วันศุกร์, กุมภาพันธ์ 10, 2555

Oscar 2012: เมื่อนาฬิกาหมุนย้อนเวลา


เวทีออสการ์ปีนี้ดูเหมือนจะกรุ่นกลิ่นอายของอารมณ์ถวิลหาอดีตและบทคารวะภาพยนตร์ยุคบุกเบิก เมื่อตัวเก็งสองเรื่องที่เข้าชิงรางวัลมากสุด ได้แก่ Hugo (11 สาขา) หนังเกี่ยวกับ จอร์จ เมลีแอร์ส และ The Artist (10 สาขา) หนังเงียบขาวดำเกี่ยวยุคเปลี่ยนผ่านจากหนังเงียบสู่หนังเสียง นอกจากนี้ เรายังอาจกล่าวได้ด้วยว่า Midnight in Paris และ The Tree of Life ก็ขับเน้นอารมณ์หวนรำลึกอดีตอยู่ไม่น้อยเช่นกัน ส่งผลให้ Descendants กลายเป็นหนังเรื่องเดียวในกลุ่มที่เข้าชิงสาขาผู้กำกับที่ดำเนินเหตุการณ์ในยุคปัจจุบันโดยตลอด

ในขณะเดียวกัน การที่หนัง “เหยื่อล่อรางวัล” อย่าง Extremely Loud & Incredibly Close หลุดเข้าชิงออสการ์ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ทั้งที่ก่อนหน้านี้กวาดเสียงก่นด่าจากนักวิจารณ์มาแบบถ้วนทั่ว (ใช่แล้ว หนักหนายิ่งกว่า Crash หรือ The Blind Side หรือ The Reader เสียอีก) แทนที่หนังตลาดซึ่งมักจะถูกมองข้าม (เช่น Bridesmaids) หรือหนังที่อาจจะอาร์ตเกินรสนิยมกระแสหลัก (เช่น Drive และ Shame) ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าระบบการเพิ่มรายชื่อผู้เข้าชิงนั้น (จาก 5 เป็น 10 และเป็น 5-10) ไม่ได้ผลตามต้องการแต่อย่างใด (จำได้ไหมว่าสาเหตุหลักของการเปลี่ยนกฎก็เพราะหนังอย่าง The Dark Knight หลุดโผจนนำไปสู่เสียงก่นด่าทั่วสารทิศ) เพราะสุดท้ายกรรมการก็เลือกหนังที่พวกเขาชอบเป็นหลักอยู่ดี หนังตลกซึ่งมีฉากถ่ายอุจจาระบนอ่างล้างหน้าไม่มีวันได้รับการพิจารณาให้เป็นหนังเยี่ยมอย่างเด็ดขาด ไม่ว่ามันจะทำเงิน หรือกวาดคำชมมามากแค่ไหนก็ตาม

กฎสามารถเปลี่ยนแปลงได้ทุกปี แต่เรื่องของรสนิยมนั้นยากจะเปลี่ยนแปลง บางทีสถาบันควรพิจารณาการหันกลับไปใช้มาตรฐานเดิม นั่นคือ 5 รายชื่อหนังเยี่ยม เพื่อเพิ่มน้ำหนักให้แก่หนังที่หลุดเข้าชิง อย่าไปแคร์ว่าคนจะนินทายังไง เพราะคุณไม่สามารถทำให้ทุกคนพอใจได้หรอก และการเสนอชื่อหนังอย่าง Extremely Loud & Incredibly Close ก็พิสูจน์ให้เห็นในระดับหนึ่งแล้วว่าพวกคุณไม่แคร์ว่าคนจะคิดอย่างไร

ถ้าหนังเยี่ยม มีแค่ 5 เรื่อง ผู้เข้าชิงในปีนี้น่าจะได้แก่ The Artist, The Descendants, Hugo, Midnight in Paris และ The Help (เสียงสนับสนุนจากนักแสดงน่าจะช่วยผลักดันให้หนังหลุดเข้าชิงได้ในที่สุด)

ต้องยอมรับว่ารายชื่อผู้เข้าชิงส่วนใหญ่ไม่ได้มีอะไรผิดคาดมากมาย หากไม่นับการปรากฏตัวแบบชวนงุนงงของ Extremely Loud & Incredibly Close แต่สิ่งหนึ่งที่ค่อนข้างชัดเจน คือ หนังเรื่อง The Help อ่อนปวกเปียกกว่าที่คิด แม้ก่อนหน้านี้หลายคนถึงขั้นทำนายว่ามันอาจคว้ารางวัลสูงสุดไปครอง การพลาดเข้าชิงในสาขาเทคนิคที่ “ควรจะ” ได้เข้าชิง (ซึ่งจะช่วยพิสูจน์ว่าคนชอบหนังของคุณมากพอ) ตั้งแต่สาขาบทภาพยนตร์ดัดแปลงไปจนถึงสาขาออกแบบเครื่องแต่งกาย ส่งผลให้โอกาสคว้าชัยของมันค่อนข้างริบหรี่ ส่วน War Horse นั้นส่ออาการร่อแร่มาตั้งแต่การหลุดจากรายชื่อผู้เข้าชิงรางวัลของสมาคมวิชาชีพต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อบารมีไม่อาจดันให้ สตีเวน สปีลเบิร์ก เข้าชิง DGA ตรงกันข้าม หนังที่แข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ อย่าง The Girl with the Dragon Tattoo กลับสอบตกช่วงโค้งสุดท้าย แม้อาการวืดของ เดวิด ฟินเชอร์ ผู้กำกับคนเดียวในกลุ่มที่เข้าชิง DGA จะไม่ถือเป็นเรื่องไม่น่าประหลาดก็ตาม เพราะ เทอร์เรนซ์ มาลิก ถูกคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้วว่าจะเข้ามาเสียบแทน หลังจากเขาหลุดโผ DGA

เรื่องที่น่าผิดหวังไม่แพ้กัน คือ The Descendants การที่ ไชลีน วู้ดลีย์ ถูกมองข้ามในสาขานักแสดงสมทบหญิงเป็นลางบอกเหตุว่าหนังไม่ได้ป็อปปูลาในหมู่กรรมการมากนัก แต่ยังดีกว่า The Help อยู่หน่อยตรงหนังได้เข้าชิงสาขาสำคัญๆ อย่างลำดับภาพ บทภาพยนตร์ และกำกับภาพยนตร์

ณ เวลานี้ในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมคงไม่มีใครสามารถหยุดกระแสความแรงของ The Artist ได้ เพราะมันเป็นทั้งขวัญใจของทั้งนักแสดง (กรรมการกลุ่มใหญ่สุด) และช่างเทคนิคหลากหลายสาขา (นี่ถ้ามันไม่ใช่หนังเงียบ ก็อาจเข้าชิงในสาขาบันทึกเสียงยอดเยี่ยมไปแล้ว!) โดยโอกาสพลิกล็อกลอง Hugo ก็พอมีอยู่บ้าง แต่ไม่มากนักเนื่องจากหนังขาดเสียงสนับสนุนจากเหล่านักแสดง (การพลาดเข้าชิง SAG สาขานักแสดงกลุ่ม และออสการ์สาขานักแสดงสมทบชายของ เบน คิงส์ลีย์ ถือเป็นลางบอกเหตุ) ส่วนหนังที่ตามมาห่างๆ เป็นอันดับสาม ได้แก่ The Descendants

หันมามองในสาขาผู้กำกับดูบ้าง สถานการณ์อาจแตกต่างออกไปเล็กน้อย เนื่องจาก มิเชล ฮาซานาวิเชียส ไม่ได้ทิ้งห่างคู่แข่งมากนัก และโอกาสคว้าชัยของ มาร์ติน สกอร์เซซี ก็ยังพอมีอยู่ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากเขาคว้าลูกโลกทองคำมาครอง) หากกรรมการออสการ์ต้องการให้เกิดการเฉลี่ยรางวัลกันไป... เมื่อก่อน “บารมี” อาจถูกมองว่าเป็นปัจจัยสำคัญ แต่หลังจากผู้กำกับมากเครดิตอย่าง เดวิด ฟินเชอร์ (ที่ยังไม่เคยได้รางวัลออสการ์) ต้องพ่ายแพ้ให้กับผู้กำกับค่อนข้างโนเนมจากเกาะอังกฤษอย่าง ทอม ฮูเปอร์ เมื่อปีก่อน “บารมี” ก็ดูเหมือนจะเสียเหลี่ยมไปไม่น้อย และถูกลดความสำคัญลง นอกจากนี้ ปัจจัยอีกอย่างที่ไม่ควรมองข้าม คือ สกอร์เซซีเคยได้รางวัลออสการ์ (สำหรับหนังชั้นยอดที่เขาสร้างมาตลอดชีวิตมากพอๆ กับสำหรับ The Departed) ไปแล้ว ประเด็นสำคัญ คือ หากกรรมการชอบหนังของคุณมากพอ ต่อให้ผู้กำกับไม่เคยสร้างหนังมาก่อน หรือไม่เป็นที่รู้จักในตลาดวงกว้าง พวกเขาก็ยินดีจะมอบรางวัลให้

สรุปได้ว่าในสาขานี้ ฮาซานาวิเชียสยังคงนำหน้าอยู่เล็กน้อย โดยมีสกอร์เซซีหายใจรดต้นคออยู่ และไล่หลังมาห่างๆ คือ อเล็กซานเดอร์ เพย์น


นับแต่ The Help เข้าฉายใหม่ๆ ในช่วงต้นเดือนสิงหาคม วีโอลา เดวิส ก็ถูกกะเก็งให้เป็นเต็งหนึ่งบนเวทีออสการ์ และคำทำนายนั้นก็ใกล้จะเป็นจริงแล้ว กระดูกก้อนโตของเธอ คือ มิเชลล์ วิลเลียมส์ ในบทซึ่งเรียกได้ว่าเปล่งประกาย แถมยังเข้าทางออสการ์มากๆ ไม่ว่าจะเป็นการแปลงโฉม เลียนแบบบุคคลจริง หรือการพลิกบทบาทครั้งสำคัญ ตรงข้ามกับเดวิส ซึ่งรับบทที่ค่อนข้างเข้าทางตัวเอง และเรียกได้ว่า “ท้าทาย” น้อยกว่า แม้เธอจะถูกยกย่องให้เป็นส่วนที่ดีที่สุดของหนังเรื่อง The Help ก็ตาม (จะว่าไปการแสดงของวิลเลียมส์เองก็ถูกยกย่องในลักษณะเดียวกัน) แต่ข้อได้เปรียบของเดวิสอยู่ตรงที่หนังของเธอเป็นขวัญใจมหาชน โดยทำเงินในอเมริกามากกว่า 160 ล้าน และเข้าชิงสาขาสำคัญอย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ซึ่งจะว่าไปเป็นสูตรเดียวกับชัยชนะของ แซนดร้า บูลล็อค เมื่อสองปีก่อน นอกจากนี้ ทั้งสองยังอายุใกล้เคียงกันอีกด้วยตอนถูกเสนอชื่อเข้าชิง (บูลล็อค 45 ปี เดวิส 46 ปี)

สำหรับเจ้าของลูกโลกทองคำอย่าง เมอรีล สตรีพ โอกาสคว้าออสการ์ตัวที่สามถือว่าไม่มากเท่าสองคนแรก แต่อาจไม่ทิ้งห่างมากนัก เมื่อพิจารณาจากตัวเนื้องานเป็นหลัก คะแนนของวิลเลียมส์น่าจะนำหน้าเดวิสอยู่เล็กน้อย

ในทางตรงกันข้าม โอกาสคว้าออสการ์ตัวที่สอง (ตัวแรกในสาขานักแสดงนำ) ของ จอร์จ คลูนีย์ กลับค่อนข้างสดใสหลังได้ลูกโลกทองคำมาครอง หนังของเขาเป็นที่รักของกรรมการ ส่วนตัวเขาก็เป็นที่รักของคนในวงการ และหลายคนบอกว่านี่คือการแสดงที่ดีที่สุดของคลูนีย์ แต่เช่นเดียวกัน คำวิจารณ์นั้นก็นำมาใช้บรรยายผลงานของ แบรด พิทท์ ใน Moneyball ได้ด้วย หนังของเขาก็เข้าชิงสาขาสูงสุด และมีแต้มต่อเล็กน้อยตรงเขายังไม่เคยได้ออสการ์หลังเข้าชิงมาก่อนหน้านี้แล้วสองครั้ง (Twelve Monkeys, The Curious Case of Benjamin Button)

ลูกโลกทองคำทำให้คลูนีย์นำหน้าอยู่เล็กน้อย แต่โอกาสที่ แบรด พิทท์ จะพลิกกลับมาถือไพ่เหนือกว่าบนเวทีใหญ่ก็ใช่ว่าจะมืดมน ที่สำคัญพวกเขาต้องพึงระวังนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมจากคานส์ ฌอง ดูฌาร์แดง ซึ่งอาจโหนกระแสคลั่งไคล้ The Artist ขึ้นมาเป็นตาอยู่คว้าชิ้นปลามันไปก็ได้

นอกจากภาพยนตร์ยอดเยี่ยมแล้ว อีกหนึ่งสาขาที่แทบจะเรียกได้ว่าหมดทางพลิกล็อก คือ นักแสดงสมทบชาย เนื่องจาก คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ นอกจากจะเดินสายกวาดรางวัลมาครองมากสุดแล้ว (ส่วนขวัญใจนักวิจารณ์อีกคน คือ อัลเบิร์ต บรู้คส์ พลาดการเข้าชิง) เขายังเข้าข่าย “ถูกมองข้ามมานาน” อีกด้วย ในทำนองเดียวกับ เจฟฟ์ บริดเจส (Crazy Heart) อลัน อาร์กิน (Little Miss Sunshine) และ มอร์แกน ฟรีแมน (Million Dollar Baby)

พลัมเมอร์วิ่งนำจนแทบมองไม่เห็นว่าใครกำลังตามหลังมากันแน่ระหว่าง แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ กับ นิค นอลตี้ ซึ่งก็เข้าข่าย “ถูกมองข้ามมานาน” ด้วยกันทั้งคู่ (รวมไปถึง เคนเน็ธ บรานาห์) คนแรกได้เปรียบเล็กน้อย เมื่อพิจารณาว่ากรรมการชอบหนังของเขามากพอจะได้เข้าชิงสาขาสูงสุด แต่โอกาสพลิกล็อกถือว่าไม่มากนัก

มองเผินๆ แล้ว อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ ในสาขาสมทบหญิง ก็น่าจะนอนมาไม่ต่างกัน แต่หากวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีต นี่ถือเป็นสาขาที่ไม่น่าวางใจ และมีโอกาสพลิกล็อกอยู่เสมอ แต่ใครล่ะที่จะก้าวมารับบทแจ๊คผู้ฆ่ายักษ์ ถ้ามองจากความแข็งแกร่งของตัวหนัง เบเรนิซ เบโจ น่าจะเป็นคู่ต่อสู้ที่น่ากลัวอันดับหนึ่ง (นักแสดงสองคนจาก The Help อาจตัดคะแนนกันเอง) รองลงมา คือ เจสซิก้า แชสเทน เนื่องจากเหตุผลว่า 2012 ถือเป็นปีแจ้งเกิดของเธอ และกรรมการอาจให้คะแนนพิศวาสจากบทบาทการแสดงอันยอดเยี่ยมของเธอในหนังเรื่อง The Tree of Life และ Take Shelter


The Good

* การเข้าชิงของ เดเมียน บิเชียร์ (A Better Life) และ แกรี โอลด์แมน (Tinker Tailor Soldier Spy) ช่วยสร้างศรัทธาว่าออสการ์ไม่จำเป็นต้องเกี่ยวพันกับความดัง การโหมออกสื่อ หรือการลงเงินโปรโมตเสมอไป แต่คุณภาพของเนื้องานถือเป็นปัจจัยสำคัญเช่นกัน คนแรกสั่งสมชื่อเสียงจากแวดวงละครทีวีมานานจนเป็นที่ยอมรับ ส่วนคนหลังถือเป็นหนึ่งในนักแสดงเจ้าบทบาทที่มักจะถูกมองข้ามมาตลอด

* ผลงานอาร์ตแตกกึ่งทดลองที่ชวนมึนงงที่สุดแห่งปีอย่าง The Tree of Life หลุดเข้ามาชิงสาขาหนังเยี่ยม บางทีมันอาจเป็นตัวอย่างชัดเจนของหนังที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากกฎการโหวตแบบใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญกับการเป็นหนังอันดับหนึ่งในบัตรลงคะแนน เพราะคนที่ชอบ The Tree of Life ซึ่งคงไม่มากนัก ชอบมันอย่างหมดหัวใจจริงๆ

* การเข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยมของ A Separation ช่วยปลุกปลอบทุกคนว่าโลกนี้ยังพอมีความยุติธรรมหลงเหลืออยู่บ้าง

The Bad

* ออสการ์ยังคงชื่นชอบความบันเทิงแบบฟีลกู๊ดมากกว่าหนังแรงๆ ซึ่งเน้นอารมณ์หดหู่ สิ้นหวัง นั่นเป็นเหตุผลว่าทำไมหนังอย่าง Melancholia (ตามคาด) และ The Girl with the Dragon Tattoo (ค่อนข้างเซอร์ไพรซ์ เนื่องจากมันปรากฏชื่อตามรางวัลของสมาพันธ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง DGA ที่ทรงอิทธิพลสูงสุดในการคาดเดาผู้เข้าชิงสาขาหนังเยี่ยมบนเวทีออสการ์) จึงหลุดโผ แล้วถูกแทนที่ด้วย War Horse (ตามคาด) กับ Extremely Loud & Incredibly Close (หักปากกาเซียนกันระเนระนาด) นี่สามารถใช้อธิบายอาการวืดของ ทิลด้า สวินตัน (We Need to Talk About Kevin) และ ไมเคิล ฟาสเบนเดอร์ (Shame) ได้เช่นกัน

* ขอโทษนะ อัลเบิร์ต บรู้คส์ (Drive) กรรมการไม่ชอบหนังคุณ และไม่เห็นว่าการแสดงของคุณโดดเด่นมากพอจะเข้าชิง (อัลเบิร์ต บรู้คส์ ทวีทว่า “สำหรับกรรมการออสการ์: คุณไม่ชอบฉัน คุณไม่ชอบฉันจริงๆ”)
เทคนิค Motion Capture ยังคงต้องต่อสู้กับอคติต่อไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่นักสร้างหนัง Animation เมื่อ The Adventures of Tin Tin ถูกมองข้าม แล้วเปิดทางให้กับหนังการ์ตูนแบบดั้งเดิมอย่าง A Cat in Paris และ Chico & Rita เข้าชิงร่วมกับหนังการ์ตูน CG อย่าง Kung Fo Panda 2, Puss in Boots และ Rango นอกจากนี้ นักแสดงยังคงเชิดใส่ผลงานของ แอนดี้ เซอร์กิส (Rise of the Planet of the Apes) ตามคาด

* Project Nim สารคดีขวัญใจนักวิจารณ์ที่กวาดรางวัลมาแล้วมากมายถูกตัดออกจากรายชื่อ 5 เรื่องสุดท้าย ขณะที่สารคดีเรื่องเยี่ยมอีกมากมาย เช่น Senna, Into the Abyss และ Tabloid กลับไม่ติดรายชื่อ 15 เรื่องสุดท้ายด้วยซ้ำ ดูเหมือนคณะกรรมการสาขานี้จะถูกครหาทุกปีไม่แพ้สาขาหนังภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม การเปลี่ยนแปลงกฎภายใต้การนำของ ไมเคิล มัวร์ (เริ่มต้นนำมาใช้ในปีนี้) อาจทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น (1. สมาชิกทั้งหมดในสาขาสารคดีจำนวน 166 คนจะเป็นคนลงคะแนนโหวตผู้เข้าชิง ไม่ใช่คณะกรรมการพิเศษเหมือนก่อน 2. จะมีการส่งสกรีนเนอร์ กรรมการไม่ต้องเดินทางไปชมในรอบพิเศษตามโรงหนังเหมือนก่อน และสกรีนเนอร์จะถูกแบ่งส่งเป็นชุดๆ ไม่ใช่ส่งให้รวดเดียวในช่วงสิ้นปี 3. หนังที่มีสิทธิเข้าชิงต้องมีบทรีวิวลงในหนังสือพิมพ์ นิวยอร์ก ไทมส์ เพื่อป้องกันหนังสารคดีทางโทรทัศน์ 4. สมาชิกทั้งหมดในสถาบันจะมีสิทธิโหวตหนังสารคดียอดเยี่ยมแบบเดียวกับหนังยอดเยี่ยม)

* จำเป็นขนาดนั้นเลยหรือที่ต้องเสนอชื่อ จอห์น วิลเลียมส์ เข้าชิงจากหนังสองเรื่องพร้อมๆ กัน (The Adventures of Tin Tin และ War Horse) จนทำให้ผลงานที่น่าสนใจของ เทรนท์ เรซเนอร์ และ แอตติกัส รอส (The Girl with the Dragon Tattoo) แชมป์เก่าจาก The Social Network ต้องกระเด็นหลุด มองในอีกมุม มันสอดคล้องกับธีมหลักของงานปีนี้ เมื่อสกอร์ออร์เคสตร้าสไตล์คลาสสิกคว้าชัยเหนือสกอร์แนวใหม่ที่เน้นซินธีไซเซอร์

…and the Ugly

* นอกจากไม่สมเหตุสมผลแล้ว การที่สาขาเพลงประกอบยอดเยี่ยมมีผู้เข้าชิงเพียงแค่สองเพลงยังเผยให้เห็นจุดอ่อนในกฎการตัดสิน ซึ่งควรปรับปรุง หรือกระทั่งรื้อถอนเสียใหม่ โดยก่อนหน้านี้ เพลงหลายเพลงก็ถูกตัดสิทธิไปเรียบร้อยจากกฎยิบย่อยว่าเพลงจะต้องปรากฏในหนังมากน้อยแค่ไหน หรือภายในเวลาเท่าใด เช่น เพลงรางวัลลูกโลกทองคำของ มาดอนนา ถูกตัดสิทธิเพราะมันเป็นเพลงอันดับที่สองในช่วงเครดิตท้ายเรื่อง ซึ่งถือว่าผิดกฎเพราะแค่เพลงแรกในช่วงเครดิตท้ายเรื่องเท่านั้นที่มีสิทธิเข้าชิง!!?? ในอดีต เพลง A Love That Will Never Grow Old จาก Brokeback Mountain ก็เคยถูกตัดสิทธิมาแล้วเพราะเพลงปรากฏในหนังไม่ยาวพอตามที่กฎระบุไว้ นอกจากนี้ ในบรรดา 39 เพลงที่มีสิทธิ พวกมันจะต้องได้คะแนนเฉลี่ย 8.25 ขึ้นไปจากกรรมการถึงจะได้เข้าชิง (แต่ละคนจะให้คะแนนจาก 6-10) ปีก่อนมีเพลงเข้าชิง 4 เพลง แต่ปีนี้ดูเหมือนกรรมการจะหัวสูงขึ้น เลยเสนอเพลงแค่ 2 เพลงเท่านั้น ทำให้ เอลตัน จอห์น (Gnomeo and Juliet) แมรี เจ. บลิงจ์ (The Help) เอลวิส คอสเตลโล (One Day) และ อลัน เมนเคน (Captain America) หน้าแตกกันเป็นแถว


เก็บตกสถิติ

* จอห์น วิลเลียมส์ (War Horse และ The Adventures of Tin Tin) ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาดนตรีประกอบยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 42 ทำให้เขาตามหลัง อัลเฟร็ด นิวแมน แค่หนึ่งครั้งในสาขานี้ แต่หากรวมการเข้าชิงในสาขาเพลงประกอบด้วยแล้ว จะถือเป็นการเข้าชิงออสการ์ทั้งหมด 47 ครั้งสำหรับวิลเลียมส์ ทำสถิติเป็นรองแค่ วอลท์ ดิสนีย์ ซึ่งเข้าชิงทั้งหมด 59 ครั้ง

* เกร็ก รัสเซลล์ (Transformers: Dark of the Moon) เข้าชิงเป็นครั้งที่ 15 ในสาขาบันทึกเสียง โดยยังไม่เคยคว้าชัยมาครองสักครั้งเดียว ถือเป็น “แชมป์กินแห้ว” อันดับสองรองจาก เควิน โอ’คอนเนลล์ เพื่อนร่วมอาชีพ ซึ่งเคยเข้าชิงทั้งหมด 20 ครั้ง และยังไม่เคยได้รางวัลมาครอง

* นับแต่สาขาลำดับภาพยอดเยี่ยมถือกำเนิดขึ้นเมื่อ 77 ปีก่อน มีภาพยนตร์เพียง 9 เรื่องเท่านั้นที่คว้ารางวัลสูงสุดมาครองโดยไม่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขานี้ เรื่องล่าสุดที่ทำสำเร็จ คือ Ordinary People เมื่อ 31 ปีก่อน นั่นถือเป็นข่าวดีสำหรับ Moneyball, Hugo, The Descendants และ The Artist

* Pina เป็นหนังสามมิติเรื่องแรกที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาสารคดียอดเยี่ยม

* วู้ดดี้ อัลเลน (Midnight in Paris) เข้าชิงสาขากำกับภาพยนตร์และบทภาพยนตร์ภายในปีเดียวกันเป็นครั้งที่ 7 แซงหน้า บิลลี ไวล์เดอร์ ขึ้นมารั้งอันดับหนึ่งแต่เพียงผู้เดียว (6 ครั้งก่อนหน้า คือ Annie Hall, Interiors, Broadway Danny Rose, Hannah and Her Sisters, Crimes and Misdemeanors และ Bullets Over Broadway) ขณะเดียวกัน เขาก็ทำสถิติทิ้งห่างในการเข้าชิงสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม รวมทั้งหมด 15 ครั้ง

* ตลอด 56 ปีที่ผ่านมา มีหนังเพียงสองเรื่องที่คว้ารางวัลสูงสุดมาครอง แต่ไม่ได้เข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์ นั่นคือ The Sound of Music (1965) และ Titanic (1997) ถือเป็นข่าวดีสำหรับ The Artist, Moneyball, The Descendants, Hugo และ Midnight in Paris

* เจสซิก้า แชสเทน และ อ็อกเทเวีย สเปนเซอร์ เข้าชิงในสาขาเดียวกันจากหนังเรื่องเดียวกัน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นติดต่อกันเป็นปีที่สี่ หลังจาก เอมี อดัมส์ กับ วีโอลา เดวิส ใน Doubt (2008) เวียรา ฟาร์มิกา กับ แอนนา เคนดริค ใน Up in the Air (2009) และ เอมี อดัมส์ กับ เมลิสสา ลีโอ ใน The Fighter (2010)

* นี่เป็นปีแห่งการหวนคืนเวทีของนักแสดงรุ่นใหญ่หลายคน เช่น เคนเน็ธ บรานาห์ (22 ปีหลังจาก Henry V) นิค นอลตี้ (13 ปีหลังจาก Affliction) แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ (24 ปีหลังจาก Pelle the Conqueror) เจเน็ท แม็กเทียร์ (12 ปีหลังจาก Tumbleweeds) และ เกล็น โคลส (23 ปีหลังจาก Dangerous Liaisons)

* แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ และ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ซึ่งอายุ 82 ปีทั้งคู่กลายเป็นผู้เข้าชิงที่อายุมากสุดลำดับสองและสี่ ส่วนอันดับหนึ่ง ได้แก่ ฮาล ฮอลบรู้ค ซึ่งอายุ 82 ปีเช่นกัน แต่แก่เดือนกว่าตอนเขาเข้าชิงจาก Into the Wild (2007) พลัมเมอร์อายุน้อยกว่าซีโดว์ และ ราล์ฟ ริชาร์ดสัน ซึ่งแก่กว่าแค่ไม่กี่วัน ตอนเข้าชิงจาก Greystoke: The Legend of Tarzan, Lord of the Apes (1984) แต่ถ้าใครคนใดคนหนึ่งคว้ารางวัลมาครอง เขาจะกลายเป็นผู้ชนะที่อายุมากสุดทันที แซงหน้า จอร์จ เบิร์นส์ ซึ่งได้ออสการ์สมทบชายจาก The Sunshine Boys (1975) ตอนอายุ 80 ปี และ เจสซิก้า แทนดี้ ซึ่งได้ออสการ์นำหญิงจาก Driving Miss Daisy (1989) ตอนอายุ 80 ปีเช่นกัน

* เมอรีล สตรีพ (The Iron Lady) ทำสถิติทิ้งห่างมากขึ้นในฐานะนักแสดงที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงมากครั้งที่สุด นั่นคือ 17 ครั้ง (14 ครั้งในสาขานำหญิง และ 3 ครั้งในสาขาสมทบหญิง)

* จอร์จ คลูนีย์ (The Descendants) พิสูจน์ว่าเขาเป็นขวัญใจออสการ์ฝ่ายชาย ด้วยการเข้าชิงสาขานำชายเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 4 ปี หลังจาก Michael Clayton (2007) และ Up in the Air (2009)

* มีหนังแค่ 11 เรื่องในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลสูงสุดมาครองโดยที่นักแสดงในเรื่องไม่มีใครได้เข้าชิงเลย และแค่ 3 เรื่องในช่วง 20 ปีหลัง นั่นคือ Braveheart (1995), The Lord of the Rings: The Return of the King (2003) และ Slumdog Millionaire (2008) นั่นถือเป็นข่าวดีสำหรับ The Artist, Moneyball, The Help, The Descendants และ Extremely Loud & Incredibly Close

* มีหนังแค่สามเรื่องเท่านั้นที่คว้ารางวัลสูงสุดมาครองโดยที่ผู้กำกับไม่ได้เข้าชิง ได้แก่ Wings (1927/1928), Grand Hotel (1931/1932) และ Driving Miss Daisy (1989) นั่นถือเป็นลางร้ายสำหรับ Extremely Loud & Incredibly Close, The Help, Moneyball และ War Horse

* แคธลีน เคนเนดี้ (War Horse, The Curious Case of Benjamin Button, Munich, Seabiscuit, The Sixth Sense, The Color Purple, E.T.: The Extra-Terrestrial) และ สตีเวน สปีลเบิร์ก (War Horse, Letters from Iwo Jima, Munich, Saving Privat Ryan, Schindler’s List, The Color Purple, E.T.: The Extra-Terrestrial) ทำสถิติเข้าชิงสาขาหนังเยี่ยมสูงสุด 7 ครั้ง แซงหน้า สแตนลีย์ เครเมอร์ (Guess Who’s Coming to Dinner, Ship of Fools, Judgment at Nuremberg, The Defiant One, The Caine Mutiny, High Noon) ที่เคยครองตำแหน่งร่วมกัน

* The Artist เป็นหนังเงียบเรื่องที่ห้าที่ได้เข้าชิงออสการ์สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และเรื่องแรกในรอบ 83 ปีตามหลัง Wings (1927/1928), The Racket (1927/1928), Seventh Heaven (1927/1928) และ The Patriot (1928/1929) นอกจากนี้มันยังเป็นหนังขาวดำเรื่องที่ 7 นับจากปี 1970 เป็นต้นมาตามหลัง The Last Picture Show (1971), Lenny (1974), The Elephant Man (1980), Raging Bull (1980), Schindler’s List (1993) และ Good Night, and Good Luck (2005)


คำสารภาพของผู้เข้าชิง

“ขอบคุณเพื่อนนักแสดงในสถาบันอย่างสุดซึ้ง มันเป็นข่าวที่วิเศษสุด ผมอึ้งจนพูดอะไรไม่ออก” แม็กซ์ ฟอน ซีโดว์ (นักแสดงสมทบชาย จาก Extremely Loud & Incredibly Close)

