมามากมายจากงานแสดงในหนังอย่าง You Can Count On Me และ Zodiac แต่นี่เป็นการเข้าชิงออสการ์ครั้งแรกของรัฟฟาโล) “มันเหลือเชื่อมากที่เขาทำให้ตัวละครดูน่าเห็นใจ” ซีลีน แรทเทรย์ ผู้อำนวยการสร้าง The Kids Are All Right กล่าว “พอลเป็นคนนอก ซึ่งคนดูไม่ควรจะเอาใจช่วย แต่สุดท้ายเรากลับอดไม่ได้ที่จะเห็นใจเขา” ที่สำคัญ เขาทำทั้งหมดนั้นโดยคนดูไม่รู้สึกถึงความพยายามแม้แต่น้อย ราวกับเขาไม่ได้กำลังแสดง แต่ “เป็น” ตัวละครตัวนั้น


เจฟฟรีย์ รัช (The King’s Speech)

ก่อนจะมาร่วมงานกันอย่างเต็มตัวใน The King’s Speech เจฟฟรีย์ รัช และ โคลิน เฟิร์ธ เคยแสดงหนังเรื่องเดียวกันมาแล้ว นั่นคือ Shakespeare’s in Love (ซึ่งรัชลงเอยด้วยการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สอง) ความแตกต่างอยู่ตรงที่คราวนี้พวกเขามีเวลาอยู่ร่วมกันมากขึ้นทั้งบนจอและนอกจอ จนสุดท้ายนำไปสู่ความสนิทสนมระหว่างเพศชายแบบเดียวกับหนังหลายเรื่องของ จัดด์ อพาโทว

“เวลาโคลินกับเจฟฟรีย์อยู่ร่วมห้องเดียวกันเมื่อไหร่ ทอม (ฮูเปอร์) มักถูกบังคับให้ต้องหุบปากเงียบไปโดยปริยาย” เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ เล่า “เวลาใครเริ่มพูดถึงเกร็ดประวัติ หรือสถิติอะไรบางอย่างขึ้นมา อีกคนจะรีบเสริมต่อทันที แล้วก็ลากยาวไปเรื่อย มันเป็นเรื่องเหลือเชื่อที่หนังเรื่องนี้สามารถปิดกล้องลงได้”

รัช รับบทเป็น ไลโอเนล โล้ก นักบำบัดการพูดชาวออสเตรเลีย ที่เชื่อว่าอาการติดอ่างไม่ได้เกิดจากความผิดปกติทางร่างกาย แต่เป็นผลมาจากบาดแผลทางจิตใจ ด้วยเหตุนี้ วิธีรักษาของเขาจึงไม่ค่อยเหมือนใคร เช่น สนับสนุนให้คนไข้ร้องเพลงแทนการพูด หรือสบถคำหยาบเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจ ขั้นตอนดังกล่าวยิ่งดูพิสดารมากขึ้น เมื่อคนไข้ของโล้กไม่ใช่สามัญชนทั่วไป หากแต่เป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 “ผมคิดว่าเรื่องราวในหนังน่าหลงใหลตรงที่มันพูดถึงความสัมพันธ์ของคนสองคนที่ไม่น่าจะมาพบกันได้ คนหนึ่งเป็นกษัตริย์ อีกคนเป็นสามัญชน แต่พวกเขาค้นพบบางอย่างที่เชื่อมโยงพวกเขาเข้าหากัน” นักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จากหนังเรื่อง Shine กล่าว

ต้องบอกว่าโชคชะตาชักนำให้รัชมาแสดงหนังเรื่องนี้ หลังจากคนเขียนบท เดวิด ซิดเลอร์ พยายามติดต่อนักแสดงชาวออสเตรเลียผ่านทางเอเยนต์ แต่ไม่ได้รับการติดต่อใดๆ กลับมา ด้วยเหตุนี้ โจน เลน ผู้อำนวยการสร้าง ซึ่งเห็นว่ารัชเหมาะกับบทมากที่สุด จึงตัดสินใจทำทุกวิถีทางให้เขาได้อ่านบท (ซึ่งในตอนนั้นยังเป็นบทละคร) “ผมเจอบทหนังเรื่องนี้ที่หน้าประตูบ้านในซองกระดาษสีน้ำตาล ราวกับมันเป็นเด็กกำพร้าที่ถูกทอดทิ้งและคาดหวังว่าผมจะรับไปเลี้ยงดู” นักแสดงวัย 59 ปี ทวนความจำ เขาอ่านบท แล้วโทรไปบอกเอเยนต์ในลอสแองเจลิสว่า เขาไม่อยากเล่น (และไม่มีเวลามากพอ) หากมันถูกสร้างเป็นละครเวที แต่ถ้ามันถูกพัฒนาเป็นบทหนัง เขาสนใจจะรับบทโล้กมาก การก้าวเข้ามาโอบอุ้มบทหนังเรื่องนี้ทำให้รัชได้เครดิตเป็นหนึ่งในผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหาร ซึ่งถือเป็นครั้งแรกของเขาในวงการบันเทิง

หลังจากคว้าออสการ์มาครองตั้งแต่ตอนยังเป็นแค่นักแสดงโนเนม หลายคนคาดว่ารัชอาจเป็นแค่นักแสดงมากฝีมือที่เผอิญมาอยู่ในหนังถูกเรื่องและถูกเวลา แล้วไม่นานเขาก็จะถูกลืม หรือห่างหายไปจากวงการเฉกเช่นนักแสดงออสการ์หลายคนอย่างเช่น หลุยส์ เฟลทเชอร์ หรือ เอฟ. เมอร์เรย์ อับราฮัม ตรงกันข้าม รัชผสมผสานผลงานคุณภาพ (Quills) เข้ากับผลงานกระแสหลัก (Pirates of the Caribbean) ได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นหนึ่งในนักแสดงที่ทุกคนยอมรับนับถือ หากคุณได้ชม The King’s Speech คุณก็จะไม่แปลกใจว่าทำไม เขาถ่ายทอดอารมณ์ตัวละครได้ละเอียด ละเมียดละไม และรับส่งมุกตลกได้อย่างยอดเยี่ยม เคมีที่ลงตัวระหว่างเขากับเฟิร์ธทำให้หนังทั้งเรื่องได้ผลเกินความคาดหมาย

Oscar 2011: Best Supporting Actress


เอมี อดัมส์ (The Fighter)

แม้กระทั่งหลังจากผ่านขั้นตอนการคัดเลือกแล้ว ผู้กำกับ เดวิด โอ’รัสเซลล์ ก็ยังเชื่อว่า เอมี อดัมส์ ดูไม่ค่อยเหมาะกับบทชาร์ลีน บาร์เทนเดอร์สาวสุดแกร่งที่หาญยืนหยัดอยู่ตรงกลางระหว่าง มิคกี้ วอร์ด (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) กับครอบครัวตัวแสบของเขา ปฏิกิริยาดังกล่าวไม่ใช่เรื่องแปลก เมื่อพิจารณาจากผลงานในอดีตของอดัมส์ ซึ่งโดดเด่นในแง่ความแสนดี อ่อนหวาน มองโลกในแง่ดี และไร้เดียงสา ไม่ว่าจะเป็นบทคุณแม่ชนบท (Junebug) ซึ่งทำให้เธอเข้าชิงออสการ์ครั้งแรก บทเจ้าหญิงในนิทานที่หลุดมาอยู่ในโลกแห่งความจริง (Enchanted) หรือบทแม่ชีมือใหม่ (Doubt) ซึ่งทำให้เธอเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่สอง ผลงานเหล่านี้ (หรือพูดให้ชัด คือ งานแสดงอันน่าเชื่อถือและทรงพลังเหล่านี้) ทำให้เราเข้าใจว่านักแสดงสาววัย 36 ปีจะฆ่ามดสักตัวยังไม่กล้า อย่าว่าแต่ต้องตบตีกับใครสักคน (หรือหกเจ็ดคน) เลย

“ตอนฉันได้รับเลือก เดวิดบอกว่าฉันดูเหมือนผู้หญิงที่ชกใครไม่เป็น นั่นทำให้ฉันอยากจะชกหน้าเขาชะมัด” อดัมส์เล่า “ฉันเลยตัดสินใจไปเข้าคลาสชกมวยกับเทรนเนอร์ของมาร์ค มันสนุกมาก เราช่วยกันออกแบบฉากการต่อสู้ด้วย ประเด็นสำคัญ คือ ฉันต้องเลิกกลัวว่าจะทำให้ใครเจ็บตัว นั่นเป็นเรื่องที่ฉันหนักใจมาก ฉันไม่อยากทำร้ายพวกผู้หญิงคนอื่นๆ ในฉากตะลุมบอน แต่ฉันไม่กลัวว่าตัวเองจะเจ็บตัวหรอก”

ทันทีที่รู้ว่าหลายฉากในหนัง ชาร์ลีนต้องโชว์เนื้อหนังมังสาไม่น้อยในชุดกางเกงขาสั้นและเสื้อสายเดี่ยว อดัมส์ ซึ่งเพิ่งคลอดลูกและรูปร่างยังไม่กลับคืนสู่สภาพปกติ จึงคิดจะเข้าฟิตเนสเพื่อลดหุ่น แต่ปรากฏว่าโอ. รัสเซลล์กลับชอบรูปร่างปัจจุบันของเธอมากกว่าโดยให้เหตุผลว่าเธอดูเหมือน “ผู้หญิงกินเบียร์” ซึ่งตรงตามบท นอกจากนี้ แม้เธอจะไม่มีมาดแบบหญิงห้าว แต่โอ.รัสเซลล์มั่นใจว่าเขาสามารถหวังพึ่งทักษะทางการแสดงของอดัมส์ได้แน่ “ผมรู้ว่าเธอกระตือรือร้นอยากรับบทที่แตกต่างจากเดิม และผมรู้ว่าเธอจะทำได้ชนิดไร้ที่ติ ชาร์ลีนเป็นหญิงแกร่ง เอมี่ก็เช่นกัน เธอถ่ายทอดอารมณ์ผ่านทางดวงตาได้อย่างยอดเยี่ยม” โอ. รัสเซลล์กล่าว

“ในสายตาฉัน จุดเด่นของชาร์ลีนอยู่ตรงเธอถูกห้อมล้อมด้วยตัวละครแรงๆ แต่กลับไม่เคยเรียกร้องให้ใครหันมาสนใจ เธอพอใจกับการนั่งอยู่ในฉากหลัง พยายามไม่ทำตัวให้โดดเด่น เธอมีความสุขที่เห็นมิคกี้ประสบความสำเร็จ เธอสนับสนุนเขาอย่างหมดใจ” อดัมส์กล่าว

ฉากการเผชิญหน้าเพื่อขอ “สงบศึก” ระหว่างชาร์ลีนกับ ดิ๊กกี้ (คริสเตียน เบล) ในช่วงท้ายเรื่องช่วยพิสูจน์ให้เห็นว่าหญิงสาวไม่เคยร้องขอสปอตไลท์ และความสุขของเธอ คือ การได้เห็นคนรักทำฝันให้เป็นจริง ดวงตาของอดัมส์ส่งผ่านความเจ็บปวดออกมาชัดเจน เมื่อถูกดิ๊กกี้จี้ปมว่าชีวิตเธอเองก็เต็มไปด้วยความล้มเหลวไม่ต่างจากเขา แม้ปากเธอจะพูดย้ำว่า “ชอบ” ชีวิตที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งความจริงหมายถึงชีวิตในปัจจุบันของ “เธอกับมิคกี้” หากมันไม่ถูกแม่กับพี่ชายเขาทำลายลงเสียก่อน การแสดงอันทรงพลังของอดัมส์ทำให้ชาร์ลีนกลายเป็นตัวละครที่คนดูสงสารและเอาใจช่วย


เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (The King’s Speech)

หลังใช้เวลาอยู่หลายปี พยายามสลัดทิ้งภาพลักษณ์ “ราชินีหนังพีเรียด” ซึ่งได้มาจากการแสดงหนังย้อนยุคระดับรางวัลอย่าง A Room with a View, Howards End และ The Wings of the Dove โดยเรื่องหลังสุดทำให้เธอเข้าชิงรางวัลออสการ์เป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม (การลงหลักปักฐานกับ ทิม เบอร์ตัน ช่วยให้เธอได้สวมบทบาทที่แตกต่างออกไปอย่างใน Sweeney Todd: The Demon Barber of Fleet Street และ Alice in Wonderland) ในที่สุด เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ก็หวนคืนสู่รากเหง้าอีกครั้งกับ The King’s Speech เพื่อรับบทเป็นภรรยาที่เข้าอกเข้าใจ และยืนหยัดเคียงข้างสามี (พระเจ้าจอร์จที่ 6 ผู้มีปัญหาการพูดติดอ่าง) อย่างอดทนและไม่ย่อท้อ (คนยุคปัจจุบันมักรู้จักพระองค์ในนาม เดอะ ควีน มัม)

ถึงแม้สไตล์การแต่งตัวของเธอจะห่างไกลจากคำว่า “อนุรักษ์นิยม” หรือกระทั่ง “เป็นผู้เป็นคน” (ถ้าคุณจินตนาการไม่ออก ให้ลองนึกถึงสไตล์การแต่งตัวของมาดอนน่ายุค Lucky Star) แต่บอนแฮม คาร์เตอร์กลับเปี่ยมอารมณ์ขันและไหวพริบเฉียบคมไม่ต่างจากตัวละครที่เธอแสดง “ตอนได้อ่านบท The King’s Speech ฉันนึกในใจว่า ‘โอ๊ย ไม่นะ ต้องแต่งชุดย้อนยุคอีกแล้วแบบเดียวกับเมื่อ 15 ปีก่อน’ มันเหมือนฉันกำลังเดินถอยหลัง ฉันตอบตกลงส่วนหนึ่งเพราะหนังใช้ทีมออกแบบเสื้อผ้าเดียวกับหนังเรื่อง A Room with a View ฉันเลยรู้สึกเหมือนได้เจอเพื่อนเก่า มันไม่ใช่ว่าพออ่านบทแล้วฉันอยากเล่นเป็น เดอะ ควีน มัม ซะเมื่อไหร่ ความจริง พออ่านบทแล้ว ฉันอยากเล่นเป็นพระเจ้าจอร์จที่ 6 ต่างหาก แต่ทอมบอกว่าโคลินตกลงรับบทนั้นแล้ว” นักแสดงสาววัย 44 ปีกล่าว

บอนแฮม คาร์เตอร์เล่าว่าเธอได้แรงบันดาลใจในการถ่ายทอดบุคลิกตัวละครจากประสบการณ์ส่วนตัว เมื่อพ่อของเธอป่วยหนักเป็นเวลาหลายปี ส่งผลให้แม่เธอต้องทุ่มเทแรงกายแรงใจเพื่อช่วยให้เขากลับมามีสุขภาพแข็งแรงเหมือนเดิม นอกจากนี้ เธอยังนั่งดูเทปบันทึกภาพประวัติศาสตร์ร่วมกับ โคลิน เฟิร์ธ เพื่อสังเกตลักษณะท่าทาง ตลอดจนแก่นความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง “ฉันมั่นใจว่าเธอให้กำลังใจเขาแบบเดียวกับแม่ให้กำลังใจลูก ทำให้เขาสัมผัสได้ว่าเธอมั่นใจและเชื่อมั่นในตัวเขา เธอไม่เคยตื่นตระหนกเหมือนเขา ซึ่งจะพยายามรีบพูดต่อให้จบ แต่กลับนิ่งสงบ แล้วมองเขาด้วยแววตาทำนองว่า ‘ไม่เป็นไร คุณต้องทำได้’ มันน่าสนใจว่าเขาต้องขอแต่งงานถึงสามครั้งกว่าเธอจะตอบตกลง มันไม่ใช่รักแรกพบ แต่ฉันคิดว่ามันพัฒนาไปสู่ความรักที่ยิ่งใหญ่และความสัมพันธ์ที่สมบูรณ์แบบ”

ความยุ่งเหยิงของตารางงานจากการถ่ายทำ Harry Potter ภาคสุดท้ายส่งผลให้บอนแฮม คาร์เตอร์ต้องเจียดเวลาเฉพาะช่วงเสาร์อาทิตย์ไปถ่ายทำ The King’s Speech ซึ่งนั่นก่อให้เกิดความสับสนไม่น้อยที่บ้าน “ลูกๆ ชอบถามฉันว่า ‘วันนี้แม่แสดงเป็นราชินี หรือแม่มด’ ใน Harry Potter ฉันต้องกรีดร้องและตะโกนบ่อยครั้ง ส่วนช่วงสุดสัปดาห์ ฉันจะได้บทที่ลุ่มลึกขึ้น โดยเน้นการแสดงออกมาจากข้างใน มันเป็นแบบฝึกหัดชั้นยอด แม่มดในวันธรรมดา ราชินีในวันหยุด”... และแน่นอน เธอถ่ายทอดทั้งสองด้านที่ต่างกันสุดขั้วได้อย่างไร้ที่ติ


เมลิสสา ลีโอ (The Fighter)

คำถามแรกของ เมลิสสา ลีโอ ต่อผู้กำกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ ก่อนเธอจะตอบตกลงรับบท อลิซ วอร์ด ใน The Fighter คือ “ฉันไม่เด็กเกินกว่าจะเล่นเป็นแม่ของมาร์คกับคริสเตียนเหรอ” นักแสดงสาวใหญ่ ซึ่งโด่งดังจากบทนำในซีรีย์ชุด Homicide Life on the Street และหนังอินดี้เรื่อง Frozen River ที่ทำให้เธอเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกเมื่อสองปีก่อน ยอมรับว่าค่อนข้างเกร็งเล็กน้อยกับการแสดงเป็นตัวละครที่อายุมากกว่าตัวจริง (ลีโอแก่กว่าสองนักแสดงหนุ่มในบทลูกชายประมาณสิบปี) “แต่พอถึงจุดหนึ่ง ฉันก็เลิกกังวล แล้วเชื่อว่าตัวเองเป็นแม่ของพวกเขาจริงๆ บางทีนั่นอาจเป็นความลับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของการแสดง ถ้านักแสดงเชื่อ พวกเขาก็ทำให้คนดูเชื่อตามได้” ลีโอกล่าว

นอกจากนี้ ลีโอยังดูไม่เหมือน อลิซ วอร์ด ตัวจริงเลย แต่ด้วยความช่วยเหลือของเสื้อผ้ายุค 80 เมคอัพ ทรงผมอันเป็นเอกลักษณ์ และการค้นคว้าหาข้อมูล รวมถึงการนัดพูดคุยกับอลิซตัวจริง ลีโอก็สามารถแปลงโฉมแล้วจมหายไปกับบทได้อย่างเหลือเชื่อ “ฉันไม่เคยเล่นเป็นคนที่มีชีวิตอยู่จริงมาก่อน มันไม่ง่ายเลย” ลีโอบอก “นาทีที่ทำให้รู้ว่าฉันสามารถทำได้และเชื่อว่าทำได้ คือ ตอนเดินออกจากรถเทรลเลอร์ แล้วชาวเมืองโลเวลล์ต่างเชื่อว่าฉันเป็นอลิซ”

ความเป็นนักแสดงแบบ “เมธอด” ทำให้ลีโอเลือกจะ “อยู่ในคาแร็กเตอร์” ตลอดการถ่ายทำ เธอบอกว่า“มันไม่ใช่เรื่องวิปริต หรือแปลกประหลาดอะไร ประเด็น คือ ฉันอยากจะอยู่ในจุดที่ใกล้เคียงกับคาแร็กเตอร์ตัวละครให้มากที่สุด เมื่อผู้กำกับสั่งเดินกล้อง ซึ่งอาจจะกินเวลาแค่ห้านาที หรือห้าชั่วโมงก็ตาม ฉันไม่ได้มากองถ่ายเพื่อหาเพื่อน หรือเพื่อให้ตัวเองดูดี ฉันจริงจังกับงานที่ทำมาก สำหรับฉันการแสดงคือศิลปะ”

หลายคนกล่าวโจมตีอลิซในหนังว่านำเสนอภาพลักษณ์แบบเหมารวมของชนชั้นล่าง หรือคุณแม่จากขุมนรก แต่ลีโอออกโรงปกป้องว่า “ฉันไม่เคยคิดว่าเธอเป็นแม่ที่เลวร้าย ตรงกันข้าม เธอสร้างอาชีพให้ลูกชายสองคน ดิกกี้ไม่มีวันได้ชกกับ ชูการ์ เรย์ ถ้าไม่ใช่เพราะเธอ มันเป็นเรื่องง่ายที่จะวาดภาพเธอเป็นวายร้าย แต่ฉันรู้ว่า อลิซ วอร์ด มีจิตใจดีงาม เธอไม่ได้เห็นแก่ตัว เธอเข้าใจดีกว่าใครว่าทำไมลูกชายถึงหันไปหายาบ้า เธอแค่ไม่พอใจที่เขาเก็บมันเป็นความลับ ครอบครัวคงไม่มีวันอยู่รอดถ้าลูกๆ พากันทำทุกอย่างลับหลังเธอ ฉันคิดว่ามันสวยงามมากที่เดวิดถ่ายทอดปัญหาติดยาของดิ๊กกี้โดยไม่ตัดสิน เพราะถึงที่สุดแล้วมีใครบ้างในโลกนี้ที่ไม่ได้เสพติดอะไรเลย”

ความรัก (และความรู้สึกผิด) ฉายชัดในแววตาของอลิซ เมื่อเธอจับได้ว่าดิ๊กกี้ (คริสเตียน เบล) ลอบมาเสพยา หรือเมื่อมิคกี้ (มาร์ค วอห์ลเบิร์ก) กล่าวหาเธอว่ารักลูกไม่เท่ากัน ลีโอทำให้คนดูเข้าใจว่าทุกพฤติกรรมชวนกังขาทั้งหลายของอลิซล้วนมีรากฐานมาจากความปรารถนาดี และเธอก็เป็นคนหนึ่งที่ควรค่าจะได้รับความเห็นใจไม่แพ้กัน


ไฮลี สไตน์เฟลด์ (True Grit)

ระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่อง True Grit ไฮลี สไตน์เฟลด์ ได้คิดค้นแผนหาเงินขึ้นจากการเป็นเด็กหญิงวัย 13 ปีที่โดนล้อมรอบด้วยทีมงานและนักแสดงวัยผู้ใหญ่ด้วยการจัดตั้ง “โหลค่าปรับ” สำหรับเก็บเงินใครก็ตามที่เผลอพูดคำหยาบออกมา 5ดอลลาร์สำหรับคำด่า และ 3 ดอลลาร์สำหรับคำสบถ พอหนังปิดกล้อง เธอสามารถเก็บเงินได้มากถึง 350 ดอลลาร์ แต่แทนที่จะนำไปซื้อเสื้อผ้า ไอพ็อด หรือลิปกลอสดีๆ สักแท่งตามห้างสรรพสินค้าเฉกเช่นเด็กวัยรุ่นทั่วไป สไตน์เฟลด์กลับนำเงินไปบริจาคให้กองทุนช่วยเหลือผู้ป่วยด้วยโรคอัลไซเมอร์

การเชื่อในสัญชาตญาณและบุคลิกมุ่งมั่นบนรากฐานแห่งศีลธรรมดังกล่าวเป็นสิ่งที่คุณสามารถคาดหวังได้จาก แม็ตตี้ รอส เด็กสาวผู้จุดประกายเรื่องราวทั้งหมดใน True Grit เมื่อเธอตัดสินใจจ้างมือกฎหมายออกตามล่าคนร้ายที่ฆ่าพ่อของเธอมาลงโทษ ขณะเดียวกันมันยังช่วยอธิบายได้ด้วยว่าเหตุใดสไตน์เฟลด์จึงเอาชนะเด็กหญิงกว่า 15000 คนที่มาทดสอบบท ทั้งที่ไม่เคยแสดงหนังมาก่อน

แม้จะเป็นมือใหม่ แต่สไตน์เฟลด์กลับปราศจากอาการเกร็ง หรือประหม่าเวลาต้องเข้าฉากสำคัญกับเหล่านักแสดงรุ่นใหญ่ ที่สำคัญ เธอประชันฝีมือกับพวกเขาได้แบบไม่เกรงกลัวบารมีด้วยซ้ำ ซึ่งนั่นสร้างความประหลาดใจไม่น้อยให้ แม็ท เดมอน ผู้รับบทเจ้าหน้าที่บ้านเมืองจากรัฐเท็กซัสที่กำลังตามล่าฆาตกรคนเดียวกับแมตตี้

“เธอนิ่งและมั่นใจเต็มเปี่ยมในแบบที่คุณไม่คาดว่าจะได้เห็นจากเด็กรุ่นราวคราวเดียวกัน” เขากล่าว “ผมยังคิดไม่ออกเลยว่าเธอทำได้ยังไง ปกติแล้วเวลาคุณเห็นการแสดงชั้นยอดของดาราเด็กในหนัง ส่วนใหญ่มักเป็นเพราะพวกเขาได้รับความช่วยเหลือจากสภาพแวดล้อมที่ผ่อนคลาย แล้วได้แสดงเป็นตัวละครซึ่งใกล้เคียงกับตัวตนจริง แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นกับไฮลี ภาษาที่เธอต้องพูดในหนังแตกต่างจากภาษาที่เธอพูดในชีวิตจริงมาก”

เดมอนรู้ดีว่าตนกำลังพูดถึงอะไร เพราะเขาเคยมีประสบการณ์ในการเล่นหนังกับดาราเด็กมาก่อน ล่าสุด คือ หนังเรื่อง Hearafter ของผู้กำกับ คลินท์ อีสต์วู้ด “สำหรับเด็กชายทั้งสองคนในเรื่อง เมื่อกล้องเริ่มถ่าย คลินท์กับผมจะต้องช่วยกันพูดป้อนข้อมูลหลายๆ อย่างเพื่อสร้างอารมณ์ให้พวกเขาแสดงปฏิกิริยาที่น่าเชื่อ สมจริง” เดมอนเล่า “แต่เราไม่ต้องใช้เทคนิคใดๆ แบบนั้นเลยกับไฮลี”

แม้บุคลิกภายนอก การพูดจา และการวางตัวของสไตน์เฟลด์จะดูเป็นผู้ใหญ่เกินวัย แต่ลึกๆ ข้างในเธอยังมีจิตวิญญาณไม่ต่างจากเด็กสาววัยรุ่นทั่วไป และบางครั้งก็อาจปรากฏให้เห็นระหว่างการสัมภาษณ์พูดคุย เธอยอมรับว่าคลั่งไคล้ดาราหลายคน และแทบรอไม่ไหวที่จะได้เจอ จอห์นนี่ เด็บบ์ กับ นาตาลี พอร์ตแมน ตัวเป็นๆ แต่แน่นอน เธอไม่ได้คิดจะขอแค่ลายเซ็นจากคนเหล่านั้น “ฉันเทิดทูน โจดี้ ฟอสเตอร์ และ นาตาลี พอร์ตแมน เป็นแม่แบบ พวกเธอเริ่มต้นอาชีพการแสดงตั้งแต่อายุยังน้อย และสามารถรักษาระดับคุณภาพงานมาได้จนถึงปัจจุบัน” เธอกล่าว “นั่นคือเป้าหมายของฉัน พวกเขาอาจมีคำแนะนำดีๆ ก็ได้”... และบางทีสไตน์เฟลด์อาจก้าวล้ำนำหน้าแม่แบบทั้งสองคนไปอีกขั้นในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ ด้วยการคว้ารางวัลออสการ์มาครองขณะอายุเพียง 14 ปี


แจ๊คกี้ วีเวอร์ (Animal Kingdom)

นักแสดงสาวใหญ่ผมบลอนด์ชาวออสเตรเลีย แจ๊คกี้ วีเวอร์ สร้างชื่อเสียงตลอดเวลาสี่ทศวรรษโดยการรับบทเป็น “คนดี” ทั้งในละครเวทีและภาพยนตร์ บท เจนีน “สเมิร์ฟ” โคดี้ ในหนังดรามา-อาชญากรรมเรื่อง Animal Kingdom ดูจะสอดคล้องกับนิยามดังกล่าวอย่างเหมาะเจาะ (อย่างน้อยก็ในแวบแรก) เธอเป็นแม่ของลูกชายสี่คน ซึ่งอาศัยอยู่ในกรุงเมลเบิร์นและหาเลี้ยงชีพด้วยการปล้นธนาคาร เธอดูจะมอบความรักและความเป็นห่วงเป็นใยให้พวกเขาทุกคน แต่เมื่อถูกบังคับให้ต้องเลือกระหว่างลูกชายกับหลานชาย (เจมส์ เฟรนช์วิลล์) ซึ่งเดินทางมาอยู่กับเธอหลังแม่ของเขาเสียชีวิต ตัวตนที่แท้จริงของสเมิร์ฟก็เริ่มปรากฏให้เห็น... และมันไม่ใช่ภาพที่สวยงามนัก

ผู้กำกับ เดวิด มิคอด บอกว่าเขาเขียนบทนี้โดยมีภาพของวีเวอร์อยู่ในหัว “ผมอยากให้สเมิร์ฟเป็นตัวละครที่ซับซ้อนและมืดหม่น แต่ภายใต้ภาพลักษณ์ที่ดูเป็นมิตร” เขากล่าว “คุณสมบัติดังกล่าวทำให้ตัวละครน่าสนใจขึ้น แจ๊คกี้เป็นนักแสดงที่มากด้วยประสบการณ์ เธอสามารถเล่นเป็นใครก็ได้ ผมคิดไม่ออกว่าจะมีใครรับบทนี้ได้ดีไปกว่าเธอ”

วีเวอร์กล่าวถึงตัวละครว่า “ลูกๆ ของเธอทั้งสี่คนล้วนเกิดจากพ่อคนละคน พวกเขาเป็นอาชญากรที่นิยมความรุนแรง เธอคบหาสมาคมกับอาชญากรมาตลอดชีวิต และหาเลี้ยงชีพจากพฤติกรรมผิดกฎหมาย นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมเธอถึงสนับสนุนให้ลูกๆ กระทำผิด ฉันคิดว่าเธอเป็นผู้หญิงที่ปราศจากจิตสำนึก หรือศีลธรรม”

นอกจากนี้ มิคอดกับวีเวอร์ยังชอบปรึกษาหารือเกี่ยวกับรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ของตัวละครด้วย เช่น เป็นความคิดของมิคอดที่ต้องการให้สเมิร์ฟจูบปากลูกๆ ทุกคน ในความคิดของวีเวอร์ การกระทำดังกล่าวสะท้อนให้เห็นระดับอิทธิพลของเธอเหนือพวกเขา “ฉันไม่คิดว่ามันส่อไปถึงเรื่องเพศ แต่มันเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมแน่นอน” วีเวอร์กล่าว “ฉันคิดว่าสาเหตุหนึ่งเป็นเพราะเธอไม่มีความสัมพันธ์ลึกซึ้งกับผู้ชายคนใด ฉะนั้น ความใกล้ชิดผูกพันกับเหล่าลูกชายทั้งสี่จึงเป็นเหมือนสิ่งที่เข้ามาทดแทนช่องว่างนั้น”

อย่างไรก็ตาม ด้านมืดของสเมิร์ฟไม่ได้ปรากฏชัดตั้งแต่ฉากแรก จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่คนดูจะรู้สึกช็อก เมื่อความจริงถูกเปิดเผย มิคอดเชื่อว่าสเมิร์ฟจิตไม่ปกติ แต่เธอไม่ใช่ปีศาจร้าย เธออยากเป็นแม่ที่รักและเอาใจใส่ของลูกๆ เธออยากให้ทุกคนมีความสุข แต่เมื่อถูกบังคับให้จนมุม เธอก็สามารถกระทำบางอย่างที่เลวร้ายอย่างคาดไม่ถึงได้เช่นกัน “เขาอยากให้คนดูค่อยๆ ตระหนักถึงธรรมชาติที่แท้จริงของเธอ” วีเวอร์กล่าว “ในฐานะนักแสดง มันเป็นบทที่ยั่วยวนให้คุณกระโจนเข้าใส่ แล้วเล่นร้ายตั้งแต่เริ่มแรก แต่เดวิดอยากให้มันเป็นหนังเกี่ยวกับชีวิตอาชญากรที่จริงจัง ฉันคิดว่าการค่อยๆ เปิดเผยความจริงเป็นตัวเลือกที่ดี มันน่าสนใจมากกว่า”

แล้วลูกชายแท้ๆ ของวีเวอร์ล่ะ มีโอกาสได้เห็นฝีไม้ลายมือของแม่ตัวเองใน Animal Kingdom บ้างไหม วีเวอร์เล่าว่าหลังจากดูหนังจบ ลูกชายของเธอส่งข้อความว่า “แม่เล่นได้โรคจิตมาก” มายังโทรศัพท์มือถือเธอ... เชื่อเถอะ ไม่ใช่เขาคนเดียวหรอกที่คิดแบบนั้น

วันอังคาร, กุมภาพันธ์ 15, 2554

Oscar 2011: The British Are Coming!


ช่วงเวลาเพียงสองสัปดาห์สามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างมากมายบนเส้นทางสู่ออสการ์ ในบทความชิ้นก่อนผมเคยเขียนไว้ว่า หากคู่แข่งสำคัญๆ อย่าง The King’s Speech หรือกระทั่ง The Fighter ต้องการแซงหน้า The Social Network ซึ่งกำลังวิ่งนำแบบม้วนเดียวจบจากการกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาแทบทุกสถาบันละก็ พวกมันจะต้องแย่งรางวัลสำคัญๆ ของเหล่าสมาพันธ์มาครองให้ได้ อย่างน้อยก็หนึ่งรางวัล (และโอกาสสูงสุดน่าจะเป็น SAG สาขานักแสดงกลุ่ม)... และนั่นก็เป็นสิ่งที่ The King’s Speech ทำสำเร็จ แถมยังก้าวไปไกลชนิดเหนือความคาดหมายของทุกคนด้วยซ้ำ

การคว้ารางวัลจาก PGA หรือสมาพันธ์ผู้อำนวยการสร้างมาครองอาจถูกมองได้ว่าเป็นเรื่องโชคช่วย และที่สำคัญ PGA ก็มีสถิติ “ตรงใจออสการ์” ไม่ค่อยเริดหรูนัก (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเทียบกับ DGA) หลังจากเคยมอบรางวัลสูงสุดให้หนังอย่าง Little Miss Sunshine, The Aviator, Moulin Rouge!, Apollo 13 และ The Crying Game แต่การเดินหน้าคว้า DGA มาครองแบบ “ล็อกถล่ม” และตบท้ายด้วย SAG แบบตามโผ ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่ากรรมการออสการ์ (ซึ่งไม่ใช่นักวิจารณ์) ชื่นชอบ The King’s Speech มากกว่า The Social Network

อาจกล่าวได้ว่า รางวัลออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมปิดฉากลงแล้ว และผู้ชนะได้แก่ The King’s Speech เพราะหากเทียบตามสถิติ มีหนังเพียงเรื่องเดียวเท่านั้นที่คว้ารางวัล SAG, DGA และ PGA มาครองแบบครบถ้วนแล้วพลาดออสการ์ นั่นคือ Apollo 13 (Braveheart เป็นผู้ชนะในปีนั้น) ความแตกต่างสำคัญอยู่ตรงที่ รอน โฮเวิร์ด ชวดการเข้าชิงออสการ์สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง นอกจากนี้ Apollo 13 ยังเข้าชิงเพียง 9 สาขาในปีนั้น ซึ่งน้อยกว่าผู้ชนะอย่าง Braveheart (10 สาขา และถือเป็นการเข้าชิงสูงสุด)

หากสังเกตให้ดีจะพบว่า The King’s Speech ไม่เพียงเข้าชิงในสาขาใหญ่ๆ ตามคาดเท่านั้น (นำชาย, สมทบชาย, สมทบหญิง, หนัง, บท, ผู้กำกับ) แต่ยังเลยเถิดไปถึงสาขาเล็กๆ ที่เหนือความคาดหมายอย่าง บันทึกเสียง อีกด้วย ตรงกันข้ามกับ The Social Network ซึ่งพลาดการเข้าชิงสาขาที่ “พอมีแวว” อย่าง สมทบชาย (แอนดรูว์ การ์ฟิลด์) นั่นถือเป็นลางหายนะที่บ่งบอกว่ากรรมการไม่ได้ชื่นชอบหนังเรื่องนี้มากนัก (บางทีการที่ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ ได้เข้าชิงสมทบหญิง แล้วการ์ฟิลด์หลุดจากสาขาสมทบชายก็สามารถบอกอะไรบางอย่างได้ เพราะผลงานการแสดงของทั้งสองไม่ได้โดดเด่นมากมาย การที่ใครจะได้เข้าชิงหรือไม่ได้เข้าชิงจึงอยู่ตรงความ “แข็งแกร่ง” ของหนังเป็นสำคัญ)

The Social Network อาจถูกน็อกลงไปนอนหมดสติคาเวทีก็จริง แต่อย่าเพิ่งโยนผ้าขาวให้ เดวิด ฟินเชอร์ ทั้งนี้เพราะกรรมการออสการ์ ซึ่งมีจำนวนน้อยกว่า DGA หลายเท่า และเน้นความเป็น exclusivity (พูดง่ายๆ ได้ว่า กรรมการออสการ์ส่วนใหญ่เป็นสมาชิก DGA แต่สมาชิก DGA ส่วนใหญ่ไม่ใช่กรรมการออสการ์) อาจให้เครดิตเจ้าของผลงานเด่นๆ ในอดีตอย่าง Se7ven, Fight Club, Zodiac และ The Curious Case of Benjamin Button เหนือผู้กำกับมือใหม่อย่าง ทอม ฮูเปอร์ ซึ่งเพิ่งกำกับหนังเป็นเรื่องที่สอง อย่าลืมว่า ไอ้เจ้า “สิทธิพิเศษสำหรับคนพิเศษ” นี่เองที่กลายเป็นปัจจัยสำคัญให้ออสการ์ตัดสินใจเลือก โรมัน โปลันสกี้ (The Pianist) แทน ร็อบ มาร์แชล (Chicago) ซึ่งคว้า DGA มาครอง และขณะเดียวกันมันก็อาจส่งอิทธิพลให้สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน (True Grit) เบียดแทรก คริสโตเฟอร์ โนแลน (Inception) ในช่วงโค้งสุดท้าย จนโนแลนต้องกลายเป็นม่ายขันหมากสามครั้งซ้อน (เข้าชิง DGA จาก Memento, The Dark Knight และ Inception) ทำสถิติเทียบเท่า ร็อบ ไรเนอร์ (Stand by Me, When Harry Met Sally และ A Few Good Men)

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าสถานการณ์ของฟินเชอร์ไม่สู้ดีนัก ความพ่ายแพ้บนเวที DGA ทำให้เขาตกลงมาเป็นมวยรองทันที หลังจากชกทำคะแนนนำมาตลอด

ในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โคลิน เฟิร์ธ ถือได้ว่าปิดประตูแพ้แบบเดียวกับ เจฟฟ์ บริดเจส เมื่อปีก่อน โดยรางวัลนี้หาได้มอบแด่ผลงานอันทรงคุณค่าของเขาในหนังเรื่อง The King’s Speech เท่านั้น หากแต่ยังรวมไปถึงผลงานเรื่องอื่นๆ ก่อนหน้าจากการคร่ำหวอดอยู่ในวงการมาเป็นเวลานาน แต่ยังไม่เคยได้รับรางวัลออสการ์มาก่อน การแข่งขันอาจลุ้นสนุกกว่านี้ ถ้า เจฟฟ์ บริดเจส ไม่ได้เพิ่งคว้าออสการ์มาครองจาก Crazy Heart

แล้ว เจสซี ไอเซนเบิร์ก หรือกระทั่ง เจมส์ ฟรังโก้ มีโอกาสแค่ไหนที่จะกลายเป็น เอเดรียน โบรดี้ แห่งปี 2011 คำตอบ คือ ไม่มากนัก (ในกรณีของฝ่ายแรก หากเขาได้ออสการ์ ก็จะทำลายสถิติที่โบรดี้สร้างไว้ด้วยการเป็นนักแสดงชายอายุน้อยสุดในประวัติศาสตร์ที่คว้าออสการ์สาขานำชายมาครอง) ความสำเร็จของโบรดี้ (The Pianist) เป็นผลโดยตรงมาจากข้อเท็จจริงว่า แจ๊ค นิโคลสัน (About Schmidt) และ เดเนียล เดย์-ลูว์อิส (Gangs of New York) ในปีนั้นล้วนเคยได้ออสการ์มาแล้วทั้งสิ้น แต่อย่างที่เราทราบๆ กันดี โคลิน เฟิร์ธ ยังไม่เคยได้ออสการ์มาก่อน และเขาก็นำแสดงในหนังซึ่งกรรมการออสการ์หลงรักชนิดหัวปักหัวปำเสียด้วย

สาขานักแสดงนำหญิงเรียกได้ว่ายังมีให้ลุ้น เพราะถึงแม้ นาตาลี พอร์ตแมน จะวิ่งนำมาหลายช่วงตัวแล้วจากการกวาดรางวัลนักวิจารณ์หลายสถาบัน ลูกโลกทองคำ และ SAG มาครอง แต่คู่แข่งสำคัญของเธออย่าง แอนเน็ต เบนนิง ก็ไม่ได้ทิ้งห่างนัก โดยคว้ารางวัลจาก NYFCC และ ลูกโลกทองคำ (สาขาหนังเพลง/ตลก) มาครอง แถมยังได้เปรียบตรงที่เธออยู่ในวงการมานาน เล่นหนังดีๆ มาเยอะ เข้าชิงออสการ์มาก็หลายครั้ง (นี่เป็นครั้งที่สี่) แต่ยังไม่เคยเป็นผู้ชนะ!

ความพ่ายแพ้บนเวที SAG อาจถือเป็นลางดี เพราะเบนนิงเคยได้ SAG นำหญิงจาก American Beauty แต่กลับต้องมาอกหักบนเวทีออสการ์ (ฮิลารี สแวงค์ จาก Boys Don’t Cry ได้รางวัลไป) บางทีคราวนี้วงล้อแห่งโชคลาภอาจหมุนวนมาทางเธอบ้าง ขณะเดียวกัน การได้แต่งงานกับ วอร์เรน บีตตี้ ก็ช่วยเหลือในแง่อิทธิพลกว้างขวาง ส่วนตัวเบนนิงเองก็ได้ชื่อว่าเป็นมิตรและมีเพื่อนฝูงมากมาย... ฟังดูเผินๆ เหมือนการประกวดนางงามมิตรภาพ แต่ต้องยอมรับความจริงว่า ปัจจัยย่อยเหล่านี้ถือว่ามีผลอย่างยิ่งบนเวทีออสการ์ ซึ่งอาศัยเสียงโหวตของกรรมการนับพันคน (ในสาขาการแสดง) ไม่เชื่อก็ลองเหลือบไปมองผู้ชนะในสาขานี้เมื่อปีก่อนได้ จังหวะเวลาและบารมีถือเป็นเรื่องที่ไม่อาจมองข้าม น้อยครั้งนักที่รางวัลออสการ์ตัดสินกันด้วยคุณภาพผลงานเป็นหลัก ตัวอย่างเท่าที่พอจะนึกออกในตอนนี้ก็เช่น ชาร์ลีซ เธรอน จาก Monster เป็นต้น

สถานะของ คริสเตียน เบล และ เมลิสสา ลีโอ ในสาขานักแสดงสมทบชายและหญิง ถือว่าค่อนข้างมั่นคง คอนเฟิร์ม (นั่นหมายความว่านี่อาจเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ออสการ์ลอกรายชื่อผู้ชนะจาก SAG) แต่กระนั้นก็อย่าประมาท เจฟฟรีย์ รัช และ เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ อย่างเด็ดขาด เพราะความรักไม่สิ้นสุดของกรรมการต่อหนังเรื่อง The King’s Speech อาจส่งอานิสงส์ต่อไปยังนักแสดงคนอื่นนอกจากเฟิร์ธ สถานการณ์คล้ายคลึงกันเคยเกิดขึ้นมาแล้วกับ จูดี้ เดนช์ จาก Shakespeare in Love (ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 13 รางวัล และฉกรางวัลหนังยอดเยี่ยมไปจาก Saving Private Ryan แบบต่อหน้าต่อตา ที่สำคัญ ทั้งสองเป็นผลงานภายใต้แรงผลักดันของ ฮาร์วีย์ ไวน์สไตน์)

เทียบกันแล้ว ความได้เปรียบของลีโอน่าจะน้อยกว่าของเบลเล็กน้อย เมื่อพิจารณาจากเหล่าคู่แข่งของเธอที่ดู “ลุ้นขึ้น” มากกว่า โดยนอกจากคาร์เตอร์ ซึ่งได้ประโยชน์จากปัจจัยย่อย นั่นคือ ความแข็งแกร่งของหนังและบารมีส่วนตัว (เธออยู่กินกับ ทิม เบอร์ตัน เล่นหนังชั้นดีมามาก และเคยเข้าชิงออสการ์สาขานำหญิงจาก The Wings of the Dove) แล้ว ไฮลี สไตน์เฟลด์ ยังมีโอกาสพลิกล็อกได้เช่นกัน เนื่องจากบทของเธอค่อนข้างโดดเด่น (ในระดับดารานำ แต่ถูกผลักมาชิงสมทบแบบเดียวกับ ตาตัม โอ’นีล จาก Paper Moon ที่คว้าออสการ์มาครอง) หรือแม้กระทั่ง แจ๊คกี้ วีเวอร์ ซึ่งขโมยหนังทั้งเรื่องมาครอง นอกจากนี้ สิ่งที่อาจทำให้ลีโอร้อนๆ หนาวๆ มากสุดอยู่ตรงสถิติที่ว่า สมทบหญิงเป็นสาขาสุดฮิตของปรากฏการณ์ “ล็อกถล่ม” ไม่เชื่อก็ลองดูรายชื่อผู้ชนะในอดีตอาทิ มาริสา โทเม (My Cousin Vinny) แอนนา พาควิน (The Piano) มาร์เซีย เกย์ ฮาร์เดน (Pollock) เป็นตัวอย่าง นี่เป็นสาขาที่ไม่คำนึงถึงบารมีมากเท่าสาขานักแสดงนำ ใครก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นดาราโนเนม หรือดาราเด็กดาวรุ่ง ก็มีโอกาสคว้าชัยมาครองมากพอๆ กับกลุ่มตัวเก็ง


คำสารภาพของผู้เข้าชิง

“การมีชื่อเข้าชิงรางวัลออสการ์ร่วมกับเหล่านักแสดงระดับสุดยอดที่ผมชื่นชมและให้ความเคารพถือเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ในโอกาสนี้ผมอยากจะขอบคุณนักแสดงร่วมในหนัง และขอแบ่งปันความภาคภูมิใจกับ จูลีแอนน์ มัวร์, แอนเน็ต เบนนิง, จอช ฮัทเชอร์สัน, มีอา วาซิโควสกา และแน่นอนผู้กำกับ ลิซา โชโลเดนโก ขอบคุณคณะกรรมการทุกคน นี่ถือเป็นชัยชนะสำหรับสิทธิในการแต่งงานของรักร่วมเพศ ซึ่งผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะกลายเป็นจริง” มาร์ค รัฟฟาโล (นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจาก The Kids Are All Right)

“มันช่างวิเศษสุดจริงๆ ฉันอุตส่าห์นั่งรอดูการประกาศรายชื่อ แต่ดันเผลอหลับไป แต่ฉันก็ได้รับโทรศัพท์ทันที พร้อมด้วยข้อความแสดงความยินดีอีกมากมายจากอดีตสามี เพื่อนๆ และคนในครอบครัว ฉันรู้ว่าหนังของเราไม่เลวทีเดียว แต่ไม่คิดว่ามันจะเป็นที่ชื่นชอบมากขนาดนี้” แจ๊คกี้ วีเวอร์ (นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก Animal Kingdom)

“10 รางวัลถือว่ามากโข เราไม่อยากไปแย่งที่ใคร” โจเอล โคน และ อีธาน โคน (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก True Grit)

“วัยทองและการเข้าชิงออสการ์ช่วยให้ฮอร์โมนพลุ่งพล่านดีแท้” เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ (สมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก The King’s Speech)

“ผมตื่นเพราะเสียงหมาเห่า หมาของผมมีสัมผัสที่หก ผู้รู้ว่าต้องได้รับข่าวดีถ้าเสียงโทรศัพท์ดัง แต่คงเป็นข่าวร้ายถ้าไม่มีใครโทรมา เสียงโทรศัพท์ดังหลังจากหมาของผมเริ่มต้นเห่า” เดวิด โอ. รัสเซลล์ (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก The Fighter)

“ผมคิดว่าหนังสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่เพราะมันเล่าเรื่องที่ไม่ได้จำกัดแค่ยุคสมัยใดยุคสมัยหนึ่ง แก่นหลักของหนังปรากฏให้เห็นมานานนับแต่เริ่มมีการเล่าเรื่องเลยทีเดียว เรื่องราวของมิตรภาพ ความจงรักภักดี การทรยศหักหลัง อำนาจ ชนชั้น และความอิจฉาริษยา เหล่านี้เป็นประเด็นที่เอสกิลุสชอบเขียนถึง เช่นเดียวกับเชคสเปียร์ โชคดีสำหรับผมที่พวกเขาไม่ว่าง ผมจึงมีโอกาสได้เขียนบทหนังเรื่องนี้” แอรอน ซอร์กิน (บทภาพยนตร์ดัดแปลงยอดเยี่ยมจาก The Social Network)

“ผมกำลังร่วมฉลองแบบเท้าไม่ติดพื้นกับเพื่อนร่วมงาน ผมไม่เคยดีใจและดื่มแชมเปญเยอะขนาดนี้มาก่อนในตอนเช้าตรู่” โคลิน เฟิร์ธ (นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก The King’s Speech)

“ผมกำลังเล่นต่อเลโก้กับลูกชายจนลืมเวลา พอเสียงโทรศัพท์ดัง ผมจึงรู้ว่าต้องเป็นข่าวดีแน่นอน ผมรู้สึกซาบซึ้งและเป็นเกียรติอย่างยิ่ง ผมนั่งดูการมอบรางวัลออสการ์มาตั้งแต่เด็ก และไม่เคยคาดฝันว่าวันนี้จะมาถึง ผมดีใจกับนาตาลีมากๆ เธอฝึกซ้อมอย่างหนักเป็นปี แล้วมอบความไว้วางใจให้ผมอย่างเต็มที่” ดาร์เรน อาโรนอฟสกี้ (ผู้กำกับยอดเยี่ยมจาก Black Swan)

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่ง บอกตามตรง เมื่อคืนผมนอนไม่หลับเพราะความตื่นเต้น ตอนเป็นเด็กผมกับคุณยายจะนั่งดูงานประกาศรางวัลออสการ์เป็นประจำทุกปี การเติบโตมาในรัฐโคโลราโดทำให้ผมไม่เคยนึกฝันว่าวันหนึ่งจะได้มีส่วนร่วมกับพิธีการอันยิ่งใหญ่นี้ ผมอยากขอบคุณดรีมเวิร์คส์ที่มอบโอกาสให้เราสร้างสรรค์ผลงานอย่างอิสระและผลักดันให้เราพัฒนาไปถึงจุดสูงสุด” คริส แซนเดอร์ส (ภาพยนตร์แอนิเมชั่นยอดเยี่ยมจาก How to Train Your Dragon)


สถิติและเกร็ดน่ารู้

ในบรรดานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมจำนวน 83 คนที่ผ่านมา มากกว่า 50% มีอายุระหว่าง 25-34 ปี โดยอายุ 29 ถือเป็นตัวเลขที่พบเห็นมากสุด ทีนี้ลองมาทายดูสิว่าใครในห้าคนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมปีล่าสุดมีอายุตรงตามเกณฑ์พอดี ใช่แล้ว คำตอบ คือ นาตาลี พอร์ตแมน ตัวเก็งอันดับหนึ่งจากหนังเรื่อง Black Swan โดยหากเธอคว้าชัยชนะมาครองจริงในคืนวันที่ 27 กุมภาพันธ์ เธอจะกลายเป็นนักแสดงคนที่ 8 ที่ได้ออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงเมื่ออายุครบ 29 ปีตามหลัง จิงเจอร์ โรเจอร์ส (Kitty Foyle: The Natural History of Woman) อิงกริด เบิร์กแมน (Gaslight) จูดี้ ฮอลลิเดย์ (Born Yesterday) อลิซาเบ็ธ เทย์เลอร์ (BUtterfield 8) โจดี้ ฟอสเตอร์ (The Accused) และ รีส วิทเธอร์สปูน (Walk the Line)

จากทั้งหมด 20 คนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในสาขาการแสดง นักแสดงที่อายุมากสุดและน้อยสุดล้วนมาจากหนังเรื่อง True Grit โดย ไฮลี สไตน์เฟลด์ (สมทบหญิง) เพิ่งอายุครบ 15 ปีไปเมื่อเดือนก่อน ส่วน เจฟฟ์ บริดเจส (นำชาย) อายุ 62 ปี

เจมส์ ฟรังโก้ ไม่ใช่นักแสดงคนแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีที่เขาควบตำแหน่งพิธีกรรางวัลออสการ์ (คู่กับ แอนน์ แฮทธาเวน์) ปรากฏการณ์ดังกล่าวเคยเกิดขึ้นมาแล้วเจ็ดครั้ง ตัวอย่างเช่น เดวิด นีเวน ได้ออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Separate Tables ตอนเขาเป็นพิธีกรเมื่อปี 1958 ไมเคิล เคน เป็นพิธีกรในปี 1973 และถูกเสนอชื่อเข้าชิงสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Sleuth เช่นเดียวกับ วอลเตอร์ แมทเธา ในปี 1972 ซึ่งถูกเสนอเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจาก Kotch

เช่นเดียวกับ ไฮลี สไตน์เฟลด์ นักแสดงหลายคนที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ในปีนี้เริ่มต้นอาชีพท่ามกลางแสงไฟตั้งแต่ช่วงวัยรุ่น ไม่ว่าจะเป็น นาตาลี พอร์ตแมน, ฮาเวียร์ บาเด็ม, มิเชลล์ วิลเลียมส์, เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์, คริสเตียน เบล, นิโคล คิดแมน, เจสซี ไอเซนเบิร์ก, เฮเลนา บอนแฮม คาร์เตอร์ และ เจฟฟ์ บริดเจส

สองขั้วตรงข้ามของกลุ่มผู้เข้าชิงในปีนี้ คือ อลัน เมนเคน ซึ่งได้ออสการ์มาแล้ว 8 ตัวสาขาเพลงและดนตรีประกอบในหนังการ์ตูนของดิสนีย์เรื่อง The Little Mermaid, Beauty and the Beast, Aladdin และ Pocahontas ตรงข้ามกับ โรเจอร์ เดียกินส์ ซึ่งชวดออสการ์มาแล้ว 8 ครั้งในสาขากำกับภาพจากหนังเรื่อง The Shawshank Redemption, Fargo, Kundun, The Man Who Wasn’t There, No Country for Old Men, The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford, The Reader และ O Brother, Where Art Thou?

สก็อตต์ รูดิน ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่อง The Social Network และ True Grit กลายเป็นผู้อำนวยการสร้างคนแรกนับจาก ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา เมื่อปี 1974 ที่สามารถพาหนังสองเรื่องเข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้ในปีเดียวกัน นั่นคือ The Godfather Part II และ The Conversation

อาจกล่าวได้ว่าออสการ์ชอบ True Grit เวอร์ชั่นรีเมคของสองพี่น้องโคนมากกว่า เนื่องจากมันถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากถึง 10 สาขา ในขณะที่เวอร์ชั่นดั้งเดิม (1969) ถูกเสนอชื่อเข้าชิงเพียง 2 สาขา นั่นคือ นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม (จอห์น เวย์น คว้ารางวัลมาครอง) และเพลงประกอบยอดเยี่ยม (พ่ายให้กับเพลง Raindrops Keep Fallin’ on My Head จากหนังเรื่อง Butch Cassidy and the Sundance Kid)

นับแต่ปี 2000 เป็นต้นมา มีหนังแค่ 4 เรื่องถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ 12 รางวัลหรือมากกว่า นั่นคือ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring, Chicago, Gladiator และ The Curious Case of Benjamin Button ข่าวดีสำหรับ The King’s Speech คือ มีเพียง The Curious Case of Benjamin Button และ The Lord of the Rings: The Fellowship of the Ring เท่านั้นที่ชวดรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่ข่าวร้ายสำหรับผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ คือ ไม่มีใครได้รางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมเลย (ปีเตอร์ แจ๊คสัน พ่ายให้กับ รอน โฮเวิร์ด จาก A Beautiful Mind ร็อบ มาร์แชล พ่ายให้กับ โรมัน โปลันสกี้ จาก The Pianist ริดลีย์ สก็อตต์ พ่ายให้กับ สตีเวน โซเดอร์เบิร์ก จาก Traffic และ เดวิด ฟินเชอร์ พ่ายให้กับ แดนนี บอยล์ จาก Slumdog Millionaire)

เจฟฟรีย์ รัช (The King’s Speech) เป็นหนึ่งในนักแสดงเพียง 19 คนที่สามารถคว้ารางวัลทางการแสดงสำคัญๆ มาครองได้ครบถ้วน นั่นคือ ออสการ์ (นำชายจาก Shine) เอ็มมี่ (นำชายจาก The Life and Death of Peter Sellers) และโทนี่ (นำชายจาก Exit the King) นักแสดงคนก่อนๆ ที่ประสบความสำเร็จในระดับเดียวกันก็เช่น อัล ปาชิโน, พอล สกอฟิลด์, เฮเลน เฮย์ส, เอลเลน เบิร์นสตีน, แอนน์ แบนครอฟท์, อินกริด เบิร์กแมน, เจเรมี ไอรอนส์, วาเนสซา เรดเกรฟ และ เจสซิกา แทนดี้

สองพี่น้อง โจเอล และ อีธาน โคน กลายเป็นเพื่อนร่วมก๊วนกับ วอร์เรน บีตตี้, ฟรานซิส ฟอร์ด คอปโปลา, โอลิเวอร์ สโตน และ ปีเตอร์ แจ๊คสัน จากสถิติเข้าชิงรางวัลออสการ์สามสาขาสำคัญ (กำกับ,หนัง,บท) ภายในปีเดียวกันได้ถึงสองครั้ง โดยก่อนหน้า True Grit พวกเขาเคยทำสำเร็จมาแล้วกับ No Country for Old Men และกวาดรางวัลมาครองครบทั้งสามสาขา (ส่วนใน Fargo อีธานได้เครดิตผู้อำนวยการสร้าง โจเอลได้เครดิตผู้กำกับ และทั้งสองคว้ารางวัลมาครองร่วมกันจากสาขาบทภาพยนตร์) อย่างไรก็ตาม คนที่ถือครองสถิติสูงสุดยังคงเป็น สแตนลีย์ คูบริค ซึ่งเข้าชิงในฐานะผู้อำนวยการสร้าง, ผู้กำกับ และคนเขียนบทพร้อมกันสามครั้งจากหนังเรื่อง Dr. Strangelove or: How I Learn to Stop Worrying and Love the Bomb (1964), A Clockwork Orange (1971) และ Barry Lyndon (1975)