วันพฤหัสบดี, มิถุนายน 18, 2558

Wild: แบกเป้สะพายชีวิต


ในฉากหนึ่งช่วงต้นเรื่อง เชอรีล สเตรย์ (รีส วิทเธอร์สพูน) บอกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเอกสารการหย่าว่านามสกุลใหม่ของเธอสะกดแบบเดียวกับหมาจรจัด (stray dog) พร้อมกันนั้นหนังก็สอดแทรกช็อตจากพจนานุกรมที่จำกัดคำนิยามของ “strayed” เข้ามาแวบหนึ่งว่าหมายถึง การเดินออกจากเส้นทางที่ถูกต้อง/ หลงทาง/ กำพร้าพ่อแม่/ ไม่รู้จักยับยั้งชั่งใจ (wild) เชอรีลเลือกนามสกุลนี้เพราะเห็นว่ามันเป็นคำที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับใช้อธิบายสภาวะจิตใจ ตลอดจนสภาพชีวิตโดยรวมของเธอ ก่อนจะตัดสินใจออกเดินป่าไปตามเส้นทาง Pacific Crest Trail (PCT) เป็นระยะทาง 1,100 ไมล์ ข้ามเขตแดน 3 รัฐ โดยเริ่มต้นจากแคลิฟอร์เนีย ผ่านโอเรกอน และไปสิ้นสุดที่วอชิงตัน กล่าวคือ ชีวิตเธอ ณ ขณะนั้นกำลังดำดิ่งสู่หุบเหวจากการมีเซ็กซ์กับผู้ชายไม่เลือกหน้า และเสพติดเฮโรอีน จนเป็นผลให้ชีวิตแต่งงานล่มสลาย โดยฟางเส้นสุดท้ายที่ทำให้เธอตัดสินใจลุกขึ้นมาเดินป่าเพื่อ กลับไปเป็นผู้หญิงแบบที่แม่ฉันต้องการให้เป็น” คือเมื่อเธอค้นพบว่าตัวเองตั้งครรภ์ แต่ไม่แน่ใจว่ากับใครกันแน่

ฉันเคยเข้มแข็ง รับผิดชอบ ทะเยอทะยานที่จะทำสิ่งต่างๆ...” เธอกล่าวกับเพื่อนสนิททั้งน้ำตา หลังตระหนักว่าชีวิตของเธอกำลังพังทลายด้วยน้ำมือตัวเอง

Wild บอกเล่าถึงเรื่องราวการเดินป่าอันเป็นรูปธรรมของเชอรีลมากพอๆ กับการเดินทางภายใน ซึ่งเป็นนามธรรม เพื่อทำใจยอมรับการสูญเสียและความผกผันแห่งชะตาชีวิต หลังบ็อบบี (ลอรา เดิร์น) แม่ผู้เป็นที่รักของเธอ ตายจากไปด้วยโรคมะเร็งขณะอายุเพียง 45 ปี นักข่าวที่เขียนบทความเกี่ยวกับคนจรจัดตั้งข้อสังเกตว่าบาดแผลทางจิตใจมักจะมีส่วนสำคัญในการทำให้คนตัดสินใจละทิ้งชีวิตธรรมดาสามัญ แล้วหันมาร่อนเร่พเนจร แม้เชอรีลจะยืนกรานกับเขาซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่าเธอไม่ใช่คนจรจัด (แต่รายละเอียดหลายอย่างทำให้เธอถูกจัดเข้าข่ายได้ไม่ยาก เพราะขณะนั้นเธอไม่มีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง หรือกระทั่งอาชีพการงาน) แค่ต้องการ พักยกจากชีวิตเท่านั้น

ความเศร้าโศกเสียใจชักนำเชอรีลออกจากเส้นทางที่ถูกต้อง เธอเสพยาและเซ็กซ์กับคนแปลกหน้าด้วยความหวังว่าความสุขชั่วครั้งชั่วคราวเหล่านั้นจะช่วยกลบเกลื่อนความเจ็บปวดที่ฝังลึกอยู่ภายใน เธอปลดปล่อยตัวเองจากการผูกมัดอย่างความรัก ความสัมพันธ์ เพราะคิดว่ามันจะช่วยให้เธอเป็นอิสระ แต่ยิ่งพยายามปฏิเสธความเจ็บปวดเท่าไหร่ โซ่ตรวนของมันกลับยิ่งรัดแน่นจนเธอไม่อาจหลีกหนี แม้กระทั่งในห้วงเวลาแห่งการกอบโกย ความสุขจากเซ็กซ์ไม่เลือกหน้า วิญญาณของบ็อบบีก็ดูจะตามหลอกหลอนเธออยู่

สำหรับเชอรีลการเดินป่าเป็นหนทางที่จะนำระบบระเบียบ ความรับผิดชอบ และเป้าหมายกลับคืนมาสู่ชีวิต ซึ่งหักเลี้ยวเข้ารกเข้าพงไปไกล เพราะเส้นทาง PCT นั้นต้องอาศัยความมุ่งมั่น กล้าหาญ และอดทนขั้นสูงสุด ขนาดที่ผู้ชายบางคน ซึ่งเชอรีลเจอระหว่างทางยังถึงขั้นถอดใจไปก่อน โดยความยากลำบากของการนอนกลางดินกินกลางทรายเป็นเวลาหลายวันท่ามกลางสภาพอากาศร้อนจัดและหนาวจัดหาใช่อุปสรรคเดียว แต่ยังรวมถึงความโดดเดี่ยว ปราศจากปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอีกด้วย อย่างไรก็ตาม สำหรับเชอรีลซึ่งต้องการหลบหนีจากความว้าวุ่น สับสน การเดินป่าเพียงลำพังกลับเป็นโอกาสให้เธอได้ทบทวนและค้นหาความหมายของชีวิต ตอนอยู่ในเมืองฉันเหงามากกว่าตอนอยู่ที่นี่ซะอีกเธอกล่าวกับหญิงสาวอีกคนที่มาเดินป่าบนเส้นทางเดียวกัน

การดัดแปลงหนังสือของ เชอรีล สเตรย์ ซึ่งเป็นส่วนผสมระหว่างบันทึกชีวิตและบันทึกการเดินทางไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากมันแทบจะปราศจากพล็อตที่จับต้องได้ รวมทั้งตัวละครเอกก็มีบุคลิกไม่น่ารักสักเท่าไหร่ แต่ผู้กำกับ ฌอง-มาร์ก วาลี และคนเขียนบท นิค ฮอร์นบี เลือกที่จะซื่อตรงกับต้นฉบับด้วยการคงความแข็งกระด้างของตัวละคร ตลอดจนโครงสร้างการเล่าเรื่องโดยรวม และใช้การเดินป่าไปตามเส้นทาง PCT เป็นแกนหลัก จากนั้นก็ค่อยๆ พาคนดูไปรู้จักชีวิตส่วนตัวของเชอรีลผ่านภาพแฟลชแบ็คเป็นระยะๆ ตั้งแต่วัยเด็กเมื่อหลายปีก่อน จนกระทั่งช่วงเวลาไม่กี่เดือนก่อนเธอตัดสินใจออกมาเดินป่า ความชาญฉลาดของบทภาพยนตร์อยู่ตรงที่มันไม่ได้เรียงลำดับเวลาเหตุการณ์เหล่านั้นอย่างเป็นระเบียบ ตรงกันข้าม ภาพบางภาพ เหตุการณ์บางเหตุการณ์อาจแวบขึ้นมาดุจเดียวกับความทรงจำของตัวละครที่ถูกกระตุ้นโดยสิ่งต่างๆ รอบข้าง กลวิธีดังกล่าวช่วยพาคนดูให้เข้าไปเป็นหนึ่งเดียวกับเชอรีล เพราะโดยเนื้อแท้แล้วเธออาจไม่ใช่ตัวละครเปี่ยมเสน่ห์ หรือน่าเห็นใจ แต่อย่างน้อยหนังก็พยายามช่วยให้เราเข้าใจเธอมากขึ้น

หนึ่งในนั้น คือ ฉากแฟลชแบ็คบทสนทนาในห้องครัวระหว่างเชอรีลกับแม่ของเธอ ฝ่ายแรกรู้สึกรำคาญฝ่ายหลังที่ฮัมเพลงขณะปรุงอาหารอย่างมีความสุข เพราะสภาพความเป็นอยู่ของพวกเขา ณ ขณะนั้นมันช่างห่างไกลจากความรู้สึกสุขสันต์ หรือร่าเริงเสียเหลือเกินในสายตาเธอ ฉากดังกล่าวสะท้อนให้เห็นสองมุมมองต่อชีวิตที่แตกต่างของผู้หญิงสองคน โดยคนหนึ่งเลือกจะมองว่าน้ำหมดไปแล้วครึ่งแก้ว ขณะที่อีกคนกลับเลือกจะมองว่ายังเหลือน้ำอยู่อีกตั้งครึ่งแก้ว นั่นไม่ได้หมายความว่าบ็อบบีไร้เดียงสา หรือหลอกตัวเอง เพราะเธอคงต้องเปี่ยมจินตนาการ หรือเพ้อเจ้อขั้นสุด หากยังเชื่อจริงๆว่าโลกใบนี้เต็มไปด้วยแง่งามและความสุขสันต์ หลังจากต้องทนทุกข์อยู่กับสามีขี้เหล้าที่เห็นเมียเป็นกระสอบทรายอยู่นานหลายปี ในทางตรงกันข้าม บ็อบบี เก็ทว่าโลกเต็มไปด้วยแง่มุมอัปลักษณ์ และชีวิตก็หาได้ราบรื่น หรือสวยงามไปซะทั้งหมด แต่เธอเลือกที่จะไม่ยึดติดอยู่กับข้อเท็จจริงดังกล่าว ถามว่าแม่เสียใจมั้ยที่แต่งงานกับไอ้ขี้เหล้าที่ชอบตบตีเมีย... ไม่เลย แม่ไม่เสียใจสักนิด เพราะมันทำให้แม่มีลูกกับน้องชาย เห็นมั้ยว่าชีวิตก็แบบนี้แหละ

เชอรีลต่างกับแม่ตรงที่เธอไม่รู้จักปล่อยวาง เธอชื่นชอบที่จะทำให้ชีวิตเป็นเรื่องยากลำบาก จนไม่น่าแปลกใจว่าทำไมเธอถึงเลือกเส้นทางอันหฤโหดของ PCT เป็นแบบทดสอบชีวิตและค้นหาตนเอง การเดินป่าไม่เพียงเปิดโอกาสให้เชอรีลได้ทบทวนอดีต แล้วครุ่นคิดถึงอนาคตเท่านั้น แต่มันยังทำให้เธอได้พบเจอกับผู้คนหลากหลาย ทั้งที่น่าคบหาและไม่ค่อยจะน่าคบหาสักเท่าไหร่ (เช่นเดียวกับตัวละครเอก หนังไม่ได้วาดภาพโรแมนติกให้กับการเดินป่า ท่องธรรมชาติแบบเดียวกับสารคดีท่องเที่ยวทั้งหลาย จริงอยู่ว่ามันมีด้านที่งดงามของทิวทัศน์ ความเงียบสงบ แต่ขณะเดียวกันก็เต็มไปด้วยอันตรายทั้งจากสัตว์มีพิษและการขาดแคลนอาหาร น้ำดื่ม) และที่สำคัญที่สุด มันทำให้เธอตระหนักว่าความยากลำบากของชีวิตไม่ได้จำกัดเฉพาะอยู่กับเธอเพียงลำพัง เพราะทุกคนล้วนมีปัญหา และต่างก็ต้องเผชิญความสูญเสียมาแล้วทั้งนั้น ซึ่งบางครั้งหนังก็บอกกล่าวอย่างตรงไปตรงมาผ่านบทสนทนา เช่น กรณีของผัวเมียฮิปปี้ที่เชอรีลขอติดรถไปด้วย หรือสื่อแค่เป็นนัยๆ เช่น กรณีของคุณยายกับหลานชายตัวน้อยที่มาเดินป่าท่องเที่ยว

ทั้งหมดล้วนเป็นเรื่องของมุมมอง เชอรีลเลือกจะโฟกัสอยู่แค่ตัวเธอ ปัญหาของเธอ แล้วเฝ้ามองทุกอย่างหมุนรอบตัวเอง ดังนั้นเธอจึงรู้สึกหงุดหงิดกับโปสเตอร์ในห้องเรียนที่บ่งชี้ให้เห็นว่ามนุษย์นั้นเป็นเพียงจุดเล็กๆ ในจักรวาลอันกว้างใหญ่ จุดประสงค์ของโปสเตอร์ดังกล่าวหาใช่จะบอกว่า คุณไม่มีความสำคัญเหมือนที่เชอรีลเข้าใจ แต่เพื่อบอกกล่าวให้มนุษย์เรียนรู้ที่จะถอยออกมาหนึ่งก้าว แล้วมองสิ่งต่างๆ ในมุมที่กว้างขึ้นต่างหาก

สภาพจิตใจของเชอรีลก็ไม่ต่างจากเป้แบ็คแพ็คขนาดมหึมา เธอแบกรับน้ำหนักเกินจำเป็นเอาไว้หลายสิ่ง ทั้งความโศกเศร้า โกรธแค้นต่อชะตากรรมและพระเจ้าที่อำมหิต ไร้ความปราณี หากสัมภาระ (รูปธรรม) ที่มากมายเกินไปสามารถเป็นอุปสรรคต่อการเดินป่า ส่งผลให้เราไม่สามารถทำระยะทางได้ตามต้องการ แถมยังอาจจะสร้างอาการปวดหลัง เคล็ดขัดยอกได้ฉันใด สัมภาระทางอารมณ์ (นามธรรม) ที่มากมายเกินไปก็อาจก่อให้เกิดความเสียหายและอันตรายได้ดุจเดียวกันฉันนั้น โดยระหว่างการเดินทางเชอรีลไม่เพียงจะได้คำแนะนำจากเจ้าหน้าที่ในแคมป์พักแรมให้ละทิ้งของบางอย่างที่ไม่จำเป็น เพื่อการเดินป่าที่สะดวกสบายขึ้นเท่านั้น แต่เธอยังเรียนรู้ที่จะปลดปล่อยน้ำหนักภายใน ที่คอยถ่วงให้ชีวิตของเธอไม่อาจก้าวเดินต่อไปข้างหน้าได้อีกด้วย

แต่เช่นเดียวกับการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเราจำเป็นต้องแบกรับน้ำหนักของสัมภาระบางอย่างโดยไม่อาจหลีกเลี่ยง ชีวิตมนุษย์ทุกคนเองก็ไม่อาจหลีกหนีความรับผิดชอบ บาดแผล ความเจ็บปวดได้อย่างหมดจด และความสงบสุขทางจิตใจจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเราเรียนรู้ที่จะอยู่กับสิ่งเหล่านั้นให้ได้ ยอมรับน้ำหนักบางส่วนที่พอจะแบกไหว แล้วปลดปล่อยบางส่วนทิ้งไป ประเด็นดังกล่าวสอดคล้องอย่างเหมาะเจาะกับเนื้อหาของเพลง El Condor Pasa (If I Could) ของ ไซมอน แอนด์ การ์ฟังเคิล ซึ่งหนังนำมาใช้ซ้ำอยู่หลายครั้ง เพราะมันพูดถึงแรงปรารถนาที่จะโบยบินอย่างอิสระ ปราศจากสัมภาระ ดุจเดียวกับนกกระจอก หรือหงส์ แทนที่จะเป็นสิ่งมีชีวิตซึ่งถูกจำกัดด้วยแรงโน้มถ่วงอย่างหอยทาก... หรือมนุษย์  ก่อนสุดท้ายก็จำยอมที่จะ ก้าวเดินไปบนพื้นดินหรืออีกนัยหนึ่งคือยอมรับในข้อจำกัดเหล่านั้น แทนที่จะโหยหาถึงสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ จนหวนไห้ด้วยสรรพเสียงอัน เศร้าสร้อยสุดแสนเพราะถึงที่สุดแล้วแม้อิสรภาพแบบนก (ชื่อเพลงเป็นภาษาสเปน แปลตรงตัวได้ว่า นกแร้งบินผ่านไป”) จะนำมาซึ่งความน่าตื่นตาต่อบรรดาผู้ชมบนผืนแผ่นดินมากเพียงใด สุดท้ายมันก็บินโฉบมาเพียงชั่วครู่ ก่อนจะหายลับไปจากสายตา

 เชอรีลค้นพบบทเรียนดังกล่าวเมื่อการเดินทางของเธอมาสิ้นสุดลงที่สะพานข้ามแม่น้ำโคลัมเบีย (ในช็อตหนึ่งเราจะได้เห็นนกเหยี่ยว หรือนกอินทรีบินโฉบผ่านไป) ความทรงจำเกี่ยวกับบ็อบบี ตลอดจนบาดแผลจากความสูญเสียจะยังคงอยู่กับเธอตลอดไป เธอยอมรับ พร้อมกับหลั่งน้ำตาให้กับมัน แต่จะไม่ปล่อยให้มันคอยถ่วงเธอจากการก้าวเดินไปข้างหน้าอีกต่อไป ฉันตระหนักว่าไม่จำเป็นต้องยื่นมือเปล่าไปสัมผัสแต่อย่างใด แค่ได้เห็นปลาแหวกว่ายอยู่ใต้ผืนน้ำก็เพียงพอแล้วเสียงจากความคิดของเชอรีลดังก้องในฉากสุดท้าย... และเมื่อหยุดโหยหาในสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ หรือจมปลักอยู่กับสิ่งที่ไม่อาจแก้ไขอะไรได้ เมื่อนั้นเองที่เธอค้นพบกับอิสรภาพอย่างแท้จริง

1 ความคิดเห็น:

Unknown กล่าวว่า...

พึ่งดูหนัง อ่านบทความแล้วเหมือนอ่านเฉลยข้อสอบคำตอบมักชัดเจน ตรงประเด็น ที่สำคัญคือมันต้องถูกอยู่แล้ว :-)