“เป็นข่าวที่น่ายินดีสำหรับผมและวงการภาพยนตร์อิหร่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าชิงในสาขาบทภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เพราะแม้เราจะพูดกันคนละภาษา แต่ทุกคนสามารถเข้าใจภาษาสากลได้ นั่นคือ ภาษาภาพยนตร์” อัสการ์ห ฟาร์ฮาดี (หนังต่างประเทศ/ บทภาพยนตร์ดั้งเดิม จาก A Separation)

“ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้เข้าชิงเป็นครั้งที่สอง มันคือความสำเร็จส่วนตัว และความสำเร็จร่วมกันกับผู้หญิงทุกคนและผู้หญิงผิวสี ฉันดีใจที่หนังได้เข้าชิงด้วย มันเป็นผลงานจากความรัก ความทุ่มเท พวกเราหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้ง เมื่อได้เห็นว่าหนังก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างอย่างไร” วีโอลา เดวิส (นักแสดงนำหญิง จาก The Help)

“สถิติ (ไม่เคยเข้าชิงออสการ์) ของผมถูกทำลายลงแล้ว ผมเคยครองตำแหน่งนั้น แต่ไม่ใช่อีกต่อไป ต้องยอมรับว่ามันเป็นเรื่องน่าตื่นเต้นจริงๆ ผมเข้าใจความรู้สึกของผู้เข้าชิงแล้วล่ะว่าอาการช็อกนั้นเป็นอย่างไร” แกรี โอลด์แมน (นักแสดงนำชาย จาก Tinker Tailor Soldier Spy)

“คนรู้จักผมจากหนังตลก และมีดาวตลกแค่ไม่กี่คน เช่น ทอม แฮงค์ และ โรบิน วิลเลียมส์ ที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนมารับหนักๆ การเข้าชิงออสการ์เป็นเหมือนลางบอกเหตุว่าผมควรหันมาเล่นหนังดรามามากขึ้น ไม่มีอะไรจะชัดเจนไปกว่านี้อีกแล้ว” โจนาห์ ฮิลล์ (นักแสดงสมทบชาย จาก Moneyball)

“ผมดีใจมากที่ได้เข้าชิงสาขาหนังสารคดีอีกครั้งหลังจาก Buena Vista Social Club โดยเฉพาะอย่างยิ่งมันเป็นหนังสามมิติเรื่องแรกที่ได้เข้าชิงสาขานี้ นักเต้นและทีมงานทุกคนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง การเดินทางสู่ดินแดนมหัศจรรย์ของนักออกแบบท่าเต้นระดับโลกชาวเยอรมัน พีนา เบาช์ เกิดจากความต้องการที่จะเฉลิมฉลองผลงานของนักบุกเบิกวงการ โมเดิร์น แดนซ์ และความสำเร็จทั่วโลกของ Pina รวมถึงการถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์ถือเป็นรางวัลตอบแทนที่ยอดเยี่ยม” วิม เวนเดอร์ส (หนังสารคดี จาก Pina)

“ผมตื่นเต้นอย่างบอกไม่ถูกที่ได้เข้าชิงร่วมกับนักแสดงชั้นยอด ทุกอย่างคงไม่เกิดขึ้นหากปราศจากการนำทีมของ คริส ไวซ์ เขาเป็นเหมือนน้องชาย และผมอยากจะขอบคุณเขาอยากสุดซึ้ง หวังว่าการเข้าชิงครั้งนี้จะทำให้คนไปหาหนังดู นั่นจะเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเรา” เดเมียน บิเชียร์ (นักแสดงนำชาย จาก A Better Life)

“เป็นการเริ่มต้นปีมังกรที่สวยงามจริงๆ! มันเสริมกำลังใจให้ทีมงานหลายร้อยคนที่ช่วยกันสร้างสรรค์หนังเรื่องนี้ ฉันภูมิใจ และรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูง” เจนนิเฟอร์ ยูห์ เนลสัน (หนังการ์ตูน จาก Kung Foo Panda 2)

“มนต์สะกดสุดแสนโรแมนติกของปารีสฝังหัวอเมริกันชนมานาน ฉันรู้สึกเหมือนอยู่ในฝัน ซึ่งเริ่มต้นขึ้นเมื่อวู้ดดี้ (อัลเลน) เปิดโอกาสให้ฉันได้เข้ามามีส่วนร่วมในโลกของเขา และสร้างอาณาจักรอันน่าหลงใหลจนนำไปสู่การเข้าชิงรางวัลออสการ์ และกลายเป็นที่รักของนักดูหนังทั่วโลก” แอนน์ ไซเบล (กำกับศิลป์ จาก Midnight in Paris)

“เป็นเรื่องน่ายินดีที่ผลงานซึ่งมีความเป็นส่วนตัวสูงสามารถกลายเป็นที่ยอมรับเคียงคู่หนังจากฮอลลีวู้ด นี่คือหลักฐานที่ชัดเจนว่า ความสำเร็จและการยอมรับไม่ได้มีแค่เส้นทางเดียว ผมอยากแบ่งปันความตื่นเต้นครั้งนี้กับทีมงานทุกคน ไม่ว่าพวกเขาจะอยู่ที่ไหนก็ตาม นี่ถือเป็นการเข้าชิงของพวกเขาเช่นกัน” ฟิลลิป ฟาลาร์ดอย (หนังต่างประเทศ จาก Monsieur Lazhar)

“ฉันรู้สึกซาบซึ้งที่กรรมการให้การยกย่องผลงานของฉัน ซึ่งถือกำเนิดขึ้นได้จากแรงสนับสนุนของผู้กำกับ ไซมอน เบเกอร์ ผู้อำนวยการสร้าง ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน และเพื่อนนักแสดงชั้นยอดทุกคน ขอแสดงความยินดีเป็นพิเศษให้กับ เคนเน็ธ บรานาห์ บทนี้ถือเป็นความท้าทายและอภิสิทธิ์สูงสุดในอาชีพนักแสดงของฉัน ฉันคิดว่าการยอมรับจากกรรมการ คือ บทพิสูจน์ถึงความเป็นอมตะของ มาริลีน มอนโร” มิเชลล์ วิลเลียมส์ (นักแสดงนำหญิง จาก My Week with Marilyn)

“มันก็แค่วันอีกวันหนึ่ง เราเฉลิมฉลองกันทุกวันตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะได้รางวัลหรือไม่ก็ตาม ชีวิตควรค่ากับการเฉลิมฉลอง” คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ (นักแสดงสมทบชาย จาก Beginners)

“ผมรู้สึกวิงเวียนจากความสุข... และคาเฟอีน นี่เป็นความสำเร็จที่หอมหวาน เมื่อพิจารณาว่าทั้ง Moneyball และ The Tree of Life เกือบจะโดนพับโครงการไปหลายครั้ง ผมอยากขอบคุณทีมงานและศิลปินทุกคนที่ทุ่มเทสุดความสามารถให้กับหนัง ผมดีใจจนตัวลอยกับการเข้าชิงของโจนาห์ (และทุกคนในทีม Moneyball ) รวมถึง เทอร์รี มาลิก ผมขออุทิศการเข้าชิงให้กับ บิลลี บีน และกลุ่มผู้จัดการทีมเบสบอล โอ๊คแลนด์ เอ ขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าชิงทุกคน” แบรด พิทท์ (นักแสดงนำชาย จาก Moneyball)

“การถ่ายหนังเรื่อง The Artist ในลอสแองเจลิสให้ความรู้สึกเหมือนฝันที่เป็นจริง การได้เข้าชิงในวันนี้เป็นสิ่งที่ผมไม่เคยคาดหวังมาก่อน ผมคงไม่ได้มายืน ณ จุดนี้หากปราศจากทีมงานและนักแสดงทุกคนที่ทุ่มเทหัวใจและจิตวิญญาณให้กับหนัง” มิเชล ฮาซานาวิเชียส (กำกับภาพยนตร์ จาก The Artist)

“ฉันรู้สึกเป็นเกียรติที่ได้ยืนเคียงข้างศิลปินชั้นยอดเหล่านี้ และรู้สึกซาบซึ้งใจเพื่อนๆ นักแสดงที่เปิดโอกาสให้ฉันได้เข้าชิง” เมอรีล สตรีพ (นักแสดงนำหญิง จาก The Iron Lady)

“ฉันกำลังรถติดอยู่ในกรุงลอนดอนยามบ่ายที่ฝนตกปรอยๆ ตอนเดวิด (ดาเวนพอร์ต) ส่งข้อความมาว่า เตรียมหาชุดใส่ไปงานได้แล้ว!” แซนดี้ พาเวลล์ (ออกแบบเครื่องแต่งกาย จาก Hugo)

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติอย่างสูงที่ได้เข้าชิงจาก Hugo หนังทุกเรื่องถือเป็นความท้าทาย และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมต้องถ่ายหนังด้วยระบบดิจิตอลสามมิติ และร่วมงานกับ ซาชา บารอน โคเฮน มันเป็นความสุขสูงสุด เมื่อคุณเป็นที่ยอมรับของเพื่อนร่วมวงการ ผมขอแสดงความยินดีกับผู้เข้าชิงทุกคน มันเป็นรายชื่อที่น่าประทับใจมาก” มาร์ติน สกอร์เซซี (กำกับภาพยนตร์ จาก Hugo)

4 ความคิดเห็น:

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ขอบคุณมากครับที่ยังคงเขียนบทความใน Blog อย่างสม่ำเสมอ บทความของคุณ Riverdale ในช่วงประกาศรางวัล เป็นบทความที่ผมตามอ่านเป็นประจำทุกปี เดี๋ยวนี้บทความที่อ่านแล้วรู้สึกว่าได้รับความรู้มากขึ้น มีน้อยลงทุกที ผมคิดว่ามีหลายคนที่ตามอ่านอย่างเงียบๆ เกรงว่าคุณ Riverdale จะคิดว่ามีคนอ่านน้อยแล้วจะหยุดเขียน จาก คนตามอ่าน blog นี้ครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณที่ยังตามอ่านนะครับ ^ ^ หลังๆ บล็อกมักจะโดยสแปมโจมตีบ่อยๆ บางทีเลยอาจพลาดไม่ได้มาตอบคอมเมนต์เท่าไหร่

Unknown กล่าวว่า...

ผมก็ยังตามอ่านอยู่เสมอ บทความดีมากๆ เป็นกำลังใจมห้นะครับ

Riverdale กล่าวว่า...

ขอบคุณครับ ดีจัง ได้เช็คเรตติ้งไปในตัว ^_^