วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 21, 2557

Short Comment: Gravity


ในหนังเรื่อง Y Tu Mama Tambien ผู้กำกับ อัลฟอนโซ คัวรอน สอดแทรกเรื่องราวและแนวคิดเกี่ยวกับความตายเอาไว้ท่ามกลางฉากเซ็กซ์เร่าร้อนและมุกตลกทะลึ่งตึงตังผ่านเสียงบรรยายของบุคคลที่สาม กล่าวคือ ขณะที่เหล่าตัวละครพากันกอบโกยความสุข ความอิ่มเอมเข้าใส่ชีวิต เขายืนกรานที่จะย้ำเตือนคนดูให้ระลึกถึงปลายทางซึ่งไม่อาจหลีกเลี่ยงของมนุษย์ทุกคน ส่วนในผลงานอันน่าตื่นตะลึงชิ้นล่าสุด คัวรอนได้จำลองภาพปลายทางดังกล่าวให้เห็นเป็นรูปธรรมผ่านอวกาศอันมืดมิด ไร้จุดสิ้นสุด ความเงียบสงัดจนคุณได้ยินเพียงเสียงความคิดตัวเอง และความต่ำต้อย กระจิริดของมนุษย์ท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล

อวกาศแม้จะไร้ขอบเขต หรือเส้นกั้น แต่มันกลับให้ความรู้สึกจองจำ ปิดขังมากกว่าจะมอบอิสรภาพ ไม่ต่างจากโลงศพขนาดใหญ่ที่ค่อยๆ กลืนกินคุณ (ความมืดมิด ความเงียบ และออกซิเจนอันจำกัด) ดุจเดียวกับภาพปิดท้ายช็อตแรกของหนัง เมื่อ ดร. ไรอัน สโตน (แซนดร้า บูลล็อค) ลอยคว้างออกห่างจากกล้องจนกลายเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในความมืดมิด ซึ่งในเวลาเดียวกันภาพดังกล่าวก็ใช้สะท้อนภาวะทางจิตใจของตัวละครได้อย่างแยบยล

ตรงกันข้ามกับ Y Tu Mama Tambien หนังเรื่อง Gravity เล่าย้อนตลบถึงเรื่องราวของตัวละครที่เสมือนตายไปแล้ว อย่างน้อยก็ในแง่จิตวิญญาณ แต่สุดท้ายเมื่อต้องเผชิญวิกฤติการณ์เฉพาะหน้าก็สามารถสะดุ้งตื่น (หรืออาจเรียกได้ว่าเกิดใหม่หากสังเกตจากฉากสุดท้ายซึ่งถูกใช้ในแง่สัญลักษณ์) แล้วกอบกู้ศรัทธาต่อชีวิตกลับคืนมาได้ กล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ หนังเรื่องแรกพูดถึงตัวละครที่กำลังเพลิดเพลิน ลุ่มหลง สนุกสนาน ก่อนจะพลันตระหนักถึงความเปราะบางของชีวิต ส่วนหนังเรื่องหลังพูดถึงตัวละครที่กำลังสิ้นหวัง ก่อนจะพลันตระหนักถึงคุณค่าแห่งการดำรงอยู่... ถ้า Y Tu Mama Tambien เป็นคติธรรมสอนใจให้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต Gravity ก็คือ บทสรรเสริญความงามแห่งการยอมรับในปัจจุบัน แล้วเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยอดีต


ความน่าสนใจของ Gravity อยู่ตรงที่มันผสานความขัดแย้งแบบขั้วตรงข้ามเข้าไว้ด้วยกันอย่างกลมกลืน ทั้งในส่วนของเรื่องราว (ความตายกับการเกิดใหม่) การสร้างสรรค์ภาพ (ในช็อตหนึ่งของหนังกล้องเริ่มต้นด้วยภาพในมุมกว้างแบบแทนสายตาคนดู ก่อนต่อมาจะค่อยๆ ขยับเข้าใกล้เป็นภาพโคลสอัพ และด้วยความมหัศจรรย์ของเทคนิคพิเศษด้านภาพเคลื่อนเข้าสู่หมวกนักบินอวกาศมาเป็นมุมกล้องแทนสายตาตัวละครโดยไม่ต้องอาศัยการตัดภาพใดๆ!) และข้อเท็จจริงที่ว่ามันเกือบจะเป็นหนังทดลองโดยเนื้อแท้ แต่ขณะเดียวกันก็ยังมีพล็อตเรื่องให้คนส่วนใหญ่สามารถจับต้องได้ (แม่ที่พยายามจะทำใจยอมรับการสูญเสีย แล้วเดินหน้าชีวิตต่อไป/ นักบินอวกาศที่พยายามจะต่อสู้เพื่อเอาชีวิตรอดท่ามกลางหายนะนานัปการ) ตามสไตล์การเล่าเรื่องแบบคลาสสิก แม้ว่าโดยรวมแล้วพล็อตจะค่อนข้างเบาบาง และเรียบง่ายเมื่อเทียบกับหนังตลาดเรื่องอื่น (แต่นัยยะทางศาสนา ตลอดจนความลุ่มลึกในการนำเสนอก็ทำให้มันก้าวไปไกลกว่าหนังบล็อกบัสเตอร์อีกมากมาย) ส่งผลให้คนดูสามารถเข้าถึงหนัง ตลอดจนตีความหนังได้ทั้งในแง่รูปแบบและเนื้อหา จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมหลายคนถึงยกมันไปเปรียบเทียบกับหนังไซไฟระดับคลาสสิกอย่าง 2001: A Space Odyssey  

ไม่มีความคิดเห็น: