วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 21, 2557

Oscar 2014: ปีทองของคนผิวสี


นับได้ว่า 2013 ถือเป็นอีกหนึ่งปีทองของวงการภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด เนื่องจากหนังคุณภาพตัวเก็งทั้งหลายล้วนเอาตัวรอดจากกระแสความคาดหวังไปได้เกือบหมด ไม่ปรากฏวี่แววความล้มเหลวไม่เป็นท่าในแบบ J. Edgar หรือ All the King’s Men หรือ The Shipping News ส่งผลให้การแข่งขันบนเวทีออสการ์ทำท่าจะดุเดือดเลือดพล่านตามไปด้วย หลายสาขา เช่น นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม ย่อมเกิดเหตุการณ์ทำนอง รักพี่เสียดายน้องจนยากต่อการคาดเดาว่าสุดท้ายใครจะหลงเหลือเป็น 5 คนสุดท้าย และใครจะต้องถูกคัดออกอย่างน่าเสียดาย ไม่ใช่เพราะผลงานของเขามีคุณภาพไม่ถึงเกณฑ์ แต่เป็นเพราะหนังของเขาอาจไม่ค่อยเข้าทางออสการ์ หรือเป็นหนังเล็กๆ ซึ่งไม่ค่อยมีคนได้ดู หรือตัวบทของเขาอาจไม่เปิดโอกาสให้โชว์พลังในแบบที่คณะกรรมการชื่นชอบ

เช่นเคยการละเล่นโหมโรงเริ่มต้นด้วยเทศกาลประกาศรางวัลของเหล่านักวิจารณ์ทั้งหลาย นำโดยสมาคมใหญ่อย่างนักวิจารณ์นิวยอร์ก (NYFCC) ซึ่งกลายเป็น เจ้าแรกในช่วงสามปีล่าสุด ตามมาด้วยสมาคมที่เคยดำรงตำแหน่ง เจ้าแรกมาเนิ่นนานอย่าง National Board of Review ซึ่งโดยเทคนิคแล้วไม่ใช่นักวิจารณ์ และมักจะถูกมองว่าปราศจากเครดิตน่าเชื่อถือ แต่ด้วยความที่ NBR มีประวัติศาสตร์ยาวนาน แถมหลายครั้งก็ช่วยผลักดันหนังบางเรื่อง นักแสดงบางคนให้เป็นที่จับตามองจนได้เข้าชิงออสการ์ มันจึงกลายเป็นหนึ่งในสถาบันหลักสำหรับใช้คาดเดาทิศทางออสการ์ จากนั้นก็ปิดท้ายด้วยสมาคมใหญ่อีกฟากของประเทศ นั่นคือ นักวิจารณ์ลอสแองเจลิส ทั้งหมดเปรียบเสมือน 3 ยักษ์ใหญ่ โดยบางคนอาจเหมารวม National Society of Film Critics เข้าไปด้วยอีกหนึ่ง แต่เนื่องจาก NSFC ไม่ค่อยจะอิงกระแส แถมยังประกาศผลช้ากว่าเจ้าอื่นๆ จึงทำให้มันไม่ค่อยมีบทบาทในการคาดเดาทิศทางออสการ์มากนัก (ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา มีหนังออสการ์เพียง 2 เรื่องที่คว้าชัยชนะสูงสุดจาก NSFC มาครอง คือ Million Dollar Baby และ The Hurt Locker)

พึงสังเกตว่าในระยะหลังๆ มีสมาคมนักวิจารณ์ถือกำเนิดขึ้นยิบย่อยมากมาย ซึ่งเมื่อมองแบบแยกส่วนแล้วอาจไม่ปรากฏว่ามีเจ้าไหนโดดเด่น น่าจับตามองเป็นพิเศษ แต่เมื่อมองโดยภาพรวมกลับช่วยชี้ทางให้เห็นบทสรุปบางอย่างได้ชัดเจนขึ้น กล่าวคือ หากหนังเรื่องใด หรือนักแสดงคนใดกวาดรางวัลมาครองสูงสุด นั่นหมายความว่ามัน/เขา/เธอเป็นตัวเลือกที่ลงล็อกสุดของเหล่านักวิจารณ์ เป็นตัวเลือกที่ไม่สร้างความขัดแย้ง แบ่งแยกผู้คน หรือก่อให้เกิดความรู้สึกสุดโต่งมากนัก ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างในปีก่อน เมื่อ NYFCC และ NBR มอบรางวัลแก่ Zero Dark Thirty ขณะที่ LAFCA เลือก Amour แต่เมื่อพิจารณาภาพรวมจากรางวัลนักวิจารณ์ทั้งหมดแล้วกลับพบว่า Argo คือ ตัวเลือกที่คนส่วนใหญ่เห็นพ้องต้องกันมากที่สุด และในเมื่อออสการ์ก็มีภาพลักษณ์เป็นรางวัล ป็อปปูล่าโหวตอยู่กลายๆ จึงไม่แปลกที่สุดท้ายแล้ว เบน อัฟเฟล็ค จะเดินออกมาจากงานพร้อมกับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

ดูจากแนวโน้มแล้ว สถานการณ์ทำท่าจะเดินซ้ำรอยเดิม เมื่อบรรดาสมาคมยักษ์ใหญ่อย่าง NYFCC, NBR และ LAFCA ต่างพากันตีตัวเหินห่างจากหนังตัวเก็งเต็งหนึ่งอย่าง 12 Years a Slave กันถ้วนหน้า (แม้ว่าในกรณี NYFCC หนังของ สตีฟ แม็คควีน จะพ่ายแพ้ให้กับ American Hustle ไปเพียงคะแนนเดียวเท่านั้นจากการโหวตในรอบสุดท้าย) แต่ไม่นานต่อมาบรรดาสมาคมเล็กๆ ทั้งหลายก็สถาปนาตัวขึ้นปกป้องหนังเกี่ยวกับการค้าทาสในอเมริกาเรื่องนี้กันอย่างพร้อมเพรียง ด้วยเหตุนี้ 12 Years a Slave ซึ่งเริ่มต้นได้กะพร่องกะแพร่งในช่วงต้น จึงสามารถกลับมาแข็งแกร่งดังเดิมได้ในช่วงปลายเทศกาลรางวัลนักวิจารณ์ พร้อมทั้งได้เข้าชิงทุกสาขาที่ควรจะได้เข้าชิงแบบครบถ้วนทั้งบนเวที SAG และ ลูกโลกทองคำ ทำให้มันก้าวขึ้นเป็นผู้นำได้อย่างสง่างาม

