วันพฤหัสบดี, มีนาคม 14, 2556

Silver Linings Playbook: โลกสวยด้วยมือเรา



ผู้กำกับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ เคยให้สัมภาษณ์ว่าเขาสนใจสร้างหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ซึ่งดัดแปลงจากนิยายของ แม็ทธิว ควิค สาเหตุหนึ่งเป็นเพราะลูกชายเขาก็มีอาการโรคอารมณ์สองขั้วแบบเดียวกับตัวละครเอก ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกหากเขาจะรู้สึกมีอารมณ์ร่วมอย่างรุนแรงกับเรื่องราวของชายหนุ่ม ที่สามารถฉุดตัวเองขึ้นจากหุบเหวแห่งความล้มเหลวและหลุมพรางทางอารมณ์ แล้วค้นพบความสุข ความสำเร็จด้วยแรงสนับสนุนของทุกคนรอบข้างโดยเฉพาะอย่างยิ่งครอบครัวเขา แต่ขณะเดียวกัน ก็ไม่อาจปฏิเสธว่าหลากหลายพฤติกรรม ตลอดจนพัฒนาการของ แพ็ท จูเนียร์ (แบรดลีย์ คูเปอร์) ก็สะท้อนชีวิตจริงของรัสเซลล์อยู่กลายๆ และบางทีการคิดบวก หรือพยายามมองหาสิ่งดีๆ จากสภาพแวดล้อมอันหดหู่ มืดมนไร้ทางออกอาจเป็นทฤษฎีที่รัสเซลล์เองยินดีรับมาปฏิบัติตาม ส่งผลให้หนังสองเรื่องหลังของเขายืนกรานที่จะสร้างความรู้สึกดีๆให้แก่ผู้ชม เพื่อให้เรามองชีวิตด้วยแววตาที่อ่อนโยนขึ้น

นี่เป็นสารที่ห่างไกลจากภาพลักษณ์ของชายที่ตะโกนด่านักแสดง และพังทำลายฉากในระหว่างการถ่ายทำหนังตลกเกี่ยวกับอัตถิภาวนิยมเรื่อง I Heart Huckabees อยู่มากโข แต่ไม่ยากต่อการคาดเดา หลังจากหนังปูพื้นไว้ตั้งแต่ช่วงต้นเรื่องเมื่อแพ็ทระบายความหงุดหงิดต่อ เออร์เนส เฮมมิงเวย์ โดยการเขวี้ยงนิยาย A Farewell to Arms ทะลุกระจกหน้าต่าง หลังพบว่าตัวละครเอกต้องสูญเสียคนรักอย่างกะทันหันจากภาวะตกเลือดขณะคลอดลูก โลกนี้มันอยู่ยากขึ้นทุกวัน ทำไมเราถึงไม่รู้จักมองแง่บวก แล้วค้นหาฉากจบที่ให้ความหวังกับเรื่องราวบ้างเขากล่าว

ข้อติติงของแพ็ทต่อ A Farewell to Arms และอาจหมายรวมถึงนิยายอย่าง Lord of the Flies ด้วยนั้น (เขาพยายามจะเอาชนะใจภรรยาด้วยการอ่านหนังสือนอกเวลาทุกเล่มที่เธอใช้สอนนักเรียน) ได้รับการโต้กลับจากทิฟฟานี (เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์) ซึ่งเขียนจดหมายในนามของภรรยาแพ็ทว่า ผลงานศิลปะที่ยิ่งใหญ่เหล่านั้นสะท้อนความจริงว่าบางครั้งชีวิตอาจเต็มไปด้วยความลำบากยากเข็ญ ความผิดหวัง ความมืดหม่น และการสอนมันในโรงเรียนจะช่วยเตรียมเด็กให้พร้อมสำหรับแง่มุมอันไม่น่าพิสมัยของชีวิต

หลังจากดำรงตำแหน่งขวัญใจวงการหนังอินดี้อยู่พักใหญ่ผ่านผลงานอย่าง Spanking the Monkey และ Flirting with Disaster และสร้างหนังพิลึกพิลั่นที่กลายเป็นขวัญใจคนกลุ่มน้อยอย่าง I Heart Huckabees รัสเซลล์ก็ห่างหายจากวงการไปนานกว่า 6 ปี ก่อนจะหวนคืนวงการด้วยภาพลักษณ์ใหม่ (ทัศนคติใหม่?) โดยผลงานสองชิ้นล่าสุดของเขาดำเนินเรื่องอยู่ภายใต้สูตรสำเร็จที่ชัดเจน สะท้อนมุมมองต่อโลกในแง่ดีขึ้น เข้าถึงคนดูกระแสหลักได้มากกว่า  และไม่ได้ท้าทายคนดูด้วยการผสมผสานแนวทางภาพยนตร์ (genre) หรือนำเสนอประเด็นสุ่มเสี่ยงต่อศีลธรรมเหมือนในผลงานยุคแรก ตรงกันข้าม อาจกล่าวได้ว่า The Fighter คือ การนำเอาเหล้าเก่า (aka Rocky) มากรอกใส่ขวดใหม่ที่อาจให้ความรู้สึกสมจริงมากกว่าผ่านตัวละครชนชั้นล่าง ประเด็นการติดยา กลิ่นอายของสไตล์สารคดี แม้ว่าโดยเนื้อแท้แล้วจะปรุงแต่งทางอารมณ์เพื่อให้คนดูฮึกเหิม อิ่มเอมไปกับความสำเร็จของตัวละครไม่แพ้กัน

เป้าหมายถัดมาของรัสเซลล์ คือ แนวทางตลก-โรแมนติก แต่เห็นได้ชัดว่า Silver Linings Playbook ห่างไกลจากหนังที่นำแสดงโดย แคทเธอรีน ไฮเกล หรือ เคท ฮัดสัน ราวกับอยู่คนละโลก แล้วเฉียดใกล้ผลงานสไตล์ screwball comedy ซึ่งเคยได้รับความนิยมอย่างสูงในช่วงทศวรรษ 1930 มากกว่า  โดยเฉพาะจากบทสนทนาอันพลุ่งพล่าน โต้ตอบไปมาอย่างรวดเร็ว และการนำเสนอบุคลิกของตัวละครอย่างทิฟฟานี ที่แกร่งกล้า ปากจัด เธอรู้ว่าตัวเองต้องการอะไร และไม่กลัวที่จะไขว่คว้ามาครอบครอง

แต่เช่นเคย รัสเซลล์ไม่ลืมที่จะสอดแทรกความชอบส่วนตัวของเขาเข้ามาในรูปแบบอันคุ้นเคย เพื่อสร้างความรู้สึกสดใหม่ให้กับเหล้าขวดเก่า เช่น เนื้อหาเกี่ยวกับความผิดปกติในครอบครัว ซึ่งครั้งนี้อาจไม่ได้รุนแรงเหมือนกรณี Spanking the Monkey (การสมสู่ร่วมสายโลหิต) แต่ก็กล่าวได้ว่าครอบครัวโซลิทาโนใน Silver Linings Playbook นั้น สติแตกได้ไม่แพ้ครอบครัว วอร์ดใน The Fighter กันเลยทีเดียว ทั้งลูกชายที่เป็นโรคอารมณ์สองขั้ว และพ่อ (โรเบิร์ต เดอ นีโร) ที่เป็นโรคย้ำคิดย้ำทำ แถมยังหมกมุ่นกับเรื่องโชคลาง ฟุตบอล และการพนัน โดยต่างก็พร้อมจะระเบิดอารมณ์เข้าใส่กันได้ทุกเวลา นอกจากนี้ รัสเซลล์ยังคงเอกลักษณ์ของสไตล์งานด้านภาพเอาไว้อย่างเหนียวแน่น ผ่านการเคลื่อนไหวที่วูบวาบด้วยสเตดิแคมผสมแฮนด์เฮลด์ โดยบางครั้งกล้องก็เคลื่อนเข้าประชิดตัวละครอย่างฉับพลัน บ้างก็หมุนวนไปรอบๆ และบางครั้งกลับถอยห่างอย่างรวดเร็วจนเปรียบได้กับอารมณ์วูบวาบ ขึ้นๆ ลงๆ ของตัวละคร ซึ่งเป็นทั้งเสน่ห์น่าสนใจ และสร้างความรู้สึกเหน็ดเหนื่อยให้คนดูในเวลาเดียวกัน

ความมืดหม่นและเจ็บปวดที่ซ่อนอยู่เบื้องหลังสถานการณ์ ซึ่งอาจดูตลกขบขัน เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยยกระดับ Silver Linings Playbook เหนือผลงานสูตรสำเร็จชวนฝันเรื่องอื่นๆ กล่าวคือ มันอาจยืนกรานที่จะนำเสนอการมองโลกในแง่ดี แต่ก็ไม่ได้มองข้ามความยากเข็ญของชีวิตไปอย่างสิ้นเชิง อารมณ์โกรธขึ้ง คับแค้นที่รอนนี (จอห์น ออร์ทิซ) เพื่อนสนิทของแพ็ท พยายามเก็บกดเอาไว้ภายใน จากการถูกภรรยาจอมบงการควบคุมและกดดันทุกฝีก้าวอาจดูน่าหัวเราะ แต่ในเวลาเดียวกันก็น่าเศร้าและเจ็บปวดอยู่ลึกๆ หนัง screwball comedy มักเจือแง่มุมความขัดแย้งระหว่างชนชั้นเอาไว้ ส่วนความขัดแย้งที่เห็นเด่นชัดใน Silver Linings Playbook ไม่ได้เกี่ยวกับสถานะทางสังคม หากแต่เป็นความแตกต่างระหว่างมาตรฐานกับคนนอกกรอบ หรือพูดชัดๆ ลงไปอีกอย่าง คือ ระหว่างคนดีกับคนบ้า โดยมีเพียงเส้นบางๆ กั้นอยู่ตรงกลาง

ฉากที่เวโรนิกา (จูเลีย สไตล์ส) พาแพ็ทกับทิฟฟานีเดินทัวร์บ้านแสนสวยของเธอเปรียบเหมือนความพยายามจะเกทับของคนกลุ่มแรก เช่นเดียวกับฉากเจค (เชีย วิคแกม) คุยโวถึงความสำเร็จต่างๆ นานาของตนต่อหน้าน้องชายที่ล้มเหลวในแทบทุกด้าน แต่เนื่องจากหนังโน้มน้าวให้คนดูอยู่ข้างเดียวกับฝ่ายหลัง จึงไม่แปลกที่ ความปกติเหล่านั้น (บ้านที่เต็มไปด้วยเครื่องอำนวยความสะดวกฟุ้งเฟ้อ และความทะเยอทะยานในอาชีพการงาน) จะดูไร้สาระ และบางทีอาจก้าวเข้าข่ายบ้าคลั่งอยู่กลายๆ (อย่างน้อยมันก็แทบจะทำให้รอนนีก้าวผ่านจากกลุ่มแรกไปอยู่กลุ่มหลังอยู่รอมร่อ) แน่นอน สำหรับแพ็ทและทิฟฟานี ลำพังแค่การรับมือกับพายุอารมณ์ตัวเองก็ถือว่ายากลำบากเพียงพอแล้ว พวกเขาย่อมไม่เหลือเวลาพอสำหรับเตาผิงติดผนัง หรือพอร์ตต่อไอพ็อดเข้ากับลำโพงในทุกๆ ห้องของบ้าน

ปัญหาของแพ็ทไม่ได้อยู่แค่โรคอารมณ์สองขั้วเท่านั้น ความมุ่งมั่นที่จะคิดบวก ทำให้เขามองข้ามความจริงซึ่งทุกคนรอบข้างเห็นได้ถนัดชัดเจน แต่เขากลับมืดบอด เช่น การพยายามจะขอคืนดีกับภรรยา ทั้งๆ ที่เธอนอกใจเขากับครูสอนประวัติศาสตร์ ซึ่งลงเอยด้วยการที่เขาซ้อมชายชู้จนปางตาย ถูกศาลตัดสินให้เข้ารับการบำบัดในโรงพยาบาลโรคจิต และสั่งห้ามเข้าใกล้ภรรยาในระยะ 500 ฟุต กระนั้นแพ็ทก็ยังคิดว่าตัวเองไม่ดีพอสำหรับเธอ จนต้องเริ่มฟิตหุ่น หรืออ่านหนังสือที่เธอสอนในโรงเรียน เขามองตัวเองไม่ต่างจากถึงขยะที่เขาสวมใส่เพื่อนเรียกเหงื่อทุกครั้งที่ออกไปวิ่ง เขาโทษความผิดทุกอย่างไปยังโรคร้าย ไปยังเหตุระเบิดอารมณ์ แค่ครั้งเดียวโดยไม่ไตร่ตรองถึงความบาดหมาง หรือเหินห่างก่อนหน้าจนนำไปสู่การนอกใจ เขาพยายามจะเอาชนะปีศาจในใจด้วยการลืมทุกความผิดพลาดที่เกิดขึ้นแล้วเริ่มต้นใหม่ แทนการเรียนรู้ที่จะทำใจยอมรับข้อจำกัดของตน แล้วใช้ชีวิตร่วมกับมันอย่างสงบสุข

คงไม่มีใครเข้าใจแพ็ทได้ดีไปกว่าทิฟฟานี เพราะเธอก็เคยผ่านช่วงเวลาเหยียบย่ำตนเองมาแล้ว หลังสูญเสียสามีไปกับอุบัติเหตุรถชน เธอคิดว่าเซ็กซ์จะช่วยเติมเต็มความรู้สึกว่างเปล่า บรรเทาความเศร้าภายในจิตใจ เธอนำเสนอเรือนร่างให้คนแปลกหน้าเพื่อจะได้รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่า เป็นที่ต้องการ แม้จะเพียงช่วงเวลาประเดี๋ยวประด๋าวก็ตาม แน่นอน วิธีรับมือกับความสูญเสียของเธอย่อมต้องแลกด้วยราคาค่อนข้างสูง ทั้งการถูกไล่ออกจากงาน และถูกมองเป็นเพียงวัตถุทางเพศที่ปราศจากหัวจิตหัวใจ พร้อมกันนั้นเธอได้สร้างบุคลิกจัดจ้านก่อเป็นกำแพงภายนอก ทั้งการแต่งหน้าเข้ม หรือวิธีพูดจาแบบขวานผ่าซากเพื่อปกปิดความเปราะบางภายใน และอารมณ์โหยหาความรัก ความเอาใจใส่

ตรงตามสูตรสำเร็จ วิกฤติต่างๆ ซึ่งดูหนักหน่วง สาหัสพอตัวในช่วงต้นเรื่อง กลับค่อยๆ คลี่คลายได้อย่างราบรื่นในตอนท้าย สองจิตวิญญาณที่บาดเจ็บได้ช่วยกันเยียวยา เติมเต็มกันและกัน และต่างเรียนรู้ที่จะก้าวต่อไปข้างหน้าอย่างสุขสม แม้กระทั่งหายนะทางด้านการเงินภายในครอบครัว (พ่อตกงาน ถูกตัดบำนาญ และสูญเงินก้อนโตที่เก็บสะสมไว้เปิดร้านอาหารไปกับการพนันฟุตบอล) ก็ได้รับการเยียวยาไปพร้อมๆ กันผ่านฉากไคล์แม็กซ์ที่ช่วยเติมเต็มความหวังและเรียกเสียงเชียร์จากคนดูได้อย่าง หมดใจ

เช่นเดียวกับหนัง screwball comedy ซึ่งเจริญงอกงามในช่วงยุคเศรษฐกิจตกต่ำครั้งยิ่งใหญ่ก่อนหน้าการมาถึงของสงครามโลกครั้งที่สอง Silver Linings Playbook อาจเป็นความบันเทิงที่เหมาะสำหรับปลอบประโลมอเมริกาในขณะนี้ เมื่อสภาพเศรษฐกิจกำลังดิ่งลงเหว ภาวะข้าวยากหมากแพงแพร่กระจายทั่วทุกหัวระแหง บ้านถูกเวนคืน ผู้คนถูกไล่ออกจากงาน (หนังกล่าวถึงสิ่งเหล่านี้แบบผ่านๆ) เช่นนี้แล้วเราจะใช้ชีวิตท่ามกลางความผันผวน หดหูเช่นนี้ได้อย่างไร หากไม่รู้จักค้นหาแง่งามจากความสิ้นหวัง การลงเอยด้วยความสุขสันต์อาจเป็นแค่ปุ่มทำงานอัตโนมัติของหนังตลก-โรแมนติกหลายๆ เรื่อง แต่บางทีสำหรับหนังเรื่องนี้ อาจกล่าวได้ว่ามันคือความจำเป็นที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง

Oscar 2013: ปีแห่งการแบ่งปันความสุข



บทสรุปของออสการ์ปีนี้ไม่ถือว่ายากต่อคาดเดาในแง่ที่ว่ารางวัลถูกกระจายแจกจ่ายไปอย่างทั่วถึง เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นปีที่เต็มไปด้วยหนังแข็งๆ มากมาย แต่กลับไม่มีเรื่องใดถูกใจคณะกรรมการแบบโดดเด้ง สังเกตได้จากรางวัลใหญ่ 4 สาขาได้แก่ ภาพยนตร์, ผู้กำกับ, นำชาย และนำหญิง ตกเป็นของหนัง เต็งแถวหน้า อย่าง Argo, Life of Pi, Lincoln และ Silver Linings Playbook ตามลำดับ ส่วนรางวัลสมทบชายและหญิงก็ตกเป็นของนักแสดงจากหนัง พระรองที่ได้เข้าชิงสาขาสูงสุดอีกสองเรื่อง คือ Django Unchained และ Les Miserables จากนั้นเมื่อผนวกเข้ากับรางวัลลำดับเสียงยอดเยี่ยมของ Zero Dark Thirty และรางวัลหนังต่างประเทศยอดเยี่ยมของ Amour ก็ปรากฏว่า Beasts of the Southern Wild กลายเป็นหนังเรื่องเดียวที่ต้องกลับบ้านมือเปล่าจากการเข้าชิง 4 สาขา (ซึ่งถือว่าน้อยสุดในบรรดา 9 เรื่อง)

น่าตลกตรงที่ก่อนหน้านี้ Beasts of the Southern Wild เคยเป็นผู้ชนะที่ใครๆ ก็กล่าวถึงในวันประกาศรายชื่อผู้เข้าชิง เมื่อผลงานอินดี้เล็กๆ เรื่องนี้เบียดเข้าชิงในสาขาสำคัญๆ อย่าง ผู้กำกับและนักแสดงนำหญิงได้สำเร็จ เขี่ยตัวเก็งรุ่นใหญ่อย่าง มาริยง โกติญาร์ (Rust and Bone) เฮเลน เมียร์เรน (Hitchcock) เบน อัฟเฟล็ค  (Argo) และ แคธลีน บิเกโลว์ (Zero Dark Thirty) ได้ชนิดเหนือความคาดหมาย... แต่พอถึงวันประกาศผล มันกลับพลิกสถานะมาเป็นผู้แพ้ (คราวนี้ตามความคาดหมายของทุกคน) ไปซะงั้น

รางวัลผู้กำกับอาจเป็นที่เซอร์ไพรซ์ของคนหลายคน แต่ไม่ใช่ในหมู่บล็อกเกอร์ออสการ์ ซึ่งกลับลำมายกให้อังลีเป็นเต็งหนึ่งในช่วงโค้งสุดท้าย เมื่อปรากฏว่ากระแส Lincoln เริ่มแผ่วลงอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน หากจะมองกันตามเนื้อผ้าแล้ว ผลลัพธ์ดังกล่าวก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะ Life of Pi เป็นหนังที่ต้องพึ่งพา วิสัยทัศน์ตลอดจนความกล้าหาญของนักทำหนังอย่างชัดเจน เป็นผลงานของผู้กำกับอย่างแท้จริง ดังนั้นมันจึงได้คะแนนท่ายากเหนือคู่แข่ง โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับหนังนิ่งๆ เนือยๆ และสิ้นไร้ ความเป็นสปีลเบิร์กแบบ Lincoln

นอกจากนี้ อาจกล่าวได้ว่ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมถือเป็นของสมนาคุณตบท้ายแด่อังลี ที่ผลักดันให้ Life of Pi ซึ่งดัดแปลงจากนิยายที่หลายคนยืนกรานว่า ไม่สามารถทำเป็นหนังได้กลายเป็นภาพยนตร์สุดฮิตแห่งปี (ทำเงินทั่วโลกสูงสุดในบรรดาหนังทั้ง 9 เรื่องที่เข้าชิงสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมด้วยตัวเลข 570 ล้านเหรียญ ทิ้งห่างอันดับสองและสาม คือ Les Miserables กับ Django Unchained ราว 200 ล้านเหรียญ) ทั้งที่ก่อนหน้านี้หลายคนเชื่อว่าด้วยทุนสร้างมากกว่า 120 ล้าน มันมีสิทธิ์จะกลายเป็นหายนะบนตารางบ็อกซ์ออฟฟิศเนื่องจากเนื้อเรื่องที่เบาบางเกี่ยวกับประเด็นศรัทธา  ความคลุมเครือของฉากจบ และการปราศจากนักแสดงที่คนดูพอจะรู้จัก

รางวัลที่เซอร์ไพรซ์กว่า คือ คริสตอฟ วอลซ์ ในสาขาสมทบชาย จริงอยู่ เขาอาจคว้าลูกโลกทองคำกับ BAFTA มาครอง แต่ส่วนใหญ่เชื่อว่าสาขานี้น่าจะเป็นการฟาดฟันกันระหว่าง โรเบิร์ต เดอ นีโร ซึ่งออกมาเดินสายโปรโมตอย่างหนัก และ ทอมมี ลี โจนส์ ซึ่งได้ SAG ที่สำคัญ ทั้งสองไม่ได้เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาเดียวกันนี้มาครองเมื่อ 3 ปีก่อนเหมือนวอลซ์จากการแสดงที่คล้ายคลึงกันมาก แค่พลิกจากบทตัวร้ายมาเป็นคนดี อีกรางวัลที่น่าแปลกใจไม่น้อย คือ Brave ในสาขาหนังการ์ตูนยอดเยี่ยม ทั้งนี้เพราะมันไม่ใช่ผลงานพิกซาร์ที่แข็งแกร่ง ขณะเดียวกันคู่แข่งคนอื่นๆ ก็ดูจะได้เปรียบกว่าในแง่เสียงสนับสนุนจากนักวิจารณ์

เส้นทางสู่ออสการ์ของ Argo นั้นเรียกได้ว่าวกวน ขึ้นๆ ลงๆ ราวกับรถไฟเหาะ เริ่มต้นจากการพีคถึงขีดสุดในเทศกาลโตรอนโต ก่อนจะค่อยๆ แผ่วลงอย่างต่อเนื่อง พร้อมการเปิดตัวของหนังที่แนวทางใกล้เคียงกัน แต่จริงจังและเป็นที่ชื่นชอบของนักวิจารณ์มากกว่าอย่าง Zero Dark Thirty แต่เมื่อหนังของ แคธลีน บิเกโลว์ ถูกขัดขาด้วยข่าวอื้อฉาวและการเรียกสอบสวน Lincoln, Life of Pi กับ Silver Linings Playbook ก็ฉวยโอกาสตีตื้นด้วยการได้เข้าชิงออสการ์ครบทั้งสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม แต่แล้ว (ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนเริ่มรู้สึกเห็นใจ เบน อัฟเฟล็ค ที่ถูกกรรมการออสการ์กลุ่มผู้กำกับมองข้าม) Argo กลับถีบตัวขึ้นมาพีคอีกครั้งเป็นรอบที่สองด้วยการกวาดรางวัลสำคัญๆ มาครองอย่างครบถ้วน ทั้งลูกโลกทองคำ, SAG, DGA, WGA และ BAFTA จนทำให้การคว้ารางวัลสูงสุดบนเวทีออสการ์กลายเป็นเรื่องที่ใครๆ ก็คาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว

สำหรับภาพรวมของงานในปีนี้ ดูเหมือนว่าพิธีกร เซ็ธ แม็คฟาร์เลน จะโดนสวดยับจากการเล่นมุกตลกที่ค่อนข้างต่ำ เกรียน และไร้รสนิยม (สำหรับมาตรฐานของงานออสการ์) แต่การที่บางคนถึงขนาดบอกว่าเขาเป็นพิธีกรที่ห่วยที่สุดในประวัติศาสตร์ออสการ์ก็ออกจะเป็นข้อกล่าวหาที่เกินจริงไปสักหน่อย ทั้งนี้เพราะ แอนน์ แฮทธาเวย์ กับ เจมส์ ฟรังโก้ สร้างมาตรฐานต่ำตมไว้สูงลิ่วชนิดที่ใครก็ยากจะเอาชนะได้ อย่างไรก็ตาม มุกตลกแว๊นๆ ของแม็คฟาร์เลนไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจสักเท่าไหร่ พิจารณาจากผลงานในอดีตของเขา และคงเป็นความตั้งใจด้วยซ้ำ เนื่องจากออสการ์ในช่วงสามสี่ปีหลังพยายามอย่างสุดชีวิตที่จะดึงดูดกลุ่มคนดูวัยรุ่น จนบางครั้งก็ลืมไปว่าชื่อรางวัล คือ ออสการ์ ไม่ใช่ MTV Movie Awards (เรตติ้งของงานปีนี้สูงกว่าปีก่อน 3% ส่วนหนึ่งคงต้องยกประโยชน์ให้บรรดาหนังที่ได้เข้าชิง ซึ่งป็อปปูล่ากว่าหนังเต็งในปีก่อนอย่าง The Artist, Hugo และ The Descendants อยู่หลายเท่า)

สิ่งที่ควรจะถูกวิพากษ์มากกว่า คือ การกำกับซึ่งถ้าเทียบไปแล้วก็เหมือนหนังที่จังหวะแปรปรวน ขาดความลื่นไหลอย่างสิ้นเชิง เช่น ช่วงเปิดตัวที่นานเกินไป (เกือบ 20 นาที) ความยืดย้วยซ้ำซ้อนของการร้องเพลง (นี่ไม่ใช่งานประกาศรางวัลโทนี่นะ) เสียงออร์เคสตร้าที่ดังจนแทบจะกลบเสียงร้องของอเดล (เรียกง่ายๆ ว่า เสียของ”) การที่กล้องไม่ยอมตัดภาพไปยังปฏิกิริยาของผู้คนในงาน (และเมื่อตัด ก็ดันตัดผิดซะอีก เช่น เมื่อ รีส วิทเธอร์สพูน แนะนำหนังเรื่อง Beasts of the Southern Wild กล้องดันตัดภาพไปยังทีมนักแสดง Silver Linings Playbook) การแนะนำหนังยอดเยี่ยมแบบเป็นแพ็คสามเรื่องควบ ฯลฯ ซ้ำร้าย คนประกาศรางวัลในปีนี้ก็ขาดสีสัน หรือตัวตลกที่จะมาขโมยซีนในแบบ วิล เฟอร์เรล หรือ เบน สติลเลอร์ หรือ (ในอดีต) จิม แคร์รี ตรงกันข้าม เรากลับได้ทีมนักแสดงจาก The Avengers ที่มาแบบมึนๆ และการจับคู่แบบฝืดๆ ของ พอล รัดด์ กับ เมลิสสา แม็ธคาธีย์


นาทีแห่งความประทับใจ

ต้องขอบคุณชุดกระโปรงบานและฟูฟ่องราวกับชุดแต่งงานของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ เพราะภาพที่เธอเดินสะดุดตรงบันได (แบบสวยๆ พอเป็นพิธี ไม่ได้หน้าคะมำจนเลือดตกยางออก) ระหว่างขึ้นไปรับรางวัลสาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม จะกลายเป็นช็อตคลาสสิกของงานออสการ์ไปอีกนานแสนนาน นอกจากนี้ อุบัติเหตุดังกล่าวยังกลายเป็นมุกเด็ดให้เธอใช้ถ่อมตนจากการลุกขึ้นยืนปรบมือของคนทั้งหอประชุมได้อย่างน่ารัก (“พวกคุณลุกขึ้นยืนเพราะแค่รู้สึกแย่ที่ฉันสะดุดล้ม มันน่าอายมากๆ แต่ก็ขอบคุณค่ะ”) สุนทรพจน์ของเธอค่อนข้างสั้น (เธอลืมกล่าวถึง เดวิด โอ. รัสเซลล์ แต่ไม่ลืมอวยพรวันเกิดให้ เอ็มมานูเอล ริวา คู่แข่งคนสำคัญ) ฟังดูไม่เยอะ (aka เบน อัฟเฟล็ค) และจริงใจ... ใครหลายคนอาจตั้งคำถามถึงความเหมาะสมของเธอในการคว้ารางวัลนี้มาครอง แต่ทุกคนต่างเห็นตรงกันเกี่ยวกับบุคลิกน่ารัก ติดดิน และปราศจากความเฟคของเธอ (ถึง แอนน์ แฮทธาเวย์... ดูไว้เป็นตัวอย่างนะจ๊ะ เพราะน้ำเสียงตอนหนูพูดว่า มันกลายเป็นจริงแล้ว ฟังดูไม่เนียนอย่างแรง จนไม่น่าเชื่อว่าจะหลุดจากปากของนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์ อีกอย่างเลิกท่องรายชื่อคนแบบไม่จบไม่สิ้นเสียทีเถอะ เพราะนี่ไม่ใช่เกมทดสอบความจำ)  

* น้ำเสียงของ บาร์บรา สตรัยแซนด์ อาจไม่ใสปิ๊งเหมือนก่อน แต่เมื่อเธอออกมาครวญเพลง The Way We Were เพื่อรำลึกถึงการจากไปของ มาร์วิน แฮมลิช นักแต่งเพลงระดับตำนาน (A Chorus Line เป็นละครเพลงที่ทำให้เขาได้รางวัลโทนีและพูลิทเซอร์ เพลง The Way We Were ที่เขาแต่งให้กับหนังชื่อเดียวกันคว้ารางวัลออสการ์มาครอง นอกจากนี้ เขายังเคยได้รางวัลเอ็มมี่จากการกำกับ Barbra: The Concert อีกด้วย) มนตร์เสน่ห์ของฮอลลีวู้ดก็พลันแผ่กระจายไปทั่ว

ไม่น่าเชื่อว่า แชนนิง ทาทัม (อดีตนักเต้นระบำเปลื้องผ้า) กับ ชาร์ลีซ เธรอน (เคยเรียนบัลเลต์มาก่อน) จะสวมวิญญาณเป็น เฟร็ด แอสแตร กับ จิงเจอร์ โรเจอร์ส ได้อย่างน่าอัศจรรย์ใจ ท่ามกลางเสียงเพลง The Way You Look Tonight (จากภาพยนตร์เรื่อง Swing Time) ที่ร้องโดย เซ็ธ แม็คฟาร์เลน (ผู้เคยเข้าชิงรางวัลแกรมมีสาขา Best Traditional Pop Vocal Album จากอัลบั้มรวมเพลงเก่าในยุค 1950 ชื่อ Music Is Better Than Words)... และแน่นอน โรบิน (โจเซฟ กอร์ดอน-เลวิตต์) กับ แฮร์รี พ็อตเตอร์ (เดเนียล แรดคลิฟ) ก็คล่องแคล่วไม่เลวเช่นกันกับเพลง High Hopes

มุกตลกหลายมุกของ เซ็ธ แม็คฟาร์เลน อาจแป๊กชนิดหน้าทิ่ม อีกหลายมุกอาจถูกก่นด่าว่าเหยียดเพศ เหยียดผิว เหยียดเชื้อชาติ และไร้รสนิยม แต่ต้องยอมรับว่าการจำลองฉากเครื่องบินตกใน Flight ด้วยหุ่นมือทำจากถุงเท้า (โดยเฉพาะอย่างยิ่งฉากหุ่นมือถูกปั่นในเครื่องซักผ้า) และมุกตลกแนะนำ คริสโตเฟอร์ พลัมเมอร์ ด้วยการจำลองฉากไคล์แม็กซ์ใน The Sound of Music นั้นเรียกเสียงฮาได้พอสมควร เช่นเดียวกับตอนที่แม็คฟาร์เลนพูดว่า ผู้ประกาศรางวัลคนต่อไปไม่จำเป็นต้องได้รับการแนะนำใดๆจากนั้นเขาก็จ้ำอ้าวเข้าหลังเวที พร้อมกับการปรากฏตัวขึ้นของ เมอรีล สตรีพ

สุนทรพจน์ที่ดีที่สุดในงาน ได้แก่ ตอนที่ เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ ขึ้นไปรับรางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยม เขาผสานความถ่อมตัว ความจริงใจ และอารมณ์ขันได้อย่างลงตัว... ใครจะคิดว่า บิล เดอะ บุทเชอร์ กับ แดเนียล เพลนวิล ก็เล่นมุกกับเขาเป็นเหมือนกัน (“เมื่อสามปีที่แล้วก่อนเราสองคนจะตัดสินใจสลับบทบาทกัน ผมตอบตกลงว่าจะเล่นเป็น มาร์กาเรต แทตเชอร์ และเมอรีล คือ ตัวเลือกแรกของสปีลเบิร์กสำหรับบทลินคอล์น ผมอยากดูหนังเวอร์ชั่นนั้นจริงๆ”)


ช่วงเวลา นี่มันอะไรกัน!”

*  มิเชล โอบามา โผล่มางานออสการ์ (ผ่านทางจอ) ?! เธอไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ ไม่ใช่แม้กระทั่งแฟนหนังตัวยง อะไรดลใจทีมงานให้ติดต่อเธอมาทำหน้าที่เป็นผู้ประกาศรางวัลในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม หรือนี่เป็นอีกหนึ่งความพยายามอย่างสิ้นหวังของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ที่จะผลักดัน Lincoln แบบเดียวกับการเชิญ บิล คลินตัน มาพูดแนะนำหนังบนเวทีลูกโลกทองคำ? จริงอยู่ ออสการ์ควรจะเปลี่ยนคนประกาศรางวัลสูงสุดได้แล้ว แทนการวนเวียนอยู่กับหน้าเดิมๆ อย่าง แจ๊ค นิโคลสัน, สตีเวน สปีลเบิร์ก และ ทอม แฮงค์ แต่ มิเชล โอบามา เนี่ยนะ?!? การเมืองควรถูกจำกัดอยู่แค่วอชิงตัน ไม่ใช่ลามปามมายังฮอลลีวู้ด แน่นอน เธอพูดตามบทได้อย่างคล่องแคล่ว เปี่ยมอารมณ์แบบมืออาชีพ แต่ความพยายามจะสรุปหนังยอดเยี่ยมทั้ง 9 เรื่องให้เป็นกลุ่มก้อนเดียวกัน ด้วยน้ำเสียงกระตุ้นความฮึกเหิมราวกับกำลังหาเสียงในช่วงเลือกตั้ง ทำให้นักวิจารณ์ฝรั่งบางคนตั้งคำถามว่า หนังอย่าง Amour สอนให้เราก้าวข้ามอุปสรรคประเภทใดหรือ ความตาย? ภาวะเส้นเลือดในสมองแตก? อันที่จริง ถ้าหนังที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองอย่าง Amour หรือ Silver Linings Playbook ได้รางวัลไป บางทีเราอาจได้เห็นใบหน้าหงายเงิบของสตรีหมายเลข 1 ก็เป็นได้

* อเดล กับ นอราห์ โจนส์ ได้ขึ้นเวทีมาร้องเพลงประกอบที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงจากหนังเรื่อง Skyfall และ Ted ตามลำดับ เช่นเดียวกับ ฮิวจ์ แจ๊คแมน ที่ขึ้นมาร้อง ช่วงหนึ่งของเพลง Suddenly ก่อนทีมนักแสดง Les Miserables จะยกโขยงมาแหกปากแข่งกันในเพลง One Day More แต่อีกสองเพลงที่เข้าชิงออสการ์อย่าง Pi’s Lullaby กับ Before My Time จาก Life of Pi และ Chasing Ice กลับถูกตัดเป็นแค่คลิปภาพพร้อมเสียงร้อง... ห๊ะ!? อะไรคือเหตุผลเบื้องหลังกันแน่ สการ์เล็ต โจแฮนสัน รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะโดนล้อในเพลง We Saw Your Boobs เลยตอบปฏิเสธ?  ทีมงานอยากกระชับพิธีการไม่ให้ยืดยาว เลยตัดเพลงที่พวกเขาคิดว่าคงเป็นได้แค่ไม้ประดับออก? 

ถ้าจะสดุดีหนังเพลงทั้งที ทำไมต้องเลือกแค่หนังเพลงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แล้วแทนค่าด้วยผลงานทั้งหมด 3 เรื่อง??!! หรือนี่เป็นแค่ข้ออ้างที่จะโต้กลับว่าออสการ์คิดถูกแล้วที่เลือก Chicago เป็นภาพยนตร์ยอดเยี่ยม? (ถึงจะยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่ากาลเวลามีเมตตากับหนังเรื่องนี้มากแค่ไหน แต่ที่แน่ๆ คือ มันโหดร้ายกับสองนักแสดงนำหญิงมาก) หลายคนเริ่มตั้งสมมุติฐานว่านี่อาจเป็นหนึ่งในแผนโปรโมตตัวเองของสองโปรดิวเซอร์งานออสการ์ นั่นคือ เกร็ก เซแดน และ นีล เมรอน เพราะทั้งสองดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการสร้างฝ่ายบริหารของหนังเรื่อง Chicago ส่วน เจนนิเฟอร์ ฮัดสัน ก็เคยปรากฏตัวมากกว่าหนึ่งครั้งในซีรีย์ชุด Smashซึ่งทั้งสองเป็นผู้อำนวยการสร้างเช่นกัน (ถึงฮัดสันจะผอมเพรียวลงหลายระดับ แต่พลังเสียงของเธอในการบดขยี้กระดูกค้อน โกลน ทั่งกับเพลง And I Am Telling You I’m Not Going ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง) พูดถึงวิธีสดุดีแบบขอไปที...  ใครจะคิดว่าการเฉลิมฉลองครบรอบ 50 ปีของหนังชุด เจมส์ บอนด์ จะประกอบไปด้วยคลิปรวมภาพจากหนัง การปรากฏตัวของ ฮัลลี เบอร์รี และ เชอร์รีย์ บาสซีย์ ที่ออกมาร้องเพลง Goldfinger… แค่นี้?!?  เอาล่ะ ถ้าไม่คิดจะเชิญนักแสดง เจมส์ บอนด์ รุ่นต่างๆ มาร่วมงาน อย่างน้อยก็น่าจะขนนักร้องคนอื่นที่เคยร้องเพลง เจมส์ บอนด์ มาด้วย ไม่ใช่แค่บาสซีย์ เพราะเท่าที่เห็นและเป็นอยู่ มันดูสุกเอาเผากินอย่างบอกไม่ถูก

จริงอยู่ คนดูส่วนใหญ่ไม่ชอบเวลาผู้ชนะพล่ามขอบคุณเอเยนต์ หรือผู้จัดการส่วนตัวอย่างไร้ศิลปะ แต่มันถึงขนาดต้องใช้เพลงธีมจาก Jaws สำหรับขับไล่พวกเขาลงจากเวทีกันเลย? มันเป็นอีกหนึ่งอารมณ์ขันที่ก้ำกึ่งระหว่างหยอกเอินกับหยาบคาย ปฏิกิริยาของ นิโคล คิดแมน ตอนทีมเทคนิคพิเศษด้านภาพของ Life of Pi โดน ฉลามไล่งาบ น่าจะบอกความรู้สึกกลืนไม่เข้าคายไม่ออกได้เป็นอย่างดี


เก็บตกสถิติ

แคธลีน เคนเนดี้ ครองสถิติเป็นโปรดิวเซอร์ที่ถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์มากที่สุด แต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง โดยก่อนหน้า Lincoln เธอถูกเสนอชื่อเข้าชิงในสาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยมจาก E.T. The Extra-Terrestrial, The Color Purple, The Sixth Sense, Seabiscuit, Munich, The Curious Case of Benjamin Button และ War Horse (8 = 0) อันดับรองลงมา ได้แก่ สแตนลีย์ เครเมอร์ ซึ่งเข้าชิงจาก High Noon, The Cain Mutiny, The Defiant Ones, Judgment at Nuremberg, Ship of Fools และ Guess Who’s Coming to Dinner (6 = 0)

* Argo เป็นหนังเรื่องที่ 4 ในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์สูงสุดมาครองโดยไม่ได้เข้าชิงในสาขาผู้กำกับยอดเยี่ยมตามหลัง Wings, Grand Hotel และ Driving Miss Daisy

*  เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ ในวัย 22 ปีกลายเป็นเจ้าของรางวัลออสการ์สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมที่อายุน้อยที่สุดอันดับสอง ส่วนเจ้าของสถิติตลอดกาลยังคงเป็น มาร์ลี แม็ทลิน จาก Children of a Lesser God ซึ่งคว้ารางวัลมาครองขณะอายุได้ 21 ปี

เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ คือ คนแรกในประวัติศาสตร์ที่คว้ารางวัลออสการ์มาครอง 3 ครั้งในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยม โดยก่อนหน้า Lincoln เขาเคยได้ออสการ์จาก My Left Foot และ There Will Be Blood

อังลีกลายเป็นผู้กำกับคนที่สามในประวัติศาสตร์ที่ได้รางวัลในสาขากำกับภาพยนตร์สองครั้ง แต่หนังของเขากลับชวดรางวัลสูงสุดทั้งสองครั้ง โดยสองคนก่อนหน้านี้ได้แก่ แฟรงค์ บอร์ซาจ ซึ่งชนะรางวัลจาก Bad Girl กับ Seventh Heaven แต่หนังยอดเยี่ยมตกเป็นของ Grand Hotel กับ Wings และ จอร์จ สตีเวนส์ ซึ่งชนะรางวัลจาก Giants กับ A Place in the Sun แต่หนังยอดเยี่ยมตกเป็นของ Around the World in Eighty Days กับ An American in Paris (หมายเหตุ: จอห์น ฟอร์ด เคยได้ออสการ์สาขาผู้กำกับ สามครั้งโดยที่หนังของเขาชวดรางวัลออสการ์ แต่ How Green Was My Valley สามารถคว้าชัยมาครองได้สำเร็จทั้งสองสาขาในปี 1942)

* โรเจอร์ ดีกินส์ ยังคงเดินหน้าสร้างสถิติต่อไปด้วยการเข้าชิงในสาขากำกับภาพ 10 ครั้ง แต่ยังไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง โดยตอนนี้เขาติดอยู่อันดับ 2 ในประวัติศาสตร์ ตามหลังผู้กำกับภาพ จอร์จ ฟอลซีย์ ที่เคยเข้าชิงทั้งหมด 13 ครั้งและไม่เคยคว้ารางวัลมาครอง (หมายเหตุ: พึงสังเกตว่าในยุคก่อนมีการแบ่งแยกสาขากำกับภาพเป็น 2 สาขา คือ กำกับภาพหนังสีและกำกับภาพหนังขาวดำ ฟอลซีย์จึงมีโอกาสเข้าชิงมากกว่าดีกินส์ และมีอยู่สองปีที่เขาได้เข้าชิงควบทั้งจากทั้งหนังสีและหนังขาวดำ ส่วนดีกินส์นั้นเคยเข้าชิงจากหนังสองเรื่องในปีเดียวกัน นั่นคือ ปี 2008 จากหนังเรื่อง No Country for Old Men และ The Assassination of Jesse James by the Coward Robert Ford)

* ก่อนหน้า Argo หนังออสการ์เรื่องล่าสุดที่คว้ารางวัลมาครองเพียง 3 ตัว คือ Crash (2005) โดยหนังทั้งสองเรื่องได้รางวัลหนังยอดเยี่ยมมาครองควบคู่กับรางวัลบทภาพยนตร์ (บทดั้งเดิมในกรณีของ Crash และบทดัดแปลงในกรณีของ Argo) และลำดับภาพยอดเยี่ยม

การได้รางวัลคู่กันของ Skyfall และ Zero Dark Thirty ในสาขาตัดต่อเสียงยอดเยี่ยม ถือเป็น การได้คะแนนเท่ากันครั้งที่ 5 ในประวัติศาสตร์ ตามหลังสาขาภาพยนตร์ขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1994 (Franz Kafka’s It’s Wonderful Life กับ Trevor) สาขาภาพยนตร์สารคดียอดเยี่ยมในปี 1986 (Artie Shaw: Time Is All You’ve Got กับ Down and Out in America) สาขานักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยมในปี 1968 (แคธารีน เฮปเบิร์น จาก The Lion in Winter กับ บาร์บรา สตรัยแซนด์ จาก Funny Girl) และสาขาภาพยนตร์สารคดีขนาดสั้นยอดเยี่ยมในปี 1949 (A Chance to Live กับ So Much for So Little) ส่วนในสาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมในปี 1931/32 นั้นไม่รับรวมเป็นการเสมอกัน (tie) อย่างแท้จริง เพราะ เฟรดริค มาร์ช (Dr. Jekyll and Mr. Hyde) ได้คะแนนมากกว่า วอลเลซ เบียรีย์ (The Champ) หนึ่งคะแนน แต่เนื่องจากกฎในสมัยนั้นระบุว่าหากผู้ชนะได้คะแนนมากกว่าผู้เข้าชิงคนใดคนหนึ่งไม่เกิน 3 คะแนน ผู้เข้าชิงคนนั้นๆ จะต้องได้รางวัลไปด้วย ต่อมาจึงมีการเปลี่ยนกฎดังกล่าว โดยผู้ชนะต้องมีคะแนนเท่ากันพอดีเท่านั้นถึงจะได้รางวัลทั้งคู่

Oscar 2013: Best Director



เดวิด โอ. รัสเซลล์ (Silver Linings Playbook)

มีความเชื่อกันว่าหากต้องการผลลัพธ์ที่น่าพอใจ นักเขียนควรเลือกเขียนในสิ่งที่พวกเขารู้ แนวคิดดังกล่าวอาจนำมาใช้กับการสร้างหนังได้เช่นกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง หากคุณต้องการนำเสนอประเด็นที่ซับซ้อนอย่างอาการป่วยทางจิต ถึงแม้ Silver Linings Playbook จะดัดแปลงจากนิยายของ แม็ทธิว ควิค แต่มันกลับมีความเป็นส่วนตัวอย่างมากสำหรับ เดวิด โอ. รัสเซลล์ เพราะลูกชายของเขามีอาการของโรคอารมณ์สองขั้วแบบเดียวกับตัวละครเอกในหนัง (รับบทโดย แบรดลีย์ คูเปอร์) นั่นคือเหตุผลที่ผมตัดสินใจสร้างหนังเรื่องนี้” รัสเซลล์กล่าว พร้อมกับหันไปมองลูกชายวัยรุ่น ซึ่งเล่นบทเล็กๆ ในหนังด้วย “คุณจะตระหนักดีว่ากำลังมาถูกทาง หากคุณแชร์ความรู้สึกส่วนตัวกับเรื่องราวในหนังที่คุณสร้าง ผมอยู่กับเด็กชายคนนี้มา 18 ปี และรู้สึกผูกพันกับเขาและเพื่อนๆ ของเขาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง”

ทฤษฎีหลากหลายถูกตั้งขึ้นเพื่อใช้อธิบายความเปลี่ยนแปลงของ เดวิด โอ. รัสเซลล์ จากผู้กำกับอารมณ์ร้อนที่สร้างอาการเข็ดขยาดให้กับนักแสดงจำนวนมาก (เขาบีบคอ จอร์จ คลูนีย์ ระหว่างถ่ายทำ Three Kings และมีปากเสียงรุนแรงกับ ลิลี ทอมลิน และถึงขั้นอาละวาดลงไม้ลงมือทำลายฉากกลางกองถ่าย I Heart Huckabees) มาเป็นผู้กำกับที่ “น่ารัก ตลก และอ่อนโยนที่สุดในโลก” ตามคำบอกเล่าของ เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์ แต่หลายคนดูเหมือนจะไม่ค่อยให้ความสำคัญต่อวิวัฒนาการของรัสเซลล์ในแง่การทำหนังมากนัก โดยภายในช่วงเวลาไม่กี่ปี เขาผันตัวเองจากขวัญใจวงการหนังอินดี้ผ่านผลงานดิบๆ แรงๆ อย่าง Spanking the Monkey และ Flirting With Disaster มาเป็นขวัญใจออสการ์ด้วยผลงานที่นิ่งขึ้น เป็นผู้ใหญ่ขึ้น รวมถึงถูกใจกลุ่มคนดูในวงกว้างขึ้นอย่างThe Fighter และ Silver Linings Playbook กระนั้นเอกลักษณ์ที่ไม่เคยห่างหายจากหนังของเขา ได้แก่ ปัญหาในครอบครัว และตัวละครที่มีปมผิดปกติ ซึ่งพบเห็นตั้งแต่ Flirting With Disaster เกี่ยวกับการเดินทางตามหาพ่อแม่แท้ๆ ของชายคนหนึ่ง

“หากมองในแง่ขบวนการสร้างสรรค์ ก็ไม่มีอะไรแตกต่างจากเดิมมากนัก” ผู้อำนวยการสร้าง โจนาธาน กอร์ดอน ที่ร่วมงานกับรัสเซลล์ใน Flirting With Disaster และ Silver Linings Playbook กล่าว “เขายังมีพรสวรรค์ชั้นยอดในการกำกับนักแสดง แต่อาจกล่าวได้ว่าขบวนการสร้างสรรค์ของเขาถูกจัดระเบียบให้เป็นระบบมากขึ้น” สมมุติฐานดังกล่าวพิสูจน์ได้จากประสิทธิภาพในการถ่ายทำ โดย Silver Linings Playbook สามารถปิดกล้องได้ภายในเวลาเพียง33 วัน เร็วกว่า Flirting With Disaster 2 วัน ถึงแม้จะมีทุนสร้างมากกว่าถึงสามเท่าตัว (22 ล้านเหรียญ vs. 7 ล้านเหรียญ) ขณะเดียวกัน Flirting With Disaster ยังถ่ายทำแบบง่ายๆ โดยใช้กล้องแฮนด์เฮลโดยตลอด ขณะที่หนังเรื่องล่าสุดของเขาผสมผสานแฮนด์เฮลด์เข้ากับสเตดิแคมอย่างกลมกลืน รัสเซลล์อธิบายว่าเป็นเพราะเขาต้องการจับความรู้สึกและพลังของนักแสดงในระยะประชิด นอกจากนี้การใช้สเตดิแคมยังจะช่วยสานต่อความลื่นไหลของบทสนทนาอีกด้วย มันสำคัญมากสำหรับผมที่จะบีบเค้นอารมณ์นักแสดง ให้พวกเขาคงความเข้มข้นทางด้านอารมณ์ไว้ได้ตลอด และส่งต่อมายังคนดูในที่สุด”

อย่างไรก็ตาม สิ่งหนึ่งซึ่งยังคงไม่เปลี่ยนแปลง คือ แนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงบทในนาทีสุดท้ายของเขา แม้กระทั่งระหว่างถ่ายทำฉากนั้นอยู่ เดวิดก็จะแก้บทไปเรื่อยๆ” กอร์ดอนกล่าว “เขาเกือบเป็นเหมือนนักแสดงอีกคน คอยป้อนบทพูดใหม่ๆ ใส่เข้าไปในฉาก ซึ่งเขาทำแบบนี้มาตั้งแต่ตอนสร้าง Flirting With Disaster แล้ว” แต่หากคุณถามรัสเซลล์ ความเปลี่ยนแปลงเดียวที่เขาสังเกตเห็นกลับไม่ใช่ในแง่สไตล์ เทคนิค หรือเนื้อหา แต่เป็นความขยันและกระตือรือร้นที่จะทำงาน เมื่อก่อนเขามักจะทิ้งช่วงค่อนข้างนานระหว่างหนังแต่ละเรื่อง (Three Kings ห่างจาก I Heart Huckabees 5 ปี จากนั้นเขาก็เว้นช่วงอีก6 ปีกว่าจะสร้าง The Fighter) แต่ The Fighter กับ Silver Linings Playbook กลับทิ้งช่วงห่างเพียง 18 เดือน แถมตอนนี้เขายังเริ่มเตรียมงานสร้างหนังเรื่องใหม่แล้ว ซึ่งจะนำแสดงโดย แบรดลีย์ คูเปอร์ และ คริสเตียน เบล ผู้กำกับวัย 54 ปีกล่าวถึงเขาวางแผนจะสร้างหนังให้ได้ปีละเรื่อง “เวลาไม่เคยรอใคร และตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนกำลังมือขึ้น”... ไม่แน่ในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้า รัสเซลล์อาจพิสูจน์ให้เห็นว่าเขากำลังมือขึ้นจริงๆ เกินกว่าที่ใครจะคาดคิดก็ได้


สตีเวน สปีลเบิร์ก (Lincoln)

ความฝันในการสร้างหนังมหากาพย์ประวัติศาสตร์เรื่อง Lincoln ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ต้องพบอุปสรรคมากมายหลายครั้งจนเกือบมองไม่เห็นหนทางสำเร็จลุล่วง ในปี 2003 เมื่อ เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ ตอบปฏิเสธไม่รับบทเป็นลินคอล์น สปีลเบิร์กคิดในใจว่าโครงการนี้คงต้องพับเก็บไปตลอดกาล จนกระทั่งได้แรงผลักดันเล็กๆ จากเพื่อนสนิท มีอยู่คืนหนึ่ง ลีโอ ดิคาปริโอ แวะมากินข้าวเย็นที่บ้านผม จู่ๆ เขาก็ถามขึ้นว่าโครงการสร้างหนังเรื่อง Lincoln ไปถึงไหนแล้ว ผมเลยเล่าว่าเดเนียลตอบปฏิเสธ และในเมื่อไม่มีเดเนียล ผมคงต้องยอมล้มเลิกโครงการ ลีโอได้แต่รับฟังอย่างเงียบๆ จนกระทั่งวันรุ่งขึ้นเขาก็โทรมาหาผมที่ออฟฟิศ บอกว่าเดเนียลกำลังรอให้คุณโทรไปหา ลีโอไม่เคยเล่าให้ผมฟังว่าเขาพูดอะไรกับเดเนียลผู้กำกับเจ้าของสองรางวัลออสการ์จาก Saving Private Ryan และ Schindler’s List รำลึกความหลังพร้อมรอยยิ้มเล็กๆ ที่มุมปาก แต่นั่นเป็นจุดเริ่มต้นของการเดินทางสุดวิเศษ

หลายปีต่อมาการเดินทางดังกล่างลงเอยด้วยการเข้าชิงออสการ์ 12 สาขา สองในนั้น คือ ของตาย อย่างนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมและผู้กำกับยอดเยี่ยม สำหรับสปีลเบิร์ก หนังเรื่องนี้ถือเป็นการถอยห่างจากสไตล์การทำหนังแบบโชว์ออฟ เร้าอารมณ์อย่างโจ่งแจ้งแบบที่เราคุ้นเคย ในทางตรงกันข้าม มันค่อนข้างนิ่ง ลุ่มลึก และเต็มไปด้วยบทสนทนาอันเฉียบคม ทั้งนี้เพราะสปีลเบิร์กไม่ได้เลือกโฟกัสเรื่องราวไปยังสงครามกลางเมืองอันยิ่งใหญ่ หากแต่เป็นวิบากกรรมอันยอกย้อนของความพยายามจะผลักดันกฎหมายเลิกทาสในช่วงโค้งสุดท้ายของสงคราม มันค่อนข้างแตกต่างจากหนังเรื่องก่อนๆ ของผมสปีลเบิร์กกล่าว ดรามาส่วนใหญ่จะอยู่ในขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตย แต่ก็ยังสอดแทรกอารมณ์ตื่นเต้น ลุ้นระทึก และมุกตลกขบขันในหลายๆ ฉาก

Lincoln นำเสนอภาพลักษณ์ที่ซับซ้อน หลากหลายมิติของประธานาธิบดีอันเป็นที่รักของชาวอเมริกัน เขาเก่งกาจในแง่มุมการเมือง และยินดีจะปล่อยวางความเชื่อส่วนตัวเพื่อให้เป้าหมายบรรลุผลสำเร็จ มันแตกต่างจากภาพวาดแรกในหัวของสปีลเบิร์ก เมื่อเขาเดินทางไปเยี่ยมชมอนุสาวรีย์ลินคอล์นตอนอายุ 5ขวบ “เขาเป็นผู้นำชั้นยอด” ผู้กำกับวัย 66 ปีกล่าว “เขามั่นคงและเชื่อมั่นในระบบศีลธรรม อิสรภาพ ความดีงาม และสิทธิขั้นพื้นฐานของมนุษย์ เขาไม่เคยหักเหจากความเชื่อมั่นเหล่านั้น แต่ขณะเดียวกันก็ไม่มีใครเล่นการเมืองได้เก่งเท่าลินคอล์น มันเป็นเรื่องของการรักษาสมดุล ผมไม่เคยต้องการจะสร้างหนังเพื่อเชิดชูเขา แต่อยากสร้างหนังเพื่อให้คนนำประเด็นไปถกเถียงกันต่อ”

หลังจากเดย์-ลูว์อิสต์ตอบปฏิเสธ สปีลเบิร์กพยายามจะสานต่อโครงการกับ เลียม นีสัน แต่สุดท้ายก็ต้องยกเลิกความตั้งใจเพราะทั้งสองเห็นไม่ตรงกันเกี่ยวกับภาพลักษณ์ของลินคอล์น สปีลเบิร์กหันเหความสนใจไปยังโครงการหนังเรื่องอื่นๆ จนกระทั่งดิคาปริโอยื่นมือเข้ามาแทรกแซง ข้อแม้เพียงอย่างเดียวของ เดย์-ลูว์อิสต์ คือ เขาขอเวลา 1 ปีเพื่อทำความรู้จักกับ อับราฮัม ลินคอล์น สปีลเบิร์กช่วยเหลือเขาอีกทางหนึ่งด้วยการส่งเทปสัมภาษณ์ชาวไร่ในแถบที่ลินคอล์นถือกำเนิดและเติบโต เพื่อใช้ศึกษาสำเนียงและการออกเสียง สิ่งหนึ่งที่พวกเขาเห็นตรงกัน คือ ตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์แล้ว เสียงของลินคอล์นจะสูงกว่าที่ทุกคนคุ้นชิน มันอาจฟังดูไม่ค่อยนุ่มหู ไม่ใช่ อับราฮัม ลินคอล์น แบบใน ดิสนีย์ เวิลด์ แต่มีความถูกต้องตามประวัติศาสตร์สปีลเบิร์กกล่าว 

ในหนังลินคอล์นจะต้องดูแก่ลงอย่างเห็นได้ชัดตลอดช่วงสี่เดือนตามท้องเรื่อง เพราะต้องรับมือกับความเครียดจากภาวะสงครามอันยืดเยื้อจนทำให้เขานอนไม่หลับ ระหว่างการถ่ายทำสปีลเบิร์กและเดย์-ลูว์อิสต์ก็ตกอยู่ในสภาพเดียวกัน ด้วยเหตุผลที่อาจจะแตกต่างกัน (สำหรับคนหลัง มันเป็นหนึ่งในขั้นตอนการแสดงแบบเมธ็อด) พวกเขาจึงมักจะส่งข้อความหากันตอนตีสามเกี่ยวกับรายละเอียดทางประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจ ผมรู้สึกตื่นเต้นมากๆ จนนอนไม่ค่อยหลับ สปีลเบิร์กกล่าว และพฤติกรรมดังกล่าวทำให้เขาต้องนอนซมด้วยพิษไข้เป็นเวลานานถึง 10 วัน นี่ถือเป็นครั้งแรกที่ผมป่วยระหว่างการถ่ายทำแต่ใครๆ ก็ต้องยอมรับว่าผลลัพธ์ที่ออกมานั้นถือได้ว่าคุ้มค่ากับความเหนื่อยยากและการรอคอยที่ยาวนาน


เบน ไซท์ลิน (Beasts of the Southern Wild)

หนังอินดี้เล็กๆ เรื่อง Beasts of the Southern Wild ผลงานกำกับชิ้นแรกของ เบน ไซท์ลิน พัดกระหน่ำแวดวงหนังอินดี้ได้รุนแรงไม่แพ้พายุเฮอร์ริเคนคาทรินา ซึ่งเป็นแรงบันดาลใจให้กับเรื่องราวอันประหลาดล้ำของดินแดนที่ถูกน้ำท่วม โดยมีศูนย์กลางเรื่องราวเป็นความสัมพันธ์ระหว่างพ่อกับลูกสาวคู่หนึ่ง ที่ต้องต่อสู้เพื่อบ้านเกิด หนังเปิดตัวที่ซันแดนซ์และคว้ารางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมมาครอง เดินทางไปยังเทศกาลหนังเมืองคานส์และกวาดเสียงตอบรับอย่างอบอุ่น ก่อนจะตบท้ายความสำเร็จอันงดงามด้วยการเข้าชิงออสการ์ในสาขาหลักๆ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยม นักแสดงนำหญิงยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม

ไซท์ลินสร้างหนังด้วยทุนอันน้อยนิด (1.8 ล้านเหรียญ) ถ่ายทำตามสถานที่จริงในรัฐลุยเซียนาด้วยกล้อง 16 มม. และชาวบ้านในท้องถิ่นที่ไม่เคยผ่านงานแสดงมาก่อน พลังในหนังของเขาเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ และความกล้าที่จะแหกกฎ โดยผสมผสานความเหมือนจริงเข้ากับตำนานและเรื่องเล่าพื้นบ้านของเมืองบาธทับ ซึ่งเปรียบเสมือนยูโทเปียที่ไม่ถูกรุกรานโดยการเมือง ศาสนา หรือวิถีชีวิตแบบทุนนิยม มันเป็นดินแดนที่ยากแค้น ไซท์ลินกล่าว ชาวบ้านยอมเสียสละความศิวิไลซ์ โดยสิ่งที่พวกเขาได้รับตอบแทน คือ อิสรภาพและความกลมเกลียว ซึ่งไม่อาจเกิดขึ้นได้ในโลกนอกกำแพงที่พวกเขาสร้างขึ้น

ความสมจริง คือ สิ่งที่ไซท์ลินปรารถนา เขาเลือกชาวบ้านในท้องถิ่นมาเป็นดารานำแทนนักแสดงมืออาชีพ และเปลี่ยนบทหลายครั้งหลังคัดเลือกคนที่จะมารับบทพ่อกับลูกได้แล้วโดยเก็บข้อมูลจากปฏิกิริยาระหว่างกันของพวกเขา ในแง่การออกแบบฉาก แทบทุกอย่างที่ปรากฏล้วนมีอยู่ตรงนั้นแล้ว การประดิษฐ์เพิ่มเรียกได้ว่าเกือบจะเป็นศูนย์ คุณอยากจะเล่าเรื่องราวจึงเริ่มต้นเขียนบท แต่เมื่อถึงเวลาถ่ายทำ คุณต้องยอมให้องค์ประกอบต่างๆ รอบข้างมีส่วนเปลี่ยนแปลง หรือแทรกรายละเอียดที่แตกต่าง การถ่ายหนังไม่ใช่การดำเนินตามบทอย่างสมบูรณ์แบบโดยไม่เหลือช่องเพื่อยืดหยุ่น หรือไหลลื่นไปกับสถานการณ์ ผู้กำกับหนุ่มอธิบายลักษณะการทำงานของเขา และหนึ่งในความพยายามไหลลื่นไปกับสถานการณ์เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงก่อนเปิดกล้อง เมื่อไซท์ลินซื้อรถปิคอัพเก่าๆ คันหนึ่งมาในราคา 500 เหรียญ ใช้ขับไปนิวออร์ลีนส์ จู่ๆ ก็มีควันดำลอยโขมงจากฝากระโปรงรถ ตามมาด้วยเสียงระเบิดดังสนั่นไซท์ลินเล่า ทีมงานของเขาในออฟฟิศ ซึ่งจัดตั้งขึ้นชั่วคราวที่ปั๊มน้ำมันร้างแห่งหนึ่ง รีบโทรตามรถดับเพลิง และในเวลาต่อมาซากรถปิคอัพเจ้ากรรมก็กลายมาเป็นเรือที่สองตัวละครเอกในหนังใช้ล่องไปตามลำธาร  

กระแสความสำเร็จของ Beasts of the Southern Wild สร้างความประหลาดใจให้ไซท์ลินได้ไม่รู้จบ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อพิจารณาว่ามันเป็นหนังที่ห่างไกลจากระบบสตูดิโอของฮอลลีวู้ดราวกับมาจากคนละโลก ผมหลงรักภาพยนตร์มาตั้งแต่เด็ก เขากล่าว แต่ผมไม่เคยอยากมีส่วนร่วมในอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เพราะรู้สึกว่าระบบการทำงานมันดูน่ากลัว ความคิดดังกล่าวเปลี่ยนไปเมื่อไซท์ลิน ซึ่งขณะนั้นทำงานเป็นคนฉายหนัง บรรลุสัจธรรมจากการดูหนัง 4 เรื่องนี้ติดต่อกัน นั่นคือ Badlands (เทอร์เรนซ์ มาลิก) Aguirre: Wrath of God (แวร์เนอร์ แฮร์ซอก) Down By Law (จิม จาร์มุช) และ Undergroud (อีเมียร์ คุสตาริกา) “หนังเหล่านี้ทำให้ผมคิดได้ว่า ยังมีหนทางอื่นๆ อีกในการเข้าถึงสื่อภาพยนตร์ ได้เห็นคนเดินทางเข้าป่า หรือดินแดนรกร้างว่างเปล่าเพื่อไปถ่ายหนัง ล่องเรือไปยังสถานที่อันห่างไกลและบอกเล่าเรื่องราว และตอนนั้นเองที่ผมเริ่มคิดอยากจะทำหนังกับเขาบ้าง


อังลี (Life of Pi)

แม้เครดิตหนังที่ผ่านมาจะเต็มไปด้วยความท้าทายหลากหลายรูปแบบ บางครั้งแตกต่างกันมากจนไม่น่าเชื่อว่าพวกมันเหล่านั้นเป็นผลงานของผู้กำกับคนเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นหนังพีเรียดโรแมนติกดำเนินเรื่องในประเทศอังกฤษ หนังจีนกำลังภายใน หรือหนังรักระหว่างคาวบอยชายสองคนในยุค 60 แต่อังลีกลับไม่เคยเหน็ดเหนื่อยที่จะเดินหน้าสู่ความท้าทายรูปแบบใหม่ๆ อยู่ตลอดเวลา ล่าสุด คือ การสร้างหนังจากนิยายของ ยาน มาร์เทล ที่หลายคนนิยามว่า ไม่สามารถทำเป็นหนังได้เรื่อง Life of Pie เพราะมีฉากหลักเป็นความสัมพันธ์ระหว่างเด็กหนุ่มกับเสือโคร่งบนเรือเล็กๆ กลางทะเล ในวงการภาพยนตร์มีคติเตือนใจอยู่อย่างว่า อย่าทำหนังกับเด็ก สัตว์ หรือน้ำ แต่คุณจะเห็นทั้งหมดรวมกันอยู่ในหนังเรื่องนี้ผู้กำกับชาวไต้หวันกล่าว (เอ็มมา ธอมป์สัน เล่าว่าหลังจากความยุ่งยากอันเกิดจากแกะฝูงหนึ่งระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Sense and Sensibility อังลีก็ประกาศกร้าวว่าเขาจะไม่ทำหนังโดยใช้สัตว์ใดๆ อีกเลย แต่สุดท้ายก็ละเมิดคำสาบานกับ Brokeback Mountain ซึ่งเล่าถึงความสัมพันธ์ของสองคาวบอยหนุ่มที่ต้องขึ้นไปเลี้ยงแกะด้วยกันบนภูเขา) นอกจากนี้ ความท้าทายอีกอย่างซึ่งเป็นเรื่องแปลกใหม่สำหรับอังลี คือ การถ่ายทำทุกฉากในระบบ 3 มิติ

Life of Pi เล่าถึงรื่องราวชีวิตของ พาย พาเทล เด็กชายชาวอินเดียที่เติบโตมาในสวนสัตว์ของพ่อ จนกระทั่งครอบครัวเขาตัดสินใจอพยพไปยังประเทศแคนาดา และออกเดินทางโดยอาศัยเรือขนาดใหญ่เพื่อขนย้ายสัตว์ทั้งหลายไปพร้อมกัน ระหว่างทางพายุลูกใหญ่ได้จมเรือลงสู่ก้นบึ้งของมหาสมุทรพร้อมกับพ่อแม่และสัตว์ส่วนใหญ่ เหลือรอดแค่พายกับเสือโคร่งนาม ริชาร์ด พาร์คเกอร์ บนเรือชูชีพ พวกเขาเริ่มต้นดิ้นรนเอาชีวิตรอดในฐานะศัตรูคู่อาฆาต แต่เมื่อเวลาผ่านไปกลับค่อยๆ พัฒนาไปเป็นมิตรภาพและความรู้สึกผูกพัน ขณะต่างคนต่างก็พยายามจะเอาชีวิตรอดท่ามกลางสภาพแวดล้อมอันโหดร้าย

อาจกล่าวได้ว่าการถ่ายทำหนังเรื่องนี้ถือเป็นมหากาพย์ในตัวเองได้เช่นกัน อังลีต้องการความสมจริงในทุกรายละเอียด และเขายินดีทำทุกวิถีทางเพื่อให้ฉากที่ต้องอาศัยคอมพิเตอร์กราฟฟิก และถ่ายทำในแท็งก์น้ำขนาดใหญ่ดูน่าหวาดกลัวและสมจริง กล่าวคือ ถึงแม้สัตว์ทั้งหลายในหนังจะเป็นผลจากเทคนิคพิเศษด้านภาพ แต่อังลีต้องใช้เวลาหลายเดือนทำงานร่วมกับสัตว์จริงๆ และคนฝึกสัตว์เพื่อศึกษาพฤติกรรมท่าทาง ความเคลื่อนไหว แล้วจับภาพพวกมันในทุกช่วงจังหวะอารมณ์ พวกเขามี ริชาร์ด พาร์คเกอร์ จริงๆ ทั้งหมด 4 ตัวด้วยกัน เพื่อใช้เป็นแบบในการถ่ายทอดแต่ละช่วงชีวิตที่แตกต่างของตัวละคร ขณะเดียวกัน อังลีก็ไม่อาจปล่อยให้ความถี่ถ้วนเข้ามาขัดขวางตารางการทำงานอันบีบรัดได้เพื่อควบคุมงบประมาณไม่ให้บานปลาย ซึ่งนั่นไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่เสียทีเดียวสำหรับผู้กำกับที่เคยสร้างหนังซัมเมอร์ฟอร์มยักษ์อย่าง Hulk มาแล้ว ขณะเดียวกันสัมผัสอันอ่อนโยน ลุ่มลึกของอังลีจากการสร้างหนังเกี่ยวกับผู้คนและความสัมพันธ์อย่าง Brokeback Mountain และ Sense and Sensibility ยังช่วยเพิ่มน้ำหนักให้ Life of Pi ไม่กลายเป็นงานโชว์เทคนิคที่ว่างเปล่า  หรือภาพวาดอันงดงามตระการตาแต่ปราศจากความหมาย

อลิซาเบ็ธ เกเบลอร์ ผู้บริหารของ Fox 2000 ซึ่งพยายามผลักดัน Life of Pi มาตลอด นับแต่มันยังเป็นโครงการที่จะกำกับโดย เอ็ม. ไนท์ ชามาลาน กล่าวว่าเธอตระหนักอยู่เสมอถึงความท้าทายในการสร้างหนังเรื่องนี้ โดยเฉพาะการรักษาอารมณ์หลักของหนังสือเอาไว้โดยไม่ให้มันกลายเป็นหนังราคาแพงเกินไป (มันลงเอยด้วยการใช้ทุนสร้างทั้งหมด 120 ล้าน) “มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย ตลอดเวลาหลายปี เราคิดว่าคงไม่สามารถทำมันสำเร็จได้เธอกล่าว พร้อมทั้งเสริมว่าการโปรโมตหนังเรื่องนี้ก็ท้าทายไม่แพ้การถ่ายทำ เพราะหนังสามารถครอบคลุมความสนใจในวงกว้างได้ ตั้งแต่ตลาดหนังกระแสหลักสำหรับทุกคนในครอบครัว จนถึงตลาดหนังอาร์ตของนักดูหนังวัยผู้ใหญ่ และหากเผลอหนักมือไปทางด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป ก็อาจทำทำร้ายโอกาสในการเข้าถึงคนดูอีกฟากหนึ่ง แต่สุดท้าย ทั้งหมดก็ลงเอยอย่างมีความสุข เมื่อหนังได้เสียงตอบรับอย่างงดงามจากนักวิจารณ์ รวมถึงทำเงินในตลาดโลกได้มากมายเกินคาด


ไมเคิล ฮาเนเก้ (Amour)

ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ที่ผ่านมา เมื่อผู้กำกับชาวออสเตรีย ไมเคิล ฮาเนเก้ คว้ารางวัลสูงสุดมาครองเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 4 ปีกับผลงานชิ้นล่าสุดเรื่อง Amour นักวิจารณ์หลายคนกล่าวว่ามันเป็นสัญญาณสื่อถึงภาพลักษณ์ที่อ่อนโยนขึ้นของเขา ซึ่งถือเป็นเรื่องน่าตื่นตะลึงสำหรับนักทำหนังที่ถูกตีตรามาตลอด 25 ปีว่าเป็นปรมาจารย์แห่ง ภาพยนตร์ของการทรมานสมมุติฐานดังกล่าวไม่ได้รับความเห็นชอบจากฮาเนเก้สักเท่าไหร่ ผมนำเสนอเรื่องราวอย่างเปี่ยมประสิทธิภาพและความจริงจังเสมอ นั่นหมายความว่า ถ้าผมทำหนังเกี่ยวกับความรัก มันย่อมจำเป็นต้องอ่อนโยน นุ่มนวลกว่าเวลาผมทำหนังเกี่ยวกับการนำเสนอความรุนแรงในสื่อ เช่น Funny Gamesเขากล่าว

นอกเหนือจาก Funny Games ซึ่งถือเป็นผลงานสุดอื้อฉาวทั้งเวอร์ชั่นดั้งเดิมในปี 1997 และเวอร์ชั่นรีเมค (โดยฮาเนเก้เอง) ในปี 2008 แล้ว ฮาเนเก้ยังนำเสนอเรื่องราว ไม่น่ารักผ่านสื่อภาพยนตร์อีกหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นผลงานชิ้นแรกของเขา The Seventh Continent เกี่ยวกับครอบครัวที่ฆ่าตัวตายหมู่ หรือหนังคว้ารางวัลปาล์มทองคำเรื่องก่อนหน้า The White Ribbon ที่สำรวจสภาพความเป็นอยู่แบบสังคมชายเป็นใหญ่ในหมู่บ้านเล็กๆ ของเยอรมันก่อนเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 พวกมันอาจไม่ใช่หนังทำเงินอันดับต้นๆ แต่ก็ได้รับคำชื่นชมจากเหล่านักวิจารณ์ นักศึกษาภาพยนตร์จำนวนมาก หนึ่งในแฟนพันธุ์แท้ของฮาเนเก้ คือ ฌอง-หลุยส์ แตรงติญอง อดีตซูเปอร์สตาร์จาก And God Created Woman ที่ตัดสินใจเกษียณตัวเองจากวงการบันเทิงมาพักใหญ่ โดยนอกเหนือจากบทเล็กๆ ในหนังของลูกสาวเขาเรื่อง Janis et John แล้ว บทบาทการแสดงล่าสุดของเขาต้องนับย้อนไปไกลถึงปี 1998 แต่ทันทีที่ได้อ่านบทของฮาเนเก้ ซึ่งเขียนขึ้นให้แตรงติญองโดยเฉพาะ เขาก็รีบตอบตกลง

ผมแสดงหนังมากว่า 135 เรื่อง และในความคิดของผม ไมเคิล ฮาเนเก้ เป็นผู้กำกับที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลกที่ยังมีชีวิตอยู่ ผมไม่ได้เลือกเล่นหนังจากบท แต่จากตัวผู้กำกับ และเขาเป็นผู้กำกับที่เชี่ยวชาญทักษะด้านภาพยนตร์สูงสุด ไม่ว่าจะในแง่เทคนิค เช่น การบันทึกเสียง การถ่ายภาพ หรือวิธีกำกับนักแสดง หนังเรื่องนี้พูดถึงประเด็นที่ค่อนข้างมืดหม่น แต่ผมไม่เคยสนุกกับการทำงานให้ผู้กำกับคนไหนมากเท่าฮาเนเก้นักแสดงวัย 81 ปีกล่าว พร้อมกับเสริมว่าผู้กำกับชาวออสเตรียยังมีปรัชญาการทำงานสอดคล้องกับเขาด้วย (ครั้งหนึ่งเขาเคยประกาศว่า นักแสดงที่ดีที่สุดในโลก คือ นักแสดงที่รู้สึกมากที่สุดและแสดงออกน้อยที่สุด”) “ก่อนเริ่มถ่ายทำเราปรึกษาหารือกันนานสองหรือสามเดือน เกี่ยวกับแนวคิดในการสร้างหนังของเขาและสิ่งที่เขาต้องการจากนักแสดง เขามักจะบอกนักแสดงอยู่เสมอว่าอย่าแสดงออก แต่ให้รู้สึกลึกๆ ไว้ข้างในมันเป็นหน้าที่ของเขากับกล้องที่จะบันทึกความรู้สึกเหล่านั้น

สำหรับนักดูหนัง ฮาเนเก้เป็นเหมือนปริศนาที่ยากจะถอดรหัส เขาชอบเล่นสนุกกับความคาดหวังของผู้ชม เช่น ฉากรีโมทมหัศจรรย์ในหนังเรื่อง Funny Games “สิ่งหนึ่งที่ปรากฏในหนังทุกเรื่องของเขา คือ ความคลุมเครือโอลิเวอร์ ซี. สเปค ผู้เขียนหนังสือ Funny Frames: The Filmic Concepts of Michael Haneke กล่าว เราคนดูต้องการบทสรุป ซึ่งเชื่อมโยงทุกส่วนเข้าด้วยกันอย่างแนบเนียน ไม่ใช่คำถามที่ปราศจากคำตอบ แต่ฮาเนเก้กลับยืนกรานให้เราตระหนักถึงข้อเท็จจริงว่าความสมบูรณ์แบบนั้นไม่มีอยู่จริง และใครก็ตามที่บอกว่ามันมีอยู่จริง ถ้าไม่โกหกก็เป็นพวกเผด็จการไม่เพียงคนดูเท่านั้นที่ไม่แน่ใจ กระทั่งนักแสดงของเขาเองก็ประสบปัญหาเดียวกัน เมื่อ จูเลียต บิโนช ถามเขาระหว่างถ่ายทำหนังเรื่อง Cache (aka Hidden) ว่าตกลงตัวละครที่เธอแสดงแอบคบชู้อยู่หรือเปล่า คำตอบที่เธอได้จากฮาเนเก้ คือ ในฉากที่เธอต้องเผชิญหน้ากับลูกชายในเรื่อง ให้เล่นเหมือนกับตัวเองไม่ได้คบชู้ ส่วนในฉากที่เธอต้องพูดคุยกับสามีในร้านกาแฟ ให้เล่นเหมือนว่าตัวเองคบชู้อยู่

อีกหนึ่งรายละเอียดที่พบเห็นบ่อยๆ ในหนังของฮาเนเก้ คือ ตัวละครผู้ชายของเขามักจะชื่อจอร์จ ส่วนผู้หญิงจะชื่อแอนน์ และถ้าพวกเขามีลูกสาว ก็มักจะชื่อเอวา ตอนแรกฮาเนเก้อธิบายสาเหตุว่าเกิดจากความขี้เกียจ หาได้มีความหมายอื่นใดแอบแฝง แต่เมื่อตระหนักว่าคำอธิบายดังกล่าวดูไม่ค่อยน่าเชื่อถือเท่าไหร่ เขาจึงนำเสนออีกคำตอบว่า มันคงเกี่ยวโยงไปถึงข้อเท็จจริงที่ว่าหนังทุกเรื่องของผมมักจะสำรวจกลุ่มคนและชนชั้นเดิมๆ โดยตลอด นั่นคือ ชนชั้นกลางของยุโรป ซึ่งเป็นพื้นเพของผมเองเช่นกัน

Oscar 2013: Best Actor



แบรดลีย์ คูเปอร์ (Silver Linings Playbook)

ภาพลักษณ์เดิมๆ ของ แบรดลีย์ คูเปอร์ ซูเปอร์สตาร์จากหนังชุด The Hangover (ภาค 3 กำลังถ่ายทำกันอยู่) และหนุ่มเซ็กซี่ที่สุดแห่งปี 2011 ของนิตยสาร People             กำลังถูกทำลายลงอย่างราบคาบพร้อมกับการมาถึงของหนังเรื่อง Silver Linings Playbook ซึ่งเขารับบทเป็น แพ็ท โซลิทาโน ชายหนุ่มที่เพิ่งออกจากรพ.โรคจิตมาอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และมีความตั้งใจสูงสุดที่จะเอาชนะใจอดีตภรรยาเพื่อให้เธอหันกลับมาคืนดีกับเขา บุคลิกแมนๆ ดูมั่นใจในตัวเองแบบที่คนดูคุ้นเคยถูกแทนที่ด้วยอารมณ์เปราะบางและไม่มั่นคง โซลิทาโนถือเป็นตัวละครที่ห่างไกลจาก โซนปลอดภัยของคูเปอร์ ซึ่งยอมรับว่า ครั้งแรกที่ได้อ่านบท ผมไม่คิดว่าตัวเองจะเล่นบทนี้ได้ ผมรู้สึกกลัวๆ ไม่แน่ใจว่าจะสามารถเปลือยอารมณ์ แล้วจมดิ่งไปกับสถานการณ์อันสุดโต่งได้หรือเปล่าแต่สุดท้ายเขาก็ตัดสินใจก้าวกระโดดครั้งใหญ่ในฐานะนักแสดง และแน่นอน ผลลัพธ์ที่ออกมานับว่างดงามเกินความคาดหมาย

ผู้กำกับ เดวิด โอ รัสเซลล์ รู้จักคูเปอร์เป็นครั้งแรกจากหนังเรื่อง Wedding Crashers ซึ่งเขารับบทหนุ่มนักกีฬาจอมยโส เขาดูเป็นคนโมโหร้ายรัสเซลล์กล่าว นับเป็นคุณสมบัติที่เหมาะกับตัวละครนี้มาก เพราะแพ็ทมักจะทำให้คนรอบข้างรู้สึกอึดอัด เขามีความมุ่งมั่นรุนแรงจนดูน่ากลัว

คูเปอร์เชื่อว่าเขาได้เชื้อนักแสดงมาจากพ่อ ซึ่งชอบดูหนังเป็นชีวิตจิตใจและเป็นคนแนะนำให้ลูกชายวัยเด็กได้รู้จักกับผลงานคลาสสิกอย่าง Apocalypse Now, The Deer Hunter และที่ติดตาติดใจคูเปอร์มากที่สุด คือ The Elephant Man “ผมอายุ 12 ตอนพ่อเปิดหนังเรื่องนั้นให้ดู มันกลายเป็นความหมกมุ่นของผมในเวลาต่อมาเขากล่าว หนังเรื่องนั้นทำให้คูเปอร์ตัดสินใจได้ว่าอยากเป็นนักแสดงและลงคอร์สเรียนใน Actors Studio ที่นิวยอร์กหลังเรียนจบจากมหาวิทยาลัยจอร์จทาวน์ในวอชิงตัน คูเปอร์เล่าว่าพ่อกับแม่อยากให้เขาทำงานในแวดวงการเงิน จนกระทั่งทั้งสองได้มาดูฝีไม้ลายมือของเขาในละครเวทีเรื่อง The Elephant Man ที่ Actors Studio กับบทชายผู้มีความผิดปกติทางกระดูกและผิวหนังจนรูปร่างหน้าตาบิดเบี้ยวผิดมนุษย์มนา (เขาจะกลับมารับบทนี้อีกครั้งในช่วงฤดูร้อน) ความแตกต่างระหว่างละครกับหนังอยู่ตรงที่ในเวอร์ชั่นละครนักแสดงไม่ได้รับอนุญาตให้ใช้เทคนิคการเมคอัพเข้าช่วย แต่ต้องอาศัยน้ำเสียง วิธีการพูดและการเคลื่อนไหวเพื่อสื่อสารถึงความพิกลพิการทางร่างกายของตัวละครเอก

แรกเริ่มเดิมทีบท แพ็ท โซลิทาโน จะตกเป็นของ มาร์ค วอห์ลเบิร์ก (หนังเรื่องนี้วางแผนสร้างก่อน The Fighter) แต่จากการได้พูดคุยเกี่ยวกับหลากหลายโปรเจ็คระหว่างรัสเซลล์กับคูเปอร์ (หนึ่งในนั้น คือ หนังไฮบริดชื่อ Pride and Prejudice and Zombies) ทำให้ผู้กำกับมั่นใจว่าเขาเหมาะจะรับบทแพ็ทยิ่งกว่าใครๆ แรงกระหายและความมุ่งมั่นของแพ็ทที่จะปรับปรุงตัวเองก็ไม่ต่างจากความมุ่งมั่นของแบรดลีย์ในฐานะนักแสดง เขายังไม่มีโอกาสได้เปิดเผยมิติอื่นๆ ให้คนได้ประจักษ์ เขาต้องการอย่างยิ่งที่จะให้ผู้คนมองเขาเป็นนักแสดงมากกว่าแค่ดาราหน้าตาดีรัสเซลล์กล่าว ความเชื่อมั่นของผู้กำกับทำให้คูเปอร์ล้วงลึกเข้าไปสำรวจอารมณ์ภายในของตนเอง ทั้งความโกรธขึ้งและความว่างเปล่า ซึ่งเขาไม่เคยตระหนักมาก่อน จนการรับบท แพ็ท โซลิทาโน กลายงานแสดงที่ดีที่สุดในชีวิตของเขาอย่างไม่ต้องสงสัย


ฮิวจ์ แจ๊คแมน (Les Miserables)

เพื่อให้สามารถสวมวิญญาณ ฌอง วัลฌอง อดีตนักโทษที่เข้าร่วมขบวนการปฏิวัติฝรั่งเศสในหนังเพลง ซึ่งดัดแปลงมาจากละครบรอดเวย์สุดคลาสสิกเรื่อง Les Miserables ได้อย่างแนบเนียน ฮิวจ์ แจ๊คแมน ยินดีจะทำทุกอย่างที่จำเป็น รวมถึงการซ้อมร้องเพลงระหว่างยกเวทเพื่อฟิตหุ่น ทั้งนี้เพราะตามบทแล้ววัลฌองต้องมีรูปร่างแข็งแกร่งเหมือนสัตว์จากการใช้แรงงานหนักในคุกเป็นเวลา 19 ปี แต่ขณะเดียวกันในความเป็นหนังเพลง สิ่งสำคัญที่เขาไม่อาจมองข้ามได้ คือ เสียงร้องอันทรงพลัง นักแสดงวัย 44 ปีให้เหตุผลว่า หากเขาไม่ร้องเพลงไปพร้อมๆ กับกิจกรรมฟิตร่างกาย (พร้อมควบคุมอาหารเพื่อให้รูปร่างเหมาะสมกับบทนักโทษที่ต้องอดๆ อยากๆ) อาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณคออาจทำให้เขาไม่สามารถร้องเพลงให้ตรงคีย์ได้

เสียงร้องกลายเป็นเรื่องที่เขาไม่อาจมองข้าม หลังจากผู้กำกับ ทอม ฮูเปอร์ ตัดสินใจถ่ายหนังโดยให้นักแสดงทุกคนร้องเพลงจริงๆ ในทุกเทค แทนการบันทึกเสียงไว้ก่อนแล้วค่อยลิปซิงค์เวลาถ่ายทำแบบหนังเพลงทั่วๆ ไป ซึ่งนั่นบังคับให้เขาต้องสามารถร้องเพลงต่อเนื่องกันได้วันละ 12 ชม. ฉะนั้นการดูแล บำรุงรักษา ตลอดจนหมั่นบริหารเส้นเสียงจึงกลายเป็นกิจวัตรจำเป็น นั่นหมายถึงเขาต้องหลีกเลี่ยงการดื่มกาแฟ วอร์มอัพเสียงอย่างน้อย 15 นาทีต่อวัน พกลูกอมแก้ไอตลอดเวลา ดื่มน้ำวันละกว่า 7 ลิตร นั่งผ่อนคลายในห้องอบไอน้ำ 3 ครั้งต่อวัน นอนแช่ในน้ำเย็บเฉียบ และคลุมใบหน้าด้วยผ้าขนหนูบีบหมาดทุกครั้งที่เดินทางโดยเครื่องบิน ผมต้องสูดความชื้นเข้าร่างกายตลอดเวลาเขากล่าว เส้นเสียงของคุณจะต้องมีลักษณะเหมือนป่าร้อนชื้น

นักดูหนังส่วนใหญ่อาจรู้จัก ฮิวจ์ แจ๊คแมน จากบทซูเปอร์ฮีโร่นาม วูฟเวอรีน ในหนังฮิตถล่มทลายชุด X-Men แต่ความจริงแล้วแจ๊คแมนเริ่มหลงใหลในละครเพลงมาตั้งแต่ช่วงเรียนชั้นมัธยม เมื่อเขาเห็น ฮิวโก วีฟวิง (สมัยยังไม่ดัง) รับบทนำในละครเพลงเรื่อง Man of La Mancha จากนั้นแจ๊คแมนก็เดินหน้าตามความฝัน และเริ่มต้นเส้นทางสู่บรอดเวย์ด้วยการรับบทศาตราจารย์ฮิกกินส์ในละครเพลงของโรงเรียนเรื่อง My Fair Lady แต่ความฝันของเขาเกือบจะต้องหยุดชะงักกลางทางเมื่อถูกพี่ชายล้อว่าเป็นตุ๊ด เนื่องจากเขาแสดงเจตจำนงว่าจะลงเรียนคอร์สเต้นรำ ผมอยากให้เรื่องลงเอยแบบ Billy Elliot แต่ผมขี้ขลาดเกินไปแจ๊คแมนเล่า แต่โชคดีที่พี่ชายเขาเปลี่ยนใจ ก่อนจะเอ่ยปากขอโทษเขาหลังทุกคนในครอบครัวเดินทางไปดูละครเพลงเรื่อง 42nd Street ด้วยกัน วันรุ่นขึ้นแจ๊คแมนตัดสินใจสมัครเรียนการเต้นแท็ป จากนั้นอีก 18 ปีต่อมา เขาก็ลงเอยด้วยการชนะรางวัลโทนี่จากละครเพลงเรื่อง The Boy from Oz

ประสบการณ์อันช่ำชองในแวดวงละครเพลงทำให้แจ๊คแมนไม่ลืมการฝึกฝนอีกอย่างที่สำคัญไม่แพ้กัน และมีผลอย่างยิ่งในการช่วยให้เขาเข้าถึงความรู้สึกภายในของตัวละคร มันเป็นแบบฝึกหัดที่เขาเรียนรู้มาจากผู้กำกับละครเวทีชื่อก้อง เทรเวอร์ นันน์ ตอนทั้งสองร่วมงานกันในละครเพลงเรื่อง Oklahoma! โดยในช่วง 3 สัปดาห์แรกนันน์จะไม่ยอมให้นักแสดงร้องเพลงแม้แต่ประโยคเดียว แต่ต้องพูดทุกคำร้องราวกับมันเป็นบทสนทนาปกติในชีวิตประจำวัน นั่นเป็นสิ่งที่ผมทำก่อนเข้าฉากในหนังเรื่อง Les Miserablesแจ๊คแมนเล่า ผมจะคัดลอกคำร้องลงบนกระดาษและอ่านเป็นเหมือนบทพูด เพราะถ้าไม่มีเหตุผลที่ตัวละครจะพูดออกมา ก็ไม่มีเหตุผลที่เขาจะร้องมันเป็นเพลงบางทีนั่นอาจเป็นเหตุผลว่าทำไมการแสดงของเขาในหนังที่มีแต่ฉากร้องเพลงล้วนๆ จึงลื่นไหลอย่างเป็นธรรมชาติ


วาควิน ฟีนิกซ์ (The Master)

หลังจากการแปลงโฉมสุดอื้อฉาว (เพิ่มน้ำหนัก ไว้หนวดเคราเฟิ้ม และสร้างวีรกรรมสติแตกกลางที่สาธารณะ) เพื่อโปรโมตหนังสารคดีเรื่อง I’m Still Here ซึ่ง วาควิน ฟีนิกซ์ ยอมรับว่าเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพนักแสดงของเขา และช่วยขยายโลกทัศน์ของเขาต่อเทคนิคการแสดง นักแสดงหนุ่มวัย 37 ปีก็ห่างหายจากวงการไปนานเกือบสองปี ความพยายามจะเปลี่ยนแปลงตัวเองทำให้ฟีนิกซ์ตัดสินใจปฏิเสธบทหนังหลายเรื่อง จนกระทั่งได้รู้จักกับตัวละครอย่าง เฟร็ดดี้ เควล อดีตนายทหารจากช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ในหนังเรื่อง The Master ซึ่งก่อนหน้านี้ถูกร่ำลือว่าเล่าถึงชีวิตช่วงต้นๆ ของ แอล. รอน ฮับบาร์ด ผู้ก่อตั้งลัทธิ Scientology แต่การณ์กลับปรากฏว่านั่นเป็นเพียงฉากหลังจางๆ ให้กับประเด็นการสำรวจสัญชาตญาณความเป็นสัตว์ของมนุษย์ ตลอดจนอารยธรรมและความล้มเหลวของมัน ผ่านความสัมพันธ์ระหว่างคนจิตหลุดอย่างเฟร็ดดี้กับผู้นำลัทธิ แลนแคสเตอร์ ด็อดด์ (รับบทโดย ฟิลิป ซีมัวร์ ฮอฟฟ์แมน)

ผู้กำกับ พอล โธมัส แอนเดอร์สัน เขียนบทด็อดด์ให้กับฮอฟฟ์แมน นักแสดงขาประจำของเขา โดยเฉพาะ และตระหนักชัดตั้งแต่แรกว่าจำเป็นต้องหานักแสดงฝีมือทัดเทียมกันมารับบทคู่ปรับ/ลูกศิษย์/คนรัก? ของด็อดด์อย่างเฟร็ดดี้ โอกาสที่จะได้ร่วมงานกับฟีนิกซ์ทำให้ทั้งแอนเดอร์สันและนักแสดงเจ้าของรางวัลออสการ์จาก Capote รู้สึกตื่นเต้นอย่างมาก วาควินทำให้ผมขนหัวลุก... ในความหมายที่ดีนะฮอฟฟ์แมนกล่าว

ทักษะการแสดงของฟีนิกซ์เป็นที่ยอมรับตั้งแต่อายุ 21 เมื่อเขากลายเป็นดาราในชั่วข้ามคืนจากหนังเรื่อง To Die For และก้าวพ้นเงื้อมเงาของพี่ชาย ริเวอร์ ฟีนิกซ์ อย่างเต็มตัว ต่อจากนั้นเขาก็เริ่มต้นสร้างชื่อเสียงในฐานะนักแสดงที่จริงจังและดุดันที่สุดคนหนึ่งของฮอลลีวู้ดอย่างไม่หยุดยั้ง โดยมีหลักฐานพิสูจน์ คือ การถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สองครั้งจากบทวายร้ายใน Gladiator และบทนักร้องชื่อดัง จอห์นนี่ แคช ใน Walk the Line แต่เครดิตทั้งหลายเหล่านั้นไม่อาจเตรียมใจใครให้พร้อมรับมือกับงานแสดงอันรุนแรงของเขาใน The Master “ผมรู้ว่าเขาเป็นนักแสดงชั้นยอด แต่ผมไม่คาดคิดมาก่อนว่าเขาจะทำได้ขนาดนี้แอนเดอร์สันกล่าว ระดับความคิดสร้างสรรค์และพลังงานที่ไหลทะลักมาจากตัวเขาทำเอาผมตั้งตัวไม่ทัน รวมไปถึงวินัยในการทำงานของเขาด้วย

ตั้งแต่ก่อนเปิดกล้อง ฟีนิกซ์บอกกับแอนเดอร์สันว่าเขาจะไม่ยั้งมือในทุกทิศทาง เขาอยากตีแผ่แง่มุมแห่งสัญชาตญาณเบื้องลึก และบทเรียนจาก I’m Still There เป็นแรงบันดาลใจให้เขากล้าจะทดลอง โดยระหว่างถ่ายทำเขาจะพยายามตีความบทพูด ตลอดจนสถานการณ์ในแต่ละฉากแตกต่างกันออกไปหลายรูปแบบ บางครั้งถึงขั้นลงมือทำในสิ่งที่คนอาจมองว่าไร้สาระ ดูงี่เง่า ไม่เป็นเหตุเป็นผล หรือกระทั่งหลุดจากบุคลิกของตัวละคร แอนเดอร์สันบอกว่าฟีนิกซ์ สวมวิญญาณตัวละครตลอดการถ่ายทำ ซึ่งเป็นคำนิยามที่นักแสดงหนุ่มไม่ค่อยชอบเท่าไหร่ แต่เขาก็ยอมรับว่าการรักษาระดับความเข้มข้นทางอารมณ์ของตัวละครเอาไว้ตลอดถือเป็นสิ่งสำคัญ เฟร็ดดี้เป็นคนสุดโต่งเขากล่าว ผมไม่สามารถปล่อยร่างกายให้ผ่อนคลาย จากนั้นก็บิวท์ตัวเองให้กลับไปอยู่ในระดับอารมณ์แบบเดิม

การแสดงโดยอาศัยสัญชาตญาณมักจะส่งผลให้เทคแรกเป็นเทคที่ยอดเยี่ยมที่สุด ส่งผลให้แอนเดอร์สันต้องเตรียมพร้อมเสมอเพื่อให้เทคแรกสมบูรณ์แบบในแง่รายละเอียดอื่นๆ รอบข้าง และบางครั้งความพยายามจะถ่ายทอดจิตใต้สำนึกของเฟร็ดดี้ทำให้ฟีนิกซ์ปล่อยใจไปกับสถานการณ์อย่างลืมตัวจนเล่นนอกเหนือจากบท เช่น ในฉากที่เฟร็ดดี้อาละวาดพังข้าวของในห้องขังและกระแทกศีรษะกับเตียง ฟีนิกซ์บอกว่าเขาได้แรงบันดาลใจจากวิดีโอบันทึกพฤติกรรมของสัตว์ป่าที่ถูกกักขังอยู่ในกรง คุณจะเห็นว่าสมองของพวกมันดูเหมือนจะไม่ทำงานอีกต่อไปเขากล่าว มันเป็นปฏิกิริยาตอบโต้แบบเฉียบพลันผ่านทางกล้ามเนื้อ พวกมันทำตัวเองเจ็บ แต่ไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ ราวกับมีบางอย่างในหัวคอยย้ำเตือนซ้ำไปซ้ำมาว่า ต้องออกไปจากที่นี่ ต้องออกไปจากที่นี่แอนเดอร์สันชื่นชอบการด้นสดดังกล่าว ตัดสินใจเลือกใช้เทคดังกล่าว และผลลัพธ์สำหรับคนดู คือ หนึ่งในฉากทรงพลัง และน่าจดจำที่สุดของหนัง


เดนเซล วอชิงตัน (Flight)

ศิลปะการแสดงเป็นเรื่องชวนพิศวง กระทั่งเหล่านักแสดงชื่อดัง หรือบรรดาเพื่อนร่วมงานที่ชื่นชมการแสดงของพวกเขาเหล่านั้น ก็ไม่อาจอธิบายได้ว่าเหตุใดพวกเขาจึงทำอย่างที่เห็นบนจอ เมื่อคุณได้ชมการแสดงของ เดนเซล วอชิงตัน ใน Flight คุณจะรู้สึกอยากทราบข้อมูลในเบื้องลึก เพื่อทำความเข้าใจว่าความอัศจรรย์ดังกล่าวเกิดขึ้นได้อย่างไร และทำไมมันถึงสามารถทรงพลังอยู่ได้นานกว่า 2 ชม. ตรึงคุณให้ไม่อาจละสายตาจากจอได้ แต่ต่อให้คุณถามเจ้าตัวเอง บางครั้งเขาก็ไม่สามารถเล่าขั้นตอนให้ชัดเจนได้ อย่างดีที่สุดก็แค่พยายามพูดแบบกว้างๆ โดยใช้การเปรียบเทียบ หรือสัญลักษณ์ จอห์น กู๊ดแมน หนึ่งในทีมนักแสดงของหนังเรื่อง Flight กล่าวว่าวอชิงตันเตรียมทำการบ้านมาดี แต่การเตรียมตัวต้องลงทุนถึงขั้นไหน ในเมื่อช่วงต้นเรื่อง คนดูจะเห็นวอชิงตันสะลึมสะลือลุกจากเตียงขึ้นมาดวดเบียร์และสูดโคเคนก่อนจะออกไปทำงานขับเครื่องบินโดยสาร สำหรับกู๊ดแมน หนึ่งในการบ้านที่เขาหมายถึงคงเป็นการใช้เวลาหลายชั่วโมงกับเครื่องจำลองการบิน เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับฉากนำเครื่องลงจอดฉุกเฉินในช่วงต้นเรื่อง

คุณจำเป็นต้องรู้สึกคุ้นเคยกับห้องคนขับ ต้องรู้ว่ากิจวัตรประกอบไปด้วยอะไรบ้างวอชิงตันอธิบายสาเหตุ ทุกรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ จะช่วยสร้างความรู้สึกสมจริงให้กับคนดู นักบินคนหนึ่งที่ผมร่วมงานด้วยยอมให้ผมยืมกระเป๋ามาใช้ ผมเลยถือกระเป๋าเก่าๆ ใบนั้นเข้าฉากด้วย

แต่การเตรียมตัวดังกล่าวคงไม่สามารถใช้อธิบายได้ว่า เหตุใดเขาจึงทำให้คนดูตระหนักได้อย่างชัดเจนถึงความไม่พร้อมทางด้านร่างกายของ วิป วิทล็อก พร้อมๆ กับความเชื่อมั่นว่าทักษะอันเป็นเลิศ ความเป็นมืออาชีพ และประสบการณ์ที่เชี่ยวกรากจะช่วยให้เขานำเครื่องลงจอดได้อย่างปลอดภัยในที่สุด กล่าวคือ เขาต้องแสดงทั้งอารมณ์มั่นใจว่าสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามจะควบคุมสติตัวเอง ซึ่งแน่นอนถูกลดทอนศักยภาพลงจากภาวะมึนเมาด้วยเหล้าและยาเสพติด ผู้กำกับ นอร์แมน จีวินสัน ซึ่งเป็นคนมอบบทเด่นบทแรกให้วอชิงตันจากหนังเรื่อง A Soldier’s Story และบทที่ทำให้เขาถูกเสนอชื่อเข้าชิงออสการ์สาขานักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเป็นครั้งที่ 2 จากหนังเรื่อง The Hurricane เล่าว่า เดนเซลเป็นนักแสดงที่มีสมาธิสุดยอด และช่างวิเคราะห์ ตอนถ่ายหนังเรื่อง A Soldier’s Story ผมเห็นชัดว่าเขาสงสัยใคร่รู้เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับกล้อง เขารับบทนี้ในเวอร์ชั่นละครเวที และเมื่อถ่ายเวอร์ชั่นหนังไปได้สักพัก ผมก็เห็นเขาเริ่มทอนการแสดงลงระดับหนึ่ง เพื่อให้ดูลุ่มลึกและไม่โอเวอร์มากไป

ตอนยังเป็นเด็ก อาชีพนักแสดงไม่เคยอยู่ในหัวของวอชิงตันเลย และเมื่อตัดสินใจเบนเข็มสู่วงการมายา ละครเวที คือ เป้าหมายสูงสุดของเขา หาใช่ฮอลลีวู้ด ตอนได้แสดงหนังโทรทัศน์เป็นครั้งแรก (เรื่อง Wilma ในปี 1977)  เขารู้สึกประหม่ามาก พอกล้องเคลื่อนเข้ามาใกล้ ผมก็จะเริ่มถอยหลังเพื่อหลบออกไปให้พ้นทาง ผมไม่คุ้นชินกล้องและการมีกลุ่มคนมาห้อมล้อมในระยะใกล้ แต่สุดท้ายผมก็ก้าวผ่านความกลัวนั้นมาได้ไม่เพียงเลิกประหม่าต่อหน้ากล้องเท่านั้น ตลอดหนึ่งทศวรรษต่อมา เขายังกลายเป็นนักแสดงระดับแนวหน้าที่ทุกคนนับถือในฝีมืออีกด้วย และสองรางวัลออสการ์จาก Glory และ Training Day น่าจะเป็นเครื่องพิสูจน์ได้ว่าเขาก้าวมาไกลจากจุดเริ่มต้นมากแค่ไหน


เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ (Lincoln)

ไม่มีใครคาดคิดว่า อับราฮัม ลินคอล์น ประธานาธิบดีที่คนรู้จักมากที่สุดของอเมริกา และถูกนำมาสร้างสรรค์ให้กลายเป็นตัวละครบนจอภาพยนตร์บ่อยครั้งชนิดนับไม่ถ้วน ล่าสุดในหนังแอ็กชั่นทุนสูงอย่าง Abraham Lincoln: Vampire Hunter จะถูกตีความได้อย่างลุ่มลึก สมจริง และละเอียดลออสูงสุดโดยนักแสดงที่เติบโตมาในประเทศอังกฤษและไอร์แลนด์ แต่ในเวลาเดียวกันมันก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกสักเท่าไหร่ เนื่องจากเขาผู้นั้นได้รับการยกย่องในฐานะนักแสดงที่ยิ่งใหญ่ที่สุดคนหนึ่งแห่งยุค

เดเนียล เดย์-ลูว์อิสต์ เคยคว้ารางวัลออสการ์นักแสดงนำชายมาแล้ว 2 ครั้งจาก My Left Foot และ There Will Be Blood ตัวที่ 3 อาจมาถึงเร็วกว่าที่คิดจากผลงานแสดงอันอ่อนโยน เปี่ยมไปด้วยจิตวิญญาณในหนังเรื่อง Lincoln  ของ สตีเวน สปีลเบิร์ก ลินคอล์นของเดย์-ลูว์อิสต์ไม่ได้ดูเหมือนซอมบี้แบบใน Abraham Lincoln หรือมุ่งมั่น ฝีปากกล้าเหมือนใน Young Mr. Lincoln รูปร่างสูงชะลูด ผ่ายผอม และคอยาว ทำให้เดย์-ลูว์อิสต์ดูใกล้เคียงกับลินคอล์นตัวจริงมากกว่าในเวอร์ชั่นอื่นๆ เขาไม่ต้องสวมรองเท้าส้นตึกเพื่อยืดตัวให้สูงขึ้นเหมือน คริส คริสตอฟเฟอร์สัน ในหนังทีวีเรื่อง Tad แต่ทันทีที่เดย์-ลูว์อิสต์อ้าปากพูด คนดูอาจรู้สึกตกใจเล็กน้อย เพราะเสียงของเขาไม่ได้ทุ้มนุ่มเหมือนภาพลักษณ์ลินคอล์นที่ผ่านๆ มา (และที่เราทุกคนคุ้นเคยกันดี) แต่กลับค่อนข้างแหลมสูง เจือไปด้วยความกระตือรือร้น

หลักฐานทางประวัติศาสตร์ในยุคหลังๆ ระบุว่าลินคอล์นตัวจริงมีเสียงค่อนข้างสูง และในความรู้สึกส่วนตัวของเดย์-ลูว์อิสต์ เขาเชื่อว่าเสียงที่สูงขึ้นจะดูน่าฟังและดึงดูดใจกว่าเวลาต้องพูดต่อหน้ากลุ่มคนกลุ่มใหญ่ ข้อมูลหลักฐานดูเหมือนจะผกผันไม่แน่ชัด ไม่มีใครสามารถระบุได้อย่างมั่นใจว่าเสียงของลินคอล์นควรเป็นอย่างไร ซึ่งนั่นถือเป็นเรื่องโชคดีสำหรับผมนักแสดงวัย 55 ปีกล่าวพร้อมรอยยิ้ม ผมคิดว่าการค้นพบเสียงของลินคอล์นคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญสุดและแน่นอน ด้วยความเป็นนักแสดงสายเมธ็อด เดย์-ลูว์อิสต์ยืนกรานที่จะพูดจาด้วยเสียงนั้นตลอดเวลาระหว่างถ่ายทำ นอกจากนี้ นักแสดงชาวอังกฤษและทีมงานคนอื่นๆ ก็ได้รับคำขอร้องไม่ให้พูดคุยกับเขาด้วยสำเนียงอังกฤษอีกด้วย คนเขียนบท โทนี คุชเนอร์ เล่าถึงวันที่เขาแวะไปเยี่ยมกองถ่ายและมีโอกาสได้เห็นการถ่ายทำฉากลินคอล์นพูดต่อหน้าคณะรัฐมนตรีถึงความสำคัญของการประกาศกฎหมายเลิกทาสว่า ทุกคนถึงกับอ้าปากค้าง มันเป็นการแสดงที่ยอดเยี่ยมที่สุดเท่าที่ผมเคยพบเห็นมา การจะสวมบทบาทตัวละครได้แบบนั้น คุณจำเป็นต้องหลุดเข้าไปอยู่ในสถานการณ์ และดำรงรักษาสมาธิเอาไว้อย่างเหนียวแน่น

เดย์-ลูว์อิสต์เป็นนักแสดงที่ขึ้นชื่อเรื่องการเลือกบท บางครั้งเขาจะทิ้งช่วงจากแวดวงมายาไปหลายปี และปลีกตัวไปใช้ชีวิตอยู่กับภรรยา รีเบคกา มิลเลอร์ ลูกสาวของ อาร์เธอร์ มิลเลอร์ (ทั้งสองพบรักกันระหว่างการถ่ายทำหนังเรื่อง The Crucible) และลูกชายทั้งสองคน (เดย์-ลูว์อิสต์มีลูกชายอีกคนกับนักแสดงชาวฝรั่งเศส อิสซาเบลล์ แอดจานี) จนดูเหมือนเขาตัดสินใจเกษียณตัวเองจากการแสดง แล้วหันไปประกอบอาชีพเป็นช่างซ่อมรองเท้า  (The Boxer และ Gangs of New York ทิ้งช่วงห่างกัน 5 ปีเต็ม) นอกจากนี้ สิ่งที่เขาขึ้นชื่อไม่แพ้กัน คือ ขั้นตอนการ ทำงานของเขา เช่น ระหว่างถ่ายทำ The Last of the Mohigans เขาสอนตัวเองให้รู้จักสร้างเรือแคนู ดักจับและถลกหนังสัตว์ป่า ในระหว่างถ่ายทำ My Left Foot เขาฝึกตัวเองให้สามารถเปิดแผ่นเสียงได้โดยใช้นิ้วเท้า เลือกจะนั่งอยู่ในรถเข็นระหว่างเทค และขอให้ทีมงานช่วยป้อนข้าวให้ ในระหว่างการถ่ายทำ The Boxer เขาเรียนรู้วิธีชกมวยแบบมืออาชีพจนกระทั่งจมูกหัก และได้รับบาดเจ็บที่หลัง

การพูดคุยถึงหนังชีวประวัติลินคอล์นระหว่างสปีลเบิร์กกับเดย์-ลูว์อิสต์เริ่มต้นขึ้นในปี 2003 แรกทีเดียวฝ่ายหลังตอบปฏิเสธไม่ยอมรับเล่นบทนี้เพราะเขาไม่ชอบบทร่างแรก จนกระทั่งฝ่ายแรกนำเสนอบทร่างใหม่จากฝีมือการเขียนของคุชเนอร์ ซึ่งโฟกัสไปยังช่วง 4 เดือนสุดท้ายของลินคอล์น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกฎหมายเลิกทาส แต่กระนั้นเดย์-ลูว์อิสต์ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจ ผมคิดว่ามันเป็นบทที่ดี... แต่สำหรับนักแสดงคนอื่นเขากล่าว ความไม่แน่ใจยังคงวนเวียนอยู่ แม้กระทั่งเมื่อเขาตอบตกลงรับเล่นแล้วก็ตาม ก่อนจะค่อยๆ จางหายไปเมื่อเขาเริ่มต้นค้นคว้าหาข้อมูลด้วยการอ่านหนังสือ นั่งศึกษาภาพถ่ายของลินคอล์น และนั่งครุ่นคิดถึงตัวละครเป็นเวลานานนับปี ตอนนั้นเองที่เขาถูกดึงดูดให้เข้าไปอยู่ในโลกของลินคอล์น เข้าใจความคิด ความรู้สึก ความไม่แน่ใจ ตลอดจนสภาพการณ์รอบข้างตัวละคร และถ่ายทอดพวกมันออกมาบนจอภาพยนตร์ได้อย่างงดงาม