วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 23, 2550

The Pursuit of Happyness: พ่อรวยสอนลูก


ปริศนาคาใจเพียงหนึ่งเดียวของหนังเรื่อง The Pursuit of Happyness ถูกเฉลยตั้งแต่ช่วงต้นๆ เรื่อง เมื่อ คริส การ์ดเนอร์ (วิล สมิธ) ไปรับลูกชาย คริสโตเฟอร์ (เจเดน สมิธ) จากสถานรับเลี้ยงเด็กสุดโทรมและคับแคบของผู้หญิงจีนคนหนึ่ง ซึ่งดูจะมีบุคลิกตรงกันข้ามกับ แมรี่ ป็อปปินส์ ราวฟ้ากับเหว หลังจากนั้นหนังก็ไม่สามารถสร้างความฉงนใดๆ ให้กับคนดูได้อีกเลย เพราะเราทุกคนล้วนสามารถคาดเดาได้ง่ายๆ ว่าสุดท้ายแล้วคริสย่อมต้องผ่านพ้น “ขุมนรก” แห่งความยากจนไปได้ แล้วประสบความสำเร็จในอาชีพใหม่ (ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการโหมประชาสัมพันธ์อย่างหนักว่าหนังเรื่องนี้ได้แรงบันดาลใจจากบุคคลจริง ซึ่งเขียนหนังสือชีวประวัติออกมาในชื่อเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งคงเพราะหนังดำเนินตามสูตร “ยาจกไต่เต้าจนกลายเป็นเศรษฐี” หรือ Rags to riches แบบไม่พลิกแพลง) คำถามจึงเหลือแค่ว่า “เมื่อไร” เท่านั้น

จริงอยู่ตัว Y ในชื่อหนังเป็นความจงใจของทีมผู้สร้าง แต่ทัศนคติเชิดชูวัตถุนิยมที่อบอวลอยู่ในแทบทุกอณูของเรื่องราว (ไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจก็ตาม) กลับทำให้คนดูพาลนึกไปได้ว่า การที่พวกเขา (ในที่นี้อาจหมายรวมไปถึง คริส การ์ดเนอร์ ตัวจริงด้วยก็ได้ เพราะเขาเป็นคนคิดชื่อหนัง/หนังสือเรื่องนี้ขึ้นมา) สะกดคำว่า “ความสุข” ไม่ถูกต้องอาจเป็นเพราะพวกเขาไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริงของมันต่างหาก

บางทีนั่นอาจไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรสำหรับผู้คนในประเทศอเมริกา (ต้นตำรับความฝันแบบอเมริกัน ซึ่งมักถูกนำไปเกี่ยวโยงกับทุนนิยม ความสะดวกสบายทางวัตถุ ชื่อเสียง และความมั่นคงทางการเงิน) ที่จะสับสนหลงทาง แล้วเผลอผสมคำว่า “ไล่ตาม” เข้ากับคำว่า “ความสุข” ในรูปแบบวลีสุดฮิตของพวกเขา นั่นคือ “ไล่ตามความฝันแบบอเมริกัน” หรือ “ใช้ชีวิตอยู่ในความฝันแบบอเมริกัน” (pursuing/living the American Dream)

แน่นอน ตามหลักของศาสนาพุทธ ความสุขทางเนื้อหนัง ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสล้วนเป็นแค่มายา ความสุขแท้จริงหมายถึงความว่างเปล่า (นิพพาน) ต่างหาก ขณะเดียวกัน นักปราชญ์ชาวจีนในลัทธิเต๋านาม จวงจื้อ ก็เคยกล่าวไว้ว่า “ความสุข คือ การปราศจากความมุ่งมั่นที่จะพบกับความสุข”

กระทั่งนักเศรษฐศาสตร์ยังยอมรับผ่านงานวิจัยว่า การที่ชาวตะวันตกมีเงินทองและทรัพย์สินเพิ่มขึ้นนั้นไม่ได้กลับทำให้พวกเขามีความสุขเพิ่มขึ้นเลย (งานวิจัยในสามประเทศ คือ อังกฤษ อเมริกา และญี่ปุ่น ล้วนได้ผลตรงกันหมด) เทียบง่ายๆ คือ ปัจจุบันมนุษย์มีความสะดวกสบายและมาตรฐานในการดำรงชีวิตดีกว่าในอดีต แต่เมื่อเทียบระดับความสุขแล้ว คนในปัจจุบันกลับไม่ได้มีความสุขมากกว่าคนเมื่อห้าสิบปีก่อนแต่อย่างใด

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์ก็ทำให้เราพบว่าความสุขของแต่ละคนเกี่ยวข้องกับการทำงานของสมองมนุษย์ด้วย โดยงานวิจัยทางการแพทย์ระบุว่าความรู้สึกที่เป็นสุขนั้นเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งซ้าย ขณะที่ความรู้สึกไม่ดีจะเกิดจากการทำงานของสมองฝั่งขวา และมนุษย์แต่ละคนก็มีระดับความตื่นตัวของสมองในฝั่งซ้ายและขวาไม่เท่ากัน คนที่สมองฝั่งซ้ายทำงานมากกว่าคนทั่วไปจะเป็นคนอารมณ์ดี มองโลกในแง่ดี และมีความสุขรวมถึงความจำที่ดีกว่าคนที่สมองซีกซ้ายทำงานน้อยกว่าปรกติ

จะเห็นได้ว่าทั้งหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักปรัชญาตะวันออกล้วนเห็นพ้องต้องกันว่าความสุขเป็นเรื่อง “ภายใน” หาใช่สิ่งของนอกกายที่เราจะไขว่คว้ามาครอบครองได้เหมือนทรัพย์สินเงินทอง กล่าวคือ มหาเศรษฐีรวยล้นฟ้าก็อาจจะหาความสุขในชีวิตไม่ได้เหมือนชาวนาจนๆ บางคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำก็ได้

ใน The Pursuit of Happyness คนดูจะได้เห็น คริส การ์ดเนอร์ จมปลักอยู่กับความทุกข์แทบตลอดทั้งเรื่อง เขาถูกลินดา (แธนดี้ นิวตัน) เมียสาวซึ่งต้องแบกรับงานสองกะเพื่อหารายได้มาจุนเจือครอบครัว (แต่หนังกลับวาดภาพเธอไม่ต่างจาก ครูเอลล่า เดอ วิล) ดูถูกเหยียดหยาม เขาเศร้าใจที่ไม่สามารถพาลูกไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กชั้นดีได้ เขาผิดหวังที่เครื่องมือทางการแพทย์ที่เขาอุตส่าห์ทุ่มเงินเก็บของครอบครัวไปซื้อมาไม่ได้ “ขายคล่อง” ดังหวัง เพราะโรงพยาบาลส่วนใหญ่เห็นว่ามันเป็นของฟุ่มเฟือย

ในสายตาของคริส (หรืออาจจะหมายรวมถึงทัศนคติของตัวหนังทั้งเรื่องด้วยก็ได้) ความจนเทียบเท่ากับความทุกข์ ดังนั้น หากเขาต้องการความสุข หนทางเดียว คือ การแสวงหาเงินทองมาครอบครองให้มากที่สุด นั่นเลยกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการไล่ตาม “ความสุข” ของคริส ซึ่งตัวหนังได้นำมาย้อมแมวขายในทำนองว่า “คุณควรต่อสู้ทุกวิถีทางเพื่อให้ความฝันกลายเป็นจริง”

คริสมุ่งมั่นอยากเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้นเหมือนที่ แม็กกี้ ฟิทซ์เจอรัลด์ ฝันอยากเป็นนักมวยใน Million Dollar Baby หรือ นีล เพอร์รี่ ฝันอยากเป็นนักแสดงใน Dead Poets Society งั้นหรือ

ตรงกันข้าม คริสได้แรงบันดาลใจในการพลิกผันอาชีพ/ชีวิตจากการเดินผ่านย่านการเงินแห่งหนึ่ง แล้วเห็นผู้คนแถวนั้นยิ้มแย้มอย่างมีความสุข เขาจึงร้องถามชายคนหนึ่งที่ขับรถหรูมาจอดว่าทำยังไงถึงจะได้มีรถสวยแบบนั้นมาขับบ้าง ชายคนดังกล่าวผายมือไปยังตลาดหุ้นแทนคำตอบ เปล่าเลย ความฝันของ คริส การ์ดเนอร์ หาใช่การเป็นโบรกเกอร์ตลาดหุ้น เขากำลังไล่ตาม “ความร่ำรวย” อยู่ต่างหาก อะไรก็ได้ที่สามารถทำให้เขามีเงินมากพอจะซื้อรถหรูๆ สักคันมาขับ หรือนั่งชมฟุตบอลใน “บ็อกซ์” ส่วนตัว

อันที่จริง ความทะยานอยากนั่นเองที่ทำให้เขาต้องอับจนตั้งแต่แรก เป็นเพราะความอยากรวยไม่ใช่หรือที่ทำให้คริสตัดสินใจใช้เงินเก็บทั้งหมดทุ่มซื้อเครื่องมือทางการแพทย์มากักตุนไว้ เมื่อแผนดังกล่าวไม่เป็นไปดังหวัง แทนที่จะหางานมั่นคงทำเพื่อแบ่งเบาภาระลินดา เขากลับตกลงรับตำแหน่งพนักงานฝึกหัดในบริษัทการเงินแห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ให้ค่าตอบแทนใดๆ แถมยังไม่รับประกันด้วยว่าเขาจะได้งานทำหลังจบคอร์ส แน่นอน ตัวหนัง “เข้าข้าง” คริสอย่างเต็มที่ แน่นอน คนดูส่วนใหญ่ย่อมอดไม่ได้ที่จะลุ้นเอาใจช่วยคริส เนื่องจากทักษะการเล่าเรื่องอันแยบยล รวมไปถึงการแสดงอันโน้มนำของซูเปอร์สตาร์ขวัญใจมวลชนอย่าง วิล สมิธ และแน่นอน สุดท้ายการยอมเสี่ยงครั้งที่สองของคริสก็ลงเอยด้วยความสำเร็จ แต่นั่นหาได้ปลดปล่อยคนทำหนังจากการสร้างค่านิยมบิดๆ เบี้ยวๆ ไม่

จากงานวิจัยในประเทศอเมริกาและสวิตเซอร์แลนด์พบว่า ความสุขของคนเราขึ้นอยู่กับระดับรายได้ของเรา “เปรียบเทียบ” กับเป้าหมายที่ตั้งไว้ ซึ่งเกิดจากรายได้เฉลี่ยของบุคคลรอบข้าง กล่าวคือ เราจะยิ่งมีความสุขมากขึ้น ถ้ารายได้ของเราเพิ่มสูงกว่ากลุ่มที่เราเปรียบเทียบด้วย ในทางกลับกัน ถ้าผู้อื่นที่เราเปรียบเทียบด้วยมีรายได้สูงกว่า ความสุขของเราก็จะลดน้อยลง

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คริสไม่อาจค้นพบความสุขได้เป็นเพราะเขาเลือกจะเปรียบเทียบตัวเองกับเหล่านักธุรกิจชั้นนำทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นชายคนที่ขับรถหรู หรือเศรษฐีรายหนึ่งที่เขาพยายามล่อหลอกให้ยอมมาเป็นลูกค้า ในฉากสำคัญเราจะเห็นท่าที “อับอาย” ของคริสที่ต้องนั่งรถเมล์และเดินเท้ามายังบ้านเศรษฐี ซึ่งกำลังจะขับรถคันโตพาลูกไปดูฟุตบอล ขณะที่คริสโตเฟอร์กลับไม่รู้สึกว่าข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นเรื่องน่าอายที่ต้องปกปิด เขาแค่รู้สึกดีใจเพราะ (อาจ) จะได้ไปดูฟุตบอลกับพ่อของเขาเท่านั้น และการนั่งดูในบ็อกซ์ส่วนตัวสุดหรู หรือบนเก้าอี้ราคาถูกแถวหลังสุดก็คงไม่ใช่สาระสำคัญสำหรับหนูน้อยมากเท่ากับคริส

ผลงานกำกับของ เกเบรียล มัคซิโน ชิ้นนี้สร้าง “แรงบันดาลใจ” ในระดับเดียวกับการอ่านหนังสือฮาว-ทูแนวธุรกิจสักเล่ม ซึ่งมักจะมีประเด็นหลักแบบเดียวกันว่าใครๆ ก็สามารถรวยได้ หากรู้จักหนทาง/ทำงานหนัก/ทำตามความฝัน หรือการอ่านบทสัมภาษณ์เจ้าของกิจการใหญ่สักคน ที่ก่อร่างสร้างตัวขึ้นมาจากสภาพเสื่อผืนหมอนใบ ความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกเป็นเพียง “ตัวประกอบ” ที่จะช่วยสร้างพลังดราม่าและความชอบธรรมให้คริส เพราะใครจะกล้ากล่าวโทษการตัดสินใจเสี่ยงดวงอย่างโง่เขลาของเขา ในเมื่อทุกอย่างที่เขาทำไป ล้วนเป็นการทำไป “เพื่อลูก” (เป็นไปได้ไหมว่าลินดาอาจไม่ทิ้งเขาไป หากคริสตัดสินใจหางานทำเป็นหลักแหล่ง และถ้าเธอยังอยู่ เขาก็คงไม่ต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน หรือคอยตอบคำถามของลูกที่ว่า “แม่ทิ้งเราไปเพราะผมใช่ไหม”)

ฉากสุดท้ายของหนังก็ช่วยตอกย้ำประเด็นดังกล่าว เมื่อเราได้เห็นคริสเดินยิ้มเพียงลำพังท่ามกลางฝูงชนเหมือนหนึ่งในกลุ่มคนที่เขาตั้งข้อสังเกตในช่วงต้นเรื่อง เขาค้นพบ “ความสุข” แบบที่เขาต้องการในที่สุด จากนั้น ตัวหนังสือบนจอก็ระบุข้อมูลว่า ไม่นานคริสสามารถทำเงินได้หลายสิบล้านจากการขายหุ้นและปัจจุบันมีบริษัทเป็นของตัวเอง ส่วนลูกชายของเขาจะเป็นยังไงนั้นไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะเราคนดูควรจะอนุมานได้เองแล้วว่าเขาคงมี “ความสุข” ล้นเหลือจากเงินที่พ่อของเขาหามาได้

The Pursuit of Happyness เข้าฉายได้ถูกจังหวะในช่วงเทศกาลคริสต์มาส เมื่อกระแสบริโภคนิยมกำลังพุ่งสูงถึงขีดสุด ขณะผู้คนถูกล้างสมองให้แห่แหนมาจับจ่ายใช้สอยตามห้างสรรพสินค้าเพื่อซื้อหา “ความสุข” กันถ้วนหน้า ใครมีเงินมาก ก็จะได้ “ความสุข” กลับไปมากหน่อย ถึงตรงนี้มันอาจเหมาะสมกว่า หากทีมงานจะตั้งชื่อหนังเรื่องนี้เสียใหม่ว่า The Pursuit of American Dream (หรืออาจจะเปลี่ยน American Dream เป็น Money หรือ Success ก็ได้) แต่คราวนี้พวกเขาควรสะกดคำให้ถูกด้วย เพราะความหมายของชื่อดังกล่าวถือว่าสอดคล้องกับเรื่องราวโดยปราศจากข้อกังขาใดๆ

อ้างอิง: คอลัมน์ “มองมุมใหม่” ของ ดร. พสุ เดชะรินทร์ จากหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ

7 ความคิดเห็น:

the aesthetics of loneliness กล่าวว่า...

ตอนที่เดินเข้าโรงไปดูหนังเรื่องนี้ ผมยังไม่ค่อยมีข้อมูลอะไรมากมาย รู้เพียงแค่ว่าวิล สมิธ เล่นดีมากแค่นี้ พอดูเสร็จและเดินออกจากโรง ผมคิดเหมือนกับบทความชิ้นนี้เป๊ะเลย ว่าประเด็นและเนื้อหาของเรื่องนี้มันเชยมาก และค่อนข้างค้านกับความคิดในยุคปัจจุบัน ผมนึกเปรียบเทียบถึงหนังรุ่นใหม่ๆ อย่าง วอลล์สตรีท อเมริกันบิวตี้ เดอะบอยเลอร์รูม หรือแม้กระทั่ง อเมริกันไซโค แล้วรู้สึกว่าหนังรุ่นใหม่เหล่านี้ ได้ทำลายแฮปปี้เนสแบบอเมริกันดรีมไปหมดแล้ว

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

สงสัยจะอดดูแล้ว =_=' อยากสอบเสร็จไวๆๆๆ

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

เพิ่งได้ไปดูมาอ่ะครับ...
อันที่จริงก็ชื่นชมคริสอยู่ไม่น้อยทีเดียวที่ต้องการความสุข(สบาย)ให้ชีวิต จึงต้องดิ้นรนทุกอย่าง และประสบความสำเร็จในท้ายที่สุด

แต่อย่างที่บทความชิ้นนี้ว่า...เขาคงสะกดคำว่า happiness ผิดจริงๆ

celinejulie กล่าวว่า...

จริงๆแล้ว ก็รู้สึกไม่เห็นด้วยกับแนวคิดของหนังเรื่อง THE PURSUIT OF HAPPYNESS (2006, GABRIELE MUCCINO, A) เหมือนกัน ที่ดูเหมือนจะเป็นวัตถุนิยมมากไปหน่อย แต่เนื่องจากคุณ oliver นำเสนอข้อบกพร่องของหนังเรื่องนี้ได้อย่างดีมากๆแล้ว ดิฉันก็เลยขอพูดถึงข้อดีของหนังเรื่องนี้ในมุมมองของดิฉันแทนแล้วกันนะคะ

สาเหตุที่ดิฉันชอบหนังเรื่องนี้มากพอสมควร อาจจะเป็นเพราะว่า

1.รู้สึกเหมือนไม่ได้ดูหนังแนวนี้มานานแล้ว ดูแล้วให้ความรู้สึกเหมือนได้ดู “สงครามชีวิต โอชิน” อีกครั้ง ซึ่งละครญี่ปุ่นเรื่องนี้ก็ดูเหมือนจะถูกสร้างในทศวรรษ 1980 หรือทศวรรษแห่งวัตถุนิยมเหมือนกัน หนังเรื่องอื่นๆที่ดังมากในยุคนั้นก็รวมถึง

1.1 WORKING GIRL (1988, MIKE NICHOLS, A)
http://us.imdb.com/title/tt0096463/

1.2 THE SECRET OF MY SUCCESS (1987, HERBERT ROSS, B)
http://us.imdb.com/title/tt0093936/


2.ดูแล้วรู้สึกดีที่ชีวิตตัวเองในปัจจุบันไม่ได้เลวร้ายเหมือนพระเอก และดูแล้วก็นึกถึงเรื่องราวเกี่ยวกับเซลส์แมนที่ได้ยินมาตอนเด็กๆ จำได้ว่าตอนเด็กๆจะมีเซลส์แมนมาเสนอขายสินค้าตามบ้านต่างๆ และบางคนถึงกับกราบเจ้าของบ้านเพื่ออ้อนวอนให้เจ้าของบ้านช่วยซื้อสินค้าไป การที่พระเอกหนังเรื่องนี้มีอาชีพเป็นเซลส์แมน จึงทำให้เขาได้คะแนนสงสารเห็นใจจากดิฉันไปอย่างเต็มที่ และทำให้นึกถึง “ความยากลำบากจนเลือดตาแทบกระเด็น” ของเซลส์แมนในภาพยนตร์สารคดีเยอรมันเรื่อง THE HOUSEWIFE’S FLOWER (1999, DOMINIK VESSELY, A+++++++++++++++) ด้วย

พูดถึง THE HOUSEWIFE’S FLOWER แล้วก็ขอเสริมว่า ภาพยนตร์เรื่องนี้ใช้วิธีการนำเสนอที่ดีมากๆ เพราะหนังไม่ได้พยายามขับเน้นความน่าสงสารของเซลส์แมนเหล่านี้เลย หนังนำเสนอความพยายามขายสินค้าของพวกเขาอย่างไม่เร้าอารมณ์ และก็ไม่มีเซลส์แมนคนใดร้องห่มร้องไห้อย่างรุนแรงต่อหน้ากล้อง นอกจากนี้ หนังเรื่องนี้ยังจบลงด้วยฉากงานเลี้ยงฉลองความสำเร็จของเซลส์แมนคนนึงที่ทำยอดขายได้สูงมากด้วย แต่ไม่รู้ว่าเป็นเพราะอะไร ฉากงานเลี้ยงรื่นเริงฉากนั้น ถึงทำให้ดิฉันรู้สึก “เศร้า” มากๆ หนังเรื่องนี้ไม่ได้ “บอก” ให้ผู้ชมสงสารหรือรู้สึกเศร้าไปกับเซลส์แมน แต่การที่ผู้ชมได้เห็นวิธีการทำงานของพวกเขามาตลอดทั้งเรื่อง ผู้ชมก็จะรู้สึกได้เองว่าการทำงานนี้มัน “ยากลำบาก” ขนาดไหน กว่าจะขายได้สักเครื่อง มันทรมานมากขนาดไหน และ “ความรู้สึกสงสารเห็นใจ” เซลส์แมนเหล่านี้ ก็จะเกิดขึ้นเอง โดยที่หนังไม่ต้อง “สั่ง” แต่อย่างใด (จริงๆแล้วย่อหน้านี้ก็เหมือนเป็นการชี้ให้เห็นข้อเสียของ THE PURSUIT OF HAPPYNESS เหมือนกันแฮะ)


3.ถึงแม้พระเอกหนังเรื่องนี้จะวัตถุนิยม แต่ก็ไม่ได้รู้สึก “หมั่นไส้” หรือ “เหม็นหน้า” พระเอกหนังเรื่องนี้มากเท่ากับพระเอกละครไทยในอดีตหลายๆเรื่องที่ “เกิดมารวย” หรือ “คาบช้อนเงินช้อนทองมาตั้งแต่เกิด” หรือพระเอกหนังฝรั่งบางเรื่องอย่างเช่น บทที่ฮิวจ์ แกรนท์แสดงใน ABOUT A BOY (2002, CHRIS WEITZ + PAUL WEITZ, A-) ที่ดูเหมือนจะไม่มีปัญหาในการหาเลี้ยงชีพแต่อย่างใด รู้สึกเหม็นหน้าพระเอกหนัง/ละครพวกนี้เป็นอย่างมาก ถึงแม้ว่าในชีวิตจริงดิฉันจะอยากได้ผู้ชายรวยๆแบบนี้มาเป็นผัวก็ตาม ฮ่าๆๆๆๆ
http://us.imdb.com/title/tt0276751/


4.ดิฉันมักจะรู้สึกอินกับหนัง/ละครที่นำเสนอปัญหาของตัวละครในการทำมาหาแดก ตัวละครที่ชอบมากๆในทำนองนี้ก็รวมถึง

4.1 นางเอกกับแม่นางเอกในละครโทรทัศน์ชุด THE CLIENT (1995-1996) ที่รับบทโดย JOBETH WILLIAMS กับ POLLY HOLLIDAY เพราะในละครทีวีเรื่องนี้ แม่กับลูกสาวคู่นี้จะกังวลตลอดเวลาว่าบ้านจะหลุดจำนอง (หรืออะไรทำนองนี้) และคุณแม่นางเอกที่มีอายุประมาณ 60 ปี ก็จะพยายามสมัครงานทำหรือหางานทำตลอดเวลา เพื่อเอารายได้มาช่วยเหลือจุนเจือลูกสาวไม่ให้บ้านหลุดจำนอง


4.2 MONSTER (2003, PATTY JENKINS, A++++++++++)

ฉากนึงใน THE PURSUIT OF HAPPYNESS ทำให้นึกถึงฉากที่นางเอก MONSTER ไปสมัครงาน แล้วถูกดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง รู้สึกว่าพระเอก THE PURSUIT OF HAPPYNESS โชคดีมากๆที่ไม่ต้องเจอคนแบบที่นางเอก MONSTER เจอ


4.3 LOVE AND DIANE (2002, JENNIFER DWORKIN, A++++++++)

หนังสารคดีเกี่ยวกับสองแม่ลูกผิวดำเหลือขอ ชะตาชีวิตของพวกเธอเลวร้ายมากกว่าพระเอกและลูกชายใน THE PURSUIT OF HAPPYNESS พวกเธอพยายามหางานทำ แต่มันก็เป็นเรื่องยากที่จะหางานดีๆทำได้ ชีวิตของพวกเธอก็พยายามจะ PURSUE HAPPINESS เหมือนกัน แต่เมื่อหนังเรื่องนี้จบลง พวกเธอก็ดูเหมือนจะยังไขว่คว้ามันมาไม่ได้อย่างเป็นชิ้นเป็นอันเท่าใดนัก และผู้ชมอย่างดิฉันก็ทำได้เพียงแค่สวดมนตร์ภาวนาให้ชีวิตของพวกเธอดีขึ้น
http://us.imdb.com/title/tt0329321/


4.4 WITTSTOCK, WITTSTOCK (1997, VOLKER KOEPP, A+++++++++)
http://us.imdb.com/title/tt0120527/

หนังสารคดีเยอรมันที่ติดตามถ่ายทำชีวิตของผู้หญิง 3 คนในเยอรมันตะวันออกมาตั้งแต่ปี 1975 จนถึงปี 1997 หรือ 32 ปี ตอนที่ผู้หญิงสามคนนี้ทำงานเป็นสาวโรงงานในเยอรมันตะวันออกภายใต้ระบอบคอมมิวนิสต์ พวกเธอก็มีปัญหาในชีวิตอยู่บ้าง แต่ดูเหมือนไม่เลวร้ายจนเกินทนนัก

อย่างไรก็ดี หลังจากระบอบคอมมิวนิสต์ล่มสลาย ชีวิตของผู้หญิงสามคนนี้กลับเลวร้ายลงอย่างมาก พวกเธอตกงาน โรงงานของพวกเธอต้องปิดกิจการลง เพราะระบบทุนนิยมไม่เปิดพื้นที่ให้กับโรงงานของรัฐบาลอีกต่อไป ผู้หญิงสามคนนี้เริ่มมีชีวิตที่เคว้งคว้าง หนึ่งในสามโชคดีที่ครอบครัวอพยพย้ายไปอยู่เยอรมันตะวันตก และเริ่มปรับตัวให้เข้ากับชีวิตใหม่ได้ อีกหนึ่งในสามได้แต่เข้ารับการฝึกอบรมเพื่อหางานทำไปเรื่อยๆ เธอได้แต่เข้ารับการฝึกวิชาชีพ และฝึกเรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ แต่ถึงแม้เธอจะเทคคอร์สไปแล้วไม่รู้กี่คอร์ส เธอก็ยังหางานทำไม่ได้สักที ส่วนผู้หญิงคนที่สามต้องทำงานเป็นสาวใช้ในโรงแรม และใฝ่ฝันว่าน่าจะเกิดการปฏิวัติครั้งใหญ่ในประเทศอีกครั้งเพื่อให้เธอหลุดพ้นจากสภาพยากจนเข็ญใจนี้



5.หนังบางเรื่องที่ดูเหมือนต่อต้านวัตถุนิยม ก็เป็นหนังที่ดิฉันดูแล้วรู้สึก “ไม่ชอบ” ในสารที่มันต้องการจะนำเสนอ ไม่รู้เหมือนกันว่าเป็นเพราะอะไร บางทีดิฉันคงจะฟังเพลง MATERIAL GIRL มากไปตอนยังเป็นเด็ก ฮ่าๆๆๆ ก็เลยรู้สึกต่อต้านหนังบางเรื่องที่ดูเหมือนจะต่อต้านวัตถุนิยม อย่างเช่นเรื่อง THE FAMILY MAN (2001, BRETT RATNER, B+) รู้สึกว่าองค์ประกอบของหนังเรื่องนี้ใช้ได้ แต่สาเหตุสำคัญที่ไม่ชอบหนังเรื่องนี้อาจจะเป็น “สาร” ที่หนังต้องการจะนำเสนอ
http://us.imdb.com/title/tt0218967/

อย่างไรก็ดี หนังเรื่องอื่นๆที่ดูเหมือนจะต่อต้านวัตถุนิยม ก็เป็นหนังที่ดิฉันชอบมาก และไม่ได้รู้สึกต่อต้านมันแต่อย่างใด อย่างเช่นเรื่อง AMERICAN BEAUTY


6.โดยรวมแล้ว รู้สึกพอใจกับ THE PURSUIT OF HAPPYNESS มากกว่า THE LAST KISS (2001, C+) ที่กำกับโดย GABRIELE MUCCINO อย่างมากๆ ถ้าไม่บอกว่าหนังสองเรื่องนี้กำกับโดยผู้กำกับคนเดียวกัน ดิฉันก็คงจะเดาไม่ออก
http://us.imdb.com/title/tt0265930/

ไม่แน่ใจเหมือนกันว่าเพราะอะไรถึงได้ไม่ชอบ THE LAST KISS แต่ชอบ THE PURSUIT OF HAPPYNESS มากกกว่าเยอะ ถึงแม้จะกำกับโดยคนๆเดียวกัน บางทีสาเหตุอาจจะเป็นเพราะว่า ดิฉันมักจะกังวลกับ “ปัญหาในการแสวงหาปัจจัย 4” เหมือนอย่างพระเอก THE PURSUIT OF HAPPYNESS ก็เลยอินกับตัวละครตัวนี้ได้ง่ายกว่า ในขณะที่ปัญหาของตัวละครใน THE LAST KISS เป็นปัญหาประเภทที่แทบไม่เคยแผ้วพานเข้ามาอยู่ในห้วงคำนึงของดิฉันแต่อย่างใด

เรื่องย่อ THE LAST KISS

Carlo (Stefano Accorsi) is a twenty-nine-year-old man who works in an advertisement agency and has been living with his girlfriend Giulia (Giovanna Mezzogiorno) for three years. When she gets pregnant and he meets the stunning eighteen-year-old Francesca (Martina Stella), his relationship with Giulia moves into a crisis, since he is not ready to reach adulthood. Francesca has a crush on Carlo and dreams of him. His three best friends also have problems with their mates: Adriano (Giorgio Pasotti) has just had a son and has problems with taking the responsibilities of fatherhood, while his wife Livia (Sabrina Impacciatore) becomes very connected to the baby, neglecting their marriage; Alberto (Marco Cocci) has no ties with any woman, limiting to use them sexually; and Paolo (Claudio Santamaria) has a passion for his former lover. Meanwhile, Giulia's mother Anna (Stefania Sandrelli) has a middle-age crisis, jeopardizing her marriage


คำเตือน: อย่าจำหนังเรื่องนี้สลับกับ AND THE PURSUIT OF HAPPINESS (1986, LOUIS MALLE)
http://us.imdb.com/title/tt0092561/

After acknowledging his own immigrant background, Malle, tries to present the range of immigrant experiences in the US during the 1980's. In an attempt to be comprehensive, the film includes interviews with migrant workers and illegal entrants along the Mexican border, conversations with an enterprising Indian motel owner, coverage of industrious African and Asian families in the cities, an extensive interview with the first Costa Rican astronaut, visits with Cuban exiles in Miami, several conversations with West Indian poet Derek Walcott, an extended portrait of the deposed Nicaraguan General Samoza (the surviving brother of Anastasio Somoza Debayle) and his extended family. The film finishes with a brief visit to the Russian Jewish community in Brooklyn, NY to tie in with the centenary of the Statue of Liberty.


สรุปว่า ถึงแม้ THE PURSUIT OF HAPPYNESS หรือ “THE PURSUIT OF FALSE HAPPINESS” จะเป็นหนังที่สร้างค่านิยมแบบผิดๆ หรือเป็นหนังที่หลงผิด ดิฉันก็รู้สึกว่าหนังเรื่องนี้ยังไม่ได้ทำในจุดนี้จนถึงขั้นที่ “มากเกินไป” สำหรับดิฉัน ซึ่งจุดหนึ่งอาจจะเป็นเพราะว่าหนังเรื่องนี้ฉลาดแกมโกงที่จบลงตรงจุดที่พระเอกยังไม่ได้มีเงินมากเกินไป ผู้ชมได้เห็นเพียงแค่ช่วงที่พระเอกพยายาม “หาเงินมายังชีพ” ซึ่งนั่นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่ผู้ชมไม่แน่ใจว่าหลังจากนั้นพระเอกได้กลายเป็นคนที่ “กอบโกยหรือละโมบมากเกินไป” หรือเปล่า

แต่ประโยคตอนจบของหนังที่เป็นการสรุปตัวเลขรายได้ของพระเอกนั้น ก็ให้ความรู้สึกที่แย่ๆกับดิฉันเหมือนกัน และการจบหนังด้วยการสรุปความสำเร็จเป็นตัวเลขเงินรายได้เพียงอย่างเดียวเช่นนี้ ก็เป็นสิ่งที่ผิดพลาดที่สุดสิ่งหนึ่งในหนังเรื่องนี้

อย่างไรก็ดี ในขณะที่พระเอกหนังเรื่องนี้ได้รับความสงสารเห็นใจจากดิฉันในความพยายามตะกายดาวขึ้นไปเป็นโบรกเกอร์หุ้น พระเอกหนังแบบที่ได้ “หัวใจ” จากดิฉันไปครองอย่างมากที่สุดอาจจะเป็นพระเอกที่ยืนอยู่ในขั้วตรงข้ามกับพระเอก THE PURSUIT OF HAPPYNESS นั่นก็คือพระเอกหนังเรื่อง GUESS WHO (2005, KEVIN RODNEY SULLIVAN, A+) ที่รับบทโดย ASHTON KUTCHER เพราะพระเอกหนังเรื่องนี้ยอมสละตำแหน่งโบรกเกอร์หรือเทรดเดอร์หรืออะไรทำนองนี้ เขายอมสละหน้าที่การงานของตัวเองเพื่อผู้หญิงที่เขารัก เมื่อเขาพบว่าการที่เขาแต่งงานกับผู้หญิงผิวดำ ทำให้เจ้านายของเขาไม่พอใจเป็นอย่างมาก เขาต้องเลือกระหว่างหญิงผิวดำกับตำแหน่งโบรกเกอร์ และเขาก็ยินดีสละอาชีพของตัวเองเพื่อเลือกผู้หญิงที่เขารัก ดิฉันชอบพระเอกหนังแบบนี้มากที่สุดเลยค่ะ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณทุกๆ ความเห็นนะครับ โดยเฉพาะความเห็นของคุณ celine julie

จะบอกว่าความจริงผมก็ไม่ได้ชิงชังหนังเรื่องนี้เลย ออกจะดูได้อย่างเพลิดเพลินด้วยซ้ำ ชอบในจุดเดียวกับคุณ celinejulie คือ หนังจบลงก่อนเราจะได้เห็นความร่ำรวยอย่างมหาศาลของพระเอก จริงๆ ฉากจบทำได้น่าประทับใจค่อนข้างมาก ทั้งการแสดง ทั้งจังหวะหนัง แต่ที่ต้องเขียนถึงข้อเสียของหนังเป็นเพราะผมรู้สึกว่าคนดูหนังบางคนอาจพลอยอิ่มเอมไปกับความรู้สึกที่หนังพยายามโน้มน้าวจนลืมมองเห็นสารแฝงบางอย่างในหนัง ซึ่งไม่ว่าจะโดยตั้งใจหรือไม่ตั้งใจ ก็ตาม

อยากดูหนังเรื่อง THE HOUSEWIFE’S FLOWER มากครับ จริงๆ อาชีพเซลแมนเป็นอาชีพที่ผมทึ่งอยู่เหมือนกัน คือ ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองจะมีอาชีพแบบนี้ได้ มันกดดันและต้องอาศัยวาทศิลป์อย่างรุนแรง และการได้เห็นความยากลำบากของคริสใน THE PURSUIT OF HAPPYNESS ก็ทำให้ผมนึกอยากจะช่วยเหลือพวกเซลแมนเหลือเกิน ถ้าไม่เป็นการลำบากจนเกินไป (ยิ่งถ้าเป็นเซลแมนหล่อๆ ด้วยละก็ ผมคงยินดีจะช่วยเหลือเต็มที่ครับ)

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

อาจจะมีความคิดเห็นแตกต่างไปบ้าง คือ เนื่องจากหนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากชีวิตจริงของ Chris Gardner ก็เลยเห็นว่าเขาคงตั้งใจจะแสดงให้เห็นถึงความพยายามจนประสบความสำเร็จของคนๆ หนึ่งที่ครั้งนึงในชีวิตต้องเป็นคนไร้บ้าน มากกว่า ถ้าลองอ่านประวัติของ Chris ดูก็จะทำให้เข้าใจมากขึ้นในหลายๆ จุด รวมถึงว่าทำไมถึงต้อง Happyness ไม่ใช่ Happiness (เหมือนที่เราเองเกิดความสงสัยมากจนหลังจากดูจบก็ต้องขอเปิดดูสักหน่อยว่าคนๆ นี้เป็นใครมาจากไหนกัน) ยังไงในชีวิตจริงเขาก็ประสบความสำเร็จและตอนนี้เขาก็รวยแล้ว หนังคงจะสร้างเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้

จากที่ดู ถึงแม้ตอนหนึ่งจะเกิดความรู้สึกว่า ต้องทำถึงขนาดตามไปจับลูกค้าถึงบ้านเชียวเหรอ แต่คิดอีกแง่หนึ่งอาจเป็นเพราะเขามีแรงกดดันในชีวิตที่จะต้องเอาตัวรอดให้ได้ เพราะมีลูกเล็กๆ อีกหนึ่งให้ต้องเลี้ยง

ถ้าไม่มีความมุ่งมั่นจะไปถึงจุดที่สูงที่สุดที่จะไปได้ ก็คงไม่เกิดความพยายาม เปรียบเสมือนนักกีฬาไปแข่งก็ต้องหวังว่าจะชนะไว้ก่อน ไม่งั้นคงไม่มีแรงฮึด

การที่คนเราดิ้นรนพยายามทำงานเพื่อให้ตัวเองสุขสบายขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น มันก็เป็นปกติอยู่แล้วสำหรับมนุษย์ปุถุชนธรรมดา คงไม่มีใครอยากจนไปตลอดชาติ

ไม่ได้จะค้านเศรษฐกิจพอเพียง แต่ถ้าคนเราทำงานหนัก หรือเลือกทางเดินแบบนี้เพราะอยากมีชีวิตที่ดีขึ้น แล้วไม่ได้ไปโกงชาติโกงใคร หรือไม่ได้ฟุ้งเฟ้อไปกู้หนี้ยืมสินเพื่อซื้อของฟุ่มเฟือย ไม่ได้ไปผ่อนนู่นผ่อนนี่ให้ดูอู้ฟู่ จะไปห้ามเขาว่าอย่าทำๆ ก็คงไม่ถูกนัก แต่ก็ต้องยอมรับอีกแหละว่าอย่านึกถึงแต่เงินอย่างเดียว นึกถึงครอบครัว นึกถึงสุขภาพ ฯลฯ บ้างก็ดี ต้องชั่งน้ำหนักหาความสมดุลเอาเอง

คงจะเป็นความเห็นในอีกมุมหนึ่งซึ่งก็ไม่ได้บอกว่าถูกต้องกว่า ของแบบนี้แล้วแต่ใครจะมอง

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณสำหรับความเห็นครับ

จริงๆ ผมไม่ได้ต่อต้านเงินทอง หรือทุนนิยมหรอกนะครับ ออกจะเป็นพวกไหลตามกระแสสังคมแบบวัตถุนิยมด้วยซ้ำ

โดยส่วนตัว ผมไม่ได้ต่อต้านหนังสือสร้างแรงบันดาลใจให้คนเราต่อสู้เพื่อความร่ำรวยแต่อย่างใด และแน่นอน ผมชื่นชมคริสที่เขาต่อสู้จนกลายเป็น somebody ในสังคมได้ แต่ผมแค่รู้สึกไม่เห็นด้วยกับการที่หนังพยายามนำเสนอ (อาจไม่ใช่ความตั้งใจของผู้สร้าง แต่มันทำให้ผมรู้สึกเช่นนั้น) ว่าเขาต้องร่ำรวยถึงจะพบกับความสุข มันง่ายเกินไป เหมือนกับการที่หนังวาดภาพเมียของคริสให้เป็นนังตัวร้าย ทั้งที่เธอแค่พยายามจะหาเงินมาให้พอเลี้ยงดูครอบครัวเท่านั้น เธออาจจะผิดที่กดดันผัว แต่ผัวเองก็ไม่คิดจะหางานการที่มั่นคงทำ เรื่องของคริสคงเป็นแค่หนึ่งในล้าน เพราะส่วนใหญ่มันคงไม่ลงเอยแบบแฮ็ปปี้เช่นนี้