ส่วน Gravity หนังตัวเก็งอีกเรื่องซึ่งถือเป็นคู่แข่งสำคัญของ 12 Years a Slave ก็ทำหน้าที่ได้สวยสดงดงามไม่แพ้กันจากการคว้ารางวัลใหญ่จาก LAFCA มาครอง แน่นอน ไม่มีใครคาดหวังว่าหนังมหากาพย์เทคนิคพิเศษเรื่องนี้จะกวาดรางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์มาครอง แต่เพื่อหล่อเลี้ยงความหวังบนเวทีออสการ์เอาไว้ มันจำเป็นต้องชนะรางวัลในบางเวทีบ้างเพื่อให้คนจดจำได้ แล้วหันมามองตัวหนังว่าไม่ได้มีดีแค่ภาพสวย เอฟเฟ็กต์เลิศเท่านั้น และนั่นเป็นสิ่งที่ Gravity ทำสำเร็จในระดับเดียวกับ Life of Pi เมื่อปีก่อน คราวนี้ก็คงต้องมาลุ้นกันอีกทีว่าแรงสนับสนุนจากกลุ่มสมาชิกในสายเทคนิค (ตัดต่อ/กำกับภาพ/บันทึกเสียง/เทคนิคด้านภาพ ฯลฯ) จะหอบหิ้วมันให้ก้าวนำ Life of Pi ไปอีกขั้นได้หรือไม่ ความสำเร็จทางด้านรายได้ในระดับเหนือความคาดหมายของ Gravity อาจเป็นทั้งผลดีและผลเสียในเวลาเดียวกัน ในแง่หนึ่งบางคนอาจมองว่านี่คือหนังแห่งปรากฏการณ์ เป็นหลักไมล์ของวงการภาพยนตร์ที่ไม่อาจมองข้าม แต่ในอีกแง่หนึ่งบางคนก็อาจเห็นว่ามันเป็นเพียงหนังป็อปคอร์นชั้นดีที่ไม่คู่ควรกับรางวัลสูงสุด โดยหนังออสการ์เรื่องสุดท้ายที่สามารถทำเงินได้มหาศาลได้ในระดับใกล้เคียงกัน คือ The Lord of the Rings: The Return of the King เมื่อ 10 ปีที่แล้ว

เซอร์ไพรซ์แห่งปีคงหนีไม่พ้นหนังเรื่อง Her ที่แอบย่องมาขโมยซีนของ 12 Years a Slave แบบเนียนๆ ในหลายสถาบันจนคว้าตำแหน่งขวัญใจนักวิจารณ์อันดับสอง โดยไฮไลท์คงหนีไม่พ้นการได้รางวัลสูงสุดจากสองสมาคมใหญ่อย่าง NBR และ LAFCA มาครอง ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นว่าคนที่ชอบหนังเรื่องนี้ ชอบมันในระดับหลงรัก ขณะที่ 12 Years a Slave เป็นหนังที่คนส่วนใหญ่ชื่นชม หรือนับถือมากกว่าจะหลงรัก แต่สำหรับบนเวทีออสการ์หนังเกี่ยวกับความรักระหว่างชายหนุ่มกับระบบปฏิบัติการในมือถืออาจ แนวมากเกินไปสำหรับตาแก่วัย 85 ปี จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าสุดท้ายแล้วรางวัลหนังยอดเยี่ยมจะเป็นการขับเคี่ยวกันของ 12 Years a Slave และ Gravity โดยมี American Hustle เป็นตัวสอดแทรกสำคัญ ส่วน Her, Nebraska, Inside Llewyn Davis, The Butler และ Captain Phillips น่าจะยิ้มรับการมีชื่อเข้าชิง และพยายามอย่าคาดหวังผลลัพธ์เกินตัว แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อาจประมาท Dallas Buyers Club ซึ่งหลุดเข้าชิงนักแสดงกลุ่มยอดเยี่ยมของ SAG และSaving Mr. Banks ที่คอยจ้องแย่งซีนอยู่ไม่ห่าง

ในกลุ่มตัวเก็ง หนังที่ตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง ได้แก่ The Wolf of Wall Street ของ มาร์ติน สกอร์เซซี ซึ่งปิดจ๊อบล่าช้าสุด มีปัญหามากสุด (หนังเวอร์ชั่นแรกมีความยาวเกิน 3 ชั่วโมงก่อนจะถูกหั่นใหม่ให้สั้นลง) และสร้างกระแส ไม่รักก็เกลียดได้เข้มข้นสุด กรรมการออสการ์บางคนถึงกับทวิตด่าหนังเรื่องนี้ว่า น่ารังเกียจและ เป็นความทรมานแต่บางคนก็อินกับการทดลองเสี่ยงและไปได้สุดของสกอร์เซซี หากมองจากกระแสในยกแรก หนังดูเหมือนจะเสียเปรียบคู่แข่งอยู่พอตัวเพราะเปิดฉายช้ากว่าคนอื่น ทำให้กรรมการส่วนใหญ่อาจจะยังไม่ได้ดู ส่วนสกรีนเนอร์ก็ผลิตไม่ทันกำหนดโหวตลงคะแนน ทำให้มันหลุดจากโผนักวิจารณ์ รวมถึง SAG ไปแบบครบถ้วน  

ตัวเก็ง: 12 Years a Slave, Gravity, American Hustle, Her, Nebraska, The Wolf of Wall Street, Inside Llewyn Davis, The Butler, Captain Phillips
ตัวสอดแทรก: Philomena, Fruitvale Station, Dallas Buyers Club, Saving Mr. Banks

ผู้กำกับยอดเยี่ยม

12 Years a Slave อาจกินรวบรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่สำหรับสาขานี้ สตีฟ แม็คควีน กลับตกเป็นรอง อัลฟอนโซ คัวรอน อยู่หลายขุม ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ ทั้งนี้เพราะ Gravity เป็นหนังที่ต้องพึ่งพาวิสัยทัศน์ของผู้กำกับขั้นสูงสุด และต้องอาศัยความเสี่ยง ความกล้าบ้าบิ่นค่อนข้างมาก (อุปกรณ์หลายอย่างถูกประดิษฐ์ขึ้นใหม่เพื่อให้ได้ภาพใกล้เคียงกับที่ผู้กำกับต้องการมากที่สุด) กว่าจะกลายเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจเช่นนี้ ดังนั้นจึงไม่แปลกที่หลายๆ สมาคมนักวิจารณ์จะมอบรางวัลสูงสุดให้หนังเรื่องหนึ่ง แล้วหยิบยื่นรางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมให้คัวรอน ซึ่งสั่งสมเครดิตสวยงามไว้นานหลายปี แต่ยังไม่เคยหลุดเข้าชิงออสการ์ในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมกับเขาเสียที ดูเหมือนว่าปีนี้อาถรรพ์ดังกล่าวน่าจะถูกถอนออก และคงไม่ใช่เรื่องเหลือเชื่อเกินจริงหากเขาจะกลายเป็นผู้ชนะในที่สุด เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงที่ว่า อังลี เพิ่งคว้าออสการ์ ตัวที่ 2มาครองจากภารกิจในระดับความยากที่ใกล้เคียงกัน

พ้นจากมือใหม่สองคนอย่างแม็คควีนกับคัวรอนแล้ว บรรดาตัวเก็งที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นกระดูกเบอร์ใหญ่ที่สะสมบารมีมานานหลายปีแทบทั้งสิ้น สไปค์ จอนซ์ เคยเข้าชิงสาขานี้มาแล้วจาก Being John Malkovich เมื่อปี 1999 ส่วน เดวิด โอ รัสเซลล์ ก็เรียกได้ว่ากำลังมือขึ้น (เปรียบได้กับ สตีเฟน ดัลดรี แห่งทศวรรษ 2010) เพราะนี่จะถือเป็นการเข้าชิงครั้งที่ 3 ติดต่อกันของเขาหลังจาก The Fighter (2010) และ Silver Linings Playbook (2012) ส่วนที่ว่างตำแหน่งสุดท้ายคงเป็นการแย่งชิงกันของเหล่าผู้กำกับมือเก๋าทั้งหลาย ซึ่งจะว่าไปแล้วก็มีโอกาสสูสีพอๆ กัน หากหนังของสกอร์เซซี ซึ่งเล่นท่ายากกว่าคนอื่นและทดลองทำในสิ่งที่แตกต่างจากผลงานเรื่องก่อนหน้าของเขา ได้เสียงตอบรับดีพอ เขาก็อาจจะแทรกตัวมาเข้าชิงแทน อเล็กซานเดอร์ เพย์น หรือ พอล กรีนกราส หรือ โจเอล และ อีธาน โคน ได้ เพราะหนังของทั้งสามคนนี้กล่าวได้ว่าไม่มีอะไรอยู่เหนือความคาดหมายสักเท่าไหร่ เข้าทำนอง ผ่านมาแล้ว ทำมาแล้วโดยเฉพาะกรณีของกรีนกราสกับ Captain Phillips ซึ่งแทบจะเปิดตำราเดียวกันกับ United 93 หนังที่ทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์เป็นครั้งแรกเมื่อ 6 ปีก่อน

ตัวเก็ง: อัลฟอนโซ คัวรอน (Gravity), สตีฟ แม็คควีน (12 Years a Slave), เดวิด โอ. รัสเซลล์ (American Hustle), สไปค์ จอนซ์ (Her), อเล็กซานเดอร์ เพย์น (Nebraska)
ตัวสอดแทรก: พอล กรีนกราส (Captain Phillips), โจเอล และ อีธาน โคน (Inside Llewyn Davis), มาร์ติน สกอร์เซซี (The Wolf of Wall Street)

นักแสดงนำชายยอดเยี่ยม

นับแต่เปิดตัวที่เทศกาลหนังเมืองคานส์ All Is Lost ก็ถูกคาดหมายว่าจะช่วยผลักดันให้ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด คว้ารางวัลออสการ์นักแสดงนำชายยอดเยี่ยมมาครองเป็นครั้งแรก เมื่อพิจารณาจากความโดดเด่นของบท (เล่นคนเดียวทั้งเรื่องและปราศจากบทพูด!!) รวมถึงเครดิตมากมายทั้งในฐานะนักแสดง ผู้กำกับ และผู้ก่อตั้งเทศกาลหนังซันแดนซ์ จนได้รับการยกย่องให้เป็นตำนานที่ยังมีลมหายใจอยู่ของฮอลลีวู้ด (ก่อนหน้านี้เขาเคยเข้าชิงในสาขานำชายมาเพียงครั้งเดียวจากหนังเรื่อง The Sting เมื่อ 40 ปีที่แล้ว) เรดฟอร์ดเริ่มต้นออกสตาร์ทบนเส้นทางสู่ออสการ์อย่างสวยงามด้วยการคว้ารางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์นิวยอร์ก (NYFCC) มาครอง แต่หลังจากนั้นกลับถูกคู่แข่งคนอื่นๆ วิ่งแซงหน้าไปเกือบหมด ซ้ำร้ายยังพลาดการเข้าชิงบนเวที SAG อีกด้วย ส่งผลให้สถานะตัวเก็งที่จะคว้ารางวัลมาครองของเขาหม่นหมองลงเกือบจะทันที ยิ่งไปกว่านั้น SAG ยังราดทิงเจอร์ลงบนแผลสดด้วยการเสนอชื่อ All Is Lost เข้าชิงในสาขากลุ่มนักแสดงสตั๊นท์ยอดเยี่ยม (ซึ่งเรดฟอร์ดแสดงเองเกือบคนเดียว) เพื่อไปขับเคี่ยวกับหนังอย่าง Fast and Furious 6 และ The Wolverine อีกด้วย ราวกับจะบอกว่าความโดดเด่นเพียงอย่างเดียวของหนังหาใช่การแสดงที่ยอดเยี่ยมของเรดฟอร์ด แต่เป็นผลงานสตั๊นท์อันน่าประทับใจต่างหาก... ถึงตรงนี้คงต้องลุ้นกันต่อไปว่ากรรมการออสการ์จะแก้ไขความผิดพลาดดังกล่าวหรือไม่ (ปัญหาหนึ่งที่หลายคนพูดตรงกัน คือ หนังเรื่อง All Is Lost ไม่เอื้อต่อการนั่งชมในบ้านผ่านแผ่นสกรีนเนอร์สักเท่าไหร่ และผลกระทบทางอารมณ์ก็ย่อมไม่อาจเทียบเท่าการนั่งชมในโรงภาพยนตร์อย่างแน่นอน)

หากเรดฟอร์ดสามารถเบียดเข้าชิงในโค้งสุดท้ายได้สำเร็จ ความซวยอาจตกอยู่กับ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ ซึ่งถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัล SAG แต่โดนกรรมการลูกโลกทองคำเมินใส่ ถึงแม้ว่าเวทีนี้จะมีตำแหน่งว่างมากถึง 10 ที่ก็ตาม โดยแบ่งเป็นหนังดรามา กับ หนังเพลง/ตลก (แต่ม้ามืดที่แทรกเข้ามาก็ยังเป็นนักแสดงผิวดำ คือ ไอดริส เอลบา จากหนังเรื่อง Mandela) ปัญหาของ The Butler คือ มันถูกจัดอยู่ในกลุ่มเดียวกับ 12 Years a Slave ที่เป็นตัวเก็งอันดับหนึ่งอยู่แล้วในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เช่นเดียวกับ ชิวเอเทล เอจีโอฟอร์ นักแสดงนำของเรื่อง ซึ่งกวาดรางวัลนักวิจารณ์มาครองเป็นกระบุง ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากผลงานกำกับของ ลี เดเนียลส์ จะดูหมองลงอย่างทันตาเห็นเมื่อถูกนำมาเปรียบเทียบ ตอนนี้ข้อได้เปรียบสำคัญของ The Butler จะอยู่ตรงที่มันทำเงินเกิน 100 ล้านเหรียญ ซึ่งหมายความว่ามันสามารถเข้าถึงคนกลุ่มใหญ่และไม่ได้ อาร์ต เกินไปจนคนดูรู้สึกเหินห่าง วิทเทเกอร์เป็นนักแสดงที่คนส่วนใหญ่ชื่นชมในฝีมือ และคร่ำหวอดอยู่ในวงการมานาน แต่เขาเคยคว้ารางวัลออสการ์ในสาขานี้มาครองแล้วจาก The Last King of Scotland ต่างกับเรดฟอร์ดที่เคยชนะรางวัลในสาขาผู้กำกับเท่านั้นจากหนังเรื่อง Ordinary People

ในบรรดาตัวเก็งทั้งหลายนอกจากวิทเทเกอร์แล้ว ก็มีเพียง ทอม แฮงค์ เท่านั้นที่เคยได้ออสการ์มาเชยชม แถมยังได้แบบสองปีซ้อนเลยด้วยจาก Philadelphia และ Forrest Gump โดยหากพิจารณาจากความเข้มข้นของบท ต้องยอมรับว่าแฮงค์ถือไพ่เหนือวิทเทเกอร์อยู่นิดหน่อย (แม้เขาจะไม่ได้เล่นเป็นตัวละครตั้งแต่หนุ่มยันแก่เหมือนวิทเทเกอร์ก็ตาม) และอาจกล่าวได้ว่าช่วงไคล์แม็กซ์ 15 นาทีสุดท้ายของ Captain Phillips ถือเป็นงานโชว์ทักษะทางการแสดงแบบหมดจด เฉียบขาด และทรงพลัง พร้อมสำหรับนำมาตัดเป็นคลิปในงานประกาศรางวัลได้สบายๆ... มันจะกลายเป็นไพ่ไม้ตายของแฮงค์ในการตีตั๋วใบสุดท้ายเพื่อเข้าชิงออสการ์เป็นครั้งที่ 5

นักแสดงอีกสองคนที่น่าจะหลุดเข้าชิงได้แบบไม่ยากเย็นนัก คือ บรูซ เดิร์น กับ แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์ คนแรกเคยเข้าชิงออสการ์ในสาขานักแสดงสมทบชายเมื่อ 35 ปีก่อนจาก Coming Home ส่วนคนหลังเริ่มปูทางสู่ผลงานคุณภาพมาได้สองสามปีแล้ว หลังสลัดหลุดจากวงโคจรอุบาทว์ของหนังตลกโรแมนติกห่วยๆ และหนังตลาดที่ไม่ได้เงิน โดยเริ่มต้นจากบทนำในหนังอย่าง Killer Joe ก่อนจะตามมาด้วยบทสมทบใน Magic Mike ซึ่งเกือบทำให้เขาได้เข้าชิงออสการ์ ถ้าตัวหนังไม่หลุดกรอบจากรสนิยมของกรรมการมากขนาดนั้น (เจมส์ ฟรังโก้ อาจหลุดโผนักแสดงสมทบชายด้วยเหตุผลคล้ายๆ กัน) มาปีนี้แม็คคอนาเฮย์มีผลงานที่น่าจับตามองเข้าฉายถึงสามเรื่อง แต่บทของเขาใน Dallas Buyers Club ถือว่าเข้าทางออสการ์สูงสุด (อีกสองเรื่อง คือ บทสมทบใน Mud และThe Wolf of Wall Street) ทั้งการแสดงเป็นคนป่วยโรคเอดส์ และการแปลงโฉมโดยลดน้ำหนักจนเหลือแค่หนังหุ้มกระดูก ซึ่งเป็นสูตรสำเร็จที่เคยปูทางสู่ออสการ์ให้ ทอม แฮงค์ ใน Philadelphia กับ คริสเตียน เบล ใน The Fighter มาแล้ว

ตรงกันข้ามกับสาขานักแสดงนำหญิง คณะกรรมการออสการ์ดูจะชื่นชอบการมอบรางวัลให้นักแสดงชายสูงวัย ซึ่งมีเครดิตการทำงานมาเนิ่นนาน และเป็นที่ยอมรับในหมู่นักแสดง ตลอดจนคนในวงการส่วนใหญ่ ดังนั้นโอกาสที่ บรูซ เดิร์น และ โรเบิร์ต เรดฟอร์ด จะแซงหน้า ชิวเอเทล เอจีโอฟอร์ ขึ้นไปคว้ารางวัลออสการ์ก็ยังพอมีอยู่ ดังจะเห็นได้จากรายชื่อผู้ชนะสาขานี้ตลอดช่วง 5 ปีที่ผ่านมาอย่าง เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ (Lincoln) โคลิน เฟิร์ธ (The King’s Speech) เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) และ ฌอน เพนน์ (Milk) คงมีเพียง ฌอง ดูฌาร์แดง (The Artist) เท่านั้นที่ยังพอจะจัดอยู่ในเกณฑ์คนหนุ่ม (อายุ 39 ปี) สถิติดังกล่าวไม่ถือเป็นข่าวดีสำหรับนักแสดงโนเนมวัย 36 ปีอย่างเอจีโอฟอร์สักเท่าไหร่ จริงอยู่เขาอาจไม่ใช่ดาราหน้าใหม่ และเวียนว่ายอยู่กับบทสมทบในหนังดังมาแล้วมากมาย (Love Actually, Children of Men, American Gangster) แต่ฝีมือของเขายังไม่เป็นที่ยอมรับมากนัก จนกระทั่ง สตีฟ แม็คควีน มอบบทเด่นใน 12 Years a Slave ให้ ข้อได้เปรียบของเอจีโอฟอร์อยู่ตรงที่ 12 Years a Slave เป็นตัวเก็งในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และตลอดช่วงหนึ่งทศวรรษที่ผ่านมามีเพียง เจฟฟ์ บริดเจส กับ ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ เท่านั้นที่ได้ออสการ์นำชายจากหนังที่ไม่ได้เข้าชิงในสาขาสูงสุด (นี่ถือเป็นข่าวร้ายสำหรับเรดฟอร์ดและแม็คคอนาเฮย์ไปพร้อมๆ กัน) แต่อาจกล่าวได้ว่าในยกแรกเอจีโอฟอร์คว้าชัยไปครอง แม้ว่าสมาคมนักวิจารณ์ใหญ่ๆ จะพากันมองข้ามเขาก็ตาม

ตัวเก็ง: ชิวเอเทล เอจีโอฟอร์ (12 Years a Slave),  แม็ทธิว แม็คคอนาเฮย์ (Dallas Buyers Club), บรูซ เดิร์น (Nebraska), โรเบิร์ต เรดฟอร์ด (All Is Lost), ทอม แฮงค์ (Captain Phillips)
ตัวสอดแทรก: ฟอเรสต์ วิทเทเกอร์ (The Butler), ลีโอนาร์โด ดิคาปริโอ (The Wolf of Wall Street), ออสการ์ ไอแซ็ค (Inside Llewyn Davis)

นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม

สาขานี้อาจพูดได้ว่า เคท แบลนเช็ตต์ วิ่งนำมาตลอดนับตั้งแต่ Blue Jasmine เข้าฉายในช่วงเดือนกรกฎาคม และสุดท้ายคงจะวิ่งเข้าเส้นชัยแบบม้วนเดียวจบ แม้ว่าปลายปีจะเริ่มมีคู่แข่งเบียดเข้ามาหายใจรดต้นคออยู่หลายคนด้วยกัน แต่ก็ยังไม่มีใครสามารถทำคะแนนแซงหน้าเจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยมจาก The Aviator เมื่อ 9 ปีที่แล้วได้ สังเกตจากรางวัลนักวิจารณ์ ซึ่งเธอกวาดมาครองเกินครึ่ง แต่ที่โดดเด่นสุดคงหนีไม่พ้นการคว้ารางวัลนักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมของสมาคมนักวิจารณ์แห่งลอสแองเจลิส (LAFCA) เนื่องจากในช่วง 4 ปีหลัง LAFCA นิยมสวนกระแสด้วยการเลือกม้ามืดที่สุดจากต่างประเทศแทนบรรดาตัวเก็งทั้งหลาย ตั้งแต่ โยลันเดอ โมโร (Seraphine) คิมเฮจา (Mother) ยุนจองฮี (Poetry) มาจนถึง เอ็มมานูเอล ริวา (Amour) ยกเว้นแค่กรณีที่มีตัวเก็งประเภทของตายที่ยากจะตัดใจจริงๆ เช่น เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ จาก Silver Linings Playbook ซึ่งคว้านำหญิงมาครองร่วมกับริวาเมื่อปีก่อน

หลายคนเชื่อว่าสถาบันเดียวที่จะผลักดัน อเดล เอ็กซาร์โคพูลอส จากหนังเลสเบี้ยนฝรั่งเศสเจ้าของรางวัลปาล์มทองคำเรื่อง Blue Is the Warmest Color ให้โผล่พ้นสึนามิแบลนเช็ตต์ คือ LAFCA ซึ่งก็เป็นจริงดังคำทำนาย แต่ขณะเดียวกันพวกเขาก็ไม่อาจต้านทานการปล่อยพลังระดับปรมาณูของแบลนเช็ตต์ใน Blue Jasmine ได้ เลยหาทางออกด้วยการฉายหนังซ้ำกับปีก่อนและมอบรางวัลนำหญิงให้กับทั้งแบลนเช็ตต์และเอ็กซาร์โคพูลอส นี่พิสูจน์ให้เห็นความแกร่งของแบลนเช็ตต์ในสาขานี้ ชนิดที่เจ้าของรางวัลออสการ์อย่าง แซนดร้า บูลล็อค (The Blind Side) นาตาลี พอร์ตแมน (Black Swan) และ เมอรีล สตรีพ (The Iron Lady) ยังทำไม่สำเร็จ

ข้อได้เปรียบอีกประการของแบลนเช็ตต์อยู่ตรงที่เธอได้รับการยกย่องในแง่ฝีมือมาเนิ่นนานและรักษาระดับไว้อย่างต่อเนื่อง แต่กลับปราศจากออสการ์สาขานำหญิงในตู้โชว์รางวัล ขณะที่ ฮิลารี สแวงค์ มีถึง 2 ตัว?! (จะเป็นความผิดใครไปไม่ได้นอกจาก กวินเน็ธ พัลโทรว ซึ่งไม่เคยเฉียดใกล้เวทีออสการ์อีกเลยหลังจาก Shakespeare in Love และตอนนี้ก็กลายเป็นที่รู้จักในฐานะ แฟนสาวไอรอนแมนมากกว่าเจ้าของรางวัลออสการ์) นอกจากนี้ว่าที่คู่แข่งสำคัญๆ ของเธอล้วนแล้วแต่เคยคว้ารางวัลออสการ์กันมาแล้วทั้งนั้น หากโผออสการ์ออกมาตรงกับโผของสมาพันธ์นักแสดง (SAG) แบบ 100% นั่นแสดงว่านี่จะเป็นปีที่สองติดต่อกันที่ผู้เข้าชิงออสการ์ล้วนเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์ โดยในปีก่อนปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกในสาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมอันประกอบไปด้วย โรเบิร์ต เดอ นีโร (Silver Linings Playbook) คริสตอฟ วอลซ์ (Django Unchained) อลัน อาร์กิน (Argo) ทอมมี ลี โจนส์ (Lincoln) และ ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน (The Master)

ในตอนนี้นอกจากแบลนเช็ตต์แล้ว สองคนที่โดน ล็อกว่าจะได้เข้าชิงแน่นอน คือ แซนดร้า บูลล็อค และ เอ็มมา ธอมป์สัน คนแรกนอกจากบทในหนังจะโดดเด่นเพราะเล่นอยู่เกือบคนเดียวและมีท่ายากเยอะเพราะต้องถ่ายทอดอารมณ์ท่ามกลางข้อจำกัดมากมายด้านเทคนิคพิเศษแล้ว ความแรงของ Gravity ในฐานะภาพยนตร์ยอดเยี่ยมก็ช่วยเสริมบารมีเธอให้ยิ่งเฉิดฉาย รวมไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่า ใครๆ ในฮอลลีวู้ดต่างก็ชื่นชอบ แซนดร้า บูลล็อค สังเกตได้จากรางวัลออสการ์ซึ่งเธอเพิ่งคว้ามาได้เนื่องจากคะแนนพิศวาสมากพอๆ กับฝีมือ (หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำ) ที่สำคัญปีนี้เธอยังประสบความสำเร็จไม่แพ้ปี 2009 (The Blind Side + The Proposal) เมื่อปรากฏว่า The Heat และ Gravity ล้วนทำรายได้ในระดับน่าพอใจไปจนถึงถล่มทลาย สำหรับคนหลังเองก็เป็นที่ชื่นชอบของคณะกรรมการออสการ์ไม่แพ้กัน พิสูจน์ได้จากสองรางวัลที่เธอคว้ามาครองจาก Howards End ในฐานะนักแสดงนำหญิง และ Sense and Sensibility ในฐานะคนเขียนบท อีกทั้งตัวหนังเรื่อง Saving Mr. Banks ก็น่าจะถูกใจคณะกรรมการในวงกว้างได้ไม่ยาก (จากผลงานของผู้กำกับ The Blind Side) หรือกระทั่งอาจหลุดเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเลยด้วยซ้ำ การห่างหายไปจากเวทีออสการ์เกือบ 20 ปียิ่งช่วยเพิ่มโอกาสให้กับ เอ็มมา ธอมป์สัน ทำให้มันเปรียบเสมือนการ คัมแบ็คของเธอ แม้ว่าโดยความเป็นจริงแล้ว เธอจะยังคงแสดงหนังมาอย่างต่อเนื่อง และเปล่งประกายในบางโอกาส แม้ออสการ์จะมองข้ามไปก็ตาม เช่น บทสมทบใน Love Actually ที่มอบน้ำหนักและความเจ็บปวดให้กับความเบาบางดุจปุยนุ่นเคลือบน้ำตาล

สองคนสุดท้ายที่จะเข้ามาเติมเต็มตำแหน่งให้ครบ 5 ขึ้นชื่อว่าเป็นขาประจำประเภทแค่นั่งอ่านสมุดโทรศัพท์หน้ากล้องก็ยังได้เข้าชิง และหากทุกอย่างเป็นไปตามคาด นี่จะถือเป็นการเข้าชิงครั้งที่ 18 ของ เมอรีล สตรีพ และครั้งที่ 7 ของ จูดี้ เดนช์ (อีกหนึ่งคนที่ควรจะมีออสการ์นำหญิงในตู้โชว์รางวัล) อย่างไรก็ตาม โอกาสของ บรี ลาร์สัน (Short Term 12) และ อเดล เอ็กซาร์โคพูลอส ก็ยังไม่ถือว่ามืดมนเสียทีเดียว พวกเธอควรนึกภาพ มิเชลล์ วิลเลียมส์ (Blue Valentine) และ รูนีย์ มารา (The Girl with the Dragon Tattoo) เป็นแรงบันดาลใจตัวอย่าง เพราะทั้งสองต่างหลุดโผ SAG แต่สุดท้ายก็สามารถเบียดเข้าชิงออสการ์ได้สำเร็จ และอย่างที่ทราบกันดีว่ากรรมการออสการ์ (ซึ่งจำนวนมากเป็นผู้ชายและอยู่ในวัยกลางคน-วัยชรา) นิยมหญิงสาวสวยสดในสาขานี้ ดังนั้นการที่พวกเขาจะปล่อยให้ 5 ตำแหน่งถูกเติมเต็มด้วยสาววัยกลางคน-วัยชราทั้งหมดจึงถือเป็นเรื่องยากมากๆ ในที่นี้สตรีพน่าจะตกอยู่ในภาวะเสี่ยงอันตรายพอควร เนื่องจากเธอเพิ่งคว้าออสการ์ตัวที่สามมาครองเมื่อปีก่อนจาก The Iron Lady และบางทีกรรมการอาจอยู่ในอารมณ์ อยากเปลี่ยนบรรยากาศก็เป็นได้ ข้อได้เปรียบของทั้งเดนช์และสตรีพอยู่ตรงที่ August: Osage County และ Philomena ล้วนเป็นผลงานภายใต้การจัดจำหน่ายของบริษัทไวน์สตีน ซึ่งไร้เทียมทานในเรื่องการปั้นหนังให้เป็นที่ต้องตาคณะกรรมการออสการ์ งานนี้จึงไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับลาร์สันและเอ็กซาร์โคพูลอสที่จะเบียดขาใหญ่ แม้ในขั้นตอนแรกพวกเธอจะบรรลุเป้าหมายที่ต้องทำได้สำเร็จแล้ว นั่นคือ เรียกเสียงสนับสนุนจากรางวัลนักวิจารณ์มาได้พอควร

ตัวเก็ง: เคท แบลนเช็ตต์ (Blue Jasmine), แซนดร้า บูลล็อค (Gravity), เอ็มมา ธอมป์สัน (Saving Mr. Banks), จูดี้ เดนช์ (Philomena), เมอรีล สตรีพ (August: Osage County)
ตัวสอดแทรก: บรี ลาร์สัน (Short Term 12),  อเดล เอ็กซาร์โคพูลอส (Blue Is the Warmest Color)

นักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

ใครๆ ก็หลงรัก แจเร็ด เลโต คือ บทสรุปในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมาของเทศกาลแจกรางวัลนักวิจารณ์ นี่ถือเป็นเรื่องที่คาดเดาได้ เพราะงานแสดงของเลโตใน Dallas Buyers Club สร้างกระแสตื่นตะลึงให้เหล่านักวิจารณ์มาตั้งแต่เมื่อครั้งที่หนังเปิดตัวในโตรอนโตแล้ว ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการแปลงโฉมเป็นสาวประเภทสองรูปร่างซูบซีดจนคนดูแทบจะจำเค้าเดิมของหนุ่มหน้าหล่อจาก My So-Called Life และ Requiem for a Dream ไม่ได้ อีกส่วนหนึ่งเป็นเพราะเครดิตที่ผ่านมาของเลโต แม้จะมีไฮไลท์น่าประทับใจอยู่บ้างประปราย ไม่เคยส่อเค้าว่าเขาจะสามารถถ่ายทอดแง่มุมแห่งความเป็นมนุษย์ได้งดงาม ลุ่มลึก และอบอุ่นขนาดนี้ หลังจากหยุดเล่นหนังไปหลายปี แล้วหันไปทุ่มเทเวลาทำเพลงและร้องนำให้วง Thirty Seconds to Mars การหวนคืนสู่จอเงินอย่างยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ของเลโตอาจได้ผลตอบแทนเป็นรางวัลออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยม

อีกคนที่น่าจะได้ตีตั๋วไปงานออสการ์อย่างแน่นอน คือ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ หลังกรรมการติดหนี้เขาเมื่อสองปีก่อนจากการเชิดใส่ผลงานแสดงอันโดดเด่นชนิดทุ่มสุดตัวใน Shame โดยคราวนี้เขาได้มีส่วนร่วมในหนังเต็งหนึ่งซึ่งทุกคนไม่อาจมองข้าม หาใช่หนังอินดี้เล็กๆ ที่ไม่ค่อยมีใครได้ดูนอกจากนักวิจารณ์และคอหนังอีกต่อไป ที่สำคัญ ออสการ์ชื่นชอบบทวายร้ายเหนืออื่นใด ดังจะเห็นได้จากชัยชนะสามปีติดกันของ ฮาเวียร์ บาเด็ม (No Country for Old Men) ฮีธ เลดเจอร์ (The Dark Knight) และ คริสตอฟ วอลซ์ (Inglorious Basterds) และตัวละครที่ฟาสเบนเดอร์สวมบทบาทใน 12 Years a Slave ก็ถือได้ว่าชั่วร้าย คลุ้มคลั่ง และชวนสะพรึงไม่แพ้ใครเลยทีเดียว

มองจากรายชื่อบนเวทีประกวดสำคัญๆ อย่างลูกโลกทองคำและ SAG แล้ว เดเนียล บรูห์ล กับ บาค็อด อับดี น่าจะหลุดเข้าชิงออสการ์ได้ไม่ยาก แม้หนังของคนแรกจะถูกนักวิจารณ์มองข้ามในช่วงการประกาศรางวัล และชื่อเสียงของคนหลังก็ถือได้ว่าเทียบเท่าศูนย์เพราะนี่เป็นการแสดงหนังเรื่องแรก แต่จุดเด่นที่เหมือนกัน คือ บทของพวกเขามีความโดดเด่นจนอาจเรียกได้ว่าเป็นนักแสดงนำร่วม อีกทั้งต่างก็ทำหน้าที่ได้อย่างยอดเยี่ยม สำหรับบรูห์ล นี่ถือเป็นโอกาสของกรรมการออสการ์ที่จะสดุดีภาพรวมผลงานชั้นยอดในอดีตของนักแสดงไปในตัว เช่นเดียวกับกรณีของฟาสเบนเดอร์ แม้ว่าคนส่วนใหญ่อาจยังไม่คุ้นชื่อบรูห์ลมากนัก เพราะเขาเล่นหนังเยอรมันเป็นหลัก (เริ่มโด่งดังจาก Good Bye Lenin!) แต่ก็รับเล่นบทสมทบในหนังฮอลลีวู้ดหลายเรื่อง อาทิ Inglorious Basterds และ The Bourne Ultimatum

นักแสดงคนสุดท้ายตามโผของ SAG คือ เจมส์ แกนดอลฟินี ถือว่าเปราะบางต่อการถูกมองข้าม (ลูกโลกทองคำแทนที่เขาด้วย แบรดลีย์ คูเปอร์ จาก American Hustle) เพราะหนังเรื่อง Enough Said ไม่ค่อยเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากนัก แม้คุณภาพของเนื้องานจะไม่ใช่ปัญหาแต่อย่างใด พิสูจน์ได้จากรางวัลนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมจากสมาคมนักวิจารณ์บอสตัน หากเขาสามารถเบียดคูเปอร์ ซึ่งอาจกำลังกินบุญเก่าที่ตกค้างมาจาก Silver Linings Playbook จนเข้าชิงออสการ์ได้สำเร็จ นี่จะถือเป็นการเสนอชื่อนักแสดงที่เสียชีวิตไปแล้วเข้าชิงเป็นครั้งแรก นับจาก ฮีธ เลดเจอร์ เมื่อ 6 ปีก่อน (แกนดอลฟินีเสียชีวิตเมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2013 ด้วยโรคหัวใจล้มเหลว)

ส่วนม้ามืดที่น่าจับตามองและอาจพุ่งเข้าเสียบแทนตำแหน่งของใครคนใดคนหนึ่งในกลุ่มตัวเก็ง ได้แก่ โจนาห์ ฮิล ซึ่งว่ากันว่าเป็นสีสันและตัวชูโรงสำคัญของ The Wolf of Wall Street แต่อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นหนังเรื่องนี้อาจไม่เป็นที่ถูกใจคณะกรรมการหัวโบราณสักเท่าไร เช่นเดียวกับ Spring Breakers ของ เจมส์ ฟรังโก้ ซึ่งกวาดคำชมมามากมาย และได้รางวัลจากสมาคมนักวิจารณ์ลอสแองเจลิสมาครองร่วมกับเลโต

ตัวเก็ง: แจเร็ด เลโต (Dallas Buyers Club), บาค็อด อับดี (Captain Phillips), แบรดลีย์ คูเปอร์ (American Hustle), ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (12 Years a Slave), เดเนียล บรูห์ล (Rush)
ตัวสอดแทรก: โจนาห์ ฮิลล์ (The Wolf of Wall Street), ทอม แฮงค์ (Saving Mr. Banks), เจมส์ ฟรังโก้ (Spring Breakers), วิล ฟอร์ท (Nebraska), เจมส์ แกนดอลฟินี (Enough Said)

นักแสดงสมทบหญิงยอดเยี่ยม

ในช่วงแรกเริ่มการแข่งขันพูดได้ว่า โอปรา วินฟรีย์ ออกสตาร์ทได้สวยงามจากการที่ The Butler ทำเงินบนตาราง บ็อกซ์ ออฟฟิศ ได้น่าพอใจ ส่วนตัวเธอเองก็กวาดคำชมจากนักวิจารณ์มาได้อย่างเป็นเอกฉันท์จนบางคนเริ่มทำนายว่า เธออาจกลายเป็นผู้ชนะรางวัลออสการ์ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า โดยพิจารณาจากสถานะคนดังของฮอลลีวู้ด ซึ่งฝีไม้ลายมือเป็นที่ยอมรับขนาดเคยเข้าชิงออสการ์มาแล้วในปี 1986 จากหนังเรื่อง The Color Purple ก่อนจะผันตัวมาเป็นพิธีกรรายการทอล์คโชว์ นอกจากนี้บทภรรยาหัวใจแกร่งที่คอยยืนหยัดเคียงข้างสามีอย่างมั่นคงของเธอยังถือว่าเข้าทางรางวัลออสการ์อีกด้วย กระนั้นปัญหาของม้าตีนต้น คือ ความประทับใจอาจเริ่มจืดจางไปตามกาลเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีม้าตัวใหม่ที่สดกว่า ทรงพลังกว่าเริ่มทยอยกันออกตัวอย่างต่อเนื่อง โดยลางร้ายสำหรับ โอปรา วินฟรีย์ ที่เด่นชัดสุด คือ การหลุดโผลูกโลกทองคำไปแบบเหนือความคาดหมาย ทั้งที่ทุกคนล้วนทราบกันดีว่าเวทีนี้ เห่อ” คนดังมากแค่ไหน

คนที่สร้างแรงกระเพื่อมได้สูงสุดจากเทศกาลหนังโตรอนโตคงหนีไม้พ้น ลูพีตา นียังโก ซึ่งนักวิจารณ์ต่างพากันชื่นชมเป็นเสียงเดียวว่าจะติดตาคุณไปอีกหลายวัน และคุณภาพของผลงานเธอก็พิสูจน์ได้จากรางวัลของแทบทุกสถาบันที่หลั่งไหลเข้ามาแบบไม่ขาดสาย แน่นอนว่าสำหรับนักวิจารณ์ชื่อเสียง หรือเครดิตในอดีตของนักแสดงอาจไม่มีผลมากนัก แต่สำหรับกรรมการออสการ์ ซึ่งเป็นคนในวงการ (หลายคนก็เลือกจะโหวตให้เพื่อน หรือนักแสดงที่เคยร่วมงานกันมาก่อน) ปัจจัยดังกล่าวถือว่ามีส่วนสำคัญในการคว้ารางวัลมาครองไม่น้อยไปกว่าคุณภาพของผลงาน ดังนั้นการที่นียังโกเดินหน้ากวาดรางวัลชนิดไม่แบ่งใครก็ไม่ได้หมายความว่าเธอจะปิดประตูแพ้บนเวทีออสการ์เสียทีเดียว เวทีที่จะช่วยทำนายออสการ์ได้แม่นยำที่สุด คือ SAG ที่โอปราหลุดมาเข้าชิง

ณ เวลานี้ ม้ามืดที่ไม่อาจมองข้าม คือ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ซึ่งออกตัวช้าสุดกับ American Hustle (หนังเปิดฉายให้นักวิจารณ์นิวยอร์กชมเพียงหนึ่งวันก่อนหน้าการโหวต และสุดท้ายเธอก็เป็นคนหยิบชิ้นปลามันไปครอง) แต่สร้างความพลิกผันให้กับการแข่งขันได้มากสุด เพราะเธอวาดลีลาได้เด็ดดวงชนิดฆ่านักแสดงที่อยู่ร่วมจอตายเกลื่อน ทั้งที่นักแสดงเหล่านั้นส่วนใหญ่ล้วนเขี้ยวลากดินกว่าเธอแทบทั้งสิ้น จนพูดได้ว่าหากเธอไม่ใช่เจ้าของรางวัลออสการ์สาขานำหญิงจากปีที่แล้วละก็ รางวัลในสาขานี้อาจตกเป็นของเธอก็ได้ แต่พิจารณาจากสถานการณ์ที่เห็นและเป็นอยู่ ลอว์เรนซ์น่าจะได้เข้าชิงค่อนข้างแน่ โดยมีโอกาสคว้าชัยชนะไม่มากนัก เพราะกรรมการออสการ์คงเปิดโอกาสให้นักแสดงหน้าใหม่อย่างนียังโก หรือนักแสดงหน้าเก่าที่ยังไม่เคยได้ออสการ์มาก่อนอย่างวินฟรีย์เสียมากกว่า

พูดถึงตัวขโมยซีน จูน สควิบบ์ ใน Nebraska ก็ทำสำเร็จแบบเดียวกับลอว์เรนซ์ เธอคือตัวละครที่คนดูชื่นชอบ เป็นสีสันที่เอะอะมะเทิ่งท่ามกลางเหล่าผู้ชายเงียบขรึมทั้งหลาย และนั่นน่าจะทำให้เธอหลุดเข้าชิงออสการ์ได้อย่างไม่ยากเย็น ส่วนคนที่จะมาเติมเต็มรายชื่อให้ครบ 5 น่าจะลงเอยที่ จูเลีย โรเบิร์ตส์ อดีตขวัญใจอเมริกาเมื่อสองทศวรรษก่อน ซึ่งหากพูดกันตามเนื้อผ้าแล้วรับบทนำร่วมกับ เมอรีล สตรีพ ใน August: Osage County มากกว่าจะเป็นแค่นักแสดงสมทบ นี่จึงถือเป็นความได้เปรียบในแง่น้ำหนักบท ที่สำคัญ ฮอลลีวู้ดคงอยากต้อนรับคนเก่าคนแก่ที่เคยกุ๊กกิ๊กกันมาให้หวนคืนเวทีอีกครั้ง แต่ขณะเดียวกัน เธอกับวินฟรีย์ก็ต้องพึงระวัง แซลลี ฮอว์กินส์ ซึ่งออสการ์เคยติดหนี้จากการเชิดใส่ผลงานอันน่าตื่นเต้นของเธอใน Happy-Go-Lucky เมื่อ 5 ปีก่อน โดย SAG อาจไม่เห็นใครโดดเด่นใน Blue Jasmine นอกจากแบลนเช็ตต์ แต่ลูกโลกทองคำมองเห็น และแก้ไขความผิดพลาดให้เสร็จสรรพ ส่วนออสการ์จะเลือกเดินตามใคร เราคงต้องรอดูกันต่อไป (อย่าลืมว่า นาตาลี พอร์ตแมน จาก Closer ก็เคยพลาดการเข้าชิงบนเวที SAG มาแล้ว ก่อนจะได้เสียงสนับสนุนจากลูกโลกทองคำ และหลุดเข้าชิงออสการ์ในที่สุด)

ตัวเก็ง: ลูพีตา นียังโก (12 Years a Slave), จูน สควิบบ์ (Nebraska), โอปราห์ วินฟรีย์ (The Butler), เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ (American Hustle), จูเลีย โรเบิร์ตส์ (August: Osage County)

ตัวสอดแทรก: ออกเทเวีย สเปนเซอร์ (Fruitvale Station), แซลลี ฮอว์กินส์ (Blue Jasmine)

ไม่มีความคิดเห็น: