วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 21, 2557

หนังแห่งความประทับใจ


The Conjuring: หลังจากหนังดำเนินเดินเรื่องไปได้ประมาณ 10 นาที เพื่อเล่าประวัติความเป็นมาของตุ๊กตา แอนนาเบล” (อยากรู้ว่าเด็กเปรตที่ไหนเสียสติพอจะซื้อตุ๊กตาชวนสะพรึงแบบนี้มาเล่นที่บ้าน) ผมก็รู้สึกได้แล้วว่าหนังผีเรื่องนี้ไม่ธรรมดาแน่นอน เพราะมันเลือกจะเน้นการสร้างบรรยากาศน่าขนลุกมากกว่าช็อกคนดูอย่างตื้นเขินด้วยการใช้เสียงดังสนั่น หรือตัดภาพแบบฉับพลัน ตรงกันข้าม หลายช็อตของหนังกล้องดูเหมือนจะตามติดตัวละครอย่างต่อเนื่อง ทำให้คนดูนึกหวาดหวั่นสะดุ้ง และกรีดร้องไปพร้อมๆ กับตัวละคร และบางทีช็อตที่น่าขนลุกที่สุดอาจไม่ใช่ฉากผีโผล่ แต่เป็นตอนที่กล้องแช่ภาพไปยังความมืดหลังบานประตู

Gravity: ในอวกาศนอกจากจะไม่มีใครได้ยินเสียงคุณกรีดร้องแล้ว ยังไม่มีใครเห็นคุณ หรือช่วยเหลืออะไรคุณได้อีกด้วย คุณเกิดมาเพียงลำพัง และในที่สุดก็ต้องตายไปอย่างโดดเดี่ยวอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง สุดท้ายแล้วจึงขึ้นอยู่กับว่าคุณจะเลือกใช้เวลาที่เหลืออยู่นั้นอย่างไร

Inside Llewyn Davis: พระเจ้าในหนังของสองพี่น้องโคนยังคงโหดเหี้ยมอย่างเสมอต้นเสมอปลาย จริงอยู่ความบัดซบของชีวิตส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากการกระทำของ ลูวิน เดวิส โดยตรง (แตกต่างจากตัวละครเอกใน A Serious Man ที่ดูจะตกอยู่ในฐานะผู้ถูกกระทำมากกว่า) แต่ขณะเดียวกันความพยายามกับพรสวรรค์ก็ใช่ว่าจะให้ผลลัพธ์เป็นความสำเร็จเสมอไป และการออกเดินทางก็ใช่ว่าจะนำมาซึ่งบทเรียนชีวิตอันงดงาม หรือความก้าวหน้าไปสู่สิ่งที่ดีกว่า และที่น่าเศร้าไปกว่านั้น มันดันพาเราวนกลับมายังจุดเริ่มต้นโดยที่ไม่ได้ฉลาดขึ้น หรือกลายเป็นคนที่ดีขึ้นเลย หนังยังเจืออารมณ์ขันแบบโคนเอาไว้บางๆ และท่ามกลางความหดหู่ สิ้นหวัง เสียงเพลงโฟล์คอันไพเราะก็มอบความรื่นรมย์ ความหวังได้อย่างน่าประหลาด แม้ว่าเนื้อหาส่วนใหญ่จะพูดถึงแต่ความตาย หรือการจากลาก็ตาม

Like Father, Like Son: ตัวตนของเราหล่อหลอมขึ้นจากสภาพแวดล้อมมากกว่าดีเอ็นเอภายใน และมนุษย์ก็มีพลังมากพอจะพัฒนา/เปลี่ยนแปลง/เรียนรู้แทนการเดินหน้าสู่ชะตากรรม ซึ่งถูกกำหนดโดยพลังบางอย่างเหนือการควบคุม นี่ถือเป็นด้านสว่างของการดำรงชีวิตเมื่อเทียบกับหนังของพี่น้องโคน และเหมาะจะนำไปฉายคู่กับหนังอย่าง The Place Beyond the Pines ซึ่งส่งกลิ่นอายแห่งโศกนาฏกรรมกรีก

Zero Dark Thirty: ความตายบังเกิดขึ้น ตามมาด้วยการแก้แค้น หนังไม่ได้มอบความชอบธรรมหรืออารมณ์สะใจให้วิธีการตาต่อตาฟันต่อฟัน และความสำเร็จในตอนท้ายก็ห่างไกลจากนาทีแห่งการเฉลิมฉลองอย่างสิ้นเชิง แต่บางทีการไม่แสดงจุดยืนทางศีลธรรมให้ชัดเจนก็ทำให้หนังตกเป็นเป้าโจมตีที่เย้ายวนจากสองฟากแนวคิด แม้ว่าการยืนหมิ่นเหม่อยู่บนเส้นกึ่งกลางนั้นจะสะท้อนให้เห็นถึงความทะเยอทะยานที่เพิ่มขึ้นของทีมผู้สร้าง ในอันที่จะท้าทายคนดูมากกว่าแค่มอบความบันเทิงที่ปลอบประโลมจิตใจ

นักแสดงชาย

เดนเซล วอชิงตัน (Flight) ลำพังแค่ฉากคำให้การในตอนท้ายเรื่องฉากเดียวก็ถือว่าคุ้มแล้วสำหรับการเข้าชิงออสการ์

แบรดลีย์ คูเปอร์ (Silver Linings Playbook) ไม่ใช่เรื่องง่ายในการทำให้ตัวละครที่น่ารำคาญดูมีเสน่ห์ได้ขนาดนี้

เดเนียล เดย์ ลูว์อิสต์ (Lincoln) เนียนมาก อบอุ่นมาก ต่างจากตัวเขมือบซีนใน There Will Be Blood ราวกับคนละคน

เจค จิลเลนฮาล (Prisoners) เชี่ยวชาญการรับมือกับทอร์นาโดแบบเดียวกับ แซลลี ฮอว์กินส์ ใน Blue Jasmine

แดเนียล บรูห์ล (Rush) เขาแปลงตัวละครที่มองจากภายนอกค่อนข้างยโส น่าหมั่นไส้ ให้ดูมีเลือดมีเนื้อและชีวิตชีวา

นักแสดงหญิง

คาเมรอน ดิแอซ (The Counselor) บางทีบทโหดๆ และเลือดเย็นอาจเหมาะกับเธอมากกว่าบทแบบ แมรีซะอีก

เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (American Hustle) ในหนังแบบนี้คำว่า เล่นน้อยได้มาก ใช้ไม่ได้ผล

ชาร์นี วินสัน (You’re Next) อาจดูบอบบางกว่า ซิกเกอร์นีย์ วีเวอร์ ใน Alien แต่หนังเหนียวและทรหดไม่แพ้กัน

เคท แบลนเช็ตต์ (Blue Jasmine) ช่วงสิบนาทีสุดท้ายรู้สึกว่าหล่อนจะน่ากลัวยิ่งกว่าตุ๊กตาแอนนาเบลซะอีก

อเดล เอ็กซาร์โคพูลอส (Blue Is the Warmest Color) สวยงาม น่ารัก และหัวใจสลายได้อย่างน่าตื่นตะลึง

ไม่มีความคิดเห็น: